ในยุค ‘ดราม่าบูม’ ที่ข่าวเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านสำนักข่าวอีกต่อไป ใครๆ ก็ตกเป็นข่าวได้ (ที่ใช้ ‘ตกเป็นข่าว’ เหมือน ตกที่นั่งลำบาก ตกนรกหมกไหม้ ตกกระไดพลอยโจน ก็เพราะเราไม่ค่อยนึกถึงข่าวในเรื่องดีๆกัน นอกเสียจากเป็นเรื่องดีๆ ที่น่าหมั่นไส้แกมริษยาหรือเป็นสารตั้งต้นนินทาเช่น ถูกหวย แต่งงาน ตกไข่ตั้งท้อง) ‘ดราม่า’ จึงพลอยอุบัติขึ้นได้ทุกหย่อมหญ้า ทุกชุมชน ทุกสัปดาห์ ทุกวัน ไม่ยากขอแค่ระดับความ sensitive เปราะบาง แตกง่ายอยู่ในอุณหภูมิองศาเดียวกับเผือกร้อน
แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องของหลักการและเหตุผล สิทธิ กฎหมาย กระบวนการเคลื่อนไหวระยะยาว เช่น ต่อต้านรับน้องโหด แอนตี้โซตัส คัดค้านการเกณฑ์ทหาร ยกเลิกทรงนักเรียนชุดนักศึกษา ร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐข่มเหงประชาชน มนุษย์ชนแล้วหนีพอดีตระกูลใหญ่เลยรอด มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกขึ้นๆ ลงๆ ระดับปัจเจก มาไวไปไว แต่ก็นั่นแหละถูกลดทอนคุณค่าลงเป็นเพียงดราม่าเท่านั้น
ความเฝือของดราม่าเกิดจากการเหมารวมว่าทุกประเด็นเป็นดราม่า
ล่าสุด งาน Bye Freshy ของม.อ.ปัตตานี (ชื่อกิจกรรมแปลกดี ไม่เคยได้ยิน เคยแต่ได้ยิน บายเนียร์ สงสัยเผื่อปี 1 จะซิ่ว) ที่รุ่นพี่แจกถุงยางให้กับรุ่นน้องหลังจากงานจบลงแล้วนั้น ได้กลายเป็นดราม่าย่อยๆ ถึง ความควร-ไม่ควร การยั่วยุทางเพศ เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เพราะกิจกรรมจัดในรั้วมหา’ลัย แคมปัสตั้งอยู่ในปัตตานี ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และคุณูปการเพจ Drama-addict ช่วยเพิ่มดีกรีทุ่มเถียง
ข้อถกเถียงการแจกถุงยางอนามัยกลับกลายเป็นประเด็นทางศาสนาภายในมหาลัยมากกว่าเรื่องการคุมกำเนิด การป้องกันการตั้งครรภ์ อาหารและยา การยางไปทำผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งๆ ที่มีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลักสูตรเทคโนโลยียาง คณะพยาบาลศาสตร์
เอาเข้าจริง ถุงยางก็เหมือนศาสนาไม่ว่าศาสนาใด ใครใคร่เชื่อ เชื่อ ใครใคร่ใช้ ใช้ จะเคร่งปฏิบัติใช้แม้แต่ในจินตนาการก็เรื่องของเขา
ใครจะสดหรือจะถุง อยากแตกใน แตกนอก แตกไหนเราก็ไม่มีสิทธิอะไรจะไปชี้หน้าว่าใครดีหรือเลวกว่า และการยื่นถุงยางให้ ไม่ใช่การไล่ให้ไปอึ๊บใครสักหน่อย เหมือนกันศาสนาก็เป็นวิจารณญาณส่วนบุคคล ที่จะเลือกนับถือหรือจะเข้มงวดเคร่งครัด ต่อให้เคร่งกว่าศาสดาก็เรื่องของเขา เพียงแต่การสอนศาสนาก็ไม่ใช่อำนาจที่จะมาบอกว่าใครดีกว่าใครเลวกว่า หรือบอกให้ใครไปนับถือศาสนาอะไร
หากแต่มุสลิมหลายคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีเหตุผลที่ต้องเคร่งครัดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใจ จากการศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานี 3 รุ่นของอาจารย์ทวีลักษณ์ พลราชม[1] (นี่สารภาพตรงนี้เลยว่าเป็น fc ตามอ่านงานตัลหลอด ตั้งแต่ Thesis ป.โท) ที่เผยให้เห็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของปาตานี ในมิติอื่นๆ ที่มากกว่าการแข็งขืนดิ้นรนกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจกรุงเทพฯ ภายใต้กรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยมกระแสหลัก เหมือนที่รัฐกรุงเทพฯ มักจะแต่งประวัติศาสตร์ แต่มันก็ยากหากจะพูดถึงประวัติศาสตร์ปาตานีแบบปราศจากบาดแผล
ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมะห์ปาตานีรุ่นที่เกิดก่อน 2490 จากเดิมที่เรียนหนังสือในระดับประถม ก็ได้เริ่มเรียนสูงขึ้น รับการศึกษาแบบสมัยใหม่ บางนางไปเรียนมาเลเซีย ช่วง พ.ศ. 2500 ที่อยู่ภายใต้กระแสชาตินิยมมาเลย์และมุสลิมในโลกมาเลย์ ปะทะกับจักรวรรดินิยมอังกฤษ เพื่อการปลดปล่อยจากอาณานิคม และก้าวไปสู่การเคลื่อนไหวของกระแสฟื้นฟูอิสลาม เมื่อพวกเธอกลับมาแล้วก็มาเป็นครูรุ่นแรกๆในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่พัฒนามาจากปอเนาะ ฝึกอบรมและทำกิจกรรมทางศาสนาในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นบทบาทสำคัญของผู้หญิงต่อการเคลื่อนไหวฟื้นฟูศาสนาอิสลามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เคร่งครัดกับหลักการปฏิบัติอิสลาม เนื่องด้วยได้รับการศึกษาสมัยใหม่นอกพื้นที่ พวกเธอจึงคือตัวแทนของหญิงสาวยุคใหม่มีการศึกษา ก้าวหน้า แต่งตัวตามสมัยนิยม ไม่คลุมผม จากการที่อาจารย์ทวีลักษณ์ไปสัมภาษณ์ ผู้หญิงรุ่นนี้กล่าวว่า “เราก็รู้ว่าต้องคลุม แต่ตอนนั้นส่วนมากไม่คลุมผม… รู้ว่าบาปด้วย แต่ไม่อยากทำ… เริ่มคลุมก่อนแต่งงาน แต่ก็เอาผ้าสี่เหลี่ยมมาผูกคลุมผมเฉยๆ”
ภายใต้รัฐรวมศูนย์ กรุงเทพฯ ยังคงกระทำกับพื้นที่อดีตรัฐปาตานีอย่างต่อเนื่องด้วยสำนึกเจ้าอาณานิคม แบบจักรวรรดินิยมอังกฤษทำกับมาเลเซีย
ผู้หญิงรุ่นที่เกิดก่อนปี 2500 ได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น พวกเธอเดินทางออกจากบ้านเกิดเข้าไปเรียนระดับมหา’ลัยในกรุงเทพและภูมิภาคอื่นๆ ที่รัฐบาลมีทุนเฉพาะในประเทศ ถ้าจะเรียนประเทศที่อิสลามเป็นศาสนาหลักอย่างมาเลย์ อียิปต์ ซาอุดิอาราเบีย พวกเธอหลายคนต้องดิ้นรนกันเอง ในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้เกิดกระแสฟื้นฟูศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นศาสนาอิสลามสมัยใหม่ในพื้นที่ พยายามสร้างความบริสุทธิ์ของอิสลาม ไม่ให้แนวคิดความเชื่ออื่นของชาวบ้านมาปะปน นำหลักศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้น เน้นศรัทธามากขึ้นกว่าอดีต เริ่มมีการชี้ผิด-ถูก การทำได้-ไม่ได้ตามหลักศาสนา เคร่ง-ไม่เคร่งกลายเป็นดัชนีชี้วัดคนดี-ไม่ดี ในฐานะอิสลามสายใหม่ที่เพิ่งเคร่ง
โดยเฉพาะกลุ่มมุสลิมะห์ที่จบการศึกษาจาก Yayasan Pengajian Tinggi Islam Nilam Puri สถาบันการศึกษาศาสนาขั้นสูงแห่งแรกของมาเลเซีย พวกเธอมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการกำหนดอัตลักษณ์และบทบาทของผู้หญิงมุสลิม เริ่มมีการเคลื่อนไหวให้ผู้หญิงคลุมฮิญาบเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมสายใหม่ และก้าวออกจากความเชื่อจารีตมุสลิมสายเก่าที่ว่า ผู้หญิงไม่ต้องเรียนรู้ศาสนาอะไรมากพ่อแม่สอนในครอบครัวก็พอเพราะแต่งงานไปเดี๋ยวผัวก็สอนเอง พวกเธออุทิศตนเองเพื่อเผยแพร่ศาสนาก็เพื่อให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
มากไปกว่านั้นมุสลิมะห์รุ่นนี้ก็โตมากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านประสบการณ์ประท้วงใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลาง จ.ปัตตานี ในพ.ศ.2518 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนรุ่นใหม่หนุ่มสาวที่ได้เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในปัตตานีจากคนรุ่นก่อนๆ รับรู้ถึงความเจ็บปวด ความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม และจากประสบการณ์ตรงเองคือการถูกเลือกปฏิบัติ เพราะเมื่อมีการศึกษา พวกเธอจึงเริ่มพกความมั่นใจในอัตลักษณ์ทางศาสนาตัวเอง ออกไปประกอบอาชีพต่างๆ นอกชุมชนบ้านเกิด เป็นครูบาอาจารย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำงานสังคมสงเคราะห์ ในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมแบบพุทธๆ บางคนถูกดูแคลนโดยชาวพุทธ บ้างถูกกีดกันโอกาสในหน้าที่การงานโดยเฉพาะในหน่วยงานราชการ หัวนายเจ้านาย ข้าราชการผู้ใหญ่หลายคนไม่อยากให้คลุมผมในที่ทำงาน เธอจึงยืนกรานต่อสู้เพื่อให้ได้แสดงอัตลักษณ์ทางความเชื่อส่วนบุคคล เรียกร้องสิทธิทางศาสนาของตัวเอง การคลุมฮิญาบของพวกเธอจึงเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับการเลือกปฎิบัติของรัฐ
ต่อมามุสลิมะห์และผู้หญิงมาเลย์รุ่นเกิดก่อนปี 2510 เริ่มมีโอกาสที่รับทุนไปเรียนต่างประเทศ ทั้งอียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย อินโดนีเซีย ลิเบีย อิรัค คูเวต ซูดาน และในปี 2511 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็เริ่มเปิดการเรียนการสอน รุ่นนี้จึงประกอบอาชีพหลากหลายขึ้น แต่ก็ยังคงถูกกีดกันเลือกปฎิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐชาวไทยพุทธ ในสายตาของพวกเธอ การเข้มงวดคลุมฮิญาบและขมีขมันทำกิจกรรมทางศาสนา ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ถึงความเท่าเทียมในการแสดงออกทางความเชื่อความศรัทธาในประเทศที่เลือกปฏิบัติทางศาสนา แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ถึงการมีบทบาทสาธารณะทัดเทียมกับผู้ชายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
เพราะด้วยการศึกษาทำให้ผู้หญิงอ่านออกเขียนได้ มีความรู้ความคิดสมัยใหม่ ก้าวหน้า มีอำนาจตัวตนและบทบาทสำคัญบนพื้นที่สาธารณะ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองไม่ต้องพึ่งพาผู้ชาย ทำให้พวกเธอสามารถอพยพเข้าสู่เมืองและเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิจากการถูกรัฐกดขี่
เช่นเดียวกับถุงยางอนามัย การมียาคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเข้าถึงง่ายตั้งแต่ ค.ศ. 1961 และการใช้นวัตกรรมอย่างถุงยางอนามัยที่พร่หลาย ก็ทำให้ผู้หญิงเริ่มตระหนักได้ว่าตนเองอยู่ในฐานะเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย สามารถกำหนดและตัดสินใจเพื่อการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเอง เพราะเดิมวาทกรรมหรือสิ่งประกอบสร้างทางสังคมที่เรียกว่า ‘ความเป็นแม่’ ที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่คน ทำให้ผู้หญิงต้องแต่งงาน อยากมีลูก เนื้อตัวร่างกายและเรื่องเพศของเธออยู่ภายใต้การกำหนดกะเกณฑ์ของผู้ชาย ขณะเดียวกันก็กักขังผู้หญิงไว้แต่ในบ้าน อยู่ติดที่ ไม่มีโอกาสออกมาทำงานบนพื้นที่สาธารณะ การตัดสินใจที่จะมีหรือไม่มีลูก หรือการคุมกำเนิดได้ด้วยตัวผู้หญิงเองช่วยให้ผู้หญิงมีบทบาทอำนาจมากขึ้น ผู้หญิงเริ่มตั้งคำถามอำนาจของพวกเธอ การเป็นเจ้าของประเวณีและร่างกายของเธอเอง นำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ต่อต้านความรุนแรงทางเพศและในครอบครัว จนได้กลายมาเป็นหมุดหมายของสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ในยุโรปและอเมริกา
การแจกถุงยางอนามัยระหว่างนักศึกษา จึงไม่ใช่เรื่องต้องตระหนก หากแต่เป็นเรื่องน่าตระหนักว่า มันคือการรักษาสถานภาพตัวตนผู้หญิงบนที่สาธารณะ ก้าวข้ามขนบก่อนสมัยใหม่ ทำให้มีอำนาจในการตัดสินใจเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ไม่พึ่งพิงผู้ชาย และเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวระยะยาวส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทางความคิดเรื่องเพศ ไม่ว่าผู้แจกจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ทวีลักษณ์ พลราชม. อัตลักษณ์แบบผสมผสานกลายพันธุ์ (Hybrid identities) ของผู้หญิงมุสลิมปาตานี “สามรุ่น” ผ่านระบบการศึกษาแผนใหม่ ระหว่างพ.ศ.2500-2525. การประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 10 (2559).;
—–. “ในระหว่างพื้นที่” : อัตลักษณ์ผู้หญิงมาเลย์-มุสลิมปาตานีสามรุ่นที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2500-2525. การประชุมวิชาการนานาชาติเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8 (2557).;
—–. อัตลักษณ์ผู้หญิงมุสลิมปาตานีที่ผ่านการศึกษาแผนใหม่ หลัง พ.ศ. 2502. วลัยลักษณ์วิจัยครั้งที่.5 (2556).