ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีข่าวๆ หนึ่งที่กลายมาเป็นข่าวใหญ่ในหมู่แฟนคลับชาวไทยของวง Nogizaka46 วงไอดอลชื่อดัง เพราะเป็นข่าวเกี่ยวกับฮาชิโมโต้ นานามิ อดีตสมาชิกคนโปรดของผมที่ออกจากวงการไปแล้ว ในเนื้อข่าวกล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุที่เธอตัดสินใจจบการศึกษาและออกจากวงการ คือการถูกหนึ่งในผู้บริหารของค่ายเพลง ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ หรือ Sexual Harassment จนทนไม่ไหว
พอเห็นคำว่าล่วงละเมิดทางเพศ หลายคนก็ฟังแล้วคิดหนัก ตอนที่ผมเอาเรื่องนี้ไปคุยใน Live Chat ทางเพจไอดอลก็เหมือนกัน ปฏิกิริยาตอบกลับของคนที่ร่วมคุยทุกคนคือตกใจมาที่ได้ยินคำๆ นี้ เพราะฟังแล้วคนคิดภาพไอดอลโดนลุงหื่นๆ ลวนลาม ผมเลยต้องรีบอธิบายไปว่า คำว่าล่วงละเมิดทางเพศ มันไม่ได้หมายความว่าโดนลวนลามทางกายอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการละเมิดด้วยวิธีอื่นอีก เช่น การใช้คำพูดเหยียดเพศ หรือแทะโลม การพยายามตามตื้อโดยที่อีกฝ่ายไม่เล่นด้วย เหมือนในกรณีไอดอลนี้ก็โดนฝ่ายผู้บริหารตามตื้อ และเหมือนกับว่ามีการปล่อยข่าวลือว่าถ้าไม่เชื่อฟังก็จะไม่ได้งานอีกด้วย
จากกรณีนี้ก็ทำให้ผมเข้าใจว่า มุมมองที่มีต่อคำว่า Sexual Harassment ของไทยกับญี่ปุ่นนั้นต่างกันมาก
พอสงสัยก็เลยต้องไปค้นดู เท่าที่พยายามหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ของไทยก็ไม่มีใน Wikipedia เลยต้องลองไปไล่หาดู เมื่อเสิร์ชด้วยคำว่าล่วงละเมิดทางเพศ ก็เจอแต่ข่าวการล่วงละเมิดทางเพศซะมากกว่า พอเปลี่ยนคีย์เวิร์ดเป็นคำว่า ‘การคุกคามทางเพศ’ ก็พบความหมายตามพจนานุกรมฉบับใหม่ฉบับปี 2544 ว่า หมายถึง การกระทำ หรือพฤติกรรมทางเพศที่ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘ไม่พึงปรารถนา’ และ ‘ไม่ต้องการ’ โดยการคุกคามทางเพศดังกล่าว อาจอยู่ในรูปแบบของการแสดงออกทางวาจา กริยาท่าทาง หรือการสัมผัสทางร่างกาย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองที่มีเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
ดูจากผลการค้นหานี้แล้ว ก็ดูจะมีความสับสนระหว่างคำว่าการคุกคามทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศ คำแรกเป็นความหมายอย่างเป็นทางการ ในขณะที่มักจะพบคำหลังได้ในสื่อ พูดถึงกรณีที่มีการกระทำทางกายเกิดขึ้นแล้วมากกว่า ซึ่งก็ชวนให้สับสนพอควร ดังนั้นต่อไปจะขออ้างอิงโดยใช้คำว่า การคุกคามทางเพศเป็นหลัก
กลับมาดูที่ญี่ปุ่น จากการสำรวจของรัฐบาลในปีที่แล้วพบผู้หญิงที่ทำงานกว่า 1 ใน 3 ถูกคุกคามทางเพศ และ 2 ใน 3 เลือกที่จะเก็บเรื่องดังกล่าวไว้กับตัว ไม่แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคนรอบตัว ฟังดูแล้วก็น่าเป็นห่วงแต่ถ้าชินกับสังคมญี่ปุ่น ก็อาจจะถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะนอกจากการที่เป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ จนระดับความเท่าเทียมทางเพศถือว่าต่ำมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน ทำให้เกิดกรณีเช่นนี้มาก และอีกสาเหตุหนึ่งก็คงจะยกให้กับการตีความคำว่าการคุกคามทางเพศเช่นกัน
สังเกตในความหมายตรงคำว่า ‘ไม่พึงปรารถนา’ ซึ่งตรงนี้ก็หมายถึง ความรู้สึกของฝ่ายที่ถูกกระทำ นั่นเอง จะเรียกว่าเป็นเรื่องอัตวิสัยก็ว่าได้ เพราะเมื่อระบุเช่นนี้แล้ว หากคนที่มีอำนาจอยู่เหนือฝ่ายที่ถูกกระทำ (หนึ่งในเงื่อนไขคือ ผู้กระทำต้องมีอำนาจเหนือด้วยนะครับ) ทำสิ่งใดที่ผู้ถูกกระทำไม่พอใจ ก็จัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้ทันที
เรื่องนี้ผมเจอกับตัวเองก็ตอนที่เคยนั่งช่วยประเมินงานประจำเดือนของพนักงานในบริษัทกับนายญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นก็ให้พนักงานเข้ามาทีละคน นอกจากเรื่องงานก็ถามสารทุกข์สุขดิบไปด้วย ซึ่งบางทีด้วยความเป็นคนไทย พอเห็นคนตัดผมใหม่มา หรือทำสีผม แต่งตัวดี ก็ชมไปตามประสานั่นล่ะครับ ซึ่งพอพนักงานออกจากห้องประชุมไป นายญี่ปุ่นก็หันมาบอกว่า
“เมื่อกี๊ ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น อาจจะโดนฟ้องเรื่องคุกคามทางเพศได้เลยนะ”
เล่นเอาผมรับประทานจุดเลยสิครับ แต่พอนึกอีกที ก็เออ จริงแฮะ ในเมื่อนิยามบอกว่า ฝ่ายที่ถูกกระทำไม่พอใจ ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ผมพูด แล้วพนักงานไม่พอใจก็อาจจะบอกว่า เป็นการคุกคามทางเพศได้ แม้จะเป็นการชมก็ตามที ลองเป็นลุงในออฟฟิศที่สาวๆ ยี้ ต่อให้เจตนาดีก็อาจจะโดนได้ครับ แม้จะเป็นคำๆ เดียวกันก็ตามที
เท่าที่ดูความหมายของคำว่า Sexual Harassment ของแต่ละภาษา ดูเหมือนว่าภาษาอังกฤษก็จะเน้นไปที่เรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นหลัก แต่พอเปิด Wikipedia ของญี่ปุ่นดูเท่านั้นล่ะครับ ยาวเหยียดและยุบยับสมกับเป็นชาวญี่ปุ่นที่ชอบลงดีเทลเหลือเกิน ซึ่งหลายพฤติกรรมที่จัดว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ก็เล่นเอาอึ้งได้เหมือนกัน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ชาวไทยเราคุ้นชินกันเช่น เรื่องการพูดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก การบอกให้พนักงานรินเครื่องดื่มให้ รวมไปถึงการถามเรื่องแต่งงาน หรือแต่งงานแล้วก็ถามว่าเมื่อไหร่จะมีลูก อันนี้ก็เป็นการคุกคามทางเพศได้เหมือนกัน
ที่เขียนมานี่ก็ไม่ได้ต้องการปกป้องการพูดจาแทะโลมในสำนักงานนะครับ เพราะผมเองก็รู้ดีกว่าในบริษัทญี่ปุ่น การคุกคามทางเพศนี่เกิดขึ้นได้บ่อยมาก เพื่อนผมเองก็มาเล่าให้ฟังกันอยู่บ่อยๆ และเป็นที่รู้กันตามที่กล่าวไว้ข้างบนนั่นล่ะครับ แต่ก็อยากให้มองมุมกลับด้วยว่า ในบางกรณีคำว่าการคุกคามทางเพศที่ถูกตีความได้กว้างเหลือเกิน ก็กลายมาเป็นอาวุธที่ใช้ทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งได้เช่นกัน ฟังดูอาจจะเป็นการปกป้องเพศชายเหมือนกัน แต่บางทีเราก็ไม่ควรลืมกรณีอย่างเช่นนักท่องเที่ยวไทยโดนใส่ความว่าล่วงละเมิดหญิงชาวญี่ปุ่นในรถไฟจนต้องไปนอนในสถานีตำรวจฟรีๆ มาแล้ว จะเรียกว่าเป็นมุมกลับของคำว่า Sexual Harassment ก็คงไม่ผิดอะไร
เอาจริงๆ แล้ว คำๆ เดียวกัน พอไปอยู่ในคนละวัฒนธรรม ความหมายก็เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมนั้นด้วย ทำให้ไม่แปลกใจเมื่อผมใช้คำว่า ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ กับข่าวไอดอลแล้วแฟนคลับชาวไทยตกใจกันหมด ของแบบนี้ก็ต้องอธิบายเสริมด้วยว่า ในวัฒนธรรมอื่นเส้นที่ขีดไว้วัดก็ไม่ได้ตรงกันเสมอไป ดังนั้นถ้าจะทำงานข้ามวัฒนธรรม ก็ควรศึกษาไว้ให้ดีก่อนนั่นล่ะครับ