ปัจจุบัน ถ้าเราถามเด็กรุ่นใหม่ ตั้งแต่วัยมหาวิทยาลัยลงมาว่า วันๆ ได้ดูทีวีกับเค้าบ้างไหม คำตอบคือ ไม่
แล้วถ้าถามต่อว่าได้ดูละครโทรทัศน์บ้างหรือเปล่า หลาย ๆ คนส่ายหัว บางคนเบะปาก บอกยี้! ละครทีวีไม่ใช่ทางแห่งความคูล
เอ้า! แต่พอถามว่า นี่ไม่ดูซีรีส์ Hate Love กันเลยเหรอ?…คำตอบคือ ดู แต่ดูผ่านไลน์ทีวีและหน้าจอมือถือ
ปรากฏการณ์ข้างต้นคือปกติวิสัยของการเสพสื่อยุคปัจจุบันที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มจากการดูเนื้อหาบนหน้าจอทีวีไปสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือพกพา ซึ่งเน้นตามความสะดวกของคนดู คนฟัง ชนิดที่อยากดูต้องได้ดู เมื่อไหร่ต้องเมื่อนั้น
แม้หน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตเหล่านั้นจะเล็ก จอไม่กว้าง ไม่โค้งมน ภาพไม่คมชัดเหมือนจอทีวี แต่พอคุ้นชินกับการจ้องมันอยู่ทุกวันๆ ก็ทำให้การดูคลิป วิดีโอ ภาพ เสียง หรือตัวอักษรบนหน้าจอไซส์เล็กๆ แบบนั้นกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของพวกเรา
การแทนที่ของสื่อเกิดขึ้นได้เสมอตามการแปรผันของเทคโนโลยี ตอนมีทีวี คนก็คิดว่ามันจะมาแทนที่โรงภาพยนตร์ พอมี Kindle ก็มองกันว่าจะมาแทนหนังสือเล่ม และปัจจุบันพอมีมือถือคนก็คิดว่าถึงจุดอวสานของวงการทีวีเสียแล้ว ซึ่งเอาเข้าจริงประวัติศาสตร์สื่อได้ให้ภาพกับเราอย่างชัดเจนว่า สื่อเหล่านี้คืออุปกรณ์ที่เป็นตัวกลางนำพาเนื้อหาข้อความ ภาพ เสียง ส่งทางไกลมาสู่ผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่าน ซึ่งหากมีเทคโนโลยีอะไรที่ทำได้ดีกว่า มันก็จะมาแทนที่อีกเทคโนโลยีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การแทนที่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประเภทบี้กันให้ตายไปข้างแบบอีเมลแทนที่โทรเลขนั้น ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่เราพบเห็นได้ดาษดื่นเท่าไหร่นัก
เนื่องจากการกำหนดว่าเทคโนโลยีอะไรแทนที่อะไรได้นั้นหาได้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ต้องคำนึงถึงในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นต้นรากของระบบนิเวศน์ในธุรกิจที่ตนเองดำรงอยู่ด้วย
หากวิเคราะห์ถึงโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม ๆ ที่ทำให้เราเข้าถึงคอนเทนต์สื่อทีวีได้นั้น จะประกอบไปด้วย 3 ทางด้วยกันคือ
1. ผ่านคลื่นความถี่
2. ผ่านดาวเทียม
3. ผ่านเคเบิล
โดยทั้งสามทางนี้คือตัวกลางนำพาภาพและเสียง ของเนื้อหาพวกละคร ข่าว สารคดี ซีรีส์มาสู่หน้าจอทีวีที่เป็นอุปกรณ์สามัญประจำบ้านมาตลอดทั้งศตวรรษ จนกระทั่งกว่า 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสื่อมวลชนเหล่านี้ถูกท้าทายด้วยพัฒนาการจากกลุ่มคอมพิวเตอร์ ผลก็อย่างที่เห็นเช่นในปัจจุบันที่ผู้บริโภคหันไปเสพสื่อผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตมากกว่าการพึ่งพาการรับสารผ่านตัวกลางที่ว่ามาสามตัวในข้างต้น ซึ่งในปัจจุบันมีตัวแสดงใหม่ๆ ในแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตมากมายจนกลายเป็นรูปแบบการประกอบกิจการที่เรียกกันว่า Over the top หรือ OTT TV
จากรายงานของ กสทช. ได้แบ่งลักษณะของผู้ให้บริการ OTT ออกเป็น 6 ประเภทด้วยกันได้แก่
1. ผู้ให้บริการอิสระ ได้แก่ พวกเฟสบุ๊ก ยูทูป Netflix
2. ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ให้บริการในรูปแบบ OTT ได้แก่ HBO Showtime
3. ช่องรายการโทรทัศน์เดิมที่ขยายฐานให้บริการ OTT เช่น BBCiplay ช่อง3 Live หรือ Workpoint
4. ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการ OTT ที่เห็นๆ ในตอนนี้คือ AIS play
5. ผู้ให้บริการเพย์ทีวี กลุ่มเคเบิ้ล ดาวเทียมที่เคยเก็บเงินมาให้บริการ OTT เช่น PSI หรือ True anywhere
6. บริการ OTT ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการ ดังที่เห็นอยู่ใน AIS play ก็มีพวกช่อง HOOQ
ซึ่งในรูปแบบการบริการเหล่านั้น คอนเทนต์หรือเนื้อหาบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่ว่านี้มีความแตกต่างกันแบบสุดขั้วอย่างเห็นได้ชัด คือมีทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เปิดให้อัปโหลดคลิป ภาพ เสียง และข้อความที่มาจากคนใช้งานทั่วไปในรูปแบบ ‘User generated content (UGC)’ อย่างที่เราเห็นกันตามเฟสบุ๊กและยูทูป ไปจนถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เอาเนื้อหาซึ่งมืออาชีพผลิตทั้งในรูปแบบซีรีส์ ข่าว รวมไปถึงหนังมาแพครวมกันแล้วให้บริการ
แน่นอนว่าการเคลื่อนย้ายของเนื้อหาที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากทีวีมาอินเทอร์เน็ตนั้นคือการปรับตัวของฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพที่ต้องนำพาของที่ตัวเองผลิตมาถึงมือผู้บริโภคให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาฐานที่มั่นของช่องทีวีของตนอย่างแน่นหนา อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทีวีรู้เห็นถึงต้นทุนจมของฝั่งตัวเองที่มีมูลค่ามหาศาล ทั้งค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ ค่าโครงสร้างพื้นฐาน ค่าผลิต รวมถึงต้นทุนที่มองไม่เห็นอย่างการกำกับดูแลเนื้อหาที่เข้มงวดตามกรอบของ กสทช. ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนของฝั่งอินเทอร์เน็ตแล้ว มันสะท้อนภาพที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว
จึงนำมาสู่ปรากฏการณ์ ‘คนทีวีไม่ง้อช่อง’ อย่างวู้ดดี้หรือสรยุทธ์ เกิดขึ้น
ในขณะที่ฐานคนดูที่ย้ายตัวเองมาเสพคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ตนั้น แม้ก่อนหน้าจะชื่นชอบและอภิรมย์กับการนั่งดูหรือนั่งอ่านเนื้อหาในรูปแบบ UGC ที่ชาวบ้านร้านตลาดผลิตขึ้นมาจนทำให้เนื้อหาประเภทนี้กินพื้นที่ส่วนแบ่งของการรับชมได้ค่อนข้างมาก แต่บรรดาผู้ประกอบการแพลตฟอร์มเหล่านี้ต่างตระหนักดีว่า เนื้อหาแบบ UGC เพียงอย่างเดียวอาจดึงคนไว้ไม่อยู่แบบยั่งยืน จึงนำมาสู่การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมมือและประสานงานกับผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพในฝั่งอุตสาหกรรมทีวี เพื่อสร้างมูลค่าให้กับแพลตฟอร์มของตน ผ่านการสร้างเครือข่ายของผู้ใช้งานตามกลยุทธ์ Network externality ที่มีตัวแปรของมูลค่าอยู่ที่ปริมาณการใช้งานและการมีส่วนร่วมของคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มของตน
จากการสืบค้นในหลายๆ ประเทศ OTT TV คือพื้นที่ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทั้งเจ้าของแพลตฟอร์ม ผู้ผลิตเนื้อหา รวมถึงกลุ่มคนทีวีดั้งเดิมที่ย้ายตัวเองไปให้เข้าถึงผู้ชมมากขึ้น โดยพื้นที่อินเทอร์เน็ตคือพื้นที่เปิดที่เดิมพันการแข่งขันที่ค่อนข้างเสรีและก่อกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ในเชิงคอนเทนต์มากมายด้วยต้นทุนการเข้าถึงแพลตฟอร์มที่เกือบเป็นศูนย์บาท
ปัจจุบัน แนวโน้มการเข้ามากำกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของหน่วยงานรัฐไทยกำลังขยับตัวอย่างแข็งขัน โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงของชาติ พร้อมเหมารวมเรื่องจริยธรรมเข้าอีก ซึ่งเหตุใหญ่ใจความดูจะมีเป้าหมายไปที่การกำกับดูแลเนื้อหามากกว่าการส่งเสริมพื้นที่ๆ สร้างสรรค์
OTT TV จึงกลายเป็นหมุดหมายหลักแห่งใหม่ที่รัฐไทยจะขยับขยายอาณาการควบคุมของตัวเองให้ทันกับยุคสมัย โดยสิ่งที่วางเดิมพันอาจเป็นนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลที่กำลังจะถูกแช่แข็งก็เป็นได้