สองตอนแรกของรายการเดอะเฟซรอบล่าสุดเพิ่งผ่านไปได้ไม่นาน กระแสรายการนี้แรงเหมือนเช่นเคย และที่สำคัญคือแรงตั้งแต่รายการยังไม่เริ่มออกอากาศด้วยซ้ำ ข่าวเรื่องผู้หญิงข้ามเพศสามารถสมัครเข้าร่วมรายการได้เป็นที่สนใจ หลายคนเริ่มจับตามองว่าผู้หญิงข้ามเพศเหล่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงของเดอะเฟซที่เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศจะเป็นไปในทิศทางไหนบ้าง
และตอนแรกของรายการก็เน้นย้ำประเด็นเรื่องนี้จริงๆ ถ้าไม่พูดถึงการปรากฏตัวของผู้สมัครที่เป็นหญิงข้ามเพศแล้ว ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่พูดถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย เหตุการณ์เด่นๆ สองเหตุการณ์ที่อยากพูดถึง และคิดว่าหลายๆ คนน่าจะจดจำกันได้ คือการไม่คัดเลือกเด็กสาวคนหนึ่งให้เข้ารอบตั้งแต่รอบแรก เพราะเธอเขียนในใบสมัครว่ากลัวกะเทย และการถามย้ำเรื่องสิทธิ์ของหญิงข้ามเพศในแง่ที่ว่าจะได้เป็นผู้ชนะเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆในรายการหรือไม่ ทั้งสองเหตุการณ์นี้ดูจะย้ำชัดว่ารายการต้องการให้สิทธิ์แก่ผู้หญิงข้ามเพศจริงๆ ยิ่งไปกว่านั้น สัปดาห์ถัดไปโจทย์ถ่ายแบบคือการแต่งตัวเป็นผู้ชาย
ดูเหมือนว่ารายการจะเน้นย้ำความพร่าเลือนของ
เส้นแบ่งระหว่างชายหญิงตามขนบจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน และเป็นแง่มุมที่ชวนให้เราเศร้าเอามากๆ ด้วย นั่นคือ ‘ความถูกต้องทางการเมือง (Political correctness)’ ที่รายการนี้พยายามจะสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้น ทำให้เกิดการล่าแม่มดและเกิดการยกตนข่มท่านขึ้นมากเช่นกัน ผู้เขียนไม่ได้อยากจะชี้ให้เห็นว่ารายการไม่ควรสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นปัญหาของความถูกต้องทางการเมืองว่าอาจเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้เกิดการล่าแม่มด เป็นเหมือนกรอบระเบียบศีลธรรมที่โหดร้ายอีกชุดหนึ่งได้เช่นกัน ไม่ต่างจากชุดความคิดที่เหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็นคนบาปคนชั่วเลย
ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจเชิดชูความถูกต้องทางการเมือง
และความหลากหลายทางอัตลักษณ์
และต่อต้านคนที่อ้างว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ เสมอๆ
แต่คนกลุ่มนั้นอาจใช้ความถูกต้องทางการเมือง
เป็นเครื่องยืนยัน ‘ความดี’ ของตัวเองและออกล่าแม่มดเช่นกัน
ยังไม่ต้องพูดถึงด้วยซ้ำว่า เมืองไทยทัศนคติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเป็นอย่างไร การ ‘รับได้’ ของแต่ละคนแตกต่างกันแค่ไหน แม้แต่ทัศนคติที่ว่า ‘กะเทยดีๆมีเยอะแยะ’ ของเมนทอร์บี น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์จะเป็นทัศนคติที่ทำให้หลายๆ คน รวมถึงคนกลุ่มหลากหลายทางเพศบางคนยอมรับได้ แต่กระนั้นคำว่าสิทธิหรือความเท่าเทียมควรจำกัดเฉพาะคนดีเท่านั้นหรือ
ยิ่งไปกว่านั้น เราจะตอบได้อย่างไรว่าความถูกต้องทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเกม ส่วนหนึ่งของรายการ และส่วนหนึ่งของผลประโยชน์ทางการตลาดของรายการหรือไม่ เมื่อเมนทอร์ลูกเกด เมทินี กิ่งโพยม ถามผู้จัดรายการอย่าง คุณเต้ ปิยะรัฐ กลางรายการ ก่อนเมนทอร์ทั้งสามจะเลือกฮาน่าว่า ผู้หญิงข้ามเพศมีสิทธิ์เท่ากับผู้หญิงคนอื่นๆหรือไม่ แน่นอนว่าการถามนั้นเป็นการเน้นย้ำว่ารายการให้ความเท่าเทียมแก่ทุกเพศที่เข้าประกวด แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจมองได้หรือไม่ว่า นี่เป็นการเล่นเกมของเมนทอร์ลูกเกด ที่ต้องการจะให้ฮาน่าเลือกตัวเอง (ถึงแม้ว่าการเลือกของฮาน่านั้นน่าจะไม่เกี่ยวกับการเล่นเกมของเมนทอร์ลูกเกด เพราะฮาน่าบอกในรายการว่าเธอเลือกมาตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากอยู่ทีมของใคร) เพราะให้ความสำคัญกับหญิงข้ามเพศ เหมือนยกเอาประเด็นนี้ย้ำขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้เห็นว่าเธอใส่ใจเรื่อความเท่าเทียมจริงๆ ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้คิดว่าเมนทอร์ลูกเกดไม่ได้คิดจะทอดทิ้งหญิงข้ามเพศ แต่ผู้เขียนต้องการเสนอว่า การไม่ทอดทิ้งนั้นกลายเป็นการเล่นเกมไปด้วยพร้อมๆ กัน
สาเหตุก็เพราะอันที่จริงแล้ว เมนทอร์ลูกเกดไม่มีความจำเป็น
เลยแม้แต่นิดเดียวที่จะต้องถามเรื่องนี้ซ้ำอีก
ในเมื่อเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าหญิงข้ามเพศมีสิทธิ์เท่าเทียมตั้งแต่รอบเข้าแข่งขัน
ถ้าอย่างนั้น เราไม่ควรสนับสนุนความถูกต้องทางการเมืองอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นที่บรรดานักเคลื่อนไหวต่างๆ เขาต่อสู้กันมาก็ผิดพลาดทั้งหมดหรือเปล่า แน่นอนว่าผู้เขียนก็จะตอบว่าไม่อีกนั่นแหละ การสนับสนุนให้คนทำอะไรที่ถูกต้องทางการเมืองก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าระดับไหนถึงจะดีพอ ฟังแล้วก็น่าเศร้าสำหรับคนที่สนใจเรื่องสิทธิหรือการนำเสนอคนที่ด้อยกว่าในสังคมเหมือนกัน
ผู้เขียนนึกถึงฉากหนึ่งในเรื่อง ‘The Buddha of Suburbia’ นวนิยายของ Hanif Kureishi นักเขียนอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน นวนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยชีวิตของวัยรุ่นชายคนหนึ่งชื่อ คาริม หรือครีมมี่ ชายหนุ่มไบเซ็กชวลลูกครึ่งอังกฤษอินเดีย ซึ่งถือกำเนิดและมีชีวิตอยู่ในกรุงลอนดอนช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงละครเวที เมื่อเขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะละคร เขาได้รับโจทย์ให้สร้างตัวละครหนึ่งตัว และสร้างบทพูดเดี่ยวให้กับตัวละครนั้น เอเลียเนอร์ แฟนสาวชาวอังกฤษของเขาได้สร้างตัวละครเป็นหญิงสูงวัยชาวอังกฤษผู้ทุกข์ทนจากความล่มสลายของจักรวรรดิ ในขณะที่คาริมเลือกจะสร้างตัวละครจากชีวิตจริงของลุงชาวอินเดียของเขา ที่พยายามคลุมถุงชนลูกสาวแต่ไม่สำเร็จจนต้องอดข้าวประท้วง เมื่อเขาเล่นเป็นตัวละครตัวนี้ เขากลับถูกเพื่อนร่วมคณะละครอย่าง เทรซี ซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันต่อว่า ว่าทำให้ภาพลักษณ์ของชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในอังกฤษเสียหาย เทรซีมองว่าคาริมกำลังนำเสนอภาพที่ตะวันตกมักนำเสนอชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์โดยการทำให้เป็นตัวตลก ถึงแม้คาริมจะโต้กลับว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นความจริง (ผู้อ่านก็ทราบดีว่าเป็นเช่นนั้น) และสิ่งที่เธอทำนั้นเป็นการเซ็นเซอร์ เทรซีกลับแย้งว่าความจริงของคาริมเป็นความจริงในทัศนะของคนขาว และเราทุกคนควรปกป้องวัฒนธรรมของตัวเอง ทุกคนรวมทั้งผู้กำกับเห็นด้วยกับเทรซี คาริมจึงต้องสร้างตัวละครขึ้นใหม่
ปัญหาเรื่องการนำเสนอและความถูกต้องทางการเมืองกลายเป็นปัญหาโลกแตก ตัวเรื่องนั้นเหมือนจะชี้ให้เราเห็นว่าการบังคับให้นำเสนอใครไม่ว่าจะในแบบใดๆ ก็ตามถือเป็นการบังคับใจคนอื่นหรือไม่ ความถูกต้องทางการเมืองนั้นเป็นเหมือนภาพลวง บังคับให้เรายอมรับความจริงในแบบเดียว
น่าแปลกที่คนที่นับถือความถูกต้องทางการเมืองส่วนใหญ่
ยอมรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์
แต่กลับรับการนำเสนออัตลักษณ์บางประเภท
หรือความเป็นไปได้บางประการในโลกความจริงไม่ได้
สุดท้ายก็นำมาสู่การปิดหูปิดตา ปิดกั้นไม่ยอมรับความจริง หรือไม่พยายามครุ่นคิดไตร่ตรองหาความจริงมากกว่านี้
มาดูตัวละครอีกหนึ่งตัวอย่าง ชาร์ลี เพื่อนบ้านชาวอังกฤษที่คาริมเคยแอบชอบสมัยเด็ก ชาร์ลีนั้นเกลียดพวกนักร้องพังก์ร็อกและชาวพังก์คนอื่นๆที่เคยเจอตามผับ แต่ภายหลังกลายเป็นนักร้องพังก์ร็อกเสียเอง ถ้าใครสนใจดนตรีอาจจะพอทราบว่าดนตรีพังก์ร็อกมีที่มาจากการต่อสู้ทางชนชั้น ความดุดันนั้นมาจากการต่อต้านรัฐบาล ดนตรีพังก์ร็อกก็ดูจะเป็นดนตรีแนว ‘ล้ม (Anti-establishment)’ แบบหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี อย่างไรก็ตาม เมื่อชาร์ลีกลายเป็นนักร้องพังก์ร็อกผู้โด่งดังที่อเมริกานั้น คาริมได้สังเกตเห็นว่านัยของการต่อต้านหรือต่อสู้ได้หายไปหมดแล้ว ชาร์ลีกลายเป็นนักร้องยอดนิยม ชาร์ลีตั้งใจพูดภาษาอังกฤษสำเนียงคอกนีย์ ทั้งๆ ที่สมัยเรียนมัธยมที่อังกฤษนั้น ใครพูดด้วยสำเนียงคอกนีย์จะถูกล้อว่าเป็นคนระดับล่าง สุดท้ายแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการต่อสู้ทางชนชั้นก็กลายเป็นสินค้า เป็นสิ่งที่เสริมสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ชาร์ลี ทำให้เขากลายเป็นคนดัง โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองใดๆเลย
การยอมรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์และการตั้งคำถามกับการผลิตซ้ำภาพเหมารวมเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับบางคน ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ อาจเป็นเครื่องมือที่ใช้ประหัตประหารคนอื่น และกลายเป็นกรอบศีลธรรมชุดใหม่ที่เข้ามาแทนที่ชุดเดิมที่เต็มไปด้วยการเหยียดชนชั้น เพศ หรือชาติพันธุ์
กรอบศีลธรรมชุดใหม่อย่างความถูกต้องทางการเมืองนั้น
อาจไม่ต่างจากกรอบศีลธรรมแบบที่หลายๆ คนเรียกว่าวิกตอเรียนเลยก็ได้
เพราะคนที่ยึดมั่นเรื่องความถูกต้องทางการเมืองก็อาจออกมาชี้หน้าตัดสินคนอื่นและลงโทษคนคนนั้นอย่างไม่ยุติธรรม ความถูกต้องทางการเมืองอันว่าด้วยความหลากหลายทางอัตลักษณ์นั้นอาจกลายเป็นเครื่องจำกัดความหลากหลายเสียเอง ผู้นับถือความถูกต้องทางการเมืองหลายคนอาจต้องการให้โลกใบนี้ดียิ่งๆขึ้นไป แต่ก็ลืมไปว่าความชั่วร้ายก็อาจเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนโลกมาตลอด และเราทุกคนก็เป็นคนชั่วร้ายกันทั้งนั้นไม่มากก็น้อย ยิ่งไปกว่านั้น มันก็อาจกลายเป็นเครื่องมือหากินทางการตลาดได้เช่นกัน รายการอาจขายได้เมื่อมี ‘สีสัน’ เพลงพังก์ร็อกก็ฟังได้สนุกๆ (ตรงนี้ผู้เขียนนึกถึงละคร ‘สงครามนางงาม’ ที่เป็นไปได้ว่าอาจจะเหน็บรายการเดอะเฟซที่กำลังประกาศว่าให้เพศที่สามเข้าสมัคร สงครามนางงาม ซีซั่น 2 ตอนท้ายๆ มอส ปฏิภาณ ซึ่งรับบทเป็น คุณพศุตม์ ผู้บริหารช่อง ได้บอกกับ ลดา ซึ่งรับบทโดย บี น้ำทิพย์ว่า ที่เขาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงหูหนวกและหญิงข้ามเพศเข้าประกวดเป็นเพราะต้องการให้การประกวดมีกระแสขึ้นมา)
ก็คงต้องบอกว่าความถูกต้องทางการเมืองนั้น
มีคุณค่าเช่นเดียวกับมีพิษภัย หากคุณใช้มันยกตนข่มท่าน
และมองว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้คิดจะเลิกดูรายการ หรือต่อว่ารายการเดอะเฟซชนิดที่ไม่อยากให้มีต่อไป ผู้เขียนคิดว่า เมื่อผู้อ่าน(ทน)อ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะรู้สึกผิดที่มานั่งดูรายการเดอะเฟซ ผู้เขียนอยากให้นึกถึงการกินหมูสามชั้น เบคอน ชาบูบุฟเฟต์ หรือไก่ทอดหนึ่งถังใหญ่ ความรู้สึกผิดจากการกินอาหารเหล่านี้และการเสพสื่อจำพวกนี้เป็นแบบเดียวกัน คุณลองถามตัวเองดูว่าคุณอยากเป็นนางแบบหุ่นเพรียว ที่ต้องใช้หุ่นทำมาหาเลี้ยงชีพหรือเปล่า ถ้าไม่ คุณก็กินอะไรอันตรายๆ เข้าไปบ้างก็ได้ ถ้าเรามีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันว่าเขาทำอะไรในรายการ ในหนัง ในละครพวกนั้น คุณจะดูหนังเพราะคุณชอบดาราหรืออินกับพล็อตบางแบบก็ดูเถอะ เราทุกคนก็มีอะไรที่ชอบทำแต่รู้สึกผิดเวลาทำทั้งนั้น เราคงหนีข้อเสียตรงนี้ไม่ได้ ผู้เขียนอยากจะให้ดูรายการที่มีพิษ (ซึ่งจริงๆ อาจจะทุกรายการบนโลกนี้ก็เป็นได้) เหล่านี้อย่างรู้เท่าทัน มากกว่าจะให้ปิดทีวี เข้าป่าไปบวชชีเพื่อหนีมัน
ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณจะอยากบวชชีจริงๆ อันนี้ตามสบาย