เนื่องด้วยในวันที่ 4 พฤษภาคม นี้ จะมีนิทรรศการรวบรวมผลงานสุดคลาสสิก ของจิตรกรเอกชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโบราณอย่าง คาราวัจโจ จากการสะสมของพิพิธภัณฑ์สำคัญทั่วโลก มาจัดแสดงที่บ้านเรา ในรูปแบบของสำเนาจากจิตรกรรมต้นฉบับที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี HD Digital Painting ซึ่งเป็นการบันทึกภาพแบบดิจิทัลความละเอียดสูง ที่ช่วยให้เห็นภาพจิตรกรรมด้วยความคมชัด ซึ่งได้ทำการปรับแสงและสี เพื่อพิมพ์บนวัสดุโปร่งแสงด้วยการเทียบเคียงกับต้นฉบับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นการผลิตด้วยคุณภาพภายใต้การควบคุมจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอิตาเลียนและนานาประเทศ โดยนำมาจัดแสดงร่วมกัน เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นเนื้อหา องค์ประกอบ และความงามในรายละเอียดของภาพวาดอย่างใกล้ชิด
นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Caravaggio Opera Omnia ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิตาเลียนเฟสติวัลประเทศไทย ประจำปี 2018 เพื่อฉลองวาระครบรอบ 150 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศไทย นิทรรศการจัดแสดงที่ ห้องนิทรรศการชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะมีพิธีเปิดในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม เวลา 18.30 น. และจัดแสดงระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2018 นี้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าใครมีโอกาสก็ควรจะไปดูผลงานต้นฉบับของจริงให้เห็นกับตา ย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ แหละนะ แต่ยังไงคราวนี้เราก็ถือโอกาสเกาะกระแส หยิบเอาเรื่องราวของจิตรกรเอกผู้นี้มาบอกเล่าเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนจะไปชมนิทรรศการนี้ก็แล้วกัน
คาราวัจโจ หรือ มิเกลันเจโล เมรีซี ดา คาราวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) (1571-1610) เป็นจิตรกรชาวอิตาเลียน ผู้ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในกรุงโรม, เนเปิลส์, มอลตา (ประเทศมอลตาในปัจจุบัน) และซิซิลี (แคว้นปกครองตนเองซิซิลีในปัจจุบัน) ในช่วงปี 1590s ถึง 1610
ภาพวาดของเขามักเป็นการผสมผสานการสำรวจสภาวะความเป็นมนุษย์ทั้งทางร่างกาย และอารมณ์ความรู้สึก เข้ากับการใช้แสงเงาจัดจ้าน ที่ถือได้ว่าเป็นต้นธารของงานจิตรกรรมยุคบาโร้ก* คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้
บาโร้ก* (Baroque) เป็นงานจิตรกรรมในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะวัฒนธรรมแบบบาโร้กในปลายศตวรรษที่ 16 และช่วงศตวรรษที่ 17 ไปจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 18 โดยถือกำเนิดขึ้นในอิตาลีด้วยความสนับสนุนของชนชั้นปกครองและศาสนจักร ศิลปะบาโร้กมักจะนำเสนอภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ๋ น่าตื่นตาตื่นใจ รุ่มรวยด้วยสีสันและแสงเงาจัดจ้าน เพื่อแสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการปกครองและศาสนา จุดเด่นของศิลปะบาโร้กมีความแตกต่างจากศิลปะยุคเรอเนสซองส์ที่มักจะเล่าเรื่องราวก่อนที่เหตุการณ์สำคัญจะเกิดขึ้น แต่ศิลปะบาโร้กมักจะเลือกเล่าเรื่องราวในจุดไคลแม็กซ์ ขณะที่เหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้น ในปัจจุบัน ‘บาโร้ก’ มีความหมายถึงความไม่ปกติ ความบิดเบี้ยวเกินพอดี มักใช้ล้อเลียนสิ่งที่มีอาการฟุ้งเฟ้อ หรูหราจนเกินความพอดีนั่นเอง
เขาเกิดที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ คาราวัจโจ ในปี 1571 ช่วงวัยเยาว์เขาผ่านการฝึกงานกับ ซิโมเน เปเตอร์ซาโน (Simone Peterzano) และจิตรกรเอกในยุคนั้นอย่าง ทิเชียน (Titian) เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม เขาเดินทางอย่างมุ่งมั่นเพื่อแสวงหาชื่อเสียงในฐานะศิลปินที่กรุงโรม
คาราวัจโจ เป็นจิตรกรที่สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดอันล้ำยุคสมัย เป็นผู้ปฏิวัติและล้มล้างแนวคิดเดิมๆ ของจิตรกรในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง เขาบุกเบิกการการทำงานจิตรกรรมด้วยภาพลักษณ์ ไปจนถึงทัศนคติแบบสมัยใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน
โดยเขาได้รับงานว่าจ้างให้วาดภาพเชิงศาสนา จากทางศาสนจักรหลายต่อหลายภาพ แต่เขามักตีความบุคคลทางศาสนาขึ้นใหม่ โดยลดทอนความศักสิทธิ์และใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไป ด้วยการใช้คนธรรมดาสามัญอย่างคนในชนชั้นแรงงาน หรือแม้แต่โสเภณีตามท้องถนนมาเป็นแบบวาดภาพบุคคลทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพระเยซู, พระแม่มารี และเหล่านักบุญทั้งหลาย จนถูกโจษขานกันอย่างอื้อฉาวว่าเขา “เอากะหรี่มาวาดเป็นพระแม่มารี!” เลยทีเดียว
เขาวาดภาพตัวละครทางศาสนาในพระคัมภีร์ไบเบิลเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่ไม่ได้สูงส่งเลิศเลอ หรืองดงามตามอุดมคติ หากแต่ใส่ริ้วรอยของวัยและความชรา ความลำบากยากจน หรือให้สวมใส่เสื้อผ้าปกติตามยุคสมัย (ของเขา) ซึ่งการใส่ความเป็นมนุษย์ให้กับบุคคลอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้นี่เองที่ทำให้คนธรรมดาทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือทำให้เรื่องราวทางศาสนาและจิตวิญญาณที่ปกติเข้าถึงและเข้าใจได้ยาก เป็นอะไรที่ป๊อป และเข้าถึงง่ายนั่นแหละนะ
ภาพวาดโสเภณีในคราบแม่พระ หรือพระคริสต์และเหล่านักบุญเท้าเปล่าเปื้อนฝุ่นและโชกเลือดของคาราวัจโจ นี่เอง ที่ช่วยขับเน้นถึงความสมถะเรียบง่ายของพระเยซูคริสต์ และดึงให้ศาสนาที่เคยศักดิ์สิทธิ์สูงส่งคนธรรมดาเอื้อมไม่ถึง ลงมาอยู่ติดดินและเข้าถึงง่าย
นอกจากนั้น เขายังมักสอดแทรกความรุนแรงโหดเหี้ยมลงในภาพวาดอย่างที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำมาก่อน จนกลายเป็นต้นแบบแรกๆ ของความเหี้ยมโหดในการแสดงออกทางศิลปะ ซึ่งทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และทำให้ผู้ว่าจ้างหลายรายมักปฏิเสธผลงานที่เขาทำเสร็จ โดยอ้างว่ามันไม่เหมาะสมที่จะติดตั้งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันมีความก้าวร้าวรุนแรง และมีนัยยะในเชิงดูหมิ่นศาสนาเกินไป
ความรุนแรงในภาพวาดของคาราวัจโจ นอกจากจะเป็นการแสดงแบบจะๆ แจ้งๆ อย่างเช่นการทารุณกรรมต่างๆ ต่อพระเยซูและสาวกที่ถูกทุบตี ทรมานต่างๆ นาๆ โดยทหารโรมัน ตั้งแต่ก่อนตรึงไม้กางเขนจนเอาพระศพลงจากไม้กางเขน หรือเล่าเรื่องราวอันสยดสยองในพระคัมภีร์ ซึ่งการใช้แสงเงาอันจัดจ้านเข้มข้น ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่เน้นให้ภาพเขียนของเขาเปี่ยมความรุนแรงและมีความสมจริงอย่างยิ่ง โดยการแสดงออกในงานศิลปะของเขา น่าจะมีผลพวงมาจากประสบการณ์ในชีวิตนั่นเอง
ดังเช่นในภาพวาด Judith Beheading Holofernes (1598) ที่เป็นเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิ้ลของ จูดิธ วีรสตรีชาวยิวที่ลอบเข้าไปตัดหัว โฮโลเฟอร์เนส แม่ทัพชาวบาบิโลนถึงที่นอน องค์ประกอบในการแสดงออกทางสีหน้าและแววตาอันสมจริง บรรยากาศอันรุนแรงและเหี้ยมโหด ความสยดสยองที่ถ่ายทอดออกมาในภาพเขียนแบบนี้นี่เอง ที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นอย่างหาใครเสมอเหมือนของคาราวัจโจ
คาราวัจโจมักจะวาดภาพจากแบบโดยตรง ไม่มีการร่างภาพ เพราะเขาต้องการสำรวจบุคคลเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด และถ่ายทอดออกมาด้วยการใช้แสงอันจัดจ้าน สาดส่องไปยังตัวละครในภาพวาด เพื่อดึงดูดความสนใจ และเปิดเผยรายละเอียดของบุคคลเหล่านั้น โดยขับเน้นให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการใช้เงาอันเข้มข้นหนักหน่วงในที่มืด ซึ่งลักษณะของการใช้แสงเงาที่ตัดและขัดแย้งกันอย่างจัดจ้านรุนแรงนี้เป็นเทคนิคที่มีชื่อเรียกว่า ไครอสคูโร**นั่นเอง
**ไครอสคูโร (chiaroscuro) เป็นภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า แสง–เงา เป็นเทคนิคในการใช้แสงเงาอันจัดจ้านและขัดแย้งกันอย่างรุนแรงคล้ายกับฉากบนเวทีละคร ซึ่งช่วยขับเน้นความโดดเด่นและสร้างมิติและความสมจริงให้กับตัวละครในภาพ ซึ่งถูกนำไปใช้ต่อยอดในงานศิลปะสมัยใหม่อย่างภาพถ่ายและภาพยนตร์ในภายหลัง
ถึงแม้เทคนิคนี้จะไม่ได้ถูกคิดค้นโดยคาราวัจโจ แต่เขาก็เป็นจิตรกรคนแรกๆ ที่นำมาใช้อย่างโดดเด่น บ่อยครั้ง จนเป็นที่แพร่หลายและกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาไปในที่สุด
อนึ่ง ความรุนแรงในภาพวาดของคาราวัจโจ ก็ดูจะไม่ต่างกับวิถีชีวิตอันดุเดือดเลือดพล่านของเจ้าตัว ไม่ว่าจะเป็นคนอารมณ์ร้อนร้าย นิยมความรุนแรงจนทำให้คนรอบข้างต่างพากันหลีกหนี มักมีปัญหากับทางการ และฝ่าฝืนกฎหมายบ่อยครั้ง รวมถึงเกี่ยวพันเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมหลายหน (ว่ากันว่าเขาเคยเอาชามอาหารขยี้หน้าเด็กเสิร์ฟที่พูดจาไม่เข้าหูด้วย)
และด้วยความที่ไม่เคยมีหลักฐานว่าคาราวัจโจเคยแต่งงานหรือมีลูก ประกอบกับการที่เขาวาดภาพอีโรติกวาบหวิวของเด็กหนุ่มมากมายหลายคน (ในขณะที่เขาไม่ค่อยวาดภาพอีโรติกของผู้หญิงสักเท่าไหร่นัก) ทำให้มีการสันนิษฐานว่าเขาน่าจะมีรสนิยมทางเพศที่ชมชอบไม้ป่าเดียวกัน ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ของเขามักเป็นภาพเปลือยของเด็กหนุ่มเอ๊าะๆ ที่มักจะเป็นผู้ช่วยของเขาเอง ว่ากันว่า เขามีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มเหล่านั้นด้วย ซึ่งถ้าเป็นในยุคปัจจุบันมันก็คือการพรากผู้เยาว์ดีๆ นี่เอง
ที่เลวร้ายที่สุดคือการที่เขาพลั้งมือฆ่าคนตายอย่างโจ่งแจ้งในการวิวาทครั้งหนึ่ง จนต้องหลบหนีร่อนเร่ไปทางตอนใต้ของอิตาลี และซิซิลี โดยกบดานอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับเข้ากรุงโรม โดยหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ระหว่างเดินทางกลับ เขาก็ถูกจับกุม และคุมขังอยู่ระยะหนึ่งด้วยความเข้าใจผิด จนกระทั่งล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยวัยเพียง 39 ปี
ถึงแม้จะมีอายุที่แสนสั้น แต่คาราวัจโจเป็นจิตรกรคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ผู้เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของงานจิตรกรรมในช่วงปลายยุคแมนเนอร์ริสม์*** และถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกงานจิตกรรมยุคบาโร้ก ถึงแม้เขาจะมีผลงานหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงยี่สิบกว่าชิ้น แต่ผลงานของเขาก็ส่งอิทธิพลอย่างมาก ทั้งต่อศิลปินในยุคร่วมสมัยกับเขาและศิลปินรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอิตาเลียนอื่นๆ ที่ลอกเลียนแบบสไตล์ของเขา ไปจนถึงศิลปินต่างประเทศอย่าง เรมบรันต์ และ ดิเอโก เบลาสเกซ ที่ใช้แสงเงาอันจัดจ้านแบบเดียวกับคาราวัจโจ ในผลงานของพวกเขา
***แมนเนอร์ริสม์ (Mannerism) หรือ ศิลปะปลายยุคเรอเนสซองส์ เป็นงานศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายของยุคเฟื่องฟูของเรอเนสซองส์ในช่วงปี 1520s ไปจนถึงช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 16 (ปลายยุค 1590s) ในอิตาลี ที่มีลักษณะเด่นในการต่อต้านลักษณะอันกลมกลืนตามธรรมชาติในงานศิลปะของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองอย่าง ดา วินชี และ ราฟาเอล และนำเสนอร่างกายของมนุษย์ที่ถูกบิดผันอย่างประเดิษฐ์ประดอยผิดธรรมชาติ เพื่อนำเสนออารมณ์ความรู้สึกอันยิ่งใหญ่อลังการ
นอกจากนั้นมันยังส่งแรงบันดาลใจมาสู่งานศิลปะสมัยใหม่อย่างภาพถ่ายและภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินภาพถ่ายอย่าง เดวิด ลาชาแปลล์ (David LaChapelle) หรือผู้กำกับหนังอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่กล่าวว่า ผลงานของพวกเขานั้นได้แรงบันดาลใจมาจากการสร้างบรรยากาศ และการนำเสนอร่างกายอันไม่สมประกอบในภาพวาด รวมถึงความสามารถในการเล่าจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องราวผ่านภาพภาพเดียวของคาราวัจโจ
ยิ่งไปกว่านั้น หนังชีวประวัติศาสดาของคริสต์ศาสนาอย่าง The Passion of the Christ (2004) ของ เมล กิ๊บสัน ที่เล่าถึงช่วงเวลาสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ก่อนถูกตรึงกางเขน นั้นก็ได้รับอิทธิพลโดยตรงในการถ่ายทำ ทั้งภาพเคลื่อนไหว แสงเงา สีสัน บรรยากาศ และองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดในหนัง มาจากภาพเขียนของคาราวัจโจนั่นเอง
หรือผู้กำกับอาร์ตตัวพ่ออย่าง ดีเรก จาร์แมน เอง ก็เคยทำหนังชีวประวัติของจิตรกรเอกผู้นี้ในหนังอย่าง Caravaggio (1986) ที่ตีความเรื่องราวชีวิตของคาราวัจโจออกมาใหม่ในลีลาร่วมสมัย ด้วยการให้ตัวละครในเรื่องสวมใส่เสื้อผ้าเก๋ไก๋และใช้เครื่องมือเครื่องไม้สมัยใหม่อย่างพิมพ์ดีด ปากคาบบุหรี่ ขี่จักรยาน แถมยังสบถด่ากันด้วยศัพท์แสงของคนในยุคสมัยปัจจุบัน (หมายถึงยุค 1986 น่ะนะ) ได้อย่างเก๋ไก๋เปี่ยมสไตล์ซะจนคว้ารางวัลหมีเงิน (Silver Bear) จากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน 1986 มาได้
และไม่ว่าเขาจะมีชีวประวัติเหลวแหลกเลวร้ายอย่างไรก็ตาม แต่จิตรกรเอกอย่างคาราวัจโจ ก็ยังคงเป็นต้นธารของแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานสร้างสรรค์มากมาย และถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในจิตรกรชั้นครูในยุคโบราณที่สุดแสนจะ ‘โมเดิร์น’ จวบจนทุกวันนี้
อ่านเกี่ยวกับนิทรรศการ Caravaggio Opera Omnia ได้ที่นี่ http://www.bacc.or.th/event/1966.html
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/Caravaggio
en.wikipedia.org/wiki/Chiaroscuro