1
คุณผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า ตัวเองพูดได้กี่ภาษา
ผมไม่รู้คำตอบแน่ๆ แต่ขอลองเดาแบบมีหลักการดูก่อนละกันนะครับ โดยการเดาของผมขอจำกัดแค่ผู้อ่านในเมืองและแบ่งไปตามช่วงอายุหยาบๆ ตามนี้
คนอายุประมาณสัก 30 ปีขึ้นไปน่าจะพูดได้ประมาณ 2 ภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยที่ตอนเป็นเด็กคนรุ่นนี้ถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนภาษาอังกฤษ และใครที่เก่งภาษาอังกฤษจะถูกยกย่องให้เป็น ‘เทพ’ ที่ทุกคนต้องทึ่งในความสามารถ
คนรุ่นต่อมา ติ๊ต่างว่าอายุประมาณ 15 – 30 ปี ภาษาอังกฤษจะกลายเป็นภาษาธรรมดาๆ ที่ใครก็อ่านออก พูดได้ เขียนดี สำหรับคนรุ่นนี้ การรู้ภาษาที่สามเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ใครที่สั่งซูชิด้วยภาษาญี่ปุ่นตอนไปเที่ยว ไปตามหาโอปป้าเป็นภาษาเกาหลี หรือสามารถพาอาม่าไปเยี่ยมญาติที่ซัวเถาได้ (ซึ่งจริงๆ แล้วอาม่าอาจพูดจีนเก่งกว่าอีก) ก็นับว่ายอดเยี่ยม
สำหรับคนที่เด็กไปเลย ผมขอเดาว่าภาษาที่สามจะกลายเป็นเรื่องสามัญ คนรุ่นนี้น่าจะได้เรียนในโรงเรียนสามภาษา ถ้าไม่ได้เรียนโรงเรียนสามภาษา พ่อแม่ก็มักจะพาไปเรียนพิเศษข้างนอก บางคนพิเศษหน่อยได้เรียนภาษาที่สี่เลยก็มี
เราเรียนภาษาที่สอง ที่สาม ที่สี่ ด้วยเหตุผลมากมายหลากหลาย หลักๆ เลยก็คงเป็นเพราะอยากเข้าถึงปัญญาและวัฒนธรรมอื่น (อ่านหนังสือ อ่านการ์ตูน เล่นเกมส์ ดูซีรีส์ อ่านวรรณกรรม ดูหนังโป๊ ฯลฯ) อยากมีความสามารถพิเศษ อยากพัฒนาตัวเอง ฯลฯ แต่หากจะมีสักหนึ่งเหตุผลที่แห้งแล้งมากที่สุด แต่สมเหตุสมผลที่สุดสักอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า เหตุผลนั้นคือ เหตุผลทางเศรษฐกิจ
ใช่แล้วครับ ผมกำลังบอกว่า เราเรียนเพราะเราคิดว่ามันทำมาหากินได้นั่นเอง!!
คำถามที่อยากชวนคิดต่อก็คือ สุดท้ายแล้วคนรุ่นใหม่จะเรียนไปอีกกี่ภาษา และภาษาต่อไปที่จะเรียนควรเป็นภาษาอะไรมันถึงหากินได้
2
“เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ที่เป็นก้อนเมฆ”
ประโยคนี้เป็นคำที่ Mart Laar นายกรัฐมนตรีคนแรกของเอสโตเนียใช้อธิบายกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของเอสโตเนียจากประเทศที่เศรษฐกิจล่มสลายเมื่อแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 กลายมาเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมไอทีล้ำหน้าที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ถ้าถามว่าเศรษฐกิจเอสโตเนียล้ำหน้าแค่ไหน ฟังแล้วจะต้องทึ่งครับ – เอสโตเนียมีประชากรทั้งประเทศ 1.3 ล้านคน และมีสตาร์ทอัพในประเทศประมาณ 1.3 ล้านรายเช่นกัน ด้วยตัวเลขนี้ทำให้เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีจำนวนสตาร์ทอัพต่อหัวมากที่สุดในโลกด้วยอัตราหนึ่งต่อหนึ่ง ในขณะที่เมืองหลวงอย่างกรุงทาลิน ก็ได้รับการยกย่องเทียบชั้นกับเมืองใหญ่อย่างเบอร์ลิน ลอนดอน กระทั่งบางคนตั้งสมญาว่าเป็น ซิลิคอน วัลเลย์ แห่งยุโรป ทั้งๆ ที่มีขนาดเล็กนิดเดียว
ทั้งหมดนี้ยิ่งน่าทึ่ง เมื่อรู้ว่าตอนที่เอสโตเนียแยกตัวออกมาจากโซเวียต คนเอสโตเนียนที่มีโทรศัพท์บ้านใช้มีเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของประเทศเท่านั้น
ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนเท่านั้นนะครับ ภาครัฐของเอสโตเนียก็ ‘คลาวด์’ อย่างไม่น่าเชื่อ ผิดวิสัยรัฐทั่วไป ปัจจุบันคนเอสโตเนียนทั้งประเทศเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และกว่า 95 เปอร์เซ็นต์จ่ายภาษีทางอินเทอร์เน็ต เลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต จดทะเบียนการค้าทางอินเทอร์เน็ต เซ็นรับรองเอกสารทางการออนไลน์ได้ ฯลฯ ซึ่งกระบวนการแต่ละอย่างว่ากันว่า ใช้เวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้นนะครับ
ที่โหด (สัส) ไปกว่านั้นคือ รัฐบาลเอสโตเนียยังเปิดให้คนสัญชาติอื่นสมัครเป็นประชากรออนไลน์ได้ด้วย ซึ่งคนที่ได้สัญชาติออนไลน์สามารถใช้สิทธิประโยชน์บางประการในฐานะพลเมือง อาทิ การได้สิทธิทางภาษีสำหรับกิจการที่ทำการค้ากับคู่ค้าสหภาพยุโรป เป็นต้น
ถ้าถามว่าไอ้ระบบพวกนี้มันดียังไง ลองคิดดูง่ายๆ ครับว่า ถ้าประเทศไทยเราเลิกใช้การเซ็นกำกับสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านเพื่อยืนยันตัวตนอย่างปลอดภัยได้จะประเสริฐแค่ไหน? หรือถ้าเราสามารถติดต่อราชการโดยไม่ต้องย่างกรายไปสถานที่ราชการเลยจะล้ำเลิศยังไง?
หรือ ถ้าจะไปเลือกตั้งแล้วใช้เวลาแป๊ปเดียว ไม่ต้องรอหลายปีหละ? (อันนี้มุกหนะ)
เคล็ดลับความสำเร็จของเอสโตเนียมีอยู่หลายประการ เพราะความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่ปัจจัยเดียวอยู่แล้ว แต่ที่ผมคิดว่าโดดเด่นและเห็นชัดที่สุดคือ การที่รัฐบาลเอสโตเนียมองเห็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมโลกและเลือกวางนโยบายเศรษฐกิจประเทศไปสู่เป้าหมายนั้น
ในด้านหนึ่ง รัฐบาลเอสโตเนียพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุนและเทคโนโลยีไหลมายังเอสโตเนีย แต่ไม่ใช่ทุนและเทคโนโลยีไก่กาที่ไหนจะเข้ามาก็ได้นะครับ รัฐบาลเอสโตเนียนเลือกทุนอย่างรอบคอบมากว่าทุนแบบไหนถึงจะให้ประโยชน์กับเอสโตเนียได้จริง ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนเปิดประเทศใหม่ ฟินแลนด์เคยจะติดโทรศัพท์บ้านแบบอนาล็อกให้เอสโตเนียแบบฟรีๆ ทั้งประเทศ แต่รัฐบาลเอสโตเนียกลับตอบปฏิเสธไปเพราะคิดว่าเทคโนโลยีล้าสมัยไปแล้ว และหันไปลงทุนกับระบบดิจิทัลดีกว่า
เรื่องนี้เป็นวิสัยทัศน์แบบคนหนุ่มมองไกลโดยแท้ ตอนที่ Mart Laar ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1992 เขามีอายุแค่ 32 ปีเท่านั้น ในขณะนั้นอุตสาหกรรมไอทีเพิ่งเริ่มต้นพัฒนาเท่านั้น เอาง่ายๆ เลยนะครับ ในตอนนั้นบิลล์ เกตเพิ่งออกวินโดวส์เวอร์ชั่น 3.1, สตีฟ จ๊อบยังไม่ได้กลับไปแอปเปิ้ล, ซิลิคอน วัลเลย์เพิ่งตั้งไข่ได้ไม่นาน ส่วนอินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มต้นใช้ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเอสโตเนียทุ่มลงทุนในทุนมนุษย์เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้คือ การลงทุนวางระบบให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ การออกกฎหมายรับรองให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการสอนคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานให้เด็กเอสโตเนียนทุกคน ในระบบการศึกษาของเอสโตเนียทุกวันนี้ นักเรียนจะเริ่มหัดเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ ป.1 และเริ่มไต่ระดับความยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามชั้นปี
สิ่งที่ผมคิดว่าโคตรเจ๋ง ไม่ใช่เรื่องการสอนเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยังเด็กเสียทีเดียวนะครับ แต่เป็นวิธีคิดเกี่ยวกับมันต่างหาก คนเอสโตเนียนมองว่า โค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็เป็นภาษาแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราเรียนภาษาที่สาม ที่สี่ ตั้งแต่ยังเด็กได้ การเรียนเขียนโค้ดโปรแกรมก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
Toomas Ilve อดีตประธานาธิบดีของเอสโตเนีย[1] (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2006 – 2016) ยังเคยพูดติดตลกด้วยซ้ำนะครับว่า “แกรมมาของโค้ดคอมพิวเตอร์มีเหตุมีผลมากกว่าภาษาฝรั่งเศสด้วยซ้ำ”
3
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงพอจะเดาออกว่า ผมต้องเสนอให้เรียนภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาใหม่แน่นอน ถ้าคุณคิดแบบนั้นหละก็ ผมอยากจะกั๊กหน่อยๆ ว่า ทั้งใช่และไม่ใช่ครับ (ขืนบอกว่าใช่อย่างเดียว ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรต่อหนะสิ!)
ที่บอกว่าใช่ เพราะเรากำลังเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมใหม่นี้ ภาษาโค้ดคอมพิวเตอร์จะมีมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาลแน่นอน
แต่ที่บอกว่าไม่ใช่ เพราะผมไม่แน่ใจว่า รัฐไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน บทเรียนจากเอสโตเนียบอกเราว่ารัฐมีบทบาทอย่างมากในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจแบบใหม่ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ยากที่เศรษฐกิจจะสร้างนวัตกรรมใหม่ออกมาได้
กลัวแค่ว่า อีก 10 – 20 ปีข้างหน้า เด็กรุ่นใหม่เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์กันเป็นภาษาสามัญกันได้แล้ว แต่รัฐไทยยังไม่เรียนรู้ภาษาที่สองเลย
ไม่สิ!! บางทีอาจยังไม่เรียนรู้ภาษาที่หนึ่งที่ทำให้คุยกับประชาชนตัวเองรู้เรื่องด้วยซ้ำ
Illustration by Namsai Supavong
[1] เอสโตเนียปกครองแบบสาธารณรัฐ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ส่วนประธานาธิบดีมีสถานะเป็นประมุขของรัฐ เป็นตัวแทนรัฐในการทำพิธีกรม แต่ไม่ได้มีอำนาจบริหารแต่อย่างใด แม้ไม่มีอำนาจบริหาร ความเห็นของประธานาธิบดีต่อสาธารณะก็มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ