เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวในแวดวงศิลปะว่า มีผู้ชมงานศิลปะคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุร่วงตกลงไปในผลงานศิลปะจัดวางของ อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) ศิลปินชื่อดังชาวอินเดีย สัญชาติอังกฤษ เชื้อสายยิว ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Fundação de Serralves ที่เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส
เรื่องมันน่าขันขื่นตรงที่ผลงานชิ้นนี้นั้นมีชื่อว่า Descent into Limbo (1992) ที่แปลว่า ‘ร่วงหล่นสู่ขุมนรก’ ซึ่งประกอบด้วยอาคารรูปลูกบาศก์ กลางพื้นภายในอาคารมีหลุมขนาดใหญ่ ที่ด้านในสีดำสนิทมืดมิดจนมองไม่เห็นก้น ด้วยความที่พื้นผิวภายในหลุมฉาบด้วย Vantablack หรือ ‘สีดำที่ดำที่สุดในโลก’ (ที่เขาถือสิทธิ์เป็นศิลปินเพียงผู้เดียวในโลกที่สามารถใช้สีนี้ทำงานศิลปะได้ เกิดเป็นเรื่องพิพาทกับศิลปินอื่นๆ จนบานปลายอื้อฉาว) เพื่อสร้างความรู้สึกของความลึกอันไม่มีที่สิ้นสุดราวกับว่ามันเป็นหลุมที่ทอดยาวสู่ขุมนรกจริงๆ
โดยปกติแล้ว ผู้ชมงานนี้จะเดินดูงานอยู่รอบๆ หลุม และถึงแม้ตัวงานจะปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยด้วยการติดป้ายเตือน และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่ด้านใน แต่ด้วยความที่มันเป็นหลุมที่ไม่มีรั้วกั้น ท้ายที่สุดก็มีคนตกลงไปอยู่ดี โชคยังดีที่หลุมนั้นลึกเพียง 2.5 เมตร แต่ความสูงเท่านั้นก็เพียงพอที่ให้ผู้ชมงานเคราะห์ร้าย รู้สึกว่ามันช่างยาวนานกว่าจะถึงก้นหลุม หลังจากมีคนเห็นเขาประสบอุบัติเหตุร่วงลงในงานศิลปะ ผู้ชมงานชาวอิตาเลียน วัยราว 60 ปี ผู้นี้ ก็ถูกช่วยเหลือขึ้นจากหลุมและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที โดยเขาได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โชคยังดีที่มันไม่ใช่หลุมนรกจริงๆ น่ะนะ!
หลังจากเกิดอุบัติเหตุ งานชิ้นนี้ก็ถูกพิพิธภัณฑ์ปิดการแสดงชั่วคราวเพื่อสอบสวนสาเหตุของเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่ทางพิพิธภัณฑ์ก็คาดหวังว่างานจะเปิดให้ชมอีกครั้งในเวลาไม่นานนัก
ผลงาน Descent into Limbo เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการครั้งใหญ่ครั้งแรกในโปรตุเกสของ อนิช กาปูร์ ที่มีชื่อว่า ANISH KAPOOR: WORKS, THOUGHTS, EXPERIMENTS ที่จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2018 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2019 พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Fundação de Serralves เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส ถ้าใครมีโอกาสได้ไปชมงานก็ระวังตกหลุมศิลปะกันหน่อยก็แล้วกันนะ!
อนิช กาปูร์ เคยทำผลงานสไตล์เดียวกันนี้ในหลายเวอร์ชั่น โดยก่อนหน้านี้เขาทำออกมาเป็นบ่อน้ำขนาดใหญที่มีน้ำหมุนวนอย่างต่อเนื่อง บางบ่อเขาก็ใส่สีย้อมน้ำให้ดำสนิทเพื่อให้มันดูเหมือนหลุมดำในห้วงอวกาศที่ลึกราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผลงานชุดนี้มีชื่อว่า Descension (2014 – 2017) หรือการจมดิ่ง เพื่อจงใจกระทบกระเทียบเปรียบเปรยถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของอังกฤษ และปรากฏการณ์ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงสถานการณ์ความโน้มเอียงไปในแนวทางชาตินิยมขวาจัดของการเมืองในยุโรปและอเมริกา เขากล่าวว่าผลงานชิ้นนี้มีความเชื่อมโยงกับการเมืองของอเมริกันอย่างมาก
ตัวเขาเองก็เคยแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สั่งแบนผู้ลี้ภัยจาก 7 ประเทศไม่ให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ รวมถึงระงับโครงการผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 120 วัน โดยเชิญชวนให้เพื่อนๆ ศิลปินและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ร่วมกับเขา นอกจากนี้บริจาคเงินรางวัล Genesis Prize หรือที่เรียกกันในชื่อ รางวัลโนเบลของชาวยิว ในปี 2017 จำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยในการพยายามบรรเทาวิกฤติของผู้ลี้ภัยทั่วโลกอีกด้วย
ก่อนหน้านี้เขาเคยทำผลงานชุดบ่อน้ำหมุนวนในรูปแบบของงานศิลปะจัดวางกลางแจ้งขนาดมหึมา โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 7.9 เมตร ติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะสะพานบรูคลิน โชคยังดีที่ยังไม่มีข่าวว่ามีใครตกลงไปในบ่อน้ำเหล่านี้ของเขา (อาจจะเป็นเพราะมันเป็นบ่อน้ำวนที่ออกจะดูอันตรายสักหน่อย คนเลยระมัดระวังตัวกันมากกว่า แถมบางบ่อก็ถูกล้อมด้วยราวลูกกรงเหล็กกันตกด้วยแหละนะ)
อนิช กาปูร์ เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแนวคอนเซ็ปชวลและมินิมอล ที่เต็มเปี่ยมด้วยความงามราวกับบทกวี แต่ก็แฝงเร้นการอุปมาอันลุ่มลึกคมคาย ผลงานของเขามักเป็นประติมากรรมนามธรรมขนาดมหึมา ที่สร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้ชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และสัมผัสกับประสบการณ์อันน่าพิศวงราวกับอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างห่างไกลและอบอุ่นชิดใกล้ราวกับอยู่ในครรภ์มารดาไปพร้อมๆ กัน ประติมากรรมของเขาเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดของปรัชญาอันซับซ้อนลึกซึ้งและประสบการณ์ดาษดื่นสามัญในชีวิตประจำวันของคนเรา
เขามักสร้างผลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมงานสัมผัสหรือเดินเข้าไปอยู่ในผลงานอย่างใกล้ชิด เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงถึงความสัมพันธ์อันน่าสนใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ผลงานของเขามักทำให้ผู้ชมหวนรำลึกถึงแหล่งกำเนิดและจุดเริ่มต้นของชีวิต เขามักทำงานประติมากรรมที่มีช่องรูหรือสัดส่วนโค้งเว้า ที่ทำให้รำลึกถึงช่องคลอด หรือรูปทรงของครรภ์มารดา และเปิดโอกาสให้ผู้ชมเดินทางเข้าไปอยู่ข้างในผลงานเหล่านั้น ที่ให้ความรู้สึกไม่ต่างอะไรกับการหวนคืนสู่มดลูกของแม่ เพื่อแสดงนัยยะถึงเส้นทางของการมีชีวิต
เขาสนใจในความเป็นอนันต์และความว่างเปล่าอันไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับการขุดคว้านพื้นที่เพื่อเสาะหาความหมาย และสะท้อนสภาวะอันว่างเปล่าและหมดจดของจิตใจมนุษย์ เขามักจะใช้สีสันเพื่อแสดงออกถึงสภาวะของร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นสีแดงสดที่แทนเลือด และการมีชีวิต สีดำสนิทที่แสดงถึงห้วงเหวลึกสุดหยั่งในจักรวาล หรือสีเลื่อมมันวาวแบบกระจกเงาที่สะท้อนภาพของท้องฟ้าอันกว้างไกล หรือแม้แต่สะท้อนถึงตัวตน ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของผู้ที่จ้องมองมัน ผลงานของเขามักจะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ สุดจะคาดเดาและนำเสนอความเป็นไปได้อันไม่รู้จบในการไตร่ตรองและสำรวจตัวเองให้แก่ผู้ชม
ด้วยผลงานประติมากรรมสาธารณะขนาดมหึมาที่ติดตั้งในทั่วโลก เขาสร้างภาษาสัญลักษณ์อันไร้คำพูด ที่สามารถสื่อสารกับผู้คนในหลายชาติ หลากวัฒนธรรม และต่างช่วงเวลาได้ รวมถึงแสดงการจับคู่เปรียบสิ่งของที่แตกต่างกันแต่ก็อยู่เคียงคู่กัน เช่น แสงสว่างและความมืด, ผืนแผ่นดินและท้องฟ้า, จิตใจและร่างกาย, ชายและหญิง หรือแม้แต่งานจิตรกรรมและประติมากรรม
ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้ อนิช กาปูร์ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ Cloud Gate (2004-2006) ประติมากรรมกลางแจ้งที่ติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ Millennium Park กลางเมืองชิคาโก ตัวประติมากรรมมีความสูง 10 เมตร กว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร ดูเผินๆ มันมีรูปร่างคล้ายถั่วยักษ์ มันจึงมีชื่อเล่นว่า ‘The Bean’
ประติมากรรมที่มีพื้นผิวแวววาวเงาวับที่สะท้อนภาพของท้องฟ้า ทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่อง และผู้คนรอบข้างได้อย่างใสแจ๋วกระจ่างแจ้งจนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมากชิ้นนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของปรอทเหลว ตัวประติมากรรมมีช่องโค้งเว้าด้านใต้สูง 3.6 เมตร ทำให้คนสามารถเดินเข้าไปดูได้ ซึ่งตรงจุดศูนย์กลางด้านบนมีรูปทรงที่คล้ายกับ ‘สะดือ’ ที่มีส่วนเว้าสะท้อนภาพเงาบิดเบี้ยวตามรูปทรงโค้งเว้าของมันออกมาเป็นภาพพิสดารจำนวนนับไม่ถ้วนอย่างน่าอัศจรรย์ เสมือนเป็นแลนด์มาร์กหรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่สร้างความชื่นชอบให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปเงาสะท้อนประหลาดๆ ของตัวเอง
ในปี 1999 ผู้บริหารสวนสาธารณะของเมือง และกลุ่มนักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ และสถาปนิก ร่วมกันคัดเลือกศิลปินสองคนจากจำนวน 30 คน ให้นำเสนอแบบร่างผลงาน นั่นก็คือศิลปินอเมริกันชื่อดังอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) และ อนิช กาปูร์ ซึ่งท้ายที่สุด คณะกรรมการก็เลือกแบบของกาปูร์ มาสร้างเป็นผลงานจริง ประติมากรรมรูปร่างคล้ายถั่วโลหะผิวมันวาวราวกับกระจกชิ้นนี้จึงตั้งตระหง่านสะท้อนภาพท้องฟ้าของเมืองชิคาโก และสะท้อนภาพเงาอันแปลกประหลาดพิสดารของเหล่าผู้ที่มาเยี่ยมชมราวกับบ้านกระจกพิศวงมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังปรากฏตัวเป็นฉากหลังอยู่ในหนังหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Source Code, The Break-Up (2006), The Vow (2012) และ Transformers: Age of Extinction (2014) อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ในปี 2017 ที่ผ่านมา ก็มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับผลงานของ อนิช กาปูร์ นั่นก็คือการที่ผลงานศิลปะของเขาชิ้นหนึ่งถูกก่อวินาศกรรม ผลงานชิ้นนั้นมีชื่อว่า Dirty Corner (2011) ประติมากรรมนามธรรมรูปท่อโลหะยักษ์ ขนาด 60 x 10 เมตร ที่สร้างขึ้นจากโลหะและหิน ถูกติดตั้งอยู่ในสวนของพระราชวังแวร์ซายส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความที่มีลักษณะคล้ายกับช่องคลอด จึงได้รับฉายาจากนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนว่า ‘ช่องคลอดราชินี’ (Queen’s Vagina) โดยผลงานชิ้นนี้ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมหลายล้านคนต่อปี แต่กลับถูกมือดีนำสีเหลืองไปสาดใส่จนเลอะเทอะ แต่โชคดีที่งานถูกทำความสะอาดจนเรียบร้อยและไม่ได้มีอะไรบุบสลายแต่อย่างใด แต่ภายหลังก็ยังมีถูกคนมือบอนพ่นสเปรย์ถ้อยคำด่าทอลงไปจนเปรอะเปื้อนไปทั่วงานอีกอยู่ดี
กาปูร์อธิบายว่าผลงานชิ้นนี้เป็นสัญลักษณ์ช่องคลอดของสตรีผู้ถือครองอำนาจ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง แต่ตัวศิลปินเองกล่าวว่าเขาไม่เคยบอกว่าผลงานชิ้นนี้เป็นช่องคลอดของราชินีฝรั่งเศส เพียงแต่เป็นรูปทรงของสตรีเพศที่นอนเหยียดยาวอยู่บนสนามหญ้าเหมือนกับราชินีอียิปต์หรือสฟิงก์ก็เป็นได้ เขากล่าวด้วยความฉุนเฉียวว่าการตั้งสมญานามผลงานชิ้นนี้ว่า ‘ช่องคลอดราชินี’ เป็นการดูถูกและสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ผลงานของเขา เพราะเขาเองไม่ได้มีเจตนายั่วยุคนดูหรือสร้างความอื้อฉาวแต่อย่างใด
เขากล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมและเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมาก และมันแสดงให้เห็นถีงคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่ากิจกรรมสร้างสรรค์อะไรก็ตามเป็นการคุกคามต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและอดีตอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา แต่กาปูร์ก็ทิ้งท้ายว่า ถ้ามองในแง่ดี การก่อวินาศกรรมต่องานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าพลังของศิลปะสามารถปลุกเร้าจิตใจคนดู ขยายขีดจำกัดทางความคิด และแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจอันไร้ขีดจำกัดของศิลปะวัตถุที่ไร้ชีวิตได้
แต่ยังไงๆ ผลงานประติมากรรมรูปร่างคล้ายช่องคลอดที่ถูกสาดสีจนเปรอะเลอะเทอะแบบนี้ก็ทำให้เราอดคิดลึกคิดไกลไปถึงไหนต่อไหนไม่หยอกเหมือนกัน จริงไหมครับท่านผู้อ่าน!
อ้างอิงข้อมูลจาก
dazeddigital.com/anish-kapoor-pledges-1m-prize-money-to-refugee-crisis