“สิ่งที่เราเห็นจากระบบทุนนิยมปัจจุบันคือ การสร้างวิกฤติหนึ่ง เพื่อให้เกิดอีกวิกฤติหนึ่ง แต่มีคนส่วนน้อยที่มีอำนาจได้ประโยชน์จากวิกฤติเสมอ”
– Naomi Klein, The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism
ภาพยนตร์แนวโลกาวินาศ (Apocalyptic) จำนวนมากเริ่มต้นปมของเรื่องด้วยการตั้งคำถามในเรื่องว่า หากพรุ่งนี้โลกแตก ใครบ้างจะถูกคัดเลือกไปโลกใหม่ เป็นแฟนตาซีของการตั้งคำถามที่ไม่จบสิ้น เพราะมันเริ่มต้นจากสมมติฐานว่า ทรัพยากรของโลกใหม่ ยานชูชีพ เรือ ยานอวกาศ ขบวนรถไฟ หลุมหลบภัย ฯลฯ ไม่พอสำหรับทุกคน ตัวเอกที่เป็น หมอ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ทหาร มักได้รับการคัดเลือกหรือมีหน้าที่ในการคัดเลือกผู้คน และโดยมากก็จะมีนักการเมืองผู้ทรงอำนาจและมหาเศรษฐีที่อยู่ในแผนของการได้พื้นที่ว่างในยานอพยพ และอยู่เหนือข้อยกเว้นรวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอ
ภาพยนตร์ลักษณะนี้มีตอนจบหลายแบบ แต่มีจุดร่วมสำคัญคือการมีคนธรรมดาส่วนมากได้รับสิทธิ์เป็นผู้ตาย ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นไม่มีส่วนต่อความขัดแย้งหรือการก่อปัญหาใดๆ โดยมากต้องเป็นผู้เสียสละต่อวิกฤติการณ์อยู่เสมอ แย่กว่านั้นคือพวกเขาส่วนมากไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำว่าโลกกำลังจะแตก หรือทางเลือกในการมีชีวิตรอด คำถามสำคัญคือเราสามารถคิดไกลเกินกว่าสมการของ ‘วันโลกแตก’ ที่ต้องคัดคนรอดและมีคนตาย เราสามารถจัดทรัพยากรการรักษาชีวิตคนให้สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้หรือไม่ บทความนี้อยากชวนทุกท่านพิจารณา ปัญหาวัคซีนในไทย ความล่าช้า และมาตรการการเยียวยาที่หายไปในการระบาดของโรคในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2564
นับถึงวันที่ 10 เมษายน 64 ได้มีประชาชนไทยได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 5.37 แสนคน โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1.95 แสนคน และเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วยประมาณ 4.7 หมื่นคน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ยังนับว่าเป็นไปอย่างล่าช้าเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรซึ่งไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร และหากดูตามสถิตินี้ ประเทศไทยอาจต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ประชากรกว่าร้อยละ 70 ถึงจะได้รับวัคซีน โดยในช่วงต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาวัคซีน ‘ซิโนแวค’ มีราคาต่อโดส 549 บาท จากราคาการนำเข้าช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และล่าสุด 35 ล้านโดสเพิ่มเติม จาก ‘แอสตราเซเนกา’ ราคาเฉลี่ยตกโดสละ 190 บาท หรือเมื่อพิจารณาแล้วราคาต้นทุนต่อการฉีดสำหรับคนหนึ่ง ก็ไม่น่าเกิน 400 บาท ยิ่งมีผู้ได้รับวัคซีนจำนวนมากเท่าไร ยิ่งจะทำให้ภาวะ ‘โลกาวินาศ’ คลี่คลาย มนุษย์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และเป็นเหตุเป็นผลได้มากขึ้น สหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างประเทศที่เดินหน้าฉีดวัคซีน จนทำให้การระบาดระลอก 3 ไม่อุบัติขึ้นและในช่วงฤดูร้อนก็มีแนวโน้มว่าประชาชนจะเริ่มใช้ชีวิตตามปกติได้
อย่างไรก็ตามเมื่อการควบคุมโรคถูกพิจารณาอย่างแยกส่วนย่อมจะทำให้เราตอกย้ำวนอยู่กับสมการ ‘วันโลกาวินาศ’ และทำให้เราไกลห่างจากความเข้าใจสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสามส่วน อย่างแยกกันไม่ออกประกอบด้วย โรคติดต่อ การรักษางานและเศรษฐกิจ สวัสดิการของผู้คน ไม่ว่าเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา การดูแลผู้สูงอายุ ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังไม่สามารถมองข้ามได้
ยกตัวอย่างกรณีอินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัคซีนของตัวเองและมีอัตราการฉีดต่อจำนวนประชากรในอัตราที่สูงแต่ปัญหาสำคัญคือระบบโครงสร้างสวัสดิการ และกลไกการรักษางานในช่วงวิกฤติที่ย่ำแย่ ทำให้ส่งผลต่อสภาพสังคมโดยรวม อังกฤษแม้จะเป็นตัวแบบของประเทศที่ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วแต่ประชาชนส่วนมากก็เริ่มกังวลต่อบทบาทที่ภาครัฐนำให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาเข้ามาจัดการเรื่องสวัสดิการและการกระจายสวัสดิการ ซึ่งกลายเป็นคำถามใหญ่ต่อประเด็นความโปร่งใสสและอาจเป็นการบ่อนเซาะรากฐานสวัสดิการด้านสุขภาพแบบถ้วนหน้าที่ใช้มาอย่างยาวนาน
ขณะที่เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ อาจมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับอังกฤษหรืออิสราเอล แต่ด้วยนโยบายการรักษางาน และรัฐสวัสดิการ ก็ทำให้ระบบทางสังคมยังคงดำเนินต่อไปได้ การพิจารณา สามขาของวิกฤติครั้งนี้อย่างรอบคอบ จะทำให้เราพ้นจากสมการวันโลกาวินาศ ที่ต้องยอมให้มีคนเสียสละหรือมีคนถูกทิ้ง เพราะข้อเท็จจริง โลกเรายังไม่แตกในวันนี้ แต่การใช้วิกฤติเพื่อสร้างวิกฤติใหม่อันนำสู่การควบคุมทางสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำทุกที่ทั่วโลกพยายามอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ระบบการเยียวยาด้านสวัสดิการ
ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กลายเป็นระบบชิงโชค
ที่ต้องผ่านการพิสูจน์สิทธิ์ รอคอย วางแผนไม่ได้
และเมื่อวัคซีนมาถึง ประชาชนก็ยังต้องเฝ้าคอยผ่านระบบ ‘ชิงโชค’ ต่ออีกครั้งหนึ่ง นอกจากเราไม่รู้ว่าจะติดเมื่อไร สภาพเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำอยู่แล้วคนไทยส่วนมากมากกว่าร้อยละ 50 ของวัยทำงานไม่มีงานที่มีเงินเดือนประจำ และมากกว่าร้อยละ 60 ของที่อยู่อาศัยไม่มีห้องส่วนตัวสำหรับการกักตัวที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญรายได้สำคัญของประเทศก็อยู่ในภาคบริการที่จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน วัคซีนที่ล่าช้าและไม่รู้ว่าตนและครอบครัวจะได้รับเมื่อไรกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบทั้งปัญหาสุขภาพ การวางแผนชีวิต และเศรษฐกิจในภาพรวม
เป็นที่ทราบกันว่าในระยะสั้นในการกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุดแล้ว ส่วนในระยะกลางคือการทำให้ ‘วัคซีน COVID-19’ ซึ่งต้องมีการกระตุ้นภูมิทุกปี ถูกนับรวมอยู่ในงบประมาณรายหัวของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อันหมายความว่างบประมาณรายหัวของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรเพิ่มขึ้น ราวร้อยละ 10 ในปีงบประมาณหน้า ซึ่งสวนทางกับความจริงที่ว่างบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะถูกตัดลงร้อยละ 1.3 ในปีงบประมาณหน้า การนำวัคซีนรวมเข้าไปในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ยืนยันการเข้าถึงวัคซีนอย่างถ้วนหน้าได้ในอนาคตอันใกล้
และแน่นอนว่า การเพิ่มการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้การกระจายวัคซีนสามารถทั่วถึงได้ไวมากขึ้นผ่านองคาพยพต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องล้างมายาคติว่า ‘เอกชน’ ทำได้ดีกว่า ‘รัฐ’ เพราะในสภาพวิกฤติโรคระบาดเราจะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการเอกชนประสบความล้มเหลวในการกระจายการบริการอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้การอยู่รอดไม่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อคนรวยกักตัวอยู่บ้านได้รับวัคซีน ได้นอนห้องพิเศษ แต่หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสุขภาพหยุดชะงักก็ย่อมนำสู่ความล้มเหลวของสังคมในท้ายที่สุด
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้ ‘วัคซีน’
เป็นสิทธิพื้นฐานผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โจทย์วันนี้คือการกระจายวัคซีนให้ไวที่สุดสู่ประชาชนทุกกลุ่ม แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้ คือบททบาทของทุน และรัฐที่เอื้อนายทุนจะเพิ่มเติมมากขึ้นและทำให้ วิกฤติ COVID-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติสุขภาพ ในสถานการณ์ COVID-19 นี้งบประมาณของ สปสช.ถูกดึงไปใช้ในค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานช่วง COVID-19 โดยไม่มีการเพิ่มงบประมาณส่วนนี้เป็นการเฉพาะ และงบประมาณด้านวัคซีนก็ถูกนำมาจาก ‘งบกลาง’ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การจัดการ COVID-19 กำลังมีการแยกส่วนงบประมาณ ‘ฉุกเฉิน เร่งด่วน’ ออกจากงบประมาณปกติ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งควรจะเติบโตตามวิกฤติของโรคระบาดกลับถูกวางเงื่อนไขให้หดตัว จนไม่มีความชัดเจนต่อไปว่าในอนาคตผู้คนจะใช้ชีวิตด้านสุขภาพในสังคมหลังโควิดในลักษณะใด
ประเด็นสำคัญเหนืออื่นใดไม่แพ้ประเด็นการกระจายวัคซีน คือระบบการเยียวยาหรือสวัสดิการแบบพื้นฐานของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ นับเป็นประสบการณ์สำคัญที่รัฐไทยไม่ได้เรียนรู้จากความล้มเหลวจากปี 2563 ที่ผ่านมาที่เลือกจะใช้ระบบการพิสูจน์สิทธิ์ที่ซับซ้อนและกรอบงบประมาณที่ไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้รอบนี้กลายเป็นผู้คนในภาคบริการที่ย่ำแย่ลำบากอยู่แล้วกลายเป็นผู้สังเวยในความล่าช้าของรัฐบาลทั้งนโยบายการเยียวยา และนโยบายวัคซีน นโยบาย สวัสดิการ และการรักษางานที่ดีอย่างในกรณีสวีเดน เยอรมนี หรือเดนมาร์ก ที่ได้ระบุไปแล้วนับเป็นตัวอย่างรองรับว่าแม้วัคซีนอาจล่าช้าแต่จะไม่มีคนตาย สูญเสียงาน หรือ ละทิ้งความฝันด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ
แม้วันนี้โลกอาจจะไม่ได้ล่มสลาย แต่ความล้มเหลวล่าช้า ทำให้สังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้น Naomi Klein ได้ระบุไว้ในหนังสือ Shock Doctrine ว่าสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าสภาพวิกฤติที่เกิดขึ้น คือสภาพสังคมหลังวิกฤติ เพราะมันกำลังจะเกิดกฎระเบียบต่างที่ค้ำจุนผู้มีอำนาจให้อยู่ในสถานนะที่มั่นคงมากขึ้น เช่นกันว่า หนังโลกาวินาศ อาจไม่น่ากลัวเท่าหนัง ‘หลังโลกาวินาศ’ (Post- Apocalyptic) ถ้าเกิดท้ายที่สุด สุขภาพถูกทำให้เป็นเรื่องปัจเจกชนแล้วแต่คนสามารถที่จะเอาตัวรอดได้ ถ้าเกิดท้ายที่สุดแล้วผู้คนเสื่อมศรัทธาในระบบสวัสดิการจากรัฐ และมุ่งการออมผ่านกองทุนรวม บริษัทประกันชีวิต และถีบทิ้งคนที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขันให้ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องยอมจำนน เงื่อนไขสำคัญที่สุด วิกฤติวัคซีนนี้จึงควรเป็นโอกาสที่เราต้องทวงคืน ‘รัฐ’ ให้กลับมาเป็นของประชาชน และการจัดสรรงบประมาณจากบาทแรกถึงบาทสุดท้าย ให้เป็นสวัสดิการของประชชาชนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกัน