ก่อนเต้น เรามาทำความรู้จัก Death Drop กันดีกว่า…
Death Drop เป็นท่าเต้นแบบเล่นใหญ่ ที่ทำความทิ้งตัวอย่างไม่สงวนร่างขณะที่ยังเต้นรำด้วย อยู่ดีๆ ด้วยการงอขาข้างนึงแล้วร่วงลงไปนอนกับพื้นแบบหงายหลังตึง นอนกองกางแขนแผ่หลา ปล่อยขาข้างนึงเหยียด อีกข้างงอขนาบกับลำตัวเหมือนกับตอนที่ทิ้งตัว หรือไม่ก็จบท่าเต้นด้วยกระโดดทิ้งตัวฟาดไปกับพื้นอย่างฉับพลันทันใด ด้วยท่าฉีกขากาง 180 องศาขนานไปกับพื้นโลก เพื่อเป็นการจบการเต้น ผู้เต้นจึงต้องใช้กำลัง พลังงาน ความอดทน แข็งแกร่ง หัวแข็ง หลังหนา และการฝึกฝนมาอย่างดี เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่เกย์คนข้ามเพศชาย นางโชว์ข้ามเพศ
อธิบายก็ยากจะเข้าใจ เข้าไปดูวาร์ปดีกว่า www.buzzfeed.com
นี่ถ้าได้ดู RuPaul’s Drag Race มีแทบทุก EP ตัวแม่แสดงอภินิหาร death drop จริงจัง www.pride.com
ในวัฒนธรรมการเต้นรำ ท่า ‘Dip’ หรือการปล่อยตัวร่วงลงไปเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการเต้นอยู่แล้ว ปรากฏทั้งใน Tango, Lindy Hop, Salsa, Ballroom dances ซึ่ง Death Drop ก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของท่าเคลื่อนไหวร่างกายประเภท dip นี้ด้วย อยู่ในกลุ่มท่าเต้นของกลุ่ม Vogue
เรามาทำความรู้จัก Voguing กันดีกว่า…
Vogue หรือ Voguing เป็นท่าเต้นในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยและใต้ดินของ LGBT เชื้อสายแอฟริกันอเมริกันและละตินอเมริกัน ย่านฮาเร็มในนิวยอร์ก ช่วงต้นยุค 1960 ที่มีชุมชนแข่งขันประกวดเต้นรำท่วงท่าลีลาไปพร้อมกับจิกกัด ซึ่งเป็นอากัปท่าเต้นพัฒนามาจากการผสมผสานท่าทางในจิตรกรรมฝาผนังอักษรภาพเฮียโรกลีฟิกในอารยธรรมอิยิปต์กับท่าโพสของนางแบบในนิตยสาร Vogue
และท่าประเภท Death Drop ในวัฒนธรรม voguing เรียกว่า ‘shablam’ ซึ่งเป็นการเรียกชื่อผิดจากคำว่า ‘shawam’ อันเป็นคำที่จะร้องชมเชย voguer หรือนักเต้นท่า voguing สามารถ dip หรือ ทิ้งตัวตรงจังหวะเพลง ท่ามกลางสายตาผู้ชม
เนื่องจากต้องดวลกันระหว่างคู่แข่ง ท่าเต้น voguing จึงถูกพัฒนาทั้งท่วงท่าความประณีตละเอียดลอออย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงมีความโลดโผนกายกรรมดัดตนมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นอีกหมุดหมายของวัฒนธรรมยุค 1980 จนกระทั่ง Voguing จากชุมชนนักเต้นชายขอบถูกนำมาประดิษฐานบนวัฒนธรรมป๊อปกระแสหลักอย่างเป็นทางการโดยตัวแม่อย่างมาดอนน่า เธอออกซิงเกิล Vogue ในปี1990 ที่หอบทั่งท่าและปรัชญาของ Vogue มาทำเป็นเพลงและ MV ในปีเดียวกันสารคดี ‘Paris is Burning’ ที่เล่าถึงวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์ในชุมชนนี้ก็ออกฉาย ซึ่งวัฒนธรรมประชันเต้น vogue ก็อยู่ยั้งยืนยงคู่กับชุมชน LGBTQ จนถูกทำเป็นสารคดีกระแสหลักอีกครั้ง ฉายในปี 2016 ชื่อ ‘Kiki’
ไม่เพียง Voguing จะเป็นศิลปะการเต้นชายขอบที่ถูกประดิษฐานบนสื่อกระแสหลัก ยังได้รับพัฒนาท่าเต้นจนสามารถแบ่งออกเป็น 3 แนวซึ่งก็เป็นการแบ่งประวัติศาสตร์ในตัวของมัน
คือแนวก่อน 1990 หรือก่อนจะถูกป้อนเข้าสู่กระแสหลัก ที่เน้นจัดรูปแบบเป็นเส้น ความสมมาตร และเปิดตัวลื่นไหลอย่างสง่างาม, แนวก้าวเข้าสู่กระแสหลักแล้ว หลัง 1990 ที่หันมาเน้นการแสดงท่าทางแข็งแกร่งในการสะบัดข้อมือข้อแขนประกอบกับการแสดงคล้ายๆ ‘ละครใบ้’ และแนว ‘Vogue Fem’ กำหนดกันเองว่าประมาณ 1995 เรียกว่า ที่เพิ่มความซับซ้อนและความเป็นหญิงมากขึ้นไปอีกด้วยจากการผสมกับศิลปะการเต้นแนวอื่นๆ เช่นบัลเลต์
Vogue Fem ฟังชื่อก็รู้ว่าต้องสาวมาก เพราะ Fem มาจาก femme ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึงผู้หญิง ซึ่งท่า Death Drop ของเกย์กะเทยนางโชว์ drag queen ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น และท่า Dip ก็เป็นองค์ประกอบหลักที่ถือว่าเป็นท่าโชว์ที่แม่ที่สุด ปังที่สุดของ Vogue Fem ซึ่ง Death Drop ก็ถูกอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Vogue Fem
อย่างไรก็ตาม Drag queen อันเป็นเพศสภาพหนึ่งที่อาจจะเป็นชายรักชาย คนข้ามเพศ/กะเทย หรือชายรักต่างเพศก็ได้ เพียงแต่ชอบแสดงออกและแต่งกายเสื้อผ้าหน้าวิกแบบผู้หญิงที่มักจะเต้นโชว์ท่านี้ ถือว่า Death Drop เป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวของเกย์กะเทยและพวกเธอ ถือว่าก้าวข้ามวัฒนธรรมใต้ดินดวลกันเต้น voguing ตั้งแต่ยุคต้น1960 แล้ว และเป็นท่าที่กลายเป็นต้นฉบับในตัวของมัน ถูกนำไปใช้ในการเต้นรำรูปแบบกระแสหลักต่างๆ เช่น เชียร์ลีดเดอร์ ซัลซ่า สวิง เต้นกับรองเท้าสเก็ต เวทีแข่งขันประกวดนักเต้น เต้นแร้งเต้นกา
บ้างก็ว่าที่ชื่อ death drop สัมพันธ์กับคำว่า ‘Drop-dead Gorgeous’ หรือคำชมประเภทเลอค่า เริ่ดสะแมนแตน
ไม่ว่า Death Drop จะมีที่มาอย่างไร มันก็เป็นวัฒนธรรมเควียร์ที่ได้ถูกป้อนเข้าสู่วัฒนธรรมกระแสหลัก ถูกทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งโดยรายการทีวีชื่อดัง RuPaul’s Drag Race (เริ่ม season1 เมื่อปี 2009) เพราะเป็นการแข่งขัน drag queen ซูเปอร์สตาร์ ทำให้วัฒนธรรม drag queen มากมายซึ่งก็รวมถึงท่าเต้น death drop ไปปรากฏบนหน้าจอทีวี queen Shangela ใน season 2 ปี 2010 เป็นนางแรกของประวัติศาสตร์ RuPaul’s Drag Race ที่นำ death drop มาโชว์กลางเวที และเมื่อมันมีชีวิตอยู่บนโลกดิจิทัล ที่ไม่ว่าใครก็ติดแฮชแทก #DeathDrop พร้อมโชว์ท่าเต้น
มันจึงเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่มาจากวัฒนธรรมย่อยของคนชายขอบของสังคมอย่างนางโชว์ เกย์ กะเทย คนข้ามเพศ แล้วกระจายตามพื้นที่ชายขอบของสังคมรักต่างเพศนิยม ได้รับการยกระดับเข้าสู่วัฒนธรรมมวลชนอเมริกัน และกลายเป็นวัฒนธรรมทั่วโลก
แล้วเมื่อเข้ามาในไทยแล้ว ก็ไม่ต้องมาบัญญัติศัพท์นะว่าจะใช้คำไทย ‘ตายตก’ ‘ตายหยด ตายหยอด’ อะไรนะ…
ทั้ง Vogue และ Death Drop จึงนอกจากจะเป็นท่าเต้นรำตามจังหวะเพลงเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางอัตลักษณ์เพื่อความหลากหลายทางเพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Death Drop ที่ไม่เพียงเป็นท่าเต้นรำที่แสดงออกถึงตัวตน อัตลักษณ์ทางเพศแล้ว ในอีกมิติหนึ่งยังแสดงถึงตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องเผชิญกับความเจ็บตัว อดทนจากการถูกปะทะกระแทกกระทั้น ถึงแม้จะเจ็บตัวแต่ก็ยังคงเปรี้ยว fierce เฉิดฉายให้สปอตไลท์ส่องบนเวที เหมือนชีวิตจริงกะเทยเกย์และ drag queen จำนวนมากบนเวทีรักต่างเพศนิยม
แต่ถ้าใครอยากจะเต้นตามตัวแม่ๆ ก็ดูแลรักษาตัวกันเองนะฮะ เกิดหัวฟาดพื้นความจำเสื่อมขึ้นมาทำไง ขนาดบรรดาแม่ๆ บางนางมืออาชีพแล้ว ไหนจะมีวิกผมยีฟู ประดับประดาด้วยพร็อพพรายพร้อมรองรับแรงกระแทก กระดูกก็ยังหักคาเวทีมาแล้ว