ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะชอบทำอะไรเหมือนๆ กับคนอื่น เพราะนั่นคือสัญชาตญาณของมนุษย์ที่มีความเป็นสัตว์ฝูง หรือที่เราชอบพูดให้ฟังดูดีขึ้นมาหน่อยว่า – มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
แต่นิตเช่บอกว่า สังคมมนุษย์ก็เป็น ‘ฝูง’ (Herd) อย่างหนึ่งนั่นแหละครับ
ฝรั่งมีคำเรียกวิธีอยู่ในฝูงคำหนึ่ง ซึ่งผมจนปัญญาจะหาคำแปลเป็นภาษาไทยคำเดียว คำนั้นก็คือ Conformity ซึ่งถ้าพูดกว้างๆ ก็หมายถึงการมีทัศนคติ ความเชื่อ และพฤติกรรมต่างๆ สอดคล้องต้องกันกับบรรทัดฐาน (Norms) ของฝูงที่ตัวเองสังกัดอยู่
คำว่า ‘คอนฟอร์ม’ นี่ ฟังดูเผินๆ เหมือนถูกบังคับขู่เข็ญให้ต้องทำตามบรรทัดฐานของสังคม ใครคอนฟอร์มจึงน่าจะเป็นคนที่มีความทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงในบางส่วน แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยเป็นอย่างนั้นหรอกครับ เขาบอกว่าส่วนใหญ่แล้วเราคอนฟอร์มก็เพราะเรารู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะทำ เพราะมันคือการแสดงว่าเราอยู่ใน ‘ฝูง’ แบบใดแบบหนึ่ง
การคอนฟอร์มไม่ใช่แค่มารยาทที่เราต้องปฏิบัติต่อผู้อื่น ที่จริงแล้วมันมีความหมายลึกไปกว่านั้นมาก บ่อยครั้งทีเดียวที่เราคอนฟอร์มโดยไม่รู้ตัว
เช่น ในคนทั่วไป ต่อให้นั่งกินข้าวอยู่คนเดียว เราก็มักจะกินตามแบบอย่างหรือวิถีการกินในแบบที่ฝูงของเราคุ้นเคยมาตลอด ถ้าเรามาจากกลุ่มคนที่กินด้วยช้อนส้อม ต่อให้อยู่คนเดียว เราก็จะกินด้วยช้อนส้อม ถ้าเรามาจากกลุ่มคนที่กินด้วยมือ เวลาอยู่คนเดียวเราก็จะกินด้วยมือ
พูดแบบนี้ บางคนอาจคิดว่าการคอนฟอร์มเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกล่อมเกลามาตั้งแต่เด็กจนฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้เราไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวเท่าไหร่ว่าเรากำลังคอนฟอร์มกับอะไรอยู่ ด้านหนึ่งเป็นอย่างนั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์เรามีการปรับตัวเพื่อจะคอนฟอร์มเข้าสู่บรรทัดฐานใหม่ๆ ในชีวิตได้ด้วยเหมือนกัน การเลือกจะคอนฟอร์มเป็นไปเพื่อให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อที่จะ ‘ไปด้วยกันได้’ (Go Along) หรือ ‘เข้าที่เข้าทาง’ (Fit In) กับ ‘ฝูง’ ที่อยู่รายรอบตัวเราในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต
ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชีวิต เช่น เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เร่ิมทำงานในที่ทำงานใหม่ ย้ายที่อยู่ใหม่ หรือกระทั่งเกิดอิทธิพลใหม่ๆ เช่น แฟชั่นใหม่ รายการทีวีหรือละครฮิตเรื่องใหม่ มนุษย์เราต้องเรียนรู้ที่จะคอนฟอร์มครั้งใหม่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะเราเข้าไปอยู่ใน (หรือเกิด) สภาวะแวดล้อมแบบใหม่ เกิดฝูงใหม่ หรือฝูงเดิมเปลี่ยนความนิยม จึงจำเป็นต้องยอมรับและดัดแปลงตัวเองเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่ฝูงนั้นๆ เห็นว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’
นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ดอย่าง เฮอร์เบิร์ต เคลแมน (Herbert Kelman) ได้แบ่งลักษณะการคอนฟอร์มหรือ Conformity ออกเป็นสามแบบ แต่ละแบบมี ‘ดีกรี’ ของการเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฝูงแตกต่างกัน ได้แก่
-Compliance : อันนี้เป็นระดับการคอนฟอร์มต่ำสุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นการคอนฟอร์มที่จำเป็นต้องทำ หรือถูก ‘อำนาจ’ บางอย่างกดดัน เช่น ความกดดันทางสังคม (Social Pressure) หรือแม้กระทั่งอำนาจของกฎหมาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม แต่มักเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมชั่วคราวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะไม่ชอบแต่งชุดไทยสักเท่าไหร่ แต่บังเอิญว่าเพื่อนในที่ทำงานเริ่มเกิดความนิยมใหม่ หันมาชอบแต่งชุดไทยกันเป็นการใหญ่ คุณก็เลยต้องเออออเป็นออเจ้าไปกับเพื่อนด้วย แต่คุณจะทำแบบนั้นได้ไม่นาน เพราะมันขัดกับตัวตนเดิมแท้ของคุณ
Compliance อาจไปไกลถึงขั้นเป็นกฎระเบียบก็ได้ เช่น สมมติว่าที่ทำงานออกกฎระเบียบมาบังคับว่าพนักงานต้องแต่งชุดไทยห่มสไบมาทำงานในวันศุกร์ หรือการกำหนดให้คนต้องทำอะไรบางอย่างเป็น ‘หน้าที่’ ตามกฎหมาย (เช่นการเกณฑ์ทหาร) ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งยอมคอนฟอร์มกับกฎระเบียบนี้แต่โดยดี ในขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากคอนฟอร์มด้วยเหตุผลบางอย่าง จนถึงขั้นลุกข้ึนมาต่อต้านก็ได้
แต่ต่อให้เราไม่ยอมคอนฟอร์มกับบรรทัดฐานชุดหนึ่ง เราก็มักจะหันไปคอนฟอร์มกับบรรทัดฐานอีกชุดหนึ่งอยู่ดี ตัวอย่างหนึ่งก็คือมูฮัมหมัด อาลี นักมวยชื่อดังก้องโลกที่เคยปฏิเสธการเป็นทหารรับใช้ชาติเพื่อไปรบในสงครามเวียตนาม ซึ่งก็คือการปฏิเสธไม่ยอมคอนฟอร์มตามกฎหมายของรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเป็นมุสลิม และเขาไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามเวียตนาม ซึ่งก็แปลว่าเขาคอนฟอร์มกับหลักศาสนาและอุดมการณ์ต่อต้านสงครามมากกว่ายอมคอนฟอร์มกับรัฐ
การคอนฟอร์มหรือไม่ยอมคอนฟอร์มทั้งหลายนั้นมีทั้งรางวัลและราคาที่ต้องจ่ายเสมอ
ในกรณีของอาลี เขาถูกเพิกถอนตำแหน่งแชมป์มวยรุ่นเฮฟวี่เวท แถมยังถูกพักใบอนุญาตชกมวย ทั้งยังถูกปรับและถูกศาลสั่งจำคุกอีกต่างหาก เขาต้องอุทธรณ์ แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายปีในการต่อสู้ จนเสียโอกาสชกมวยในยุคทองของร่างกาย (คือตั้งแต่อายุ 25-29 ปี) เพื่อต่อสู้เรื่องนี้ แต่ก็ได้รับชัยชนะในที่สุด ซึ่งก็มีผลทำให้บรรทัดฐานของสังคมโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปด้วย
-Identification : เป็นระดับการคอนฟอร์มที่เพิ่มดีกรีขึ้นมาอีกนิด ถือว่าเป็นระดับกลางๆ คนที่คอนฟอร์มในระดับนี้จะเริ่ม Identify ตัวเองเข้ากับบรรทัดฐานของฝูง ทำให้เห็นว่ามีอัตลักษณ์แบบเดียวกับฝูง คือมีการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมภายนอกและความเชื่อภายในตัวด้วย (ไม่เหมือน Compliance ที่ข้างในไม่ได้เปลี่ยน) แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงซึมลึกลงไปภายในทั้งหมด พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าออกไปนอกฝูงหรือนอกสถานการณ์แวดล้อม ก็อาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนกลับไปเป็นแบบเดิมได้
ทั้ง Compliance และ Identification นั้น เป็นผลมาจาก ‘อิทธิพลของบรรทัดฐานทางสังคม’ หรือ Normative Social Influence ตัวอย่างของการคอนฟอร์มในระดับ Identification นี้ก็เช่น คุณชอบการใส่ชุดไทยเหมือนเพื่อนๆ และมีความสุขดีเวลาที่ได้ใส่ชุดไทยอยู่กับเพื่อน (ไม่เหมือน Compliance ที่ใส่เพราะจำเป็นต้องใส่หรือถูกบังคับให้ใส่) คุณอาจจะใส่ชุดไทยไปต่างประเทศกับกลุ่มเพื่อนด้วยซ้ำ เช่น ใส่ชุดไทยไปถ่ายกับบิ๊กเบน หอไอเฟล ฯลฯ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม แต่ถ้าไปคนเดียว คุณจะไม่ใส่
-Internalization : อันนี้คือการคอนฟอร์มระดับสูงสุด คือเป็นการโน้มนำการคอนฟอร์มนั้นเข้าไปสู่ภายในของคุณเลย เป็นการที่คนคนหนึ่งเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมภายนอกและความเชื่อภายในให้สอดรับกับบรรทัดฐานของฝูง และมักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวด้วย
นักจิตวิทยาบอกว่า การคอนฟอร์มแบบนี้มาจากอิทธิพลที่เรียกว่า Informational Social Influence (หรือ Social Proof) ซึ่งเป็น ‘อิทธิพล’ ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมาก อิทธิพลนี้จะทำให้ผู้คอนฟอร์มบรรลุถึงและยอมรับซึ่ง ‘ความจริง’ (Reality) แบบใหม่ที่ฝูงสร้างขึ้นและเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือ ‘ความจริง’ และอะไรคือ ‘พฤติกรรมที่ถูกต้อง’ ที่ต้องแสดงออก
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่คลุมเครือหรืออยู่ใน Reality ในแบบที่ไม่เคยคุ้นมาก่อน คนที่คอนฟอร์มในระดับนี้มักต้องหันไปพึ่งพิง ‘อำนาจนำ’ ในฝูง เพื่อหาคำตอบ เพราะตัวเองไม่สามารถกำหนดท่าที (Mode of Behavior) ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่คลุมเครือได้ และจะมีความคิดว่าคนอื่นๆ ในฝูง โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจนำนั้นเป็นคนที่ครอบครองความรู้และความจริงมากกว่า จึงรู้ดีกว่าว่าจะต้องมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์ที่ไม่เคยพบเห็น การทำตามอำนาจนำจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
การคอนฟอร์มในระดับ Internalization นั้นมีข้อดีตรงที่ต่อให้พบกับสถานการณ์ที่วุ่นวายมากๆ ถึงระดับน่าตระหนก (Panic) แต่ถ้ารู้สึกว่ามีอำนาจนำบางอย่างของฝูงให้ยึดเหนี่ยว ก็จะคลายความหวาดกลัวลงไปได้มาก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าอำนาจนำของฝูงจะต้อง ‘ถูกต้อง’ เสมอไปนะครับ บรรทัดฐานของฝูงอาจจะผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นก็ได้ แต่การที่มีฝูงร่วมคิดผิด เชื่อผิด และแสดงพฤติกรรมผิดพลาด อยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ก็มักทำให้ฝูงนั้นๆ มองเห็นความผิดพลาดของตัวเองได้ยากขึ้น
นอกจากคำว่า Conformity แล้ว ภาษาอังกฤษยังมีคำว่า Conformism ด้วยนะครับ ซึ่งพอเราเห็นคำห้อยท้ายว่า -ism ทีไร ก็รู้ได้ทันทีว่ามันจะมีระดับความโหดมากขึ้นไปอีกนิดเสมอ
คำว่า Conformity นั้น เป็นแค่ ‘สภาวะ’ ของการคอนฟอร์ม คือมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันไปทั้งฝูง แต่ถ้าเป็น Conformism จะมีความหมายว่า A Willingness to Conform คือมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะคอนฟอร์มกันเลยทีเดียว ลำพัง Conformity จึงไม่กระไรนักหนา เพราะมันเป็นแค่สภาวะในตัวตน แต่ปัญหามักจะเกิดกับ Conformism นี่แหละครับ
Conformism มักจะเกิดกับคนที่มีภาวะคอนฟอร์มในระดับ Internalization คือคอนฟอร์มเข้มข้นที่สุด ทำให้เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจอันแรงกล้าที่จะคอนฟอร์ม แต่ปัญหาก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่ว่า มักจะไม่ได้เกิดแก่ตัวเองคนเดียว ทว่ามักจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปสู่คนอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะคนที่ตัวเองรักใคร่ชอบพออยากให้มามีลักษณะ ‘ร่วมฝูง’ กัน
ความมุ่งมั่นตั้งใจที่ว่านี้ไม่ได้เกิดเพราะเจตนาร้ายอยากขู่เข็ญบังคับนะครับ แต่มักเกิดจากเจตนาดี อยากให้คนที่ตัวเองรักมีความมั่นคงปลอดภัย ยิ่งคอนฟอร์มอยู่ใต้อำนาจที่ใหญ่โตมากเพียงใด ก็จะยิ่งรู้สึกปลอดภัยได้มากเพียงนั้น ไม่ว่าภาพของ Reality จะถูกบิดเบือนไปแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบ่อยครั้งทีเดียวที่ Reality หรือ ‘ความจริง’ นี่แหละ ที่ทำร้ายตัวตนของเราและฝูงของเราได้สาหัสสากรรจ์นัก
โดยทั่วไป Conform จึง Comfort มากกว่าไม่ยอม Conform
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่ได้บอกคุณว่าการคอนฟอร์มเป็นเรื่องไม่ดีนะครับ แทบทุกคนในโลกย่อมคอนฟอร์มกับอะไรบางอย่างอยู่เสมอ ยิ่งในโลกที่เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากเท่าไหร่ การคอนฟอร์มก็ยิ่งสลับซับซ้อนได้มากเป็นทวีคูณ เราอาจคิดว่าตัวเองเป็นขบถที่ไม่ยอมคอนฟอร์มกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพรอบตัวก็ได้ แต่พร้อมกันนั้น เราก็อาจกำลังคอนฟอร์มกับบางชุมชนออนไลน์ในระดับเข้มข้นได้เหมือนกัน และช่วงเวลาของการคอนฟอร์มอยู่กับ ‘ฝูง’ แบบใดแบบหนึ่งอย่างจงรักภักดี ก็อาจสั้นลงเรื่อยๆ เพราะเรามีความสามารถจะมองเห็นฝูงใหม่ๆ ที่เราคิดว่าเหมาะสมกับตัวเองมากกว่าได้จากพลังของการสื่อสาร แล้วกระโดดเข้าไปสู่กลุ่มใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ โดยอาจมีระดับการคอนฟอร์มที่เข้มข้นในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การคอนฟอร์มไม่ใช่เรื่องแย่ในตัวของมันเอง เพราะมนุษย์ย่อมอยากคอนฟอร์มอยู่กับอะไรบางอย่างเสมอ และการหลบอยู่ใต้ร่มของการคอนฟอร์มก็อาจสร้างความสบายใจให้เราได้มากกว่า แต่การบังคับคนอื่นให้ต้องคอนฟอร์มหรือสมาทานความคิดความเชื่อแบบเดียวกับบรรทัดฐานของฝูงตัวเองต่างหากที่แย่ เพราะเรามักไม่รู้ตัวหรอกว่า เราคอนฟอร์มกับบรรทัดฐานของฝูงในดีกรีที่เข้มข้นแค่ไหน และบรรทัดฐานของฝูงนั้นๆ ได้บิดเบือน Reality ที่เราเห็นไปมากเพียงใด
นอกจากแย่ – จึงยังอาจอันตรายอีกด้วย