เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สหประชาชาติประกาศว่ามนุษยชาติได้เดินทางถึงหมุดหมายใหม่ที่ประชากรโลกแตะระดับ 8 พันล้านคน เราใช้เวลา 12 ปีถ้วนในการเพิ่มจำนวนประชากรจาก 6 พันล้านคนในปี 2541 เป็น 7 พันล้านคนในปี 2553 และอีก 12 ปีเพื่อขยับเป็น 8 พันล้านคน นับว่าเป็นอัตราที่น่าประทับใจมากหากพิจารณาว่าเราต้องฟันฝ่าการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ที่พรากชีวิตคนทั่วโลกไปหลายล้านชีวิต
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของประชากรโลกก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นับจากปัจจุบัน สหประชาชาติคาดว่าต้องรออีก 15 ปีกว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านคน ส่วนอีก 1 พันล้านคนถัดไปจะต้องใช้เวลาถึง 21 ปี ก่อนจะแตะจุดสูงสุดที่ 10.4 พันล้านคนในอีกราว 60 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจำนวนประชากรมนุษย์ก็จะเริ่มคงที่โดยมีขยับเพิ่มขึ้นหรือลดลงบ้างเพียงเล็กน้อย
แม้จะน่าดีใจในฐานะสมาชิกสปีชีส์ลิงไม่มีหางที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นมหาอำนาจครองโลกใบนี้ แต่ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องจำนวนประชากร เรื่องแรกที่มักผ่านเข้ามาในสมองคือสองปัญหาที่ดูจะตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง
ปัญหาแรกคือประชากรเกิดเยอะเกินไป ส่วนอีกปัญหาหนึ่งคือประชากรเกิดน้อยเกินไป
สาเหตุที่เกิดปัญหาสองขั้วที่ชวนปวดหัวก็เนื่องจากอัตราการเกิดใหม่ที่ต่างกันอย่างลิบลับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วนั่นเอง
สารพันปัญหาเมื่อประชากรล้นโลก
ความกังวลเรื่องประชากรล้นโลกมีมาอย่างยาวนานโดยสามารถสืบย้อนไปกว่า 200 ปีโดยมีเจ้าสำนักอย่าง โธมัส มัลธัส (Thomas Malthus) นักวิชาการชาวอังกฤษ เขาทิ้งคำทำนายอันโด่งดังไว้ว่าไม่ช้าก็เร็วประชากรโลกจะต้องเผชิญความอดอยากแร้นแค้นเพราะอาหารที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อประชากรที่เกิดใหม่ นำไปสู่สงครามที่จะกวาดล้างประชากรมนุษย์จนกลับไปมีจำนวนที่เหมาะสมอีกครั้ง
หนึ่งในผู้สมาทานแนวคิดของมัลธัสอย่างชัดแจ้งคือพ่อหนุ่มธานอสใน MCU ที่อุตสาหะแสวงหามณีทั้ง 6 เม็ดแล้วเสกให้ประชากรมนุษย์หายไปครึ่งหนึ่งเพื่อปกป้องมนุษยชาติไม่ให้เผชิญหน้ากับภัยพิบัติมัลธัส
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถิติจำนวนประชากรในอดีตจวบจนปัจจุบันหลายคนคงอดไม่ได้ที่จะยิ้มหยันเพราะสมัยที่มัลธัสเสนอทฤษฎีดังกล่าวประชากรมนุษย์มีเพียงราว 1 พันล้านคนเท่านั้น ในปีนี้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่าตัวแล้วก็ไม่เห็นจะมีทีท่าว่าเราจะอดอยากแร้นแค้นแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีบางมุมโลกที่คนยังเผชิญความหิวโหย แต่ปัญหาดังกล่าวเกิดจากระบบการจัดสรรปันส่วนอาหารที่ไม่ทั่วถึงโดยไม่เกี่ยวกับการที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอแต่อย่างใด
สมมติฐานสำคัญที่ทำให้คำทำนายของมัลธัสผิดพลาดคือ ‘ผลิตภาพทางการเกษตร’ ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรทางการเกษตร การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และปุ๋ยเคมี ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารวิ่งตามการเพิ่มขึ้นของประชากรได้แบบสบายหายห่วง
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวก็ได้พัฒนาสู่สำนักคิดนีโอมัลธัส (Neo-Malthusianism) ที่มองว่าโลกใบนี้มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด เมื่อมนุษย์ใช้ทรัพยากร ‘มากเกินกว่าระดับที่ยั่งยืน’ ก็จะนำไปสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจฟื้นฟูกลับมาได้ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนรุ่นหลัง ตัวอย่างเช่น การประมงเกินขนาดในปัจจุบันเพื่อให้คนยุคนี้อิ่มหนำสำราญ อาจทำให้ไม่เหลือปลามากพอให้ลูกหลานได้อิ่มท้องเพราะประชากรปลาฟื้นตัวไม่ทันนั่นเอง
อีกความท้าทายสำคัญในปัจจุบันที่ต่างจากยุคของมัลธัสคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อน วิถีชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบันปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นปรากฎการณ์เรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนและทำให้ภูมิอากาศเกิดความแปรปรวน ทั้งภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ระบบนิเวศสัตว์และพืชที่ล่มสลายเพราะปรับตัวไม่ทัน การผลิตพืชอาหารประสบปัญหา และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ
หายนะเหล่านี้หมายความว่าประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ก็ไม่ต่างจากการตอกตะปูปิดฝาโลงมนุษยชาติหรือเปล่า?
คำตอบคืออาจไม่ใช่ครับ! แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเรื่องจริง แต่ประเทศที่ประชากรเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งหมดต่างอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ คองโก อียิปต์ และเอธิโอเปีย ซึ่งไลฟ์สไตล์ของประชากรในประเทศเหล่านี้ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 15.52 ตันต่อคนต่อปี เทียบกับอินเดียที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 1.91 ตันต่อคนต่อปี หรือน้อยกว่ากันเกือบ 8 เท่าตัว
ดังนั้นจำนวนประชากรเพียงลำพังย่อมไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่สาเหตุหลักคือ ‘การยกระดับคุณภาพชีวิต’ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีทางเลือกคาร์บอนต่ำในการยกระดับคุณภาพชีวิตไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์จากพืช หรือพลังงานหมุนเวียน หากร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาบนเส้นทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบก็อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคาดการณ์
ภาระบนบ่าคนรุ่นใหม่ ในสังคมผู้สูงอายุ
นอกจากปัญหาประชากรเกิดมากเกินไป ในกลุ่มประเทศกว่า 2 ใน 3 ของโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วรวมถึงไทยกลับเจอปัญหาในทางตรงกันข้ามนั่นคือประชากรเกิดน้อยเกินไปประกอบกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปไกลจนประชาชนอายุยืนยาว ส่งผลให้สังคมซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีคนหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่จึงค่อยๆ กลายเป็นสังคมสูงอายุ
ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 61 ประเทศคาดว่าจะเผชิญปัญหาประชากรหดตัวราว 1% ในอีก 30 ปีข้างหน้า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่ที่ขยับจากวัยแรงงานกลายเป็นวัยเกษียณอายุ นี่คือปัญหาที่ภาคธุรกิจในอนาคตต้องเผชิญเนื่องจากแรงงานในตลาดที่มีทักษะที่ต้องการอาจไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลิตภาพในการทำงานลดลง ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น การขยายธุรกิจที่ต้องชะลอออกไป และบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
ภาครัฐเองก็หนีไม่พ้นผลกระทบของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ในวันที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานแต่ยังชีพโดยใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบทั้งชีวิตผนวกกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล แต่คนส่วนน้อยทำงานหาเงินมาจ่ายภาษีเข้ากระเป๋าภาครัฐ ย่อมนำไปสู่ปัญหาความไม่สมดุลของงบประมาณที่รัฐบาลอย่างประเทศญี่ปุ่นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการกู้เงินก้อนใหญ่จนปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงถึง 266%
หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา ไม่อยากย่ำตามรอยญี่ปุ่นจึงหาทางทดแทนประชากรวัยแรงงานที่ลดน้อยถอยลงโดยการ ‘นำเข้า’ ชาวต่างชาติทักษะสูงเข้ามาทำงาน อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะประชาชนในประเทศมองว่าเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาแย่งงาน ยังไม่นับเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษาอีกด้วย
ส่วนอีกทางออกหนึ่งซึ่งเป็นไปได้ยากกว่าเนื่องจากต้องจ่าย ‘ราคาทางการเมือง’ ที่แพงลิ่วคือการลดสวัสดิการผู้สูงอายุ หรือการเพิ่มอัตราภาษีซึ่งคงจะเป็นวิธีสุดท้ายจริงๆ เพราะคงไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้สูงวัยที่กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสังคม
ถึงแม้ทั้งเด็กเกิดมากไปและเด็กเกิดน้อยไปจะเป็นความท้าทายของยุคสมัย แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ถึงขั้นเลวร้ายขนาดที่จะทำให้มนุษยชาติล่มสลาย เราก็คงได้แต่มองในอนาคตอย่างมีความหวังว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยจะช่วยยกระดับผลิตภาพอีกครั้งในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เหล่าแรงงานจำนวนน้อยลงก็สามารถสร้างผลผลิตมากพอที่จะพยุงสังคมผู้สูงอายุ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรโดยไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากนักในเวลาเดียวกัน
อ้างอิงจาก