โปเกมอนโก ไม่ใช่แค่เกมโง่ๆ เกมหนึ่งเท่านั้น แต่โปเกมอนโก-คือการมาถึงของ ‘โลก’ อีกแบบหนึ่ง-ที่แม้ตัวเกมเองอาจไม่ได้ยั่งยืนถาวรอะไร อาจเป็นแค่แฟชั่น อาจจะอยู่แล้วก็จากไปเหมือนแฟชั่นอื่นๆ แต่การมาถึงของเกมนี้ คือการ ‘แง้มประตู’ ให้เห็นมองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ หลายอย่างของอนาคต
ไม่แปลกเท่าไหร่ ที่ ‘ผู้คนแห่งอดีต’ จะมองโปเกมอนโกด้วยสายตาระแวงระวัง และอาจเลือกมอง ‘ข้อเสีย’ ของเกมนี้โดยที่ไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง-ซึ่งถ้าแค่ระแวงก็คงไม่เป็นไร ถ้าไม่ได้คิดจะพยายามใช้ ‘อำนาจเก่า’ บางอย่างมาควบคุม ‘โลกใหม่’ ใบนี้
ซึ่งแน่นอน-ในที่สุดก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้!
คำถามก็คือ ความ ‘ใหม่’ ที่มีอยู่ในเกมนี้คืออะไรบ้าง
สำหรับผม ความใหม่แรกสุดที่เกมนี้มอบให้เราโอบกอด ก็คือการสร้าง ‘สะพาน’ ขึ้นมาเชื่อม ‘โลก’ สองใบ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ก่อนหน้านี้ โลกแบ่งออกเป็นสองฟากฝั่งชัดเจน โลกใบหนึ่งคือโลกที่เราเรียกว่า ‘โลกจริง’ เป็นโลกที่เราอยู่ จับต้อง กินขี้ปี้นอนกันอยู่ในนี้ กับโลกอีกแบบคือโลกเสมือนหรือโลกออนไลน์ โดยผู้คนต้อง ‘เลือกข้าง’ เสมอ ว่าตัวเองจะอยู่ในโลกจริงหรือโลกเสมือน โดยเฉพาะเวลาเล่นเกมที่หลายคนผลุบเข้าไปในโลกเสมือนแล้วไม่กลับออกมาภายนอกเป็นเวลานานๆ แต่โปเกมอนโกใช้สิ่งที่เรียกว่า Augmented Reality มา ‘เชื่อม’ โลกสองใบนี้เข้าด้วยกันได้ประสบความสำเร็จและ ‘ป๊อบ’ เป็นครั้งแรก
จริงๆ แล้ว เทคโนโลยี Augmented Reality นั้น ไม่ได้เพิ่งเริ่มมีนะครับ มันมีมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่มนุษย์เรายังไม่สบช่องจะใช้งานมันให้กว้างขวางแพร่หลายได้เท่านั้น แต่ปรากฏการณ์นี้เป็นจริงขึ้นมากับโปเกมอนโก ซึ่งแม้จะเป็นเกม แต่เราก็คงเถียงไม่ได้หรอกนะครับว่าความก้าวหน้าหรือความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคมมนุษย์ก็เกิดมาจากการละเล่นนี่แหละ
ที่ว่ามาคือโลกใหม่ในมุมเทคโนโลยีนะครับ แต่เทคโนโลยีที่ว่านี้ มันไม่ได้อยู่ของมันเฉยๆ ทว่ามันยัง ‘ขว้าง’ มิติทางเทคโนโลยีเข้ามา ‘ปะทะ’ กับแง่มุมทางวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอีกหลายแง่ด้วย
พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ โปเกมอนโกเป็นเสมือนตัวคะตะลิสต์ (หรือจะบอกว่าเป็นเอนไซม์ก็ได้) ซึ่งก็คือตัวเร่งปฏิกิริยาให้สังคมวิ่งไปสู่โลกอนาคตเร็วขึ้นนั่นเอง!
อย่างแรกสุดที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มัน ‘ดึง’ มนุษย์เมืองออกจากวิถีชีวิตเมืองแบบเดิมๆ จากการใช้ชีวิตอยู่กับการ ‘นั่ง’ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะนั่งทำงาน นั่งดูทีวี หรือนั่งเล่นเกมอยู่ในบ้าน โปเกมอนโกทำให้มนุษย์ลุกขึ้นมาเดิน และการเดินนั้นถือว่าเป็นการรื้อฟื้นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่สุดขึ้นมาเพื่อกลายเป็น ‘วัฒนธรรมใหม่’ ของชีวิตเมือง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีการถกเถียงเรื่องการออกแบบเมืองที่นำไปสู่ Walkable City อยู่แล้ว ดังนั้น วิธีการแบบโปเกมอนโก (หรือ Augmented Reality อื่นๆ) อาจเป็นตัว ‘เร่ง’ ให้เกิดวิถีของเมืองใหม่ในอนาคตขึ้นได้
เราคงรู้กันอยู่ว่า โรคที่คนเมืองเจ็บป่วยกันมาก ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตนะครับ เช่นว่าโรคความดันโลหิตสูง ปวดเมื่อยตรงนั้นตรงนี้ โรคอ้วน โรคที่เกี่ยวข้องกับการกิน และอื่นๆ อีกสารพัด
ทีนี้ถามว่า ผู้มีอำนาจในรัฐ (โดยเฉพาะรัฐไทย) มีวิธีมองและแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร?
เสียใจด้วยนะครับที่จะต้องบอกว่า-ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา รัฐไทยใช้หลากหลายวิธีที่จะกระตุ้นให้คนออกกำลังกาย แต่ไม่เคยสำเร็จเลย เพราะวิธีที่เราใช้นั้น เป็นวิธีที่มีฐานคิดแบบ ‘อำนาจนิยม’ ที่มองว่าประชาชนทั่วไปเป็นเพียง ‘สมบัติ’ อย่างหนึ่งของรัฐ (เรียกด้วยภาษาสมัยใหม่ว่าเป็น ‘ทรัพยากร’ ของรัฐ) ดังนั้น มนุษย์แต่ละคนจึงต้องมี ‘หน้าที่’ ในการช่วยดูแลทรัพยากร (หรือสมบัติ) นี้, และเบื้องต้นพื้นฐานที่สุด ก็คือการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกาย ดังนั้น วิธีรณรงค์ของเราส่วนใหญ่จึงมีลักษณะของการ ‘สั่ง’ อยู่กลายๆ เช่น ระดมคนในหมู่บ้านไปเต้นแอโรบิค หรือสมัยก่อนเวลามีงานเดินวิ่งการกุศล เราก็จะเห็นเลยนะครับว่ามีลักษณะของช่วงชั้นทางสังคมที่ชัดเจน คือต้องมี ‘ผู้ใหญ่’ มาเปิดงาน แล้วก็เดินๆ วิ่งๆ กันพอเป็นพิธี ซึ่งทั้งหมดนี้มีฐานคิดจากการเห็นว่าประชาชนเป็น ‘ทรัพยากร’ อย่างหนึ่งของประเทศ ดังนั้น (พวกเอ็ง) ก็ต้อง ‘มีหน้าที่’ ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด
วิธีคิดแบบนี้มักใช้วิธียัดเยียดความรู้สึกผิดให้ประชาชน เราจะเห็นโฆษณาประชาสัมพันธ์หลายอย่างที่สร้าง Negative Incentives หรือแรงจูงใจในแง่ลบขึ้นมาเพื่อให้คนต้องลุกขึ้นมาออกกำลังกายหรือดูแลตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงศีลธรรมจริยธรรม เช่นการดื่มเหล้า ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันเป็นเนื้อเดียวกับการออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้คือการมุ่งสร้าง ‘ทรัพยากร’ ในแต่ละหน่วยคนให้ดีที่สุด เพื่อรัฐหรือประเทศชาติจะได้แข็งแกร่ง
แต่การที่โปเกมอนโก ‘ประสบความสำเร็จ’ ในการทำให้คนออกมาเดิน (บางคนเดินเพื่อฟักไข่กันหลายกิโลเมตร) นั้นมีที่มาของฐานคิดอีกแบบหนึ่ง
โปเกมอนโกอาจไม่ได้ตั้งใจจะมีเป้าหมายเดียวกับรัฐไทยในการดึงคนออกมาเดินเพื่อออกกำลังกายแต่ต้นหรอกนะครับ แต่การที่มันประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ (อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้คนออกมา ‘ยืน’ กันกลางแจ้งเพื่อจับโปเกมอนตามโปเกสต็อป แทนที่จะนั่งอยู่ในบ้านทั้งวี่ทั้งวัน) ผมคิดว่าเกมนี้กำลังตะโกนบอกเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งกับเรา
สิ่งนั้นก็คือ โปเกมอนโกไม่ได้บอกใครว่า-ถือเป็น ‘หน้าที่’ ที่พวกเอ็งจะต้องออกไปเดิน (หรือทำอะไรอย่างอื่นๆ) เพื่อออกกำลังกายหรือเพื่อจับโปเกมอนนะ แต่สิ่งที่โปเกมอนโกสร้างขึ้นก็คือแพล็ตฟอร์มหนึ่ง (ซึ่งตอนสร้างผมคิดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะอย่าง Ingress ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดนี้) แล้วบอกว่า มนุษย์ทุกคนในโลก (ซึ่งก็จริงอยู่ว่าต้องมีความสามารถจะซื้อสมาร์ตโฟนและแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตด้วย) มี ‘สิทธิ’ ที่จะออกไปตามจับโปเกมอนกันได้ทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครหน้าไหนก็ตาม
ดังนั้น โปเกมอนโกจึงสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงเกมนี้ขึ้นมา-ในระดับหนึ่ง
และ ‘สิทธิ’ ในการออกตามจับโปเกมอน กับ ‘หน้าที่’ ในการที่จะต้องดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงเพื่อเป็นทรัพยากรหรือสมบัติของรัฐนั้น, คือวิธีคิดที่มี ‘สำนึก’ ต่างกันลิบลับเลยนะครับ
ดังนั้นการที่สิ่งหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง กับการที่อีกสิ่งหนึ่งล้มเหลวมาตลอด-มันจึง ‘บอก’ อะไรเราไม่น้อยทีเดียว
ผมคิดว่า วิธีแบบ ‘หน้าที่’ เป็นวิธีคิดแบบสัตว์ฝูงที่มีการสั่งการจากจ่าฝูงผู้เป็นศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งก็คงเหมาะสมดีกับโลกบางแบบ เช่น โลกของทหารที่ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา โลกของชนเผ่าในทะเลทรายที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน โลกของรัฐเล็กๆ ที่ต้องแผ่การควบคุมให้ทั่วถึง และขยายออกมาเป็นโลกขององค์กรทางศาสนาที่ควบคุมลึกไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน
แต่คำถามก็คือ แล้วมันเหมาะสมกับโลกสมัยใหม่นี้หรือเปล่า?
โลกสมัยก่อนเป็นเหมือนเกมออฟไลน์ที่ผู้ออกแบบเกมต้องคิดควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ล่วงหน้า แต่โลกปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว โลกปัจจุบันเป็นเหมือนเกมออนไลน์ที่สลับซับซ้อน เต็มไปด้วยผู้เล่นมากมายมหาศาล มีอัลกอริธึมที่ทำให้เกมสามารถสร้างหรือ generate เนื้อหา ตัวละคร ภูมิประเทศ และพล็อตเรื่องต่างๆ ขึ้นมาได้เอง เมื่อผสานรวมกันจึงอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมาได้ไม่รู้จบ แม้กระทั่งผู้สร้างเกมก็ยังไม่รู้เลยครับ ว่าเกมจะดำเนินไปทางไหนได้บ้าง
โลกแบบนี้ ไม่มีใครอยู่ตรงศูนย์กลางอำนาจ ขึ้นไปยืนอยู่บนแท่น แล้วชี้นิ้วสั่งว่าทุกคนต้องคิดแบบนั้นแบบนี้ให้เหมือนกัน โลกจะได้สงบสุขหรอกนะครับ
นั่นคือโลกแบบเผด็จการรวมศูนย์!
ความนิยมในโปเกมอนโก ไม่ใช่แค่ ‘ความโง่’ ของคนที่ถูกการตลาดหรือเกมหลอกลวงให้ ‘เสียเวลา’ ของชีวิตหรือต้องเสียเงินเท่านั้นหรอกนะครับ แต่การที่มัน ‘ป๊อบ’ ขึ้นมาได้นั้น อย่างหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ ‘ความคิด’ และ ‘ชีวิต’ ของคนได้เปลี่ยนแปลงไปจนสอดรับกับวิธีเล่นเกมแบบใหม่นี้แล้ว
แต่เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่โลกแบบเผด็จการรวมศูนย์จะไม่เคยรับรู้!
ดังนั้น เราจึงเห็น ‘อาการ’ ของการต่อต้านโลกใหม่นี้จากบรรดาผู้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นสถาบันทางสังคม (เก่า) ทั้งหลาย เช่น ตัวแทนองค์กรการปกครองหรือตัวแทนของรัฐ จนถึงตัวแทนองค์กรทางศาสนา ที่ดาหน้ากันออกมา ‘ตำหนิ’ หรือกระทั่งมีดำริจะสั่งห้ามและดูแลโปเกมอนโกเป็นพิเศษ-โดยไม่เคยคิดจะทำความรู้จักกับมันอย่างแท้จริง
ในโลกแบบใหม่นี้ ทุกอย่างแตกกระจาย เต็มไปด้วยการต่อสู้ต่อรอง ทุกคนตระหนักดีว่าตัวเองมี ‘สิทธิ’ ที่จะทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง และการทำหรือไม่ทำอะไรนั้น ในที่สุดก็จะได้เรียนรู้ว่ามันมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย (เช่น เล่นโปเกมอนจนเดินตกบันได หรือเดินเข้าไปในที่เปลี่ยวแล้วถูกปล้น ฯลฯ)
โลกแบบใหม่นี้ไม่ต้องการ ‘คุณพ่อรู้ดี’ หน้าไหน ไม่ว่าจะอ้างตัวว่ามีคุณธรรมสูงส่งเหนือคนอื่นเพียงใด-มาคอยสั่งการ
โลกแบบนี้ไม่ต้องการอำนาจรวมศูนย์ที่คอยตัดสินใจแทนคนอื่นๆ ทั้งปวง เพราะเราไม่ใช่ชนเผ่าในทะเลทรายที่ต้องเผชิญอันตรายมากมายอีกต่อไปแล้ว
โลกแบบนี้รู้ว่าอะไรคือ Reality รู้ว่าอะไรคือ Augmented Reality และรู้ด้วยว่าอะไรคือ Pseudo-Reality ที่สังคมเก่าสร้างขึ้นมาเพื่อยึดมั่นถือมั่นลวงๆ
โปเกมอนโกไม่ได้ดีเลิศงดงามหรือเป็นอุดมคติอะไรทั้งนั้น แต่คุณูปการหนึ่งที่มันทำให้เรา ก็คือการแง้มประตูให้เราเห็น a glimpse ของโลกใบใหม่ในอนาคต
แต่คนที่จมดิ่งดักดานอยู่กับอดีต คุ้นชินอยู่กับโลกเผด็จการโปเก (ไร้ม่อน) นิยมอำนาจรวมศูนย์ หลงใหลผู้บงการแสนรู้-ย่อมเข้าใจโลกใหม่แบบนี้ได้ยาก!