คุณรู้จัก Jane Jacobs ไหมครับ
เล่าอย่างย่อ เธอคือนักเขียน นักข่าว และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ชาวอเมริกัน-แคนาเดียน เธอเกิดในปี ค.ศ. 1916 และเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 2006 ความสนใจหลักๆ ของเจคอบนั้นเกี่ยวกับชุมชน และการวางผังเมือง และเธอเองก็เคยเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการต่อต้านแผนพัฒนาเมืองที่เธอเห็นว่าจะทำลายชุมชนท้องถิ่นหลายๆ แห่ง
งานเขียนของเจคอบหลายเล่มจัดว่าโด่งดังและแม้บางเล่มจะมีอายุกว่าครึ่งศตวรรษ แต่นักวิชาการ หรือผู้ที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับเมืองก็ยังหยิบยกงานเขียนของเธอมาพูดถึง อ่านซ้ำ ถกเถียงอยู่บ่อยๆ The Death and Life of Great American Cities คือหนังสือเล่มสำคัญของเจคอบที่ผมถือโอกาสหยิบมาพูดถึงในสัปดาห์นี้ครับ
เนื้อหาหลักๆ ของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นไปตามชื่อของมันครับ คือความตายและชีวิตของเมือง หรือพูดอีกอย่างคือ อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้เมืองเมืองหนึ่งเป็นเมืองที่ดี หรือไม่ดี ซึ่งแน่นอนครับว่า ปัจจัยที่จะระบุได้ว่าเมืองที่ว่านี้ดีหรือไม่นั้นก็มีมากมายทีเดียว เป็นได้ทั้งความสะอาด ความปลอดภัย หรือความรวดเร็วในการขยับขยายของเมืองนั้นๆ
ในบทที่หนึ่ง เจคอบกล่าวไว้ว่า “เมืองแต่ละแห่งก็เป็นเหมือนห้องแล็บขนาดใหญ่ของการทดลองและความผิดพลาด ความล้มเหลวและความสำเร็จของการสร้างอาคาร และการออกแบบเมือง” จากคำกล่าวนี้อาจมองได้ว่า
การพัฒนาเมือง ในทางหนึ่งจึงเกิดจากการเรียนรู้จากความผิดพลาด และความรุ่งเรืองของเมืองอื่นๆ โดยที่ผู้ออกแบบเมือง หรือผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในเมืองหนึ่งๆ จะได้นำสิ่งที่พวกเขาได้เห็นจากเมืองอื่นมาปรับใช้กับเมืองของตัวเอง
หนังสือเล่มนี้แยกย่อยออกเป็นสี่ส่วนด้วยกัน โดยที่แต่ละส่วนต่างก็พูดถึงประเด็นที่ต่างกันออกไป เช่น ลักษณะเฉพาะของเมือง เงื่อนไขทางความหลากหลายของเมือง แต่เมื่อแยกย่อยประเด็นที่เจคอบพูดถึงออกมาคร่าวๆ เราก็จะเห็นถึงข้อเสนอต่อโครงสร้างต่างๆ ที่ตามทัศนะของเจคอบแล้ว จะช่วยให้เมืองนั้นๆ เป็นเมืองที่ดีได้ โดยผมจะขอยกตัวอย่างคร่าวๆ เป็นตัวอย่างประมาณนี้ครับ
กรณีถนน เจคอบเสนอว่า ถนนและทางเท้าคือพื้นที่สาธารณะหลักของเมือง ถ้าเปรียบกับร่างกายมนุษย์แล้ว ก็ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด หากถนนหนทางให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย เมืองเองก็จะให้ความรู้สึกปลอดภัยไปด้วย ซึ่งในกรณีที่ผู้คนหวาดระแวงต่อเมืองที่เขาอยู่ ความเป็นไปได้หนึ่งก็เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าถนนหรือทางเท้าที่พวกเขาสัญจรปลอดภัยนั่นเอง
หรือในกรณีของการจราจร เจคอบก็ตั้งคำถามว่า จริงหรือที่ความหลากหลายในประชากรคือปัจจัยซึ่งก่อให้เกิดความแออัดในการใช้รถใช้ถนน ปัญหาที่แท้จริงซึ่งเจคอบมองว่าจะช่วยลดปัญหานี้คือการหาวิธีลดปริมาณรถอย่างจริงๆ จังๆ และพร้อมกันก็กระตุ้นให้ยวดยานซึ่งรอดพ้นจากการถูกจำกัดปริมาณนั้น ทำงานหนักและมีประสิทธิภาพขึ้น พูดอีกอย่างคือการลดการใช้งานรถยนต์ส่วนตัว และเพิ่มพื้นที่ให้กับรถบรรทุก รถบัส และขนส่งสาธารณะนั่นเอง อีกทั้งเจคอบยังเล็งเห็นว่า ยิ่งถนนถูกตัดมากขึ้น จะเท่ากับเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้เกิดการใช้รถมากขึ้นตามไปด้วย ยิ่งมีรถมาก ถนนก็ยิ่งถูกตัดเพิ่มขึ้นตาม เกิดเป็นวงจรอันไม่มีที่สิ้นสุด
แต่หัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้เห็นจะเป็นการที่เจคอบตั้งคำถามต่อ ‘นโยบายการพัฒนาเมือง’ ว่า หลงลืมความสำคัญของความหลากหลายและการบูรณาการไปหรือเปล่า โดยเธอได้โจมตีนโยบายขยายเมืองที่ละเลยความสัมพันธ์ของความเป็นละแวกบ้าน (neighborhood)
ซึ่งตัวเธอนั้นให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในประเด็นของความปลอดภัย และแนวคิดเรื่องสังคมบูรณาการด้วย เพราะหากเมืองถูกพัฒนาด้วยหลักการซึ่งกระจายผู้คนออกจากความต้องการในเชิงพาณิชย์ของพวกเขานั้นจะกลายเป็นการจำกัดแนวคิดในเรื่องความเป็นชุมชน ทั้งยังเป็นการไปจำกัดเมืองนั้นๆ ให้ไม่สามารถพัฒนาไปอย่างเป็นธรรมชาติ
เจคอบเชื่อว่า ชีวิตบนทางเท้า (sidewalk life) ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ง่ายจากการสัญจนบนฟุตปาธ กล่าวคือมีร้านรวงที่จำหน่ายสินค้า และบริการตามรายทางให้ผู้คนสามารถหยุดดู หรือจับจ่ายสินค้าได้ระหว่างเดินถนน ไม่เพียงจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดสำนึกชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาชญากรรมอีกด้วย เช่นกันที่เมื่อการเดินเป็นเรื่องปกติ ก็ยังช่วยให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรมชาติ เจคอบเสนอแนวคิดที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า หรือบริการ ห้างร้านเอกชน หรือหน่วยงานรัฐ ทุกสถานที่ควรเชื่อมโยงกันภายในระยะทางที่สามารถสัญจรด้วยเท้าได้อย่างไม่ยากเย็น
อีกแนวคิดหนึ่งคือ ลดการกระจุกตัวของสินค้าและบริการให้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่หนึ่ง และเน้นการกระจายตัวของสถานที่นั้นๆ ซึ่งยังคงคำนึงถึงการเชื่อมโยงกันทางฟุตปาธ คิดภาพอย่างนี้ครับว่า สมมติพื้นที่ A เป็นย่านตลาด ส่วนพื้นที่ B เต็มสถานบันเทิง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความพลุกพล่านซึ่งถูกแยกขาดกันอย่างชัดเจนระหว่างสองพื้นที่นี้ ในกลางวันพื้นที่ A อาจเนืองแน่นด้วยผู้คน แต่พอถึงกลางคืนจะกลายเป็นวังเวงเงียบเหงา เพราะผู้คนต่างจะย้ายไปยังพื้นที่ B ที่เต็มไปด้วยแสง สี เสียง กันหมด เจคอบเสนอให้ภายในพื้นที่หนึ่งๆ นั้น มีตัวเลือกที่พร้อมจะให้บริการทั้งในกลางวัน และกลางคืน พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน พื้นที่นั้นๆ ก็จะมีผู้คนสัญจรไปมาอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่นั้นๆ หรือหากใช้ศัพท์ของเจคอบก็ต้องพูดว่า มีดวงตา (ซึ่งก็คือผู้คนบนท้องถนน) ที่คอยสอดส่องอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
หรือในกรณีสิ่งปลูกสร้างเก่าๆ เจคอบก็สนับสนุนให้เกิดการผสมผสานกับอาคารใหม่ๆ เพื่อที่อาคารเก่าๆ เหล่านั้นจะพัฒนาไปพร้อมๆ กับสภาพแวดล้อมรอบตัว ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเกิดใหม่ด้วยตัวเอง (self regenerated) นั่นเอง ในทัศนะของเจคอบ ละแวกบ้านที่ดีจะส่งเสริมให้เกิดสำนึกแบบเครือญาติ และความคุ้นเคยซึ่งจะทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยต่อชุมชน เช่นเดียวกับที่ความเหลื่อมล้ำและสำนึกทางชนชั้นก็จะถูกลดทอนลงไปด้วยเมื่อผู้คนต่างรู้สึกผูกพันธ์กัน
แต่แน่นอนครับว่า ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นร่วมห้าสิบปีมาแล้ว บรรยากาศในชั่วขณะนั้นก็ย่อมแตกต่างไปจากปัจจุบัน อย่างการขยับขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองก็เป็นในสัดส่วนที่ต่างกันมาก และซึ่งแนวคิดของเจค็อบในช่วงเวลานั้นถือเป็นการท้าทายต่อกระแสสังคมพอสมควรครับ เพียงแต่ว่าจุดหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้แนวคิดของเธอจะถูกเสนอมาหลายสิบปีแล้ว แต่หลายๆ ไอเดียในหนังสือเล่มนี้ก็ยังเอากลับมามองการพัฒนาเมืองในยุคสมัยนี้ได้อย่างน่าทึ่งเลยครับ