ในปลายศตวรรษที่ 18 ต้นศตวรรษที่ 19 ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘romantic friendship’ ก็ได้เกิดขึ้นจากการแบ่งโครงสร้าง สถาบัน และพื้นที่ทางสังคมการเมืองออกเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างเพศอย่างจริงจังของโลกยุโรปอเมริกัน ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสประชาชน การโจมตีเสรีภาพทางเพศวิถีของหญิงชนชั้นสูงบนความฟุ่มเฟือยก็นำไปสู่การจัดระเบียบและสร้างอุดมคติความแตกต่างระหว่างชายหญิงชนชั้นกลางในเมือง แบบขั้วตรงข้ามที่ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือน แม้ว่าบริบทในขณะนั้นจะหันไปหาสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจโลกที่กำลังพัฒนา ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงยุโรปตะวันตก อเมริกาได้รับอิสรภาพ ทว่าสำนึกการจำกัดพื้นที่ผู้หญิงไว้แต่ในบ้านและครอบครัว ควบคุมเพศวิถีของพวกเธอเพื่อสนองตอบผู้ชายกลับเข้มข้นขึ้น การแบ่งพื้นที่และสังคมของผู้หญิงกับผู้ชายชัดเจนจนกลายเป็นขั้วตรงข้าม รวมถึงการสร้างโรงเรียนสตรีเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาผลิตหญิงที่เป็นที่ยอมรับของสังคม
โรงเรียนกินนอนสตรีแม้จะพยายามขัดเกลาให้เด็กหญิงชนชั้นกลางพร้อมแต่งงาน เป็นแม่และเมียที่ดีเพื่อผู้ชาย ทว่าพวกเธอก็ได้ตกหลุมรักกันเอง แม้ว่าค่านิยมการแต่งงานแบบรักต่างเพศจะถูกเชิดชูว่าเป็นการเติมเต็มระหว่างชายหญิงซึ่งกันและกัน แต่การพบ ‘คู่แท้’ ‘คู่รัก’ หรือความรู้สึกรักใคร่ ชื่นชอบ ไปจนถึงลุ่มหลงก็ปรากฏขึ้นได้ภายในพื้นที่ที่มีเพศใดเพศหนึ่งล้วนๆ เช่นในโรงเรียนหญิงล้วน
นักประวัติศาสตร์ค้นพบจดหมายและบันทึกความทรงจำมากมายที่กลายเป็นหลักฐานเผยให้เห็นว่า ภายในโรงเรียนไม่เพียง romantic friendship จะเกิดขึ้นระหว่างนักเรียนหญิงเท่านั้น แต่รวมไปถึงครูอาจารย์ที่เป็นหญิงโสดด้วยกันเอง[1]
นักแต่งนิยายโรแมนติกอังกฤษหลายคนในศตวรรษที่ 19 ที่เจริญรอยตาม Jean-Jacques Rousseau พยายามนำอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหวดิ่งลึกจากเรื่อง ‘Julie, or the New Heloise’ (1761) และกลิ่นไอของความรักความสัมพันธ์ลึกซึ้งแบบกรีก มาดำเนินเรื่องราวสร้างความสัมพันธ์แบบ romantic friendship ที่ตัดทอน homoerotic ออกไป แล้วนำมาใช้กับตัวละครหญิง ซึ่งมักจะเล่าถึงสาววัยเรียนหรือแรกรุ่นที่หลงรักเพื่อนหญิงด้วยกันอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปพร้อมกับช่วงวัยที่เติบโตมากขึ้น แม้ว่าใครสักคนหรือทั้งคู่แต่งงานมีลูกมีผัว แต่ทั้งคู่ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ romantic friendship หรือ ‘มิตรภาพอันโรแมนติก’ นี้อยู่มิเสื่อมคลาย
romantic friendship ของนักเรียนหญิงจึงกลายเป็นชุดความสัมพันธ์ความรู้สึกระหว่างเพศเดียวกัน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศตามขนบของสังคมในขณะนั้นที่พยายามแยกผู้หญิงออกจากความต้องการทางเพศ หรืออาจจะเกี่ยวกันนิดหน่อย ก่อนที่เริ่มจะมีคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ อย่าง ‘lesbian’ และ ‘homosexual’ ในช่วงปลาย 1860s – 1870s ที่เต็มไปอคติและตีตราตามสำนึกรักต่างเพศนิยม และเริ่มนิยามให้เป็นโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่ 1880s[2]
แน่นอน romantic friendship ในโรงเรียนหญิงสร้างความไม่พอใจและกังวลใจให้กับนักเพศวิทยา (sexologist) ทั้งหลายตามประสาวาทกรรมทางการแพทย์ที่สนับสนุนปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยม แล้วก็ได้พยายามเสนอวิธีป้องกันมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดชุดความสัมพันธ์แบบนี้ เช่นให้โรงเรียนสอดส่องไม่ให้คู่เพื่อนที่สนิทสนมกันลึกซึ้งนอนห้องเดียวกัน และมีการจัดอบรมเป็นกรณีพิเศษ
อันที่จริงปรากฏการณ์ ‘มิตรภาพอันโรแมนติก’ กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่เกิดขึ้นตามโรงเรียนหญิงล้วน ไม่เพียงในอเมริกา อังกฤษและยุโรปตะวันตก ละตินอเมริกา แต่รวมไปถึงประเทศอื่นๆ เช่นหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นปี ค.ศ.1911 เริ่มนำเสนอคำที่ใช้เรียกรักความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นของโรงเรียนหญิงล้วน เช่น ‘odeya’ ที่แปลประมาณว่า ‘dear’ ต่อมาในช่วง 1920s-1930s ก็เริ่มใช้คำว่า S ที่ย่อมาจาก sister[3]
แน่นอน นักเพศวิทยาชาวญี่ปุ่นก็ได้ออกมาโจมตีชุดความสัมพันธ์นี้
อธิบายว่าเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจสังคม เป็นแฟชั่นที่ผิด
และเป็นความชั่วร้ายของวัฒนธรรมตะวันตก
อันที่จริงการศึกษา แม้จะสอนให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบโครงสร้างการแบ่งพื้นที่ บทบาท ศักยภาพระหว่างชายกับหญิงแบบขั้วตรงข้าม แต่ก็ทำให้ผู้หญิงมีความรู้ อ่านออกเขียนได้อย่างน้อย 1 ภาษา คำนวณเลขได้ มีวิชาชีพ หารายได้ด้วยตนเอง เลือกจับจ่ายบริโภคด้วยเงินที่เธอหามาเอง พวกเธอไม่ต้องแต่งงานเพื่อให้ผู้ชายเลี้ยง ผู้หญิงจึงเริ่มแต่งงานช้าขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับโอกาสแสวงหาประสบการณ์ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น รวมถึงชีวิตทางเพศที่เธอเลือกเอง
เช่นเดียวกับประเทศไทย โรงเรียนหญิงล้วนถือได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะแรกๆ ของหญิงสาวชาวสยาม ในช่วงปลาย 1860s เป็นต้นมา ในยุคที่ชนชั้นกลางเริ่มมีสำนึกจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนบุคคลตามสำนึกสมัยใหม่ แรกเริ่มในไทย โรงเรียนหญิงล้วนก่อตั้งโดยมิชชันนารี ซึ่งทำให้ลูกหลานสาวชนชั้นกลางกระฎุมพีที่เป็นชนชั้นเพิ่งเกิดขึ้นได้ออกมานอกบ้าน ไปโรงเรียนได้ ไม่ต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเท่านั้น พวกเธอได้ไปเรียนหนังสือ เรียนรู้วิชาการ และโลกนอกบ้าน รวมถึงยังได้พบปะเพื่อนฝูง แลกเปลี่ยนประสบการณ์หัวอกผู้หญิงด้วยกัน พร้อมทั้งสร้างภคินีภาพ (sisterhood) อันเป็นหัวใจสำคัญในการเคลื่อนไหว สิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศในช่วงเวลานั้น
มากไปกว่านั้น สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนก็เปิดโอกาสให้เธอ เรียนรู้ประสบการณ์ทางเพศ ความรักความสัมพันธ์แบบโรแมนติก ก่อนจะจบการศึกษาและแต่งงานแบบรักต่างเพศสร้างครอบครัว
โรงเรียนหญิงล้วนจึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งแรกๆ
ของผู้หญิงและรักแรกระหว่างหญิงสาว
สมศรี สุกุมลนันทน์ (2462 – 2548) ลูกสาวของพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เธอเป็นอาจารย์ นักวิชาการ ดีไซเนอร์ นักคหกรรมศาสตร์ เธอเรียนโรงเรียนหญิงล้วน เพราะสมัยนั้นยังคงแบ่งโรงเรียนแบบชาย-หญิง ทั้งโรงเรียนครูกิมเหล็ง อัสสัมชัญคอนแวนต์ เบญจมราชาลัย ก่อนจะย้ายไปเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์จนจบ ม. 8 เธอบันทึกว่า
“ในโรงเรียนแห่งนี้ มีประสบการณ์อย่างหนึ่ง จะว่าแปลกก็ไม่ใช่ ไม่แปลกก็ไม่เชิง คือ มีเดียร์
เดียร์ คือคนรักที่เป็นเพศเดียวกัน เข้าใจว่า ในที่ที่มีผู้หญิงอยู่ร่วมวัยอยู่ด้วยกันมากๆ จะมีเรื่องเดียร์ จะเรียกว่า รักร่วมเพศ ก็ไม่ได้ ไม่ถึงกับมีปฏิบัติการทางเพศ เป็นแต่เพียงรักกันไปรักกันมา มีเอียงอายกระดากกันเหมือนผู้หญิงกระดากผู้ชาย กว่าจะเป็นเดียร์กันได้ ต้องมีเพื่อนทำหน้าที่แม่สื่อ เป็นเดียร์กันแล้วก็เอาใจใส่แต่กับเดียร์ของตัว จะไปอี๋อ๋อกับคนอื่นไม่ได้ เดียร์จะหึงหวงเหมือนผู้หญิงผู้ชายหึงหวงกันและกัน ผู้เล่นบทบาทผู้ชายมักเป็นรุ่นพี่อยู่ชั้นสูงกว่า ส่วนตัวจะโตกว่าหรือไม่ไม่จำเป็น”[4]
สมศรียังเล่าเรื่อง ‘เดียร์’ ของเธอด้วยว่า
“เดียร์ จึงเป็นคำเฉพาะของยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย
ดิฉันมีเดียร์ชื่อ สมจิตร เขาอยู่ชั้นสูงกว่า รักกันอย่างไม่ได้พูดจากันมาก เพราะดิฉันมัวแต่อาย สมจิตรให้เพื่อนมาบอกรักแทนตัว สัมพันธภาพไม่ได้คืบหน้าเท่าใด เพราะดิฉันไม่ชอบเรื่องการมีเดียร์ คิดว่า เซี้ยว แต่ก็ทำตามเพื่อน เดียร์คนนี้อยู่ในโรงเรียนเดียวกันไม่นานก็จากกันไป พบกันอีกครั้งเมื่อมาอยู่มหาวิทยาลัยด้วยกัน เลิกเป็นเดียร์กันแล้ว เพราะมีผู้ชายจะรักแทนผู้หญิง
เดียร์อีกคน คบกันนานหน่อย คือจนจบชั้นมัธยมแปดไปด้วยกัน เดียร์กลายเป็นเพื่อนสนิท เขามีชื่อแปลกกว่าใครอื่นคือ ชื่อ สัจจา เมื่อจบมัธยมแปดแล้ว สัจจา ไม่ได้เรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา เขาไปเป็นครูหัวเมือง แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ แต่งงานกับคนรักที่รักกันมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม ตั้งแต่นั้นมาขาดการติดต่อกัน มาพบกันอีกทีเมื่อแก่ เราสองคนอายุเท่ากัน เมื่อไปหาสัจจาที่บ้าน เขาจำใครไม่แล้ว เซลล์สมองเสื่อม รื้อฟื้นความทรงจำอย่างไรก็จำไม่ได้
ความจำที่สัจจาไม่น่าลืม คือในวันแต่งงานของเขา ดิฉันเป็นคนขับรถไปรับเจ้าสาวคือ ตัวเขา ไปยังบ้านที่จะทำพิธีรดน้ำ… ”[5]
เมื่อเปรียบเทียบกับคำว่า ‘เล่นเพื่อน’ ที่มักถูกใช้นิยามเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงภายในราชสำนัก และ ‘เพื่อน’ ก็ถูกใช้นิยามคู่ความความสัมพันธ์ระหว่างนางใน นักสนมที่ต้องอยู่ร่วมกันกินนอนผูกพันกันสถานที่ปิดเหมือนฮาเร็ม ‘เดียร์’ หรือ ‘dear’ จึงมีนัยยะมากกว่า ‘เล่นเพื่อน’ ที่ไม่ให้คุณค่าความสัมพันธ์ว่าสำคัญหรือจีรังเท่าความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ซ้ำยังห้ามปรามและประณาม ได้รับความอดทนอดกลั้นได้ระดับหนึ่งตราบเท่าที่ไม่ไปเล่นเพื่อนกับลูกท่านหลานเธอในราชสำนัก
‘เดียร์’ กลับปลอดภัยจากการถูกตีตราของปิตาธิปไตยและระบบอำนาจนิยมของชนชั้นเจ้า และกลายเป็นคำนิยามโดยผู้หญิงเอง มีอิสระมากกว่า และมาจากพื้นที่ที่ผู้หญิงได้รวมตัวกันและสร้างอำนาจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Leila J. Rupp . Sapphistries: A Global History of Love between Women. NY : New York University Press, 2009, pp. 127-129.
[2]Marilyn Yalom, and Theresa Donovan Brown. The Social Sex: A History of Female Friendship. NY : HarperCollins, 2015, pp.145-147.
[3] Ibid.164
[4]สมศรี สุกุมลนันทน์. อัตชีวประวัติ สมศรี สุกุมลนันทน์. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2548, น. 54-55.
[5] เรื่องเดียวกัน, น. 56.