วันนี้ต่อให้ใครไม่ชอบเล่นเกม ไม่เคยเล่นเกม หรือไม่อยากข้องแวะกับเกม ก็หายากนักที่จะไม่รู้จักเพื่อนหรือญาติผู้หลงใหลใน ‘โปเกมอน โก’ (Pokémon Go) เกม ‘augmented reality’ (ย่อว่า AR หมายถึงการใช้เทคโนโลยี ‘ทาบ’ โลกเสมือนลงไปบนโลกจริง ซึ่งราชบัณฑิตยสถานแปลอย่างชวนงงกว่าภาษาอังกฤษว่า ‘ความเป็นจริงเสริม’) เกมแรกที่มีคนเล่นมากถึงขนาดใช้คำว่า ‘สร้างประวัติศาสตร์’ ได้
ถึงแม้หลังจากที่เกมออกมาเพียงเดือนเดียว สื่อบางสำนักจะพาดหัวข่าวทำนอง ‘โปเกมอน โก แย่แล้ว’ หรือ ‘โปเกมอน โก กำลังขาลง’ เมื่อสถิติชี้ว่าคนเล่นลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ นับจากกลางเดือนกรกฎาคม และลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ ณ ปลายเดือนสิงหาคม 2016 ที่ผู้เขียนเขียนอยู่นี้ ‘โปเกมอน เทรนเนอร์’ ก็ยังมีจำนวนมากกว่า 30 ล้านคนทั่วโลก (!)
ในฐานะคนที่เล่นเกมนี้ชนิด ‘ติดหนึบ’ คนหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกมนี้ (หรือเกมไหนก็ตาม) จะค่อยๆ ลดระดับความนิยมลงสู่ภาวะปกติ เมื่อมันเลิก ‘ใหม่’ และคนจำนวนมากเลิก ‘เห่อ’
ยิ่งเป็นเกมที่วิ่งฉิวติดลมบนอย่างรวดเร็วยิ่งกว่ากามนิตหนุ่ม ระดับความฮิตย่อมไม่ยั่งยืน (จำนวนดาวน์โหลด โปเกมอน โก พุ่งจากศูนย์ถึง 50 ล้านคนทั่วโลกในเดือนเดียว ครองแชมป์แอพพลิเคชั่นที่แตะตัวเลขนี้ในเวลาน้อยขนาดนี้ สำหรับโทรศัพท์ไอโฟนและแอนดรอยด์)
การเสื่อมความนิยมเมื่อเวลาผ่านไปจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดา ซึ่งต้องยกให้เป็นเครดิตของ นีอานติก (Niantic) สตูดิโอผู้ออกแบบเกม คือ การที่ โปเกมอน โก สามารถดึงคนนับล้านให้ลุกจากเก้าอี้หน้าจอ ออกไปเดินนอกบ้าน เพื่อควานหาโปเกมอน (คำว่า ‘Pokemon’ ย่อมาจาก pocket monster หรือสัตว์ประหลาดขนาดจิ๋ว) และฟักไข่โปเกมอน
ยิ่งเดินมากยิ่งฟักไข่ได้มาก และยิ่งไปเดินในที่ไกลๆ ยิ่งมีโอกาสได้โปเกมอนชนิดแปลกๆ ที่แถวบ้านไม่มี เกมนี้จึงช่วยลบคำสบประมาทที่ว่า ‘เล่นแต่เกม เสียสุขภาพหมด’ ลงได้อย่างราบคาบ (แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นแทน ซึ่งก็ต้องคอยเตือนเหล่าเทรนเนอร์ เช่น เดินจับโปเกมอนไม่ดูตาม้าตาเรือจนเกิดอุบัติเหตุ หรือขับรถอยู่แต่ตาเหลือบดูจอมือถือทุกสามสิบวินาที เป็นต้น)
สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับ โปเกมอน โก โดยเฉพาะวิธีใช้เทคโนโลยี AR ให้ ‘โลกเสมือน’ เคลื่อนมามอบความหมายใหม่ให้กับ ‘โลกจริง’ คือ มันจุดประกายการพูดคุยและถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับ ‘พื้นที่’ และ ‘การใช้พื้นที่’ ในโลกจริงได้อย่างน่าสนใจ
อีกทั้งยังเป็นเกมที่ ‘ฉายภาพ’ ความเหลื่อมล้ำในโลกจริง และ ‘กระตุก’ ให้คิดเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำได้ดียิ่ง
เป้าหมายหลักของเราใน โปเกมอน โก อยู่ที่การจับโปเกมอนหรือสัตว์ประหลาดจิ๋ว ทุกครั้งที่จับได้ เราจะได้ XP (ย่อมาจาก experience point หรือ ‘แต้มประสบการณ์’) เพิ่ม
เมื่อ XP เพิ่มถึงจุดหนึ่ง เราจะได้ ‘เลเวล’ (level) เพิ่ม ยิ่งเลเวลเราสูง ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเจอโปเกมอนพลังเยอะ (ค่า CP หรือ combat power สูง) มากกว่าตัวที่พลังน้อย
พลังของโปเกมอนสำคัญสำหรับการตียิม – โปเกมอนยิ่งพลังเยอะ ยิ่งมีศักยภาพในการ ‘ตียิม’ (gym) ของทีมสีอื่นมาเป็นของเรา (ได้ XP อีกเช่นกัน) และรักษายิมไว้ให้เรา ทุก 20 ชั่วโมงที่ยิมยังเป็นของเราอยู่ เราจะได้เงินในเกมไปซื้ออุปกรณ์เพิ่ม
‘เลเวล’ ในเกมอาจเปรียบหยาบๆ ได้กับ ‘ชื่อเสียง’ ส่วนกองทัพโปเกมอนก็เปรียบได้กับ ‘ความมั่งคั่ง’ ในโลกจริง คำถามต่อมาคือ แล้ว ‘ทรัพยากร’ ที่จำเป็นต่อการสร้างความมั่งคั่งและชื่อเสียงล่ะ ในเกมนี้คืออะไร?
คำตอบคือ ‘โปเกบอล’ (Pokéball)
เราจับโปเกมอนมือเปล่าไม่ได้ ต้องขว้างโปเกบอลไปจับมัน เจ้าโปเกบอลนี้เราจะใช้เงินจริงๆ ซื้อมา (คือเอาเงินบาทไปแลกเป็นเงินในเกม ซื้อบอลอีกทอด) ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เราจะอยากหมุน ‘โปเกสต๊อป’ (Pokéstop) หรือ ‘เสา’ ในเกมที่ตั้งอยู่ตามจุดสังเกตต่างๆ ในโลกจริง (เมืองไทยมักเป็นศาลพระภูมิ) เอาบอล เพราะวิธีนี้ฟรี แถมการหมุนโปเกสต๊อปก็ให้ XP และจะรีเซ็ต (ให้หมุนใหม่) ทุกๆ 5 นาที
นั่นแปลว่าถ้าจังหวัดเราไม่มีโปเกสต๊อปเลย ต่อให้เจอโปเกมอนเจ๋งๆ หรือหายาก เราก็จับมันไม่ได้ เพราะไม่มีบอล (ถ้าไม่อยากกัดฟันเสียเงินจริงๆ ซื้อมา)
ในทางกลับกัน เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คลาคล่ำไปด้วยโปเกสต๊อปละลานตา นั่งรถกลับบ้านหมุนเอาบอลตามรายทางได้เป็นร้อยๆ ลูก แถมหลายคนยังติด ‘ตัวล่อ’ หรือ lure บนโปเกสต๊อป ล่อโปเกมอนให้โผล่มาใกล้ๆ
ในแง่นี้ โปเกสต๊อปจึงเปรียบได้กับ ‘โอกาส’ ในการเข้าถึงทรัพยากร – ยิ่งเรามีโอกาสมาก เช่น ได้ไปโรงเรียนดีๆ ได้สร้างคอนเน็กชั่นกับผู้คน ได้ใช้สาธารณูปโภคคุณภาพสูง ฯลฯ เรายิ่งมีโอกาสได้เข้าถึงทรัพยากร และใช้ทรัพยากรนั้นสร้างและสะสมความมั่งคั่ง
แต่ถ้าเราด้อยโอกาส เราก็เข้าไม่ถึงทรัพยากร แนวโน้มความมั่งคั่งยิ่งห่างออกไปจนไกลโพ้น
ลำพังการเล่น โปเกมอน โก จึงบอกเราได้ว่า เหตุใดชาวชนบท (ทั่วโลก ไม่แต่เฉพาะในไทย) ถึงได้อยากย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรประณามหยามเหยียดแต่อย่างใด
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า อ้าว ในเมื่อนี่เป็นเกม ทำไมนีอานติกไม่โค้ดโปเกสต๊อปให้เยอะๆ เพิ่มจำนวนเสาในชนบทให้มากๆ คนต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสทัดเทียมกับคนกรุง?
คำถามนี้เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักข้อหนึ่งของเกมนี้ ทีมผู้ออกแบบอธิบายที่มาของตำแหน่ง ‘ยิม’ และ ‘เสา’ ใน โปเกมอน โก ว่า มาจากเกมของพวกเขาก่อนหน้านี้ ชื่อ อินเกรส (Ingress) ซึ่งเป็นเกมแบบ AR หรือโลกเสมือนผสานโลกจริงเช่นกัน
นีอานติกเริ่มจากการนำข้อมูล ‘สถานที่ประวัติศาสตร์’ และ ‘ศิลปะสาธารณะ’ (public artwork หมายถึงงานศิลปะซึ่งติดตั้งในที่สาธารณะ) จากแท็ก (tag ป้ายข้อความ) รูปถ่ายจำนวนมากที่คนอัพโหลดบนเน็ต มาเป็นจุดตั้งต้น จากนั้นก็ขอให้ผู้เล่นอินเกรสทั่วโลกช่วยส่งข้อมูลสถานที่ต่างๆ ในท้องถิ่นของตัวเอง ที่พวกเขาคิดว่า ‘คู่ควร’ กับการเป็น ‘พอร์ทัล’ (portal) ในเกม ให้กับทีมออกแบบ (ซึ่งก็มีเหตุมีผล เพราะคนท้องถิ่นย่อมรู้ดีกว่านักออกแบบเกมว่าท้องถิ่นของตัวเองมีสถานที่สำคัญๆ อะไรบ้าง แถมยังเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาสามารถ ‘เข้าถึง’ จุดเหล่านั้นได้จริง ไม่ใช่ว่าอยู่ในสถานที่หวงห้าม ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์)
สุดท้ายคนเสนอพอร์ทัลไปกว่า 15 ล้านจุด นีอานติกอนุมัติ 5 ล้านจุด รวมทั้งศาลพระภูมิจำนวนมากในไทยด้วย (อ่านคำอธิบายเชิงสารภาพที่สนุกมากของคุณ +sterk+ ผู้เล่นอินเกรสชาวไทยได้ที่โพสต์นี้)
นีอานติกประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า ข้อมูลพอร์ทัลของอินเกรสนั้นหลากหลายและยืดหยุ่นพอที่จะเอามาใช้เป็นจุดตั้งต้นของเกมใหม่ ด้วยเหตุนี้ พอร์ทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอินเกรส จึงกลายมาเป็น ‘ยิม’ ใน โปเกมอน โก และพอร์ทัลที่ได้รับความนิยมรองลงมา จึงกลายมาเป็น ‘เสา’ หรือโปเกสต๊อปไป
ในเมื่อคนเล่นอินเกรสมักจะเป็นชนชั้นกลางในเมือง ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทในโลกจริง จึงกลายมาเป็นความเหลื่อมล้ำในโลกของ โปเกมอน โก ไปโดยปริยาย โดยที่ทีมนักออกแบบไม่ได้ตั้งใจ
แถมยังบีบคั้นคนจนให้ควักเงินจริง (ซื้อโปเกบอล) มากระโดดข้ามช่องว่างที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในเกมอีกต่างหาก (ซึ่งก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำจริงๆ แย่ลง เพราะคนรวยไม่ต้องควักเงิน)!
แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากเห็นวิธีแก้ความเหลื่อมล้ำแบบผิดๆ เช่น เล่นโกงด้วยการใช้บอท หรือใช้ซอฟต์แวร์โกงตำแหน่ง GPS ปากก็อ้างว่า ฉันตกเป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้น ‘หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง’ (นีอานติกประกาศ ‘แบน’ คนที่โกงแบบนี้อย่างเด็ดขาด ถ้าจับได้ว่าโกง)
วิธีแก้ที่ถูกต้องนั้นไม่ยาก ถ้าเพียงแต่นีอานติกจะเปิดให้ผู้เล่น โปเกมอน โก สามารถส่งข้อเสนอจุดต่างๆ ที่ควรเป็นยิมและเสาโปเกสต๊อปในเกมไปให้ แบบที่เคยเปิดให้กับผู้เล่นอินเกรสมาแล้ว
ความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก็จะหายวับไปกับตา
ซึ่งนั่นก็จะทำให้เรารู้ว่า มันเป็น ‘แค่’ เกม
การบรรเทาความเหลื่อมล้ำในโลกจริงยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย.