ท่าทางมหากาพย์ประกัน COVID-19 แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ คงไม่ได้ปิดฉากลงง่ายๆ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุที่ทำให้โลกโซเชียลลุกเป็นไฟ เมื่อบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกาศยกเลิกกรมธรรม์แบบไม่ทันให้ลูกค้าตั้งตัว แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งห้ามลอยแพผู้บริโภคเด็ดขาด
แม้ว่าแวดวงประกันภัยก็ดูจะเงียบสงบ หารู้ไม่ว่าคลื่นใต้น้ำกำลังค่อยๆ ก่อตัวเพราะยอดจ่ายสินไหมทดแทนจากผลิตภัณฑ์ประกันดังกล่าวได้ทะลุ 30,000 ล้านบาทไปแล้ว โดยเหยื่อรายแรกที่ไปไม่รอดคือบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อกลางเดือนตุลาคม เนื่องจากฐานะทางการเงินไม่มั่นคงและสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอาจจะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย
ล่าสุดบริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หวั่นซ้ำรอยเอเชียประกันภัยจึงมองหาทางออกเพื่อผ่อนคลายภาระทางการเงิน ทำใจดีสู้เสือส่งข้อความไปยังผู้ซื้อกรมธรรม์ขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดประกัน COVID-19 แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ โดยมีสามทางเลือกให้ผู้บริโภค คือ ถือกรมธรรม์ต่อไปแต่จะจ่ายเงินเฉพาะในกรณีที่ติดเชื้อจนเข้าข่ายผู้ป่วยวิกฤติ หรือรับเงินคืนทั้งหมด 100% หรือปรับเปลี่ยนเป็นประกันอุบัติเหตุ
อีกหนึ่งครั้งที่ คปภ. สั่งห้ามบังคับผู้บริโภคเด็ดขาด หากจะเปลี่ยนก็ต้องดำเนินการด้วยความยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่บริษัทประกันคิดเองเออเองอยู่ฝ่ายเดียว
ดูจากสถานการณ์แล้ว ผลิตภัณฑ์ประกัน COVID-19 แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ยังไงก็ต้องมีคนเจ็บ ตั้งแต่บริษัทประกันอย่างเช่นสินมั่นคงที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ขาดทุนไปกว่า 3,662 ล้านบาทจากที่เคยมีกำไร 160 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 เมื่อปีที่ผ่านมา แต่เลวร้ายกว่านั้นคือการปิดกิจการ เช่น กรณีของเอเชียประกันภัยที่จะทำให้ผู้บริโภคที่หวังพึ่งพาเงินเอาประกันจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคตอันไกลแสนไกลต้องฝันสลายเพราะพิษ COVID-19
อะไรทำให้บริษัทประกัน ‘พลาด’ ได้ขนาดนั้น และผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ควรได้บทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผมจะค่อยๆ ตอบทั้งสองคำถาม แต่ก่อนอื่นอยากจะชวนมาดู ‘หลังบ้าน’ ผ่านมุมมองของบริษัทว่าธุรกิจประกันทำกำไรได้อย่างไร
ธุรกิจประกันทำกำไรได้อย่างไร?
ธุรกิจประกันภัยคืออุตสาหกรรมโปรดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯ ที่ร่ำรวยจากการลงทุน ในมุมมองของบัฟเฟตต์ ธุรกิจประกันภัยโดดเด่นเพราะเป็นการรับเงินค่าเบี้ยประกันก้อนใหญ่จากผู้บริโภคในวันแรก แต่กว่าจะต้องจ่ายเงินนั้นไปในรูปสินไหมทดแทนก็ต้องรออีกนานแสนนาน หรือบางกรณีอาจไม่ต้องจ่ายคืนเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นบริษัทประกันจึงสามารถทำกำไรได้สองทางคือ (1) เอาเงินก้อนใหญ่ที่ได้มาไปลงทุนแสวงหาผลตอบแทน และ (2) คิดค่าเบี้ยประกันให้มากกว่าค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องจ่ายออกไป
หลายคนคงคุ้นเคยกับการทำกำไรโดยการลงทุนแบบข้อแรก แต่ข้อสองนี่สิครับ บริษัทจะไปมีกำไรได้ยังไงในเมื่อเราจ่ายเบี้ยประกันหลักพันหรือหลักหมื่น แต่บริษัทประกันคุ้มครองเราในระดับหลักแสนหรือหลักล้าน
คำตอบก็คือ บริษัทประกันทำกำไรด้วยการ ‘กระจายความเสี่ยง’
หัวใจของการประกันคือการเฉลี่ยทุกข์ของคนหมู่มากโดยความทุกข์ที่ว่านั้นก็คือ ‘ความเสี่ยง’ ที่จะเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาทิ เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ประสบอุบัติเหตุ เจอภัยธรรมชาติ หรือกระทั่งเสียชีวิต บริษัทประกันคือตัวกลางที่จะรวบรวม ‘เบี้ยประกัน’ จากคนจำนวนมาก เมื่อคนใดคนหนึ่งต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ตรงตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ บริษัทก็จะนำเงินก้อนนั้นมาจ่ายชดเชยตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
ทีมวิเคราะห์ที่เป็นกระดูกสันหลังของบริษัทประกันคือเหล่านักคณิตศาสตร์ประกันภัย พวกเขาและเธอจะมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยง มูลค่าสินไหมที่คาดว่าจะต้องจ่าย แล้วจึงเคาะ ‘เบี้ยประกัน’ ที่จะเสนอขายให้กับสาธารณชน
ตัวอย่างเช่น หากผู้ชายไทยอายุ 25 ปีมีโอกาสเสียชีวิต 0.1% หรือ 1 คนต่อ 1,000 คนในแต่ละปี บริษัทประกันกำลังจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ‘ตายปั๊บรับเงินแสน’ ที่หากผู้ทำประกันเสียชีวิตจะได้เงิน 100,000 บาทไปทันที ถ้ากรมธรรม์ดังกล่าวมีความคุ้มครองหนึ่งปี เราก็สามารถคำนวณอย่างง่ายว่าเบี้ยประกันของชายไทยอายุ 25 ปีจะต้องมีมูลค่าอย่างน้อย 100,000 x 0.001 = 100 บาทต่อคน เพราะถ้ามีผู้ทำประกัน 1,000 คน บริษัทประกันจะได้ค่าเบี้ยเข้ากระเป๋า 100,000 บาท และจากสถิติข้างต้น ชายไทยที่ซื้อประกัน 1,000 คนจะมีผู้เสียชีวิต 1 คน ดังนั้นบริษัทก็จะต้องเสียค่าสินไหมชดเชยชายผู้โชคร้ายไป 100,000 บาท
แน่นอนครับว่าการคำนวณจริงๆ คงไม่เรียบง่ายเช่นนี้เพราะเบี้ยประกันยังต้องคำนึงถึงเงินเดือนพนักงาน ค่านายหน้าขายประกันภัย ค่าโบนัสผู้บริหาร รวมถึงกำไรที่บริษัทจะต้องส่งคืนกลับแก่ผู้ถือหุ้นเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจประกันยังต้องเจอกับข้อมูลอสมมาตร (asymmetric information) เพราะผู้บริโภคที่มาซื้อประกันย่อมรู้จักตัวเองดีกว่าบริษัทประกันภัย ส่งผลให้เกิดปัญหาสองประการคือ (1) ปัญหาจริยวิบัตร (moral hazard) ที่ผู้ซื้อประกันภัยเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรับความเสี่ยงมากขึ้นหลังจากทำประกันภัย เช่น ซื้อประกันรถยนต์ชั้นหนึ่งแล้วขับแบบโนสนโนแคร์เพราะรู้ว่าถึงเกิดอุบัติเหตุก็มีประกันคุ้มครอง และ (2) ปัญหาการเลือกผิด (adverse selection) คือผู้ที่จะซื้อประกันภัยกลับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ทำให้ความเสี่ยงที่บริษัทประกันคาดไว้ต่ำกว่าที่ต้องเจอจริงๆ เช่น คนที่มาซื้อประกันสุขภาพก็มักจะเป็นกลุ่มที่เข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น หรือรู้ดีว่าตัวเองร่างกายไม่แข็งแรง
ความยุ่งยากเหล่านี้เองที่ทำให้อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนับเป็นกลุ่มอาชีพที่มีรายได้สูงอันดับต้นๆ
‘เจอ จ่าย จบ’ พลาดตรงไหน?
สี่ตีนยังรู้พลาด นักคณิตศาสตร์ก็ย่อมรู้พลั้ง เมื่อประกัน COVID-19 ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่สร้างรายได้มหาศาลในปีที่ผ่านมากลับกลายเป็นภาระผูกพันที่ทำเอาหลายคนหวาดหวั่นว่าจะส่งผลให้อุตสาหกรรมประกันภัยล่มทั้งระบบ
หากมองย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยและเพื่อนบ้านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างได้รับคำชื่นชมยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นตัวอย่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่บริหารจัดการ COVID-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ใครจะคิดว่าผู้ติดเชื้อหลักร้อยต่อวันจะกลายเป็นหลักหมื่นได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงจวบจนปัจจุบัน นี่คือความร้ายกาจของ COVID-19 ที่หลายคนคาดไม่ถึง และผลพวงของการฉีดวัคซีนในไทยที่ล่าช้าจนไม่น่าให้อภัย
แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้าม นั่นคือการระบุ ‘เงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท’ ซึ่งปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกัน COVID-19 แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ ของบริษัทหลายแห่ง ประโยคดังกล่าวนับเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงชั้นดีเพราะบริษัทสามารถ ‘ดีดตัว’ บอกเลิกกรมธรรม์ได้ทันทีเมื่อสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คาด ข้อความปัดความรับผิดชอบประโยคนี้อาจส่งผลให้หลายบริษัทตั้งหน้าตั้งขายประกัน COVID-19 โดยไม่คิดว่า คปภ. จะมีท่าทีขึงขังออกหนังสือยกเลิกเงื่อนไขนี้ในภายหลัง ทั้งที่ข้อความเอาเปรียบผู้บริโภคดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจาก คปภ. ก่อนที่บริษัทจะเริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ให้สาธารณชน
อ่านไม่ผิดหรอกครับ คปภ. มีหน้าที่อนุมัติกรมธรรม์ผลิตภัณฑ์ประกันทุกชนิดรวมถึงประกัน COVID-19 ที่ระบุข้อความสุดเอาเปรียบผู้บริโภคว่าบริษัทมีสิทธิในการบอกเลิกสัญญาได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ก่อนที่จะกลับลำเป็นพระเอกขี่ม้าขาวออกมาคุ้มครองประชาชน ปล่อยให้เหล่าบริษัทประกันยืนงงเพราะ ‘ผู้สมรู้ร่วมคิด’ กลับพลิกบทบาทกลายเป็น ‘พระเอก’ ทิ้งให้ภาคธุรกิจโดนก่นด่าจากทั่วสารทิศแถมยังต้องแบกรับผลขาดทุนอย่างไร้ทางเลือกเพราะ ‘สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์’ ถูกยึดคืนไปต่อหน้าต่อหน้า
หากใครจะชี้นิ้วด่าภาคเอกชนว่าโลภมาก เห็นแก่ได้ หรือไม่เห็นหัวผู้บริโภค ผมขอเอาใจช่วยอีกแรงนะครับ แต่ในขณะเดียวกันผมก็อยากเห็น คปภ. ร่วมแสดงความรับผิดชอบและเสนอทางช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากการดึงดันให้จ่ายค่าสินไหมโดยไม่เปิดทางให้ประนีประนอม นับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ของอุตสาหกรรมประกันภัยที่ย่ำแย่อยู่แล้วเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และอาจจบลงด้วยเหตุการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือการล้มละลายของบริษัทประกัน หากเป็นเช่นนั้นคนที่เสียประโยชน์คงไม่ใช่แค่ผู้ซื้อประกัน COVID-19 แต่จะลุกลามไปยังผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ประกันอื่นๆ อีกด้วย
บทเรียนของผู้บริโภค
การตัดสินใจซื้อประกันสำหรับเราๆ ท่านๆ คือการถ่ายโอนความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันไปยังบริษัทประกัน แต่ความเสี่ยงก็ใช่ว่าจะหมดไปนะครับ กรณีของมหากาพย์ประกัน COVID-19 แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ คือตัวอย่างอันดีของความเสี่ยงที่ชื่อว่าความเสี่ยงจากคู่สัญญา (counterparty risk)
หากจะพูดให้เห็นภาพ การเลือกบริษัทประกันก็ไม่ต่างจากการดูใจคนรักก่อนตัดสินใจแต่งงาน ผู้บริโภคควรจะเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือ ฐานะการเงินมั่นคง ไม่ใช่พวกที่หว่านล้อมเราสารพัดวิธีด้วย ‘โปรโมชั่น’ ลดแลกแจกแถม ระบุว่าเคลมได้ง่ายแบบไม่มีเงื่อนไข เงินเอาประกันหลักแสนแต่จ่ายเบี้ยแค่หลักร้อยจนเราหลงคารมยอมควักกระเป๋าจ่ายอย่างง่ายดาย
อย่าลืมว่าประกันหลายชนิดคือความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น ประกันชีวิต ที่เราอาจต้องจ่ายเบี้ยสะสมหลายสิบปีโดยหวังว่าวันหนึ่งหากเราตายจากไปแบบไม่ทันตั้งตัว ครอบครัวและลูกหลานของเราก็จะใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยเงินก้อนใหญ่ก้อนสุดท้ายในรูปของเงินเอาประกันโดยไม่ต้องตกระกำลำบากมากนัก
แต่การเสียชีวิตของเราอาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้าหรือกระทั่ง 40 ปีข้างหน้า ถ้าไม่เลือกบริษัทประกันที่มั่นคงน่าเชื่อถือ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบริษัทที่เราหวังฝากฝังอนาคตของครอบครัวเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันจะไม่ล้มละลายก่อนวันสุดท้ายที่เราหายใจ
มหากาพย์ประกัน COVID-19 แบบ ‘เจอ จ่าย จบ’ คงเป็นบทเรียนสำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ว่าแม้แต่ผลิตภัณฑ์การเงินอย่าง ‘ประกันภัย’ ที่มีเป้าหมายเพื่อใช้ลดความเสี่ยงก็ใช่ว่าจะปลอดภัยไร้กังวล เพราะความเสี่ยงที่ถูกถ่ายโอนไปก็ยังสามารถย้อนกลับมาที่คุณได้หากบริษัทที่คุณไว้วางใจไม่มีความมั่นคง
Illustration by Waragorn Keeranan