เห็นผลโพลที่ออกมาบอกว่า – คนนั้นคนนี้ประชาชนนิยม อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีไหมครับ
ดูโพลแล้วรู้เลยว่าโพลไหนสนับสนุนฝ่ายไหน เช่น สำนักที่ไปรับใช้นาย ก (หมายถึง ‘นาย’ ที่ชื่อ ‘ก’ นะครับ) ก็จะบอกว่าผู้คนอยากให้นาย ก เป็นนายกฯ ส่วนอีกสำนักที่รับใช้นางสาว ข ผลโพลที่ออกมาก็จะบอกว่าคนอยากให้ นาง ข เป็นนายกฯ อะไรทำนองนี้
ถ้าบอกว่า ผลโพลแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ฝรั่งเรียกว่า Crowd Manipulation (ซึ่งผมอยากแปลเป็นไทยว่า – ขบวนการปั่นหัวคน) ไม่รู้เหมือนกันว่า นาย ก นางสาว ข รวมถึงคนอื่นๆ จะว่าอย่างไร
ขบวนการปั่นหัวคนไม่เหมือนการโฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda นะครับ เพราะโฆษณาชวนเชื่อจะเกิดขึ้นยาวนานกว่า เช่น ลัทธิบางอย่างทำโฆษณาชวนเชื่อยาวนานหลายสิบปี จนคนเชื่อทั้งประเทศว่าตัวเองต้องมีชีวิตแบบนั้นแบบนี้ ในขณะที่ขบวนการปั่นหัวคนมักจะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ เพื่อเป้าหมายบางอย่าง ส่วนใหญ่พอบรรลุเป้า (หรือไม่บรรลุก็แล้วแต่) แล้ว, ก็จะหมดไป แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว ขบวนการปั่นหัวคนจะทำงานต่อเนื่องต่อไป จนกระทั่งกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อก็ได้ หลายคนจึงเรียกขบวนการปั่นหัวคนว่าเป็น Pre-Propaganda หรือเป็น ‘เมล็ดพันธุ์’ ที่จะก่อให้เกิดโฆษณาชวนเชื่อยาวนานต่อไป
ที่บอกว่า ผลโพลเป็นส่วนหนึ่งของ Crowd Manipulation นั้น ไม่ได้พูดลอยๆ นะครับ แต่ว่ามีการศึกษาชื่อน่าสนใจว่า Everybody Follows the Crowd? : Effects of Opinion Polls and Past Election Results on Electoral Preferences หรือแปลได้ความประมาณว่า ‘เลือกตามๆ กันไป : ผลของโพลความเห็นและผลการเลือกตั้งในอดีต ว่าด้วยความชอบพอในการเลือกตั้ง’
การศึกษานี้ตีพิมพ์อยู่ใน Journal of Media Psychology เมื่อปี 2017 เป็นงานของ แม็กดาลีนา โอเบอร์ไมเยอร์ (Magdalena Obermaier) และคณะ จากมหาวิทยาลัยมิวนิค เป็นการศึกษาที่ศึกษาถึง ‘โพล’ โดยเฉพาะเลยนะครับ
ข้อสงสัยในการศึกษานี้ก็คือ เอ๊ะ! ไอ้เจ้าโพลที่ทำๆ กันออกมาน่ะ มันมี ‘ผล’ (ในทาง Crowd Manipulation) หรือเปล่า เช่นว่า ถ้ามันไม่มีโพลเลย สื่อไม่ได้นำเสนอผลโพล เราก็อาจจะไม่รู้หรอก ว่านาย ก หรือ นาง ข เป็น ‘ตัวเด่น’ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือทุกคนอาจจะดูเสมอๆ กัน เราจึงอาจเลือกไปตามเพลง ตามความชอบ หรือตาม Preference ของเราเอง ซึ่งก็เป็นไปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่นโยบายของทั้ง ก และ ข หรือแม้กระทั่งใครหล่อสวยกว่า รวยกว่า แต่งตัวดีกว่า ร้องเพลงเพราะกว่า พูดภาษาอังกฤษเก่งกว่า ฯลฯ ผลที่ได้จึงอาจจะออกมาแบบสุ่ม
แต่เวลาทำโพล แน่นอนอยู่แล้วว่าโพลมักจะทำเฉพาะ ‘คนเด่น’ ส่วนใหญ่มักเป็นโพลเปรียบเทียบ ซึ่งสุดท้ายก็ถูกนำมาใส่สีตีข่าว ปรากฏอยู่บนหน้าข่าว จนมักเหลือคนเด่นอยู่แค่ไม่กี่คน (โดยมากคือสองคน) เพื่อเปรียบมวยให้ถึงแก่นถึงกึ๋น
คำถามก็คือ ถ้าเป็นแบบนี้ ตัว ‘โพล’ เองนั้น กำลัง ‘ตัดชอยส์’ อื่นๆ ในสังคมออกไป แล้วชูคนเด่นแค่ไม่กี่คนให้อยู่ในสายตาของสาธารณชนหรือเปล่า
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลึกๆ แล้ว เราสามารถใช้ ‘โพล’ มาเป็นตัว ‘กำหนด’ (Determine) ผลการเลือกตั้ง (อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง) ได้หรือเปล่า รวมไปถึงใช้เพื่อเพิ่ม ‘โอกาส’ ที่ใครจะเป็นผู้ชนะได้ไหม
ในการศึกษาที่ว่านี้ มีคำสำคัญๆ ปรากฏอยู่หลายคำนะครับ ล้วนแล้วแต่บ่งชี้ไปสู่ข้อสรุปเดียวกันทั้งสิ้น อยากชวนคุณมาดูคำทั้งสามที่ว่า ซึ่งเกี่ยวพันกับการทำโพลและการสร้างความชอบทางการเมืองให้กับตัวเลือกต่างๆ
คำทั้งสามได้แก่
1. Bandwagon Effect
คำนี้พูดให้ฟังง่ายที่สุด ก็คือ ‘พวกมาก (จะ) ลากเราไป (เอง)’ มันคือปรากฏการณ์ที่พอเราเห็นความเชื่อ ความนิยม กระแส หรือแนวโน้มอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในคนหมู่มาก เราก็จะถูก ‘ลาก’ ตามไปด้วย แล้วยิ่งกว่าถูกลาก บ่อยครั้งเรายังกระโจนขึ้นรถตามเขาไปโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้อีกด้วย
ที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะมนุษย์เรามีแนวโน้มโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ที่จะกลัว ‘ตกขบวน’ คือกลัวไม่ได้อยู่ในฝูงในกลุ่ม อันเป็นสัญชาตญาณที่เกิดจากสมองส่วนดึกดำบรรพ์ในกระบวนการวิวัฒนาการ เราจึงต้องขอกระโดดขึ้นขบวนรถพ่วงที่คนส่วนใหญ่ (อย่างน้อยก็ ‘ส่วนใหญ่’ ใน ‘ฟองสบู่ทางสังคม’ ของเราน่ะนะครับ)
Bandwagon Effect ในทางการเมืองมักจะเกิดขึ้นเวลาโหวตหรือเวลาเลือกตั้งนี่แหละครับ เพราะเราคงไม่อยากเสียคะแนนโหวตของตัวเองไปให้ใครก็ตามที่มีทีท่าว่าจะไม่ชนะ คือถ้าไม่ได้รักชอบกันจริงๆ ระดับแฟนพันธุ์แท้ เราจะอยากเลือกคนที่น่าจะชนะมากกว่า คะแนนของเราจะได้ไม่สูญเปล่า
ตัวอย่างของ Bandwagon Effect ที่สำคัญก็คือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 1980 ที่โรนัลด์ เรแกนชนะ ทั้งนี้ก็เพราะในอเมริกานั้นมีไทม์โซนหลายไทม์โซน รัฐทางตะวันออกจะได้เลือกก่อน ผลโพลที่เป็น Exit Poll ก็เลยออกมาเทคะแนนไปให้เรแกน ในที่สุดรัฐทางตะวันตกก็เลยเลือกเรแกนไปด้วย ซึ่งต่อมาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนการเลือกตั้ง เพื่อลดผลของ Bandwagon Effect ลง
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือในฝรั่งเศส มีการศึกษาของ Rebecca Morton และคณะ ตีพิมพ์ใน European Economic Review เมื่อปี 2015 ศึกษาถึงผลของ Exit Poll ในฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสนั้นมีดินแดนบางส่วนเป็น territories ที่อยู่ทางตะวันตกด้วย (เช่น Frecnch Guyana) ทำให้รู้ผล Exit Poll ก่อนที่ตัวเองจะได้เลือก (เหมือนกับในอเมริกา) สุดท้ายหลังปี 2002 เลยต้องให้ดินแดนเหล่านี้โหวตพร้อมฝรั่งเศส (คือโหวตในวันเสาร์ ตามเวลาของตัวเอง) พบว่าพอทำอย่างนี้แล้ว Bandwagon Effect ก็หายไป
ในการศึกษาของโอเบอร์ไมเยอร์ เธอบอกว่า ท่ีจริงแล้วไม่ต้อง Exit Poll หรอกนะครับ โพลทั่วไปที่ออกมาก่อนหน้าการเลือกตั้งนี่ก็ตัวดีเลย เพราะมันทำให้เกิดปรากฏการณ์ Bandwagon Effect ขึ้นมาได้เหมือนกัน แถมยังเยอะกว่าด้วย โดยเธอไปวิเคราะห์การเลือกตั้งในอดีต ว่าโพลเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างไร แล้วก็พบว่า ในอดีต แต่ละฝ่ายที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต่างพยายามทำให้เกิด Bandwagon Effect ขึ้นมากันทั้งสิ้น แต่ในการเลือกตั้งสมัยใหม่ หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งจะต้องพยายามลดผลของ Bandwagon Effect นี้ลง
คำถามก็คือ ในการเลือกตั้งไทย มีใครสนใจอยากลด Bandwagon Effect ลงบ้างหรือเปล่า คำตอบที่เห็นได้จากผลโพลที่เพิ่งเริ่มออกมาในตอนนี้ (และที่จะเกิดต่อไปในอนาคต) ก็คือไม่ ดูเหมือนต่างคนต่างอยากให้เกิด Bandwagon Effect ขึ้นมากันทั้งนั้น ด้วยความหวังว่า ถ้าโพลบอกว่าพรรคของตัวเองกำลังมีคะแนนนำ คนจะ ‘กระโดด’ ขึ้นขบวนรถของตน วิธีแบบนี้ทำให้คนมีโอกาสเห็นชอยส์อื่นๆ น้อยลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Crowd Manipulation หรือขบวนการปั่นหัวคนนั่นเอง
2. Heuristic Cue
คำนี้อธิบายยากอยู่สักหน่อย เพราะเรามักจะมองไม่เห็นอาการ ‘ฮิวริสติก’ ของตัวเองกันสักเท่าไหร่
พูดให้ง่ายที่สุด (ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงที่จะง่ายเกินไปหรือ oversimplify อยู่ไม่น้อย) ฮิวริสติกก็คือการใช้วิธีแก้ปัญหา (รวมไปถึงการเรียนรู้ หรือการค้นพบด้วยนะครับ) ใหม่ๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ ที่เราคุ้นชินอยู่แล้ว คือเป็นกรอบคิดที่ฝังลึกอยู่ข้างในตัวเราจนเราคิดว่านั่นแหละคือ ‘ฐาน’ ที่เป็นสากล เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ฮิวริสติกไม่ใช่แค่ประสบการณ์เดิมๆ ของเราเท่านั้นนะครับ แต่มันฝังลึกลงไปในสมอง ทำให้เวลาเราเห็นอะไรบางอย่าง เราจะคิดว่า อ๋อ – เราต้องรับมือกับมันแบบนี้ๆ สิ ซึ่งในบางเรื่องเราอาจไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็ได้ แต่สังคมที่เราอยู่ปลูกฝังบ่มเพาะให้เรารับมือแบบนั้น รวมไปถึงรวมไปถึงระบบอัตโนมัติในสมองจะทำให้เราตอบสนองไปแบบนั้นโดยเราแทบไม่รู้ตัว และไม่เป็นเหตุเป็นผล บางทีเราก็เรียกมันว่าเป็นสามัญสำนึก (Common Sense) หรือ ‘การเดาอย่างมีข้อมูล’ (Educated Guesses) และบางทีเราก็ฮิวริสติกในการจำแนกผู้คนออกเป็นแบบๆ โดยอัตโนมัติ จนก่อให้เกิดการ ‘เหมารวม’ (Stereotyping) ด้วย
คุณโอเบอร์ไมเยอร์บอกว่า ผลโพลทางการเมืองทั้งหลายนั้น มีโอกาสไม่น้อยที่ผู้รับสารจะนำมาใช้เป็น Heuristic Cue คือคิดไปแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะโพลมีส่วนในการชี้นำลึกลงไปถึงข้างใต้ ตัวอย่างเช่น ถ้าโพลพูดถึงเฉพาะ นาย ก กับ นางสาว ข คนอื่นๆ ก็จะหลุดออกไปจากกรอบคิดของเราแทบจะโดยสิ้นเชิง เวลามองไปในสนามการเมือง เราจึงเห็นภาพชัดเจนเฉพาะสองคนนี้เท่านั้น คนอื่นๆ พร่าเลือนไปหมด
พอเป็นแบบนี้ ก็เลยเกิดสิ่งที่คุณโอเบอร์ไมเยอร์เรียกว่า Electoral Preferences หรือ ‘ตัวโปรด’ ในการเลือกตั้งขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้โปรดอะไรนักหนาหรอกครับ แต่รู้สึกว่าต้องเลือกเฉพาะคนใดคนหนึ่งในสองสามคนนี้เท่านั้น เพราะเลือกคนอื่นไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความหมาย เสียคะแนนเสียงของตัวเองไปเปล่าๆ ปลี้ๆ
โพลที่ทำตัว ‘ชี้นำ’ เพราะรับใช้ฝักฝ่ายใดในทางการเมือง จึงอาจก่อให้เกิดผลแบบนี้ขึ้นมาได้ แม้ว่าเราจะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอก ว่าโพลหนึ่งๆ กำลัง Manipulate เราอยู่ แต่พอเราไม่เห็น Preference อื่นที่ปรากฏอยู่ตามสื่อ ในที่สุดคนอื่นๆ ก็จะหลุดออกไปจากความสนใจของเรา
3. Incumbency Bonus
คำนี้ฟังดูยาก แต่อธิบายไม่ยากนะครับ เป็นคำที่คุณโอเบอร์ไมเยอร์พูดถึงไว้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เจาะลึกละเอียดละออนัก แต่เพราะป็นคำสำคัญ ก็เลยอยากชวนคุณมาดูการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ใน British Journal of Political Science ชื่อ The Incumbency Bonus Revisited : Causes and Consequences of Media Dominance ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมของนักวิชาการจากเดนมาร์คและนอร์เวย์ คือคุณคริสตอฟเฟอร์ กรีน-เพเดอร์เซ่น (Christoffer Green-Pedersen) กับคุณกันนาร์ เธเซ่น (Gunnar Thesen)
ก่อนอื่น มาดูคำว่า Incumbency Bonus กันก่อน ว่ามันหมายถึงอะไร
คำว่า Incumbency ก็หมายถึงผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง ณ ขณะเวลานั้นๆ ส่วนคำว่า Bonus ก็คือโบนัสนั่นแหละครับ หมายถึงข้อได้เปรียบ ซึ่งพอเราเอาคำว่า Incumbency Bonus มาใช้กับการเลือกตั้ง ก็รู้เลยทันทีนะครับ ว่าหมายถึงพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ที่กำลัง ‘ครองอำนาจ’ อยู่ ก็เลยได้ออกหน้าออกตาออกสื่ออยู่ตลอดเวลา คือทำให้ผู้คนเห็นหน้ามากกว่าคนอื่นๆ โดยอัตโนมัติ ผลลัพธ์ก็คือเกิด ‘อคติ’ (Bias) ในทางการรับรู้ขึ้นมา ซึ่งก็น่าสนใจว่า อคติที่ว่า เป็นไปได้หลายแบบเหมือนกันนะครับ
โดยทั่วไป เวลามีการเลือกตั้ง คนที่อยู่ในตำแหน่งหรือเป็นรัฐบาล มักจะมีข้อได้เปรียบผู้สมัครคนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น เป็นคนกำหนดเวลาเลือกตั้งเอง จะเลื่อนไปเลื่อนมาอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้เปรียบที่สุด
ในบางประเทศยังกำหนด ‘วิธี’ ในการเลือกตั้งด้วย เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มตัวเองมากที่สุด (ที่จริงตรงนี้มีอีกศัพท์หนึ่งนะครับ คือ Gerrymander แต่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับที่จะเล่า ใครสนใจและไม่รู้จัก ลองกูเกิ้ลดูเอาก็ได้ครับ) ดังนั้น ในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่พัฒนาหรือด้อยพัฒนาในทางประชาธิปไตย (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) คนที่เป็น Incumbent จึงมักจะได้เปรียบอยู่เสมอ
แต่ที่น่าอิจฉาอย่างยิ่ง ก็คือการศึกษาของคุณเพเดอร์เซ่นกับเธเซ่น (ที่ว่ามาข้างต้น) กลับศึกษาออกมาแล้วให้ผลที่ ‘แย้ง’ กับความจริงในประเทศด้อยพัฒนาทางประชาธิปไตย นั่นคือเขาบอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว การที่พวก Incumbent ชอบออกสื่อหรือครอบงำพื้นที่สื่อมากเกินไปนั้น ถ้าเป็นประเทศในยุโรปอย่างเดนมาร์กหรือนอร์เวย์ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์อาจจะออกมาไม่ค่อยดีแก่ตัวด้วยซ้ำไป เพราะจะมีกลุ่มที่เป็น ‘หมาเฝ้าบ้าน’ (Watch Dog) คอยออกมาชี้ให้เห็น ว่ากลุ่มผู้ครองอำนาจหรือ Incumbent กำลังทำสิ่งที่เรียกว่า ‘ปั่นหัวคน’ ด้วยวิธีที่ซับซ้อนแนบเนียนอยู่หรือเปล่า
ทีนี้ถ้าย้อนกลับมาดูการ (กำลังจะ) เลือกตั้งในไทย โดยเอาสามเรื่องนี้มาแผ่ดูกัน เราจะพบอะไรบ้างครับ
แรกสุด อย่างที่บอกก็คือ ไม่มีใครใส่ใจลด Bandwagon Effect เลย แม้กระทั่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เศรษฐศาสตร์เก๋าๆ หลายคน พอไปฝังตัวอยู่กับพรรคการเมืองแล้ว ก็กลับมีพฤติกรรมรับใช้ฟากฝั่งของตัวเองเสียจนพยายามทำให้เกิด Bandwagon Effect ขึ้นมากับฝั่งตัวเองด้วยซ้ำไป ซึ่งนึกคำอื่นไม่ค่อยออกนะครับ นอกจากคำว่า shame on you เสียผู้ใหญ่เสียคนกันไปเลย
คำที่สองคือ Heuristic Cue นั้น แท้จริงแล้วคือกลไกเบื้องลึกที่ทำให้เกิด Bandwagon Effect นั่นแหละครับ คือคนเราจะเห็นว่าใครเป็นหัวขบวนจนถึงขั้นกระโดดขึ้นรถไปด้วยได้ กลไกทางจิตภายในลึกๆ ก็ต้องทำงาน ทำให้เชื่อฝังหัวไปว่าตัวเองต้องอยู่กับฝั่งโน้นฝั่งนี้ แล้วในที่สุดก็ลืมเลือนไปว่า หน้าที่สำคัญของการอยู่ฝั่งไหน ก็คือต้อง ‘ตรวจสอบ’ ฝั่งที่ตัวเองอยู่ให้มากที่สุด ไม่ใช่เอาแต่อวยไปตามกลไกฮิวริสติกที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ การตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้น เพราะคล้อยตามไปเสียหมด เป็นการคล้อยตามที่ลึกลงไปในระดับจิตใต้สำนึกด้วย จึงถ่ายถอน อธิบาย หรือเปลี่ยนความคิดได้ยากมาก
ส่วนอย่างที่สาม คือ Incumbency Bonus เราจะเห็นได้เลยว่า เมื่อปราศจาก Watchdog หรือหมาเฝ้าบ้านที่คอยตรวจสอบเสียแล้ว ‘โบนัส’ ที่กลุ่มครองอำนาจได้รับอยู่จึงก้อนใหญ่มาก เป็นโบนัสที่ได้พ่วงมากับการครองอำนาจ ซึ่งถ้าเป็นประเทศประชาธิปไตย แล้วอำนาจนี้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งมีคณะกรรมการเลือกตั้งและหมาเฝ้าบ้านที่ ‘ฟังก์ชั่น’ ก็อาจพอยอมรับได้อยู่ แต่พอไม่มีกลไกตรวจสอบโบนัส ก็เหมือนไม่มีคนตรวจสอบบัญชี ไม่มีการประเมินผลงาน คนของบริษัทนั้นๆ ก็เลยให้โบนัสตัวเองไปอิ่มแปล้
โบนัสก้อนใหญ่นี้ไม่ได้ทำแค่ดึงดูดคนทั่วไปให้ต้องกระโจนขึ้นรถของคนเหล่านี้ผ่านการเลือกตั้งเท่านั้นนะครับ แต่ยังทำทั้งดึงดูดและ ‘บีบ’ คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ให้ต้องเข้ามาอยู่ในสังกัดตัวเองด้วยสาไถยวิธีต่างๆ ด้วย
ผลลัพธ์จากทั้งสามวิธีก็คือความพยายามทำให้เกิด Electoral Preference ที่เอื้อให้กับกลุ่มของตัวเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกลุ่ม นาย ก นะครับ แต่ นางสาว ข นาย ค นาย ง อะไรก็ทำแบบนี้เหมือนกันหมด แถมยังถูกกลไกฮิวริสติกมากระทำกับตัวเองโดยไม่รู้ตัวด้วย เนื่องจากเห็นว่าระบบการเมืองเน่าๆ เคยเป็นมาแบบไหน ก็สืบทอดระบบเดิมๆ ต่อไป มีแต่ปากเท่านั้นที่ป่าวประกาศว่าอยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ที่แย่ที่สุดก็คือกลุ่มที่ครองอำนาจอยู่จะได้เปรียบกลุ่มอื่นๆ เพราะขาดการตรวจสอบจากตัวกลางและ Watchdog อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นสังคมที่ด้อยพัฒนาทางประชาธิปไตยอยู่
ในทุกการเลือกตั้ง เราจึงได้เห็นมหกรรมขบวนการปั่นหัวคนขนานใหญ่ ซึ่งถ้ารู้เท่าทันก็สนุกดี แต่ถ้ากระโดดเข้าเครื่องปั่นไปกับเขาด้วย ไม่ว่าจะรู้ตัวไม่รู้ตัว ตั้งใจไม่ตั้งใจ ส่วนใหญ่เห็นปวดหัวกุมขมับทุกรายไป
ประชาธิปไตยที่แท้นั้น ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการ manipulate คน แต่เนื่องจากประชาธิปไตยชนะได้ด้วยเสียงโหวตจากคนส่วนใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่หลายคนจะคิดได้แค่กลยุทธ์พื้นๆ อย่างการพยายามปั่นหัวคนอื่นๆ เพื่อเรียกคะแนนเสียงให้ตัวเองด้วยวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อไหร่ประเทศนี้จะพ้นไปจากวังวนพวกนี้เสียทีก็ไม่รู้นะครับ