การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ที่สร้างปัญหาให้กับทั่วสารทิศในเวลานี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิกฤติใหญ่ระดับทศวรรษ หรืออาจจะถึงระดับศตวรรษได้ จากการที่มีหลายคนเริ่มมองไปถึงว่าวิกฤตินี้อาจจะนำมาสู่สภาวะวิกฤติในระดับเดียวกับเหตุการณ์ The Great Depression หรือความสิ้นหวังครั้งใหญ่ที่สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างหนักเป็นเวลานานตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1920 จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1930 ในสภาวการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการต่อสู้และความลำบากมากมายที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเผชิญในระดับและรูปแบบที่ต่างกันไป รัฐบาลแต่ละที่ก็ออกมาตรการในการรับมือที่เหมือนกันบ้างต่างกันบ้างตามแต่ที่เห็นว่าสมควร แต่เท่าที่ผมตามๆ ไล่ดูนั้น มีเพียงไม่กี่แห่งที่ดูจะเป็นที่พออกพอใจของประชาชน (อาจจะมีก็แต่ไต้หวัน และสิงคโปร์) ส่วนที่เหลือมีปริมาณความพอใจกับไม่พอใจดูจะปนๆ กันอยู่อย่างก้ำกึ่ง จนถึงระดับไม่พอใจเป็นหลักในบางพื้นที่
ความไม่พอใจกับมาตรการการรับมือวิกฤตินี้เอง นำมาซึ่งคำถามในสังคมไทยจำนวนมากถึงความได้ประสิทธิภาพของ ‘ประชาธิปไตย’ การรับมือกับวิกฤติลักษณะนี้ มีการอภิปราย ถกเถียง กระทั่งด่าทอกันให้เห็นได้โดยทั่วไปว่า “หากเป็นเผด็จการแบบจีนก็จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ดูประเทศประชาธิปไตยนั่นโน่นนี่สิ พังไม่เป็นท่า ฯลฯ”
วันนี้ผมเลยจะขอถือโอกาสหยิบประเด็นนี้มาพูด โดยจะเป็นการพูดถึงการรับมือกับวิกฤตินี้แบบขยับตัวออกมา มีระยะห่างมากขึ้น กล่าวคือ ผมจะไม่ได้มาวิเคราะห์เจาะลึก หรือเสนอ ‘แนวนโยบาย’ อะไรโดยละเอียด (และก็คิดว่าตัวเองนั้นไม่ได้มีความถนัดในด้านนี้ขนาดนั้นด้วย) แต่จะมองประเด็นนี้ผ่านกรอบของหลักการ หรือวิธีคิดในเชิงโครงสร้างอุดมการณ์เป็นสำคัญ
ประการแรกก่อน ผมขอประเดิมจาก ‘แนวคิดของรัฐสมัยใหม่แบบเสรีประชาธิปไตยกับการต่อสู้กับโรคระบาด’ ก่อนนะครับ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นที่สุดก่อนก็คือ การที่เราสามารถมีมุมมองเรื่อง ‘ความได้ประสิทธิภาพหรือไม่ได้ประสิทธิภาพ’ ในการดูแลประชาชน หรือการจัดการกับการระบาดของโรคนั้น มันมีได้ก็เพราะเรามีประชาธิปไตยก่อนแต่แรก กล่าวคือ ก่อนหน้ารัฐแบบเสรีประชาธิปไตยนั้น รัฐเป็นสมบัติและเครื่องมือของเจ้าผู้ปกครอง รัฐมีขึ้น ‘เพื่อ’ เจ้าผู้ปกครอง ไม่ได้มีขึ้นเพื่อประชาชน นั่นแปลว่ารัฐไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลประชาชนอะไรครับ อย่างมากที่สุดก็แค่ป้องกันตัวรัฐเองไม่ให้ล่มสลายไป กล่าวอีกแบบก็คือ โรคระบาดซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในโลกนั้น แม้จะเป็นวิกฤติระดับรัฐเหมือนๆ กันหมด แต่คำถามถึงความได้ประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในการดูแลประชากร ‘ไม่ให้ตาย’ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้มาก หรือแทบจะไม่มีเลย เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐในการดูแลรักษาชีวิตอันมีค่าสูงสุดของประชากร
ตรงกันข้ามประชากรมีสถานะในฐานะทรัพยากรของรัฐ เป็นหน่วยการผลิต เป็นกำลังในการสงคราม ร่างกายและแรงงานของประชากรคือสมบัติของเจ้าผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นการดูแลจัดการโรคระบาดก่อนยุคประชาธิปไตยเสรีจึงมีบริบทไม่ต่างจากวิธีคิดเรื่องการจัดการกับโรควัวบ้า (แอนแทร็กซ์) อะไรนัก คือ พยายามป้องกันไม่ให้วงการระบาดขยายกว้างมากนักจนสร้างความเสียหายให้กับ ‘โครงสร้างทางทรัพยากรของรัฐ’ แต่พร้อมๆ กันไป ก็ไม่ได้เคี่ยวเข็ญอย่างสุดกำลังที่จะต้องรักษาชีวิตของทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ให้จงได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ หากทรัพยากรในการรักษาชีวิตทรัพยากรนั้นมูลค่าสูงกว่าผลตอบแทนที่ทรัพย์สินที่ติดโรคระบาด (อย่างตัวประชากรนั้นๆ) จะมอบให้ได้ ก็พร้อมจะปล่อยให้ตายไปได้ เพราะมูลค่าของทรัพยากรที่รัฐต้องเสียเพื่อการรักษามีราคามากกว่าราคาของทรัพยากรที่เรียกว่าประชากรนั่นเอง
บทบาทของรัฐชาติเปลี่ยนไปเมื่อกระบวนการทางความคิดและอุดมการณ์ในระดับ ‘ระบอบ’ เกิดการเปลี่ยนแปลง (regime change) กล่าวคือ รัฐเปลี่ยนจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นรัฐแบบประชาธิปไตยเสรี ที่มีหน้าที่สำคัญในการ ‘ประกันสิทธิมนุษยชน’ ของประชากรในรัฐ ที่หากใช้คำตาม เดวิด แคมเบลล์ (David Campbell) เราก็กล่าวได้ว่ารัฐทำหน้าที่ในฐานะพระเจ้าองค์ใหม่ (State as the New God) ซึ่งหมายถึง การถามหาเครื่องประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตรวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของประชากรนั้น เปลี่ยนจากการร้องขออ้อนวอนจากพระผู้เป็นเจ้ามาที่ตัวรัฐแทนในฐานะหน้าที่และเหตุผลในการมีอยู่ของตัวรัฐชาติ ซึ่งสิทธิรากฐานที่สุดของมนุษย์ (inalienable rights) ที่ประชาธิปไตยเสรีทุกกรอบความคิดยอมรับกันนั้นก็คือ ‘สิทธิในการมีชีวิตอยู่ (Right to Life)’ ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุดที่รัฐจะต้องหาทางสร้างกลไกต่างๆ ในรัฐเพื่อมาตอบโจทย์ตามหน้าที่รากฐานนี้ให้ได้
เมื่อภูมิทัศน์ทางความคิดเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้นี่เอง ที่เราสามารถนึกถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐในฐานะการประกันความอยู่รอด ประกันการรักษาชีวิตของประชากรอย่างถึงที่สุดได้ ซึ่งนำมาสู่สภาวะที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ความสามารถในการนึกถึงประเด็นเรื่องความได้หรือไม่ได้ประสิทธิภาพในการช่วยรักษาชีวิตประชากรของรัฐในภาวะวิกฤติ นั่นเองครับ
ว่าง่ายๆ ก็คือหากไม่มีเสรีประชาธิปไตย เราก็ไม่มีกระทั่งสิทธิหรือ
ขีดความสามารถในการจะมาคิดได้ว่ารัฐช่วยเราได้ดีหรือไม่ดีเพียงใดด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นอย่าทำให้ประชาธิปไตยมันกลายเป็นเหยื่อ
ของการจัดการวิกฤติ COVID-19 นี้เลย
มาถึงจุดนี้ อาจจะมีฝั่งที่ไม่เห็นด้วยยู่หน้าย่นคิ้วถามท้วงขึ้นมาว่า อย่างประเทศจีนเองก็ไม่ใช่รัฐประชาธิปไตย ก็ยังจัดการกับเรื่องโรคนี้ได้ดีเลย ผมคิดว่ากรณีของจีนนี้มีความน่าสนใจที่อาจจะต้องอภิปรายเพิ่มเติมต่อไปด้วย ประการแรกเราต้องไม่หลงลืมว่าในช่วงต้นนั้นรัฐบาลจีนเองก็นับได้ว่าล้มเหลวอย่างหนักหน่วงในการจัดการกับโรคเพราะการจงใจปิดข่าว เห็นแก่ภาพลักษณ์โดยรวม หรือความมั่นคงองค์รวมของรัฐมากกว่าตัวชีวิตของประชากรโดยตรง จนสุดท้ายนำมาสู่การแพร่กระจายมากกว่าที่ควรจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้
ฉะนั้นสำหรับผมแล้วปัญหาการแพร่กระจายที่เป็นอยู่ในตอนนี้ส่วนหนึ่งต้องนับว่าเป็นความผิดของรัฐบาลจีนด้วยอย่างที่ต่อให้รัฐบาลจีนควบคุมสถานการณ์ภายในได้จริงอย่างที่อ้าง หรือส่งทีมแพทย์ไปช่วยทั่วโลกก็อาจจะไม่เพียงพอให้ ‘ชื่นชม’ อะไรได้ ควรจะนับเป็นเพียงภาระที่พึงต้องรับผิดชอบเสียด้วยซ้ำ
ประการต่อมา ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจเรื่องการดูแลประชากรของจีนด้วย เพราะประเทศจีนนั้นแสดงออกมาโดยตลอดถึงจุดยืนในการ ‘ปกป้องประชากรของรัฐตนที่ยอมเชื่อฟังรัฐบาลจีน’ แต่พร้อมๆ กันไปก็พร้อมจะไม่แยแสหรือกระทั่งประหัตประหารประชาชน ‘ผู้ไม่ยอมเชื่อฟังรัฐบาล’ ของตัวเองอย่างเลือดเย็นด้วย ผมคงไม่ต้องย้อนไปไกลถึงวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน แต่เพียงกรณีที่ใกล้ปัจจุบันมากขึ้นอย่างกรณีของธิเบต กรณีของชาวอุยกูร์ในซินเกียง กรณีของผู้ประท้วงชาวฮ่องกง หรือการที่ศิลปินและประชาชนทั่วไปจำนวนมากถูกจับตัวเพราะมีท่าทีขัดขืนหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนนั้นมีให้เห็นโดยตลอด
ในมุมนี้เองผมคิดว่ารัฐบาลจีนนั้นได้พิสูจน์ตัวเองอย่างชัดเจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้วว่า พวกเขาไม่ใช่รัฐบาลที่ ‘ห่วงใยประชาชน’ แต่เป็นรัฐบาลที่ ห่วงใยความเชื่อถือที่ประชาชนมีให้ต่างหาก เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการดำรงอยู่ของระบอบพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันที่ทั้งไม่ได้ซ้ายนักและทั้งไม่ได้คอมมิวนิสต์อะไรนักแล้วด้วยนั่นเอง ฉะนั้นข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของสังคมองค์รวมที่นำไปสู่การปิดข่าวในช่วงแรก ไปจนถึงการทุ่มเทงบประมาณและกำลังคนทุกวิถีทางในการควบคุมวิกฤติอย่างเข้มงวดนั้น จึงไม่ใช่การ ‘ประกันชีวิตประชาชนโดยตรง’ แต่เป็นการประกันความเชื่อถือที่ประชาชนมีให้กับรัฐบาลต่อไปต่างหาก การรักษาชีวิตคนเป็นผลพลอยได้จากความมั่นคงของความน่าเชื่อถือที่ว่ามาเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งหนึ่งที่ผมเคยพยายามอภิปรายมาโดยตลอดก็คือ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้ามากๆ อย่างในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับโลกประชาธิปไตยที่ให้อำนาจกับอิสระเสรีทางความคิดอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นอย่างที่นิยมพูดถึงกันเท่านั้น แต่เมื่อมันอยู่ในมือของเผด็จการที่ชาญฉลาดแล้ว มันก็จะกลายเป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการควบคุม รักษา และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชากรได้ด้วย เพราะมันเข้ามาแก้ไขปัญหาหลักของรัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลางได้อย่างค่อนข้างเห็นผล นั่นคือ การไม่รับรู้ปัญหาของพื้นที่ชายขอบที่ห่างไกลจากศูนย์กลาง (หรือรับรู้อย่างล่าช้าไม่ทันกาล) อันนำมาสู่การไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทั่วถ้วนด้วย และจะนำมาสู่การต่อต้านในที่สุด
แต่ในระบบแบบของจีนนั้นที่รัฐควบคุมกลไกการสื่อสารแทบจะทั้งระบบและทุกระดับ รวมทั้งมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อติดตามปัญหา การรักษาความน่าเชื่อถือด้วยอำนาจของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่จึงช่วยประกันความมั่นคงของความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของรัฐบาลจีนได้ มันคือราคาของความไว้ใจรัฐที่แลกมาด้วยการไร้ซึ่งเสรีภาพและถูกจับตามองทุกขณะจิตนั่นเอง และนี่คือในกรณีของเผด็จการที่ ‘ฉลาดปกครอง’ ด้วย
ในรัฐบาลเผด็จการอื่นๆ นั้น ได้แสดงให้เราเห็นชัดยิ่งขึ้นไปอีก
ถึงความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือวิกฤติลักษณะนี้
ผมคิดว่าเวลาฝั่งที่อ้างว่าเผด็จการทำได้ดีกว่าและยกจีนขึ้นมาอ้างนั้น อาจจะต้องคิดถึงกรณีของอิหร่าน หรือเกาหลีเหนือมาคิดด้วย ที่ล้มเหลวอย่างหนัก หรือมีราคาค่างวดที่แพงลิ่วที่จะต้องจ่ายให้กับการต่อสู้กับวิกฤตินี้
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้เอง ประเทศประชาธิปไตยเสรีนั้นก็ใช่ว่าจะรับมือได้ดีนัก หลายที่แม้จะพยายาม flatten the curve หรือชะลอการพุ่งทะยานของกราฟผู้ป่วยให้เบาลง แต่ก็ไม่สำเร็จนั้น หลักๆ แล้วอาจจะต้องนับเป็นผลงานของทุนนิยมเสรี (liberal capitalism) ซึ่งผมขอคงต้องอธิบายเพิ่มเติมจากจุดที่ทิ้งค้างไว้ก่อนหน้านี้คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนโฉมของภูมิทัศน์ทางการเมืองจากแบบสมบูรณาญาสิทธิ (absolutism) มาเป็นเสรีประชาธิปไตยแล้วน่ะครับ
การเกิดขึ้นของรัฐประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่กระแสการเปลี่ยนเป็น ‘รัฐเสรีประชาธิปไตย’ หลายระลอกคลื่นนั้น (หากนับรวมถึงช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริง จะถือกันว่ามี 4 ระลอกคลื่นการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในโลก แต่บางคนไม่นับครั้งอาหรับสปริง เพราะแทบเปลี่ยนระบอบไม่สำเร็จเลย) อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นชัยชนะของจุดยืนแบบเสรีนิยม ที่มีเหนือจุดยืนแบบสัจนิยม (realism) ที่เน้นการสร้างอำนาจนำ (hegemon) ในการปกครอง ซึ่งต่อมานำมาสู่จุดยืนแบบเสรีนิยม 2 แบบหลักๆ ในโลก คือ จุดยืนแบบเสรีนิยมคลาสสิค ที่เรียกว่า Modus Vivendi กับจุดยืนแบบเสรีนิยมก้าวหน้า ที่เรียกว่า Progressive Liberalism นั่นเองครับ
สองจุดยืนนี้มีจุดร่วมที่สำคัญร่วมกันคือ การยอมรับและสนับสนุนในสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ (inalienable rights) เช่น สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ฯลฯ อย่างไรก็ตามทั้งสองจุดยืนนี้มีความต่างกันที่ ‘ท่าทีที่มีต่อ สิทธิพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ ต่างกัน’ โดยท่าทีที่ต่างกันนี้เรียกว่า negative rights (สิทธิเชิงลบ) และ positive rights (สิทธิเชิงบวก) ซึ่งในบทความนี้ผมจะขออภิปรายสั้นๆ เฉพาะจากมุมของท่าทีจากฝั่งของรัฐ หากต้องการอ่านละเอียดโปรดอ่านใน “สิทธิเบื้องต้น 101”[1] ครับ
ท่าทีโดยสังเขปของฝั่ง negative rights ก็คือ การ ‘ยอมรับ’ ในสิทธิพื้นฐานที่ว่ามาว่าทุกคนมี และแต่ละคนนั้นก็สามารถจะบริหารจัดการสิทธิของตนเองตามใจชอบได้ ตราบเท่าที่ไม่ไปกระทบการใช้สิทธิของคนอื่น ในขณะที่ฝั่ง positive rights คือ ฝั่งที่เชื่อว่าแค่เพียงอย่างที่ว่ามานั้นไม่ได้ เพราะเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน จะแค่ยอมรับการมีอยู่ของสิทธิอย่างตามมีตามเกิดไม่ได้ รัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงโครงสร้างของระบบเพื่อ ‘สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะได้ใช้และเข้าถึงสิทธิพื้นฐานนี้อย่างเท่าเทียมกันด้วย’ ซึ่งก็นำมาสู่สวัสดิการของรัฐแบบต่างๆ นั่นเองครับ
จุดยืนแบบเสรีนิยมคลาสสิค หรือ modus vivendi ก็คือการยอมรับในท่าทีแบบ negative rights ในพรมแดนของตนเอง ในขณะที่จุดยืนแบบเสรีนิยมก้าวหน้า หรือ progressive liberalism นั้น คือเอาทั้ง negative และ positive rights ด้วย และยังมองว่าคุณค่าดังกล่าวนี้เป็นคุณค่าที่มีคุณสมบัติแบบสากล (universalism) อีกต่อหนึ่ง หรือก็คือ การลิดรอนสิทธิของใครก็ตามในโลกนั้น เป็นเสมือนการลินรอนสิทธิมนุษยชนของคนทั้งโลก ที่ควรจะต้องประณาม ก่นด่า หรือหาทางเข้าช่วยเหลือให้ผู้ถูกลิดรอนสิทธิไม่ว่าจะที่ใดในโลกได้รับการช่วยเหลือดูแล และเข้าถึงสิทธิได้ (ซึ่งกลายเป็นจุดยืนหลักขององค์การสหประชาชาติ หรือองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐต่างๆ ในเวลาต่อมาด้วย)
ผมคิดว่ากล่าวได้ไม่ผิดที่จะบอกว่าจุดยืนหลักในช่วงต้นของโลกเสรีนั้น เป็นจุดยืนแบบคลาสสิค ที่ประกันสิทธิพื้นฐานแบบตัวใครตัวมัน และระบบทุนนิยมซึ่งพัฒนาต่อมาจากระบบพาณิชนิยม (mercantilism) ซึ่งมีมาแต่ก่อนหน้าก็ปรับตัวเข้ากับโครงสร้างของกรอบคิดแบบเสรีนิยมคลาสสิค จนกลายมาเป็นระบบทุนนิยมเสรีอย่างที่เรารู้กันดี คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีโครงสร้างแบบ ตัวใครตัวมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครมีสายป่านยาวกว่าก็รอดไป ฯลฯ หรือก็คือระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ ‘เอื้อนายทุนใหญ่’ อย่างที่ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้านิยมเรียกกันนั่นเองครับ เพราะการต่อยอดทุน การขูดรีดในนามสัญญาจ้างต่างๆ นั้นถูกมองในฐานะ ‘สิทธิ’ และการที่ฝั่งลูกจ้างยอมตามเงื่อนไขดังกล่าวนั้น สำนักคลาสสิคก็มองว่าเป็นความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของฝั่งแรงงานเอง ในขณะที่ฝั่งก้าวหน้าก็จะบอกว่าบางทีมันเกิดจากการไม่มีทางเลือก หรือเป็นทางเลือกบังคับ (forced choice) จากเงื่อนไขที่ระบบแบบนี้สร้างขึ้นต่างหาก อย่างไรก็ตาม เอาเป็นว่าในช่วงต้นนั้นเสรีนิยมคลาสสิคกลายเป็นกระแสหลักของฝั่งค่ายเสรี และระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็ก่อรูปขึ้นบนฐานของตรรกะและท่าทีดังกล่าวนี้
ต่อมาแนวคิดฝ่ายซ้ายอย่างมาร์กซิสม์ ที่พัฒนาต่อมาเป็นแนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสม์ (หรือเหมาอิสต์ สตาลินนิสต์ อะไรแยกย่อยต่อไปนั้น) ก็นำโลกเข้าสู่การแบ่งขั้วทางท่าทีเศรษฐกิจและการเมืองแบบใหม่ โดยฝ่ายซ้ายอย่างมาร์กซ์ (และอุดมการณ์ที่ตามติดมา) สร้างข้อเสนอที่ผลักตัวเองไปสุดทางเมื่อเทียบกับท่าทีแบบเสรีนิยมคลาสสิค นั่นคือ เราต้องมีรัฐหรือสังคมที่แข็งแกร่งก่อน เพื่อเข้ามาประกันความมั่นคงของมนุษย์ ประกันว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เหมือนกันหมด และมาร์กซ์ไปไกลขนาดว่าการเข้าถึงนั้นต้องเป็นไปอย่าง ‘เท่ากันหมด’ ด้วย (ไม่ใช่แค่เป็นตัวเลือกของการสามารถเข้าถึงได้)
เพื่อจะประกันว่าจะไม่มีใครถูกกดขี่แบบโครงสร้าง
เสรีนิยมคลาสสิคและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีได้ทำไว้
การแบ่งขั้วนี้นำมาสู่การต่อสู้เพื่อกำหนดท่าทีเชิงอุดมการณ์หลักของโลกอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือ การเข้าสู่โลกยุคสงครามเย็น ระหว่างฝั่งโลกเสรีที่ยืนยันในจุดยืนแบบเสรีนิยมเดิมของตนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และฝั่งคอมมิวนิสม์ที่มองการปรับเปลี่ยนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจชนิดยกแผง (การมุ่งเป้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงนี้เองจึงถูกเรียกว่าฝ่าย ‘ก้าวหน้า’ ในเซนส์ว่าอยู่ตรงกันข้ามกับฝั่งเสรีที่พยายามจะ ‘อนุรักษ์’ โครงสร้างภูมิทัศน์ทางเศรษกิจและการเมืองแบบเดิมไว้)
ดังที่ทราบกันดี ว่าสงครามเย็นยุติลงด้วยชัยชนะของฝั่งโลกเสรี เมื่อกำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงและสหภาพโซเวียตแตกตัวในปี ค.ศ.1989 และ ค.ศ.1991 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามชัยชนะที่โลกเสรีได้มาครองนั้นก็มีราคาที่ต้องจ่ายด้วย ภูมิทัศน์ทางการเมืองของโลกเสรีเองเริ่มปรับเปลี่ยนไป โดยจุดตั้งต้นสำคัญประการหนึ่งนั้นมาจากการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางความมั่นคงครั้งใหญ่หลังการเกิดขึ้นของทฤษฎีโดมิโน่ ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลสำคัญกับการกำหนดท่าทีของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็นในช่วงทศวรรษ 1950 หรือหลังจากการเริ่มต้นขึ้นของสงครามเกาหลี
สหรัฐอเมริกาที่เชื่อในพลังและอิทธิพลของสหภาพโซเวียตว่าจะแผ่ขยายไปเรื่อยๆ จากการยึดครองและปรับเปลี่ยนประเทศต่างๆ จนพาลล้มตามกันหมดอย่างตัวโดมิโนนั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนท่าทีของตนเองจากการยึดมั่นอยู่กับพื้นที่ที่ตนเองให้ลำดับความสำคัญเป็นพิเศษอย่างยุโรปกับญี่ปุ่น มาเป็นการสร้างแนวต้านหรือแนวกำแพงป้องกันการขยายตัวของโดมิโนคอมมิวนิสม์ทั่วทุกพื้นที่ในโลกแทน (containment policy) การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางความมั่นคงดังกล่าวนี้เอง นำมาซึ่งกระแสของการพยายามจะแผ่ขยายเสรีนิยมให้กระจายออกไปอย่างเป็นสากล หรือ universalization of liberalism ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ จอห์น เมียสไชเมอร์ (John Mearsheimer) นักทฤษฎีความสัมพันธ์และความมั่นคงระหว่างประเทศคนสำคัญเรียกว่า ‘เสรีนิยมอำนาจนำ (liberal hegemony)
การเปลี่ยนแปลงนี้เอง จากการเป็นเสรีนิยมที่จำกัดขอบเขตและรัฐไม่เข้าไปแทรกแซงโครงสร้างทางสังคม (social engineering) มาเป็นการยืนยันในจุดยืนความเป็นสากลของเสรีนิยมและยังเกิดการเข้าไปแทรกแซงโครงสร้างทางสังคมของรัฐต่างๆ เพื่อประกันว่าจะเกิดสังคมที่ไม่โน้มเอียงไปทางฝั่งคอมมิวนิสม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ตามแนวกำแพงป้องกันโดมิโน ผนวกกับกระแสการเรียกร้องสิทธิที่ก้าวหน้าขึ้นทั้งภายในสหรัฐอเมริกาเองและพื้นที่ต่างๆ ในโลกโดยเฉพาะในยุโรป นำมาซึ่งการเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองอีกครั้งของฝั่งโลกเสรีเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นลง นั่นคือท่าทีแบบเสรีนิยมก้าวหน้า ที่ยืนยันในการกระจายความเป็นรัฐเสรีนิยมให้แผ่ไปทั่วโลก และมีโครงสร้างทางสังคมที่ประกันสิทธิให้กับคนในสังคมตามมาด้วย และนี่กลายเป็นราคาทางอุดมการณ์และโครงสร้างที่ฝั่งโลกเสรีต้องจ่ายในสงครามเย็น
โลกหลังสงครามเย็น จึงกลายเป็นยุคที่ฝั่งเสรีนิยมก้าวหน้า ‘เป็นใหญ่’ หรือครองความเป็นกระแสหลักขึ้นมา ในขณะที่อุดมการณ์แบบเสรีนิยมคลาสสิค (ที่มักถูกเรียกว่า ‘ฝ่ายขวา’) นั้นก็กลับอ่อนกำลังลงไป (อย่างน้อยๆ ก็จนกระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีแนวนโยบายตรงข้ามกับจุดยืนแบบเสรีนิยมก้าวหน้าแทบทุกอย่างขึ้นมาสู่บัลลังก์ประธานาธิบดีได้สำเร็จ) จนมีบางคนอภิปรายว่าในสงครามเย็นฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้ในตัวสงครามการรบ การเมือง และเศรษฐกิจ แต่ได้ชัยในทางวัฒนธรรม เพราะคุณค่าแบบฝ่ายซ้ายที่ต้องการจะประกันความมั่นคงและเข้าถึงสิทธิพื้นฐานนั้นได้เข้ามาผสมโรงกับโครงสร้างวัฒนธรรมการเมืองหลัก ที่แม้จะไม่ได้ขับดันให้ทุกคนอยู่ในเงื่อนไขที่ ‘เท่ากันหมดตลอดเวลา’ แต่อย่างน้อยก็สร้างทางเลือกในการเข้าถึงกลไกที่จะประกันสิทธิระดับพื้นฐานให้กับสังคมขึ้นมาได้ หรือก็คือท่าทีแบบสิทธิเชิงบวกที่ฝั่งเสรีนิยมก้าวหน้าถือหางอยู่นั่นเอง
ภูมิทัศน์ทางการเมืองนี้เอง ที่ยิ่งเสริมบทบาทให้กับรัฐชาติในฐานะพระเจ้าใหม่มากยิ่งขึ้น บทบาท หน้าที่ และภาระที่องคพายพทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐชาติต้องแบกรับนั้นก็ยิ่งมากขึ้น เพราะไม่ใช่แต่เพียงแค่ยอมรับ” ในสิทธิพื้นฐานเท่านั้น ยังต้องหาทางประกันและมีกลไกในการดูแล และกระจายสิทธิเหล่านี้อย่างทั่วถึงด้วย เราจึงคาดหวังกับนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพของรัฐ การดูแลประชากรของตนในภาวะวิกฤติอย่างดีมากพอ การออกมาตรการช่วยเหลือทั้งทางการเงินและทางความมั่นคงต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พ่วงมากจากการปรับภูมิทัศน์ทางการเมืองมาเป็นเสรีนิยมก้าวหน้า
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปด้วยนั้นคือ
ภูมิทัศน์ในทางเศรษฐกิจที่ก่อต่อมาจากฐานคิดแบบเสรีนิยมคลาสสิค
และก็ยังอยู่ในโครงสร้างชุดเดิมอยู่ต่อไป ทำให้โลกตะวันตกอยู่ในระบบการเมืองเศรษฐกิจแบบสองขั้วที่ดูจะแยกกันแต่เป็นร่างเดียว เหมือนคนมีขาสองข้างที่ขาแต่ละข้างต่างแยกกันเดิน คือ มีภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบ progressive liberalism (เสรีนิยมก้าวหน้า) ในขณะที่มีภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบ modus vivendi (เสรีนิยมคลาสสิค) โครงสร้างที่ไม่ไปด้วยกันนี้เอง นำมาซึ่งความกระอักกระอ่วนในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ (ใช่ครับ จำเป็นต้องอธิบายยาวยืดขนาดนี้แหละครับเพื่อจะอธิบายสภาวะความอีหลักอีเหลื่อในการรับมือนี้)
ประเทศตะวันตกแทบทุกประเทศ เมื่อออกนโยบายในการดูแลประชาชนและรับมือกับโควิด-19 แล้วนั้น แทบทุกรัฐแสดงให้เห็นถึงจุดยืนแบบเสรีนิยมก้าวหน้า มีมาตรการช่วยเหลือภาระหนี้สินประชาชนอย่างเต็มที่ มีการออกนโยบายและรณรงค์เพื่อให้การ flatten the curve สำเร็จ เพื่อทุกคนจะได้สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางสาธารณสุขได้โดยเท่าเทียม มีนโยบายสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนของชาติตัวเองกลับประเทศได้ เพื่อจะได้รับการดูแลตามสวัสดิการอันเป็นหน้าที่ของทางรัฐ เป็นต้น นี่คือท่าทีที่พิสูจน์ว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองของโลกตะวันตกเป็นแบบเสรีนิยมก้าวหน้า (บางทีเรียกเป็นช่วงว่า ‘กลางขวา – กลางซ้าย’ ในขณะที่กลุ่มเสรีนิยมคลาสสิคหรืออนุรักษ์นิยมนั้น เป็นฝั่งขวาเต็มๆ) และนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องชื่นชมในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ครับ เพราะหากไม่มีท่าทีเหล่านี้ เราจะไม่สามารถกระทั่งเรียกร้องอะไรในฐานะว่าเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ ได้แต่แรกด้วยซ้ำ
แต่ความล้มเหลวหรืออิหลักอีเหลื่อมันมาจากอะไร? มันมาจากภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี (เสรีนิยมคลาสสิค) ที่เป็นกรอบหลักของระบบโลกอยู่ รวมถึงประเทศที่อิงกับภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมก้าวหน้ามากๆ ด้วย การประกาศปิดประเทศในทันทีที่รู้ข่าวเรื่องไวรัส การใช้มาตรการทางความมั่นคงเพื่อรับมือแต่เนิ่นๆ การไม่ประกาศใช้กฏหมายอย่าง defense production act ของสหรัฐอเมริกา (กฎหมายที่รัฐบาลสามารถบังคับให้โรงงานเอกชนปรับการผลิตมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันภัยได้) และที่อื่นๆ นั้น หลักๆ แล้วล้วนแต่อยู่บนฐานว่าการตัดสินใจดังกล่าวย่อมหมายถึง ความสุ่มเสี่ยงจะทำให้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่พังทลายลงได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ ความล่าช้าในการออกมาตรการรับมือ หรือความไม่กล้าจะตัดสินใจอย่างทันท่วงทีแม้จะเห็นกรณีตัวอย่างจากหลายๆ ที่แล้ว จนกระทั่งปัญหาบีบให้จวนตัวจริงๆ จึงจะประกาศใช้นโยบายเหล่านี้นั้น มาจาก ‘การชั่งน้ำหนักระหว่างภูมิทัศน์ทางการเมือง กับ ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องตรงกัน’
ความล่าช้านี้เอง ทำให้แทบทุกที่ในโลกตะวันตกผ่านช่วงเวลาทองในการรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้ นั่นคือ ออกมาตรการรับมือตั้งแต่ก่อนไวรัสจะไปถึงตัว ฉะนั้นในเวลานี้ต่อให้แต่ละรัฐออกนโยบายดีๆ ที่พร้อมจะดูแลประชาชนของรัฐอย่างเต็มที่ และมีการพยายามสื่อสารกับสังคมอย่างรู้เรื่อง ชัดเจน มีประสิทธิภาพ ก็ยังไม่อาจจะลดอัตราเร่งในการติดเชื้อได้โดยง่าย อันนี้เราไม่ต้องนับถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันด้วย ที่ยิ่งประเทศมีเสรีภาพมากเท่าไหร่ ความลำบาก ความอึดอัดในการถูกกักตัวก็มีมากตามมา ซึ่งก็เป็นราคาที่ต้องรับมือ แต่อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าประเด็นหลักนั้นอยู่ที่ ‘ขาสองข้างที่ก้าวไปคนละทาง’ นี้ และรัฐเสรีพยายามที่จะรักษาทั้งสองข้างไว้ จนสุดท้ายอาจจะกลายเป็นพังทั้งสองข้างแทน
ท่าทีของการชั่งน้ำหนักที่ว่านี้ เห็นได้ชัดสุดในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำสูงสุดของโครงสร้างภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี modus vivendi นี้ จากการที่ทรัมป์เองเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศแล้ว แต่กว่าจะประกาศใช้ defense production act ก็ล่วงเลยเวลามานาน เพราะกลัวจะกระทบภาคอุตสาหกรรม และขนาดตอนประกาศใช้ ก็บังคับแต่เพียงไม่กี่โรงงานให้ผลิตสินค้าที่จำเป็นในการป้องกันรักษาโรค
การที่ทรัมป์ออกมาพูดอย่างมีความหวังว่าอยากจะเปิดประเทศและให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยได้อีกครั้งในช่วงอีสเตอร์ (หรือราวสัปดาห์หน้า ซึ่งชัดเจนว่าไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน) ไปจนถึงนายกเทศมนตรีของหลายมลรัฐ รวมไปถึงนักวิชาการคนดังจำนวนมากที่เริ่มออกมาแสดงท่าทีว่า ตนพร้อมป่วยตาย มากกว่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการพังทลายของระบบเศรษฐกิจที่จะทำให้ลูกหลานลำบากต่อไป เป็นต้น แนวคิดนี้มีให้เห็นที่อื่นๆ บ้างเช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ และบางที่ในยุโรป ซึ่งหากตั้งสติบ้างก็จะทราบได้ว่า หากคนตายกันเยอะ ระบบตลาดก็พัง และภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจนี้ก็จะพังอยู่ดี ตอนนี้มันจึงเป็นการเลือกของการ ‘พังขาเดียว หรือพังทั้งสองขา’ มากกว่าแล้ว
แต่เมื่อไล่เรียงมาตามนี้แล้ว ผมคิดว่าเราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาในการแก้ไขและรับมือกับวิกฤติ COVID-19 ในโลกเสรีนั้นมันไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตยเสรี’ ซึ่งวางตัวอยู่บนภูมิทัศน์การเมืองแบบเสรีนิยมก้าวหน้า แต่ปัญหามันอยู่ที่ทุนนิยมเสรีที่วางตัวอยู่บนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจแบบ modus vivendi หรือเสรีนิยมคลาสสิคต่างหาก มันเป็นกลไกที่สุดท้ายแล้วผลักให้เงินมีมูลค่ามากกว่าคน
หรือก็คือ ทำให้คนกลายไปเป็นสินทรัพย์อีกครั้งหนึ่งแบบเดียวกับ
ยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ เพียงแค่เปลี่ยนรูปของสินทรัพย์ไปเท่านั้น
การเกิดขึ้นของวิกฤติ COVID-19 นี้ นอกจากจะเป็นบทเรียนให้โลกเสรีประชาธิปไตยว่า ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้การอ้ำอึ้งจะรักษาขาทั้งสองข้างที่ขัดกันนั้นสร้างผลลบมากกว่าแล้ว มันยังสะท้อนให้เราเห็นปัญหาของภูมิทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมคลาสสิคที่มาเป็นเครื่องทำลายความมั่นคงของชีวิตเราคู่ไปกับตัวภัยจริงๆ อย่างเชื้อไวรัสด้วยอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นในสภาวะนี้ที่ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจกำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นต้องก่อร่างสร้างตัวใหม่หลังวิกฤติจบลง จึงอาจจะนับเป็นช่วงเวลาอันดีด้วยที่สังคมโลกจะสร้างขาที่ไปกันได้กับคุณค่าแบบเสรีนิยมก้าวหน้า
นี่จึงเป็นเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายควรจะออกมากุลีกุจอออกแบบภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลกใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่วิกฤตินี้มอบให้ด้วย อย่างน้อยๆ วิกฤตินี้ก็สะท้อนให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างระบบการทำงานที่ทำงานแค่ 3-4 วันต่อสัปดาห์ การมีสวัสดิการ และค่าจ้างขั้นต่ำอย่างทั่วหน้า หรือการแสดงให้เห็นความสำคัญของบทบาทของคนธรรมดาๆ ในสังคมที่ปกติถูกมองเหยียด หรือไม่ได้รับการเคารพ เหลียวแล กระทั่งได้ค่าแรงอย่างสมน้ำสมเนื้อ อย่างคนกวาดถนน คนขับรถส่งของ เจ้าของร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ ตามซอกตามซอย ฯลฯ รวมไปถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมและจัดงบประมาณเพื่อดูแลสวัสดิการต่างๆ ของประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น อย่างด้านสาธารณสุข การศึกษา สารสนเทศน์ มิใช่หรือ? ผมคิดว่าพวกท่านไม่ควรทิ้งโอกาสนี้ไป และปล่อยให้ทุนนิยมเสรีแบบเดิมงอกกลับขึ้นมาเป็นขาที่ไม่ได้ดุลย์กันอีก
และสุดท้าย หากจะด่าความล้มเหลวในการจัดการวิกฤติ COVID-19 ในโลกเสรีนั้น โปรดยุติการด่าเสรีประชาธิปไตยแต่มุ่งเป้าการด่าของท่านไปที่ ‘ทุนนิยมเสรี’ แทนเถิด เพราะหากไม่มีเสรีประชาธิปไตย เราเองจะไม่มีกระทั่งสิทธิหรือความสามารถจะนึกถึงการด่า การเรียกร้องนี้ได้แต่ต้นเลยกระมัง
ข้อมูลเพิ่มเติม
[1] https://thematter.co/thinkers/understanding-the-basic-rights/33638