ในประเทศที่วันหยุดนักขัตฤกษ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวัดและวัง (ซึ่งก็เป็นศาสนาพุทธเท่านั้น) หยุดเพื่อหาพระหาเจ้า ไม่ค่อยมีวันสำคัญที่เป็นเรื่องของประชาชนโดยตรง ถึงมีก็ถูกจัดกันเองเฉพาะกลุ่ม ไม่ถูกให้ความสนจดสนใจว่ามันสำคัญอย่างไร เช่นวันแรงงานสากล 1 พฤษภา วันสตรีสากล 8 มีนา IDAHOT17 พฤษภา ที่ถูกหลงๆ ลืมๆ ในประเทศ 24 มิถุนาวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 30 สิงหาคม วันผู้สูญหายสากลที่สูญหายไปในประเทศไทย
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านไปจึงกลายเป็นวันหยุดหายใจเปล่าดายผ่านไปอีกหนึ่งวันของหน้าปฏิทิน โดยไม่รู้ความหมายความจำเป็นให้ต้องจดจำของมัน กลายเป็นวันหยุดนึงที่รัฐใจดีมอบให้เป็นรางวัลปลอบใจการทำงานงกๆๆ หลังขดหลังแข็งในแต่ละวัน และเราจึงเข้าใจกันว่าเป็นวันหยุดพักผ่อนเฉพาะอาชีพแบบงงๆ สรุป ธนาคารหยุดมั้ย? รัฐวิสาหกิจล่ะ อ้าว…ข้าราชการไม่หยุดเหรอ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐล่ะ ก็เป็น ‘คนขายแรงงาน’ เหมือนกันนี่นา
ทั้งนี้เพราะการพร่าเลือนไม่ให้เห็นตัวตนของกรรมกรใน ‘วันกรรมกรสากล’ ด้วยการทำให้มันเป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ แล้วเก็บซ่อนความเป็นคนของกรรมาชีพซุกไว้ใต้ฐานพีระมิดระบบทุนนิยม (Pyramid of Capitalist System) วันแรงงานจึงกลายเป็นวันหยุดของกระฎุมพีคนงานคอปกขาวหนุ่มสาวออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือนอีกด้วย โดยไม่รับไม่รู้ว่ามีกำเนิดมาจากคนใช้แรงงาน กรรมาชีพที่พยายามปลดแอกจากการกดขี่ขูดรีด
อันที่จริง วันกรรมกรเริ่มมาจากอเมริกาและยุโรปปลายศตวรรษที่ 19 อันเนื่องมาการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชนชั้นกรรมาชีพต้องทำงานอย่างสาหัสสากรรจ์และไร้มาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัย ตลอด 10-16 ชั่วโมงต่อวันและไม่มีวันหยุด มีคนงานตายและบาดเจ็บจำนวนมากในที่ทำงานหลายแห่งเสมอๆ คนงานจึงเริ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ลดค่าจ้าง จนก่อตั้งเป็นองค์กรเพื่อคนใช้แรงงานได้ต่อรองกับชนชั้นนายทุนนายจ้างที่กดขี่ขูดรีดเยี่ยงทาส
อีกหลักไมล์แห่งขบวนการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ณ เมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของอเมริกา ชิคาโก ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 คนงานกรรมกรนัดหยุดงานครั้งใหญ่และชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ก่อนจะถูกสลายการชุมนุมล้อมปราบปรามอย่างรุนแรง 3 วันถัดมา โดยอำนาจรัฐนายทุนที่จัตุรัสเฮย์มาร์เกต (Haymarket Square) ทว่าขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานยังคงดำเนินต่อ เริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มกรรมากรมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่ง ‘สมาคมคนแรงงานสากลที่ 2’ (The Second International Working Man’s Association มีชื่อเล่นว่า Second International) ได้นัดวันหยุดงานและเดินขบวนชุมนุมอีกครั้งในปี 1890 เพื่อเรียกร้องให้เกิดหลักการทำงาน 8 ชั่วโมง นำมาปฏิบัติใช้ทั่วโลก รวมทั้งรำลึกวีรกรรมและโศกนาฏกรรม Haymarket affair เมื่อ 1886 วันนี้ได้กลายเป็นวันสำคัญของกลุ่มสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และอนาธิปไตย และถูกใช้ทั่วโลก และถูกเรียกอีกชื่อว่า ‘May Day’[1]
แม้ว่าทางการอเมริกาจะพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ใช้วันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน ในสมัยประธานาธิบดีไอเซนอาวร์ถึงกับเปลี่ยน ‘May Day’ ให้มีชื่อว่า ‘Loyalty Day’ ในปี 1958 เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นหนึ่งเดียวกันของกรรมกรทั่วโลกที่จะสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศค่ายโลกคอมมิวนิสต์ในบริบทสงครามเย็น แต่ประชาชนหลายกลุ่มยังคงเลือกใช้ 1 พฤษภาคม แม้แต่ในปี 2017 กลุ่มผู้อพยพข้ามชาติในอเมริกาก็ใช้ 1 พฤษภาเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายพ racist ของประธานาธิบดีทรัมป์
ประเทศไทยแลนด์เฉลิม ‘วันกรรมกรสากล’ ครั้งแรกขึ้นเมื่อ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยการรวมกลุ่มของประชาชนกรรมาชีพและองค์กรของคนขับสามล้อ
ก่อนจะมีการชุมนุมครั้งใหญ่ในวันกรรมกรสากลปี 2490 ซึ่งเป็นความร่วมมือโดยคนใช้แรงงานกรรมาชีพเองเพื่อกรรมชีพจริงๆ เคลื่อนไหวให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิกรรมกร ต่อมาถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ใน 2499 ภายใต้การควบคุมกำกับของรัฐบาล[2]
‘วันกรรมกรสากล’ หรือ ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ไม่เพียงจัดกิจกรรมพักผ่อนบันเทิงเริงใจรำลึกถึงความสำคัญและสร้างตระหนักถึงคุณภาพชีวิตกรรมมาชีพ มีนิทรรศการให้ความรู้กับกรรมกรในประเด็นสิทธิ สวัสดิภาพและมีส่วนร่วมกับภาครัฐ วันแรงงานแห่งชาติจึงมีความสำคัญเสมือนงานฉลองรัฐธรรมนูญ งานฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน หรือวันแม่แห่งชาติ โดยสำนักงานวัฒนธรรมฝ่ายหญิงที่จัดงานวันแม่แห่งชาติ 2492 ตามสากลจริงๆ คือสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม จัดประกวดเคหสถานและการอาชีพ เพื่อส่งเสริมการตกแต่งบ้านให้เรียบร้อบถูกสุขอนามัย และส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในครัวเรือน[3]หรือวันแม่แห่งชาติก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2486 ที่กำหนด 10 มีนาเป็น ‘วันแม่แห่งชาติ’ ซึ่งเป็นวันกระทรวงสาธารณสุข จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขเอง เพื่อเผยแพร่ความรู้อนามัยแม่และเด็กและยกย่องเกียรติของผู้หญิงผู้เป็นแม่ที่มีส่วนช่วยสร้างชาติด้วยการให้กำเนิดและเลี้ยงดูอบรมลูก[4] จะต่างกันตรงที่ ‘วันกรรมกรสากล’ เจ้าภาพคือประชาชนไม่ใช่รัฐบาลทุนนิยม
เพราะสวัสดิภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมาชีพลูกจ้างผู้ใช้แรงงานหนัก ที่เผชิญความมาสุ่มเสี่ยงสูงจากการทำงาน วันกรรมกรสากลจึงเฉลิมฉลองผลักดันเคลื่อนไหวประเด็นเพื่อสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตกรรมกรผู้ขายแรงงานทั่วโลก และปี 2017 ที่ผ่านมาอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ก็มีกิจกรรมการเดินขบวนแสดงพลังกรรมาชีพและชูป้ายรรรงค์ประเด็นต่างๆ ก็ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการชูป้าย ‘FREE SOMYOT’ ด้วย[5]
สมยศไหน? ใครคือสมยศ? และทำไมต้อง ‘Free Somyot’?
สมยศ พฤกษาเกษมสุข คือนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มแรงงาน บรรณาธิการนิตยสาร เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 30 เมษายน ก่อนวันแรงงานพ.ศ. 2561 เพียง 1 วัน ซึ่งก็ไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่เขาถูกจำคุก 7 ปีเต็มตั้งแต่ปี 2554 อย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอประกันตัวถึง 16 ครั้งทว่าถูกปฏิเสธ ท่ามกลางความกังวลใจและร่วมสังเกตการณ์ขององค์กรด้านกฎหมายและด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทางกฎหมายอาญาที่ใช้ริดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
ระหว่างถูกจองจำ เขาได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2555 ในฐานะผู้มีผลงานสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องและในปี 2559 เขายังได้รับรางวัล Jeon Tae-il (ชุน แต-อิล) โดยสมาพันธ์แรงงานเกาหลีใต้ (The Korean Confederation Of Trade Unions) อันเป็นองค์กรแรงงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้
สมยศเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและสวัสดิภาพคนใช้แรงงานและกรรมาชีพมายาวนาน ร่วมกับกรรมาชีพคนใช้แรงงานและองค์พัฒนาเอกชน ต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนายทุน และทำให้แรงงานหญิงหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาและเพื่อนชักชวนผู้คนจำนวนมากฝึกอบรมเรียนรู้เรื่องสิทธิของคนงาน เช่นโรงงานตัดเย็บผ้าย่านรังสิตซื้อเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมีโรงงานมาก มีแรงงานเกือบ 1,000 คนซึ่งประมาณ 95 % เป็นผู้หญิง จนมีสาวโรงงานจำนวนมากมีความรู้ความเข้าใจต่อสู้กับการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากนางจ้าง ร่วมกันเคลื่อนไหวเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับสวัสดิภาพ[6]
หลังจากเป็นเจ้าหน้าที่หลักของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลงพื้นที่ย่านโรงงานอุตสาหกรรมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ในปี 2527 ให้จัดการศึกษากฎหมาย สิทธิแรงงาน สิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพ ในปี 2534 สมยศกับเพื่อนก็ร่วมกันก่อตั้งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงานที่สมยศเป็นผู้อำนวยการ พื้นที่หลักในการทำงานคือเขตอุตสาหกรรมรังสิตและใกล้เคียง เขาไม่เพียงมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้จัดการฝึกอบรม ช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ รณรงค์ด้านกฎหมายปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน ยังส่งเสริมสิทธิการร่วมกลุ่มของคนงานสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ และเกิดแกนนำแรงงานหญิงจากโรงงานไทยเบลเยี่ยม[7]
การต่อสู้ร่วมกับคนงานและขบวนการแรงงานมาตลอดของเขา หลายคนอาจไม่รู้ หลายเรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการต่อสู้ และบางเรื่องก็สำเร็จแล้ว
อย่างเช่น กฎหมายประกันสังคมในปี 2533 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายการลาคลอด 90 วันซึ่งเคลื่อนไหวสำเร็จปี 2536 ทำให้สาวแรงงานสามารถลาคลอดได้ 90 วัน ได้รับค่าจ้างเต็ม 45 วันจากนายจ้าง และ 45 วันจากกองทุนประกันสังคม
เนื่องจากสิทธิการลาคลอดก่อนหน้านั้นลูกจ้างเอกชนมีสิทธิลาคลอดได้เพียง 30 วันเท่านั้น ได้รับค่าจ้างแค่เต็ม 30 วันแต่เวันหยุดภายใน 30 วันนั้นด้วย และสามารถลาต่อได้อีก 30 วันแต่ไม่ได้รับค่าจ้าง และนายจ้างบางแห่งก็เห็นว่าการลาคลอดนั้นทำให้คนงานหญิงขาดงานทำให้ผลผลิตลดลงจึงซิกแซกออกกฎห้ามคนงานหญิงตั้งท้อง ใครท้องไล่ออก หรือให้คนงานหญิงที่ท้องลาออกได้ 30 วัน คนงานหญิงบางคนจึงต้องลาคลอด 15 วัน แล้วหิ้วร่างกลับมาทำงาน ลูกก็ไม่ได้เลี้ยง นมก็ไม่ได้ให้ มดลูกเข้าอู่รึยังก็ไม่รู้ พวกเธอจึงต้องเผชิญปัญหาสุขภาพความปลอดภัยทั้งก่อนและหลังคลอด ตอนท้องโย้ก็ต้องทำงานแผนกเดิมไม่ได้รับการย้านแผนกไปทำงานที่เบากว่า พอคลอดเสร็จแผลยังไม่แห้งดี ปากมดลูกยังปวดอยู่เลยก็ต้องมายืนๆนั่งๆ เดินๆ ตลอดเวลา ไม่มีเวลาพักผ่อน ลูกก็ไมแข็งแรง ความรู้ด้านสิทธิกฎหมายอะไรก็ไม่มีจะเอาปัญญาที่ไหนไปต่อสู้ ขณะที่ปี 2534 รัฐบาลมีมติแก้ไขระเบียบการลาคลอดของข้าราชการหญิงให้มีสิทธิลาคลอดได้ 90 วันจากเดิม 45 วันโดยรับเงินเดือนเต็ม แต่มติไม่ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนจึงร่วมมือกันเคลื่อนไหว กลายเป็นความไม่เท่าเทียมทางโอกาส และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของระหว่างผู้หญิง[8]
เมื่อสาวโรงงานได้รับความรู้ด้านสิทธิ กฎหมายแรงงานและรวมตัวกันรณรงค์ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ พวกเธอจึงจัดสัมมนา ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐ เดินขบวน ประท้วงอดอาหารรณรงค์อย่างสันติวิธี และการได้มาซึ่งกฎหมายลาคลอด 90 วันก็เป็นอีกหลักไมล์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวสิทธิแรงงานกรรมกร
เพราะแรงงานผู้หญิงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบนายทุนไปพร้อมกับระบอบปิตาธิปไตย สวัสดิภาพ และสวัสดิการคนใช้แรงงานกรรมกรจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ให้แรงงานหญิงลาคลอด หากแต่ต้องรวมไปถึงแรงงานชายด้วยเพราะการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น แรงงานชายจึงต้องมีสิทธิในนามของการลาคลอดด้วยเพื่อเลี้ยงลูกและดูแลแม่เด็ก รวมไปถึงสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอย่าง การลาเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และอนามัยเจริญพันธุ์ เช่นลาไปตรวจฝากครรภ์ ลาเพราะแพ้ท้อง โดยไม่ต้องใช้สิทธิลาป่วย ลากิจหรือพักร้อนแทน เป็นต้น
….เป็นโปรเจกต์เพื่อสิทธิทางเพศในสวัสดิภาพแรงงานกรรมกรที่กำลังดำเนินต่อไป เพียงแต่ถูกพร่าเลือให้มองไม่เห็นความสำคัญ เหมือนกับวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านไปแต่ละปี
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Alexander Trachtenberg. The History of May Day. International Pamphlets, 1932. ; Eric Chase. The Brief Origins of May Day, in May Day: Workers’ Struggles, International Solidarity, Political Aspirations. socialist Project. Socialist Interventions Pamphlet No. 15. 2016.
[2] แถลงการณ์สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, 1 พฤษภาคม 2557.
[3] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. บันทึกผลงานรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2491-2499 พิมพ์ในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันเกิดครบ 5 รอบ ของพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 14 กรกฎาคม 2500,น. 199-200.
[4] นันทิรา ขำภิบาล. นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487 (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ภาควิชาประวัติศาสตร์,สาขาประวัติศาสตร์, 2530, น. 174 – 179.
[6] จะเด็ด เชาวน์วิไล, สุภาวดี เพชรรัตน์, บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, จรีย์ ศรีสวัสดิ์, วสุนันท์ นิ่มบุตร. บทเรียนการต่อสู้กฎหมายลาคลอด 90 วัน จดหมายที่ถูกส่งต่อ. กรุงเทพ : มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล,2558, น. 80-81.
[7]เรื่องเดียวกัน, น. 46.
[8] เรื่องเดียวกัน.