ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดทั้งในโลกการเมืองไทยและในโลกโซเชียลดูจะเป็นเรื่องเดียวกัน และนั่นก็คงจะหนีไม่พ้นเพลง ‘ประเทศกูมี’ โดยกลุ่มนักร้อง Rap Against Dictatorship ถึงขนาดที่เพลงโพสต์ลงใน Youtube เพียงแค่วันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา มาถึงขณะที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้ วันที่ 28 ตุลาคม (เวลา 01.06 น.) MVเพลงดังเพลงนี้ก็มียอดวิวไปถึง 10,648,403 ครั้งแล้ว
ด้วยเนื้อหาเพลงที่สะท้อนความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในยุคสมัยเผด็จการ การเป็นเหมือนกระบอกเสียงในการพูดแทนความอัดอั้นที่อยู่ในใจคนจำนวนมาก การทำหน้าที่เป็นดั่งเครื่องระลึกความทรงจำ (Memento) ของเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมาให้เรา ‘ไม่ลืม’ ไปจนถึงการมีเนื้อหาเพลงในแต่ละท่อนที่เฉียบคมและง่ายต่อการจดจำ (catchy) เพลงดังกล่าวนี้จึงดูจะกลายเป็นกระแสไปทั่วและเป็นที่สนใจทั้งเหล่าคนจำนวนมากที่ไม่ปลื้มรัฐบาลทหาร และเป็นที่สนใจของตัวเหล่ารัฐบาลทหารเองด้วยที่ต่างพากันพาเหรดมาหาทางให้คนหยุดสนใจเพลงนี้เสีย ด้วยการออกมาสั่งและขู่แต่เพียงโง่ๆ ราวกับว่าสั่งแล้วคนจะเชื่อฟังทำตามในทันที
นับตั้งแต่เพลงประเทศกูมีเริ่มถูกพูดถึงและกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลและสื่อต่างๆ ก็ได้มีทั้งบทความ บทสัมภาษณ์ รวมไปถึงสารพัดคนดังทั้งฝั่งเซเลบ ทั้งฝั่งทางการ ทั้งฝั่งวิชาการออกมาพูดถึงกันมากมายแล้ว ทั้งในทางที่เห็นด้วยและในทางตำหนิ ผมคิดว่าคงไม่เป็นการยากนักที่จะหาตามอ่านกัน หรือหลายๆ คนก็คงจะได้ผ่านตาผ่านหูกันไม่น้อยแล้ว ฉะนั้นผมขอไม่เขียนถึงตัวเนื้อหาสาระหรือที่มาที่ไปของตัวเพลงอีกครับ รวมไปถึงคงไม่เขียนด้วยว่าผมเห็นว่าเพลงนี้ผิดกฎหมายอย่างที่เจ้าหน้าที่ไทยพยายามจะกล่าวอ้างไหม เพราะแม้ผมจะเห็นว่าไม่ผิด (และผมเห็นเช่นนั้นจริงๆ) แต่ความเห็นผมว่าอะไรคือความจริง อะไรคือไม่ผิดนั้น ก็ดูจะไม่ได้เป็นประโยชน์นักเมื่ออยู่ต่อหน้าระบบการบังคับใช้กฎหมายแบบเผด็จการ ที่อยากจะตีความอย่างไร ไม่อ้างอิงกับตัวบทของข้อกฎหมายเพียงใดก็สามารถทำได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นการที่ตัวผมเองมองหรือเสนอว่ามันไม่ผิดก็ดูจะไม่เกิดผลอะไรขึ้น ตราบเท่าที่คนบังคับใช้กฎหมายยังทำนิสัยเป็นนักเลงศาลเตี้ยไร้หลักการกันอยู่
ผมเขียนมาแบบนี้ก็โปรดอย่าเข้าใจผมผิดว่าผมไม่มีใจจะช่วยเหล่าทีมศิลปินผู้สร้างผลงานเพลงนี้อะไรนะครับ ผมนั้นยินดีที่จะยืนยันอย่างหนักแน่นและชัดเจนเหมือนที่อีกหลายๆ คนได้ย้ำพูดไปแล้วว่าการผลงานชิ้นนี้ไม่ผิด (เจ๋งมากๆ เลยเสียด้วยซ้ำ) และเป็นการกระทำตาม ‘สิทธิ’ ที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ชัดเจน เพียงแค่พร้อมๆ กันไป ผมก็อยากจะบอกว่าต่อให้เสียงของผมยืนยันชัดเจนไปเสียเท่าไหร่ก็คงจะไม่มีประโยชน์นัก เพราะหากจะมีสักประโยคนึงในเพลงที่มัน ‘ไม่จริง’ แล้วล่ะก็ ก็คงจะเป็นอย่างที่มิตรสหายท่านหนึ่งได้แซวเอาไว้ว่า “แค่พูดว่า ‘ประเทศกู’ ก็ผิดแล้ว” เพราะเป็นเทศนี้ดูจะไม่ใช่ของกูสักเท่าไหร่นัก มันเป็นประเทศ Coup มี ที่กำลังมี Coup ต่างหาก (Coup อ่านว่า ‘คู’ หรือบางครั้งก็ออกเสียงว่า ‘กู’ แปลว่า ‘รัฐประหาร’ ครับ)
เมื่อผมไม่เขียนถึงเรื่องเนื้อหาหรือที่มาที่ไปของเพลงนี้แล้วผมจะเสนอหน้ามาพูดเรื่องอะไร? ผมอยากจะพูดเรื่องที่ทางของความจริงในประเทศที่เป็นเผด็จการน่ะครับว่า
ทำไมรัฐบาลเผด็จการทหารจึงมีท่าทีที่ไม่ชอบหรือกระทั่งหวั่นกลัวต่อความจริง เขาใช้และจัดการกับความจริงอย่างไร และทำไมการจัดการกับความจริงที่ครั้งหนึ่งมันเคยสำเร็จ มาในตอนนี้ดูจะทำอะไรไม่ได้นักเลย?
สองผู้เชี่ยวชาญด้านระบอบเผด็จการศึกษา อย่าง Natasha Ezrow (ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Essex) และ Erica Frantz (ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Michigan) ได้เปิดตัวเนื้อหาในหนังสือของพวกเธอที่ชื่อ Dictators and Dictatorships: Understanding Authoritarian Regimes and Their Leaders ด้วยข้อความหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ พวกเธอชูประเด็นง่ายๆ นี่แหละครับ แต่เป็นจุดที่ผมไม่ค่อยได้นึกถึงมาก่อนนัก พวกเธอบอกว่า “จนถึงปัจจุบันงานศึกษาเรื่องเกี่ยวกับระบอบเผด็จการนั้นมีน้อยกว่าความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับประชาธิปไตยมาก (แม้จะมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ)” โดยพวกเธอเสนอว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะการศึกษาเรื่องราวของระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะเผด็จการสมัยใหม่นั้นมันทำได้ยากกว่า มันต้องอาศัยความสามารถมากกว่า
แต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? พวกเธอยกคำของ Paul H. Lewis มาตอบครับว่า “สาเหตุที่ระบอบเผด็จการนั้นยากต่อการศึกษามากกว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นก็เพราะว่า ตัวการเมืองภายในของระบอบแบบแรกนั้นมีความจงใจที่จะซ่อนเร้นไว้ให้พ้นจากสายตาของสาธารณะ มันไม่มีทั้งสื่อที่เสรี ไม่มีความเห็นที่กระทำได้อย่างเสรีในพื้นที่สาธารณะ ไม่มีการล็อบบี้โดยเปิดเผย หรือการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองใดๆ” น่ะครับ แน่นอนว่า คงจะไม่มีรัฐใดหรอกในโลกไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ตามที่ ที่จะมีระบอบที่เปิดเผยโดยสิ้นเชิง ไร้ซึ่งความลับใดๆ ไม่เช่นนั้นก็คงจะไม่มีทั้ง CIA หรือ KGB ไปนานแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเสนอของ Lewis ที่ Ezrow และ Frantz นำมาพูดซ้ำนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า “เผด็จการดูจะชอบในการอาศัยอยู่ในความลับมากกว่าระบอบประชาธิปไตยมาก และมันเป็นการปิดบังไม่ให้เกิดการรับรู้โดยจงใจเสียด้วย” ว่ากันแบบภาษาบ้านๆ ก็คือ การเซ็นเซอร์นั่นแหละครับ
หากอิงตามคำอธิบายของ Ezrow และ Frantz แล้ว สาเหตุสำคัญที่ดูจะเป็นเหตุให้เผด็จการดูจะชื่นชอบในการอยู่กับความลับ และเกรงกลัวการเปิดเผยหรือพูดถึงความจริงในทางสาธารณะนั้นก็ไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่อะไรนัก แต่นั่นเป็นเพราะโดยรวมแล้วเผด็จการที่แม้จะมีหลายแบบหลายเฉดสี มีฐานวิธีคิดอยู่ที่การพยายามจะ ‘จับยัด’ ความคิด ความต้องการ และในบางครั้งรวมไปถึงอุดมการณ์ของคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวใส่ให้กับคนส่วนใหญ่ในชาติ (หรือชุมชนทางการเมืองที่ตนสังกัดอยู่) เพราะฉะนั้นความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ความเห็นที่สวนกับทิศทางที่ผู้นำเผด็จการนิยมชมชอบหรืออยากให้เป็น และกระทั่งความจริงที่ทำลายประโยชน์ต่อการจับยัดดังกล่าวนั้นจะต้องถูกควบคุมไว้ ซึ่งระดับของการควบคุมนั้นก็มากน้อยลดหย่อนกันไปตามชนิดประเภทของเผด็จการทหารแบบต่างๆ ครับ
อย่างเผด็จการทหารเอง Ezrow กับ Frantz เองก็แบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ แบบแรกคือ แบบที่ตั้งใจเข้ามายุติหรือคั่นจังหวะทางการเมือง แล้วจะออกไปตามกำหนดเวลา ว่าง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้มีแผนจะอยู่ยาว และแบบนี้มักจะแสดงตนว่าเป็นคนใจกว้าง อยากให้สังคมยอมรับ ทำตัวมีหลักการน่ะครับ ไม่ได้กะจะปลูกฝังอุดมการณ์ถาวรอะไรให้กับคนในสังคม ในขณะที่แบบที่สองนั้นคือ เผด็จการทหารที่ตั้งใจจะอยู่ยาว ครองเมืองแบบไม่มีกำหนด และหวังจะสร้างอุดมการณ์บางอย่างให้กับคนในชุมชนการเมืองที่ตัวเองปกครองอยู่
ว่ากันตามที่ว่ามาแล้ว ผมก็คิดว่าดูจะเห็นได้ชัดนะครับว่า ‘รัฐบาลทหารของไทย’ นั้นตั้งใจจะเป็นแบบไหน แต่พร้อมๆ กันไปก็พยายามสร้างภาพตัวเองให้เป็นอีกแบบ
ใช่ครับ เขาก็อยากให้เราเห็นภาพพวกเขาเป็นแบบแรกนั่นแหละครับ คือ แค่เข้ามาหยุดยั้งความวุ่นวายทางการเมือง อย่างเร็วๆ นี้เองก็มีการออกมาพูดว่าถ้าตอนนั้นไม่รัฐประหารจะต้องจราจลนองเลือดแน่ๆ (แหมะ ที่นองเลือดกลางเมืองนี่ไม่ทราบใครยิงครับ?) และเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน บลาๆๆๆๆ” ที่เปิดให้ฟังนับเที่ยวไม่ถ้วน การพยายามสื่อสารกับสังคมตลอดเวลา การพยายามหาข้อกฎหมายและอ้างว่าตัวเองผ่านการดำเนินคดีตามขั้นตอนปกติต่างๆ ล้วนแต่บ่งชี้ชัดเจนว่า อย่างไรเสียก็ช่วยเห็นพวกเขาเป็นเผด็จการทหารประเภทแรกที่เข้ามาหวังจะจัดการให้เข้าที่เข้าทางแล้วจากไปเถิด
แต่พร้อมๆ กันไป ทั้งการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เนื้อหาแสนจะเลวร้าย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการขู่แล้วขู่อีกว่า หากไม่ยอมรับจะเขียนให้โหดยิ่งกว่านี้อีกบ้าง จะอยู่ในอำนาจนานขึ้นอีกบ้าง การปรับแก้เงื่อนไขการเลือกสมาชิกวุฒิสภา การให้อำนาจวุฒิสภาใหม่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี การออกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่บังคับให้อีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีนี้ต้องถูกนำมาใช้ ไม่ว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจะเป็นใครก็ตามอีกต่างหากนั้น มันเป็นการชัดเจนว่าไม่ได้จงใจจะอยู่ในฐานเวลาอันสั้น และจงใจหวังจะปลูกจะปั้นอุดมการณ์ให้ฝังหัวสังคมในระยะยาว
แต่ดูท่าเผด็จการไทยรอบนี้ จะจบอยู่ได้เพียงแค่ Totalitarian wannabe น่ะครับ คำว่าเผด็จการนั้นจริงๆ แล้วในภาษาอังกฤษมีค่อนข้างหลากหลาย คำกลางๆ ที่ใช้โดยทั่วๆ ไป อาจจะเป็นคำว่า Dictatorแต่นอกจากนี้ก็ยังมีคำว่า Authoritarian และ Totalitarian อยู่ด้วย ซึ่ง Hannah Arendt นักวิชาการด้านความรุนแรงคนสำคัญของโลกได้อธิบายความต่างของสองคำนี้ไว้อย่างน่าสนใจในงานของเธอที่ชื่อ The Origin of Totalitarianism โดยเธออธิบายว่าจริงๆ แล้วเผด็จการแบบ Totalitarianism นี้เป็นอะไรที่ใหม่และมีลักษณะเฉพาะตัวมาก เป็นลักษณะแบบสุดขั้วของเผด็จการที่รวมศูนย์ทุกสิ่งอย่างไว้ที่ตัวตนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือผู้นำสูงสุด ซึ่งหวังจะปรับโครงสร้างทางอุดมการณ์และความคิดของสังคมใหม่ทั้งหมดเลย เธอใช้คำว่า “เปลี่ยนแปลงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” (transform human nature) กันเลยทีเดียว ด้วยการพยายาม ‘สร้างโรดแมป’ ของเส้นทางที่สังคมพึงต้องเดินไป ตัวอย่างที่สำคัญของ Totalitarian ก็เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, โจเซฟ สตาลิน, หรือเหม๋า เจ๋อตุง เป็นต้นครับ พวกเขาเหล่านี้เปลี่ยนโฉม “วิถีความคิด ความเชื่อของคนในสังคม และรวมศูนย์ทั้งทางอำนาจและสัญลักษณ์ไว้ที่ตัวพวกเขาหรือกลุ่มของพวกเขาเอง” ได้ ในขณะที่ Authoritarian ก็คือ เผด็จการอย่างทั่วๆ ไปที่เราคุ้นชินกัน ไม่ได้สามารถผลักดันตัวเองไปสู่จุดสุดทางแบบ Totalitarian ได้
รัฐบาลทหารไทยก็ดูจะเป็นเพียง Totalitarian wannabe เรียกพวกวอนนาบีที่ ‘ใคร่อยากจะเป็น Totalitarian กับเขาบ้าง’ แต่ไม่มีความสามารถจะไปถึง แต่เนื่องจากเป็นวอนนาบี ก็จึ่งพยายามอยู่ สร้างภาพอยากให้คนเชื่อตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้นเนื้อหาและการมีตัวตนอยู่ของเพลงอย่าง ‘ประเทศกูมี’ ที่เป็นทั้งบททบทวนความจำต่อความจริงที่เกิดขึ้นและบทสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของการไม่ยอมรับการมีอยู่ของเหล่าเผด็จการทหารนั้น มันจึงเป็นความจริงที่เผด็จการทหารปล่อยไว้ไม่ได้ เป็นความจริงแบบที่เขากลัว (ใช่ครับ มันก็จะมีความจริงบางเรื่องที่พวกเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์และไม่เพียงไม่ห้าม แต่สนับสนุนด้วย)
เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ควบคุมสื่อก็แล้ว เล่นไม้แข็งก็แล้ว ขู่ก็แล้ว จับก็แล้ว กระทั่งออกทีวีกล่อมประชาชนทุกวันก็แล้ว แต่พวกเขากลับไม่สามารถจะ ‘ยึดใจ’ ของสังคมได้อีก แบบที่เหล่าผู้นำเผด็จการชั้นครูอย่างฮิตเลอร์, สตาลิน, เหมา, หรือสฤษดิ์เคยทำได้มาแล้วนั้น ส่วนหนึ่งผมคิดว่าคงต้องยกย่องคุณประโยชน์ให้กับการเกิดขึ้น มีอยู่ และเข้าถึงได้โดยทั่วไปของของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจริงๆ ครับ เพราะมันทำให้เราเข้าสู่โลกยุคหลังสื่อสารมวลชน หรือ Post-Mass Media Society ที่การสื่อสารทางเดียวแบบวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์นั้นลดอิทธิพลลงมากๆ แล้ว แต่สื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียที่อนุญาตให้เกิดการตอบโต้ข้อมูล และเกิดการปะทะกันของข้อถกเถียง ความคิดเห็น รวมไปถึงข้อเท็จจริง (บวกการกวนตีนต่างๆ) แทบจะในทันทีนั้น มันทำให้การระงับ บินเบือน หรือปิดกั้นข้อมูลเป็นไปได้ยากมากเมื่อเทียบกับโลกในยุคสื่อสารมวลชนทางเดียว
เพราะฉะนั้นเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาคม 2519 ที่เป็นภาพเหตุการณ์ที่ถูกใช้เป็นตัวเล่าเรื่องใน MV เพลงประเทศกูมีนั้น คงจะไม่เกิดขึ้นอีก เรื่องราวของการรับรู้ที่แตกต่างอย่างสุดขั้วของนิสิตนักศึกษาที่โดนล้อมปราบ ผูกคอตาย กับประชาชนต่างจังหวัดที่อยู่หน้าทีวีแล้วมีแต่การฉายการ์ตูนหรือละครให้ดูแทนภาพข่าวในช่วงนั้น ไปจนถึงการเซ็นเซอร์กระทั่งความเป็นประวัติศาสตร์ของตัวเหตุการณ์เองออกจากตำราเรียน ที่ทำให้ผ่านมาแล้ว 42 ปี ข้อมูลของเหตุการณ์นี้ก็ยังมีอีกมากที่ยังคลุมเครืออยู่ ยังถูกเล่าไม่หมด หรือกระทั่งยังไม่ถูกเล่าออกมาเลย ความเป็นจริงแบบนี้แหละครับที่มันถูก ‘ปิดตายไว้’ ด้วยพลังอำนาจของเผด็จการผู้กลัวความจริง และต้องการจะสร้างระบอบ Totalitarian ของตนเองขึ้นมา เพราะความจริงมันคืออุปสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
พลังของอินเทอร์เน็ตนี่แหละครับ ที่ทำให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของเผด็จการและเป็นเหยื่อของการถูกควบคุมความจริงอย่างที่ครั้งหนึ่งสังคมไทยเราเคยเป็น เคยถูกกระทำมาแล้ว
และเพราะคนอย่างกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship นี่แหละที่ทำให้การมีอยู่ของอินเทอร์เน็ตที่สามารถตอบโต้กลับทันที หรือรื้อฟื้นความจริงที่ถูกพยายามทำให้จมหายไปนั้นได้กลายเป็นความสามารถที่ได้ถูกใช้งานจริงๆ ทรงพลังจริงๆ ขึ้นมาได้ เพราะบางครั้งการมีแต่เครื่องมือในการต่อสู้ก็คงจะไม่เพียงพอ หากไม่มีคนกล้าพอจะเริ่มหยิบจับข้อมูลเหล่านั้นไปด้วย ฉะนั้นอย่าอายที่จะเป็นแต่เพียงแค่นักเลงคีย์บอร์ด สู้แต่หลังแป้นพิมพ์อะไรเลยครับ ต่อให้กล้าแค่อยู่หลังหน้าจอ กล้าแค่พิมพ์ข้อมูล พิมพ์ข้อถกเถียงตอบโต้ มันก็เป็นประโยชน์ในตัวมันแล้ว หากกล้าเพียงเท่านี้ ทำไหวเพียงเท่านี้ ก็ทำมันเท่าที่เรากล้าเราไหวกันนี่แหละครับ แค่ทำให้มันสุดกำลังของขีดจำกัดความกล้าของเราก็พอ มันมีประโยชน์ในตัวมันเองมากเกินพอแล้ว
ก็อยากจะขอบคุณกลุ่มศิลปินและนักสู้เพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆ ทั้งหลายอีกครั้งจากใจนะครับ ในฐานะนักเลงคีย์บอร์ดคนหนึ่ง