พูดถึง ‘เกมวางแผน’ คอเกมส่วนใหญ่คงนึกถึงซีรีส์ดัง Sid Meier’s Civilization เป็นอันดับแรก (และ ณ วันที่เขียนอยู่นี้ หลายคนอาจจะยังคงอดหลับอดนอนกับภาคหก ภาคล่าสุดที่ปล่อยออกมาให้แฟนๆ ดีใจในเดือนตุลาคม 2559)
แต่เกมวางแผนอันดับหนึ่งในดวงใจของผู้เขียนไม่ใช่ซีรีส์นี้ หากเป็นเกมเล่นยากและชนะยากยิ่งกว่า แต่ต่อให้แพ้ก็สนุกชนิดติดหนึบจนลืมโลก ชื่อ Crusader Kings II จากค่าย Paradox Interactive สตูดิโอผู้ช่ำชองเกมวางแผนเชิงประวัติศาสตร์สัญชาติสวีเดน
เกมนี้ไม่ได้ให้เราวาดชะตาของอารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งเหมือนกับเกมวางแผนทั่วๆ ไป แต่ให้สร้างและขยับขยายความมั่งคั่งและบารมีของวงศ์ตระกูล สมัยยุคกลางของโลกให้เลื่องลือ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8, 9, 11 หรือ 13 จนถึงปี ค.ศ. 1453 จุดสิ้นสุดในเกม ปีที่ ‘สงครามร้อยปี’ ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเปิดฉากในโลกจริง
ไม่ว่าพื้นเพของเราจะเป็นพ่อค้าวาณิช ขุนนางระดับสูง อธิการโบสถ์คาทอลิก สุลต่านอาหรับ หรือวงศ์วานว่านเครือของราชวงศ์ตกกระป๋อง การสร้างประวัติศาสตร์ของ ‘คน’ หลายชั่วอายุคนก็สนุกสนานเพราะได้สร้างเรื่องราวลืมไม่ลง โดยเฉพาะคนที่เต็มไปด้วยข้อดี (เช่น มัธยัสถ์) ข้อด้อย (เช่น ขี้อิจฉา) หรือลักษณะอื่นๆ ที่อาจจะดีหรือด้อยก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจเป็นผู้ศรัทธาศาสนา(คริสต์) ในรัฐอ่อนแอเล็กจิ๋วที่ถูกขนาบข้างด้วยเจ้าเมืองที่เลียแข้งเลียขาพระสันตะปาปาในกรุงโรมอยู่เนืองนิจ หรือมีนิสัยกระหายสงครามแต่ดันครองราชสำนักที่ขุนนางส่วนใหญ่รวมทั้งลูกเมียตัวเองรักสันติ ทำให้ต้องระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าใครจะมาลอบสังหาร ฯลฯ
หลังจากที่ปีสุดท้ายมาเยือน Crusader Kings II จะสรุป ‘บารมีรวม’ ของราชวงศ์เราว่าสามารถวัดรอยเท้าตระกูลดังทั้งหลายแหล่ในประวัติศาสตร์ได้ดีเพียงใด
Crusader Kings II สะท้อนแก่นสารของระบอบศักดินาได้ดีขนาดไหน? วิธีตอบที่ดีที่สุดที่ผู้เขียนนึกออก คือการสรุป ‘เรื่องราว’ เรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเล่นเกมนี้ เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเล่นเป็นเจ้าเมืองดับลิน ซึ่งพบว่าสนุกมากแต่ก็เลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะไต่เต้าจากเจ้าเมืองต๊อกต๋อยเป็นกษัตริย์ผู้รวมชาติไอร์แลนด์เป็นหนึ่งเดียว (ยากกว่าตอนที่เล่นเป็นสุลต่านราชวงศ์อุไมยาดแห่งอัล-อันดาลุส (สเปนปัจจุบัน) หลายเท่า!)
เรื่องราวของราชวงศ์ อัว เชนเซเลก แห่งดับลิน เปิดฉากในปี ค.ศ. 1066 เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท เกิดสงครามชิงบัลลังก์โดยผู้อ้างสิทธิ์สามฝ่าย ขณะที่กองทัพของดยุกวิลเลียมแห่งนอร์ม็องดี และกองทัพของพระเจ้าฮาโรลด์ที่ 3 แห่งนอร์เวย์ กำลังจะกรีฑาทัพมารบกับ ฮาโรลด์ กอดวินสัน เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ไอร์แลนด์ยังคงแตกออกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ แต่ละแคว้นปกครองโดยเจ้าผู้ครองนครที่เป็นอิสระต่อกัน มิได้ดองเป็นทองแผ่นเดียวกัน
เราโชคดีที่ไม่นานนักพระบิดาก็ทรงเสด็จสวรรคต แคว้นไลน์สเตอร์ของพระองค์ตกมาถึงมือเราฟรีๆ โดยไม่ต้องออกแรง สิ่งแรกๆ ที่เรายินดีกระวีกระวาดทำคือหาสามีให้บรรดาลูกสาว เจ้าหญิงตัวน้อยๆ สุดที่รักของเรา สามียิ่งสูงศักดิ์ยิ่งดี เพราะพวกหล่อนจะทำให้เราสามารถอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ต่างแดนได้ในอนาคต โดยเฉพาะถ้าหากพวกเธอให้กำเนิดบุตรชายคนโต เพราะเขาจะกลายเป็นมกุฎราชกุมารตามธรรมเนียม แต่ที่สำคัญคือเราต้องเจรจาต่อรองกับว่าที่ลูกเขยว่า จะต้องยอมแต่งงานโดยให้ลูกทุกคนสืบสกุลของแม่ (ตระกูลเรา – เรียกว่าการแต่งงานแบบ matrilineal marriage ในเกม) ไม่ใช่สืบสกุลของเขา เพราะถ้าไม่อย่างนั้นลูกหลานที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นคนนอกตระกูล เราไม่มีสิทธิ์บงการชีวิตอีกต่อไป
(ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า การแต่งงานแบบ matrilineal หรือให้สืบสกุลฝ่ายมารดานั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จริงของโลกสมัยยุคกลางเท่าไรนัก แต่จำเป็นสำหรับเกมนี้เนื่องจาก Crusader Kings II ต้องการให้เราสามารถจัดการวงศ์ตระกูลติดต่อกัน 3-4 ชั่วอายุคนหรือมากกว่านั้น ลองนึกภาพว่าเอิร์ล ดยุก หรือกษัตริย์ที่เราสวมบทบาทดันโชคร้ายไม่มีลูกชายเลย มีแต่ลูกสาว ถ้าพวกเธอแต่งงานแบบ matrilineal ไม่ได้ เกมก็จะสั้นมาก ยังไม่นับว่าคนยุคกลางอายุสั้นกว่าคนรุ่นเรามากกว่าสองเท่า คือมีอายุขัยเฉลี่ยราว 30 ปีเท่านั้น)
หลังจากที่ได้มงกุฎแคว้นไลน์สเตอร์มาแล้ว เราก็รีบจัดแจงแก้กฎหมายให้ลูกชายหัวปีได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งหมดถ้าเราล่วงลับ (ถ้าหารเท่ากับน้องๆ มีหวังได้เกิดศึกชิงบัลลังก์) และให้ขุนนางเจ้าที่ดินจ่ายภาษีและเกณฑ์ไพร่มาเป็นทหารได้สูงสุดทุกเมื่อ จากนั้นก็ได้เวลาซูมลงมาดูระดับกิจการภายใน ตรวจดูก่อนซิว่าคณะที่ปรึกษาในวังไว้ใจได้ขนาดไหน (จากค่าความสวามิภักดิ์หรือ loyalty) วิธีเพิ่มความสวามิภักดิ์ง่ายๆ คือใช้เงินซื้อ จัดเลี้ยงและเทศกาลงานรื่นเริง จัดแจงให้แต่งงานกับสาวหรือหนุ่มที่สูงศักดิ์กว่า หรือไม่ก็คิดค้นยศถาบรรดาศักดิ์ใหม่ๆ มาซื้อใจ ตำแหน่งพวกนี้ไม่มีความหมายอะไรสำหรับเราหรอก แต่สำหรับขุนนางน่ะใช้อวดเบ่งได้ทั้งชาติ ราชทินนามพระราชทานเชียวนะ!
พอเริ่มไว้วางใจคณะขุนนางที่ปรึกษา (เพราะแต่งตั้ง-ไล่ออก-แต่งตั้ง วนเวียนอยู่อย่างนั้นจนกว่าแต่ละคนจะมีทักษะที่เหมาะสมและพอเพียงกับงานแต่ละด้าน) ก็ได้เวลาสั่งงาน ให้สมุหนายกไปแต่งเรื่องว่าเรามีสิทธิ์เป็นผู้ครองแคว้นคิลแดร์ (จะโกหกว่าสืบเชื้อสายเจ้าเมืองมาจากชาติปางไหนก็ว่ากันไป) ให้สายลับหลวงไปสืบว่ามีใครกำลังสมคบคิดกันโค่นเราหรือเปล่า ต้องสืบในวังเองด้วย เพราะมเหสีสุดที่รักดันมีนิสัย ‘ขี้อิจฉา’ กับ ‘กระหายสงคราม’ ช่างตรงกันข้ามกับเราเหลือเกิน แถมเจ้าลูกชายคนรองกับคนเล็กก็กำลังงุ่นง่าน โกรธที่ไปแก้กฎหมายยกมรดกทั้งหมดให้ลูกชายคนโต ส่วนที่ปรึกษาด้านศาสนาก็มีหน้าที่ต้องช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับมุขนายกในเมือง เพราะพระบ้านี่ดันรักพระสันตะปาปามากกว่า เลยไม่ยอมจ่ายภาษีให้กับเรา
เวลาผ่านไปอีกหลายปี ลูกชายคนรองกับคนเล็กโตเป็นหนุ่ม คนโตมีความสามารถด้านการทหาร เราเลยแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ ส่วนคนรองได้รับการศึกษาจากมุขนายกตั้งแต่เล็ก โตขึ้นก็เลยความรู้ดีที่สุดในบรรดาขุนนางทั้งหมด เราเลยให้เป็นที่ปรึกษาด้านศาสนา ส่วนลูกชายคนเล็กไม่โดดเด่นด้านไหนเลย แถมยังมาบอกว่ามันเป็นเกย์อีกต่างหาก! ตัดโอกาสไม่ให้เราจับมันคลุมถุงชนกับเจ้าหญิงแคว้นอื่นเสียอย่างนั้น พระเจ้าช่างเล่นตลกอะไรเช่นนี้
นึกว่าโชคร้ายของตระกูลจะหมดแล้ว ที่ไหนได้ จู่ๆ อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าลูกชายคนรองที่คอยรักษาความสัมพันธ์กับศาสนจักร และสวามิภักดิ์กับเราเต็มเปี่ยมก็ดันประกาศว่า ไป ‘เข้ารีต’ นับถือศาสนาใหม่ มารบเร้าอยากให้เราเลิกนับถือคริสต์ ไปเข้ารีตกับมันด้วย จะบ้าเรอะ! ขืนทำแบบนั้นมีหวังพระสันตะปาปาในโรมได้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วเจ้าผู้ครองแคว้นอื่นๆ ก็จะอยากเดินทัพเข้ามา เพราะนอกจากจะมีสิทธิ์ได้ดินแดนเราแล้ว คอนเน็กชั่นกับโรมจะได้แน่นปึ้กอีกต่างหาก
เราไม่มีทางเลือกนอกจากจะโยนเจ้าลูกคนรองใส่คุก เศร้าก็เศร้านะแต่ก็เศร้าไม่นาน เมื่อขุนนางคาบข่าวจากโรมมาแจ้งว่า พระสันตะปาปาพอใจมากที่เราจัดการกับพวกนอกรีตอย่างเฉียบขาด ไม่เว้นแม้แต่ลูกในไส้ เลยประทานเงินให้เป็นรางวัลและประกาศว่าเราเป็นมิตรที่ดีกับศาสนจักร ใครบุกเราเท่ากับลูบหนวดโรม!
หนึ่งปีต่อมา สายลับหลวงมารายงานว่าค้นพบแผนลอบสังหารลูกชายหัวปี มกุฎราชกุมารที่เราฝากความหวังทั้งหมดไว้ ผู้อยู่เบื้องหลังแผนนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นเมียลูกคนรอง เจ้าหญิงจากฝรั่งเศสนั่นแหละ ทีนี้จะทำยังไงได้ นอกจากจะจับเธอโยนเข้าคุก ขังลืมพร้อมสามีให้ตายตกไปตามกัน
ลูกสาวก็แต่งงานออกเรือนไปหมดแล้ว ลูกชายก็เหลือแค่คนโตที่พอจะฝากผีฝากไข้ได้ หันดูวงศ์วานย่านเครือแล้วชักเสียว ไม่อยากบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากญาติโกโหติกา ลูกพี่ลูกน้องที่เกิดมาไม่เคยเจอหน้ากัน เคราะห์ดีที่เมียของเจ้าลูกชายคนโตคลอดลูกชายแล้ว ดูแข็งแรงและมีแววว่าจะฉลาด อย่างน้อยเจ้าหลานนี้ก็น่าจะต่อลมหายใจให้กับวงศ์ตระกูลของเราไปอีกหน่อย
พระเจ้าก็ดูจะสงสารตระกูลขึ้นมาแล้ว เพราะในช่วงเวลายี่สิบปีนับจากนั้น แคว้นของเราเจอโรคหัดกับกาฬโรคระบาดเพียงห้าครั้งเท่านั้นเอง เรากับมเหสีรอดชีวิตมาได้จนถึงวัยหกสิบกว่า (ลูกชายคนเล็กที่เป็นเกย์ตายเร็วด้วยกาฬโรค พระเจ้าต้องลงโทษที่มันวิปริตผิดเพศแหงๆ เลย!)
ระหว่างนี้แผนการอ้างสิทธิ์ในคิลแดร์ของสมุหนายกก็สัมฤทธิ์ผล ใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะปั่นหัวให้คนเชื่อ เรารีบส่งลูกชายคนโตในฐานะแม่ทัพ นำทัพไปบุกคิลแดร์ทันที เพราะรู้อยู่แล้วว่าเจ้าผู้ครองแคว้นนี้ไม่เชี่ยวชาญการสู้รบ แถมเราได้ส่งคนไปลอบสังหารแม่ทัพเอกไปแล้วก่อนหน้านี้ ไม่นานนับจากนั้น แคว้นข้างเคียงก็ตกเป็นของเราด้วยวิธีเดียวกัน
เราตายด้วยวัย 66 หลังจากที่ครอบครองแคว้นได้สี่แคว้น เศรษฐกิจมั่งคั่ง การทหารแข็งแกร่ง ความฝันที่จะรวมไอร์แลนด์เป็นหนึ่งเดียวถูกส่งมอบให้กับลูกชายหัวปีตามแผน เขาสืบทอดบัลลังก์ในวัย 36 ปี กำลังหนุ่มแน่นและมีลูกสืบสกุลแล้วสองคน เมียของมันก็ช่วยงานได้มาก เพราะมีทักษะด้านการสงครามคล้ายกับสามี
แต่แล้วพระเจ้าก็ทรงพิโรธ ไม่นานหลังจากที่ลูกคนโตขึ้นครองราชย์ (มีเราเข้าสิงพร้อมบงการ) เขากับเมียและลูกชายก็ตายตกไปตามกันจากวัณโรค เหลือเพียงลูกสาววัย 2 ขวบเป็นผู้สืบสกุลแต่เพียงหนึ่งเดียว
ซ้ำร้าย แพทย์ประจำวังยังลงความเห็นว่า เธอเป็นโรคปัญญาอ่อนตั้งแต่เกิด ทักษะทุกด้านติดลบ…
…ถ้าลุงที่ถูกปู่ขังลืมเพราะเปลี่ยนศาสนาสามารถแหกคุกพร้อมภรรยาออกมาได้ เห็นทีราชวงศ์จะต้องจบสิ้น ความเกรียงไกรทั้งมวลล่มสลายเป็นแน่แท้
Crusader Kings II ไม่ใช่เกมที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะให้เราเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ตามชอบใจ ให้ความสำคัญกับเหตุบังเอิญหลากหลายที่ไม่แน่นอน และยอมแลกความเที่ยงตรงทางประวัติศาสตร์บางประการ (เช่น การแต่งงานแบบสืบสกุลมารดา) เพื่อรักษาความลื่นไหลของระบบเกม
แต่การเล่นเกมนี้ก็ช่วยทำให้ ‘รู้’ และ ‘รู้สึก’ ว่า เหตุใดสังคมแทบทั้งหมดในโลก จึงประกาศชัดว่า “ไม่เอาอีกแล้ว” กับระบอบการเมืองการปกครองใดก็ตาม ที่ยินยอมให้ ‘คน’ อยู่เหนือ ‘ระบบ’
Cover Illustration by Manaporn Srisudthayanon
หมายเหตุ 1 : จากวิกิพีเดียไทย – “คำว่าระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยมีความแตกต่างกับความหมายในยุโรปอย่างมาก เพราะจะถูกใช้แทนการเรียกระบบการปกครองแบบ ‘ศักดินา’ ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า ‘ฟิวดัล’ (feudal) โดยระบบศักดินาของไทยเริ่มในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ที่กำหนดลำดับขั้นทางสังคมผ่านการจัดแบ่งว่าศักดิ์ใดมีสิทธิในการถือครองที่นาเท่าใด การแบ่งลักษณะนี้ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องถือครองที่นาตามตัวเลขจริงๆ การบอกจำนวนไร่ของที่นาเป็นเพียงการจัดลำดับเชิงปริมาณเท่านั้น แต่นัยสำคัญอยู่ที่จำนวน ‘ไพร่’ หรือ ‘ผู้รับอุปถัมภ์’ ที่เข้ามาฝากตัว ผู้อุปถัมภ์คนใดมีไพร่จำนวนมากก็จะแสดงถึงอำนาจที่มากกว่า แตกต่างจากผู้อุปถัมภ์ในยุโรปที่ยึดครองที่นาจริงๆ ในการเป็นปัจจัยการผลิตทางสังคม แต่ไม่ได้ให้ความสนใจกับผู้รับอุปถัมภ์มากนัก”
“การใช้คำว่าระบบอุปถัมภ์จึงต้องพึงระวังว่าบริบทของการใช้คำที่แตกต่างกันระหว่าง ‘อุปถัมภ์แบบยุโรป’ กับ ‘อุปถัมภ์แบบไทย’ แม้โดยทั่วๆ ไปแล้วคำว่า อุปถัมภ์ จะหมายถึงการที่คนคนหนึ่งที่มีอำนาจ และทรัพยากรน้อยกว่าจะต้องหันไปพึ่งพาผู้ที่มีอำนาจ และทรัพยากรที่มากกว่าเพื่อการได้มาซึ่งผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกันก็ตาม …แต่ใจความหลักของคำว่าระบบอุปถัมภ์ยังคงมีจุดร่วมกันอยู่ คือ ประชาชนที่มีฐานะด้อยกว่าทางสังคมจะกลายเป็นผู้รับอุปถัมภ์เมื่อได้เข้าไปฝากตัวกับผู้อุปถัมภ์ที่มีฐานะดีกว่า และความสัมพันธ์นี้ต่างได้ผลประโยชน์ทั้งคู่ เพราะผู้อุปถัมภ์จะดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่และเชื่อมต่ออำนาจในการเข้าถึงภาครัฐให้กับผู้รับอุปถัมภ์ ในขณะที่ผู้รับอุปถัมภ์จะต้องตอบแทบบางประการ เช่น การใช้แรงงานให้ หรือ การมอบสิทธิบางประการให้ เป็นต้น”
หมายเหตุ 2 : Crusader Kings II นอกจากจะมีแคมเปญในเกมจำนวนมากแล้ว ยังมีแคมเปญในภาคเสริมมากมายหลายสิบเรื่อง ไม่นับ mod ที่แฟนเกมนี้ออกแบบและเผยแพร่ให้เล่นฟรีอีกหลายร้อยเรื่อง ผู้เขียนแนะนำ Game of Thrones