ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีด้านลบไหม?
สมัยนี้ ใครๆ ก็อยากมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดประกายไฟจุดติดในสมอง ใครๆ ก็อยาก Disrupt ระบบเก่าๆ ให้สั่นคลอน เกิดความคิดนอกกรอบ สร้างแรงสะเทือนเปลี่ยนแปลงสังคมได้แบบก้าวกระโดด
นักสร้างสรรค์คือผู้เห็นทางออกใหม่ๆ ได้ไม่เหมือนใคร คนหัวไวที่สามารถคิดริเริ่มไอเดียใหม่ๆ ได้ไม่จำกัดและเห็นทางใหม่ๆ เสมอกลายเป็นที่ต้องการในยุคที่องค์กรหรือบริษัทล้วนอยากเป็นผู้นำในด้านความคิดริเริ่ม สร้างนวัตกรรม เพื่อการแข่งขันและความอยู่รอด
จริงอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์พาให้มนุษย์เราก้าวมาถึงวันนี้ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงด้านมืดของความคิดสร้างสรรค์ (Dark Creativity) กันมากนัก
Robert McLaren นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัย California State ได้เสนอแนวคิดว่า “ความคิดสร้างสรรค์นั้นมีด้านมืดอยู่เหมือนกัน การมองความคิดสร้างสรรค์โดยขาดการมองผ่านมุมของสังคมและจริยธรรมอาจพาไปสู่ความเข้าใจความสร้างสรรค์อันจำกัด”
วันนี้จึงอยากมาชวนคุยเรื่อง ‘ความสร้างสรรค์ในด้านลบ’ (Negative Creativity) และตั้งคำถามกับจริยธรรมและการคิดนอกกรอบ เพราะยังคงมีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างความขี้โกงกับการคิดนอกกรอบอันสร้างสรรค์อยู่ด้วยเช่นกัน
เมื่อคะแนนความคิดสร้างสรรค์สัมพันธ์กับความหลอกลวง ไม่จริงใจ
ในปีค.ศ. 2011 Francesca Gino จากมหาวิทยาลัย Harvard และ Dan Ariely จากมหาวิทยาลัย Duke (ผู้เขียนหนังสือ The Honest Truth About Dishonesty และ The Upside of Irrationality ) ได้ทำการทดลองทางจิตวิทยาเพื่อสำรวจหามุมมืดและด้านลบของความคิดสร้างสรรค์ ผลคือพวกเขาพบความเชื่อมโยงระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม โดยคะแนนความคิดสร้างสรรค์สามารถพยากรณ์ถึงแนวโน้มที่จะทำผิดศีลธรรมได้มากกว่าคะแนนความฉลาด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า
- คนที่ถูกกระตุ้นให้คิดนอกกรอบ มีแนวโน้มจะโกงมากกว่าคนที่ไม่ถูกกระตุ้นให้คิดนอกกรอบ
- นักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinker) จะมีความถนัดตามธรรมชาติในการคิดวิธีโกงได้มากกว่านักเรียนที่คิดแบบตรงไปตรงมา (Linear Thinker) และพวกเขาสามารถหาเหตุผลอันชอบธรรมมาอ้างให้กับการโกงของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์
ในการทดลองนี้ สามารถวัดคะแนนความสร้างสรรค์จาก 2 ปัจจัย ได้แก่
- มีความคิดแบบ Divergent Thinking คือสามารถสำรวจและมองเห็นความเป็นไปได้จำนวนมาก หลากหลาย และแปลกใหม่
- มีความยืดหยุ่นทางการคิดวิจารณญาณสูง (Cognitive Flexibility)
จากการทดลองข้างต้น คนที่มีคะแนนความสร้างสรรค์สูงจะสามารถคิดหาทางลัดโดยข้ามผ่านกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมได้ สามารถตีความสถานการณ์เข้าข้างตัวเองเพื่อหาความชอบธรรมให้กับการทำผิดของตัวเองได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มตัวอย่างคนหนึ่งสามารถคิดวิธีการและขั้นตอนเลี่ยงภาษีได้อย่างแปลกใหม่หลายวิธี เพราะเขาสามารถคิดได้อย่างไร้ขอบเขต เส้นแบ่ง รวมถึงคิดออกนอกกรอบของกฎเกณฑ์และกฎหมายได้ด้วย
การทดลองของ Gino และ Ariely ไปสำรวจเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ผ่านวิธีที่ให้พนักงานทำแบบสอบถามโดยให้จินตนาการว่าหากตัวเองตกอยู่สถานการณ์สมมติที่น่าตั้งคำถามเชิงจริยธรรมการทำงาน พวกเขาจะเลือกไม่ซื่อสัตย์ไหมหากสถานการณ์พาไป เช่น บอกเจ้านายว่าเริ่มทำงานแล้วแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย หรือหยิบอุปกรณ์ของออฟฟิศกลับบ้าน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบคะแนนความสร้างสรรค์ที่ผู้จัดการแต่ละแผนกให้คะแนน ผลการทดลองพบว่า ยิ่งพนักงานได้คะแนนความสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ พวกเขามีแนวโน้มจะไม่ซื่อสัตย์มากตามไปด้วย
คนที่มีคะแนนความคิดสร้างสรรค์มากกว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเลือกใช้
ความคิดสร้างสรรค์ในแง่ลบ (Negative Creativity)
หากสถานการณ์พาไปและมีเหตุผลเพียงพอให้ต้องทำ
การทดลองทางจิตวิทยาโดย Hansika Kapoor จากอินเดีย สรุปว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้นมีแนวโน้มที่จะเลือกหลอกลวงหรือโกหกมากกว่า หากต้องการทำตามเป้าหมายบางอย่างเพื่อให้บรรลุผลหรือได้รางวัลที่ต้องการ
ธรรมชาติในกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์คือการสร้างไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ไม่เหมือนใคร เพื่อทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ โดยนักสร้างสรรค์จะไม่ล้มไอเดียที่ไม่เกี่ยวหรือไม่เหมาะสมออกไป พวกเขายังสามารถจินตนาการเพื่อดัดแปลงบิดเบือนความเป็นจริง และหาข้ออ้างแปลกใหม่ให้กับความผิดของตัวเองได้เก่งด้วย
Kapoor ได้เล่าตัวอย่างของความสร้างสรรค์ที่ท้าทายความถูกผิดไว้ในสถานการณ์สมมติหนึ่งว่า
“หากวันนี้เป็นวันเกิดแฟนคุณ แต่คุณดันลืมสนิทและนึกขึ้นได้ตอนดึกแล้ว ร้านขายดอกไม้ก็ปิดหมดแล้ว เวลานั้นเอง ระหว่างทาง คุณเดินผ่านสุสานที่เพิ่งจัดงานศพไป ด้วยความหัวใส คุณได้เลือกช่อดอกไม้ที่ดูดีจากสุสานของใครสักคน และมอบดอกไม้นั้นให้กับคนรัก โดยคุณก็บอกตัวเองว่าไม่ได้มีใครเดือดร้อนนี่นา”
หากจำเป็น คุณบางคนอาจพร้อมจะขโมยดอกไม้จากหลุมศพได้เพราะไม่อยากให้แฟนโกรธ เพราะคุณมีความยืดหยุ่นทางศีลธรรมสูงกว่าคนอื่นๆ นี่อาจเป็นเหตุผลที่คนสร้างสรรค์หลงรักและหลงใหลในอารมณ์ขันแบบดาร์กๆ เพราะเป็นทางเลือกที่ท้าทายศีลธรรมและความผิดชอบชั่วดี เพราะรู้สึกได้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับและเกินความคาดหมาย จากความรู้สึกเหล่านั้น ยิ่งทำให้การกระทำแบบนี้ตื่นเต้นน่าสนใจ
คิดแปลกใหม่ได้คงยังไม่พอ : ความคิดสร้างสรรค์เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
ความคิดสร้างสรรค์มักเกี่ยวข้องกับการคิดริเริ่มหาทางออกใหม่ๆ ได้จำนวนมาก แต่ธรรมชาติของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มักจะขี้เบื่อและไม่ชอบกิจวัตรที่จำเจ การวางระบบและกิจวัตรที่ดูน่าเบื่อนี้มีผลต่อการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นและคงอยู่
Theodore Levitt จาก Havard Business Review ได้พูดเตือนใจถึงโลกแห่งนวัตกรรม (Innovation) ไว้ในเรียงความเรื่อง ‘Creativity Is Not Enough’ โดยเสนอว่า ในโลกที่หลงใหลคลั่งไคล้นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวนั้นยังไม่พอ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะชุบชีวิตหรือสร้างผลิตผลของธุรกิจให้งอกงาม การสร้างโครงสร้างและการวางระบบรากฐานต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นสำเร็จ ได้รับการนำไปใช้งานจริง รวมถึงคงอยู่ และสร้างผลกระทบ (impact) ได้ในระยะยาว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องฝ่าฟันผ่านปัจจัยมากมาย อดทนไปให้ได้จนกว่าไอเดียจะกลายเป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่า แม้มันอาจใช้เวลา เต็มไปด้วยความพยายามที่น่าเบื่อและเหน็ดเหนื่อย
“ไอเดียนั้นไร้ประโยชน์จนกว่าจะถูกใช้งานจริง
พิสูจน์คุณค่าของมันด้วยการนำไปใช้
จนกว่าจะถึงตอนนั้นไอเดียนั้นยังอยู่ในลิมโบเท่านั้น”
— Theodore Levitt
การมอบอำนาจให้นวัตกรรมไปอยู่ในมือนักสร้างสรรค์ผู้ไม่พร้อมจะดูแลอาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด วงการธุรกิจมักทำพลาดโดยการให้นักสร้างสรรค์มาบริหารดูแลโดยขาดการวางระบบ โครงสร้าง และการดูแลจัดการที่ดี
ไม่ว่าไอเดียจะดีเลิศแค่ไหนก็แห้งเหี่ยวตายไปได้ง่ายๆ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้รับการดูแลรดนํ้า โลกนี้มีบางคนที่ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่เขาอาจจะไม่เหมาะสมที่จะรับผิดชอบและทำโปรเจกต์ในระยะยาว
ในความเป็นจริงนั้นการจัดการและการทำให้องค์กรดำเนินไปได้นั้นเป็นงานที่น่าเบื่อ ซํ้าซาก และจำเจ ต้องอาศัยระบบระเบียบ เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ ข้อห้าม หรือกฎหมาย เป็นงานที่ไม่ค่อยสนุกและต้องใช้เวลานานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่าลืมลองมองดูด้านมืดของความคิดสร้างสรรค์ที่เรารัก
นักเรียนออกแบบอย่างผู้เขียนถูกสอนให้สรรเสริญความคิดสร้างสรรค์ เสาะหาวิธีการคิดนอกกรอบ และการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาในโลก เพราะไอเดียที่ดีสามารถแก้ปัญหาชีวิตและสังคม สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ สร้างงาน สร้างมูลค่า และแก้ปัญหาของโลกได้ ซึ่งโลกและประเทศเราก็มีปัญหามากมายที่รอความคิดสร้างสรรค์มาช่วยคลี่คลายอยู่มาก หลังถูกแช่แข็งเคลื่อนช้ามาแสนนานด้วยการโหยหาอดีตและหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลง สังคมของการทำตามขนบธรรมเนียมมักไม่ต้อนรับและหวาดกลัววิธีการใหม่ๆ
ไอเดียเจ๋งๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญในเวลาเสี้ยววินาทีขณะเราอาบนํ้า แต่การทำให้มันเกิดขึ้นจริง ต้องตรวจสอบ ทดสอบ และใช้เวลาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ลองมองในมุมที่ใหญ่กว่าแค่เรื่องว่ามันเจ๋งดี อย่างเช่นการลองตรวจสอบจริยธรรม และผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว
ทัศนคติแบบ “จงเคลื่อนที่ไวและทำลายข้าวของได้หากจำเป็น” แบบที่ Facebook เคยนำเสนอเมื่อตอนเริ่มก่อตั้งบริษัทอาจนำพามาสู่ปัญหาซับซ้อนเมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น มีผู้ใช้ทั้งโลก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และในบางอุตสาหกรรม
ยิ่งเราอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็อ้างวิธีคิดแบบ ‘Design Thinking’ มาใช้กับทุกแง่มุมของชีวิตและธุรกิจเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรามีความหวังว่าจะหลุดพ้นจากปัญหาที่เราพบทุกวันและเห็นทางแก้ปัญหาใหม่ๆ
อย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น การสร้างระบบอันแข็งแรงทนทาน ซ่อมแซม ปรับปรุง และดูแล ยังต้องอาศัยวินัย ความเสมอต้นเสมอปลาย การตรวจสอบและสงสัยด้วย กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ความคิดสร้างสรรค์มีชีวิตและเติบโตต่อไป เพื่อให้ไอเดียสดใหม่ได้อยู่ยืนนาน และสามารถแก้ปัญหาอันซับซ้อนวุ่นวายของโลกนี้ได้
อย่าให้ความคิดสร้างสรรค์นอกกรอบหรือไอเดียสดใหม่อันน่าสนใจกลายเป็นเพียงประกายไฟที่มอดดับไปในเวลาอันรวดเร็ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Misbehaving: being clever and wicked is a form of creativity
- The Dark Side of Creativity: Original Thinkers Can be More Dishonest By Francesca Gino & Dan Ariely
- The Dark Side of Creativity by Tomas Chamorro-Premuzic
- Creativity Is Not Enough