ผมอยากนำเรื่องคำอธิบายพื้นฐานมากๆ อย่างเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือประชาธิปไตยมาพูดคุยผ่านบทความมาพักหนึ่งแล้ว ส่วนหลักๆ เป็นเพราะในช่วงสองสามปีมานี้เป็นอย่างน้อย เวลาประสบกับการถกเถียง ตบตีผ่านทางหน้าจอ และคีย์บอร์ดที่รู้จักกันว่า ‘ดราม่าออนไลน์’ ทั้งที่เจอเองกับตัวโดยตรง หรือที่แอบอ่านแล้วส่ายหัวอยู่ห่างๆ นั้น ผมพบว่าหลายครั้งการถกเถียงที่วางฐานอยู่บนแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น เมื่อเข้าไปอยู่ในดงของดราม่าแล้ว ไม่เพียงเนื้อหาหลักจะสูญสลายไป (จนแทบจะกลายเป็นสภาพธรรมชาติของดราม่าอยู่แล้ว) แต่ผมรู้สึกว่าหลายครั้งที่เถียงๆ ด่าๆ กันมานั้น ไม่ได้เก็ตตั้งแต่เริ่มต้นเบสิกที่สุดเลยด้วยซ้ำว่า ‘สิทธิ’ คืออะไร?
ไม่เพียงเท่านั้น หลายๆ ครั้งบทความหรือข้อเขียนที่พยายามส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ หรือประชาธิปไตยที่ดูจะเป็นประโยชน์กับทุกคน (รวมถึงคนที่กำลังด่าสิ่งเหล่านี้ด้วย) แต่ข้อเขียนเหล่านั้นหรือตัวไอเดียเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ หรือประชาธิปไตยกลับแลดูจะถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายไปเสียฉิบ ในเมื่อสัปดาห์นี้กระแสความสนใจในบ้านเราดูจะคาที่ไม่ไปไหนจากเดิมเลย (ยิ่งลักษณ์หนีจริงไม่จริง/หนีเองไม่หนีเอง, กวีดังกับสรรพหู, หรือ Sexy Boys กับชุดนิสิต) ผมเลยอยากถือโอกาสนี้เขียนเรื่องนี้ที่คิดจะเขียนมาระยะหนึ่งแล้วเลยละกันครับ
ว่ากันตามตรง ผมค่อนข้างห่อเหี่ยวกับกระแสหรือท่าทีที่แข่งกันเหยียดหรือรังเกียจคำทางการเมืองอย่างสิทธิ, เสรีภาพ, ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยอยู่เลย บางครั้งยังเห็นพูดกันอยู่ว่า ความเท่าเทียมคือคอมมิวนิสต์ หรือ “อะไรๆ ก็อ้างแต่ประชาธิปไตย” บ้าง, ฯลฯ ราวกับเรากำลังอยู่ในสภาวะของ ‘การเมืองในฐานะการแสดง’ (Politics as a performance) ที่ต้องแข่งกันรังเกียจสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะในดงดราม่า ที่ยิ่งใครแสดงความเกลียดออกมาได้มาก แลจะยิ่งดูคูล ดูก้าวหน้า ก้าวพ้นวาทกรรมการครอบงำหลักของโลกตะวันตก (แต่กลับไปเอาด้วยกับอำนาจนิยมแทน)…ผมก็ได้แต่ทอดถอนใจว่า “โถ ลูก…ที่แขวะที่จิกไอเดียตะวันตกนั้น พวกหนูไม่ได้เก็ตมันเลยจร่ะ” ก็เลยขอลองเขียนถึงพื้นฐานที่มาที่ไป และข้อถกเถียงเรื่อง ‘สิทธิ’ (Rights) เบื้องต้นให้อ่านดูนะครับว่าเวลาโลกตะวันตกเค้าพูดคำว่า “สิทธิ” คำเดียวนี้ มันวางฐานอยู่บนที่มาที่ไปและข้อถกเถียงอะไรกันบ้าง (นี่ผมจะไม่ไปแต่ข้อถกเถียงใหม่ๆ อะไรเลยด้วยนะครับ)
คำว่า ‘สิทธิ’ อาจนับได้ว่าเป็นคำทางการเมืองที่เลื่อนไหลที่สุดคำหนึ่ง มันจึงเป็นปัญหาในทางการนิยามมากพอสมควร เผลอๆ อาจจะนิยามยากกว่าคำว่าประชาธิปไตยเสียอีก ฉะนั้นเพื่อขยายความนิยามเพื่อความชัดเจน นอกจากตัวนิยามเองแล้ว คงต้องเข้าใจภาพรวมของคำๆ นี้ด้วย คือ คำว่า ‘สิทธิ’ นั้นหากพูดอย่างตรงไปตรงมาแล้วคือ ‘รูปแบบหนึ่งของอำนาจ (power)’ แต่ไม่ใช่อำนาจบาตรใหญ่ที่จะลำพองใช้ไปทั่วอะไรนะครับ โดยพื้นฐานที่สุดแล้ว มันก็คือ อำนาจที่ปัจเจกพึงเลือกกระทำต่อตนเองได้ เช่น การกำหนดเส้นทางเดินของชีวิตตนเอง, การเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง, การเลือกใช้จ่ายกับทรัพย์สินที่ตนหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง, การแสดงหรือมีความคิดเป็นของตนเอง, การออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่ตนเองคิดว่าเหมาะสม เป็นต้น อย่างไรก็ดีอำนาจที่พึงกระทำต่อตัวเองได้นั้น มันก็วางอยู่บนฐานของการถกเถียงอันดุเดือดยาวนาน เช่น การบอกว่าการกำหนดทางเลือกของชีวิตตนเองได้นั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่โวหารหรือลมปาก เพราะสุดท้ายแล้วโครงสร้างบางประการ อย่างระบบทุน, ความแตกต่างทางชนชั้นก็มากำหนดเส้นทางชีวิตเราอยู่ดี เป็นต้น ฉะนั้นในจุดนี้เพื่อความเข้าใจที่ใกล้เคียงกันและทั่วถ้วน ก็อยากจะพาไปสำรวจที่มาที่ไป รวมถึงสารพัดข้อถกเถียงในหัวข้อนี้กันสักนิดก่อน
ไม่ใช่เพียงแค่นิยาม แม้แต่ที่มาหรือต้นกำเนิดของคำว่า ‘สิทธิ’ ก็ดูจะมีข้อถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย แต่หากเราจำกัดลงที่สิทธิทางการเมืองแล้ว อาจจะพอหาหมุดหมายเริ่มต้นได้บ้าง นั่นคือ ราวๆ ค.ศ. 622 ได้เกิดมีรัฐธรรมนูญแห่งเมดินา (Constitution of Medina) ขึ้นมา ซึ่งได้เกิดการสถาปนาสิทธิหลายประการให้กับชาวยิวและมุสลิมในชุมชนต่างๆ ของเมดินา โดยสิทธิที่สำคัญที่สุดก็คือ สิทธิในการเลือกนับถือศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมและอื่นๆ[1] ซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นตลกร้าย ที่ประเทศที่มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในโลกส่วนหนึ่งก็คือประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่เมืองเมดินาตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้เอง เมืองซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของสิทธิทางการเมือง ดันกลายเป็นเมืองที่ประหารชีวิตด้วยการตัดหัวหรือแขวนคอ บางครั้งทำซะกลางลานสาธารณะเลยทีเดียว[2] แม้จะอยู่ในโลกยุค information age แล้วก็ตามที
จากนั้นก็ล่วงมาอีกเกือบ 600 ปี จึงเกิดพัฒนาการที่ชัดเจนของสิทธิทางการเมือง คือ ในปี ค.ศ. 1215 ในอังกฤษได้เกิดกฎบัตรแม็กนาคาต้า (Magna Carta) ขึ้น ซึ่งกำหนดว่ากษัติรย์เองก็อยู่ใต้อำนาจของกฎหมายเช่นกัน จากที่เดิมทีตัวสถาบันกษัตริย์ถือเป็นอำนาจสูงสุดและคำสั่งของกษัตริย์ก็คือกฎหมาย แล้วก็มีอีกสารพัดพัฒนาการที่สถาปนา ‘สิทธิ’ ขึ้นอย่างเป็นทางการจากจุดนี้ มีการต่อรองทางการเมืองต่างๆ ขึ้นมากมาย จนมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญ คือ จุดเริ่มต้นของ ‘สิทธิพลเมือง’ อย่างเป็นทางการ (ก่อนหน้านี้เป็น ‘สิทธิ’ ในทางการเมืองทั่วไปเฉยๆ) ซึ่งเริ่มต้นในอังกฤษและสก็อตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1689 โดยในอังกฤษมี Bill of Rights ในขณะที่สก็อตแลนด์มี Claim of Right เกิดขึ้น โดยเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือ สถาปนาสิทธิในฐานะ ‘พลเมือง’ และ ‘การเมือง’ ให้กับประชาชนอังกฤษ/สก็อตแลนด์
Bill of Rights ที่มีคำแปลเป็นภาษาไทยว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง” นี้เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมากจากนักปรัชญาทางด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังชาวอังกฤษเอง อย่างจอห์น ล็อค (John Locke) ซึ่งได้รับการเผยแพร่และยอมรับอย่างรวดเร็วในอังกฤษในเวลานั้น[3]
ซึ่งรวมถึงความคิดที่เชื่อว่าราชบัลลังก์นั้นต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจ (Consent) ของปวงชน โดยความพร้อมใจนั้นแสดงผ่านอำนาจของประชาชนด้วยกลไกรัฐสภา แนวคิดนี้ก็นำมาสู่กฎหมายฉบับนี้ที่ทำหน้าที่ตามชื่อของมัน นั่นคือ เป็นกฎหมายที่ประกันสิทธิให้กับ (1) ลดอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐสภา, (2) กำหนดสิทธิต่างๆ ให้กับรัฐสภา ทั้งในด้านการเลือกตั้งเสรี เงื่อนไขทั่วไปของรัฐสภา ไปจนถึงสิทธิในการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี (ซึ่งสภาผู้แทนของอังกฤษก็ยังคงเป็นหนึ่งในสภาที่ ‘เถียง หรืออภิปราย’ กันอย่างเมามันที่สุดจนถึงวันนี้), และ (3) สิทธิพื้นฐานต่างๆ รวมถึงการประกันความมั่นคงทางชีวิต (ซึ่งวางอยู่บนจุดยืนของสิทธิในการมีชีวิต) ให้กับพลเมืองชาวอังกฤษ เช่น การห้ามการลงโทษที่โหดร้ายและผิดวิสัยปกติแก่พลเมือง หรือการอนุญาตให้ชาวโปรเตสแตนท์สามารถถือครองอาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันตัวตามกรอบที่กฎหมายกำหนดได้ เป็นต้น พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์การพัฒนาเรื่องสิทธิ อย่างไรก็ดีพึงสังเกตว่านี่คือ ‘สิทธิพลเมือง’ หรือการประกันสิทธิอย่างพื้นฐานเท่ากันหมดให้กับพลเมืองทุกคนของรัฐนั้นๆ นั่นหมายความว่า ‘สิทธิ’ ในส่วนนี้ยังคงผูกติดกับเส้นเขตแดน ตามอำนาจอธิปไตยของรัฐอยู่นั่นเอง
แน่นอนว่ามันไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ เกือบๆ ร้อยปีต่อมาสิทธิมนุษยชนก็เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตามมา ในคำประกาศอิสรภาพ หรือ United States Declaration of Independence ในปี ค.ศ. 1776 ซึ่งสิทธิในฐานะมนุษย์นั้นรวมไปถึง “ชีวิต, เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข” ด้วย คล้ายกันกับคำประกาศในอีก 3 ปีต่อมา ที่ฝรั่งเศสหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสและมีคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเรือน (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) ก็เกิดตามมา คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเรือนนี้เอง เป็นอีกหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ทำให้คำว่าสิทธินั้นเริ่มก้าวข้ามพรมแดนของรัฐในคติของโลกตะวันตก ความเชื่อที่ว่าคุณค่าแบบมนุษยนิยม (นิยมในคุณค่าของมนุษย์และความเป็นมนุษย์) นั้นไม่ควรยุติอยู่ที่เส้นตะเข็บแนวชายแดนก็เริ่มลงหลักปักฐานอย่างเป็นทางการ
อีกทั้งคำประกาศนี้เขียนขึ้นบนฐานของ “กฎตามธรรมชาติที่ไม่มีศาสนามายุ่งเกี่ยว” (Secular natural law) กล่าวคือ ถือว่าสิทธิในฐานะมนุษย์นั้นเป็นเงื่อนไขตามธรรมชาติ (และไม่ได้อิงกับแนวคิดหรือขึ้นต่อความคิดของศาสนาใดๆ ด้วย – แนวคิดของล็อคที่ใช้ในอังกฤษนั้นยังมีการวางฐานอยู่บนแนวคิดของศาสนาอยู่ระดับหนึ่ง คือ เชื่อว่าสภาพธรรมชาติเกิดขึ้นจากอำนาจของพระเจ้า และทุกคนนั้นเท่าเทียมกันภายใต้อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าน่ะครับ) ที่มนุษย์ทุกคนพึงมี (ไม่สนเส้นเขตแดนใดๆ) มาตราที่โด่งดังที่สุดของคำประกาศนี้คงจะเป็นมาตราที่ 1 (จาก 17 มาตรา) ซึ่งระบุไว้ว่า “มนุษย์ทุกคนที่เกิดมานั้นย่อมคงไว้ซึ่งสิทธิอันเสรีและเท่าเทียมเสมอกัน การระบุความแปลกแยกทางสังคมใดๆ จะมีได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเท่านั้น” และมาตราอื่นๆ ก็ประกันสิทธิของมนุษย์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเส้นเขตแดนเช่นเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพและรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกันนั้นด้วย กล่าวได้ว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ได้เริ่มกลายเป็นคุณค่าสากลในชาติตะวันตก
หลังจากนั้น เมื่อโลกเผชิญกับความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งจากการฆ่ากันตายในสงคราม และจากความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยฝ่ายอักษะที่รู้จักกันว่า ‘โฮโลคอสต์’ (Holocaust) ประเทศต่างๆ จากทั่วโลก รวม 50 ประเทศก็เห็นว่าชักจะไม่ได้ทีแล้ว ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป ที่สิทธิในฐานะมนุษย์ในรัฐหนึ่งๆ มันถูกจำกัดอยู่ด้วยอำนาจของกฎหมายในรัฐใดรัฐหนึ่งนั้น มนุษยชาติอาจจะต้องเจอกับสภาพแบบเดิมอีก หรือมีเพียงไม่กี่รัฐที่ให้คุณค่าอย่างเป็นสากลกับมนุษย์แต่ไม่ได้รับการรับรองในทางสากลโดยแท้จริงคงไม่อาจจะทำให้คุณค่านั้นเป็นจริงได้ จึงร่วมกันสถาปนาและลงนาม “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (The Universal Declaration of Human Rights) ขึ้นในปี ค.ศ. 1948 ซึ่งแม้จะไม่มีผลบังคับใช้โดยตรง แต่ก็ได้ถือเป็นมาตรฐานร่วมสากลของโลก และแทบทุกประเทศในโลกตอนนี้ (รวมถึงไทยเองด้วย) ก็ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาฯ นี้แล้ว เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ “ในฐานะที่เป็นมนุษย์” โดยไม่เกี่ยวว่ากฎหมายของชาตินั้นๆ จะระบุสิทธิดังกล่าวไว้หรือไม่ กล่าวคือ
เมื่อถือเอาสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาฯ นี้ในฐานะมาตรฐานหรือหลักการสากลแล้ว ให้ปฏิบัติ ‘เสมือนว่า’ สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมๆ กับมนุษย์ทุกคน โดยไม่สนใจเงื่อนไขเรื่องดินแดน ภาษา ชาติพันธุ์ สีผิว เงินทอง หรือหน้าตาใดๆ
นี่คือ ‘เกณฑ์ขั้นต่ำ’ ที่มนุษย์พึงได้รับและพึงถูกปฏิบัตินั่นเอง และถ้าประเทศไหนที่ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ก็มักจะถูกรุมประณาม กดดัน บอยคอต หรือแม้แต่แทรกแซงจากนานาชาติได้ อย่างในกรณีที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นานาชาติอาจเข้าแทรกแซงได้ เพราะด้วยฐานแนวคิดนี้ “ชีวิตมนุษย์สำคัญกว่าเส้นเขตแดน”
สิทธิมนุษยชนนี้เอง ที่ทำหน้าที่เคียงคู่กับประชาธิปไตยในฐานะ ‘อุดมการณ์’กล่าวคือ เป็นอำนาจสถาปนา/คุณค่าเหนือรัฐธรรมนูญ ที่ก้าวข้ามเขตแดนของรัฐที่ผูกติดอยู่สูงสุดที่ระบอบการปกครอง สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะหลังจากการกำเนิดขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้ทำหน้าที่ในฐานะคุณค่าหรือเจตนารมย์เพื่อการสถาปนาระบอบการปกครองของรัฐต่างๆ อีกต่อหนึ่ง มันได้กลายเป็นคุณค่าสูงสุดและอยู่ในสถานะที่ไม่อาจทำลายได้ไป ด้วยฐานะของสิทธิมนุษยชนในฐานะอุดมการณ์ (คือไม่ใช่เพียงตัวกฎหมาย ที่รัฐประหารหรือฉีกตัวบทออก ก็จะล้มลงหรือทำลายลงได้)
เมื่อสิทธิมนุษยชนถือกำเนิดขึ้นมาเช่นนี้แล้ว จนได้รับการยอมรับเป็นหลักการหรือมาตรฐานร่วมอันเป็นสากล มันก็นำมาสู่คำถามถึงความถูกต้องบ้าง หรือขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชนบ้าง อันนำมาสู่มุมมองต่อคำว่าสิทธิเป็นแตกต่างกันออกไป และการตีความที่ต่างกันนี้ ก็พยายามจะเข้ามาควบคุม หรือขยายของเขตของสิทธิมนุษยชนตามแต่จุดยืนของสำนักคิด คือ คำอธิบายเรื่อง ‘สิทธิ’ อาจแบ่งเป็น สำนักใหญ่ๆ ได้ 2 สำนัก คือ สำนัก ‘สิทธิตามกฎหมาย’ (Legal Rights) และ ‘สิทธิตามธรรมชาติ’ (Natural Rights) สองสำนักนี้ก็ได้มีการถกเถียงระหว่างกันมาโดยตลอด ข้อถกเถียงเหล่านี้หากอธิบายอย่างกระชับและลดทอนความซับซ้อน (Simplified) ที่สุดแล้ว ก็อาจจะพอนับได้ว่าเริ่มจากเจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) ที่วิจารณ์ “คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเรือน” ของฝรั่งเศสที่บอกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ว่า เป็นความเข้าใจที่ผิด (จริงๆ เบนแธมแทบจะวิจารณ์ว่า ‘ไร้สาระ’ หรือ non-sense กันเลยทีเดียว) เพราะสิทธิมันเกิดขึ้นไม่ได้หรอกหากมนุษย์ไม่ได้รับอำนาจนั้นมาจากการบัญญัติไว้โดยกฎหมาย ฉะนั้นการพูดว่ามี “สิทธิที่ไม่จำเป็นต้องได้รับจากกฎหมาย” นั้นมันขัดกันเอง ซึ่งข้อถกเถียงนี้ของเบนแธมนับได้ว่าเป็นรากฐานตั้งต้นสำคัญของฝ่ายสำนักสิทธิตามกฎหมาย
เวสลีย์ ฮอฮ์เฟลด์ (Wesley Hohfeld) อีกคนหนึ่งของสำนักสิทธิตามกฎหมาย เสนอต่อไปอีกว่าเวลาที่มีการเสนอสิทธิใดๆ ของปัจเจกนั้น มันเป็นการผูก ‘เงื่อนไขหน้าที่’ กับปัจเจกอื่นๆ ไปด้วยพร้อมๆ กัน เช่น สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างสิทธิในการมีชีวิต (Right to Life) ที่บอกว่าปัจเจกเป็นเจ้าของชีวิตของตนเอง จะโดนล่วงละเมิดหรือฆ่าไม่ได้ มันไม่ได้เป็นการให้สิทธิหรืออำนาจกับปัจเจกนั้นๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มันเป็นการผูกเงื่อนไขกับคนอื่นๆ ด้วยว่า “ห้ามทำร้าย หรือฆ่าคนนี้ คนนั้น และใครๆ” แน่นอนว่าการยกตัวอย่างเรื่องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ อาจจะแลดูว่า “ก็ถูกแล้วไง ก็สมควรจะเป็นอย่างนั้น” แต่ประเด็นของฮอฮ์เฟลด์มันไม่ได้อยู่ที่ ‘สิทธิเรื่องอะไร’ (อย่างในตัวอย่างคือสิทธิในการมีชีวิต) แต่ถ้ามันเป็นสิทธิในประเด็นอื่นๆ เราก็จะโดนผูกเงื่อนไขแบบนี้ไปเหมือนกัน และเมื่อสิทธิมนุษยชนมันกลายเป็น ‘เกณฑ์สากล’ นั่นก็จะยิ่งแปลว่า คนที่โดนผูกเงื่อนไขพ่วงไว้ เพื่อให้อำนาจกับปัจเจกเนี่ยกลายเป็นทุกคนในสังคมเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นนักสิทธิสำนักนี้จึงมองว่าการอ้างแต่เพียงสิทธิตามธรรมชาติมันไม่ถูกต้องหรือไม่รัดกุมเพียงพอ และมันจะเกิดการใช้สิทธิจนเฟ้อ (Rights Inflation) ขึ้นได้ นักสิทธิสำนักนี้จึงเห็นว่าควรมีการกำหนดขอบเขตที่แน่ชัดกว่าที่นักสิทธิสำนักธรรมชาติเสนอ เพื่อไม่ให้ภาระของเงื่อนไขผูกมัดมากจนเกินไป ซึ่งก็จะเป็นภาระกับตัวสังคมและระบบเองอีกศกหนึ่ง
ประเด็นโต้เถียงที่ว่านี้นำไปสู่คำอธิบายเรื่องสิทธิต่อยอดไปอีก คือ ‘สิทธิ’ (อันนำมาสู่เงื่อนไขผูกมัดบางประการ) แบ่งสิทธิออกเป็นสองแบบ หลักๆ อิงตามการตีความหรือระดับความเข้มข้นของ ‘เงื่อนไขผูกมัด’ ที่จะเกิดตามมา เมื่อกำหนดสิทธิขึ้น คือ ‘สิทธิเชิงลบ’ (Negative Rights) และ ‘สิทธิเชิงบวก’ (Positive Rights) ซึ่งการเข้าใจฐานคิดทั้งสองนี้เองจะนำไปสู่แนวทางที่ค่อนข้างยอมรับกันว่าเป็น ‘ทางออก’ ของข้อถกเถียงเรื่องสิทธิ (แต่ไม่ได้แปลว่า “ยุติ)
‘สิทธิเชิงลบ’ เป็นสิทธิที่กลุ่มสำนักสิทธิโดยกฎหมายหรือบางกลุ่มที่มองว่าหลังๆ มีการ “ใช้สิทธิจนเฟ้อแล้ว” อย่างโรเบิร์ต นอร์ซิค (Robert Norzick) มองว่าเป็นสิทธิที่แท้จริงหนึ่งเดียวของมนุษย์ กล่าวโดยรวบรัดก็คือ สิทธิที่ไม่ไปแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น (Non-interference Rights) ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักสิทธิตามกฎหมายดูจะกังวลเรื่องเงื่อนไขผูกพันที่จะเข้ามาแทรกแซงเหลือทุกคนในสังคมเป็นหลักนั่นเอง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งอย่างสิทธิเชิงบวก ที่นำโดยสายผู้ศรัทธาในจอห์น รอลส์ (John Rawls) บอกว่าคิดแบบนั้นไม่ได้ มันต้องมี สิทธิในการช่วยเหลือแทรกแซง ด้วย ซึ่งก็คือ ‘สิทธิในเชิงบวก’ นั่นเอง ฐานคิดนี้ก็ยังปรากฏให้เห็นตลอด โดยพรรคอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวามีแนวโน้มที่จะอิงอยู่กับแนวคิดสิทธิเชิงลบมากกว่า ในขณะที่พรรคสายเดโมแครต (ที่ไม่ใช่ ‘เดโมแครตของไทย’) หรือซ้ายกว่าก็มีแนวโน้มที่จะเอนมาทางสิทธิเชิงบวก
ขอยกตัวอย่างด้วยสิทธิในการมีชีวิต หรือ Right to Life ที่ยกตัวอย่างไว้ก่อนหน้านี้และยังค้างๆ คาๆ อยู่เพื่อความชัดเจนขึ้นต่อตัวอย่างก่อนหน้าด้วย คือ หลังจากที่นักสิทธิสายกฎหมายอธิบายกลไกว่า การกำหนดสิทธิใดๆ กับปัจเจก มันคือการสร้างเงื่อนไขผูกมัดขึ้นมาในสังคม แต่คำถามก็คือ “เงื่อนไขผูกมัดเรื่องอะไร หรือแค่ไหนที่ต้องโดนผูกมัด”? ในจุดนี้เอง ฝ่ายที่อิงอยู่กับสิทธิเชิงลบ หรืออยู่กับเงื่อนไขผูกมัดเท่าที่จะไม่แทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่นก็จะอธิบายว่ามันจบอยู่แค่ที่ “ไม่ไปฆ่าปัจเจกอื่น หรือฆ่าคนด้วยกันเอง” เท่านั้น คือ เราไม่ฆ่าเธอ และเธออย่ามาฆ่าเรา เราต่างเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง จบเท่านี้ แต่หากเป็นฝ่ายที่ยืนข้างสิทธิเชิงบวกที่คิดว่ามันต้องเข้าไปแทรกแซงหรือช่วยเหลือเพื่อคงคุณค่าของสิทธินั้นไว้ ก็จะบอกว่า จะหยุดเพียงแค่ต่างคนต่างไม่ฆ่ากันไม่ได้ หากปัจเจกอยู่ในสถานะที่ลำบากจนอาจสูญเสียชีวิต หรืออยู่ในเงื่อนไขที่จะสูญเสียชีวิตได้ เช่น เจอคนกำลังจะอดอาหารตาย หรือหนีตายจากภัยสงครามมา หรือกำลังป่วยไข้ปางตาย ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้ชีวิตของคนเหล่านั้นดำเนินต่อไปได้ ซึ่งก็คือการรักษาคุณค่าของสิทธิในการมีชีวิตของคนเหล่านั้นมีต่อไปได้นั่นเอง
การถกเถียงมันก็ยังคงดำเนินต่อไปเพราะแต่ละฝั่งก็ล้วนแต่มีจุดยืนที่มีเหตุผลเป็นพื้นเพ ฝั่งลบก็มองว่าหากไปทางบวกเกินไป รัฐก็จะมีภาระมากและการอยู่ใต้เงื่อนไขผูกมัดที่มากเกินพอดีก็เป็นการทำลายสิทธิและเสรีภาพเฉกเช่นกัน ในขณะที่หากไปในทางลบจนเกินไป การประกันสิทธิในฐานะมนุษย์รวมถึงความมั่นคงในฐานะมนุษย์ก็คงไม่สามารถทำให้เกิดผลจริงๆ ได้ ฉะนั้นประเด็นหลักที่เป็นๆ อยู่จนถึงตอนนี้คือการหาจุดสมดุลย์ หรือหาบาลานซ์ของฝั่งลบกับฝั่งบวกว่าจะอยู่ตรงไหนดี ซึ่งจุดนี้นี่เองที่เป็น “ความแตกต่างของนโยบายรัฐ และการออกกฎหมายของแต่ละประเทศ” กล่าวคือ หาจุดสมดุลย์ที่มันตรงกับสภาพทางสังคมการเมืองของประเทศตนมากที่สุด และในเมื่อประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ทำหน้าที่ในฐานะกลไกให้สิทธิมนุษยชนเหล่านี้ทำงานได้ (หรือก็คือเป็นฟังก์ชั่นตาม) ความแตกต่างหลากหลาย เฉดสีที่ต่างกันของระบอบประชาธิปไตยจึงวางอยู่บนฐานคิดนี้ คือ แต่ละประเทศมีขอบเขตร่วมใหญ่ๆ ร่วมกันอยู่ แต่ภายในกรอบใหญ่ร่วมดังกล่าวนั้น จะเลือกวางตัวเองอยู่ตรงไหนในกรอบที่ว่าก็จัดวางกันไป แต่อย่างน้อยต้องอยู่ในกรอบ
ว่าง่ายๆ ก็คือความคิดแบบสุดทางของสิทธิเชิงลบอาจถือได้ว่าเป็น “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ที่รัฐพึงประกันสิทธิในทางกฎหมายและดำเนินนโยบายให้กับประชาชนในรัฐนั้น
หากต่ำกว่าขอบเขตที่ว่า ก็อาจจะเกิดสภาวะการ ‘ขาดแคลนสิทธิ’ (Rights deficit) ได้ และการตีความแบบสุดทางของฝั่งสิทธิเชิงบวก ก็นับได้ว่าเป็น ‘มาตรฐานขั้นสูง’ หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นมาตรฐานระดับคาบเกี่ยวกับ ‘อุดมคติ’ นั่นเอง ซึ่งหน้าที่หลักของอุดมคติก็คือ การเป็นเป้าหมายปลายทางที่หวังจะไปให้ถึงจุดนั้นได้สักวัน แต่ก็อย่างที่ว่าหากใช้หรืออ้างแต่สิทธิๆๆ จนเกินไปด้วยวิธีคิดฝั่งบวก ก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหาเรื่อง ‘สิทธิเฟ้อ’ ที่ฝั่งสำนักสิทธิตามกฎหมายเขาพยายามระวังและเตือนก็ได้
หลังจากที่มีการถกเถียงกันระหว่างฝั่งลบ ฝั่งบวก ก็มีการหาทางลง (ซึ่งไม่รู้เป็นการต่อข้อถกเถียงให้ยาวขึ้นแทนหรือไม่) โดยการเสนอทางแก้นี้ ก็แบ่งออกเป็นสองสายหลักๆ อีก นั่นก็คือ สาย “ทฤษฎีว่าด้วยผลประโยชน์ของสิทธิ” (Interest/Benefit Theory of Rights) และอีกสายคือ “ทฤษฎีว่าด้วยทางเลือกของสิทธิ” (Choice Theory of Rights) ในที่นี้ขอกล่าวถึงแต่เพียงสั้นๆ พอให้เห็นภาพว่าข้อถกเถียงเรื่องสิทธิ ‘ระดับพื้นฐาน’ ในโลกนั้นไปไกลกันขนาดไหนแล้ว ในขณะที่รากำลังย่ำแต่อยู่กับที่ พูดแต่เรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ไปไหนหรือไม่ อย่างไร
คือในการพยายามถกเถียงหาคำตอบให้กับฝั่งลบ ฝั่งบวกนั้น มันนำมาสู่คำถามและการวิเคราะห์ที่ลึกลงไปอีกชั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งทางออก คำถามเบื้องต้นที่ผุดขึ้นมาก็คือ “มนุษย์เราได้รับสิทธิมาเพื่ออะไร/ทำไม?” โจเซฟ ราซ (Joseph Raz) นักทฤษฎีกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (แต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียแล้ว) ก็ได้ให้คำอธิบายว่า “เรามีสิทธิเพื่อเอาไว้ใช้ปกป้องผลประโยชน์ที่สำคัญของเรา” เมื่อสิทธิมีไว้เพื่อปกป้อง “ผลประโยชน์ที่สำคัญของเรา” กรอบความคิดของสายทฤษฎีว่าด้วยผลประโยชน์ของสิทธินี้จึงเข้าทางหรือเอนเอียงไปในทางสิทธิเชิงลบพอสมควร เช่น คนเราย่อมมีสิทธิในการปฏิเสธการถูกจับกุมตามอำเภอใจหรือด้วยอำนาจบาตรใหญ่ เพราะผลประโยชน์ต่างๆ อันสำคัญต่อตัวเราย่อมต้องการความมั่นคงปลอดภัยหรือการดูแล ซึ่งเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยหากเราโดนรัฐกักตัวไว้เพียงเพราะความคิดเพ้อฝัน หรือการคิดจินตนาการไปเองของรัฐ โดยไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อที่เราจะสามารถใช้ชีวิตของเราได้ตามที่เราเห็นว่าก่อประโยชน์ให้กับตัวเราเองสูงสุดและในแบบที่เราต้องการที่สุดนั้น สิทธิเชิงลบระดับหนึ่ง ที่จะทำให้คนอื่นๆ ไม่เข้ามายุ่งกับชีวิตของเราจึงจำเป็น อย่างไรก็ดีแนวคิดดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธสิทธิเชิงบวกไปเสียหมด สิทธิในการเข้าแทรกแซงช่วยเหลือนั้นยังคงจำเป็นอยู่ในระดับหนึ่ง เช่น ในกรณีที่เราป่วยหนักหรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน แล้วต้องการการช่วยเหลือและรักษาอย่างทันท่วงที เป็นต้น ก็คือเป็นการผสมกันของทั้งลบและบวก แต่อาจจะเอนเอียงไปทางลบมากกว่าบ้าง
อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของสายทฤษฎีผลประโยชน์แห่งสิทธิก็ถูกถามขึ้น ว่าแล้วเราไม่มีสิทธิในการทำในสิ่งที่มันขัดกับผลประโยชน์ส่วนตัวของเราหรือ? อย่างเช่น สิทธิในการฆ่าตัวตาย หรือกำหนดการตายของตัวเอง เป็นต้น สิทธิเหล่านี้ดูจะอธิบายด้วยแนวคิดสายผลประโยชน์ได้ยากยิ่ง ก็มีสายอื่นมาให้คำตอบ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือสายทฤษฎีทางเลือกแห่งสิทธิ ที่ได้ขึ้นชื่อไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง หนึ่งในนักคิดที่มีชื่อเสียงของสายนี้อย่างฮิลเลล สไตเนอร์ (Hillel Steiner) ได้เสนอว่า “ถึงที่สุดแล้วการมีสิทธิมันวางอยู่บนฐานของการมีทางเลือก และทางเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่ขึ้นกับการตัดสินใจของตนเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวว่าทางเลือกเหล่านั้นจะเพิ่ม รักษา หรือลดทอนผลประโยชน์ของตัวเรา” ซึ่งก็ดูเหมือนจะยุติปัญหาที่เป็นรูรั่วของแนวคิดเรื่องผลประโยชน์ได้ อย่างเรื่องสิทธิในการฆ่าตัวตาย แต่มันก็ทำให้เกิดคำถามอีกว่า แล้วในกรณีของคนที่ไม่สามารถ ‘สร้างหรือกำหนดตัวเลือก’ ให้ตนเองได้ เช่น เด็กอ่อน หรือผู้พิการทางสมองเล่าจะบอกว่าคนเหล่านั้นไม่มีสิทธิหรือ? ซึ่งก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงที่ไม่ยุติอยู่จนถึงตอนนี้ ว่าสิทธิควรอยู่ที่ตัวเด็กไหม อยู่มากแค่ไหน หรืออยู่กับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล มากน้อยเพียงใด จนถึงเมื่อไหร่ เป็นต้น แต่ตอนนี้หลักๆ แล้วก็มีการใช้งานผสมๆ กันของแต่ละสำนัก ปนเปกันไป ภายใต้กรอบของสิทธิเชิงลบกับเชิงบวกที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ สำนักต่างๆ ที่อธิบายมานี้เป็นเพียงการหา “กลวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งจุดสมดุลย์ที่น่าจะดีที่สุด” ภายใต้กรอบของสิทธิดังกล่าวไป
โดยสรุป ความหลากหลายในการเลือกจุดยืน (Locate) ของรัฐหนึ่งๆ ต่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งในรูปของกฎหมายและในเชิงนโยบาย มันส่งผลต่อรูปร่างรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยของรัฐนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามความมากด้วยเฉดสี และหลากหลายอันมาจากการหาจุดสมดุลย์ที่ลงตัวของแต่ละรัฐนั้น มันอยู่ในกรอบร่วมหลวมๆ ที่บอกไป รัฐนั้นๆ จึงจะเป็นรัฐประชาธิปไตยได้ ไม่ใช่ทำตัวหลุดออกนอกกรอบร่วมนั้นเลย แล้วมาบอกว่ารัฐฉันเป็นประชาธิปไตยอยู่นะ แต่เราปรับตามเงื่อนไขที่เหมาะสมกับรัฐเรา แล้วก็เติมคำว่า ‘แบบไทยๆ’ ต่อท้ายชื่อระบอบไปตามสะดวก
ในจุดนี้หากเราลองนำเอาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐไทยมาลองพิจารณาเทียบดูแต่พอสังเขป อาจจะพอเห็นภาพได้ เป็นสองกรณีที่มีความคล้ายกันบ้างในสายตาหลายๆ คน คือ กรณีของการส่งตัวผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับประเทศ กับการขับไล่ไสส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา คือ โครงสร้างเรื่องใหญ่ๆ ของสองกรณีนี้อาจจะดูคล้ายๆ กัน คือการกันผู้ลี้ภัยออกจากประเทศ แต่จริงๆ มีรายละเอียดที่แตกต่างอยู่ คือ ในกรณีผู้อพยพลี้ภัยชาวอุยกูร์นั้น ได้รับการรับรองจากประเทศตุรกีแล้วในการเป็นประเทศที่จะ ‘รับผู้ลี้ภัยเหล่านั้น’ เพียงแค่แวะพักอยู่ที่ประเทศไทยชั่วคราว รอถึงเวลาได้รับการส่งตัวไปยังประเทศตุรกี กรณีแบบนี้ถือว่าชัดเจนว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ไม่ได้เป็นภาระอะไรกับตัวสังคมไทยเลยและเป็นที่ชัดเจนด้วยว่าการอยู่ในประเทศจีนที่พวกเข้า ‘ลี้ภัย’ ออกมานั้นไม่ใช่การมีชีวิตอยู่ที่มีความสุขหรือมีคุณค่าพอสำหรับพวกเขา การส่งคนเหล่านี้กลับ ในหลายกรณีเป็นการพรากครอบครัวของพวกเขา (เพราะมีกลุ่มหนึ่งไปที่ตุรกีก่อนแล้ว) จึงผิดทั้งมาตรฐานของฝ่ายลบและฝ่ายบวก คือ แน่นอนว่าถ้าต่ำกว่ามาตรฐานที่ฝ่ายลบจะยอมรับได้ เพราะการกระทำแบบนี้เท่ากับเป็นการล่วงละเมิดเข้าไปแทรกแซงชีวิต (และไม่ใช่ในลักษณะช่วยเหลือด้วย) และสิทธิของชาวอุยกูร์เหล่านั้น ทั้งที่พวกเข้าไม่ได้สร้างภาระอะไรให้กับสังคมโดยรวมเลย ไม่นับว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างอุกอาจอีกต่างหาก ฉะนั้นในกรณีอุยกูร์นี้อาจจะบอกได้ว่าผิดในระดับที่แม้แต่เกณฑ์ขั้นต่ำสุดในฐานะมนุษย์ยังไม่อาจยอมรับได้ คือ แค่รัฐไทยอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ไม่ทำอะไรใดๆ ยังพอจะตีความได้ว่าอยู่ในเกณฑฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสุดอยู่ได้ มากกว่าที่ได้กระทำไป (คือหากไม่ทำอะไร สามารถตีความได้เหมือน “นายไม่ฆ่าเรา และเราไม่ฆ่านาย ต่างฝ่ายต่างไม่ก้าวก่ายกันและกัน”) ซึ่งแน่นอนว่านั่นย่อมหมายความว่าเกณฑ์จากฝั่งสิทธิฝ่ายบวกยิ่งรับไม่ได้เป็นการหนัก เพราะฝั่งนี้จะสนับสนุนให้เข้าทำการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเสียด้วยซ้ำ
ในกรณีของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานั้นค่อนข้างจะถกเถียงได้มากกว่า (debatable) คือ ในสายตาของสำนักสิทธิเชิงลบอาจจะประเมินได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้มีความผิดอะไร ตราบเท่าที่รัฐไทยไม่ได้ส่งคนไปปราบปรามฆ่าล้างชาวโรฮิงญาเหล่านั้น (อย่างที่รัฐบาลพม่าทำ) ก็ไม่ได้ผิดอะไร เท่ากับเราไม่ได้ไปฆ่าเขา ซึ่งกรณีนี้อาจมองได้ว่าไม่ได้เลวร้ายไปกว่ามาตราฐานขั้นต่ำสุดในฐานะมนุษย์ แต่ฝ่ายสำนักสิทธิเชิงบวกก็จะเห็นว่า ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือพวกเขา พวกเขาอยู่ในสภาพที่แร้นแค้นขนาดนั้น ไม่ช่วยก็เท่ากับปล่อยพวกเขาไปตาย และการที่รู้เช่นนั้น และมีศักยภาพจะช่วยได้มากกว่านี้แต่กลับไม่ทำ ก็เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการฆ่าและริดรอนสิทธิชาวโรฮิงญาเหล่านั้นด้วย ซึ่งก็สามารถถกเถียงกันได้ต่อไป ว่าจะวางตัวอยู่ตรงจุดไหนของกรอบที่ว่านี้ จุดสมดุลย์ที่ควรจะเป็นอยู่ที่ใด แต่อย่างไรก็ดี มันต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นตำ่สุดโดยเด็ดขาด
ผมหวังว่าที่เขียนมานี้ จะช่วยให้เราสามารถพูดคุย, เถียง หรือด่าดราม่ากันด้วยภาษาและไวยากรณ์ชุดเดียวกันมากยิ่งขึ้นได้นะครับ ถ้ามีจังหวะจะพยายามเขียนเรื่องพวกนี้อีกแทรกเป็นระยะๆ (แฮ่ๆ)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] R. B. Serjeant, The Sunnah Jami’ah, pacts with the Yathrib Jews, and the Tahrim of Yathrib: Analysis and translation of the documents comprised in the so–called “Constitution of Medina“. Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London, Vol. 41, No. 1. (1978), p. 4.
[2] ที่มา www.theguardian.com
[3] Schwoerer, Lois G. (1990). “Locke, Lockean Ideas, and the Glorious Revolution”. Journal of the History of Ideas. University of Pennsylvania Press. pp. 531-548.