เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,273 คน (ดูข่าวนี้นะครับ www.sanook.com) โพลนี้ไม่ได้ถามว่า อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีนะครับ แต่ถามว่า ตอนนี้คนไทยมีความวิตกกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด
ปรากฏว่า เรื่องที่ ‘ใหญ่’ ที่สุดของประชาชนชาวไทย คือเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ โดยความวิตกกังวลอันดับหนึ่งของคนไทยก็คือเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง รายได้ และ ‘ค่าครองชีพ’ ที่สูงลิบลิ่ว โดยคนที่เห็นว่าเรื่องนี้น่ากังวล มีมากถึง 78.32% จะว่าไป นี่เป็นเศรษฐกิจจุลภาคนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวคนแต่ละคน
ส่วนอันดับสอง ที่มีมากถึง 69.05% (อย่าประหลาดใจว่า เอ๊ะ! ทำไมรวมแล้วได้มากกว่า 100% เพราะเขาให้ตอบได้หลายข้อ) แม้จะฟังดูคล้ายๆ กัน คือกังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ การค้าการลงทุนไม่ดี แต่ความต่างก็คือ นี่เป็นความกังวลเรื่องเศรษฐกิจมหภาค
เพราะฉะนั้น ถ้าไปถามใครต่อใครในเวลานี้ว่าวิตกกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด คำตอบโดยรวมๆ น่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจนี่แหละครับ ไม่ว่าจะจุลภาคหรือมหภาคก็ตามแต่ โดยเศรษฐกิจที่ ‘ใกล้ตัว’ เรามากที่สุด ก็คือค่าครองชีพนั่นเอง
คำถามถัดมาก็คือ เอ๊ะ! เวลาเราบอกว่าค่าครองชีพแพงนี่ มันแพงจริงหรือเปล่า หรือว่าเราแค่รู้สึกไปเอง เลยอยากชวนคุณมาสำรวจตรวจตรากันเสียหน่อย ว่าถ้าเราเอาประเทศไทย (โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ) ไปเปรียบเทียบกับประเทศและเมืองอื่นๆ เราจะมีที่ทางเรื่องนี้อย่างไร
แล้วจะไปดูที่ไหนดีล่ะครับ?
ในสมัยก่อน การสำรวจ ‘ค่าครองชีพ’ (หรือ Cost of Living) นี่ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ เพราะว่าต้องส่งคนออกไปสำรวจกันทั่วโลก ดูว่าเมืองไหนมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างไรบ้าง แล้วถึงจะนำมาเปรียบเทียบกัน จึงเป็นขบวนการใหญ่โตมโหฬาร ต้องใช้งบประมาณมากมาย
องค์กรใหญ่ๆ ที่ใช้วิธีสำรวจแบบนี้มีหลายเจ้า แต่เจ้าหนึ่งที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนาน ก็คือ Mercer ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการสำรวจค่าครองชีพและที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่อยากไปทำงานในประเทศต่างๆ โดยเขาจะจัดอันดับค่าครองชีพประเทศต่างๆ ออกมาทุกปี อีกเจ้าหนึ่งที่หลายคนคงรู้จักดีก็คือ The Economist (ผ่าน The Economist Intelligence Unit) ทั้งสองเจ้านี้รายงานผลเมืองไทยหรือกรุงเทพฯ ออกมาคล้ายๆ กัน คือเป็นประเทศที่อยู่กลางๆ ไม่ได้แพงมากแล้วก็ไม่ได้ถูกมากเท่าไหร่ ไม่เหมือนสิงโปร์ ฮ่องกง โตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน หรือเซี่ยงไฮ้ ที่มีค่าครองชีพสูงกว่ามาก แต่กระนั้น รายงานของทั้งสองเจ้าก็บอกว่า ค่าครองชีพของกรุงเทพฯ นั้น ในระยะหลังๆ ‘สูงขึ้น’ เรื่อยๆ
ที่น่าสังเกตก็คือ วิธีเก็บข้อมูล (Methodology) ของสองเจ้านี้ จะมีลักษณะแบบ ‘ออกไปสำรวจ’ เช่นของ Mercer (ดูจาก www.imercer.com) จะมีนักวิจัยมืออาชีพ (เขาบอกว่าเป็น Professional Researchers) ออกไปเก็บข้อมูลในเมืองต่างๆ มากกว่า 370 แห่งทั่วโลก ของ The Economist ก็คล้ายกัน คือจะมีการส่งคน (เขาใช้คำว่า Field Correspondents) ออกไปสำรวจในเรื่องต่างๆ (ดูที่นี่ www.eiu.com) แล้วนำผลที่ได้กลับมาประมวล แต่ในปัจจุบันนี้ มีอีกหลายองค์กรที่ลุกขึ้นมาทำสำรวจค่าครองชีพทั่วโลกด้วยวิธีการอีกแบบหนึ่ง องค์กรหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Numbeo
Numbeo เกิดขึ้นในปี 2009 แต่ต้องบอกคุณก่อนว่า ก่อนหน้าปี 2009 ข้อมูลเรื่องค่าครองชีพที่ได้จากองค์กรสำรวจใหญ่ๆ ล้วนแต่เป็นความลับ คือใครอยากได้ก็ต้องไปซื้อหามาด้วยราคาต่างๆ (ที่จริงปัจจุบันบางส่วนก็ยังต้องซื้ออยู่เหมือนกันนะครับ) ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ราคาถูกๆ เพราะถือเป็นข้อมูลทางการค้า แต่ Numbeo มีแนวคิดที่จะเป็นองค์แรกแรกที่นำเสนอ ‘ฐานข้อมูลฟรี’ (Free Database) ในเรื่องค่าครองชีพให้คนทั่วไปเข้ามาสืบค้นได้ โดย Numbeo ใช้วิธีแบบใหม่หลายวิธี ทั้งการเก็บข้อมูลจากแหล่งที่เป็นทางการ (เช่นข้อมูลของหน่วยงานรัฐ จากการสำรวจเอง ฯลฯ) คล้ายๆ กับที่องค์กรใหญ่ๆ ทำ รวมไปถึงข้อมูลแบบ crowdsourcing คือผู้ใช้ออนไลน์เป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ เข้ามาจากทั่วโลก โดยเขาทำอัลกอริธึมเพื่อคัดกรอง (Filter) ข้อมูลที่ใช้ไม่ได้ (เป็น Noise Data) ออก (เช่นข้อมูลที่สุดโต่งเกินไป ฯลฯ) ซึ่งเจ้าระบบคัดกรองพวกนี้ ยิ่งวันก็จะยิ่งฉลาดและแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็น Machine Learning ที่เรียนรู้จากฐานข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถิติตัวเลขของ Numbeo ได้รับความเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกเจ้าหนึ่งที่ใช้วิธีคล้ายๆ กัน ก็คือ Expatistan ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่าเกิดขึ้นสำหรับคนที่จะเป็น expat คือไปอาศัยอยู่ประเทศอื่น (เช่น ฝรั่งหรือชาวพม่ากัมพูชาที่เข้ามาทำงานในไทย ก็ถือว่าเป็น Expat ทั้งนั้น) คือไม่ได้มีแต่ข้อมูลที่ออกไปสำรวจเอง แต่ใช้ข้อมูลจาก users ด้วย ข้อดีอย่างหนึ่งของวิธีสำรวจแบบใหม่นี้ก็คือไม่ต้องรอการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาประเมินผลแล้วถึงค่อยประกาศ ทำให้ประกาศได้ไม่บ่อยนัก เช่นปีละครั้ง (หรือสองครั้ง) แต่ข้อมูลจะมีการอัพเดตอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้เราประเมินค่าครองชีพได้แบบค่อนข้างเรียลไทม์ ซึ่งในเว็บก็จะบอกเอาไว้ด้วยว่ามีการอัพเดตล่าสุดเมื่อไหร่ (เช่น เมื่อสองวันก่อน) แต่ข้อเสียก็คือหลายคนอาจไม่ให้ความเชื่อถือมากเท่าข้อมูลจากองค์กรแบบแรกที่ดูมีความเป็น ‘มืออาชีพ’ มากกว่า
อยางไรก็ตาม ผมคิดว่าข้อมูลของ Numbeo กับ Expatistan นั้นมีอะไรน่าสนใจอยู่มาก แต่ก็ต้องออกตัวกันก่อนนะครับ ว่าข้อมูลที่นำมาเสนอในที่น้ีคงไม่อาจครบถ้วนได้ แต่เลือกมาเฉพาะบางเรื่องที่ผมสนใจเท่านั้น ใครอยากรู้ต่อ ลองเสิร์ชหากันได้ที่ numbeo.comกับ expatistan.comนะครับ
ก่อนอื่น เรามาดูค่าครองชีพของกรุงเทพฯ ที่ Numbeo จัดอันดับเอาไว้โดยใช้ ‘ดัชนีค่าครองชีพ’ (Cost of Living Index) โดยถ้าดูจากอันดับค่าครองชีพทั้งโลก
เราจะพบว่าดัชนีค่าครองชีพของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 60 (อันดับหนึ่งคือเบอร์มิวดาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เต็มไปด้วยรีสอร์ตหรูหรา ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ส่วนฮ่องกงอยู่อันดับ 22 อเมริกาอยู่อันดับ 25) แต่ถ้าเลือกดูเฉพาะในเอเชีย ไทยจะอยู่ที่อันดับ 16 โดยมีสิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยญี่ปุ่น อิสราเอล เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมีไต้หวันอยู่ที่อันดับ 7
แต่ถ้าดูเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบว่า Numbeo จัดอันดับให้ค่าครองชีพของสิงคโปร์มาเป็นที่หนึ่ง คือแพงที่สุด ดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 91.40 โดยมีเมืองไทยตามมาเป็นอันดับ 2 มีดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 48.91 เรียกว่าถึงอันดับติดกัน แต่ค่าครองชีพห่างชั้นกันพอสมควร ตามมาด้วยกัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม และฟิลิปปินส์เป็นอันดับสุดท้าย
การที่สิงคโปร์มีค่าครองชีพสูงนั้นอาจไม่ค่อยกระไรนักหนา เพราะแม้ทุกอย่างจะแพงไปหมด เช่น ราคาอาหารแบบทั่วไป Numbeo บอกว่าสิงคโปร์แพงกว่าไทย (หมายถึงเฉพาะกรุงเทพฯ นะครับ เพราะเขาเปรียบเทียบเป็นเมือง) โดยเฉลี่ยถึง 346.24% คืออาหารแพงกว่าไทยราวๆ สามเท่า เรื่องอื่นๆ สิงคโปร์ก็แพงกว่าไทยหมด มีอยู่แค่สองเรื่องที่ไทยแพงกว่า คือเบียร์นำเข้ากับรองเท้า แต่กระนั้น ถ้าไปดูรายได้ เราจะพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนสิงคโปร์สูงกว่าคนไทย 290.29% (นี่ขนาดเขาคิดให้คนกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ยที่ 24,755.68 บาท แล้วนะครับ) คือเกือบๆ สามเท่าด้วยเหมือนกัน แต่ที่น่าอิจฉาตาร้อนมากกว่าก็คือ ‘ดอกเบี้ย’ ที่กู้มาซื้อบ้านช่องห้องหับนั้น สิงคโปร์คิดดอกเบี้ยคนโดยเฉลี่ยถูกกว่าไทย 59.85% (ดูได้ที่นี่ www.numbeo.com/cost-of-living) นั่นแปลว่า ถึงค่าครองชีพของสิงคโปร์จะสูง แต่ไม่ได้แปลว่า ‘คุณภาพชีวิต’ ของคนสิงคโปร์จะต่ำนะครับ
ทีนี้ลองให้ Numbeo เอากรุงเทพฯ ไปเทียบกับเมืองใหญ่ระดับโลกอย่างลอนดอนดูบ้าง
Numbeo บอกว่า ค่ากินในร้านอาหารที่ไม่แพงของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 80 บาทโดยเฉลี่ย ของลอนดอนอยู่ที่ 660.72 บาทโดยเฉลี่ย คือของลอนดอนแพงกว่ากรุงเทพฯ ราว 725.90% คือแพงกว่าเราเจ็ดเท่า และโดยทั่วไป แทบทุกอย่างในลอนดอนก็แพงกว่ากรุงเทพฯ หมด แต่ก็มีของบางอย่างที่ลอนดอนถูกกว่าเราอยู่นะครับ อย่างเช่น นม ชีส แอปเปิ้ล กล้วย ไวน์ เบียร์นำเข้า ค่าฟิตเนส โดยรายได้เฉลี่ยของคนลอนดอนจะสูงกว่าของไทย 327.85%
หรือถ้าลองเอาไปเทียบกับนิวยอร์ก ก็จะพบว่าอาหารที่นิวยอร์คแพงกว่ากรุงเทพฯ 689.78% แต่ของที่ถูกกว่าก็มี อย่างเช่น นม ชีส ไวน์ เบียร์นำเข้า โดยสิ่งที่หลายคนอาจอิจฉาคนนิวยอร์กก็คือ รถยนต์ของที่โน่นราคาถูกกว่าเรา (เช่น โตโยต้าโคโรล่า ถูกกว่า 27.55%) และน้ำมันก็ถูกกว่าถึง 20.84% เช่นเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกัน คนนิวยอร์กมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนไทย 422.15%
ถัดจาก Numbeo แล้ว เรามาดู Expatistan กันบ้าง
Expatistan จัดอันดับประเทศต่างๆ โดยใช้ ‘ดัชนีราคา’ (Price Index) นะครับ ไม่ได้ใช้ ‘ดัชนีค่าครองชีพ’ (สองอย่างนี้คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันทีเดียว) พบว่าประเทศที่แพงที่สุดก็คือเบอร์มิวดา ตามมาด้วยไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ โดยมีฮ่องกงตามมาเป็นอันดับที่ 5 สิงคโปร์อันดับที่ 7 และไทยเราอยู่ที่อันดับ 51 แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือ ในการจัดอันดับของ Expatistan ไต้หวันหล่นลงมาที่อันดับ 52 คือมี ‘ดัชนีราคา’ ที่ถูกกว่าไทย
ถ้าเรามาดูดัชนีราคาเป็นเมืองๆ เฉพาะในเอเชียดูบ้าง จะพบว่าดัชนีราคาในฮ่องกงมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสิงคโปร์ โตเกียว โซล ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และมีกรุงเทพฯ ของเรามาเป็นอันดับ 7 คือมีดัชนีราคาเฉลี่ยสูงกว่าเสิ่นเจิ้นของจีนที่อันดับ 8 และสูงกว่าไทเปของไต้หวันที่อันดับ 9 ด้วย
แล้วถ้าเข้าไปเปรียบเทียบดูในรายละเอียด ซึ่ง Expatistan ให้เราสามารถเลือกเทียบหมวดหมู่ต่างๆ ได้ด้วย พบว่าถ้าเทียบในระดับประเทศ เรื่องอาหาร ไต้หวันจะแพงกว่าไทยอยู่ 16%, ที่อยู่อาศัยไต้หวันแพงกว่า 5% และ Personal Care (เช่น ค่ายา กระดาษชำระ ยาสีฟัน ฯลฯ) ไต้หวันแพงกว่า 52% ส่วนที่เหลือไทยจะแพงกว่า คือเสื้อผ้า (แพงกว่า 4%), การเดินทาง (แพงกว่า 15%) และความบันเทิงต่างๆ (เช่นการไปดินเนอร์หรู การดูหนัง ค็อกเทล ฯลฯ) ไทยแพงกว่า 22%
แต่ถ้าลงลึกไปดูในระดับเมือง คือเปรียบเทียบระหว่างไทเปกับกรุงเทพฯ จะพบว่าถ้าเป็นอาหารนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารทั่วไปหรืออาหารฟาสต์ฟู้ด ของไทยจะแพงกว่าราว 10-19% แต่ถ้าเป็นของชำต่างๆ เช่น ไข่ มะเขือเทศ ไก่ ของไทเปจะแพงกว่า ทำให้โดยรวมแล้ว ค่าอาหารในไทเปแพงกว่ากรุงเทพฯ 12% นอกเหนือจากอาหาร อีกหมวดหมู่หนึ่งที่ไทเปแพงกว่ากรุงเทพฯ ก็คือ Personal Care (แพงกว่า 11%) แต่นอกจากนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ค่าเดินทาง หรือค่าความบันเทิง กรุงเทพฯ ล้วนแต่แพงกว่าไทเปทั้งสิ้น
จะเห็นว่า ความถูกแพงของไทเปกับกรุงเทพฯ นั้น เมื่อเฉลี่ยไปเฉลี่ยมาแล้ว น่าจะอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ต่างกันมาก ดัชนีราคาโดยรวมจาก Expatistan บอกเราว่าไทเปกับกรุงเทพฯ มีราคาข้าวของต่างๆ สูสีทัดเทียมกัน ซึ่งนั่นเป็นมิติด้าน ‘รายจ่าย’ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูมิติเรื่อง ‘รายได้’ (ซึ่งต้องกลับไปพึ่ง Numbeo) เราจะพบว่า Numbeo สำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯ มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 24,755.68 บาท ในขณะที่คนไทเปมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 61,547.01 บาท คือสูงกว่ากันมากกว่าสองเท่า
เมื่อรายจ่ายเท่ากัน แต่รายได้น้อยกว่ากัน, ก็แทบไม่ต้องบอกนะครับ ว่าคุณภาพชีวิตจะต่างกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ต้องออกตัวเอาไว้ตรงนี้ด้วยว่า ภาพที่นำมาเปรียบเทียบให้คุณดูเหล่านี้อาจไม่รัดกุมเท่าไหร่นัก เพราะเป็นการเปรียบเทียบจากสองสำนักที่แตกต่างกัน ทำให้ในทางวิชาการแล้วอาจเทียบเคียงกันได้ยาก แต่กระนั้นก็น่าจะทำให้พอเห็นภาพบางอย่างได้บ้าง แต่ถ้าอยากให้เห็นภาพชัดขึ้นไปอีก ลองมาดูบทความของคุณ Karsten Aichholz จากเว็บ Thailand Starterkit (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ www.thailandstarterkit.com) ที่เป็นเว็บของ Expat เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ กับ Expat ที่จะมาอยู่เมืองไทยดู
คุณ Aichholz เล่าถึงวิธีที่เขาดำรงชีวิตในกรุงเทพฯ โดยใช้เงินเดือนละ 80,658.52 บาท โดยเขาบอกว่าเงินจำนวนนี้มาจากการใช้ชีวิตครึ่งปีแรกของปี 2017 รวมแล้วเท่ากับ 483,951.12 บาท แล้วนำมาหาร จึงได้ตัวเลขค่าใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละแปดหมื่นกว่าบาท โดยในจำนวนนี้เป็นค่าที่อยู่อาศัย 14,500 บาท นอกนั้นเป็นค่ากินอยู่ต่างๆ โดยมีเงินก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่ง คือค่า ‘พักร้อน’ (Vacation) ที่เขานำมาคำนวณด้วย โดยเป็นการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน เมื่อนำมาหารเฉลี่ยด้วยตัวเลข จึงออกมาที่ 19,338 บาท แต่ถ้าหักส่วนน้ีออกไป ค่าใช้จ่ายประจำเดือนจะอยู่ที่ราวๆ 60,000 บาท สำหรับการเป็น Expat ที่ไม่ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอะไรเป็นพิเศษ
คำถามก็คือ – ถ้าดูจากตัวเลขของคุณ Aichholz และตัวเลขเปรียบเทียบกับเมืองต่างๆ ในโลกแล้ว กรุงเทพฯ อันเป็นที่รักของเราเป็นเมืองที่ ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ กันแน่?
และถ้าทอดตาดู ‘คุณภาพชีวิต’ ของพวกเราชาวบางกอก – เรามีคุณภาพชีวิตที่ ‘ถูก’ หรือ ‘แพง’ กัน?
หลายคนอาจมองว่า การเปรียบเทียบค่าครองชีพต่างๆ จากคนที่เป็น Expat หรือการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวและไม่เข้ากันกับความกังวลของคนไทยในโพลของสวนดุสิตโพลก็ได้
เพราะสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนในระดับบน กรุงเทพฯ ก็อาจ ‘ถูก’ เกินไป กรุงเทพฯ สามารถ ‘แพง’ ขึ้นไปกว่านี้ได้อีก เพื่อจะได้ทัดหน้าเทียมตากับเมืองแพงๆ ทั้งหลายในโลก
แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก กรุงเทพฯ นั้นแพงแสนแพง และพวกเขาไม่อาจมีชีวิตที่ ‘แพง’ ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว ตัวเลขเฉลี่ยรายได้ของ Nubeo ที่ 24,000 บาทนั้น สำหรับหลายคนเป็นแค่ตัวเลขในฝันเท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาต้องเผชิญกับรายได้ที่ไม่เคยเพียงพอต่อความแพง และความแพงของชีวิตก็กำลังจะผลักพวกเขาให้หล่นจากชีวิต ตกลงจากมาตรฐานการมีชีวิตของมนุษย์ และกระทั่งร่วงจากความเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำ
ความกังวลในสวนดุสิตโพลที่ว่ามาข้างต้น จึงเป็นความกังวล ‘จริง’ ของ ‘มนุษย์จริง’ ที่มีเลือดมีเนื้อ มีความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัว พวกเขามีชีวิตอยู่ในท่ามกลางการผูกขาดทางการค้า และการทำอะไรก็ไม่เคยผิด – ของคนที่อยู่ในระดับบนผู้ครอบครองอำนาจเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเอาไว้ในมือ
นี่คือความกังวลของคนไทย เมื่อค่าครองชีพไม่ได้ถูก แต่คุณค่าของชีวิตกลับดูเหมือนมีทิศทางทางตรงข้าม
แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร?