1
สัปดาห์เดียวกันกับที่มีข่าว ภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ ‘เมย’ นักเรียนเตรียมทหารถูก ‘ซ่อม’ จนตาย,
รัฐบาลที่ปากตรงกับใจก็ออกมาแถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศใช้วาระแห่งชาติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในเวลาเดียวกัน เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด น่าจะเป็นปากคอในการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่บอกไว้ (ตามข่าวของไทยโพสต์ชิ้นนี้ www.thaipost.net) ว่า “ผมยืนยันว่าเด็กเสียชีวิตเนื่องจากสุขภาพของเด็กเอง ไม่มีการซ้อมอะไรทั้งสิ้น เขาป่วย และเชื่อว่าทางโรงเรียนไม่ได้ปิดบังข้อมูล แม้ว่าบริเวณที่เด็กล้มลงจะไม่มีภาพวงจรปิดก็ตาม เพราะหากเสียชีวิต ใครจะมาปิดบังสาเหตุก็ไม่ได้”
กับอีกตอนหนึ่งคือ “ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้และสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย”
และ – เมื่อถามอีกว่า จะแก้ไขปัญหาพวกนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่า ก็ไม่ต้องเข้ามาเรียน ไม่ต้องมาเป็นทหาร เราเอาคนที่เต็มใจ ถามย้ำว่า การเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารต้องเตรียมใจเรื่องการดำรงวินัยหรือการถูกซ่อมใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบทันทีว่า “ใช่”
นอกจากนี้ BBC Thai ยังรายงานว่า พล.อ.ประวิตรยืนยันว่า “การซ่อมไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ด้วย (www.bbc.com)
ส่วนตำรวจอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก (ดูที่นี่ www.komchadluek.net) ว่า “คดีแบบนี้เป็นปกติอยู่แล้ว โรงเรียนเหล่ามีลักษณะคล้ายๆ แบบนี้เป็นประจำ ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น การพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ก็มีกระบวนการของเขาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนกรณีที่อวัยวะภายในของ นายภัคพงค์ หายไป คงเป็นขั้นตอนในการชันสูตรพลิกศพ ถ้าญาติข้องใจสามารถเข้าแจ้งความได้ แล้วแต่ญาติเขาอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นคดีอาญาได้หรือไม่นั้นต้องว่ากันอีกที ว่ากันไปทีละขั้นตอน อย่าพูดชี้นำไปบางทีไม่ดี”
เมยไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับทหารและการ ‘ซ่อม’ แบบทหารรายแรกที่เป็นข่าวว่าเสียชีวิต (โดยต้องอย่าลืมว่า – เมยยังไม่ใช่ทหาร เป็นเพียง ‘นักเรียน’ เตรียมทหาร ซึ่งเทียบเท่ากับนักเรียนชั้นมัธยมปลายเท่านั้น) ถ้านับเฉพาะในปีนี้ มี ‘พลทหาร’ (ที่หมายถึงทหารที่ถูก ‘เกณฑ์’ หรือ conscripted) ที่มีอายุมากกว่าเมยหลายปี เสียชีวิตขณะอยู่ในการดูแลของกองทัพหลายรายแล้ว เช่น
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม หรือพลทหารเบนซ์ ทหารเกณฑ์ในค่ายวิภาวดีรังสิต ที่โดนทำโทษในข้อหาผิดวินัยตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถูกหามส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคม มารดาต้องร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา (ดูข่าวได้ที่ www.thairath.co.th และคมชัดลึกได้ทำลำดับเหตุการณ์ทรมานไว้ที่นี่ www.komchadluek.net/news)
ในเดือนสิงหาคม พลทหารนพดล วรกิจพันธ์ หรือพลทหารทาโร่ ซึ่งเพิ่งถูกทำโทษทางวินัยในช่วงเย็น พอตกค่ำก็เสียชีวิต โดยแพทย์แจ้งว่าลิ้นหัวใจภายในฉีกขาดและมีเลือดคั่งภายใน (ดูข่าวได้ที่ news.sanook.com และ www.thairath.co.th)
ในเดือนพฤศจิกายน นอกจากข่าวน้องเมยแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวของพลทหารอดิศักดิ์ น้อยพิทักษ์ ที่เสียชีวิตกะทันหันระหว่างการฝึกทหารใหม่ โดยมารดาได้ร้องเรียนเช่นกัน แต่มีการชันสูตรพบว่าเสียชีวิตเนื่องจากโรคประจำตัว คือโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (ดูข่าวได้ที่ www.khaosod.co.th)
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การซ่อม (ที่อาจเปลี่ยนจากไม้เอกไปเป็นไม้โทเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับ ‘พลทหาร’ ที่อยู่ใน ‘ฐานานุรูป’ ที่ต่ำต้อยกว่านักเรียนเตรียมทหารที่จะจบไปเป็นทหารอาชีพ) คือเรื่องเดียวกับการ ‘ธำรงวินัย’ ที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า?
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ทหาร’ ควรมี ‘สิทธิมนุษยชน’ เหมือนมนุษย์คนอื่นๆ หรือเปล่า
หรือว่าทหารไม่ใช่มนุษย์
2
คุณรู้จัก OSCE ไหม
OSCE คือองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป หรือ Organization for Security and Co-Operation in Europe
ตั้งคำถามขึ้นมาแบบนี้ เชื่อแน่ว่ามีบางคนเริ่มสงสัยแล้วว่ายุโรปมาเกี่ยวอะไรกับไทยด้วย คนเขียนชอบไปลากต่างชาติมายุ่งกับประเทศไทยจังเลย แล้วนี่เป็นเรื่องทหาร เป็นกิจการภายใน จะไป ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ ทำไมกัน
คำตอบที่มาจาก ‘กองยุโรป 1 กรมยุโรป’ ของกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง บอกว่า OSCE เป็นองค์กรเดียวที่เชื่อมโยงมิติด้าน ‘การทหาร’ กับ ‘มิติมนุษย์’ เข้าด้วยกัน (ไปดูถ้อยคำจากกรมยุโรปโดยตรงได้ที่ www.europetouch.in.th) โดยที่ประเทศไทยได้เข้าเป็น ‘ประเทศหุ้นส่วน’ เพื่อความร่วมมือของ OSCE มาตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2543 โน่น แล้วเราก็มีส่วนร่วมกับ OSCE ในหลายเรื่อง เช่น การเข้าร่วมการประชุมสำคัญๆ หรือแม้กระทั่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่กรุงเทพฯ หลายครั้ง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเห็นพ้องและสนับสนุนวัตถุประสงค์ของ OSCE มานานแล้ว
ถามว่าวัตถุประสงค์ของ OSCE คืออะไร?
คำตอบคือ ‘มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ’ (Confidence Building Measures) ทางความมั่นคง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามด้าน คือ 1) ด้านการเมืองและการทหาร 2) ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ 3) ด้านมนุษย์
ด้านที่ผมอยากชวนคุยในวันนี้คือด้านที่หนึ่ง
OSCE นั้นมีหน่วยงานย่อยที่มีชื่อจำยากอยู่อีกสองหน่วยงาน คือ ODIHR (Office for Democratic Institutions and Human Rights) และ DCAF (Democratic Control of Armed Forces) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้จัดทำ ‘คู่มือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของกำลังพลในกองทัพ’ (Handbook on Human Rights and Fundamental Freedoms of Armed Forces Personnel) ขึ้นมา (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ www.casede.org)
สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานที่สองหน่วยงานนี้บอกว่าสำคัญและเกี่ยวข้องกับกำลังพลของกองทัพมีหลายอย่าง แต่ที่ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดขึ้นมีสองเรื่อง (ที่จริงมีมากกว่านั้น แต่เลือกมาให้น้อยที่สุด) คือ
-The Right to Life : คือต้องไม่ถูก ‘รังแก’ (เขาใช้คำว่า Bullying) จากการเกณฑ์ทหาร รวมถึงต้องมีกระบวนการยุติธรรมเพื่อไต่สวนการตายที่อธิบายไม่ได้เมื่ออยู่ในเขตทหารหรือระหว่างปฏิบัติหน้าที่ด้วย
-The Right not to be Subjected to Torture, Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : ซึ่งก็คล้ายๆ ข้อแรก คือต้องไม่ถูกทรมานอย่างโหดร้าย หรือทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือปฏิบัติด้วยการเหยียดหยามให้ต่ำต้อยจากความเป็นมนุษย์
นอกจากนี้ก็มีสิทธิอื่นๆ อีกหลายอย่างที่คู่มือนี้เสนอเอาไว้ เช่น สิทธิในการแสดงออก สิทธิในความเท่าเทียม ฯลฯ ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่า บ้าเหรอ – เป็นทหารจะมาแสดงความคิดเห็นอะไรเยอะแยะได้ยังไง แล้วจะเท่าเทียมได้อย่างไรกัน
คู่มือนี้ตอบคำถามพวกนี้กลายๆ ว่า กองทัพมีลักษณะเป็น Closed Hierarchical Institution หรือเป็น ‘สถาบันปิดที่ลำดับชั้นสูงต่ำ’ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกองทัพทุกหนทุกแห่งทั่วโลก แต่เพราะเป็นแบบนี้นี่แหละครับ ถึงต้องมีมาตรการป้องกัน (Safeguards) ไม่ให้เกิดการละเมิด (Abuse) จากผู้มีอำนาจสูงกว่า เช่นการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเรื่องที่เน้นย้ำมากก็คือการทำร้ายร่างกายที่เกิดจาก Rites หรือ Rituals คือ ‘พิธีกรรม’ ต่างๆ ที่คนมีอำนาจมากกว่าจะกระทำต่อคนที่มีอำนาจน้อยกว่าผ่าน ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’ ต่างๆ เพราะหากคนในกองทัพยกระดับ ‘วิธีปฏิบัติ’ บางอย่างขึ้นไปเป็น ‘พิธีกรรม’ (ไม่ว่าจะอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม) เช่น การทรมานในนามของการฝึกวินัยหรือการลงโทษ ฯลฯ แล้ว, ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ในกองทัพ
ทีนี้ลองย้อนกลับมาดูกฎหมายเกี่ยวกับวินัยทหารของไทยดูบ้าง เราจะพบว่ากฎหมายสำคัญมีหลายฉบับ (เช่น พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือนจำทหาร พ.ศ.2479) แต่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ ก็คือพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 (ดูได้ที่นี่ www.supply.navy.mi.th) อันเป็นกฎหมายที่เก่าแก่มาก อย่างน้อยที่สุด ก็เก่าแก่กว่าการให้ ‘สัตยาบันต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ ที่ประเทศไทยให้ไว้ในปี 2540 (อันเป็นผลให้เกิดพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2542) นั่นแหละครับ
คำถามก็คือ กฎหมายทหารที่เก่าแก่อย่างนี้ ทันโลก ทันสมัย หรือควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขหรือเปล่า (ไปดูการถกเถียงในเรื่องนี้ได้ที่รายงานนี้ www.komchadluek.net)
นอกจากนี้ เคยมีรายงานของ TCIJ (ดูที่นี่ www.tcijthai.com) เล่าถึงงานวิจัยเรื่อง ‘ความสอดคล้องของการลงทัณฑ์จำขังตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 กับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย’ ซึ่งเป็นงานวิจัยของทหารเองนะครับ คือพันเอกธวัชชัย ทับทิมสงวน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2554
TCIJ บอกว่า ข้อสรุปจากการศึกษานี้คือ (อันนี้ผมลอกมาเลยตรงๆ นะครับ)
1. วิธีการลงทัณฑ์จำขังทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 มีลักษณะที่รุนแรงกว่าการลงโทษทางวินัยข้าราชการอื่น เช่น ข้าราชการพลเรือนสามัญหรือข้าราชการตำรวจ จะไม่มีการจำขังผู้กระทำผิดวินัยไว้ในเรือนจำ
2. ทหารที่ถูกลงทัณฑ์จำขังของไทยถูกลดทอนสิทธิมากกว่าทหารของต่างประเทศ เช่น ทหารสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบ Common Law และฝรั่งเศสที่ใช้ระบบ Civil law เนื่องจากทหารของทั้งสองประเทศมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัย มีสิทธิตรวจดูเอกสารหลักฐาน มีสิทธิเลือกให้ศาลทหารพิจารณา มีสิทธิปรึกษาทนายความ โดยเฉพาะทหารของฝรั่งเศสหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการลงทัณฑ์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้
3. การลงทัณฑ์จำขังทหารไทยไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและยังไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นสากล
นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังศึกษากฎหมาย คำสั่ง และระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย แล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกับกฎหมายทหารของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law (คือสหรัฐอเมริกา) กับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Civil Law (คือฝรั่งเศส) ด้วย พบว่าในสหรัฐอเมริกาหรือฝรั่งเศส แม้แต่ทหารเกณฑ์ก็สามารถเลือกได้ว่าจะข้ึนศาลทหารหรือศาลปกติ แถมยังมีสิทธิเลือกทนายความมาแก้ต่างให้ตัวเองได้ด้วย แต่ในไทยไม่ได้ สิ่งที่ไทยมีก็คือการ ‘จำขัง’ ทหารผู้กระทำผิดวินัยไว้ในเรือนจำทหาร โดยผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ได้ ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสไม่มี
อีกงานหนึ่งที่อยากชวนไปอ่านกัน ก็คือเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง ‘กฎหมายทหาร และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติประสานงานกรณีทหารถูกหาว่ากระทำความผิด พ.ศ. 2544 (ดูได้ที่นี่ www.drwathits.com) จัดทำโดย พ.ท.วีระ ผดุงไทย จากโรงเรียนทหารสารวัตร ซึ่งส่วนที่น่าสนใจก็คือตอนที่ 4 เรื่องสิทธิมนุษยชนกับทหาร
เท่าที่อ่านดู ผมคิดว่าเอกสารการบรรยายชุดนี้มีอะไรสอดคล้องกับคู่มือของ ODIHR และ DCAF แห่ง OSCE อยู่ไม่น้อย เช่น พูดถึงการปฏิบัติของทหารในระบอบประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นของทหาร, เสรีภาพในการพูดในกองทัพ, สิทธิในการรวมตัวอย่างสงบในกองทัพ, สิทธิในการยื่นร้องทุกข์ของทหาร ฯลฯ
ที่น่าสนใจก็คือ เอกสารนี้แนะนำว่า
ผู้บังคับบัญชาจะต้องประกันความมีระเบียบและวินัย อันดีของหน่วย อีกทั้งจะต้องประกันว่าหน่วยตนมีความพร้อมจะสู้รบ สมดุลย์ที่เหมาะสมระหว่างสิทธิในการแสดงออกของทหารกับความจําเป็นในเรื่องความพร้อมในการปฏิบัติการนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจที่รอบคอบของผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบ แต่ข้อจํากัดนั้นต้องสอดคล้องกับข้อปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 29.2 ที่กำหนดว่า “ในการใช้สิทธิและเสรีภาพนั้น จัดอยู่ภายในบังคับแห่งข้อจํากัด แต่เฉพาะที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น เพื่อเป็นไปตามขอกําหนดว่าด้วยขวัญกําลังใจ ระเบียบสาธารณะ และสวัสดิการโดยทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย”
จะเห็นว่า ทหาร (อย่างน้อยก็ทหารที่เป็นนักวิชาการซึ่งไม่ได้มียศสูงส่งเป็นนายพลใหญ่โต) มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและกำลัง ‘วิพากษ์ตัวเอง’ ผ่านการทำงานทางวิชาการหลายคนทีเดียว
ที่น่าสนใจมากก็คือ ทำไมคนที่มียศสูงๆ มีอำนาจล้นฟ้า กลับกลายเป็นคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้น้อยเต็มที มี ‘กลไก’ อะไรหรือเปล่าในสถาบันปิดตายแห่งนี้ ที่ส่งเสริมให้ ‘คนแบบหนึ่ง’ ได้ขึ้นไปมีอำนาจ
3
ทั้งหมดที่เล่ามานี้เกิดจากความสงสัยว่า ‘ทหาร’ จำเป็นต้องอยู่ในหลักการ ‘สิทธิมนุษยชน’ เดียวกับมนุษย์หรือเปล่า?
จริงอยู่ ข้อจำกัดของการเป็น ‘สถาบันที่ปิดและมีลำดับชั้น’ อันเป็นลักษณะเฉพาะของสถาบันทหาร อาจทำให้ทหารใช้หลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้อย่างจำกัด ดังนั้น จะปฏิบัติอย่างไร โดยมากจึงมักถูกโยนให้ไปเป็น ‘การพิจารณาตัดสินใจ’ ของผู้บังคับบัญชา
แต่เราก็คงรู้กันอยู่นะครับ ว่าผู้บังคับบัญชาก็เป็นมนุษย์ที่ตกอยู่ใต้อำนาจที่มองไม่เห็นอย่างอำนาจทางวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน และความแข็งแกร่งของ ‘วัฒนธรรมทหาร’ ที่สืบทอดต่อเนื่องยาวนานนั้น ก็ได้ก่อให้เกิด ‘ประเพณี’ บางอย่าง (ที่คู่มือของ ODIHR และ DCAF เรียกว่า ‘พิธีกรรม’ นั่นแหละครับ) ที่ถูกนำมาใช้เป็น ‘กลไก’ ในการควบคุมกองทัพให้ ‘สงบเรียบร้อย’ แม้ว่าหลายกลไกจะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ ‘ฝัง’ อยู่ในลัทธิ Militarism ที่มีศูนย์กลางอยู่ตรงแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ จึงเป็นไปได้ว่า คนที่ ‘เหลือรอด’ จากกลไกนี้ (คือไม่ตายไปเสียก่อน) คือคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมนี้ดีที่สุด ดีมากพอที่จะ ‘ธำรงวินัย’ และ ‘ธำรงวัฒนธรรม’ ที่บางส่วนวางตัวอยู่บนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และดังนั้น ผู้ถูกละเมิดจึงด้อยอำนาจในการส่งเสียงร้องเรียนกลับ เพราะถูกโครงสร้างในระบบที่ทั้งปิดและมีลำดับชั้นนั้นกดทับเอาไว้จนหายใจไม่ออก
และดังนั้น แนวคิดก้าวหน้าเปี่ยมสติปัญญาแบบทหารนักวิชาการทั้งหลายจึงถูกสอนกันอยู่ในโรงเรียนทหารแบบเงียบๆ แต่ไม่ได้ฉายชัดออกมาเป็น ‘ภาพ’ ให้คนในสังคมเห็น
กลไก ‘การพิจารณาตัดสินใจ’ ที่จะ ‘ธำรงวินัย’ ของผู้บังคับบัญชาที่ตกอยู่ใต้ ‘วัฒนธรรมอำนาจ’ แบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องชอบธรรมเสมอไป ดังนั้น สิ่งที่ดีกว่าก็คือการมี ‘หลักปฏิบัติ’ (ไม่ว่าจะเป็นแค่คู่มือการปฏิบัติแบบที่ ODIHR และ DCAF เสนอ หรือเลยไกลไปถึงการแก้ไขกฎหมายวินัยทหาร รวมไปถึงการ ‘ปฏิรูป’ กองทัพ) ที่จะทำให้เรารู้ว่า – อย่างไหนคือการ ‘ธำรงวินัย’ ที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อสร้างเสริมวินัยที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนจริงๆ และอย่างไหนคือการข้ามเส้นกลายไปเป็นการ ‘ซ่อม’ แล้ว และอย่างไหนเลยการ ‘ซ่อม’ ไปอีกกระทั่งกลายเป็นการ ‘ซ้อม’ หรือการ ‘แดก’ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งฉับพลันทันทีหรือเกิดผลสืบเนื่องต่อร่างกาย สมอง ขวัญกำลังใจ และวิธีคิดในการสืบทอดวัฒนธรรมทหารต่อไปในอนาคต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผลแบบไหน ก็ล้วนแต่ไม่ดีต่อกำลังพลของกองทัพทั้งนั้น
ผมไม่รู้หรอกนะครับ – ว่าในทางปฏิบัติ กองทัพของไทยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าในฐานะมนุษย์ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทหารก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับเราทุกคนนั่นแหละครับ
อย่าให้ความเป็นมนุษย์ของทหารหนุ่ม ต้องสูญสิ้นไปเพราะเผชิญหน้ากับระบบที่สิ้นไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ – กระทั่งเติบโตออกไปกลายเป็นทหารแก่บ้าอำนาจ,
ผู้สิ้นปัญญาจะเห็นถึงความเป็นมนุษย์ในตัวคนอื่นเลย