[Discalimer : Powerism ตอนนี้เป็นตอนขัดตาทัพนะครับ เพราะผู้เขียนป่วยอยู่ จึงเขียนได้แต่เรื่องป่วยๆ ของตัวเองเท่านั้น หาได้มีเนื้อหาเป็นเรื่องเป็นราวหนักสาระอันใดไม่ อาจสั้นไป ยาวไป น้ำท่วมทุ่งเกินไป หรือไร้คุณค่าเกินไปก็ได้ทั้งนั้น หากไม่พึงใจ ได้โปรดยกประโยชน์ให้กับความป่วยไข้เถิดนะครับ ผู้ป่วยขอร้องและยกมือไหว้ปะหลกๆ]
1
ผมป่วย
ผมต้องนอนโรงพยาบาล
ผมไม่รู้หรอกนะครับ ว่าการป่วยไข้ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอะไร แต่จู่ๆ ทันใดนั้นโลกก็หมุนคว้าง ผมล้มลง แต่ไม่หมดสติ ถ้าหมดสติไปเสียได้ยังจะดีกว่า เพราะการต้องมารับรู้ถึงอาการ ‘โลกหมุน’ นั้นเลวร้ายเสียยิ่งกว่าหมดสติไปเสียอีก
โชคดีที่มีการจัดแจงให้ผมได้ไปถึงโรงพยาบาลได้ในเวลาอันรวดเร็วด้วยรถพยาบาลที่เรียกเพียงครู่หนึ่งก็มาถึง อาจเพราะเป็นเวลาดื่นดึก รถไม่ติด ผมจึงหมุนลิ่วปลิวคว้างไปกับรถพร้อมกับอาเจียนออกมาจนหมดทุกสิ่งสิ้นในกระเพาะ พูดภาษาชาวบ้านก็คือ อ้วกจนหมดไส้หมดพุงนั่นแหละครับ
ว่ากันว่า เสียงอ้วกนั้นก้องกังวานสะท้านโลกันตร์มาก ผู้คนในคอนโดฯ ที่ผมอาศัยอยู่ต่างชะโงกหน้าเปิดประตูออกมาดูกันพัลวัน ตามถนนรนแคมก็คล้ายมีคนเปิดหน้าต่างส่งเสียงบ่นพึมพำรำคาญที่เสียงอ้วกทำให้พวกเขาต้องตื่นนอนกลางดึก แต่นี่ก็เป็นฤทธิ์แห่งความป่วยไข้อีกนั่นแหละครับ ที่ทำให้นึกคิดไปเองทั้งเพโดยไม่รู้ว่าจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
แต่เอาเป็นว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว เสียงอาเจียนประหนึ่งกระเพาะจะกลับข้างขย้อนห้อยออกมาจากปากนั้น ก็ทำให้โรงพยาบาลรีบแอดมิตผู้ป่วยคนนี้เข้าโรงพยาบาลในทันใดโดยไม่อิดออด
แล้วก็นั่นแหละครับ – ที่ทำให้ผมได้พบกับคุณหมอ
จริงๆ ต้องบอกว่าเป็น – คุณหมอส์, (เติม s) ต่างหากล่ะครับ!
2
ผมห่างเหินจากโรงพยาบาลมาหลายปี อย่างน้อยๆ ก็เกินห้าปีแล้วแน่ๆ เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อนไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทางโรงพยาบาลบอกว่า ประวัติของผมถูกลบไปหมดเกลี้ยงแล้ว (อ้าว!) เพราะว่าผมไม่ได้มาใช้บริการโรงพยาบาลนานเกินห้าปี แล้วโรงพยาบาลจะไม่เก็บประวัติผู้ป่วยเอาไว้นานขนาดนั้น ผลก็คือเขาไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรเกี่ยวกับตัวผมเลย
นี่ทำให้ผมนึกถึงพวก ‘หมอประจำครอบครัว’ ของสมัยโบร่ำโบราณนานนม ประเภทที่บ้านไหนใครป่วย ก็จะต้องเรียกคุณหมอคนเดิมคนนี้มาเสมอ ซึ่งต่อให้คุณหมอไม่ได้จดบันทึกอะไรไว้ แต่คุณหมอก็รู้หมดว่า ลูกสาวเป็นไอกรน พ่อเป็นซิฟิลิสสามหน แม่เป็นหืด ลูกชายเป็นเหา ฯลฯ เรียกว่าจำขึ้นใจกันเลยทีเดียว
แต่แน่นอน โรงพยาบาลยุคใหม่ย่อมมีผู้ป่วยมาใช้บริการเป็นร้อยเป็นพัน หมอที่ไหนจะไปจำใครได้ ก็ต้องจดต้องบันทึกเอาไว้ แต่การจดบันทึกก็ต้องมีขีดจำกัด ไม่ใช่จะบันทึกได้เป็นอนันต์เสียเมื่อไหร่ และเส้นตายของโรงพยาบาล ก็ช่างขีดได้เหมือนกับกรมสรรพากร, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และการหายจากมะเร็งเป๊ะ – คือห้าปี, เกินห้าปีปุ๊บก็โละทิ้งให้หมด ไม่ต้องเหลือซากอะไรไว้ในความทรงจำกันอีกต่อไป
ดังนั้น ต่อให้ผมจำคุณหมอที่เคยรักษาผมเมื่อห้าหกปีก่อนได้ คุณหมอก็ไม่มีทางจำผมได้หรอกครับ เพราะคุณหมอผ่านผู้ชาย เอ๊ย! ผู้ป่วยมาแล้วนับไม่ถ้วน จะไปจำใครได้ยังไงเล่า ถ้าไม่ได้มีประวัติผู้ป่วยอยู่ในมือ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คุณหมอประจำครอบครัวสมัยก่อนจะจำเราได้หมดทุกเรื่องทุกรูเรี้ยวเสี้ยวขุมขน แต่ถ้าเราพิจารณา ‘อำนาจ’ ของหมอประจำครอบครัวสมัยก่อนดูให้ดี เราจะพบว่า หมอประจำครอบครัวสมัยโน้นมี ‘อำนาจเหนือ’ ตัวเราและครอบครัวมากทีเดียวนะครับ เรียกว่าคุณหมอบอกอะไรเราก็ต้องทำตาม
ลองนึกภาพบ้านสมัยศตวรรษที่สิบเก้า คุณนอนป่วยพะงาบๆ อยู่บนเตียง หมอบอกต้องผ่ากรีดหนองแต่คุณดันได้ยินเป็นผ่าตัดสมอง, คุณก็ต้องยอม คุณจะมาลุกขึ้นบอกหมอว่า ไม่เอ๊า อย่าเพิ่ง, ขอไป seek second opinion ก่อน หมอก็คงงอนตุ๊บป่องเดินออกจากบ้านไป แล้วไม่ได้เผาผีกลับมารักษากันอีกเลยเป็นแน่
ดังนั้น แม้ข้อดีคือหมอรู้จักเราดี รู้ประวัติการรักษาโรคของเรา เราสามารถฝากผีฝากไข้ไว้กับหมอได้ทุกเรื่อง แต่หมอก็มี ‘อำนาจ’ เหนือเนื้อตัวร่างกายของเราในแทบจะทุกเรื่อง (นี่หมายถึงเวลาเราป่วยนะครับ) ไปด้วย
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป หลังๆ เราไม่ค่อยจะ ‘รักเดียวใจเดียว’ กับหมอคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เราไปโรงพยาบาลโน้นบ้างนี้บ้าง ไปคลินิกนู้นนี้นั้น แถมพอหมอบอกว่าเราเป็นมะเร็งในสมอง เราก็หันมากระซิบกันว่า ไม่เอาดีกว่า ไปหา ‘ความเห็นที่สอง’ ดูก่อนไหม พอหมอที่สองยืนยันเหมือนหมอแรก เราก็บอกว่า โอ๊ย! ไม่จริงหรอก ขอไปหาความเห็นที่สาม สี่ ห้า ดูอีกดีกว่า สุดท้ายไปลงเอยด้วยการรดน้ำมนต์แล้วก็ตายไปอย่างเศร้าๆ ก็มีถมถืด
ในโลกยุคใหม่ ในโลกประชาธิปไตย หมอจึงมี ‘อำนาจ’ เหนือเนื้อตัวร่างกายของเราน้อยลง
แต่น้อยขนาดไหนกันล่ะ?
3
ราวห้าหกปีก่อนโน้น ผมก็เคยนอนโรงพยาบาลนะครับ ตอนนั้นผมกลับจากต่างประเทศ ต้องบินผ่านฮ่องกง แล้วจำไม่ได้ว่าโรคซาร์สหรือโรคไข้หวัดนกอะไรสักอย่างกำลังระบาดอยู่ พอกลับมาไม่นานปรากฏว่าไข้ขึ้น เป็นไข้หวัดใหญ่ ทั้งโรงพยาบาลแตกตื่นกันไปหมด บอกว่าต้องนอนโรงพยาบาลนะคะนะครับ จะได้ดูอาการว่า คุณน่ะ ป่วยเป็นไข้หวัดประหลาดพวกนั้นหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอธรรมดาๆ
ตอนนั้นผมกลายเป็นคนดังในโรงพยาบาลไปเลย เพราะหมอพาลูกศิษย์ลาดตระเวนเข้ามาตรวจ (แถมใส่หน้ากากกันเข้ามาอย่างดิบดีเหมือนผมเป็นซอมบี้ยังไงยังงั้น) แต่ถึงจะเป็น ‘คนดัง’ (ในฐานะชิ้นส่วนตัวอย่างหรือ specimen ของหมอ) ผมพบว่าตัวเองก็ไม่ได้มี ‘อำนาจ’ เหนือหมอสักเท่าไหร่หรอกนะครับ
ต้องบอกคุณก่อนว่า ถึงผมจะไม่ได้เรียนจบหมอมา แต่ว่าผมก็เรียนจบชีวเคมีนะคุ้ณ โอเคๆ การเรียนจบชีวเคมีไม่ได้ทำให้คุณรู้ชื่อโรค รู้การดำเนินโรค หรือรู้ว่าควรต้องรักษาโรคต่างๆ อย่างไรก็จริงอยู่ แต่นะ…มันก็ทำให้ผมพอรู้นี่นา ว่าไวรัสมันทำงานยังไง แพร่พันธุ์ยังไง แบคทีเรียแกรมบวกแกรมลบมันเป็นยังไง ยาปฏิชีวนะอะไรทำงานแบบไหนบ้าง คือถึงรู้แบบงูๆ ปลาๆ หางอึ่ง ก็ยังพอรู้แหละ แล้วก็อยากอ้าปากถามหมอดูบ้างว่า คุณหมอครับ – ที่ผมมีอาการแบบนี้ มันน่าจะเป็นแบบนี้หรือเปล่านะ
แต่คุณหมอเมื่อห้าหกปีที่แล้วนี่ ต้องบอกว่ายัง ‘ทรงพลัง – อย่างแรง’ อยู่เลยนะครับ เพราะแม้ว่าจะไม่ใช่หมอประจำครอบครัวที่รู้ว่าพ่อบ้านเป็นซิฟิลิสมากี่หนแล้ว แต่คุณหมอก็ยังเก็บงำความรู้ ไม่ยอมบอกอะไรผมสักอย่าง แถมทำหน้าเคร่งใส่เป็นทีดุด้วย ว่านี่ตัวเองเป็นคนไข้ เป็นผู้ป่วยก็นอนเฉยๆ สิ ให้หมอจัดการเองให้หมด ไม่ต้องมาเอ่ยปากถามอะไร
สรุปก็คือ ผมต้องนอนเป็นก้อนเนื้ออยู่บนเตียงให้คุณหมอและนักศึกษาแพทย์ที่แห่แหนกันมาเป็นสิบๆ คน (อันนี้ก็สายตาคนป่วยน่ะนะครับ อาจจะมองเห็นภาพซ้อนทวีคูณไปได้!) วินิจฉัยโน่นนี่ไปตามเรื่องตามราวโดยไม่มีโอกาสอ้าปากถามเลย คืออ้าอยู่นะครับ แต่คุณหมอไม่ตอบ ตอนหลังมันก็ต้องหุบไปโดยปริยาย
แต่ตอนนี้ ผมพบว่า ‘สภาพการณ์’ ในโรงพยาบาล แตกต่างไปจากเมื่อห้าหกปีก่อนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
ไม่น่าเชื่อเลยแฮะ ว่า ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ ระหว่างคุณหมอกับผม จะเปลี่ยนไปได้มากขนาดนี้ในเวลาอันสั้นแค่นี้เอง!
4
ผมเข้าใจว่า ตอนนี้ในห้องพักผู้ป่วยทุกห้อง จะมีป้ายติดเอาไว้ประมาณว่า ห้ามบันทึกภาพ ถ่ายคล้งคลิปอะไรเวลาที่แพทย์มาตรวจรักษาผู้ป่วยเป็นเด็ดขาด เขาบอกไว้ด้วยว่า ถือเป็นคดีความอาญากันเลยทีเดียว เมื่อเห็นป้ายนั้นตอนแรกผมก็ไม่คิดอะไรเท่าไหร่หรอกนะครับ ก็แหม! ป่วยอยู่ จะไปคิดอะไรได้ล่ะคุณ แล้วผมก็ไม่รู้ด้วยแหละ ว่าใครจะอุตริถ่ายไปทำไมกัน
พอผมได้ขึ้นไปนอนในห้องผู้ป่วยแล้ว คุณหมอที่ดูแลผม (เรียกว่าคุณหมอเจ้าของไข้) ก็ไม่ได้เจ้ากี้เจ้าการถือสิทธิในการดูแลผมอยู่คนเดียวหรอกนะครับ แต่คุณหมอดูอาการผมเสร็จแล้ว ก็บอกผมว่า นี่นะ สิ่งที่ผมเป็นน่ะ ผมต้องการหมอ ‘เฉพาะทาง’ เพิ่มอีกตั้งสามคนทีเดียวเชียว เรียกว่าเป็น ‘กองทัพหมอ’ ก็เห็นจะได้ โดยกองทัพหมอที่ว่า ประกอบไปด้วย
-หมอสมอง : อันนี้จำเป็นนะครับ เพราะว่าอาการที่ผมเป็นนั้นมันอาจจะมาจากโรคทางสมองก็ได้ เช่นว่ามีเนื้องอกในสมอง เป็นมะเร็งในสมอง หรือเป็นรอยโรคอะไรบางอย่างในสมองก็ได้ ก็โธ่! – อ้วกดังจนสมองแทบไหลออกมาทางรูจมูกขนาดนั้น
-หมอหู คอ จมูก : อันนี้ก็จำเป็นอีก เพราะว่าสิ่งที่ผมเป็น มันเกี่ยวข้องกับการทรงตัว บ้านหมุน โลกหมุน โลกโคลงเคลงพวกนี้ ต้องเกี่ยวกับหูแน่ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น มีคุณหมอหูมาช่วยดูด้วยก็ไม่เลวนะ
-สุดท้ายคือหมอหัวใจ : อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าจำเป็นหรือเปล่า แต่คุณหมอเจ้าของไข้ท่านก็บอกว่าจำเป็น เพราะโรคที่ผมเป็น มันอาจจะเกี่ยวกับไขมันในเส้นเลือดก็ได้ ดังนั้นให้หมอหัวใจมาช่วยดูก็จะดี
นับนิ้วมือดูหมอทั้งหมดแล้ว แม้ผมจะพยายามทำท่านับตังค์ในกระเป๋าเท่าไหร่ก็ต้องจำยอมไปก่อน พอขึ้นไปบนห้องผู้ป่วยแล้ว ผมก็ถูกกระทำทุกวิถีทางที่จะทำได้เพื่อดูว่าผมน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง ตั้งแต่เจาะเลือดไปตรวจดูไขมัน น้ำตาล และสารโน่นนั่นนี่ในเลือด (คงรวมถึงสารพิษด้วยแหละนะผมว่า) ทำ EKG เพื่อดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่าหัวใจผิดปกติหรือเปล่า (ซึ่งก็เลยจำเป็นต้องใช้หมอหัวใจ) และตรวจทุกสิ่งสิ้นประดามี
แต่กระนั้นก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่คุณหมอไม่ได้ออกปากให้ตรวจ ทว่าผมเป็นฝ่ายสู่รู้เอ่ยถามว่าควรต้องตรวจไหม นั่นคือการทำ MRI หรือการสแกนสมอง เพราะผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า อาการที่เป็นมันเกี่ยวข้องอะไรกับสมองหรือเปล่า ความสู่รู้ออกปากถามนี้เอง ทำให้คุณหมอสั่งตรวจ แล้วผมก็เลยได้ไปทำ MRI สมใจนึก (ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า เป็นการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์เปล่าเปลืองมากเกินไปก็ได้ เพราะค่า MRI แพงกระอักเลือดมาก) แต่ผล MRI ก็ออกมาว่าสมองเป็นปกติ ทำให้ผมโล่งใจ (จริงๆ ผมก็คิดว่าปกติอยู่แล้วแหละครับ เพราะตลอดเวลาพยายามกระแดะพูดภาษาละตินงูๆ ปลาๆ เรียกชื่อสมองโน่นนั่นนี่กับคุณหมอเพื่อทดสอบว่าสมองตัวเองยังพอใช้ได้อยู่หรือเปล่า อาทิเช่น คอร์ปัสคอลโลซัมของผมเป็นยังไงบ้างครับ น่าจะมีความผิดปกติที่ซีรีเบลลัมได้หรือเปล่า หรือมอเตอร์รีเซ็ปเตอร์เป็นยังไง ซึ่งก็ส่งผลให้คุณหมอทำหน้ารำคาญๆ เล็กน้อย)
เมื่อสมองปกติ ก็ถึงคราวไปดูหู คุณหมอหูเข้ามามีบทบาทโดยบอกว่า คุณต้องไปตรวจการได้ยิน แต่ยังไม่ต้องรีบไปหรอก พรุ่งนี้ค่อยไปก็ได้ เอาให้นั่งไหวก่อน ผมก็บอกคุณหมอทันทีด้วยความอยากรู้อยากให้ทุกอย่างมัน ‘เสร็จๆ’ ไปให้หมดสิ้น – ว่า, ไหวครับ นั่งไหวแล้ว คุณหมอให้คนพาไปตรวจเดี๋ยวนี้เลย
คุณหมอเลยออกไปหาพยาบาล แล้วตะโกนบอกว่า – เอ้า! พาเขาไปหน่อย เขาบอกว่าไหวแล้วก็ต้องไหว
โธ่! ผมนึกรู้ในทันควัน ว่าคุณหมอก็รำคาญผมเข้าให้อีกคนแล้วสินี่!
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีคุณหมอคนไหนลุกขึ้นชี้หน้ากระทืบเท้า แล้วบอกว่า นี่ – เป็นผู้ป่วยน่ะ หัดอยู่เฉยๆ สิ ทำตามที่หมอบอกก็พอ เหมือนภาพของ ‘หมอประจำครอบครัว’ อย่างที่เราเคยคุ้นในสมัยก่อน (หรือแม้กระทั่งหมอเมื่อห้าหกปีก่อน)
การที่ผมดื้อแพ่งบ้าง พูดพ่นภาษาประหลาดๆ ตามความสู่รู้ออกไป หรือกระทำการ ‘ตรวจสอบ’ หมอต่างๆ นานา แล้วหมอไม่โกรธ ทว่าอธิบายให้ผมฟังอย่างดิบดีกันทุกคนไปนั้น มันทำให้ผมรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก
เพราะผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุด ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหมอกับผู้ป่วยได้เปลี่ยนไปแล้ว!
(เอิ่ม แต่ก็ต้องบอกว่า – นี่เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ค่ารักษาไม่ใช่ถูกๆ โชคดีที่ผมมีประกันคุ้มหัวอยู่น่ะนะครับ ไม่ใช่โรงพยาบาลของรัฐที่คุณหมอๆ ทำงานหนักติดต่อกันทีละ 48 ชั่วโมง แทบล้มประดาตายกลายเป็นคนป่วยไปเอง ซึ่งแบบนั้น หมอคงไม่มีเวลามานั่งตอบคำถามอะไรให้ใครได้ขนาดนี้หรอก)
เวลาคุณหมอแต่ละคนอธิบายความ คุณหมอจะบอกละเอียดละออ เช่น ผมถามหมอหัวใจว่า ยาตัวนี้มีผลต่อเบต้ารีเซ็ปเตอร์ใช่ไหม คุณหมอก็จะบอกว่า ใช่ – เขาเรียกว่าเบต้ารีเซ็ปเตอร์บล็อกเกอร์ หรือคุณหมอสมองก็จะอธิบายว่า นี่นะคุณ กินยาตัวนี้เยอะๆ มันจะทำให้โง่ได้ เพราะสมองจะเบลอไปหมด แต่ถ้ากินอีกตัวที่แก้อาการเดียวกันเยอะเกินไป ก็อาจจะเป็นพาร์กินสันได้ในอนาคต ดังนั้นก็ให้คุณเลือกเอาแล้วกัน ว่าจะโง่หรือเป็นพาร์กินสัน (ฮือๆ) และหลายคนก็ถึงขั้นบอกผมว่า ถ้าอยากรู้ ให้ไป ‘กูเกิ้ล’ เพิ่มเอาได้ โดยใช้คีย์เวิร์ดนี้นั้นโน้น
ผมมาถึง ‘บางอ้อ’ ก็ตรงคำว่า ‘กูเกิ้ล’ นี่แหละครับ!
ผมคิดว่าการที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหมอกับผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาแค่ห้าหกปี (อย่างน้อยที่สุดก็ในกรณีของผม ซึ่งจะเอาไปอ้างอิงทำวิจัยใดๆ ไม่ได้เป็นอันขาดนะคุณ!) น่าจะเป็นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่มันเปลี่ยนไป
หมอเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า เวลาจะตรวจคนไข้ อีพวกคนไข้พวกนี้อาจจะแอบควักกล้องอะไรมาถ่ายตอนตรวจก็ได้ ดังนั้นหมอก็เลยต้องติดป้าย ‘ปราม’ เอาไว้ก่อนในทุกห้อง แต่ที่เหนือไปกว่าการ ‘ปราม’ ที่ว่า ก็คือการที่หมอเองตระหนักรู้ว่ามัน ‘อาจ’ มีการ ‘ตรวจสอบ’ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น หมอจะมาทำสะบัดสะบิ้งเก็บงำความรู้ คิดว่าผู้ป่วยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะ ‘ความรู้’ (ต่อให้งูๆ ปลาๆ ก็เถอะ) มันอยู่แค่ปลายนิ้ว สามารถค้นคว้าคลิกดูได้ทุกเมื่อ หมอจะมาสั่งโน่นนี่ตามใจตัวโดยคิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้าอยู่คนเดียวคงไม่ได้แล้ว
นานมาแล้ว เคยมีหนังเรื่อง Lorenzo’s Oil ที่หมอบอกพ่อแม่ว่าหมดหวังกับการรักษาลูกแล้ว แต่พ่อแม่ก็ไปค้นคว้าตำราในห้องสมุดนานเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดก็พบต้นเหตุและวิธีรักษาแบบใหม่โดยที่ทั้งพ่อและแม่ไม่ได้เป็นหมอมาก่อน ทำให้ลูกอาการดีขึ้น ผมคิดว่าโลกทุกวันนี้ก็เป็นแบบนั้นนั่นแหละ คือมันมี ‘ข้อมูล’ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด ข้อมูลพวกนี้จึงมาคัดง้างกัน ตรวจสอบซึ่งกันและกัน และทำให้ ‘คุณหมอ’ ที่แต่ก่อนมีลักษณะประดุจเทพผู้รักษา ผู้ป่วยจะไปอ้าปากเถียงไม่ได้ (เพราะรู้ลึกไปถึงประวัติลี้ลับของครอบครัวด้วย) ต้องกลับกลายมาเป็นคุณหมอที่เปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับการตรวจสอบจากผู้ป่วยมากขึ้น และในเวลาเดียวกัน ก็สามารถใช้ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงให้เป็นประโยชน์ได้รวดเร็วขึ้น ตามข่าวการรักษาใหม่ๆ ยาใหม่ๆ วิธีปฏิบัติใหม่ๆ ได้มากขึ้น จึงเป็นการตรวจสอบกันไปมาสองทางสามทาง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าเท่าที่ได้เข้าออกโรงพยาบาล (ทั้งในกรณีของตัวเองและคนใกล้ตัว) ในปีนี้ ได้เกิดกระบวนการที่อาจเรียกได้ว่าในวงการแพทย์ขึ้นมา ‘บ้าง’ แล้ว แต่น่าจะเกิดเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายแพงๆ หมอไม่ต้องดูแลคนไข้ต่อหัวมากเกินไปเหมือนในโรงพยาบาลรัฐ (ซึ่งอันนั้นน่าเห็นใจมากๆ) เท่านั้นนะครับ ผมไม่ได้พูดถึงกรณีทั่วๆ ไปหรอก
แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะหมอคือบุคลากรที่สำคัญของประเทศ เป็นคนระดับครีมระดับมันสมอง ถ้าหมอสมาทานกระบวนการประชาธิปไตยในการรักษาผู้ป่วยได้ ยอมรับการตรวจสอบ และมองเห็นว่าผู้ป่วยก็อาจ ‘เสมอภาค’ กับหมอได้ อย่างน้อยก็ในบางมิติ – ประเทศนี้ก็น่าจะมีหวังอยู่ไม่น้อย
ส่วนพวกที่นั่งอยู่ในทำเนียบอะไรนั่น – อย่าไปหวังกระบวนการ Democratization จากเขาเลยครับ เพราะเขาบอกว่า ถ้าเมื่อไหร่คนเราเห็นว่า ‘สีลายพราง’ (Camouflage) เป็นสีที่จำเป็นที่สุดแล้ว เราก็จะไม่มีวันเห็นสีอื่นๆ ได้อีกเลย เพราะวันๆ ก็คงคิดแต่กระบวนการลับลวงพรางจนไม่ต้องทำ MRI ก็เห็นสมองโป่งไปโป่งมาเส้นเลือดแทบจะแตกอยู่รอมร่ออยู่แล้ว
แต่อย่าไปพูดถึงสีอื่นเลยครับ เรามาพูดถึงเสื้อกาวน์สีขาวกับความสัมพันธ์ของเรากันดีกว่าครับคุณหมอ เพราะมันน่าดีใจออกครับ ที่ความสัมพันธ์ของเรากำลังจะเปลี่ยนไป…ในทางที่ดีขึ้น,
คุณหมอครับ – ความสัมพันธ์ของเราไม่เหมือนเดิมแล้วใช่ไหมครับ!