ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการเดิม บทความนี้ก็จะถูกอัพขึ้นเว็บ The Matter ในวันที่ 31 ธันวาคม แน่นอนว่าก็เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ที่ตัวผมเองก็หนีร้อน (หรือหนาวแล้ว?) ที่เมืองไทย มาพึ่งหนาวที่ญี่ปุ่นได้หลายวันแล้ว หนาวจริงๆ ครับ เล่นเอามือชาเลย พิมพ์ลำบากลำบนเหลือเกิน ก่อนจะมาที่นี่ก็ได้ปรึกษากับน้องทีมงานว่าจะเขียนเรื่องอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นดี
ซึ่งเอาจริงๆ กิจกรรมช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นก็มีมากมายหลายอย่างเหลือเกิน แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่คุ้นกันอยู่แล้ว ไม่รู้จะเขียนอะไรใหม่ๆ แต่พอมาอยู่ที่นี่แล้ว ก็ทำให้นึกขึ้นได้ว่ามีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นที่ทำกันมาสม่ำเสมอ แถมยังมีมายาวนานเกือบร้อยปีแล้วจนเป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นกันดี แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ กิจกรรมที่ว่าคือ ‘การแข่งวิ่งเอะคิเด็ง’ อ้อ แต่ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขาจัดอยู่ในฝ่ายชมนะครับ ไม่ใช่ฝ่ายลงแข่ง แหม่
พอเรียกว่าการแข่งวิ่งเอะคิเด็ง คนไม่คุ้นก็คงจะงงว่ามันคืออะไรหว่า รู้จักแต่แข่งวิ่งมาราธอน ไม่ก็การแข่งวิ่งระยะสั้น การวิ่งเอะคิเด็งนี่จัดเป็นการวิ่งผลัดถนน หรือวิ่งผลัดระยะยาวครับ ซึ่งแต่ละทีมก็จะมีนักกีฬาตามจำนวนที่การแข่งขันกำหนด แล้วก็จะวิ่งแข่งกันโดยที่แต่ละคนจะรับผิดชอบเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรครับ
เอะคิเด็ง มาจากคำว่า 駅伝 เอะคิเด็ง ซึ่งประกอบด้วยคันจิสองตัวตามที่เห็น คำแรก 駅 เอะคิ แปลว่า สถานี เหมือนกับคำว่า สถานีรถไฟ ส่วน 伝 เด็ง มีความหมายว่า ส่งต่อ ซึ่งคำนี้ก็มีในสังคมญี่ปุ่นมานานแล้ว ถึงกับมีการใช้คำนี้ในพงศาวดารญี่ปุ่นเลย แต่ในความหมายปัจจุบัน จะอ้างอิงความหมายจากยุคเอโดะ ที่หมายถึง สถานีที่อยู่ตามเส้นทางโทไคโด ถนนที่เชื่อมระหว่างเอโดะ (โตเกียว) และเกียวโต ซึ่งแต่เดิม จะมีการวางสถานีไว้ตามเส้นทางนี้เพื่อให้เป็นจุดพัก และรวมไปถึงเป็นที่เปลี่ยนม้าสำหรับคนส่งสาร เพื่อที่ม้าจะได้ไม่ล้าและเดินทางได้ต่อเนื่อง
ซึ่งเมื่อเริ่มมีการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลเป็นครั้งแรก ในปี 1917 ทางหัวหน้าฝ่ายสังคมของหนังสือพิมพ์โยมิอุริ เลยเลือกใช้คำว่า เอะคิเด็ง มาเป็นชื่อเรียกการแข่งขันวิ่งผลัดระยะไกลที่ทางหนังสือพิมพ์เป็นสปอนเซอร์ในการจัดการแข่งขันเพื่อเฉลิมฉลองการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่โตเกียวครบ 50 ปี
เส้นทางที่พวกเขาวิ่งกันก็คือ จากโตเกียวไปถึงเกียวโต
เป็นระยะเวลา 508 กิโลเมตร ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครวิ่งคนเดียวไหว
เขาเลยแบ่งเป็น 23 ช่วงเพื่อจะได้สลับตัวนักวิ่งกัน
แต่ถึงอย่างนั้น การแข่งขันที่ว่าก็ใช้เวลาถึงสามวัน ปล่อยตัวจากโตเกียวบ่ายสองวันแรก เข้าเส้นชัยกันตอน 11 โมงเช้าวันที่สาม วิ่งกันไม่หยุดไม่หย่อน เพราะเมื่อคนหนึ่งวิ่งจบรอบของตัวเอง ก็เอาสายสะพายส่งต่อให้เพื่อน (ไม่ได้ใช้ไม้ผลัดนะครับ คงถือแล้วเมื่อย) แล้วก็เสร็จไป เลยวิ่งกันยาวๆ แบบนี้ได้ล่ะครับ
พอเริ่มมีการแข่งเอะคิเด็งเกิดขึ้น ก็กลายเป็นที่สนใจในสังคมญี่ปุ่น คงเพราะได้สปอนเซอร์เป็นสื่อหลักด้วย จึงเกิดการแข่งขันเอะคิเด็งหลายระดับขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่แข่งกันเล่นๆ ในโรงเรียนประถม ไปจนถึงระดับมือโปรที่มีสปอนเซอร์เป็นบริษัทใหญ่ๆ มาแข่งกัน เอาจริงๆ บริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นก็ยังแบ่งทีมตามฝ่ายมาแข่งกัน แถมบางบริษัทยังให้สาขาในต่างประเทศอย่างสาขาในบ้านเรา แข่งกันเพื่อหาตัวแทนไปแข่งนัดชิงในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย เอาจริงเอาจังกันเหลือเกิน
แต่งานแข่งสองงานที่เป็นอีเวนต์สำคัญสำหรับวงการเอะคิเด็งก็คือ ‘การแข่งขันเอะคิเด็งชายของบริษัท’ หรือ นิวเยียร์เอะคิเด็ง และ ‘การแข่งขันเอะคิเด็งระดับมหาวิทยาลัยไปกลับโตเกียวฮาโคเนะ’ หรือ ฮาโคเนะเอคิเด็ง สองงานใหญ่ประจำช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นครับ เอาจริงๆ แล้ว ช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่มีงานวิ่งเอะคิเด็งเยอะมากๆ ตั้งแต่แข่งระดับมัธยมปลายทั่วประเทศ แต่ที่เป็นไฮไลต์ของปีจริงๆ ก็สองงานนี้ ที่แข่งกันในช่วงวันที่ 1 ถึง 3 มกราคมของทุกปี โดยงานของบริษัทจะแข่งวันที่ 1 วันเดียว ส่วนงานของนักศึกษา จะแข่งสองวันเลย เรียกได้ว่า สามวัน ที่หยุดกันไม่ทำงาน ก็นั่งดูแข่งวิ่งนี่ได้ทั้งวันครับ
แน่นอนว่าแม้จะแข่งติดๆ กัน แต่รายละเอียดของทั้งสองงานก็ไม่เหมือนกันเลยนะครับ เริ่มจากงานวิ่งของบริษัทก่อน งานนี้จริงๆ เริ่มแข่งตั้งแต่ปี 1957 ที่จังหวัดมิเอะ แล้วพอแข่งได้ 30 ครั้ง ก็ย้ายมาแข่งที่จังหวัดชิกะ จนปี 1988 ก็เปลี่ยนมาแข่งที่จังหวัดกุนมะแทน พร้อมทั้งย้ายวันแข่งมาเป็นวันที่ 1 มกราคมแบบในปัจจุบันนี้ โดยเส้นทางแข่งจะมีระยะรวมทั้งสิ้น 10 กิโลเมตรพอดี ซึ่งแบ่งช่วงทั้งหมด 7 ช่วง มีนักวิ่งทั้งหมด 7 คน แต่ที่ชวนงงก็คือ เขาไม่ได้แบ่งระยะให้วิ่งเท่า ๆ กันนะครับ ดูเหมือนจะแบ่งสถานีเอาตามความสะดวกในการตั้งสถานีมากกว่า (เช่นสถานีที่เมืองต่างๆ) ทำให้ระยะวิ่งแปลกเอามากๆ ซึ่งเส้นทางในปัจจุบัน ระยะทางของแต่ละช่วงคือ 12.3, 8.3, 13.6, 22.0, 15.8, 12.5 และ 15.5 กิโลเมตร ซึ่งก็เป็นการชิงไหวชิงพริบ ต้องจัดตัวให้ลงตำแหน่งตามระยะที่นักวิ่งแต่ละคนถนัด จะได้ชิงความได้เปรียบได้ถูกครับ ซึ่งนักวิ่งทั้งหมดก็เป็นนักวิ่งอาชีพที่สังกัดในบริษัทที่พวกเขาเป็นตัวแทนวิ่ง
แต่ยังไงก็มีบางบริษัทที่จ้างชาวต่างชาติมาทำงาน เพื่อให้มาวิ่งงานนี้
เพราะว่ามันคือการได้โฆษณาออกทีวีในรายการที่เรตติ้งสูง
เพราะส่วนใหญ่ปีใหม่เขาไม่ไปไหนกัน ก็เปิดทีวีดูไปเรื่อยๆ ระหว่างนอนเพราะฉลองหนัก แต่กว่าจะได้มาแข่งในอีเวนต์ใหญ่แบบนี้เพื่อโปรโมตบริษัท ก็ต้องแข่งกันหลายระดับเหมือนกันครับ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่คุ้มนะครับ เพราะกว่าจะแข่งเสร็จ ชื่อบริษัทนี่ได้ออกทีวีไม่รู้กี่รอบแล้ว
ส่วนรายการของระดับมหาวิทยาลัย จัดมานานกว่าครับ เพราะเริ่มตั้งแต่ปี 1920 หลังจากการแข่งเอะคิเด็งครั้งแรกแค่สามปีเท่านั้น ซึ่งเส้นทางคือ จากสถานีโอเทะมะจิในโตเกียววิ่งไปถึงฮาโคเนะ ระยะประมาณ 108 กิโลเมตร แล้ววันต่อมาค่อยวิ่งกลับ ระยะ 109.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นรอบละ 5 ช่วง ใช้นักวิ่งรวมทั้งสิ้น 10 คน ซึ่งระยะวิ่งจะเฉลี่ยเท่าๆ กันครับ ทีมที่วิ่งมีทั้งหมด 20 ทีม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดเขตคันโต โดย 10 ทีมที่ได้อันดับท็อปเทนของปีก่อนจะได้ลงแข่งโดยอัตโนมัติ แล้วก็จะมีการแข่งรอบคัดเลือกเพื่อหา 9 ทีมเข้ามาร่วมแข่ง ส่วนที่ว่างทีมสุดท้าย จะเป็นทีมรวมดาว เอาตัวนักวิ่งที่ทำเวลาดีที่สุด 5 คนจากทีมที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือก มารวมเป็นทีมใหม่เพื่อเข้าแข่งขันครับ
การแข่งเอะคิเด็งแต่ละปี ก็มีดราม่าเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นการแข่งกีฬาอย่างจริงจังแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ แถมกติกาที่จัดว่าเป็นระบบ All for One, One for All อย่างเช่น ถ้าเกิดนักวิ่งคนไหนเกิดบาดเจ็บระหว่างการวิ่งจนต้องถอนตัว ก็ถือว่าทีมทั้งทีมก็หมดสิทธิ์แข่งขันไปด้วย แม้คนที่เหลือจะพยายามวิ่งเข้าเส้นชัย แต่ก็เป็นไปเพื่อสปิริตของการแข่งขันเท่านั้น ยังไม่นับว่า ช่วงเวลาที่แข่งขัน เป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวจัด นักวิ่งแต่ละคนเมื่อวิ่งจบรอบของตัวเอง ก็มักจะหมดสภาพลงไปกองให้เพื่อนๆ เอาผ้าห่มมาช่วยคลุมตัวเพื่อจะได้ไม่ช๊อคไปซะก่อน ก็เล่นใส่เสื้อบางๆ วิ่งกลางอากาศหนาว ๆ แบบนั้น ไม่แปลกหรอกครับที่จะหมดสภาพได้ง่ายๆ