1
เวลาเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัย ไม่ว่าจะรถชน ไฟไหม้ แผ่นดินถล่ม ฯลฯ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต สิ่งที่เกิดตามมาในสังคมโซเชียลมีเดียไทยในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย…ก็คือการแชร์ภาพศพ
เราจะเห็นคนออกมาเตือนคนอื่น ไม่ว่าจะในแง่ของศีลธรรม มารยาท หรือกระทั่งในมิติของกฎหมาย ว่าการแชร์ภาพศพของผู้อื่นนั้น เป็นเรื่องไม่เหมาะควร ผิดกฎหมาย ไม่เคารพผู้ตาย ฯลฯ
แต่กระนั้น การกระทำแบบนี้ก็ไม่เคยหมดไป หนำซ้ำยังดูคล้ายยิ่งแพร่หลายเพิ่มพูน
มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้กันแน่!
2
ผมไม่รู้ว่า ทำไมคน (บางคน-ซึ่งไม่ได้มีจำนวนน้อยๆ) ถึงชอบแชร์หรือเสพภาพศพ ภาพอุบัติภัย หรือ ‘หายนะของคนอื่น’ แต่ถ้าเราลองเสิร์ชกูเกิลด้วยคำว่า ‘ภาพศพ’ หรือ ‘ภาพอุบัติเหตุ’ เราจะพบว่าโลกออนไลน์มีอะไรพวกนี้อยู่มหาศาล โดยมักมีข้อความเขียนกำกับเอาไว้ด้วยว่า ‘ใจไม่ถึงห้ามดู’ อะไรทำนองนี้
ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะผมจำได้ว่า ตอนเด็กๆ ที่ยังไม่มีโลกออนไลน์ สังคมไทยมีนิตยสารหลายหัว (อย่างน้อยที่สุดก็สองหัว) ที่นำเสนอภาพของอาชญากรรม ภาพอุบัติเหตุ (ที่มีการฆ่า มีเลือด มีศพ) เป็นหลัก พูดได้ว่า จุดขายก็คือภาพศพในเล่ม โดยมีภาพโป๊วับแวมผสมอยู่ด้วย
เคยมีวิทยานิพนธ์ที่ทำเรื่องนี้โดยตรง คือวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ความสัมพันธ์ของการเปิดรับ ความพึงพอใจในการอ่านนิตยสารประเภทอาชญากรรม กับทัศนคติต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของวัยรุ่นในชุมชนแออัด (ดูที่) เขาบอกว่า มีคนอ่านนิตยสารพวกนี้เยอะมาก ยอดขายของเล่มหนึ่งในปี 2537 อยู่ที่ 70,000 ฉบับ (ซึ่งว่าเยอะกว่านิตยสารผู้หญิงชื่อดังที่มีโฆษณาเยอะๆ หลายเท่า)
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ศึกษาในวัยรุ่นในชุมชนแออัด เลยทำให้ได้ข้อสรุปที่ชวนถกเถียงต่อไปว่า-จริงๆ แล้วผู้เสพนิตยสารเหล่านี้คือใครกันแน่ เฉพาะคนที่ถูกเรียกว่าเป็นคนชั้นล่าง (หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นคนที่ด้อยโอกาสในสังคม) อย่างที่วิทยานิพนธ์ศึกษา หรือที่จริงแล้วคนชนชั้นอื่นๆ เช่นคนชั้นกลาง ฯลฯ ก็เสพนิตยสารเหล่านี้ด้วย
มาถึงทุกวันนี้ ภาพศพหรือภาพอาชญากรรมเหล่านี้ไม่ต้องซื้อหาอีกต่อไปแล้ว เพราะมีเกลื่อนไปหมดในโลกออนไลน์ มีคนกดไลค์กดแชร์มากมาย ยิ่งเป็นภาพที่ดูสยดสยอง รุนแรง เลือดท่วม ก็ยิ่งมีคนเข้าไปดูมาก แต่ก็ยังไม่มีใครทำวิจัยหาคำตอบอยู่ดีว่า
คนที่ชอบเสพภาพเหล่านี้ คนที่กดไลค์กดแชร์ภาพเหล่านี้ พวกเขาเป็นใคร และพวกเขากดไลค์กดแชร์เพราะอะไรกันแน่?
3
อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ ทำให้ผมสงสัยว่า อัตราการตายบนท้องถนนของคนไทยนั้น ถ้าลองเอาไปเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วเป็นอย่างไร ปรากฏว่าเว็บ wikipedia เอาข้อมูลจาก WHO (คือ Global Status Report on Road Safety ของปี 2015) มาทำเป็นลิสต์เอาไว้น่าสนใจทีเดียว (ดูได้ที่นี่ )
ที่จริงแล้ว ลิสต์นี้น่าตกใจสำหรับคนไทยนะครับ เพราะถ้าเราดูอัตราการตายบนท้องถนนต่อประชากร 100,000 คนในแต่ละปี (Road fatalities per 100,000 Inhabitants per year) เราจะพบว่าในแต่ละปี คนไทยหนึ่งแสนคน จะตายบนท้องถนนถึง 36.2 คน ตัวเลขนี้จัดเป็นอันดับสองของโลก-รองจากลิเบีย
อันดับสองเลยนะครับ!
ถ้าดูกลุ่มประเทศที่มีอัตราการตายบนท้องถนนสูงๆ เราจะพบว่าเป็นประเทศในแถบแอฟริกาเยอะมาก เช่น มาลาวี คองโก แทนซาเนีย แอฟริกากลาง รวันดา บูร์กินาฟาโซ แกมเบีย ฯลฯ ในขณะที่ประเทศที่มีตัวเลขต่ำ (คือต่ำกว่า 10 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน) ถ้าไม่ใช่ประเทศที่เล็กมากๆ อย่างไมโครนีเซียหรือมัลดีฟส์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ ‘เจริญ’ แล้วทั้งนั้น เช่น สวีเดน, สหราชอาณาจักร, เนธอร์แลนด์, เดนมาร์ค, ไอร์แลนด์, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส ฯลฯ
ผมคิด (ไปเอง) ว่าการที่มีประเทศที่ดูพัฒนาแล้ว มีสถิติการตายบนท้องถนนต่ำกว่า อย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะ ‘มาตรฐาน’ ของถนน (หรือสาธารณูปโภคโดยรวม) ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนา (นอกเหนือไปจากการบังคับใช้กฎหมาย และจิตสำนึกสาธารณะแล้วน่ะนะครับ)
คำถามถัดมาก็คือ-คุณเคยสงสัยไหมว่า อะไรทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองไทยเกิดขึ้นมากจนทำให้มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีเป็นหมื่นๆ คน (ของไทยมีสถิติจาก WHO ว่า ในปี 2013 มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนถึง 24,237 คน ซึ่งต้องบอกว่าเยอะกว่าส่งทหารไปทำสงครามอีกนะครับ!) แบบนี้
ผมคิดว่า วิธีตอบคำถามแบบนี้มีได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือการตอบด้วยแว่นแบบผู้มีอำนาจ ที่มักมองว่าอุบัติเหตุเป็น ‘ความบกพร่อง’ ส่วนบุคคล เช่น ง่วงก็ยังขับ เมาก็ยังขับ ฯลฯ จึงทำให้เกิดการรณรงค์ที่พุ่งเป้าไปยังคนทั่วไป วิธีมองแบบนี้ (คือมองว่าเป็น ‘ความบกพร่อง’ ของ ‘คน’) เกิดจากวิธีคิดแบบท็อปดาวน์จากบนลงล่าง คือเห็นว่าประชาชนทั่วไปนั้นไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม่มีศีลธรรม (เลยกินเหล้า แถมกินเหล้าแล้วยังไปขับรถอีก) หรือไม่มีความรู้ (ถ้ามีความรู้คงไม่ขับรถทั้งที่อยู่ในสภาพไม่พร้อม ฯลฯ) พูดง่ายๆ ก็คือ ประชาชนเป็นสิ่งมีชีวิตที่บกพร่องเว้าแหว่ง โง่ และไร้วุฒิภาวะ ในขณะที่รัฐมีลักษณะเหมือนพระเจ้าที่ลอยอยู่บนสวรรค์แห่งความถูกต้องทรงธรรม เป็นผู้ต้องคอยมาแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ไม่รู้จักจบสิ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลอันเป็นช่วง ‘ปลดปล่อย’ ให้คนได้เริงร่ากันเต็มที่
เมื่อเป็นแบบนี้ วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะอำนาจนิยม โดยรัฐใช้กฎหมายควบคุมบังคับสั่งการแบบด้านเดียว โดยมีลักษณะ ‘ชี้นิ้ว’ ป้ายสีมาที่คนแต่ละคน โดยบอกว่าคนเหล่านี้ยังไม่ได้มาตรฐานในการใช้ยานพาหนะ แต่ไม่เคยย้อนกลับไปดู ‘มาตรฐาน’ ในทางสาธารณูปโภคที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาให้ประชาชนเลยว่าเป็นอย่างไร รวมถึงไม่เคยย้อนกลับไปดูด้วยว่า รัฐได้ ‘จัดหา’ ขนส่งมวลชนที่หลากหลาย เชื่อมต่อ และมากเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแล้วหรือเปล่า
วาทะประเภท-รอให้ถนนลูกรังหมดประเทศก่อนแล้วค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง, สะท้อนสำนึกอำนาจนิยมของรัฐได้อย่างเจ็บปวด
เพราะในด้านหนึ่ง แม้จะเป็นรัฐที่สมาทานวัฒนธรรมรถยนต์ ก็กลับไม่เคยวางแผนการใหญ่ (master plan) เพื่อสร้างสาธารณูปโภคที่ดีและได้มาตรฐานให้คนอย่างทั่วถึงมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นรัฐที่-เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่, เป็นต้องขลุกคลุกอยู่กับการโกงกินของผู้มีอำนาจเสมอ ถ้ามองในแง่ถนน เราจึงไม่เคยมีถนนที่ได้มาตรฐานจริงๆ แต่ต้องซ่อมสร้างอยู่เสมอโดยไม่มีการเตรียมการ สภาพ ‘ลูกรังแห่งชาติ’ ทั้งความหมายเชิงเปรียบและความหมายตรงตามตัวอักษรจึงไม่เคยหมดไป…เพราะไม่เคยมีใครอยากให้มันหมดไปอย่างแท้จริง
และเพราะดังนั้น-คนทั่วไป-คนจน-คนด้อยโอกาส-คนที่ยังบกพร่องเว้าแหว่ง และใช้งานสาธารณูปโภคแบบที่มีอยู่ยังไม่ได้มาตรฐาน จึงไม่ควรค่าแก่การได้โงหัวขึ้นไปใช้สาธารณูปโภคที่มีคุณภาพดีกว่านี้ เพราะรัฐไทยไม่ยอมเห็นว่า ‘คน’ ในกำกับของตัว เป็น ‘คน’ ที่มีความเป็นคนเสมอกับผู้กุมอำนาจรัฐ
ในอีกด้านหนึ่ง หลายครั้งคนทั่วไปด้วยกันเองก็หยิบอำนาจทางศีลธรรมกึ่งพุทธกึ่งผีแบบไทยๆ มาใช้กำกับควบคุมคู่กันไปด้วย เรามีคำว่า ‘ตายโหง’ ใช้กับคนที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน คำนี้เชื่อมโยงสัมพันธ์กลับไปถึงเรื่องบุญทำกรรมแต่งของคน คนที่เคยทำชั่วมาก่อน ย่อมต้องเกิดมาเพื่อประสบเคราะห์กรรมโน่นนั่นนี่
ดังนั้น จึงง่ายมาก-ที่คนทั่วไปจะมีสำนึกร่วมอย่างหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับสำนึกของรัฐ (และกลับกันก็คือเป็นสำนึกแบบนี้นี่แหละที่ไป shape ความคิดของรัฐ) คือเห็นว่าคนที่ประสบอุบัติเหตุถึงตาย (ทั้งที่เป็นผู้ก่อและผู้ประสบผลกรรมที่ไม่ได้ก่อ) มีความบกพร่องไม่ได้มาตรฐานบางอย่าง อาจไม่ใช่ความบกพร่องที่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้ในชีวิตนี้ แต่อาจบกพร่องเรื่องกรรมที่ติดมาตั้งแต่อดีตชาติ
วิธีคิดทำนองนี้-โดยไม่รู้ตัว, จึงได้ ‘เหยียด’ และ ‘ลดค่า’ คนที่ประสบอุบัติเหตุอุบัติภัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะด้วยความประมาทสะเพร่าเลินเล่อส่วนบุคคล อันเป็นกรรมของชาตินี้ หรือเหยียดด้วยความเชื่อที่ว่าเป็น ‘วิบาก’ ที่ตามติดมาจากชาติปางก่อน
คนที่ประสบภัยจึงทั้งถูกมองว่าน่าเวทนาน่าสงสาร แต่ในเวลาเดียวกัน-ผู้ที่อยู่เหนือกว่า (คือไม่ได้ประสบภัย) ก็จำต้องต้องทำหน้าที่ทั้งสั่งสอนและเอาตัวอย่างคนเหล่านี้มาเป็นอุทาหรณ์สอนคนอื่น (ที่บกพร่องไม่ได้มาตรฐาน) กันต่อไป
แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐอย่างตำรวจเอง ก็มักเอาซากรถมาวางกองๆ ไว้ตามข้างทาง หรือในบางที่ก็ทำหุ่นเป็นรูปศพมาติดตั้งไว้ด้วย แล้วติดป้ายบอกทำนองว่านี่คืออุทาหรณ์สอนใจ ซึ่งน่าตั้งคำถามว่า ‘ฐานคิด’ ของการทำแบบนั้นต่างจากการนำเสนอภาพศพ ภาพอุบัติเหตุ ตั้งแต่ที่ปรากฏในนิตยสารอาชญากรรมทั้งหลายในอดีต จนถึงที่แชร์กันให้ว่อนในโลกออนไลน์ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน
4
พอพูดแบบนี้แล้ว ผมก็เลยเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ถ้าเราลองเอาสถิติของประเทศที่เกิดอุบัติเหตุมากน้อยมาเทียบกับ ‘ดัชนีประชาธิปไตย’ (Democracy Index ดูได้จาก) เราจะเห็นอะไร
ที่จริงก็ไม่เหนือความคาดหมายนะครับ เพราะเราจะพบว่า ประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยในอันดับต้นๆ (เรียกว่าเป็นประเทศที่มี Full Democracy) ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ ฯลฯ จะมีอัตราการตายบนท้องถนนต่ำกว่าประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยน้อย (ในกรณีของไทย อยู่ที่อันดับ 98 มีความเป็นประชาธิปไตยแบบที่เรียกว่า Hybrid Regime พูดง่ายๆ ก็คือถึงจะไม่ได้เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่ก็ยังไม่ได้มีการเลือกต้ังที่ ‘แฟร์’ และ ‘ฟรี’ นั่นแหละครับ)
ในอีกด้านหนึ่ง นักเขียนอเมริกันคนหนึ่งเคยบอกว่า ประเทศหนึ่งๆ ไม่สามารถมี ‘ประชาธิปไตยที่ทำงาน’ (Functioning Democracy) ได้หรอก ถ้าหากว่าประเทศนั้นๆ ไม่ได้มีสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ เพราะสาธารณูปโภคคือภาพสะท้อนของ ‘โครงสร้าง’ สังคมที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม สังคมที่ตัว ‘โครงสร้าง’ ไม่ได้เข้าถึงทุกคนอย่างเสมอภาค และมีวางอยู่บนฐานของการเห็น ‘คน’ เป็น ‘คน’ ที่เท่ากัน
เพราะฉะนั้น สำนึกประชาธิปไตย ความตายบนท้องถนน และการแชร์ภาพศพ-จึงเกี่ยวข้องกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพราะยิ่งภาพศพยิ่งเกลื่อนจอมากเพียงใด ก็ยิ่งคือการประกาศสภาวะ ‘ลูกรังแห่งชาติ’ ในทุกระดับมากเพียงนั้น
สังคมลูกรังย่อมผลิตได้แต่ผู้นำลูกรัง-ที่ไม่อาจมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะผละไปจากลูกรัง
สภาวะลูกรังแห่งชาติจึงไม่มีวันจบสิ้นได้ง่ายๆ