คำแถลง
บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นบทความทางวิชาการ แต่เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิงของผู้เขียน (เป็นหลัก) และผู้อ่าน (เป็นรอง) เท่านั้น มันไม่ได้มีคุณค่าในเชิงวิชาการใดๆ ถึงแม้คำว่า ‘คุณค่า’ และคำว่า ‘วิชาการ’ จะยังเป็นที่ถกเถียงกันได้ก็ตาม
จากตอนที่แล้ว เราได้ศึกษาความหมายของคำว่าแซะ หรือ subtweet ไปแล้ว (จริงๆ ในเฟซบุ๊กมีคำว่า vaguebooking คือ อัพสเตตัสให้ดูเหมือนจะมีอะไร แต่อาจจะมีอะไรหรือไม่มีอะไรก็ได้ ด้วยนะ) มาตอนนี้ เราจะมาดูกรณีศึกษาการแซะในระดับต่างๆ และงานวิจัยเกี่ยวกับการแซะกัน
กรณีศึกษาการแซะของ Merriam-Webster Dictionary
รู้ไหมว่าดิกชันนารีก็มาสามารถแซะคนได้!
นั่นเป็นสิ่งที่แอคเคานท์ Merriam-Webster Dictionary ทำอยู่ตลอดในระยะหลัง วิธีการของเขาคือการเลือกคำในดิกชันนารี (ที่ก็มีให้เลือกไม่หวาดไม่ไหว) ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพอแอคเคานท์ที่ดูทางการอย่างดิกชันนารีออกมา ‘เผา’ (burn) บุคคลที่ดูมีชื่อเสียง ตั้งแต่ดาราไปจนถึงประธานาธิบดี ก็เป็นเรื่องปกติท่ีชาวเนตจะออกมากู่ร้อง ยินดี ประมาณว่า ‘เห็นไหมล่ะ ดิกชันนารี ยังแซะแกเลย’
ผู้อยู่เบื้องหลังการแซะของ Merriam-Webster Dictionary เป็นสาววัย 33 ปีชื่อ Lauren Naturale ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการโซเชียลมีเดียและคอนเทนต์ของที่นี่ ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งนี้ เธอเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่ม.แคลิฟอร์เนีย
เธอบอกว่า อันที่จริง เธอก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้มันเกิดกระแสบวกลบทางการเมืองขนาดนี้นะ เช่นในกรณีที่ Merriam-Webster ไปแซะทรัมป์ หรือคอนเวย์ โฆษกของทรัมป์ที่หลายคนวิจารณ์ว่าพูดไม่รู้เรื่อง เธอบอกว่าแอคเคานท์ Merriam-Webster ก็แค่ ‘พูดความหมายของคำ’ เฉยๆ เอ๊ง ไม่ได้มีนัยยะทางด้านการเมืองอะไร
ตัวอย่างของทวีตที่ Merriam-Webster แซะคอนเวย์ คือตอนที่คอนเวย์พูดถึง ‘ความจริงทางเลือก’ แล้ว Merriam-Webster ทวีตว่า “ความจริง คือชิ้นส่วนข้อมูลที่มีความเป็นภววิสัย” (A fact is a piece of information presented as having objective reality.) แล้วก็แนบลิงก์ของคอนเวย์ตามมาด้วย ซึ่งทวีตดังกล่าวก็ถูกรีทวีตไปมากกว่า 49,000 ครั้ง
หรือในอีกกรณีหนึ่งคือตอนที่คอนเวย์พูดถึง Feminism ว่า “กระแสเฟมินิสต์ใหม่นั้นเป็นการต่อต้านผู้ชาย และสนับสนุนการทำแท้งมากๆ เลย ฉันเลยไม่สบายใจที่จะเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์” หลังจากนั้น Merriam-Webster ก็ทวีตแซะว่า Feminism นั้นมีความหมายที่แท้จริงคือ “ความเชื่อว่าผู้ชายและผู้หญิงควรมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกัน” ต่างหาก
Lauren บอกว่าการแซะ (อะ…การทวีตในลักษณะนี้) ของ Merriam-Webster นั้นส่งผลดีต่อยอดขายและยอดโหลดแอพพลิเคชั่นของบริษัทด้วย
หากดูตามแซะศาสตร์ 101 การแซะของ Merriam-Webster นั้นอาจเป็นการแซะที่ตรงตัวเกินไป (เพราะมีการแนบลิงก์ข่าวมาให้ตอนท้ายด้วยว่าบุคคลในข่าวพูดว่าอย่างไรบ้าง) แต่ก็มีข้อดีตรงที่เป็นการแซะที่ใช้ปัจจัยเรื่องเวลาเข้ามาทำให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ หากแซะช้ากว่านี้หนึ่งวันหรือสองวัน ก็อาจไม่ได้รับกระแสตอบรับดีเท่าการแซะ ณ จุดนั้น เวลานั้น ที่คนกำลังมีความเข้าใจร่วมว่า Merriam-Webster กำลังพูดถึงอะไรอยู่
กรณีศึกษาการแซะของ Katy Perry
จู่ๆ ในวันที่ 9 กันยายน 2014 แคธี่ เพอร์รี่ ก็ออกมาทวีตว่า “ระวังเรจิน่า จอร์จ ที่สวมชุดแกะนะ” (Watch out for Regina George in sheep’s clothing…) ซึ่งพอคนดังในระดับนี้ทวีตอะไรที่ดูคลุมเครือออกมา ก็แน่นอนว่าจะต้องมีคนไปพยายามแคะ ไปแกะ ไปเกา ดูว่าแคธี่ เพอร์รี่ เขาแซะใครน้า อย่างแน่นอน
นิตยสาร Cosmopolitan คิดว่า คนที่แคธี่ เพอรี่ แซะในตอนนั้น น่าจะเป็นเทย์เลอร์ สวิฟต์ แน่ๆ เพราะก่อนหน้านี้เทย์เลอร์ก็ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone และ ‘แซะ’ เคธี่ เพอร่ี ว่ามิวสิกวิดีโอ Bad Blood ของเธอ (เออ เพลงนี้มันนานสามปีแล้วเนอะ) นั้นตั้งใจที่จะส่งสารไปถึง ‘ศิลปินหญิงอีกคน ซึ่งชั้นจะไม่บอกหรอกนะว่าเป็นใคร’ และนอกจากนั้นทัวร์คอนเสิร์ทของแคธี่ เพอรี่ ในตอนนั้น ยังมีแดนเซอร์ที่ ‘ย้ายค่าย’ จากเทย์เลอร์มาเป็นจำนวนมากด้วย
การแซะของ Katy Perry จึงอาจเป็นการเข้ารหัสที่คุณจะไขได้ก็ต่อเมื่อคุณมีความรู้ ความเข้าใจร่วม ถึงความสัมพันธ์ของป๊อปสตาร์ทั้งสองคนนี้เท่านั้น และยังต้องเข้าใจด้วยว่า Regina George นั้นเป็นการอ้างถึง ‘ตัวร้าย’ ในภาพยนตร์เรื่อง Mean Girls ซึ่งเป็นผู้หญิงที่เป็นตัวแม่ เป็นหัวหน้าแก๊ง และทำอะไรแบบนางพญาตลอดเวลา แต่ถ้าคุณไม่มีความเข้าใจร่วมในทั้งสองเรื่องนี้ คุณก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าแคธี่ เพอรี่กำลังพูดถึงใคร หรือถ้าเข้าใจเพียงครึ่งเดียว (เช่น รู้จักเรจิน่า จอร์จ) ก็จะพอเดาได้แค่ว่าแคธี่กำลังด่าใครอยู่ แต่ไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นใคร
กรณีศึกษาการแซะของไทย
คนไทยไม่แซะใครๆ ทั้งสิ้น เพราะพวกเขาเป็นคนดี (เดี๋ยวดูนะ พูดแบบนี้ต้องโดนด่า เพราะนี่ก็เป็นการแซะแบบหนึ่งเหมือนกัน)
งานศึกษาเรื่อง Subtweet ที่บอกว่า คนที่ชอบแซะเป็นคนนิสัยไม่ดีหรือน่ารังเกียจหรือไม่
จากบทความตอนที่แล้ว เราได้พิจารณาแล้วว่าเหตุผลของการแซะนั้นมีหลากหลายระดับ อาจเป็นได้ตั้งแต่ความอยากนินทา แต่ไม่อยากรับผลกรรมที่ตนเองนินทา หรือเป็นไปได้จนถึงความอยากสื่อสารเรื่องอะไรบางอย่างแต่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่ตนเองจะรับได้ เช่น การพูดบางเรื่องอาจทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยงได้ (ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ จะว่าไป จริงๆ ก็แปลเหมือนกันนั่นแหละ แค่ขึ้นอยู่กับว่าพูดเรื่องอะไร) จึงต้องเลือกวิธีการแซะแทนการพูดตรงๆ
มีงานศึกษาเรื่อง To Tweet or ‘subtweet’: Impacts of social networking post directness and valence on interpersonal impressions ศึกษาโดย Autumn Edwards และ Christina J. Harris จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ทำการสำรวจโดยให้นักศึกษา 349 คน มาให้คะแนนทวีตสี่แบบ (ทำไมน้อยจัง) ในด้านต่างๆ คือ ด้านการเล็งผลลัพธ์ (effectiveness) ด้านความเหมาะสม (appropriateness) ด้านการเข้าสังคม (social competence) ด้านความดึงดูดใจ (attractiveness) และด้านความน่าเชื่อถือ (credibility)
โดยทวีตสี่อันที่พวกเขานำมาให้วัดคะแนน เป็นดังนี้
- “ขอบคุณ @RyanS ที่ทำให้วันนี้ของฉันเป็นวันที่ดี คุณเจ๋งสุดๆ เลย”
- “ขอบคุณใครคนหนึ่งที่ทำให้วันนี้ของฉันเป็นวันที่ดี คนแบบนี้เจ๋งสุดๆ เลย”
- “ขอบคุณ @RyanS ที่หักหลังฉัน และทำให้วันนี้ของฉันแย่สุดๆ คุณมันห่วยมาก”
- “ขอบคุณใครคนหนึ่งที่หักหลังฉัน และทำให้วันนี้ของฉันแย่สุดๆ คนแบบนี้โคตรห่วย”
เมื่อเราพิจารณา เราจะเห็นว่าข้อ 1,2 นั้นเป็นทวีตในเชิงดี และ 3,4 เป็นทวีตในเชิงร้าย ข้อ 1,3 นั้นเป็นการพูดตรงๆ และข้อ 2,4 นั้นเป็นการพูดอ้อมๆ โดย 2. พูดอ้อมๆ แต่พูดอ้อมในเชิงดี (บางคนอาจไม่พิจารณาว่านี่คือการแซะ) และ 4. เป็นการพูดอ้อมๆ ในเชิงร้าย นั่นคือการแซะอย่างแน่นอน
ผลลัพธ์จากการให้คะแนนเป็นอย่างไร ผู้ศึกษาพบว่ายิ่งทวีตไปในทางดี และตรงไปตรงมามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ในขณะที่เมื่อทวีตอ้อมๆ ก็จะได้คะแนนน้อยลง ผู้ศึกษาสรุปผลการวิจัยว่า “หากคุณบ่น หรือด่าคนอื่นๆ โดยไม่บอกว่าคนคนนั้นเป็นใคร คุณก็อาจถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ตรงไปตรงมา (ก้าวร้าวแบบเก็บๆ [passive aggressive] และต้องการความสนใจ) เป็นคนคิดลบ” แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดูขัดแย้งนิดหน่อยก็คือ จริงๆ แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นให้คะแบบกับข้อ 4. (แซะ) มากกว่าข้อ 3. (ด่าตรงๆ เลย) ด้วยเหตุผลที่ว่าการด่าตรงๆ นั้นดู ‘ก้าวร้าว’ เกินไป
ข้อสรุปจากการวิจัยตามผู้ศึกษาบอกว่า
- การแซะ (ทั้งบวกและลบ) นั้นได้รับคะแนนต่ำกว่าในเรื่องการส่งสาร (message competence) ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่แซะผู้อื่นนั้นดูไม่ดี
- ผู้อัพเรื่องดีๆ ในโซเชียลเนตเวิร์ก นั้นจะถูกมองในด้านดีมากกว่าผู้อัพเรื่องร้ายๆ (อ้าว…นี่ตอนอ่านก็รู้สึกว่า … ก็แหงสิวะ มั้ย)
- ความตรงไปตรงมานั้นจะช่วยส่งให้ผู้รับสารมีทัศนคติที่ดีกับผู้ส่งสารมากขึ้น
- ข้อนี้สำคัญ : คนอื่นๆ ที่อ่านข้อความ จะชอบการชื่นชมที่ตรงไปตรงมา มากกว่าการชื่นชมลอยๆ และจะชอบการแซะ มากกว่าการด่าตรงๆ ในโซเชียลเนตเวิร์ก
- ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ คนก็ชอบให้ไปด่าหลังไมค์ทั้งนั้น (off-record)
สรุปคือหากวัดจากการศึกษานี้ ก็แน่นอนที่การแซะ (เพื่อด่า) คนอื่นนั้นจะดูแย่กว่าการชมคนอื่นบนโซเชียลเนตเวิร์ก แต่การแซะนั้นกลับถูกมองว่าดีกว่าการด่าตรงๆ
ถ้าจะยึดตามผลวิจัยนี้ หลักง่ายๆ ในการดำรงชีวิตในโซเชียลเนตเวิร์กคือ
- พูดเรื่องดีๆ ดีกว่าพูดเรื่องแย่ๆ
- ถ้าพูดเรื่องดีๆ ให้ชมคนตรงๆ
- ถ้าพูดเรื่องแย่ๆ ให้ด่าคนอ้อมๆ
แต่ก็นั่นแหละ… ระหว่างสรุปผลงานวิจัยไป ก็เกิดคำถามขึ้นตลอดเวลาว่า จริงเหรอ จริงเหรอ เป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ
ไม่รู้สิครับ บางทีผู้เขียนคงจะเป็นคนนิสัยแย่โดยพื้นฐานก็ได้!
อ้างอิง
การศึกษาการแซะ
http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0747563216303776
http://mashable.com/2017/02/23/merriam-webster-subtweets-kellyanne-conway-feminism/#fnhk0V12CaqW
http://www.refinery29.com/2017/01/138672/merriam-webster-subtweets-lauren-naturale-interview
https://www.theguardian.com/technology/blog/2014/jul/23/subtweeting-what-is-it-and-how-to-do-it-well