“เฮ้ย มันต้องเขียนว่ะ”
“แม่งจะดูดตีนอะดิ”
“ทำยังกะปกติไม่ดูดอะ ถ้าไม่เขียน แม่งคือการเพิกเฉยนะเว้ย”
“เออ จริง ดูดมากขึ้นอีกหน่อยจะเป็นไรไป”
บทสนทนานี้เกิดขึ้นจริงภายในสมองของฉัน มันแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็นสองฝั่งแล้วคุยกันเอง จริงๆ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ยิ่งเมื่อก่อนนี่เป็นคนมือไวเท่าความคิด คิดปุ๊บ สรุป พิมพ์ลงสเตตัสปั๊บ โดนรุมตีนปุ๊บเลยยยยยยย หลังๆ ฉันเลยเบาลงไปเยอะ คือไม่ได้เบาเรื่องการเถียงตัวเองในหัว แต่เบาเรื่องโพสต์พับลิก และหันมาสู่ความคัสตอมเพื่อนให้เห็นมากขึ้น แต่อันนี้อดไม่ไหวจริงๆ
ก็เรื่องน้องเฌอปราง ไปรับหน้าที่พิธีกรให้กับ…นั่นแหละ รายการเพื่อรัฐบาลนั่นแหละ ฉันว่ามันน่าสนใจดีนะ คือวัฒนธรรมนี้ไม่ได้เพิ่งมีเมื่อวาน แต่มีมาช้านานแล้ว และไม่ได้มีแต่เฉพาะในประเทศไทย แต่มีทั่วโลก ที่ดารานักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียง จะออกตัวเลือกข้างฝั่งการเมือง ฝั่งรณรงค์ หรือกลุ่มก้อนอะไรใดๆ ที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ก็มีตั้งแต่สนับสนุนการครอบครองและใช้ปืน ไปจนถึงการต่อต้านคาร์บอน ฟุตปรินต์ แต่ในที่นี่เราจะไม่กล่าวถึงฝรั่งให้รุงรัง
มาแบบไทยๆ กันนี่แหละ
กิจกรรมการกุศลแบบไทยๆ กับดารานั้น นับเป็นของคู่กันอย่างขาดไม่ได้ ตั้งแต่ยุคนึงที่นักร้องต้องร้องเพลงเชิญชวนเลือกตั้ง (ซึ่งตอนนี้ก็…นะ) จนมาถึงตอนนี้ ที่แต่ละงานก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างลับแล ว่างานนี้มันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นคนจัดวะ? อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายน้อยมาถึงบ้าน บอกให้ไปรับรางวัลนี่ นั่น นู่น จัดก็จัดกันเอง ในหอประชุมตัวเองสนุกกันเองในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน แต่เงินทุนที่มาจัดการตรงนี้มหาศาลนะคุณ ทำเป็นเล่นไปเพราะเขาว่ากันว่า ถ้าได้งบมาแล้วใช้ไม่หมด ปีหน้าจะโดนตัดงบ ดังนั้นหลังจากที่จัดฮวงจุ้ยหน่วยงานก็แล้ว จัดซื้อเสื่อน้ำมัน อ่างล้างหน้าหรือของประดามีแล้วยังเงินเหลือ ก็ต้องเอามาจัดงานเข้าสักงาน จะได้เห็นว่าเป็นผลงานมากพอที่จะของบได้เท่าเดิม หรือมากขึ้นในปีงบประมาณถัดไป
จนเป็นที่รู้กันในวงการรับจ้างผลิต ว่าใครได้สัมปทานงานรัฐล่ะแกเอ๊ยยยยย สบายปากไปทั้งชาติ เกาะไว้ดีๆอย่าให้หลุดไหลไปที่เจ้าอื่นได้เลยนะ เพราะงานนั้นง่ายแสนง่าย ทำออกมาก็คล้ายๆ กัน ชนิดตัดหัวผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานสลับๆ กันไปแล้วใช้สคริปต์เดิมๆ ยังได้ ทุนที่ได้มาก็เอาไปโอดกับคนทำงานต่อได้อีก ว่า “นี่งานของรัฐ กระทรวง…นะจ๊ะ ช่วยๆกันน้า ลดราคาหน่อย”
ซี่งก็น่างุนงงว่าทำไมอ้างเหตุเยี่ยงนี้ ภาษีก็จ่าย กระทรวงอะไรนี่ก็ไม่ได้เห็นจะมีผลงานช่วยเหลือ หรือจะฝากคำถามไปถึงเจ้ากระทรวงก็ยังไม่ได้ ทำไมกูต้องช่วยล่ะคะ?
แต่ก็อย่างที่บอกว่าต้องเกาะกันไว้ให้มั่นๆ เพราะกระแสลมในทิศทางเช่นนี้มันเปลี่ยนเร็วเหลือหลาย เมื่อวานคุณคนนี้ยังมีสิทธิ์พิจารณาผังรายการอยู่ดีๆ พอพรุ่งนี้หมดสมัย เปลี่ยนผอบอฯ ขึ้นมาปุ๊บ รายการที่ปั้นๆ กันมาเป็นหลุดผลัวะไปง่ายๆอย่างไร้เยื่อใย ดารานักแสดงในสังกัดของผู้จัดการคนดัง หรือช่อง หรือโมเดลลิ่ง จึงมักถูกเกณฑ์ไป เพื่อหาและสร้างเครือข่ายให้แน่นแฟ้น ประมาณว่าจะเปลี่ยนผบ.ทัพบก ทัพเรือ ตำรวจอะไรใดๆ เด็กฉันก็สามารถร่วมงานได้หมดจ้า
จะรางวัลกระดึงทองแดง กระดุมทองเหลือง กระจกหกด้านอะไรก็แล้วแต่ ก็จัดขึ้นมาใช้งบและแจกกันวนๆไป โดยให้ดาราแต่งตัวสวยๆ (ด้วยชุดที่ยืมมาอีกที ใครเขาซื้อกันอะยุคนี้) แต่งหน้าดีๆ (จ่ายครึ่งราคา โดยลง IG ช่างแต่งหน้าให้ด้วย) จัดงานแต่เช้าตรู่ (อันนี้ไม่รู้ทำไม เป็นคนดีต้องตื่นเช้ามั้ง) มายืนถ่ายรูปยิ้มแข็งๆ กับผู้มอบรางวัลซึ่งมักจะเป็นคุณหญิงซึ่งผมแข็งกว่าหน้า และมาช้ากว่ากำหนดการเสมอ สงสัยติดวิ่งงานการกุศลอยู่ เลยมาเลต
พอถ่ายรูปเสร็จ มีบ้างที่เอารางวัลซึ่งเพิ่งได้และถือถ่ายรูปไปกลับคืนเพราะ “อันนี้ยังไม่ใช่ของจริงค่ะ ของจริงเดี๋ยวส่งให้ที่บ้าน” แล้วก็รอไปชั่วกัปชั่วกัลป์ค่ะ กว่าจะผ่านระบบราชการมาถึงดารา เรียกว่าจากรางวัลลูกกตัญญูในวันนั้น มาป่านนี้ลูกสามแล้ว ให้เป็นแม่ดีเด่นเถอะ หรือไม่ก็ให้เข็มกลัดชุบทองกระดำกระด่างเลอะชุดที่ยืมมาสักอันหนึ่ง โล่ประกาศเกียรติคุณอัดกรอบวิทยาศาสตร์มาอีกอันหนึ่งเป็นอันจบจบกันไป
ค่าจ้างค่าออนไม่ต้องไปถามหา เพราะไม่เคยมีให้ นัยว่าให้ไปรับรางวัลนี่ก็เป็นเกียรติเหลือหลาย (แม้ดาราจะแอบคิดในใจ ว่าถ้าไม่ต้องไปจะเป็นบุญมากกว่า จะได้นอนตื่นสายๆ สบายใจ)
และที่นิยมมากอย่างยิ่งในยุคฉันก็คือ การเอาดาราไปนั่งเรียงๆ กันเพื่อรอรับโทรศัพท์ที่โทรมาบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ งานลักษณะนี้ สามารถเกิดได้ที่ช่องทีวีทุกช่อง บางครั้งก็ถ่ายทอดแบบรวมการเฉพาะกิจให้ดูแบบไฟต์บังคับ เรียกว่าเปลี่ยนไปช่องไหน (ซึ่งในสมัยนั้นก็มีอยู่ไม่กี่ช่อง) ก็เจอ ที่ฮอตฮิตก็จะเป็นช่อง 5 กับช่อง 11 ฮิตนี่ไม่ได้หมายถึงเรตติ้ง แต่หมายถึงจัดบ่อยน่ะนะ อย่าเข้าใจผิด แต่ที่น่าประทับใจคือช่อง 5
ก็อย่างที่รู้กันว่าช่อง 5 คือช่องที่บริหารจัดการโดยทหาร (ตามชื่อเต็มๆ ก็คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5) พื้นที่ใช้สอยเลยโคตรจะใหญ่โตกว้างขวาง (ตรงสถานีรถไฟฟ้าสนามเป้านั่นไงคุณ) มีลานโลกดนตรี และห้องส่งไว้ถ่ายทอดออกอากาศในโซนเดียวกัน โดยจัดตั้งสถานีและออกอากาศครั้งแรกผ่านทางคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501 ซึ่งบุคลากรของช่องก็น่าจะพ่วงมาตั้งแต่ปีนั้นเหมือนกัน
มันตลกมากนะ เวลาคุณยืนซ้อมร้องเพลงบนเวทีในห้องส่งอยู่ดีๆ ตากล้องก็ก้มดูนาฬิกาแล้วเดินออกไปจากห้องส่งเลย เออ เดินออกไปเฉยๆ เลยอะ ทิ้งกล้องไว้อย่างงั้น ไฟเปิดคาไว้อย่างนั้น และทิ้งกูไว้อย่างนั้น อ๋อ เขาพักเที่ยงกันจ้ะ เที่ยงตรงแล้ว ต้องออกไปกินข้าว เป็นการทำงานวงการบันเทิงสไตล์ราชการ ออกไปกินข้าว ส่องพระ เล่นหมากรุกกัน พอบ่ายโมง (กว่า) ก็เข้ามาซ้อมต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
คือจะรอให้ฉนร้องจนจบอีก 2 นาทีก็ไม่ได้ด้วยนะ แล้วแต่ละท่านนี่คือรุ่นพ่อฉันทั้งนั้น เรามันเป็นเด็กก็ต้องยอมให้น้าๆลุงๆ เขาไปกินข้าวตามใจปรารถนา
อะ ตอนซ้อมนี่ซ้อมคนเดียวแต่เวลาร้องเนี่ย คือต้องร้องกับผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นภริยาท่านๆ ทั้งหลาย หรือตัวทั่นเอง ที่จะมาขับกล่อมผู้คนทางบ้านให้เคลิบเคลิ้มจนเผลอกดหมายเลขโทรมาบริจาคเงินให้แก่ผู้ประสบภัย เพลย์ลิสต์ยอดฮิตก็จะมีสายชล, จุฬาตรีคูณ, ชั่วฟ้าดินสลาย (ไม่ใช่ของพลพล!), นกเขาคูรัก, บุพเพสันนิวาส ฯลฯ โดยท่านผู้ทรงเกียรติจะระบุเพลงที่ต้องขับร้องมาเลยตั้งแต่ต้นทาง และดาราเด็กน้อยอย่างฉันมีหน้าที่ไปหาเนื้อเพลงมาทำการบ้าน เพื่อร่วมร้องกับเจ้าของเสียงหลักท่านนั้น
ประมาณ 70 % นี่คือไปเรียนร้องเพลงมาเลยนะคุณ แถมหนีบครูสอนร้องเพลงมาพร้อมกับนางต้นห้อง ที่ขนเครื่องเพชรมา 2 หีบ สาจ๋า (ของยุคนั้น) หิ้วชุดอลังการไว้จนสุดแขนเพื่อไม่ให้ยับ คนขับรถที่มาเทียบถึงหน้าสถานี และเหล่าเพื่อนฝูงญาติมิตรที่มาให้กำลังใจ โดยจะทำการบันทึกเทปไว้ ก่อนจะเอามาออกอากาศยามค่ำคืน สลับกับภาพดาราคนที่ร่วมร้องนั้น มานั่งรับโทรศัพท์ในห้องส่งรอการบริจาคแบบสดๆ
ซึ่งก็พูดได้แค่ว่า, แต่ละท่านนั้น เกิดมาเพื่อเป็นนักร้องนำทั้งสิ้น นำทำนอง นำจังหวะ นำเนื้อเพลงมาเองด้วย ไม่ถงไม่ถามวงดนตรีซักคำ
กว่าจะได้แต่ละเพลง ฉันก็เพลียไฟแล้วเพลียไฟอีก เพราะกว่าจะจบก็ล่อไปเป็น 10 รอบ แถมร้องเสร็จต้องไปเปลี่ยนชุดเป็นเสื้อแจก (ซึ่งไม่เคยสวยเลย) มานั่งรอรับสายจากทางบ้าน ซึ่งก็เป็นเวรเป็นกรรมไปอีกทางหนึ่ง เพราะคนที่โทรมานั้น มีตั้งแต่กลัดมันเต็มที มาขอร่วมเพศกับฉัน ซึ่งกล้องก็จับหน้าฉันอยู่ จะด่าแม่มันไปตอนนั้นเลยก็ใช่ที่ ก็ได้แค่เกร็งยิ้มไว้จนหน้าสั่น ระหว่างที่ฟังว่าปลายสายต้องการจะทำอะไรๆ กับร่างกายฉันบ้าง หรือไม่ก็เป็นเด็กเหงาๆ โทรมาเพราะอยากคุยกับดารา ทายเสียงกันให้สนุกไปว่าพี่คือดาราคนนี้ใช่มั้ย หนูเห็นพี่กำลังอ้าๆ หุบๆ ปากอยู่ในทีวีที่หนูดู ซึ่งก็ใช่บ้างไม่ใช่บ้าง คุยกันเป็นนานสองนานกว่าจะรู้ว่าน้องไม่บริจาคอะไรหรอก โทรมาหาแก้เบื่อไปอย่างนั้น
ไปจนถึงโดนทีมงานสั่งว่ารับสายหน่อยค่ะ ทำเป็นเหมือนมีคนโทรเข้ามาหน่อย ซึ่งก็ต้องใช้ความสามารถทางการแสดงเออๆ ออๆ ละเมอเพ้อพกไปตามบทบาทและคำสนทนาที่ฉันต้องสร้างขึ้นเอง มือก็ต้องบรรจงเขียนอะไรขยุกขยุยไปบนในบริจาคเบื้องหน้า นัยว่า, ดูสิจ๊ะ ฉันมารับสายก็มีคนโทรมาบริจาคสามแสนบาทถ้วน จากผู้ไม่ประสงค์จะออกนามเชียวนะ โฮะๆๆ ทั้งที่จริงแล้ว กว่าครึ่งของเงินบริจาค ก็มาในรูปแบบท่านที่มาร้องเพลงกันนั่นล่ะ หรือไม่ก็เป็นตัวแทนสมาคมอะไรบริจาคมาเพื่อให้ได้ขึ้นชื่อว่าที่นี่บริจาคแล้วจ้า เป็นคนดีจัง ปีหน้าเอางบไปอีกนะ
เนี่ย มันก็เป็นแบบนี้มาช้านานแล้ว ไอ้ที่น้องเฌอไปทำนั้น ฉันก็เห็นว่ามีความเข้าท่าอยู่อย่างหนึ่ง คือเสื้อน้องสวยดี และไม่แต่งหน้าน้องออกมาเป็นผีที่ถูกแช่แข็งไว้ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ แต่นอกเหนือจากเสื้อและหน้าน่ะเหรอ?
เฮ้อ มันก็ไอ้เดิมๆ ตั้งแต่ปี 2501 นั่นแหละคุณเอ๊ย