เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน ผมได้มีโอกาสไปฟังอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งพูดถึงประเด็นหนึ่งขึ้นมา (ขอไม่เอ่ยชื่ออาจารย์ท่านนี้ เพราะการพูดคุยนั้นไม่ใช่การพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ) แม้จะเพียงสั้นๆ แต่ก็ทำให้ฉุกคิดมาตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยความน่าสนใจของตัวประเด็นคำถามมันเองที่ว่า “สังคมไทยเราเกลียดการคอร์รัปชั่นจริงหรือ? หรือว่าที่เราเกลียดนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่การคอร์รัปชั่นที่เราไม่ได้ประโยชน์ด้วย?” แน่นอนทิศทางการพูดของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนี้ แม้จะไม่ได้ฟันธงชัดเจนแต่ก็มีทิศทางไปสู่คำตอบว่า “เราไม่น่าจะเกลียดการคอร์รัปชั่น แต่เราแค่เกลียดการคอร์รัปชั่นที่เราไม่ได้ประโยชน์”
ในตอนแรกผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์อาวุโสผู้นี้ว่ามาทีเดียว และหากได้เขียนบทความนี้สัปดาห์ก่อนแทนที่จะเป็นสัปดาห์นี้ เนื้อหาคงจะเป็นคนละเรื่อง เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมคิดกับประเด็นนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วผมก็คิดว่าน่าจะไม่ใช่แฮะ การสรุปแบบที่ว่าดูจะเป็นอะไรที่ง่ายไปหน่อย
คือ เรื่องปัญหาการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยนั้นพูดกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม แต่ถ้าเอาในละแวกประวัติศาสตร์ที่ใกล้ๆ หน่อย ยังไม่นานเกินลืมนัก ก็คงไม่พ้นยุคของทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงยุคเพื่อไทย (แน่นอนว่าพรรคประชาธิปัตย์เอง และพรรคอื่นๆ ก็มีโดนเป็นระยะๆ) อย่างไรก็ดี ในยุคของรัฐบาลทักษิณนั้น นับได้ว่ากระแสความเกลียดชังและแสดงท่าทีว่าต่อต้านการคอร์รัปชั่นในสังคมไทยดูจะกระพือถึงขีดสุด ขนาดที่อยู่ร่วมประเทศร่วมโลกกันไม่ได้ ต้องหาทางจัดการทุกวิถีทางให้จงได้ และแน่นอนอย่างที่รู้กัน เราก็กำลังมีชีวิตอยู่กับช่วงเวลาอันเป็น ‘ผลลัพธ์’ ของการโรมรันกันตั้งแต่ตอนนั้นเป็นอย่างน้อย
ตอนแรกที่ผมมองว่าคำตอบที่ว่ามานั้นดูจะถูกต้องก็เพราะ มีพฤติกรรมหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าสิ่งที่เราเกลียดไม่ใช่การคอร์รัปชั่นโดยตัวมันเอง แต่อยู่ที่ ‘ใครเป็นผู้กระทำ’ หรืออย่างน้อยใครคือคนที่เรา ‘เชื่อ’ ว่าทำ หรือก็คือ คนกลุ่มหนึ่งทำพฤติกรรมนี้ สังคมดูพร้อมจะด่า ในขณะที่หากคนอีกกลุ่มหนึ่งกระทำแบบเดียวกัน หรือในบางครั้งอุกอาจหรือโจ๋งครึ่มกว่าเสียด้วยซ้ำเรากลับเฉยๆ ที่ตลกกว่าคือในบางเคส สังคมบางส่วนที่เคยก่นด่านักการเมืองบางคนว่าเลวว่าแย่จากการโกงการคอร์รัปชั่นในเวลาต่อมาก็อาจจะสามารถได้รับการยอมรับนับถือโดยคนหรือสังคมกลุ่มเดียวกันนี้ในฐานะ ‘นักสู้เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น’ ได้ด้วย
ความตลกและไม่ลงรอยทางความคิดนี้เอง ที่ดูจะทำให้ข้อเสนอของอาจารย์อาวุโสท่านที่ว่าดูมีน้ำหนัก ว่า “เออ เราคงจะไม่ได้เกลียดการคอร์รัปชั่นกันจริงๆ แต่เกลียดเฉพาะการคอร์รัปชั่นที่เราไม่ได้ประโยชน์เท่านั้น” ตอนแรกผมก็เห็นด้วยเสียยกใหญ่ไป แต่พอมาคิดดูจริงๆ หลายๆ ครั้งและอาจจะรวมถึงตอนนี้ ที่สภาพทุกอย่างทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองดูจะย่ำแย่ และไม่ได้มีทีท่าจะ ‘เป็นประโยชน์กับใครเลย’ แต่ก็ไม่ได้มีกระแสการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างที่เคยมีมา ฉะนั้นคำตอบว่าคนไทยรังเกียจเฉพาะการคอร์รัปชั่นที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้ตนเองก็ดูจะไม่ใช้แล้วกระมัง เพราะที่เป็นอยู่นี่ก็ดูจะเป็นประโยชน์กับสังคมน้อยภาคส่วนเสียเหลือเกิน
เมื่อดูคำตอบที่คิดว่าน่าจะใช่ แต่ก็ยังไม่ใช่ ก็ต้องคิดกันต่อไป คือ หากเรานิยามคำว่า ‘คอร์รัปชั่น’ (ในระดับการคอร์รัปชั่นโดยรัฐ) ว่าเป็นการความผิดที่มาจากการใช้งบประมาณหรือทรัพยากรของรัฐอย่างไม่โปร่งใส, ไม่สุจริต, ไม่เป็นไปตามหลักการหรือกลไก (อย่างเช่น การให้สินบน)[1] หรือเป็นการละเมิดข้อตกลงที่มีต่อสังคมหรือประชากรของรัฐและกฎหมาย อันเป็นนิยามมาตรฐานที่พบเจอหรือใช้กันโดยทั่วไปแล้ว เราก็อาจจะได้ภาพและคำตอบใหม่ก็เป็นได้
คำถามเริ่มต้นที่ผมกลับมาถามตัวเองอีกครั้งหลังจากต้องคิดทบทวนหาคำตอบใหม่ก็คือ คำว่า ‘คอร์รัปชั่นโดยรัฐ หรือโกงรัฐโกงชาติ’ ที่ว่านี้เนี่ย “โกงใคร?” ในระบบวิธีคิดของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่แล้ว รัฐชาตินั้นโดยหลักแล้วถือว่าเป็นของ ‘พลเมืองแห่งรัฐ’ หรือก็คือ พลเมืองทุกคนล้วนเป็นเจ้าของรัฐนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน รวมไปถึงทรัพย์สินสาธารณะอันรวมไปถึงเงินงบประมาณและทรัพยากรของรัฐด้วย นั่นหมายความว่า ด้วยฐานคิดของโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น การคอร์รัปชั่นมันก็คือการ ‘โกง”’พลเมืองทุกคนของรัฐนั่นเอง จะด้วยวิธีการใดหรือการตรวจไม่ได้ใดๆ ก็ตาม
พูดให้ง่ายขึ้น (หรือยากขึ้นก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจ) ก็คือ การรับรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘การคอร์รัปชั่น’ ในฐานะ ‘ความผิดในเชิงอุดมการณ์’ นั้นมันเกิดขึ้นได้ เพราะอิทธิพลของการเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่มอบความเป็นพลเมืองแห่งรัฐและการเป็นเจ้าของรัฐให้กับเราเสียก่อน หรือกล่าวก็คือ การที่รัฐบาลหรือนักการเมืองจะ ‘โกง’ ประเทศชาติ (ในความหมายว่าชาติเป็นสมบัติของประชาชน) ได้นั้น ก็ต่อเมื่อรัฐชาตินั้นมีประชาชนแห่งรัฐหรือพลเมืองเป็นเจ้าของเสียก่อน เพราะหากขาดซึ่ง ‘ความเป็นเจ้าของ’ ที่ว่านี้ การโกงย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้…ก็แน่สิครับ หากผมไม่ใช่เจ้าของเงินก้อนหนึ่ง จะไปมีสิทธิบอกว่าคนนั้นคนนี้โกงหรือขโมยเงินผมได้อย่างไร เราต้องเป็น ‘เจ้าของ’ ก่อน การโกงของ ‘ไปจากเรา’ จึงจะเกิดขึ้นได้
นั่นคือสิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่สร้างขึ้น และมันสำคัญมากๆ ไอ้การเป็นเจ้าของรัฐและทรัพยากรสาธารณะอย่างเท่าเทียมกันโดยพลเมืองเนี่ย
หากมองด้วยพื้นฐานนี้เราจะพบว่า “อาจจะจริงที่คนไทยหรือสังคมไทยเกลียดการคอร์รัปชั่น” แต่ที่เราไม่ได้เกลียดคือ พฤติกรรมอย่างคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นการหาทางออกให้กับปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยการรัฐประหารจึงเกิดขึ้น เพราะเมื่อทำการรัฐประหารย่อมหมายความถึงการทำลายสภาพความเป็นรัฐประชาธิปไตยลงโดยสิ้นเชิง (จากที่มีไม่ได้มากมายอะไรอยู่แล้ว) ซึ่งย่อมส่งผลตามมาให้ “สถานะการเป็นพลเมืองแห่งรัฐ หรือการเป็นเจ้าของประเทศและทรัพยากรสาธารณะของรัฐหมดลงด้วย”
เมื่อการรับรู้และสถานะในการเป็นเจ้าของจบลง “การมีอยู่ของปัญหาคอร์รัปชั่นในเชิงการรับรู้และอุดมการณ์ย่อมหมดสิ้นลงด้วย” แม้ว่าพฤติกรรมอย่างการคอร์รัปชั่นจะยังคงอยู่ต่อไป แต่ก็ไม่ถูกนับหรือมองว่าเป็นปัญหาได้ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของในสิ่งที่รัฐ ‘หยิบเอาไปใช้ตามใจชอบ’ การเมินเฉยต่อพฤติกรรมชุดเดียวกัน จึงกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะทรัพยากรเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเรา แต่กลายไปเป็นทรัพยากรในการควบคุมของผู้ปกครองเผด็จการอำนาจนิยมไปเสีย
ผมคิดว่าเราจะไม่รู้สึกมันเป็นเรื่องผิดแปลกนะครับ หากว่าตาม ‘ตรรกะของระบอบการปกครอง’ แล้วจะพบว่ามันเป็นปกติที่คิมจองอึน ‘ภายใต้ตรรกะของระบอบการปกครองเผด็จการ’ จะใช้เงินงบประมาณและทรัพยากรของรัฐอย่างไรก็ได้ตามใจชอบของตน คือ หากเรานำเอาพฤติกรรมของคิมจองอึนมาวางไว้ในมาตรฐานกรอบตรรกะของรัฐประชาธิปไตยเสรีเนี่ย ย่อมชัดเจนว่านั่นคือการคอร์รัปชั่น ฉ้อโกงสมบัติของพลเมือง เพราะมันคือ ‘พฤติกรรมแบบเดียวกันกับการคอร์รัปชั่น’ เพียงแต่การรับรู้ที่มีต่อ “พฤติกรรมชุดเดียวกัน แบบเดียวกันดังกล่าวนี้ ถูกรับรู้ต่างกันออกไป” เพราะอุดมการณ์ทางการปกครองที่นิยามสถานะของพฤติกรรม ณ ขณะนั้นๆ มันเปลี่ยนไปครับ
ในกรณีของประเทศไทย สำหรับผมแล้วก็ดูจะไม่ต่างอะไรกันนักกับการที่คนจำนวนมากเคยออกมาตีฆ้องร้องป่าวต่อต้านการคอร์รัปชั่นเหลือประมาณ แต่เมื่อรัฐประหารแล้วก็เงียบราวกับหลับไหลกันอยู่ นั่นเพราะเมื่อยอมรับการแก้ไขด้วยการรัฐประหารแล้ว ก็ยอมรับโดยปริยายว่าทรัพยากรไม่ใช่ของตนอีกต่อไป และการจะนำ “ทรัพยากรและงบประมาณนี้ไปใช้อย่างไรก็ได้ตามใจชอบ” จึงเป็นการกระทำที่รับได้โดยปริยายไปเสีย
อย่างไรก็ดีการรัฐประหารและระบอบเผด็จการไม่ได้ทำให้ ‘พฤติกรรมอย่างการคอร์รัปชั่นจบลง’ ในทางตรงกันข้ามประวัติศาสตร์ได้ชี้ชัดกับเราว่า ในระบอบเผด็จการพฤติกรรมแบบนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ
สิ่งที่มันหายลงไปหรือยุติลง เป็นเพียงแค่ ‘การรับรู้ที่มีต่อพฤติกรรมดังกล่าว’ หรือการสร้างเงื่อนไขให้ตัวเราเองตาบอดจากปัญหาตรงหน้านั่นเอง เพราะเมื่อทรัพยากรไม่ใช่ของเราอีกต่อไป เราแค่ ‘ขอเค้าอยู่’ เราก็ไม่จเป็นต้องเห็นหรือสนใจอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสิ่งที่เราเกลียดที่ตั้งอยู่ตรงหน้าด้วยการเอาผ้ามาปิดตาตัวเองนั้น ไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป แต่มันทำให้ ‘เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น’ สุดท้ายแล้วในทางปฏิบัติกลไกการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้เกิดการตั้งคำถาม ตรวจสอบความโปร่งใสได้ จึงเป็นกลไกเดียวที่จะลดหรือเจือจางพฤติกรรมอย่างการคอร์รัปชั่นลงได้ ฉะนั้นแม้ประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่สร้างหรือทำให้เรามองเห็นการคอร์รัปชั่น เพราะมันมอบความเป็นเจ้าของรัฐให้กับเรา แต่มันเองก็เป็นหนทางเดียวเท่าที่มีในตอนนี้ ในการแก้ไขพฤติกรรมอย่างการคอร์รัปชั่นในระยะยาวได้ด้วย
มันไม่ได้แก้ไขในวันสองวันหรอกครับ และยังไม่มีประเทศไหนหมดสิ้น ปราศจากการคอร์รัปชั่น แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าและแข็งแกร่ง มีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน ก็มีแนวโน้มจะมีการคอร์รัปชั่นโดยรัฐที่น้อยกว่านะครับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียหรือญี่ปุ่น[2] ตามที่ทาง Transparency International ได้จัดอันดับและทำคะแนนความโปร่งใสไว้ (ประเทศไทยอยู่อันดับ 101 จาก 176 ประเทศโน่น (คะแนนปี 2016)
ผมอยากจะบอกว่า สังคมไทยเราคงรังเกียจการคอร์รัปชั่นจริงครับ แต่พร้อมๆ กันไป เมื่อเรามองไม่เห็นหรือไม่ต้องสนใจการคอร์รัปชั่นแล้ว (ด้วยการรัฐประหาร) เราก็ไม่ได้สนใจพฤติกรรมอย่างการคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกัน เพราะว่าเราทำให้มันไม่ใช่เรื่องของเราแล้ว เราไม่ต้องการจะรู้ ไม่ต้องการจะถาม ไม่ต้องการจะสนใจอีกต่อไปนั่นเอง
Ubi dubium ibi libertas
ที่ใดมีคำถาม ที่นั่นมีเสรีภาพ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ความหมายโดยคร่าวๆ www.dictionary.com/browse/corrupt
[2] โปรดดู www.transparency.org/research