(1)
ตอนที่มีข่าวว่ามีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้นในอู่ฮั่นนั้น หมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในไทย ให้ความสนใจมาก เพราะอู่ฮั่นเป็นที่ตั้งของ Wuhan Institute of Virology แล็บวิจัยไวรัสที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งในเว็บไซต์เป็นทางการของสถาบัน ระบุว่าที่นี่ มี ‘ธนาคาร’ ไวรัส ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีสายพันธุ์ไวรัสต่างๆ เก็บไว้มากกว่า 1,500 สายพันธุ์
เมื่อสัก 2 เดือนที่แล้ว หมอนักระบาดวิทยาบางคนเคยเปรยขึ้นมาว่า อาจเรื่องบังเอิญมากเกินไป ที่ COVID-19 จะเกิดขึ้นใน ‘อู่ฮั่น’ สถานที่ที่มีแล็บด้านไวรัส โดยมีที่มาจากตลาดอาหารทะเลหูหนาน อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแยงซี ห่างจากสถาบันไวรัสไปราวครึ่งชั่วโมง
แล็บแห่งนี้ กลายเป็นจุดศูนย์กลางวิวาทะของ ‘การเมืองระหว่างประเทศ’ อีกครั้ง ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังทำเนียบขาว ตั้งใจปล่อยข้อมูลออกไปในสื่อยักษ์ใหญ่หลายฉบับ อ้างรายงานของ ‘หน่วยข่าวกรอง’ ย้อนหลังไป 2 ปี ว่ามีรายงานที่เตือนถึง ‘ความปลอดภัย’ ของแล็บอู่ฮั่นไว้แล้ว ว่าวันหนึ่ง อาจมีเชื้อไวรัสที่ไม่พึงประสงค์ ‘หลุด’ ออกมา สร้างความเสียหายไปทั่วโลกได้
ส่วนตลาดซีฟู้ด ค้างคาว และการเปิบพิสดาร
อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเบี่ยงเบนความสนใจ
ให้ออกห่างจากแล็บแห่งนี้เท่านั้น..
(2)
เอาเข้าจริงแล้ว จุดกำเนิดนี้มีหลายทฤษฎี เริ่มจากเรื่องที่เป็นทางการในช่วงต้น ว่าผู้ป่วยชุดแรกที่พบช่วงกลางเดือนธันวาคม ล้วนเกี่ยวข้องกับตลาดซีฟู้ด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และเมื่อพบว่าลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส มีส่วนผสมจาก ‘ค้างคาว’ ก็ทำให้พอจะโยงได้ว่าเกิดจากการบริโภคค้างคาว ที่ในตลาดดังกล่าว ก็บังเอิญมีขายพอดี
แต่เมื่อผ่านไปถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ บทความวิชาการในวารสาร The Lancet เขียนโดยแพทย์จากโรงพยาบาลในอู่ฮั่น กลับหักล้างความเชื่อดังกล่าว บอกว่าแม้คนไข้กลุ่มแรก 27 คน จาก 41 คนในอู่ฮั่น จะมีความเกี่ยวโยงกับตลาดซีฟู้ด แต่เมื่อทำ Contact tracing สืบสวนเส้นทางการระบาดของโรคในผู้ป่วยคนแรกที่เจอในขณะนั้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปีที่แล้ว กลับไม่พบว่าผู้ป่วยคนนี้ เกี่ยวข้องอะไรกับตลาดซีฟู้ด
ขณะเดียวกัน การปิดตลาด และรีบทำความสะอาดตลาดซีฟู้ดดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มกราคม แม้จะเป็นผลดีต่อการควบคุมการระบาดของโรค แต่ก็ทำให้นักระบาดวิทยา ไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าที่จริงแล้ว ตลาดนี้ เป็นที่มาของไวรัสหรือไม่ และมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนที่จะเป็นเส้นทางการระบาด
ปฏิบัติการตามหา Patient Zero หรือคนไข้หมายเลขศูนย์ ยังคงเดินต่อไป กระทั่งมีรายงานว่า สามารถสืบเสาะ ตามไปได้ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 เป็นชายหูเป่ยวัย 55 ปี และในเดือนพฤศจิกายนนั้น มีผู้ป่วยแล้วมากกว่า 9 คน จากโรค COVID-19 ที่ไม่รู้ที่มา
นั่นเป็นช่วงเวลา 1 เดือนครึ่งทีเดียว ก่อนที่ หลี่ เหวินเหลียง (Li Wenliang) จักษุแพทย์ชาวจีนผู้เป็น Whistle Blower จะออกมาเปิดเผยว่ามีโรคลึกลับระบาด และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปควบคุมตัวในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เกิดความตื่นตระหนก
หลังจากข้อมูลเริ่มออกมาอย่างต่อเนื่อง ทฤษฎีเกี่ยวกับไวรัสนี้ มาจากตลาดซีฟู้ดก็ค่อยๆ เลือนหายไป และความทะเยอทะยานเกี่ยวกับการหาต้นตอของทางการจีน ก็ดูจะน้อยลงตามไปด้วย
(3)
19 กุมภาพันธ์ รายงานอีกชิ้นลงในเว็บไซต์ ChinaXiv.org ว่ามีการเก็บตัวอย่างรหัสพันธุกรรมจาก 93 ตัวอย่าง ใน 12 ประเทศ ยืนยัน ‘ความเชื่อ’ ใหม่ว่าตลาดซีฟู้ดกลางอู่ฮั่น อาจไม่ใช่ต้นกำเนิดที่แท้จริง เพียงแต่เป็น ‘ตัวเร่ง’ ที่ทำให้โรคนี้ระบาดได้เร็วขึ้นเป็นการเปลี่ยนความเชื่อเดิม เรื่อง ‘เปิบค้างคาว’ ไปสู่มิติใหม่ที่ไกลกว่าเดิม
ในเวลานี้เอง ทฤษฎีสมคบคิดใหม่ ก็เริ่มต้นขึ้น ว่าด้วยการกำเนิดของไวรัสชนิดนี้ในอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ฐานทัพฟอร์ทเดทริค (Fort Dertick) รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา โดยใช้บทความจาก ChinaXiv เป็นพื้นฐานว่าโรคนี้ เกิดจากการ ‘นำเข้า’
23 กุมภาพันธ์ เว็บไซต์ Global Times สำนักข่าวภาคภาษาอังกฤษของ People’s Daily สื่อจีน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล อ้างถึงรายงานจากสำนักข่าว TV Asahi จากญี่ปุ่นที่ว่า ไวรัสอาจเกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา และอีก 10 วันถัดมา ก็มีบทความอีก 2 ชิ้น ลงในเว็บไซต์ Globalresearch.ca ในหัวข้อคล้ายกัน อ้างถึงรายงานของทีวีญี่ปุ่นเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม มีการอ้างแหล่งข่าวเพิ่มเติม ระบุว่าจากตัวอย่างไวรัส 100 ตัวอย่าง ใน 12 ประเทศ และ 4 ทวีปนั้น ค่อนข้างชัดว่าไวรัสชนิดนี้ เริ่ม ‘ติดต่อ’ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2019 ก่อนที่จะมีการแข่งขัน Wuhan Military Game หรือมหกรรมกีฬาทหารโลก ที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันนับหมื่นคน จาก 140 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ ข่าวจาก People’s Daily (ต่อมาได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ลงในเว็บไซต์ Xinhuathai.com ด้วย) ยังได้รายงาน อ้างถึงเว็บไซต์ GlobalResearch.ca ไปอ้างถึงสถานีโทรทัศน์ไต้หวันอีกที ตั้งข้อสังเกตว่าสหรัฐฯ มีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่ปีที่แล้ว และโรคดังกล่าวอาจหลุดจาก ‘แล็บ’ อาวุธชีวภาพในแมรีแลนด์ ซึ่งถูกปิดไปก่อนหน้านี้ โดยมีการระบาด เริ่มต้นจากแมรีแลนด์ ไปยังฮาวาย และมีคนติดเชื้อที่ฮาวาย ก่อนที่จะพบคนติดเชื้อในจีน ทว่ามีการ ‘ปิดข่าว’
พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า มีใครเอามาปล่อยในช่วงแข่งกีฬาทางการทหารหรือไม่? แต่ก็ไม่มีใครเชื่อมโยงข้อสันนิษฐานดังกล่าวกับตลาดปลา และผู้ป่วยรายแรกในจีนได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ได้รับความนิยมในเว่ยป๋อ และในโซเชียลมีเดียของจีน ที่เริ่มเชื่อตรงกันว่าไวรัส อาจไม่ได้มาจากจีน
ซ้ำยัง ‘ไปไกล’ ถึงระดับที่ว่า จ้าว ลีเจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ ‘ทวีต’ ข้อกล่าวหานี้ด้วย มีคนอ่านข่าวนี้ไปทั้งหมด 160 ล้านครั้ง ในเว่ยป๋อ
(4)
อันที่จริง เรื่องทั้งหมดข้างต้น จะไม่เป็นประเด็น หากสถานีโทรทัศน์ Asahi ของญี่ปุ่น และสถานีโทรทัศน์ในไต้หวัน ลงข่าวดังกล่าวจริง ปัญหาก็คือทั้ง 2 สำนักข่าว ไม่เคยรายงานเรื่องดังกล่าว และเรื่องในแมรีแลนด์ ในฮาวาย ก็ไม่มีข้อเท็จจริงมากพอที่จะให้ใครไปตามต่อ
แล้วโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ก็ไม่ได้ลบทวิตทิ้ง แม้ว่าในเวลาต่อมา เว็บไซต์ Globalresearch จะลบบทความดังกล่าวออก People’s Daily ลบบทความดังกล่าวออก ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ก็คือ ณ วันนี้ บทความแปลไทย ยังคงอยู่ในเว็บไซต์สำนักข่าวซินหัวภาคภาษาไทย ข่าวดังกล่าว ยังคงว่อนในไลน์คนไทย และชาวจีนจำนวนมาก ยังคงเลือก ‘ซื้อ’ สมมติฐาน ตามหัวข้อข่าวนี้
เมื่อจีนกระพือข่าวนี้ ก็ทำให้อเมริกาต้องโต้กลับบ้าง หลังจากนั้นไม่นาน โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) แก้คำแถลงเปลี่ยนชื่อเรียก COVID-19 กลับมาเป็น Chinese Virus หรือไวรัสจีน ส่วนไมค์ ปอมเปโอ (Michael Pompeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ยังเรียกไวรัสนี้ว่า ไวรัสจีน อยู่เนืองๆ ท่าทีของรัฐบาลอเมริกา ในภาวะที่ย่ำแย่จากยอดผู้ติดเชื้อ และการถกเถียงเรื่องล็อกดาวน์-ไม่ล็อกดาวน์ หันหัวกลับมาที่ต้นำเนิดเรื่องไวรัสในจีนอีกครั้ง เพื่อเบี่ยงความสนใจทางการเมือง
16 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกที่จะเปิดเกมใหม่ ด้วยการพูดถึงที่มาของไวรัส จากมุมมองคล้ายกัน แต่เปลี่ยนเป็นว่าเรื่องนี้ ‘หลุด’ จากแล็บในอู่ฮั่น สำทับด้วยคำขู่จากผู้นำโลกเสรีอย่างทรัมป์ระบุว่ากำลังสืบสวนที่มา และหากเป็นเรื่องจริง จีนจำเป็นต้อง ‘รับผิดชอบ’ เรื่องนี้
ตามมาด้วยผู้บริหารของแล็บ ที่ให้สัมภาษณ์ยืนยันความปลอดภัย และขั้นตอนการเก็บตัวอย่างที่ได้มาตรฐาน ไม่เปิดช่องให้ความผิดพลาด และไม่มีใครที่บ้าไปตั้งใจ นำเชื้อไวรัสออกจากแล็บนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพแน่นอน
แม้รายงานจากข่าวกรองสหรัฐฯ 2 ปีที่แล้วระบุว่า แล็บดังกล่าวในอู่ฮั่นอาจไม่ปลอดภัย และอาจมีเชื้อไวรัสหลุดออกมาได้ แต่จนถึงตอนนี้ ฝั่งสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีหลักฐานใดมาอ้างอิงว่าการหลุดของไวรัสรอบนี้ เกิดจากแล็บในอู่ฮั่นเช่นเดียวกัน เพียงแต่เป็น ‘ความสงสัย’ ที่เบี่ยงประเด็นข่าวได้ดี
(5)
อีก 3 วันถัดมา ก็เป็น People’s Daily อีกรอบ ที่ไปสัมภาษณ์นักระบาดวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนในจีน ขอให้ทั่วโลก หยุดกระพือข่าว ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส เพราะอาจจะกระทบกับการทดลองวัคซีนที่กำลังคิดค้นอยู่ และมีความก้าวหน้ามากขณะนี้
หนึ่งในสถานที่ทดลองวัคซีน ไม่ใช่ที่ไหน แต่คือแล็บที่ Wuhan Institute of Virology สถานที่ที่อเมริกา ระบุว่า ‘ไม่ปลอดภัย’ นั่นเอง
ท่าทีของจีนล่าสุดก็คือความพยายามเรียกร้องให้นานาชาติ ยุติเรื่องการเมือง หรือการกล่าวหาประเทศใดประเทศหนึ่ง ไปสู่การ ‘ร่วมใจ’ กันหาทางยุติโรคนี้ และตอบโต้กลับไปยังสหรัฐฯ ว่าอย่าทำให้โรคภัยไข้เจ็บ กลายเป็น ‘ไวรัสการเมือง’ ที่สุดท้าย จะกลายเป็นเรื่องที่ต้องเถียงกันไม่จบสิ้น
ในที่สุด หลังจากไวรัส กลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างสองชาติมหาอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ และน่าจะทวีความรุนแรมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่สหรัฐฯ เริ่มเข้าใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเข้าไปทุกที
ผลสุดท้าย เราอาจไม่รู้เลยก็ได้ว่า ไวรัสนี้ มีต้นกำเนิดมาจากตลาดซีฟู้ดจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้ว ผู้ป่วยหมายเลข 0 คือใคร เพราะความเป็น ‘การเมือง’ ที่พัวพันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา และการต้องรักษาภาพความเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของจีนในเวทีโลก ก็ไม่อาจเว้นที่ว่างให้กับข้อผิดพลาดของการระบาดครั้งนี้
เกมการเมืองจะเข้มขึ้นต่อไป สุมไฟจากเดิมที่จีนกับอเมริกา ‘วิวาท’ กันอยู่แล้ว ให้หนักขึ้นอีก และเกม ‘โยน’ ก็จะเกิดขึ้น หนักข้อขึ้นต่อไป เพื่อสร้างความเป็นชาตินิยมให้แข็งแกร่งขึ้น โดยใช้ต้นกำเนิดของไวรัส เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง