ในกระแสดราม่าระหว่าง ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (นักวิชาการชื่อดังท่านหนึ่ง)’ กับ ‘สมาชิกก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่’ นำมาซึ่งกระแสข้อวิวาทะในสังคมมากมาย[1]แม้ว่าโดยส่วนตัวค่อนข้างจะเหม็นเบื่อและเพลียจิตกับดราม่าลักษณะนี้แล้ว ไม่นับว่าเคยเขียนงานที่อธิบายดราม่าแบบนี้มาก่อนแล้วด้วย อย่างไรก็ตามภายใต้ความเละตุ้มเป๊ะที่เกิดขึ้นนั้นมันมีพัฒนาการมาสู่ประเด็นหลักที่ต้องการจะพูดถึงในครั้งนี้ด้วย และมีประเด็นที่น่าสอดแทรกระหว่างทางไม่น้อย
ผมจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการอภิปรายประเด็นต่างๆ ตามเส้นทางดราม่านี้ก่อน เพื่อไปสู่ประเด็นหลักที่ผมอยากจะชวนให้มาแกะรอยกันต่อ นั่นคือ “สถานะของการเชียร์อุดมการแบบอำนาจนิยมหรือเผด็จการในฐานะสิทธิ” ว่ามีตำแหน่งแห่งที่ได้ไหม และอย่างไรภายใต้สำนึกแบบประชาธิปไตย
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งที่อธิบายถึงหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นมาแล้ว (หากท่านใดยังไม่เคยอ่านอยากจะลองให้อ่านชิ้นนี้เป็นฐานก่อนก็ดีครับ ‘สิทธิเบื้องต้น 101’[2]) รวมไปถึงเคยเขียนถึงมุมมองที่ตั้งคำถามอย่างก้าวหน้ามากๆ ต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ว่าการอ้างหรือใช้คำว่า ‘สิทธิ’ อย่างพร่ำเพรื่อเกินไปนั้นมันจะเป็นปัญหาในตัวมันเองได้หรือไม่[3]หากได้อ่านชิ้นนี้ด้วยอีกชิ้นก็จะเห็นภาพไม่น้อยครับ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วผมคิดว่าสิ่งที่บทความชิ้นนี้จะนำเสนอน่าจะมีตำแหน่งแห่งที่ในฐานะคำอธิบายหรือข้อเสนอเกี่ยวกับ ‘สิทธิ’ ที่ตั้งอยู่ ‘ระหว่าง’ บทความสองชิ้นขั้นต้น คือ ไม่ใช่เรื่องระดับพื้นฐานจัด แต่พร้อมๆ กันไป ก็ไม่ใช่เรื่องที่ก้าวหน้าไปไกลสุดขั้วชนิดที่เร็วเกินไปหากพูดถึงในไทยตอนนี้
อย่างที่บอกไป ผมคิดว่ามีส่วนหนึ่งของดราม่านี้ที่ต้องพูดถึงก่อน เพื่อปูทางให้เข้าใจและเห็นภาพ เพราะหลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมประเด็นทางการเมืองถึงได้กลับมาเป็นดราม่าเกี่ยวพันกับตัวของเฌอปราง แห่ง BNK อีก คือ อย่างที่หลายๆ คนคงจะพอทราบแล้วว่าเฌอปรางนั้นเคยมีกระแสดราม่าในเรื่องทางการเมืองมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากการเข้าร่วมกับรายการเดินหน้าประเทศไทย ของรัฐบาล คสช. และมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาไปมากมายแล้ว และหลังจากนั้นก็ดูจะไม่ได้มีประเด็นที่จะนำพามาสู่จุดนี้ได้อีก
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการ ‘ขุดเรื่องเดิมมาพูด’ จนเละกันไปหมด มันมาจากการที่เฌอปรางให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ Timeout แล้วมีตอนหนึ่งที่บอก (จริงๆ เป็นกึ่งๆ การตอบคำถามของผู้สัมภาษณ์มากกว่าด้วยซ้ำ) ประมาณว่า “ด้วยภาระงานและความคาดหวังตอนนี้ เฌอปรางก็เหนื่อยอยู่” จุดนี้เองทำให้มีคนไปแท็กปวินเข้ามา แล้วปวินก็ไปแขวะในคอมเมนต์ว่า “ดัดจริต” หลังจากนั้นก็เขียนในเฟซบุ๊ก (แบบเปิดพับลิก) ของตนเองอีก มีใจความสำคัญประมาณว่า “มันมีอาชีพไหนบ้างที่ทำงานไม่เหนื่อย จะมาบ่นทำไมดัดจริตจังเลย ถ้าเหนื่อยนักก็นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไปเถอะ” (อันนี้ผมสรุปความมาเฉพาะถ้อยคำสำคัญนะครับ ตัดคำหยาบที่ออกสื่อแล้วลำบากใจออกไปบ้าง)
หลังจากจุดนี้ก็เลยเถิดไปถึงการตอบโต้อีกมากมายที่เละเทะไปหมด จนนำมาสู่การขุดเอาเรื่องที่เฌอปรางเคยทำงานให้รัฐบาลทหารขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จนนำมาสู่การตั้งคำถามที่เป็นประเด็นหลักของเราในตอนนี้นี่แหละครับว่า
“ในสำนึกคิดแบบประชาธิปไตย และในสถานการณ์บ้านเมืองของไทยแบบในตอนนี้ ที่ทางของคนที่ทำงานรับใช้หรือกระทั่งนิยมชมชอบระบอบอำนาจนิยม/เผด็จการนั้น ควรจะมีฐานะแบบใด?”
ซึ่งนี่เป็นคำถามที่ค่อนข้างจะใหญ่นะครับ และเป็นคำถามในทางวิชาการไม่น้อย ที่ผมคิดว่าเราควรจะมาลองขบคิดหาประโยชน์จากดราม่านี้กันดู
อย่างไรก็ตาม ที่ผมได้ยกเอาจุดเริ่มต้นของดราม่ามาให้ท่านดูก็เพราะว่า ผมอยากให้เห็นว่า “ตัวสารัตถะของข้อถกเถียงนั้น มันหลุดมาไกลจากประเด็นอันเป็นจุดเริ่มต้นของมันมากเพียงใดแล้ว” และย้อนกลับมาสู่การขุดเรื่องเดิมๆ มาพูดซ้ำๆ อย่างไร (และนั่นเองที่ทำให้ผมบอกว่าผม fed up หรือเหม็นเบื่อเสียเหลือเกินกับดราม่านี้) และอยากจะพูดอย่างชัดเจนตรงนี้ด้วยว่า สำหรับผมแล้วหากเราพูดกันเฉพาะประเด็นอันเป็นจุดเริ่มต้นของดราม่านี้ คือเรื่อง ‘เฌอปรางบ่นเหนื่อย’ (ในพื้นที่สื่อสาธารณะ) นั้น ผมคิดว่าเป็นจุดที่พอจะสรุปได้โดยไม่ยากนักว่า เรื่องนี้เป็นความแส่และสิ้นคิดของปวินล้วนๆ
จริงอยู่ครับว่าทำงานทุกอาชีพมันก็ต้องเหนื่อยกันแทบทั้งนั้น ตั้งแต่กะหรี่ยันนักวิชาการอย่างที่ปวินว่า แต่พร้อมๆ กันไป สิทธิในการจะ ‘บ่น’ อะไรใดๆ ก็ตาม “ว่าเหนื่อย, ว่าร้อน, ว่าหิว, ว่าอิ่ม, ว่าเบื่อ, ว่าจน, ว่าเศร้า, ฯลฯ” นั้นล้วนเป็นเรื่องที่ทำได้แน่ๆ ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม แม้ว่าอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับทุกคนอยู่แล้ว แม้แต่กับตัวปวินเองก็คงจะเคยบ่นลักษณะนี้มาบ้าง หรือพูดแบบวิชาการหน่อยก็คือ สิ่งซึ่งเป็นคุณสมบัติร่วมอันเป็นสากล (อย่าง อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ที่มีกันทุกคน) มันไม่ได้มามีอำนาจในการพรากหรือกระทั่งลดทอนการแสดงออกของปัจเจกบุคคลที่ผลิตซ้ำคุณสมบัติร่วมอันเป็นสากลนั้นไปได้ ฉะนั้นการให้เหตุผลของปวิน ที่บอกว่า “เพราะทุกคนเหนื่อยเหมือนกันหมด การบ่น (ในฐานะปัจเจก) ของเฌอปรางจึงเป็นเรื่องที่ผิด” นั้น จึงเป็นการให้เหตุผลซึ่งไม่เป็นตรรกะเป็นอย่างมาก เป็นคนละเรื่องกันมากๆ จนน่าสงสัยว่าคนอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นนักวิชาการที่ต้องทำงานบนฐานของความเป็นเหตุเป็นผลได้ไหม
ไม่เพียงเท่านั้น ความเห็นของปวินนั้นยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นต่อไปด้วยซ้ำ กับส่วนที่บอกว่า “ถ้าเหนื่อยก็นอนอยู่บ้านเฉยๆ เถอะ” นั้น ในฐานะนักวิชาการผมคิดว่าเราควรวิจารณ์คำวิจารณ์ส่วนนี้ของปวินเพิ่มด้วยเสียมากกว่า ก็มันเป็นเพราะความเลวร้ายของระบบทุนนิยมยุคหลัง (Late Capitalism) มิใช่หรือที่ขูดรีดบังคับให้เราต้องสละแรงงานจนเหนื่อยยากแสนเข็ญ เพื่อได้ค่าตอบแทนน้อยนิด แต่ถ้าหยุดพักก็ไม่มีอะไรจะแดก เราจึงต้องเหนื่อยกันทุกอาชีพแบบนี้ แต่การบอกว่า “ไม่อยากเหนื่อยก็ไปนอนพักซะไป๊” นั้นคืออะไร แทนที่นักวิชาการอย่างปวินจะวิพากษ์หรือหาข้อเสนอต่อระบบที่กัดกินสังคมที่ตัวปวินเองก็ยอมรับว่ามันเป็นเช่นนั้น (คือ ทุกอาชีพเหนื่อยหมด) แต่กลับไปสนับสนุนให้ระบบแบบนี้เดินต่อไปเสียอย่างงั้น…เพียงเพื่อจะ ‘แซะ’ ไอดอลเด็กสาวคนหนึ่ง?
พร้อมๆ กันไป ฝั่งโอตะที่โต้ปวินกลับว่าด่าไปเพราะปวินอิจฉาเฌอนั้นก็ดูเป็นการคิดที่ไม่ทั่วถ้วนนัก ส่วนนี้เป็นอย่างที่ปวินว่า (ยกเว้นส่วน bad joke และส่วนแขวะของปวินที่ว่าตัวเองสวยกว่าอะไรนั่น) คือ หากการวิจารณ์ใครใดๆ มาจากฐานของการอิจฉาเท่านั้น การวิจารณ์รัฐบาลทหาร ก็คงจะเพราะอิจฉารัฐบาลทหารไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอันเป็นเหตุแห่งการวิจารณ์ครั้งนี้ที่เริ่มจากเฌอปรางบ่นว่าเหนื่อย ผมก็มองไม่เห็นเหตุผลอะไรใดๆ เลยที่ปวินจะต้องไปวิจารณ์การบ่นว่าเหนื่อยนี้ การบ่นว่าเหนื่อยของเฌอปรางมันไปกดทับ มันไปขูดรีดสังคมหรือ? ผมก็คิดว่าไม่น่าใช่กระมัง ฉะนั้นนอกจากการตอบกลับเหล่าโอตะที่ด่าแบบผิดๆ มั่วๆ แล้ว ปวินเองก็ควรต้องย้อนกลับไปดูด้วยว่า “จากจุดเริ่มต้นของดราม่าที่ไม่ควรจะมีอะไรเลยครั้งนี้ ตัวเองเริ่มด่าเพราะอะไร?”
แต่คงเป็นราวๆ จุดนี้ของดราม่าเองกระมังที่การหลุดไปสู่ ‘อีกประเด็นหนึ่ง’ เริ่มต้นขึ้น ว่าวิจารณ์เฌอปรางเพราะไปทำงานกับ คสช. มาก่อน (ซึ่งตอนนั้นก็เป็นดราม่าจนจบไปแล้ว) และมีฝั่งโอตะก็กระทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ ของตนขึ้นมา คือ ไปขุดลากเอาอะไรที่ก็ตามที่ตนจะใช้ประโยชน์ได้ แม้จะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของการถกเถียงเลยก็ตามมาใช้ เพื่อให้ตนนั้นได้เป็นผู้มีชัยในการตบตีครั้งนี้ อย่างการไปขุดเอารูปของปวินว่าเป็นคนที่สนับสนุนและน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ และเหล่าโอตะไม่ควรไปสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ที่มีคนสนับสนุนพรรคอย่างปวิน จะเห็นได้ว่าการโยงแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแรกเริ่มเลยครับ แต่ก็ถูกนำมาใช้ ผมคิดว่านี่นับเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรมีขึ้น ในฐานะคนคนหนึ่งที่นิยมชมชอบการเกิดมีดราม่าและข้อถกเถียงในสังคม
เพราะสังคมที่สามารถถกเถียงกันได้ ย่อมดีกว่าสังคมที่ได้แต่ปิดปากเงียบ แต่หากจะถกเถียงกันแล้วผมก็คิดว่าควรจะสร้างสรรค์ ไม่โยงพาลไปทั่วแบบนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เรามี ‘ผู้เล่นใหม่’ เข้ามาในสนามรบระหว่างปวินกับโอตะนี้ด้วย คือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคท่านหนึ่งก็ออกมาบอกประมาณว่า “ปวินไม่ใช่สมาชิกพรรคอะไร เป็นแค่แฟนคลับเฉยๆ และสำหรับการกระทำในครั้งนี้ของปวินนั้น ตัวเค้าเองก็ไม่เห็นด้วย” จากนั้นก็ดราม่ามั่วดะเลยครับ ปวินก็ออกมาประกาศตัดหางปล่อยวัดอนาคตใหม่จากที่เดิมเคยเอ็นดู ฝั่งคนที่เรียกตัวเองว่าลิเบอรัลจำนวนมากก็ออกมาด่าอนาคตใหม่ว่า “กลัวเสียฐานเสียงโอตะขนาดที่ตัดหางพวกพ้องเดียวกันเลยหรือ?” บ้าง, “ผิดหวังที่เข้าข้างคนทำงานให้เผด็จการ” บ้าง, ไปจนถึงการไหลไปสู่การถกเถียงทั่วโลกโซเชียลและในหมู่วงวิชาการ, NGO และตัวสมาชิกพรรคอนาคตใหม่เองด้วยว่า “ด้วยสำนึกคิดแบบประชาธิปไตยในสถานการณ์แบบการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น เราควรมีที่ทางอย่างไรกับสิทธิในการเลือกจะสนับสนุนระบอบเผด็จการ” ซึ่งพรรคอนาคตใหม่มองให้คำตอบว่า “เรื่องนี้พวกเค้ามองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่มีได้ แต่พร้อมๆ กันไปสังคมก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นนั้นได้ด้วยเช่นกัน” จุดยืนที่ว่านี้เองครับที่เป็นตัวจุดระเบิดดราม่าว่าด้วยเรื่อง ‘สิทธิ’ ที่ซ้อนอยู่ในดราม่าระหว่างปวินกับโอตะอีกที
จะเห็นได้ว่า เรากำลังเถียงกันในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับจุดเริ่มต้นของข้อถกเถียง ที่ว่าด้วย ‘การบ่นเหนื่อย’ แต่เมื่อมันนำพามาจนถึงจุดนี้แล้ว ก็มาลองดูกันครับ
ในจุดแรก ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นตรงกันได้ว่า การเชียร์หรือการสนับสนุนอะไรหรือใครใดๆ ก็ตาม ในระดับแรกเริ่มพื้นฐานที่สุดนั้นคือการทำงานในระดับความคิด ว่าง่ายๆ ก็คือ อาจจะหยุดอยู่เพียงแค่คิดเชียร์คิดนิยมชมชอบอยู่ในใจของตนเอง ไล่ไปจนถึงการแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการกระทำของแต่ละปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียนออกมา ไปจนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิก การบริจาคอะไรต่างๆ ใช้ไหมครับ ฉะนั้นจุดพื้นฐานแรกเริ่มสุด (bare minimum) ก็คือฐานเรื่อง ‘การคิด’ ซึ่งผมคิดว่าในทางหนึ่งแล้วเราต้องเข้าใจว่า “การคิดของมนุษย์นั้นมันไม่ได้อยู่บนฐานของตรรกะและเหตุผลเสมอไป” ด้วย ซึ่งอาจจะผิดกับการอภิปรายในทางวิชาการหรือการมีข้อเสนอในทางสาธารณะที่ต้องพยายามคงเส้นคงวากับความเป็นเหตุเป็นผลและหลักการให้มากที่สุด เพราะการกระทำในทางสาธารณะอาจส่งผลต่อส่วนรวมได้
การที่ความคิดของคนเรา โดยเฉพาะในทางปัจเจกนั้นไม่ได้มีความคงเส้นคงวาบนฐานของตรรกะตลอดเวลานั้น มีข้อยืนยันเสมอมาครับ โดยเฉพาะจากงานในสายประสาทวิทยา (Neuroscience) อย่างงานที่มีชื่อมากๆ เช่น Behave: The Biology of Human at Our Best and Worst โดย Robert Sapolsky ก็ได้อธิบายถึงการทำงานของเสี้ยววินาทีที่มนุษย์ทำการตัดสินใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นนั้น ว่าเอาจริงๆ แล้วมันไม่ได้วางฐานอยู่บนเรื่องของเหตุและผลล้วนๆ อย่างที่เราพยายามจะเชื่อว่า ‘เราเป็น’ ในฐานะสัตว์ผู้ซึ่งมีเหตุมีผล อันเป็นมรดกทางความคิดที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุครู้แจ้ง (Enlightenment) หรือที่บางครั้งเราเรียกมันว่า ‘การให้เหตุผลแบบยุครู้แจ้ง’ (Enlightenment Rationality) นั่นเองครับ แต่ Sapolsky บอกว่าจริงๆ แล้วการทำงานในระดับของความคิดนั้น มันมีสารพัดปัจจัยแทรกซ้อนอยู่ในการทำงานของเหล่านิวรอน (Neuron) หรือเซลประสาทในสมองของเรา ตั้งแต่ไอ้ความคิดความเชื่อตามหลักตรรกะที่ว่ามา ไปจนถึงอิทธพลที่ของนักล่าชั้นครูที่ฝั่งอยู่ในยีนของเรามาตั้งแต่เมื่อล้านปีก่อน
ฉะนั้นความคิดของปัจเจกแต่ละคนในแต่ละเรื่อง แต่ละครั้ง แต่ละวินาทีนั้น จึงเป็นเรื่องของการผสมรวมกันตั้งแต่อิทธิพลต่อตัวเราเองในระดับเศษเสี้ยววินาทีไปจนถึงเรื่องราวนับล้านปีมาแล้ว
เพราะฉะนั้นความคิดของเรามันจึงไม่คงเส้นคงวา หลายครั้งเข้าขั้นสะเปะสะปะขัดแย้งกันเอง เช่น ในขณะที่ผมเองนั้นสนับสนุนในหลักสิทธิมนุษยชนจากใจจริงแบบจริงๆ เลย ผมต่อต้านการทรมาณและทำร้ายคนอื่นๆ นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อในระดับความคิดเลยนะครับ และพร้อมจะแสดงออกด้วย ทั้งผ่านการเขียนบทความ การรณรงค์ การออกข้อเสนอ หรือลงชื่อผลักดันกฎหมายที่พัฒนาหลักการดังกล่าว แต่พร้อมๆ กันไป ในระดับความคิดของผมเอง ก็อาจจะมีคนที่ผมหมั่นไส้เป็นการส่วนตัวที่ทำให้ผมรู้สึกอยากกระโดดถีบยอดหน้ามันสักที หรือเวลาอ่านพฤติกรรมของคนอย่างฮิตเลอร์แล้วก็อาจจะอยากให้มันตายอย่างทรมาณขึ้นมาเอาเสียดื้อๆ หรืออยากจะเห็นเผด็จการที่ออกมาพูดจ้อหน้าจอทีวีแทบทุกวันหัวใจวายคาที่แบบคนโดนเขียนเดธโน้ตไปให้มันรู้แล้วรู้รอด เป็นต้น ทั้งตัวผมที่สนับสนุนในสิทธิมนุษยชน และตัวผมที่รู้สึกอยากโดดถีบหน้าคนนั้นล้วนเป็นคนๆ เดียวกัน และการทำงานในระดับความคิดที่ “ไม่ลงรอย ไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกันเอง” นี้ มันเกิดขึ้นได้ตลอดกับมนุษย์ทุกคนครับ
ว่ากันอีกแบบก็คือ “ตราบเท่าที่มันเป็นการทำงานที่อยู่ในระดับของความคิดล้วนๆ ของปัจเจกหนึ่งๆ” แล้ว มันมีกลไกการทำงานและเสรีภาพต่างๆ อย่างไร้ขีดจำกัดใดๆ มันทำงานอยู่เหนือหลักการและระบบของเหตุผลใดๆ อย่าว่าแต่แค่เรื่องของ ‘สิทธิ’ อะไรเลย ฉะนั้นอิสรภาพของความคิดนั้นมันจึงทำงานในตำแหน่งแห่งที่ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘สิทธิ’ ซึ่งเป็น ‘หลักการหรือข้อตกลงสากล’ ซึ่งวางรากฐานอยู่บนวิธีคิดของตรรกะและเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกัน อันเป็นมรดกตกทอดจากยุครู้แจ้งใดๆ เสมอ เพราะหลักการหรือข้อตกลงเหล่านี้มันถูกเขียนขึ้นบนเพื่อวางกรอบให้กับ “การนำเอาสิ่งที่เป็นความคิดนั้นออกมาแสดงให้เห็นเป็นผลแล้ว” เท่านั้น หรือก็คือ “ความคิดที่ส่งผลต่อชุมชน/สังคมที่อยู่รายรอบด้วย”
ฉะนั้นในจุดเริ่มต้นสุดของดีเบตนี้ว่าการสนับสนุนหรือนิยมชมชอบในอุดมการแบบเผด็จการหรืออำนาจนิยมจนถึงฟาสซิสต์ใดๆ นั้น ทำได้หรือไม่? ในระดับ ‘ขั้นรากฐานที่สุด’ ที่เป็นระดับของการเป็น ‘ความคิดสนับสนุนของปัจเจกใดๆ’ นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างแน่นอนครับ ไม่ต้องสงสัยใดๆ เลย เพราะเป็นสิ่งซึ่ง ‘มาก่อน’ การทำงานของสิทธิหรือกรอบข้อตกลงและหลักการใดๆ ฉะนั้นไม่เกี่ยงว่าความคิดที่ว่านี้จะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด สถานการณ์ทางการเมืองลักษณะไหน ‘ต้องมีที่ทางของมัน’ อยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี หากเราขยับเลยออกมาจากขั้นรากฐานที่สุด คือ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความคิดในตัวเราอีกต่อไป แต่เราแสดงออกซึ่งความคิดนั้นออกมาสู่สังคมหรือชุมชนทางการเมืองด้วย ณ จุดนี้เองที่กลไกเรื่องหลักการ และสิทธิต่างๆ อาจจะเริ่มทำงานได้ แต่ก็ไม่ได้เสมอไปนะครับ อย่างที่ผมเกริ่นไว้ในตอนต้นเรื่อง ‘สิทธิเบื้องต้น 101’ นั้น จะเห็นได้ว่า กรอบการทำงานของสิทธินั้นมันทำงานคู่กับ ‘กติกาและการตีความถึงขอบเขตของคำ’ เสมอ ทุกชุมชนการเมืองจึงมีจุดยืนที่ต่างกันบ้างไม่มากก็น้อย แต่มันก็มีจุดซึ่งเป็นพรหมแดนขั้นต่ำของมันที่เราเรียกว่า ‘สิทธิเชิงลบ’ ที่เป็นการตีความสิทธิในระดับขั้นต่ำสุดที่ชุมชนการเมืองหนึ่งพึงต้องมี ต่ำกว่านั้นไปไม่ได้
หากว่ากันแบบรวดรัดย่นย่อที่สุดแล้ว สิทธิเชิงลบนั้นก็คือ สิทธิในการไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับใครอื่น (Non-Interference Right) ที่ให้สิทธิกับตัวปัจเจกเป็นหลัก โดยรัฐ และคนอื่นใดไม่ควรมีสิทธิมายุ่งกับเรื่องอันเป็นการตัดสินใจของปัจเจกนั้นๆ ว่าอีกแบบก็คือ เน้นไปที่ข้อผูกมัดต่อตัวปัจเจกที่น้อยที่สุด และไม่ได้สนใจสังคมภาพรวมมากนัก (ในขณะที่สิทธิเชิงบวกเน้นไปที่การประกันความมั่นคงของมนุษย์ในสังคมภาพรวมมากกว่า) อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าหากเราจะอภิปรายถึงประเด็นที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ว่า “ขั้นต่ำที่ควรจะเป็นนั้น สังคมควรมีพื้นที่ให้กับสิทธิในการแสดงออกที่สนับสนุนแนวคิดแบบเผด็จการหรือไม่” เราก็ควรอภิปรายมันด้วยเงื่อนไขที่เป็น “ฐานขั้นต่ำที่สุดเท่าที่แนวคิดสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจะอนุญาตให้เราต่ำได้” นะครับ เพราะเราไม่ได้กำหนดมาตรฐานว่า “ทำอะไรได้หรือไม่ได้ ด้วยมาตรฐานขั้นสูง” แต่เราสร้างข้อกำหนดหรือกติการ่วมของสังคมจากฐานคิด ‘ขั้นต่ำ’ เป็นหลัก คือ “หากต่ำกว่าจุดนี้ ถือว่าเลว ถือว่าเป็นภัยต่อสังคมมวลรวม” เป็นต้น
เพราะฉะนั้นหากเรามองจากจุดนี้แล้ว ด้วยแนวคิดว่าขั้นต่ำคืออย่ามายุ่งกับเรื่องอันเป็นส่วนตัวของปัจเจกนี้ การแสดงออกว่าสนับสนุนแนวคิดแบบเผด็จการหรืออำนาจนิยมนั้น ‘ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้’ (การ ‘ทำได้’ กับ ‘ควรทำ’ นั้นเป็นสองเรื่องที่ต้องแยกขาดจากกันนะครับ ผมไม่ได้บอกสักคำในบทความนะครับว่า การสนับสนุนจุดยืนเผด็จการเป็นสิ่งที่ ‘ควรทำ’ หรือผมเห็นด้วย) เพราะฉะนั้นในระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย เราจึงมีคนที่สนับสนุนเรื่อง ‘นายกมาตรา 7’ หรือเสนอให้โค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งอะไรได้ แม้ว่ามันจะได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่านำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่หากว่ากันตามหลักการว่า ‘ทำได้ไหม’ ผมก็ต้องตอบครับว่า ‘ทำได้’ เพียงแค่ว่าไม่ควรทำ มันน่าขยะแขยง น่ารังเกียจ กระทั่งสิ้นคิด มันก็เหมือนกับที่คนเรามีสิทธิที่จะกินแมลงสาปนั่นแหละครับ คือ อยากจะทำก็ทำได้ เป็นสิทธิของคุณ ไม่มีใครไปลงโทษคุณที่เลือกจะทำเช่นนั้นได้ แต่มันประหลาด มันไม่ควรทำก็เท่านั้น
มาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่ามาตรฐานขั้นต่ำของเรื่อง ‘สิทธิ’ นั้นก็คือ การทำให้การกระทำใดๆ ที่ได้รับการประกันว่า ‘เป็นสิทธิ’ นั้น มีสถานะว่า ‘เป็นเรื่องที่ทำแล้วไม่ผิดอะไร’ อาจจะไม่ถึงกับทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ (Normalization) โดยตัวมันเอง แต่มันคือ การกำหนดขอบเขตของสิ่งซึ่งตกลงร่วมกันแล้วว่า ‘ไม่เป็นความผิด’ ซึ่งเมื่อมันเป็นหลักการหรือข้อตกลงร่วมอันเป็นสากลในชุมชนการเมืองนั้นๆ มันจึงต้องมีลักษณะอันเป็น ‘มาตรฐานร่วม’ อยู่ด้วย ซึ่งในสังคมที่อารยะแล้วทั่วไป ข้อถกเถียงนี้ก็ควรจะสรุปขมวดจบได้ที่จุดนี้ แต่กรณีของไทยนั้นอาจจะแตกต่างไปครับ
คำว่ามาตรฐานร่วมนี้คืออะไร? มันก็คือ การกระทำแบบใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน ตรงตามข้อกำหนดให้ ‘ทำได้’ เหมือนๆ กันนี้ ก็ย่อมต้องได้รับการประกันว่า ‘ไม่ผิด’ แบบเดียวกันไปด้วย ว่าอีกแบบก็คือ หากการแสดงออกว่าสนับสนุนเผด็จการ คสช. ไม่ใช่เรื่องที่ผิด การแสดงออกว่าสนับสนุนอะไรอย่างอื่น ‘ก็ต้องไม่ผิดเฉกเช่นเดียวกัน’ ไม่ว่าคุณจะสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนระบบรีพับลิก สนับสนุนแนวคิดอนาธิปไตย สนับสนุนสังคมนิยม สนับสนุนคอมมิวนิสต์ จะรักทักษิณ จะรักประยุทธ์ ฯลฯ ก็ต้องได้รับการประกันสถานะ ‘ความไม่ผิด’ นี้แบบเดียวกันนั่นเอง
ปัญหาของสังคมไทยก็คือ สิ่งซึ่งถูก ‘อ้างว่า’ เป็นมาตรฐานร่วม อย่างการประกันสิทธิเหนืออุดมการณ์ทางการเมืองว่า ‘ไม่ผิด’ นั้น กลับไม่ ‘สากล’ อย่างชื่อ
แต่ด้วยการปกครองแบบอำนาจนิยมในประเทศไทยนั้น มันทำให้เกิดการ Singling Out หรือ ‘แยกโดดเดี่ยว’ มอบสถานะ ‘ความไม่ผิด’ ที่ว่านี้ ให้เฉพาะการแสดงออกทางความเชื่อหรือท่าทีที่สนับสนุนเผด็จการทหารอย่างมากเป็นพิเศษต่างหาก อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการเดินสายไปตรวจค้นคนที่มีปฏิทินรูปทักษิณ/ยิ่งลักษณ์, การไม่อนุญาตให้ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้, การไม่อนุญาตให้มีความคิดสนับสนุนอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐ, ฯลฯ เป็นต้น รวมไปถึงการแสดงออกในทางการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย ก็ได้รับการจับตามอง และเอาผิด เข้าขั้นเอารัดเอาเปรียบจากรัฐบาลทหาร เพราะฉะนั้นหลักการซึ่งอ้างว่าเป็น ‘มาตรฐานร่วม’ นั้นมันจึงไม่ใช่มาตรฐานร่วมแต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็น “มาตรฐานเดี่ยว/อภิสิทธิ์โดดเดี่ยวของสิทธิในการแสดงออก ในนามของสิ่งที่เรียกว่ามาตรฐานร่วม”
เพราะฉะนั้นแล้ว ผมขอยืนยันแบบชัดๆ เลยนะครับว่า “การมีแนวคิดหรือแสดงออกซึ่งการสนับสนุนอุดมการณ์แบบอำนาจนิยม/เผด็จการ” นั้น หากตัดสินผ่านสำนึกแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแล้ว ‘มันย่อมไม่ผิด’ ครับ แต่ที่ตอนนี้ในประเทศไทยมันเป็นปัญหาก็เพราะ มันแทบจะกลายเป็น “การแสดงออกทางความคิดเห็นแบบเดียวที่ได้รับการอนุญาตว่าไม่ผิด” ฉะนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาและพวกลิเบอรัลทั้งหลายต้องเรียกร้องกันนะครับ ก็คือ “การเปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็น ความคิดเห็นทุกๆ แบบได้มีสิทธิปากพูดเหมือนๆ กัน เท่าๆ กัน ไม่ผิดครือๆ กัน” ครับ ไม่ใช่การไปบอกว่า “ต้องหุบปากความคิดแบบสนับสนุนเผด็จการ” นั่นไม่แก้ปัญหาครับ
การแก้ปัญหาและการเรียกร้องที่พึงเป็นนั้น มันคือ “การเรียกร้องให้ได้อ้าปากพูดได้เสมอกัน ไม่ใช่ไปเรียกร้องให้โดนบังคับหุบปากเหมือนๆ กัน” ครับ บอกตรงๆ นะครับว่ามันเป็นคนละเรื่องกันเลยและที่กำลังทำกันอยู่นี้ก็บ้ากันแบบผิดประเด็นเหลือเกิน
เหมือนกับเวลาเราเรียกร้องต่อข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั่นแหละครับ ที่เสนอคือ ‘ขอให้ทุกฝ่ายพูดได้เสมอกัน’ แต่ไม่ได้จะไปบอกว่า “ห้ามคนที่สนับสนุนสถานะและอำนาจของสถาบันพระมหากษัริย์แบบเดิมต้องหุบปากเงียบไป ห้ามพูด ห้ามมีอยู่” กรณีของเฌอปรางหรือดาราคนอื่นๆ ที่ทำงานให้กับรัฐบาล คสช. หรืออาจจะนิยมชมชอบแนวคิดอำนาจนิยมก็เหมือนกันครับ เราต้องไม่ไปบังคับเขาว่า “ห้ามทำแบบนั้น นั่นคือความผิด” แต่เราต้องบอกว่า “ให้พื้นที่พวกกูได้พูดได้ทำแบบเดียวกันนั้นบ้าง” ต่างหาก!
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู facebook.com/WorkpointNews
[2] โปรดดู thematter.co/thinkers/understanding-the-basic-rights
[3] โปรดดู thematter.co/thinkers/another-side-of-human-rights