ถามว่า ตอนนี้โลกเรามีมนุษย์อยู่กี่คน?
คำตอบก็คือ ในราวเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ มนุษย์โลกจะมีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ นั่นคือมีมากกว่า 8 พันล้านคน (ดูได้ที่ www.un.org)
ที่สำคัญก็คือ ในอีกไม่ช้าไม่นาน ประเทศที่จะมี ‘มนุษย์’ อยู่มากที่สุด จะไม่ใช่จีนอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้จีนมีประชากร 1.426 พันล้านคน ส่วนอินเดียมีอยู่ 1.417 พันล้านคน ซึ่งคาดว่าปีหน้า อินเดียก็จะมีจำนวนมนุษย์มากแซงจีนไป ถือเป็นเพียงสองประเทศ ที่มีประชากรเกินพันล้านคน ส่วนที่สามตามมา ก็คือสหรัฐอเมริกา มีประชากรอยู่ที่ 338 ล้านคน ถัดมาก็จะเป็นอินโดนีเซียประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่มีประชากร 276 ล้านคน แล้วก็จะเป็นปากีสถาน ไนจีเรีย และบราซิล
มีการคิดคำนวณย้อนหลังไป พบว่าเมื่อราวหนึ่งหมื่นสองพันปีที่แล้ว มีมนุษย์อยู่ในโลก นับรวมโลกทั้งใบ อยู่ที่ราวๆ 4 ล้านคนเท่านั้นเอง แล้วหลังจากผ่านไปราวๆ หนึ่งหมื่นปี ประชากรทั่วโลกก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาจนกระทั่งกลายเป็น 190 ล้านคน
นั่นแปลว่า สมัยพระเยซูประสูติ คนทั้งโลกนับรวมกัน ยังมีจำนวนไม่เท่าบางประเทศในปัจจุบันเลยด้วยซ้ำ และกระทั่งในปี ค.ศ.1800 ก็มีการประมาณว่า ตัวเลขมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกก็ยังมีต่ำกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งคือน้อยกว่าทั้งจีนและอินเดียเสียอีก
ที่จริงแล้ว เฉพาะประชากรชาวจีนหรืออินเดียนั้น ถ้านับรวมทั้งหมดแล้ว ยังถือว่ามากกว่าประชากรชาวยุโรปทั้งทวีป (ที่มีอยู่ราว 744 ล้านคน) เสียอีก หรือต่อให้นับคนทั้งทวีปอเมริกาเหนือและใต้ทุกประเทศรวมกัน ก็ยังได้แค่ 1.04 พันล้านคน ก็ยังถือว่าน้อยกว่าชาวจีนหรืออินเดียอยู่ดี
จำนวนของมนุษย์นั้นเพิ่งจะมาเพิ่มแบบก้าวกระโดดเมื่อราวร้อยกว่าปีมานี้นี่เอง ในปี ค.ศ.1900 ประมาณกันว่าประชากรโลกมีจำนวน 1.65 พันล้านคน แต่ผ่านไปร้อยปี ในปี ค.ศ.2000 จำนวนประชากรโลกพุ่งขึ้นไปเป็นมากกว่า 6 พันล้านคน แล้วเมื่อผ่านไปอีกแค่ 20 ปี ตัวเลขนี้ก็กระโดดขึ้นไปอยู่ที่ 7.7 พันล้านคน
มองในแง่หนึ่ง มนุษย์ประสบความสำเร็จในการแพร่ขยายเผ่าพันธุ์อย่างยิ่ง แต่มองในอีกแง่หนึ่ง นี่ก็คือเรื่องชวนขนลุกอย่างยิ่ง เพราะจำนวนมนุษย์ที่มากมายมหาศาลแผ่ปกคลุมโลกอยู่นี้ แปลว่าต้องใช้ทรัพยากรของโลกมหาศาล จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อม และต่อให้เทคโนโลยีของมนุษย์ก้าวหน้ามากแค่ไหน แต่หากขาดการจัดการที่ดี ไม่มีการกระจายทรัพยากรที่ดีพอ ก็มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดความเหลื่อมล้ำขาดแคลนจนเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้
คำถามก็คือ—แล้วมนุษย์จะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต่อไปอีกถึงไหนกัน
แน่นอน—ข่าวร้ายก็คือ มนุษย์จะยังไม่หยุดเพิ่มจำนวนในเร็วๆ นี้ เพราะสหประชาชาติประมาณเอาไว้ว่า ประชากรโลกจะพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงราว 9.7 พันล้านคน ในปี ค.ศ.2050 และเมื่อถึงปี ค.ศ.2100 ก็จะไปถึง 10.4 พันล้านคน หรือเกินหมื่นล้านคน อันเป็นตัวเลขที่มหาศาลจนแทบนึกไม่ออกว่าถ้ากลับชาติมาเกิดกันตอนนั้นแล้วเราจะอยู่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของจำนวนมนุษย์บนโลกนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาอย่างเท่าเทียมเสมอภาคเกลี่ยๆ กันไปทุกหนแห่งหรอกนะครับ เพราะพื้นที่ที่จำนวนประชากรจะเพิ่มมากที่สุด ก็คือในประเทศกลุ่มใต้ทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว เป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเกิดคิดเป็น 29% ของอัตราการเกิดของประชากรโลก จึงมีการคาดการณ์กันว่า ในอนาคตอันใกล้ เมืองที่ ‘ใหญ่’ มากๆ ระดับอภิมหานคร คือมีประชากร 30-50 ล้านคน น่าจะอยู่ในแอฟริกา อย่างเช่นเมืองลากอส เป็นต้น ซึ่งต้องการวิธีในการจัดการเมืองแตกต่างไปจากที่เคยเป็นอย่างสิ้นเชิง
นั่นคือข่าวร้ายจากมุมมองหนึ่ง
และต่อไปนี้คือข่าวดีจากในอีกมุมมองหนึ่ง
ข่าวดีที่ว่าก็คือ สหประชาชาติได้คาดการณ์เอาไว้ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ.2100 แล้ว ต่อให้ประชากรมนุษย์จะมีจำนวนเป็นหมื่นล้านคน หรืออาจจะถึง 11 พันล้านคน แต่หลังจากนั้น ประชากรโลกจะเริ่มลดลง
อ้าว! ถ้าประชากรโลกลดลง จะถือว่าเป็นข่าวดีได้อย่างไรกัน?
สมัยก่อน เวลาเราบอกว่าประชากรมนุษย์ลดจำนวนลง เรานึกไม่ออกเลยว่ามันจะเกิดจากอะไรได้นอกจากโรคภัยหรือสงครามขนานใหญ่ อย่างเช่นกาฬโรคที่เคยคร่าชีวิตคนไปราว 200 ล้านคน หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ประเภทที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เช่น อุกกาบาตตก ภูเขาไฟระเบิดอะไรทำนองนั้น แต่การลดลงของประชากรหลังปี ค.ศ.2100 ที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นเพราะคนมีลูกน้อยลง ซึ่งคาดว่ามาจากการที่คนมีระดับการศึกษาและรายได้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะคนในประเทศที่เคยยากจนมาก่อน
ทอม โวเกิล (Tom Vogl) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก ประมาณเอาไว้ว่า จำนวนของมนุษยชาติจะไปถึง ‘จุดพีก’ (peak) แน่ๆ ในช่วงร้อยปีข้างหน้า การไปถึงจุดพีกแปลว่าหลังจากนั้นแล้ว ประชากรของโลกก็จะลดลง เขาคาดการณ์เอาไว้ด้วยว่า ในตอนนั้น ทวีปที่จะมีประชากรสูงสุด ก็คือแอฟริกา และศาสนาที่จะมีคนนับถือมากที่สุดในโลก—จะคืออิสลาม
หลายคนอาจจะถอนใจโล่งอก เพราะอย่างน้อยที่สุด มนุษย์ก็คงไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนท่วมโลกหรอก แต่ในข่าวดีก็ยังมีข่าวร้ายแฝงตัวอยู่ด้วย เพราะการที่มนุษย์ลดจำนวนลงที่ว่านี้ เกิดขึ้นเพราะอัตราการเกิดลดลง เท่ากับว่าจะมีเด็กๆ หรือคนหนุ่มสาวน้อยลงด้วย นั่นแปลว่า มนุษย์โลกจะก้าวเข้าสู่สภาวะสูงวัยอย่างรุนแรงมากกว่าที่เป็น และอาจมากกว่าที่เคยคาดคิดเอาไว้ ประมาณกันว่า อายุเฉลี่ยของมนุษย์บนโลกในตอนนั้น จะเพิ่มจาก 31 ปี ไปเป็น 42 ปี คือแก่ขึ้นถึง 11 ปี และประชากรที่มีอายุมากกว่า 80 ปี จะเพิ่มจาก 146 ล้านคน ไปเป็น 881 ล้านคน (ดูได้ที่ pewresearch.org)
ลักษณะสังคมแบบนี้จะก่อให้เกิดปัญหาหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่ลงลึกไปถึงวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และวิธีจัดระเบียบทางสังคม รวมไปถึงลักษณะของครอบครัวแบบใหม่ในอนาคต ว่าควรจะเป็นอย่างไร จึงจะลดความตึงเครียดในสังคมลงได้ หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของคนในอนาคต เอาไว้ให้พวกเขาจัดการกันเอง เพราะป่านนั้นเราคงลาโลกไปแล้วก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้อง ‘คิด’ ถึงเรื่องจำนวนประชากรและลักษณะทางประชากรของมนุษย์อย่างจริงจังล่วงหน้า เหตุผลที่ต้อง ‘คิด’ กันอย่างจริงจัง ก็เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่า สิ่งที่คาดการณ์กันเอาไว้ว่าจะมีประชากรแบบนั้นแบบนี้ มันจะเกิดขึ้น ‘จริง’ อย่างที่คาดเอาไว้หรือเปล่า ดังนั้นจึงต้องมีแผนสองแผนสามในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
การคาดการณ์จำนวนประชากรนั้นเป็นศาสตร์ที่จัดกว่า ‘ใหม่’ เอามากๆ ครั้งแรกที่มีการทำเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คือปี ค.ศ.1945 ซึ่งในตอนนั้น มีการประมาณการณ์เอาไว้ (ดูได้ที่ u.demog.berkeley.edu) ว่าเมื่อถึงปี 2000 มนุษย์น่าจะมีจำนวนราว 3.3 พันล้านคนเท่านั้นเอง
แต่พอถึงปี ค.ศ.2000 จริง เราพบว่าการคาดการณ์นี้ผิดไปถึงสองเท่า เพราะมนุษย์ดันงอกตัวเองขึ้นมากมายถึง 6 พันล้านคน (แล้วอีก 20 ปีถัดมาก็เพิ่มมาอีกเกือบสองพันล้านคน) แต่ถึงจะคาดการณ์ผิด วิธีการศึกษาดังกล่าวก็ยังเป็นฐานให้กับการศึกษาเรื่องประชากรต่อมาในอนาคต
ในปัจจุบันนี้ หน่วยงานสำคัญที่ทำงานด้านคาดการณ์ประชากรโลกมีอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 3 แห่ง แห่งแรกคือ UNPD หรือ United Nations Population Division ซึ่งเป็นของสหประชาชาติ หน่วยงานนี้ถือว่าเป็นผู้นำในเรื่องนี้โดยแทบไม่มีใครเข้ามาแข่งขันท้าทายด้วย แต่ในระยะหลังก็เริ่มมีอีกสองหน่วยงานที่่อาจจะให้ข้อมูลแตกต่างกันออกไป หน่วยงานแรกคือ CEPAM หรือ Centre of Expertise on Population and Migration และอีกหน่วยงานหนึ่งคือ IHME หรือ Institute for Health Metrics and Evaluation ซึ่งอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
ในภาพรวม สามหน่วยงานนี้ต่างทำนายจำนวนประชากรโลกว่าจะถึง ‘พีก’ แล้วลดน้อยถอยลงเหมือนกันหมด แต่ที่ขัดแย้งกันก็คือ แต่ละหน่วยงานให้ ‘เวลา’ ในการไปถึงพีกแตกต่างกัน
UNPD บอกว่าประชากรจะถึงพีกที่ 10.9 พันล้านคนในปี ค.ศ.2100 ส่วน CEPAM บอกว่าจะพีกที่ 9.8 พันล้านคน (คือไม่ถึงหมื่นล้าน) ในราวปี ค.ศ.2070-2080 ในขณะที่ IHME คิดว่าเร็วกว่านั้น คือน่าจะพีกที่ 9.5 พันล้านคน ในราวปี ค.ศ.2064 โดยแต่ละเจ้าทำนายถึง ‘วิธีร่วง’ ของจำนวนประชากรต่างกันด้วย UNPD บอกว่าพอถึงพีกแล้วน่าจะทรงๆ แล้วค่อยๆ ลดลงทีละน้อย ในขณะที่ CEPAM บอกว่าเมื่อถึงพีกแล้วจะลดลงมาราว 3 พันล้านคนในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี ในขณะที่ IHME โหดสุด เพราะบอกว่าประชากรมนุษย์จะ ‘ลดฮวบ’ ลงมาถึงราว 1 พันล้านคน ก่อนหน้าที่ศตวรรษนี้จะสิ้นสุดลง
การทำนายว่าหลังพีกแล้ว มนุษย์จะลดลงเร็วหรือช้านั้น มีปัจจัยเรื่องภัยคุกคามมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก ทั้งเรื่องโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลไปถึงการผลิตอาหารและน้ำ และแม้เรื่องสงครามจะยังไม่ถูกนำมานับรวมเป็นปัจจัยสำคัญมากนัก แต่ก็เป็นไปได้ที่ปัญหาสองอย่างแรกอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนเกิดสงครามในวงกว้างขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น เมื่อมองไปข้างหน้ายาวๆ เราจึงเห็นทั้งข่าวดี ข่าวร้าย และข่าวที่ไม่แน่นอนว่าด้วยประชากรโลกได้หลายฉากทัศน์
เคยมีคำกล่าวว่า “Demography is destiny.” หรือการศึกษาประชากรว่าจะลดเพิ่มอย่างไรนั้น แท้จริงก็เป็นเรื่องของโชคชะตานั่นแหละ เราคาดการณ์ได้โดยใช้หลักวิชาการและสถิติย้อนหลังมาเป็นหลัก แต่ ‘ของจริง’ ที่จะเกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติจะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงได้แต่รอดูกันต่อไป
Illustration by Kodchakorn Thammachart