1
“ข้าอยากให้มันตาย ไอ้พวกทรยศ ข้าอยากได้หัวของพวกมัน เจ้าจงไปเอาหัวของพวกมันมาให้ข้า มิฉะนั้น เจ้าจะถูกเผาไปพร้อมกับพวกมัน อ้ายพวกทรยศ”
แอริส ทาร์แกเรียน ผู้ได้ชื่อว่าเป็น The Mad King พูดกับ เจมี แลนิสเตอร์
หลายปีที่ผ่านมา พอถึงช่วงสงกรานต์ ความสุขอย่างหนึ่งของผมก็คือการดู Game of Thrones ซีซันใหม่ พร้อมกับหยิบซีซันเก่าๆ มาปัดฝุ่นย้อนทวนไปด้วยราวกับกำลังทำวิทยานิพนธ์
แม้ ‘เซอร์ดาวอส’ (ตัวละครสำคัญหนึ่งใน Game of Thrones) จะเพิ่งมาเยือนไทย แต่ปีนี้ Game of Thrones ซีซันที่ 7 ยังไม่ฉาย ซีซันนี้จะเริ่มฉายกันในเดือนมิถุนายน ช่วงสงกรานต์จึงออกจะเหงาๆ อยู่สักหน่อย แต่พอเหงา ก็เลยทำให้นึกไปถึง ‘ต้นกำเนิด’ ของเรื่อง Game of Thrones ขึ้นมา
หลายคนอาจเห็นแย้ง แต่ถ้าถามผมว่า Game of Thrones มีกำเนิดขึ้นมาเพราะอะไร คำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวก็คือ ‘ความบ้า’
เป็นความบ้าของบุรุษหนึ่ง ผู้ได้ชื่อว่าเป็น The Mad King
เขาคือ แอริส ทาร์แกเรียน (Aerys Targaryen)
แอริสเป็นกษัตริย์ที่ครองบัลลังก์เหล็กหรือ Iron Throne เป็นคนที่ 17 เขาเป็นพ่อของเรการ์ (Rhaegar) วิเซอริส (Viserys) และดาเนริส (Daenerys) ซึ่งคนหลังสุดได้ชื่อว่าเป็น ‘แม่มังกร’ ที่หลายคนคงคุ้นตาดี
เรื่องหนึ่งที่ต้องยกย่องคุณลุง จี. อาร์. อาร์. มาร์ติน ซึ่งเป็นผู้เขียน Game of Thrones ก็คือ คุณมาร์ตินนั้น ‘สร้าง’ โลกของ Game of Thrones ขึ้นมาทั้งใบเลยทีเดียว มีการปูพื้นประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ที่เราเห็นในหนังสือหรือในซีรีส์เท่านั้น แต่ย้อนหลังไปไกลเป็นพันปี มีการสืบเนื่องทั้งอำนาจและลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆลงมาตามสายตระกูล (ที่เรียกว่า House) ทำให้เกิดความสลับซับซ้อนสุดหยั่งคาด
เรื่องของแอริส ทาร์แกเรียน ก็เหมือนกัน
สมัยยังหนุ่ม แอริสไม่ใช่เจ้าชายที่ฉลาดหรือเก่งกาจที่สุด แต่ร่ำลือกันว่าเขาเป็นคนที่มีเสน่ห์มาก รูปงาม ใจกว้าง มีเพื่อนฝูงรักใคร่ แต่ปัญหาก็คือเป็นคนขี้โกรธ อารมณ์เสียเร็ว ไม่ได้ฉลาดอะไรนัก แถมยังเป็นคนค่อนข้างหยิ่งทะนงลุ่มหลงในตัวเอง ผลก็คือคนรอบข้างสามารถป้อยอยกย่องเขาได้ง่าย และเขาก็หลงเชื่อด้วย
แอริสมีเพื่อนรักสองคน คนหนึ่งเป็นทายาทแห่งปราสาท Casterly Rock นั่นก็คือไทวิน แลนนิสเตอร์ (Tywin Lannister)
ซึ่งตระกูลแลนนิสเตอร์นี่ ถ้าคุณได้ดู Game of Thrones ก็จะรู้ว่ามีความสำคัญต่อเนื้อเรื่องทั้งหมดแค่ไหน อีกคนหนึ่งเป็นทายาทแห่งปราสาท Storm’s End และเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขาด้วย คือ สเตฟฟอน บาราเธียน (Steffon Baratheon)
การขึ้นครองบัลลังก์ของแอริสไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพ่อของเขาไม่ใช่ลูกชายคนโต แต่เป็นลูกชายคนรองของกษัตริย์เอกอนที่ห้า (Aegon V) (ซึ่งพูดง่ายๆก็คือ ‘ปู่’ ของเขานั่นเอง) แต่เกิดการรบพุ่งทำให้ปู่และลูกชายคนโตต้องเสียชีวิต พ่อของเขาซึ่งเป็นลูกคนรองเลยได้ขึ้นครองบัลลังก์เหล็ก และเมื่อพ่อของเขาเสียชีวิตเนื่องจากอาการป่วย เขาก็ได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์แอริสที่สองแห่งราชวงศ์ทาร์แกเรียน
ในช่วงต้นๆ แอริสปกครองบ้านเมืองได้ดี ช่วงแรกผ่านไปอย่างสงบสุข แว่นแคว้นทั้งหลายฟื้นตัวจากการศึก ที่สำคัญที่สุดก็คือ แอริสเป็นนักปฏิรูปตัวจริง เขาเห็นว่าในราชสำนักยุคก่อนหน้า เต็มไปด้วยวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เร่อร่าเก่าแก่พ้นสมัย เขาจึงจัดการกวาดบ้านครั้งใหญ่ ปลดคนเก่าๆ แก่ๆ ที่มีแนวคิดโบร่ำโบราณทิ้งไป รับคนหน้าใหม่ที่อายุอ่อนกว่าเข้ามาทำงานแทน ซึ่งก็ทำให้เพื่อนของเขาอย่างไทวิน แลนนิสเตอร์ ประทับใจอย่างยิ่ง และในที่สุด ไทวินก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Hand of the King ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเป็น ‘มือขวา’ หรือ ‘กุนซือ’ ของกษัตริย์นั่นเอง
แอริสประกาศตั้งแต่ต้นว่า เขาจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเวสเทอรอส (Westeros) ให้ได้ เขามี ‘เมกะโปรเจกต์’ มากมาย เช่นประกาศจะสร้างกำแพงทางเหนือของ The Wall หรือจะสร้างเมืองใหม่ที่ทำจากหินอ่อนสีขาว หรือสร้างกองเรือใหญ่มหึมาไปบุก Iron Bank (ซึ่งเป็นเหมือน ‘ธนาคารโลก’ แห่ง Game of Thrones) รวมถึงการสร้างคลองใต้น้ำส่งน้ำไปยังทะเลทรายเพื่อให้ทะเลทรายชุ่มชื้น แต่ไม่มีเมกะโปรเจกต์ไหนเลยที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ก็เพราะเขาไม่ได้เก่งจริงและไม่ได้ทำงานจริง
กลับกัน เป็นกุนซือของเขาอย่างไทวิน แลนนิสเตอร์ ต่างหากที่ ‘เก่ง’ จริง ไทวินทำทุกอย่าง เขาเป็นคนฉลาด ขยัน ตัดสินใจเฉียบขาด ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และแข็งแกร่งทรหด จนในที่สุด แอริสก็เริ่มรู้สึกเสียใจที่เลือกไทวินมามาอำนาจ ไม่ใช่เพราะไทวินทำงานไม่ดี แต่เพราะเขาทำงาน ‘ดีเกินไป’ คือดีเกินหน้าผู้เป็นกษัตริย์อย่างเขาต่างหาก
ไทวินเป็นผู้ยุติความขัดแย้งระหว่างแอริสกับ Iron Bank แถมยัง ‘ควักกระเป๋า’ เอาเงินตัวเองออกมาให้ Iron Bank กู้ด้วย อำนาจของไทวินจึงค่อยๆ ทวีขึ้น เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดาพ่อค้า แถมยังสร้างถนนใหม่ๆ และลงโทษพวกพ่อค้าขายขนมปังขี้โกงที่เอาขี้เลื่อยปนไปในขนมปัง ทำให้ได้แรงสนับสนุนจากมวลมหาประชาชน แต่ถึงอย่างนั้น ไทวินก็ไม่ได้เป็นที่รักมากมายนัก เพราะเขาเป็นคนไร้อารมณ์ขัน เฉียบขาด หยิ่งยะโส ก้าวร้าว และไม่ละเอียดอ่อนเลย นั่นทำให้เขามีศัตรูมากไปด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างแอริสกับไทวินนั้นซับซ้อนหลายชั้น แอริสชอบ (และเคยได้เสีย) กับเมียของไทวินมาก่อน แต่กับเมียของตัวเอง (คือราเอลลา Rhaella) กลับอยู่กินด้วยกันอย่างไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ อย่างหนึ่งเพราะแอริสเจ้าชู้ มีสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้า แต่อีกอย่างหนึ่งก็เพราะราเอลลาแท้งลูกหลายคน (หรือไม่ก็คลอดออกมาแล้วลูกตาย) สรุปก็คือ มีลูกถึง 7 คนด้วยกันที่ถ้าไม่แท้งก็คลอดออกมาแล้วตายทันที หรือไม่ก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก
แรกๆ แอริสก็ปลอบขวัญเมียดีอยู่ แต่พอนานๆ ไป เชื้อความบ้าในตัวก็ทำให้เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ราเอลลาจะไม่ซื่อสัตย์กับเขา เขาเริ่มคิดว่าพวกลูกๆ ที่ตายไปทั้งหมดไม่ใช่ลูกของตัวเอง เพราะเทพเจ้าจะไม่ยอมให้พวกลูกไม่มีพ่อ (Bastards) มาครองบัลลังก์หรอก
ที่สุด เขาก็บ้ามากพอจะจับราเอลลาไปขังในหอคอย แล้วให้นักบวชหญิงสองคนนอนร่วมเตียงกับเมียตัวเอง เพื่อรับประกันว่าเมียจะนอกใจตัวเองไม่ได้ พร้อมกันนั้น ความสัมพันธ์กับไทวินก็เริ่มเลวร้ายลงด้วย เขาเริ่มทำอะไรๆ ตรงข้ามกับที่ไทวินบอก เช่นตอนแคว้นอื่นทำศึกกัน ไทวินบอกให้รักษาความเป็นกลาง แต่แอริสกลับเลือกไปเข้าข้างแคว้นหนึ่ง ทำให้เกิดผลลัพธ์เลวร้าย แถมเขายังไปขึ้นค่าธรรมเนียมท่าเรือกับเมืองต่างๆ โดยขึ้นค่าธรรมเนียมท่าเรือเมืองของไทวินเป็นสามเท่า คร้ันมีคนมาประท้วง ก็ป้ายสีให้เป็นความผิดของไทวิน
จุดแตกหักแรกของแอริสกับไทวินเกิดขึ้นในงานเลี้ยงฉลองครองบัลลังก์ครบ 10 ปี
เมื่อแอริสเจอกับเมียของไทวินที่พาลูกมาด้วย เขาถามว่าการเลี้ยงลูกทำให้หน้าอกหย่อนยานหรือเปล่าต่อหน้าคนเพื่อเป็นการหยามเกียรติของไทวิน วันรุ่งขึ้นไทวินเลยลาออกจากตำแหน่งกุนซือ แม้แอริสไม่ยอมรับการลาออก แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะทำให้คนในราชสำนักที่อยากประจบประแจงแอริส เริ่มล้อเลียนและไม่เคารพไทวินเหมือนเดิม
ความบ้าของแอริสเริ่มฉายประกายขึ้นอีกเมื่อลูกชายอีกคนหนึ่งของเขาตาย เขาสั่งให้ตัดหัว ลงโทษ และเนรเทศคนที่ดูแลไปจำนวนมาก แถมเมื่อไทวินอยากคืนดีกับแอริสด้วยการพยายามยกลูกสาวให้มาแต่งงานกับลูกชายของแอริส แอริสก็ปฏิเสธ และก่นด่าว่าไทวินเป็นแค่ขี้ข้า แล้วขี้ข้าจะมายกลูกสาวให้แต่งงานกับสายเลือดกษัตริย์ได้ยังไงกัน ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของแอริสกับไทวินจึงมาถึงจุดแตกหักที่ไม่อาจหวนคืนได้
ความขัดแย้งของสองคนนี้นำไปสู่ ‘เรื่องใหญ่’ ที่แอริสอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน นั่นก็คือการขบถของลอร์ดเดนิส ด้วยการไม่ยอมจ่ายภาษี ลอร์ดเดนิสนี่เจ้าเล่ห์ไม่เบา เขารู้ว่าไทวินกับแอริสขัดแย้งกัน เลยเชิญแอริสให้ไปรับฟังคำร้องเรียนด้วยตัวเองที่ปราสาทของเขา ซึ่งแน่นอน ไทวินย่อมไม่แนะนำให้ไปเพราะเป็นเรื่องอันตรายมากๆ แต่แอริสอยากคัดง้างกับไทวิน ก็เลยดื้อดึงไป แต่เมื่อไปแล้ว แอริสก็ถูกจับเป็นตัวประกันสมกับที่ไทวินเตือนเอาไว้ สุดท้ายไทวินต้องมาล้อมปราสาทของเดนิสเอาไว้ กว่าจะช่วยเหลือแอริสออกมาได้ แต่ก็ต้องใช้เวลานานถึงหกเดือน
เป็นหกเดือนนี้เอง ที่แอริสถูกขังเป็นเชลย ถูกทรมาน จนทำให้ ‘ความบ้า’ ที่เริ่มเพาะเชื้ออยู่ในตัวลุกลามระบาดใหญ่ กลายเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ใหญ่โตมโหฬารของชีวิต และทำให้ทุกคนขนานนามว่าเขาเป็น The Mad King หรือ ‘กษัตริย์บ้า’ ในภายหลัง
หลังจากได้รับการช่วยเหลือจนกลับมาได้แล้ว แอริสไม่ยอมออกจากห้องที่อยู่ (ที่เรียกว่า Red Keep) เป็นปีๆ ในความบ้า มีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นอย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาพยายามหาผู้หญิงมาแต่งงานกับเรการ์ ลูกชายคนโตของเขาแทนที่ลูกสาวของไทวิน (เพราะคิดว่าถ้าให้เรการ์แต่งงานกับลูกสาวของไทวิน จะทำให้ไทวินทวีอำนาจขึ้น) แต่แผนการณ์ก็ล้มเหลว แอริสคิดว่าไทวินเป็นคนทำลายแผนการณ์นี้ ซึ่งก็ยิ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างกันมากขึ้น ครั้นเมื่อเรการ์แต่งงานขึ้นมาจริงๆ เขาก็ไม่ยอมไปร่วมงานแต่งงานเพราะกลัวจะถูกลอบสังหาร
ที่สำคัญ สารรูปของเขายังดู ‘บ้า’ ได้ถึงใจด้วย เพราะเขาไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ ไม่ยอมตัดผม ไม่ยอมตัดเล็บ เพราะการตัดผมตัดเล็บต้องใช้สิ่งที่อาจเป็นอาวุธนำมาฆ่าเขาได้ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปลักษณ์ของเรการ์ที่สะอาดเอี่ยมหนุ่มแน่น ก็ยิ่งทำให้เขาไม่ไว้วางใจเรการ์กับไทวินมากขึ้นไปอีก แต่ถึงกระนั้น ในความบ้านี้ เขากลับแต่งตั้งเจมี่ แลนนิสเตอร์ ลูกของไทวิน-ให้มาเป็นอัศวินอยู่ใกล้ตัว เพราะคิดว่านี่คือการ ‘จับ’ เอาเจมี่มาเป็น ‘ตัวประกัน’ ไทวินจะได้ไม่กล้าทำผิดคิดร้ายกับเขา
เหนือสิ่งอื่นใด แอริสเชื่อว่า เรการ์กับไทวินลอบวางแผนสมคบคิดกันจะโค่นบัลลังก์ของเขา แอริสเริ่มหันไปลุ่มหลงในการลงโทษคนอย่างรุนแรงผิดวิสัยมนุษย์มนา ด้วยการใช้ไฟที่เรียกว่า Wild Fire ซึ่งเป็นไฟที่ระเบิดได้รุนแรงและสามารถฆ่าคนได้ทีละมากๆ เขาเลิกลงโทษคนด้วยการแขวนคอธรรมดา แต่หันมาใช้ Wild Fire บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ความหวาดกลัวต่อ ‘ความบ้า’ แพร่ระบาดไปทั่ว
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ แอริสกลัวจะเกิดขบถ กลัวคนไม่ซื่อสัตย์จงรักภักดีกับตัวเองมากเสียจนวางแผนซ่อน Wild Fire ไว้ตามจุดต่างๆ ของเมือง เขาคิดว่าถ้าเมื่อไหร่เกิดขบถขึ้นมา ก็จะจุดไฟเผามันให้ระเบิดราบพนาสูรกันไปหมดทั้งเมืองเลย โดยที่ตัวเขาเองจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะเขาสืบเชื้อสายมังกร เขาจะไม่ถูกเผาไหม้จนตาย แต่เมื่อไฟไหม้แล้ว เขาจะกลายเป็นมังกรที่ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นไปอีก ต่อให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องตายไปเท่าไหร่เขาก็ไม่แคร์ เพราะสิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือตัวเขาเอง
แน่นอน ในที่สุด ‘ความบ้า’ แบบนี้ของกษัตริย์แอริส ก็สร้างหายนะให้เขาขึ้นมาจริงๆ เพราะผู้คนทนไม่ไหว
ไทวินกับโรเบิร์ต บาราเธียน เลยขบถ ยกทัพเข้ามาปราบ ทำให้เรการ์ต้องตาย แล้วเมื่อแอริสคิดจะจุด Wild Fire เผาเมือง เจมี่ แลนนิสเตอร์ ผู้เป็นอัศวินใกล้ตัว ก็จำต้องสังหารแอริสก่อนที่การจุด Wild Fire จะผลาญพร่าผู้คนในเมืองทั้งหมดจนตายสิ้น
ความบ้าของกษัตริย์แอริสจึงจบลงพร้อมกับหายนะของราชวงศ์ทาร์แกเรียนด้วย เพราะโรเบิร์ต บาราเธียน ขึ้นครองบัลลังก์แทน ทำให้ยุคสมัยของทาร์แกเรียนสิ้นสุดลง
และนับจากนั้น Game of Thrones ที่เราเห็นในซีรีส์ – ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
2
อัศวินคู่ใจกษัตริย์แอริส ผู้เข้าไปช่วยเหลือแอริสจากการตกเป็นเชลยของลอร์ดเดนิส คือ บาริสตัน เซลมี (Barristan Selmy) เขาได้ติดตามดาเนริส ทาร์แกเรียน ลูกสาวของแอริสรอนแรมดั้นด้นไปในดินแดนทะเลทราย
ครั้งหนึ่ง เมื่อรำลึกภาพสมัยที่เคยยืนอยู่ข้างบัลลังก์เหล็ก พร้อมกับมองเห็น ‘ความบ้า’ ค่อยๆ กลืนกินกษัตริย์แอริส เขาสารภาพว่า – ตอนนั้นเขาเพียงรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่ของตัวเองด้วยการรักษาคำสาบานต่อแอริสอยู่ แต่เมื่อมาถึงวันนี้ วันที่ทุกอย่างล่มสลายลง เขาได้แต่สงสัยกับตัวเองว่า – ในวันนั้น, เขาทำหน้าที่นั้นดีเกินไปหรือเปล่า
ในฐานะ Kingsguard (อันเป็นตำแหน่งสมมติใน Game of Thrones) เขาได้เห็นสิ่งต่างๆ เลวร้ายเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นทุกทีภายใต้ความบ้าที่เกิดขึ้น เลือดของผู้คนหลั่งไหลเพราะน้ำมือของเขา ความบ้าทำให้เกิดความวิบัติ และบางคราวเขาก็ถึงขั้นสงสัยว่า หากวันนั้นเขาไม่ได้ไปช่วยกษัตริย์แอริสให้รอดพ้นจากการตกเป็นเชลยของลอร์ดแดนิส วันนี้จะเป็นอย่างไร
คำถามที่ต้องย้อนกลับไปถามเซลมีก็คือ – แล้วใครจะตอบคำถามนี้ให้เขาได้เล่า, นอกจากตัวของเขาเอง
(หรือไม่อีกที อีกคนที่อาจจะตอบคำถามนี้ได้ ก็คือ จี. อาร์. อาร์. มาร์ติน ซึ่งอยู่ในสถานะคล้าย ‘พระเจ้า’ ผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งแห่ง Game of Thrones นี่แหละ,
แต่เขาจะตอบไหมล่ะ!)