“เราปกครองด้วยระบอบเผด็จการอันมีการเลือกตั้งเป็นแค่มุก” twitter สมวารีพักตร์ (วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2562)
หลังจากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมก็นึกภาพบทความที่จะต้องเขียนเป็นเรื่องอื่นใดนอกเหนือไปจากเรื่องนี้ไม่ได้ แต่พร้อมๆ กันไปผมก็ต้องสารภาพด้วยว่าการเขียนเรื่องการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ในฐานะบทความทางการเมืองนั้นค่อนข้างจะเขียนได้ยาก ไม่ใช่เพราะมันไม่มีเรื่องหรือประเด็นให้เขียนนะครับ แต่เพราะว่าความผิดปกติ ความวิปลาศนั้นมันแจ่มแจ้งแสนชัดคาตาชนิดที่ไม่ต้องการให้เขียนอธิบายอะไรเพื่อให้มองเห็นสภาวะวิปริตที่เกิดขึ้นอีก
ประเด็นเรื่องการลิดรอนสิทธิผู้ที่ลงคะแนนเสียงไปกว่าหกล้านคน การอธิบายว่าเงินกู้คือรายรับ หรือการบอกว่าดอกเบี้ยที่เรตพอๆ กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ของธนาคารคืออัตราดอกเงินกู้ที่ต่ำผิดปกติจนต้องโดนยุบพรรค และปรับเพิ่มเติม กระทั่งยังต้องมาลุ้นต่อว่าจะโดนคุกโดนตารางด้วยไหมนั้น เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าใครก็ตาม (ไม่จำเป็นต้องเชียร์อนาคตใหม่) ก็ย่อมสามารถเห็นได้
หากขนาดนี้ยังมองไม่เห็นก็คงไม่ต้องเสียแรงคุยกันต่อ
จากประเด็นเหล่านี้ หากผมจะเขียนจำเพาะเจาะจงไปที่การยุบพรรคครั้งนี้ อย่างมากก็คงได้แค่ตั้งข้อสังเหตเพิ่มเติมสั้นๆ เช่น สาเหตุหนึ่ง (ในสารพัดสาเหตุของการ ‘จ้องจะจัดการทางการเมืองนี้’) ที่เลือกเอาคดีเงินกู้มาเป็นคดีประหารอนาคตใหม่จากหลายสิบคดีที่อนาคตใหม่โดนและกองอยู่ที่ศาลนั้น ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นลักษณะที่แตกต่างจากพลังประชารัฐที่สุดและผลการตัดสินกระทบพลังประชารัฐได้น้อยที่สุดด้วยก็เป็นได้
คือแม้ขั้วทางการเมืองรวมถึงความคิดทางการเมืองของอนาคตใหม่กับพลังประชารัฐจะต่างกันมาก แต่ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ โครงสร้างการออกแบบที่มาของคะแนนเสียงนั้นมีหลายส่วนที่คล้ายกันอยู่ เพราะตัวพรรคเกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้แล้ว และก็สามารถออกแบบการหาคะแนนให้ได้ประสิทธิผลที่สุดตามลักษณะรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ได้ด้วย ในแง่นี้หลายอย่างในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อตั้งพรรคหรือหาเสียงนั้นมีโครงสร้างใกล้เคียงกันอยู่บ้าง (แม้วิธีการจะคนละวิธี) แต่หนึ่งในจุดที่ต่างกันที่สุดชนิดหาความเหมือนไม่เจอเลยของทั้งสองพรรคนี้ดูจะอยู่ที่การได้มาซึ่งทุนในการจัดตั้งและบริหารพรรค ฉะนั้นหากเลือกประหารอนาคตใหม่ด้วยคดีนี้ ก็ย่อมไม่มีโอกาสใดๆ ที่จะชิ่งไปโดนพลังประชารัฐได้ ไม่ว่าโต๊ะจีนระดมทุนนั้นจะแลดูแย่กว่ามากปานใดก็ตาม เป็นต้น แต่ก็เท่านี้แหละครับ ที่พอจะคิดเพิ่มเติมจากที่คุยๆ กันก็มีแค่อะไรเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้
เพราะเหตุนี้ผมเองก็ค่อนข้างจะครุ่นคิดอยู่นานว่าควรจะเขียนถึงการยุบพรรคในมุมไหนดีที่อาจจะยังไม่ถูกพูดถึงหรืออภิปรายมากนัก จนกระทั่งผมได้มาเจอกับข้อความทวีตเตอร์ข้างต้นนี้ ซึ่งนอกจากจะคมมากๆ แล้ว ยังชักชวนให้ผมคิดไปถึงประเด็นที่ถูกแตะถึงเป็นครั้งคราว แต่อาจจะยังไม่ถูกเขียนถึงอย่างรวบยอดชัดเจนอย่างเป็นระบบนัก ซึ่งมันสัมพันธ์กับการยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงการยุบพรรคอื่นๆ ในครั้งก่อนๆ ตั้งแต่ไทยรักไทยมายันไทยรักษาชาติไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
ฉะนั้นผมเลยคิดว่าถ้าได้ลองยกประเด็นการยุบพรรคแบบทั้งก้อน และประเด็นการกระทำชำเราประชาชนแบบอื่นๆ มาอภิปรายในภาพกว้าง น่าจะเป็นการดีไม่น้อย
พอเรามองย้อนกลับไปที่กระบวนการประหัดประหารประชาธิปไตยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาในแง่ของบทบาทขององค์กรตามกฎมายต่างๆ แล้ว (ว่าง่ายๆ ก็คือ ไม่นับตัวการรัฐประหารเอง ที่เป็นการตัดตอนอย่างชัดเจน แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจที่อิงตามข้ออ้างเชิงกฎหมาย) อย่างน้อยๆ ก็ต้องนับตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทยเรื่อยมาจนถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้นั้น ผมคิดว่าเราพอจะแบ่งลักษณะการทำงานออกได้เป็น 2 แบบหลักๆ
(อย่างไรก็ดี ผมขอหมายเหตุแรงๆ ตรงนี้ไว้ด้วยนะครับว่า แม้ผมจะแยกมันเป็น 2 อย่าง แต่ทั้งสองการทำงานนี้นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างพันลึกและพิสดารมากมายอยู่ด้วย จนทางหนึ่งจะบอกว่าแยกกันไม่ออกก็ได้ ฉะนั้นการแยกนี้จึงเป็นแค่การแบ่งให้เห็นภาพแต่โดยหยาบๆ เท่านั้น)
การทำงานประหัดประหารประชาธิปไตย ‘ด้วยอำนาจเชิงสถาบัน’ (institutionalized action) ทั้งสองนี้ผมคิดว่า คือ 1.การใช้อำนาจเพื่อการ disempowerment (ลดทอนอำนาจ) และ 2.การใช้อำนาจเพื่อการ disownment (ทำลายความเป็นเจ้าของ) ครับ
โดยการลดอำนาจ หรือ ทำลายความเป็นเจ้าของนี้ คือการกระทำต่อตัวประชาชนของรัฐเป็นการเฉพาะด้วย โดยหากแบ่งแบบคร่าวๆ มากๆ แล้ว ผมคิดว่าการหยุดอำนาจเชิงรุก (active) ของประชาชนนั้นอยู่ในกลุ่มของการ disempowerment และการหยุดอำนาจเชิงรับ (Passive) หรืออำนาจชนิดที่เสมือนหนึ่งว่ามีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วนั้น ก็จะอยู่ในกลุ่มของการ disownment ไป
ที่ผมเสนอไปแบบนี้นั้นก็เป็นเพราะว่า ผมมองว่านับตั้งแต่การเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทยนั้น ประชาชนในชาติก็มีอำนาจในลักษณะเชิงรับอยู่แล้ว คืออย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่การอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้โครงสร้างในเชิงระบอบเปลี่ยนไปหมด ความเป็นเจ้าของรัฐและอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นอยู่ที่ประชาชนทุกคนแทนที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งคำอธิบายหรือเรื่องเล่าชุดนี้ได้กลายเป็นชุดเรื่องเล่าหลักในการอธิบายสถานะของโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยนับแต่นั้นมา
ฉะนั้นไม่ว่าเราจะ ‘รับรู้’ ถึงอำนาจตัวนี้หรือไม่ก็ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะมันได้ถือเป็นอำนาจที่มีติดตัวโดยปริยาย อำนาจทางการเมืองทางธรรมชาติที่ได้มานับแต่แรกเกิด เมื่อลงทะเบียนราษฎร์ว่าเป็นประชาชนชาวไทย เช่นนั้นมันจึงเป็นอำนาจเชิงรับไป คือเป็นอำนาจที่ตัวผู้ใช้อำนาจไม่ต้องแสดงออกหรือกระทั่งรับรู้ เป็นอำนาจที่ต่อให้ไม่อยากมีก็ต้องนับว่ามีอยู่ ถือครองอยู่ก็ว่าได้ อำนาจในการเป็นเจ้าของรัฐและต่างๆ เหล่านี้ก็จะถูกสร้างเงื่อนไขให้ได้แสดงออกบ้างในแง่ของสิทธิบ้าง หน้าที่บ้าง อย่างการเลือกตั้งต่างๆ หรือการได้รับสวัสดิการของรัฐต่างๆ เป็นต้น
และเราเองก็จะถูกบังคับให้จ่ายค่าแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนี้ตลอดเวลาเช่นกัน ผ่านหน้าที่บังคับที่มีต่อเราตามกฎหมาย เช่น การเรียกเก็บภาษี การบังคับให้เชื่อฟังกติการ่วมของสังคมต่างๆ นานา
อย่างไรก็ตามอำนาจในเชิงรุกที่ต้องการการรับรู้และการเข้าร่วม (awareness and participation) ของประชาชนด้วยนั้น แม้จะมีรากฐานอยู่ในอำนาจเชิงรับที่ได้มาโดยปริยายอยู่แล้วนั้น แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้หรือระลึกถึงตลอดเวลา เรียกได้ว่ามีขึ้นมีลงพอสมควรตลอดประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งโดยมากแล้วก็จะออกมาในรูปแบบของการทำงานของสื่อสารมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจได้อย่างถึงพริกถึงขิง หรือการรวมตัวกันชุมนุมต่อสู้เรียกร้องกับรัฐบาล เป็นต้น
และในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยนี้ผมคิดว่าคงจะปฏิเสธไม่ได้ถึงบทบาทของพรรคไทยรักไทยที่เกิดขึ้นมาและได้จุดไฟของการรับรู้ถึงอำนาจในส่วนนี้ชนิดยากจะมอดดับลงได้ไป
ในส่วนของ ‘ความตั้งใจ/เจตจำนงค์โดยแท้จริง’ (true intention) ของผู้นำไทยรักไทยในยุคนั้นโดยเฉพาะทักษิณ ชินวัตร อาจจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงได้มากมายหลากหลายไม่มีวันจบ ไม่นับว่าความตั้งใจพวกนี้สามารถมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาด้วย ไม่ได้จำเป็นจะต้องแช่นิ่งเป็นอย่างไรก็อย่างนั้นตลอดเวลา
อย่างไรก็ตามในแง่ของ ‘ผลพวงของนโยบายและการทำงานของพรรคไทยรักไทยและอื่นๆ เรื่อยมาแล้วนั้น’ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามันสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับประชาชน เราได้เห็นกระบวนการ ‘เพิ่มอำนาจให้ประชาชน’ (empowering people) อย่างเป็นระบบและเป็นไปในทางนโยบายแบบที่แทบไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย นโยบายอย่างสามสิบบาทรักษาทุกโรค หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน และอื่นๆ ได้ทำให้อำนาจกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ (materialization of power) และประชาชนได้เห็น ได้สัมผัสกับอำนาจของพวกเขาซึ่งอาจจะเคยถูกมองว่าเป็นเพียงแต่ลมปากอย่างชัดเจนคาตา การทำให้อำนาจมันจับต้องได้ มันเห็นได้จริงนี้เอง มันทำให้มันยากจะลืมเลือนได้อีก
เหมือนสังคมที่พัฒนาเข้าสู่การมีรถยนต์ มีเครื่องจักร ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วนั่นแหละครับ จะให้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบบรรพกาล เข้าป่าล่าสัตว์ เก็บรากไม้แดกอะไรอีกย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะอำนาจที่มันช่วยให้ชีวิตดีขึ้นชนิดที่สัมผัสได้แบบนี้ เมื่อเข้ามาในชีวิตแล้ว เราเห็นได้ด้วยตัวเราเองจริงๆ ว่า ‘ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร’ และเมื่อเราถูกบังคับให้ต้อง ‘พรากจากมันไป’ เราก็ย่อมต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มันคืนมา
ในแง่นี้เองการเกิดขึ้นของไทยรักไทย และการพยายามลบล้างไทยรักไทยจึงนำมาสู่การลุกฮือขึ้นสู้ของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และพยายามแสดงให้เห็นถึงการเป็น ‘ประชาชนผู้ตื่นรู้ทางอำนาจหรือได้รับการเพิ่มเติมอำนาจแล้ว’ (empowered citizen) ซึ่งก็เป็นการแสดงอำนาจเชิงรุกอย่างที่เรารับรู้กัน
กระบวนการทำลาย ‘อำนาจเชิงรุก’ นี้ ก็ปรากฏออกมาในหลายรูปแบบ แต่ที่รุนแรงที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นการสังหารผู้ชุมนุมเสื้อแดงกลางเมืองในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.2553 รวมถึงการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนอีกว่าผู้รับผิดชอบต่อความเหี้ยมโหดของการสังหารประชาชนตัวเองเกือบร้อยชีวิตนั้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรใดๆ และก็ยังเดินเชิดหน้าทำราวกับอยู่ข้างเดียวกับประชาชนที่พวกเขาสั่งยิงได้ต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เองผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งและส่วนที่ไปสุดทางที่สุดของกระบวนการ disempowering people คือ ทำลาย ‘อำนาจที่ได้รับการเพิ่มเติมมา ได้ถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวมา กลับหดหายไป’ การฆ่าที่เกิดขึ้นนอกจากจะไปทั้งการส่งสารว่า “พวกมึงอย่าได้คิดหือนะ” แล้ว มันยังทั้งสร้างแผลใจ (trauma) ที่ยากจะเลือนหายด้วย ซึ่งแผลใจนี้ทำหน้าที่ทั้งในฐานะความแค้นและความกลัวในใจต่อไปด้วย ซึ่งกลายเป็นชะนักที่ทรงพลังต่อการพยายามจะรวมตัวกันและแสดงอำนาจของประชาชนในลักษณะนี้อีกครั้ง และพลังของมันก็ยังคงมีให้เห็นอยู่กระทั่งบัดนี้ ที่เมื่อไหร่ที่ข้อเสนอเรื่องการชุมนุมหรือลงถนนถูกเสนอขึ้นมา ปฏิกิริยาในลักษณะว่า “เดี๋ยวก็ได้เอาชีวิตไปทิ้ง หรือไปเป็นเป้ากระสุนจริง” ก็จะโผล่ควบคู่มาโดยตลอด เป็นต้น
โดยสรุปแล้วกระบวนการ disempowerment สำหรับผมมันคือกระบวนการที่มุ่งเข้าไปจัดการ เข้าไปทำลายอำนาจที่ต้องการความมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน (นอกเหนือเวลาการเลือกตั้ง) ซึ่งไม่ได้มีแค่การยิงคนกลางเมืองที่ว่า แต่รวมไปถึงนโยบายการเซ็นเซอร์ต่างๆ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, กฎหมายห้ามหมิ่นศาล, การบุกจับและลงโทษผู้ซึ่งแสดงความคิดเห็นต่างมากมาย และอาจรวมไปถึงข่าวการ ‘อุ้มหาย/อุ้มฆ่า’ ที่เกิดกับนักกิจกรรมการเมืองที่มีชื่อเสียงอีกหลายคนด้วย
ส่วนกระบวนการ disownment นั้น มันทำงานกับอำนาจทางการเมืองโดยธรรมชาติหรืออำนาจเชิงรับของประชาชน ซึ่งโดยส่วนตัวผมจัดการออกเสียงเลือกตั้งไว้ในหมวดนี้มากกว่าหมวดแรก (แม้ว่าจะเป็นการจัดที่ก้ำกึ่งมากและเข้าใจได้หากท่านอื่นจะจัดวางมันในหมวดอำนาจเชิงรุก) ที่ผมวางการเลือกตั้งในหมวดอำนาจเชิงรับนั้นด้วยสองสาเหตุครับ คือ มันเป็นอำนาจที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย ที่ไม่มีไม่ได้ คือต่อให้อยู่ในสังคมที่ไม่มีการชุมนุมเรียกร้องใดๆ ทางการเมืองก็ยังจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งอยู่ มันขาดไม่ได้ มันเป็นเส้นมาตรฐาน ‘ขั้นต่ำสุด’ ที่จะต้องมี และอีกประการหนึ่งคือ ต่อให้การเลือกกา เลือกออกเสียงให้ใครจะเป็นการตัดสินใจของประชาชนแต่ละปัจเจก แต่ตัวการเลือกตั้งในฐานะ ‘ตัวปรากฏการณ์’ (as an event) นั้นจะอย่างไรเสียก็ต้องบอกว่าเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและดำเนินการโดยรัฐอยู่ (State sponsored, initiated, and managed) ในแง่นี้มันจึงต่างจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ผมเสนอไปในฐานะอำนาจเชิงรุกนั่นเอง
การลดอำนาจการเมืองโดยธรรมชาติของประชาชนในฐานะ ‘ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ และเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในทางการเมือง’ นั้น จึงเห็นได้มากมายในหลายระดับ อย่าง การปรับเปลี่ยนที่มาของ ส.ว. กึ่งหนึ่งให้มาจากการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง ก็ชัดเจนว่าเป็นกระบวนการทางกฎหมายและสถาบันอย่างชัดเจนในการลดทอนอำนาจทางธรรมชาติของประชาชนและบอกว่า ‘พวกเราไม่ใช่เจ้าของประเทศเต็มๆ โดยแท้อีกแล้ว’ เป็นต้น
และนั่นรวมถึงการให้อำนาจองค์กรที่ไม่ได้มาจากประชาชนในการยุบอำนาจหรือองคาพยพทางการเมืองที่มีรากฐานมาจากประชาชนโดยตรงอีกด้วย ซึ่งแปลว่าการยุบพรรคการเมืองชนิดที่นับครั้งแทบจะไม่ถ้วนนั้นจึงอยู่ในกระบวนการการทำลายความเป็นเจ้าของประเทศของประชาชนนี้ด้วย
นับตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน, ไทยรักษาชาติ และอื่นๆ รวมไปถึงการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคต่างๆ นานา จนมาถึงพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้นั้น แม้จะด้วยข้ออ้างที่แตกต่างกันไป แต่ถึงที่สุดแล้วมันนำมาซึ่งการตัดขาดสิทธิทางธรรมชาติของประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ แล้วถ่ายโอนเอา ‘ความเป็นเจ้าของประเทศ’ นี้ให้มากองอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งแทนมากขึ้นๆ ทุกวันแทน การยุบพรรคในมุมนี้จึงไม่ใช่การ disempowering หรือลดทอนการอยากมีส่วนร่วมในการแสดงอำนาจ เพราะบ่อยๆ ครั้งการยุบพรรคนั้นนำมาซึ่งความโกรธแค้นและปรารถนาจะออกมาร่วมกันต่อสู้กับรัฐ นับตั้งแต่การกลั่นแกล้งพรรคไทยรักไทยมาจนถึงความโกรธของสังคมที่มีต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ว่าอีกแบบก็คือ การจะหยุดไม่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศได้อีกนั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยการทำงานทั้งแบบ disempowerment และ disownment ควบคู่กันไป
ในแง่นี้ผมจึงคิดว่าโคว้ตคำพูดจากทวิตเตอร์ข้างต้นไม่ผิดเลย เพราะกระบวนการทางโครงสร้างอำนาจที่ทำๆ อยู่นี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยหรอก เป็นได้ก็แค่เพียงมุก หรืออย่างดีที่สุด การเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นเพียงพาหนะของชนชั้นนำที่ขยับให้เข้าใกล้ขั้นต่อไปของการ ‘ยึดอำนาจจากประชาชน’ มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในระยะยาวมันจะสำเร็จได้ทันทีเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับอย่างศิโรราบแล้วว่า ‘ไม่มีหวังที่จะสู้และชนะได้แล้ว’ (จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที)
แต่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า ผมยังไม่คิดว่าเราจนตรอกขนาดนั้นนะครับ ก่อนหน้านี้เผลอๆ เราจะจนตรอกมากกว่านี้เสียอีก ตอนนี้ผมกลับมองว่าสถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แม้จะอยู่ภายใต้กระบวนการของความเฮงซวยที่ว่ามาก็ตาม
เพราะเราต้องเข้าใจว่าโดยหลักแล้วอำนาจที่รัฐถือครองนั้นคืออำนาจของ ‘เครื่องมือ’ (อย่างอาวุธ, กฎหมาย, ฯลฯ) แต่สิ่งที่เป็นอำนาจที่ผูกติดอยู่กับฝั่งประชาชนและสังคมเสมอคือ ‘อำนาจของเรื่องเล่า’ เรื่องเล่าที่จะรวมและผูกเราไว้ให้ขยับไปพร้อมๆ กันหรือทำงานร่วมกันได้
ซึ่งการที่เราโกรธเมื่อครั้งไทยรักไทยโดนยุบ หรืออนาคตใหม่โดนยุบ มันแสดงให้เราเห็นว่าอย่างน้อยที่สุด พรรคต่างๆ ที่ยึดโยงกับประชาชนเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างเรื่องเล่าที่จะผูกโยงและตราตรึงในจิตใจของประชาชนได้ เป็นเรื่องเล่าที่มีอำนาจมากกว่าเรื่องเล่าฉบับทางการของรัฐ แม้ว่าไทยรักไทยกับอนาคตใหม่อาจจะใช้วิธีการคนละแบบกันก็ตามที (จะบอกว่าไทยรักไทยทำผ่านโยบาย และอนาคตใหม่ทำผ่านอุดมการณ์ หรืออะไรก็ว่ากันไป) แต่การที่คนพร้อมจะคัดง้างกับรัฐเพราะพรรคเหล่านี้มันแสดงให้เห็นว่าพลังของเรื่องเล่าที่พรรคเหล่านี้ได้สร้างขึ้นให้กับสังคมนั้นมันมากพอที่จะจัดการกับเรื่องเล่าของรัฐได้อย่างน้อยๆ ก็ฉบับทางการ
จุดนี้เองที่ผมบอกว่าเราดูจะมีหวังมากขึ้นบ้างจากยุคก่อน เพราะรัฐไทยในตอนนี้ดูจะไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ได้แคร์ในการสร้าง ‘เรื่องเล่าของความชอบธรรมของตนเอง’ นักแล้ว อาศัยความหน้าด้านหน้ามึนกับเครื่องมือในมือของตนรบกับ ‘พลังของเรื่องเล่าจากความชอบธรรมของฝั่งประชาธิปไตย’ ไปวันๆ แต่พร้อมๆ กันไปกับการไม่ให้ความสำคัญในการสร้างเรื่องเล่าของตัวเอง รัฐก็ดูจะมีความแขยงพลังของเรื่องเล่าของเสรีภาพและการลุกขึ้นสู้อำนาจอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมด้วย ที่ไม่เพียงเห็นได้จากการยุบพรรคเท่านั้น การลบล้างมรดกของคณะราษฎรที่เป็นตัวแทนของการต่อสู้ที่ ‘สำเร็จ’ ในการต่อสู้กับอำนาจแบบเดิมนั้นก็ทะยอยถูกลบไปให้ไร้ร่องรอย สิ่งเหล่านี้สำหรับผมมันสะท้อนว่า ฝ่ายรัฐไทยเองก็ยอมรับในตัวเองแล้วว่าตัวเองหมดปัญญา หมดความสามารถที่จะสร้างเรื่องเล่ามาสนับสนุนตัวเองได้ จึงต้องหันมาใช้วิธีทำลายเรื่องเล่าของอีกฝั่งอย่างสุดกำลังแทน และนี่แหละครับคือความหวังที่ผมคิดว่าเรายังพอเห็นได้
ท้ายที่สุดนี้อยากจะเตือนเพียงอย่างเดียวว่า แม้รัฐดูจะยอมแพ้กับการสร้างเรื่องเล่าฉบับทางการ เรื่องเล่าเพื่อสนับสนุนความชอบธรรมของตัวเองไปแล้ว แต่เราต้องไม่ลืมเช่นกันว่าทุกๆ ครั้งที่มีการลงดาบประชาชนไม่ว่าจะด้วย disempowerment หรือ disownment ก็ตาม การลงดาบที่เกิดขึ้นนั้นมันได้ ‘สร้างเรื่องเล่าแฝง’ ขึ้นมาด้วยเสมอ เป็นเรื่องเล่าของความกลัวและกดทับ ที่สะกัดไม่ให้เรากล้าจะออกมา แม้เราจะเชื่อในเรื่องเล่าของฟากฝั่งที่ตรงข้ามกับรัฐมากกว่า
พูดอีกแบบก็คือ แม้ตัวรัฐเองจะหมดประสิทธิภาพในฐานะผู้เล่าเรื่องแล้ว แต่เครื่องมือในมือรัฐก็ยังเล่าเรื่องได้ด้วยตัวเองอยู่นั่นเอง และนี่แหละครับคือสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องสู้กับมันไป และอีกยาวๆ ด้วย