ต่อข้อถามว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ อยากให้ให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร ย้อนว่า ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการเลือกตั้งใช่หรือไม่ถึงจะต้องให้ต่างชาติเข้ามาดูแล เรามี กกต. ในขณะที่การเลือกตั้งในประเทศอื่นๆก็ไม่ได้ให้องกรค์ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันไม่จำเป็นต้องเชิญองค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยที่จะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 เพราะถือเป็นศักดิ์ศรีของประเทศ ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 จึงต้องแสดงความเป็นผู้นำ แต่ หากจะมีการเชิญ จะเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ
เวลามีข่าวกฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายซิงเกิลเกตเวย์ กฎหมายไซเบอร์ต่างๆ เราจะได้ยินคนบางคนพูดบ่อยๆ ว่า – ก็ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วจะไปกลัวอะไร
คำพูดนี้น่าจะเอามาใช้กับ ‘การสังเกตการณ์การเลือกตั้ง’ (Election Monitoring) ได้เหมือนกันนะครับ
ก็ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด – แล้วจะไปกลัวอะไรล่ะ!
ซูซาน ไฮด์ (Susan Hyde) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ ที่ได้รับการยอมรับนับถือไปทั้งโลกในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองและการสังเกตการณ์การเลือกตั้งระดับนานาชาติ (International Election Observation) เคยพูดไว้ว่า Refusing observers is taken as an admission of electoral malpractice หรือ การปฏิเสธการสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้น ถูกมองว่าเท่ากับการยอมรับว่ามีเรื่องไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง
พูดอีกอย่างหนึ่งซ้ำเดิมก็คือ – ก็ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วจะไปกลัวอะไร!
หลายคนอาจรู้สึกว่า การสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ดูเป็นเรื่องที่ล่วงละเมิดอธิปไตยอย่างไรชอบกลอยู่ คือจู่ๆ จะให้คนจากชาติอื่นเข้ามา ‘เผือก’ การเลือกตั้งของเราไปทำไมกัน ไอ้คนที่อยากให้มีคนนอกมาสังเกตการณ์พวกนี้ มันช่างไม่รักชาติเอาเสียเลย ชังชาติมากละสิ ถึงต้องไปลากต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย เผลอๆ ก็อาจคิดว่าเป็นเรื่องของพวกคนชั่วที่เที่ยวได้เร่ ‘ขายชาติ’ ไปโน่น น่าจะรับเงินต่างชาติมา ถึงได้กระเหี้ยนกระหือรืออยากให้ต่างชาาติเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้งนัก
แต่รู้ไหมครับ – ว่าในสากลโลกอันศิวิไลซ์แล้วนั้น การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดาที่สุด ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว โดยครั้งแรกที่มีการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ก็คือเมื่อปี 1857 กับการทำประชามติในมอลโดเวียและวาลลาเชียเพื่อรวมกันเป็นประเทศโรมาเนีย แต่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเริ่มแพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วเมื่อสงครามเย็นยุติลง การสังเกตการณ์ที่ว่านี้ก็ยิ่งขยายตัวใหญ่ขึ้นไปอีก จนพูดได้ว่า – แทบไม่มีการเลือกตั้งไหนเลยในโลก, ที่ไม่มีการสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากทั้งระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
อ้อ! ก็มีอยู่เหมือนกันนะครับ อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านเมื่อปี 2009 ซึ่งมีความเป็นเผด็จการสูง และไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ แต่สุดท้ายก็เกิดความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ทำให้คนอิหร่านเป็นล้านๆ ลุกฮือขึ้นมาประท้วง
การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นเรื่องที่สร้างความ ‘โปร่งใส’ ให้การเลือกตั้งนั้นๆ เพราะมีบุคคลที่สาม (ที่หลายคนอาจเห็นว่าเป็น ‘มือที่สาม’ ก็ได้ – ไม่ว่ากัน) เข้ามาช่วยตรวจสอบการเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง โดยสหประชาชาติถึงกับร่างคำประกาศหลักการเพื่อการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในระดับนานาชาติขึ้นมาเลยนะครับ เรียกว่า Declaration of Principles for International Election Observation และมีวิธีปฏิบัติ (Code of Conduct) ต่างๆ ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นสากล
ที่สำคัญก็คือ คำประกาศนี้ องค์กรของเอเชียอย่าง Asian Network for Free Elections หรือ ANFREL ที่ประเทศไทยเราเป็นสมาชิกอยู่ ก็ให้การรับรองด้วย – ว่าเป็นคำประกาศและหลักปฏิบัติที่เหมาะสมในการเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
จะมีก็แต่ประเทศที่มีวิสัยเผด็จการ (อย่างอิหร่านในปี 2009) เท่านั้นแหละครับ – ที่เห็นว่าการสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างชาติ เป็นเรื่องของการ ‘เผือก’ ด้วยเหตุผลที่ว่า – เราดูแลกันเองได้
ซูซาน ไฮด์ บอกว่า นับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา การสังเกตการณ์การเลือกตั้งกลายเป็น Norm คือเป็น ‘บรรทัดฐาน’ ของการเลือกตั้งทั่วโลกไปแล้ว แรกๆ ก็เกิดขึ้นกับประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตย เลยอยากให้องค์กรต่างชาติเข้าไปช่วยดูแลการเลือกตั้งให้หน่อย ว่าทำแบบนั้นแบบนี้แล้วจะส่งเสริมประชาธิปไตยหรือเปล่า คล้ายๆ เด็ก ‘มือใหม่’ ที่ต้องการพี่เลี้ยงอะไรทำนองนั้น
แต่ในระยะหลัง กระทั่งประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ก็เชื้อเชิญองค์กรจากต่างชาติให้เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งกันทั้งนั้น เพราะทุกประเทศที่เจริญแล้วและศิวิไลซ์ในทางประชาธิปไตย ล้วนเห็นว่าการมีคนอื่นมาช่วย ‘ดู’ นั้น จะช่วยลดข้อกังขา ลดความผิดปกติ ลดความอยากทำอะไรผิดๆ โกงๆ ไม่ว่าจะของฝ่ายไหนลงไปได้เป็นอย่างมาก จึงส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์จริงๆ
แม้กระทั่งผู้นำประเทศที่ถูกมองว่ามีลักษณะ ‘เบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ อย่างวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เวลามีการเลือกตั้งก็ยัง ‘ออกเทียบเชิญ’ ให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของตัวเองเลย เรื่องนี้ ซูซาน ไฮด์ เขียนเอาไว้ในหนังสือชื่อ The Pseudo-Democrat’s Dilemma: Why Election Monitoring Became an International Norm ว่าการที่ผู้นำประเทศเชิญผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้าประเทศไปนั้น ก็คือการส่ง ‘สัญญาณราคาแพง’ (Costly Signal) สู่โลกภายนอก ว่าระบบการเมืองการเลือกตั้งของตัวเองได้มาตรฐานนานาชาตินะ โดยหวังว่าจะได้ประโยชน์ต่างๆ ตามมาในภาคภาคหน้า พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ถ้าเป็นประเทศที่ผู้นำมีลักษณะเป็น ‘เผด็จการที่มีสติปัญญา’ เสียหน่อย ก็จะรู้ว่าการเชิญต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้นส่งผลดีโดยรวมอย่างไรบ้าง แต่ถ้าผู้นำเป็นเผด็จการประเภทตรงกันข้าม ก็มักจะมีพฤติกรรมตรงกันข้ามในทางปัญญา – ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าเลิกคิ้วประหลาดใจแต่อย่างใด
ในคำประกาศของสหประชาชาติ ว่าด้วยการสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้น มีคำน่าสนใจอยู่ คือคำว่า Genuine Democratic Elections หรือ ‘การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริงแท้’ ซึ่งการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง คือกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศนั้นๆ ได้บรรลุถึง ‘การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริงแท้’ นี่แหละครับ มันเหมือนมีคนที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาช่วยดูด้วย
คำถามถัดมาก็คือ แล้วใครกันล่ะ ที่จะมาเป็นผู้สังเกตการณ์เหล่านี้?
คำตอบนั้นหลากหลายมากครับ เพราะองค์กรที่เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งมีหลายระดับมาก มีแม้กระทั่งการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศ (หรือแม้แต่ในท้องถิ่น) อย่างของไทยเราก็มี ‘มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย’ หรือ P Net (ที่พอไม่มีการเลือกตั้งยาวนาน ก็ดูเหมือนไม่มีใครพูดถึงสักเท่าไหร่) แต่ P Net ก็ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในต่างประเทศด้วยนะครับ เช่นในพม่า
ส่วนในระดับนานาชาติ มีองค์กรมากมาย ตั้งแต่ ANFREL ที่เล่าให้ฟังไปแล้ว จนถึงองค์กรอื่นๆ เช่น European Network of Election Monitoring Organizations หรือ ENEMO จากยุโรป, Center for Electoral Promotion and Assistance หรือ CAPEL แล้วก็องค์กรอื่นๆ จากประเทศต่างๆ ที่ล้วนมีสัมพันธ์กับไทยในหลากหลายด้าน รวมไปถึงการค้าขาย การทูต และอื่นๆ เขาก็ต้องคอยดูว่า ประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตยมากพอไหม นโยบายที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร จะเอื้อประโยชน์ให้แต่กับเผด็จการครองประเทศ หรือหลังเลือกตั้งแล้วได้ผู้ชนะที่มีนโบายสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย
นอกจากองค์กรเหล่านี้แล้ว ปัจจุบันยังมีองค์กรอีกแบบหนึ่งด้วยนะครับ เป็นองค์กรประเภท ‘รับจ้าง’ ที่พรรคการเมืองที่เข้าร่วมการเลือกตั้งไป ‘จ้าง’ ให้มาคอยจับสังเกตการเลือกตั้งกันเลย ที่รู้จักกันดีก็คือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจ้างบริษัทเอกชน (หลายๆ แห่ง) ให้เข้ามาจับตาดูการเลือกตั้ง เขาเคยบอกว่า ถ้าฮิลลารีชนะ เขาจะยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะเขาคิดว่าเธอโกงการเลือกตั้งแน่ๆ องค์กรสังเกตการณ์แบบนี้เรียกว่า Partisan Observers คือเป็นการสังเกตการณ์แบบ ‘เลือกข้าง’ ซึ่งต้องการการคัดคานทางอำนาจจตากอีกฝ่ายด้วยเหมือน เรียกว่าเป็นองค์กรที่ถูกจ้างมาคอยจับตาดูฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือการตรวจสอบกันและกันนั่นแหละครับ
การสังเกตการณ์การเลือกตั้งแบบ Partisan Observers อาจไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ เพราะมักมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง เช่น บางองค์กรก็มีการทำโพลสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกมาให้เห็นเพื่อโน้มน้าวคน หรือในกรณีของทรัมป์ก็มีเรื่องอื้อฉาวตามมาหลังการเลือกตั้งหลายเรื่อง ไม่เหมือนการสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่เป็นไปตามคำประกาศของสหประชาชาติ คือเป็นการสังเกตการณ์ที่จริงจัง น่าเชื่อถือ มีการออกแบบวิธีสังเกตการณ์โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เพื่อนำผลที่ได้มาผสมผสานและบาลานซ์ชั่งน้ำหนักทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ การใช้คนที่มีความคิดความเชื่อหลากหลายและเชี่ยวชาญในด้านที่แตกต่างกันนั้น จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความไว้ใจ’ (Trust) ขึ้นมา
คำถามถัดมาก็คือ การสังเกตการณ์การเลือกตั้งจะลดความไม่ชอบมาพากลและการโกงการเลือกตั้งได้จริงหรือ?
เรื่องนี้มีงานวิจัยของทั้งซูซาน ไฮด์ และจูดิธ เคลลี (Judith Kelly) ที่บอกว่าการสังเกตการณ์การเลือกตั้งไม่ได้ไป ‘ป้องกัน’ ความไม่ชอบมาพากลได้ทั้งหมดหรอกนะครับ แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นไปเหมือนชื่อหนังสือของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเจ้าของรางวัลโนเบลอย่าง ริชาร์ด ธาเลอร์ (หนังสือชื่อ Nudge) นั่นคือมันจะไป Nudge คือค่อยๆ ดุน ค่อยๆ ถอง ค่อยๆ ดัน ค่อยๆ ประคองให้ประเทศนั้นค่อยๆ ขยับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ
การสังเกตการณ์การเลือกตั้งไม่ได้มีผลแค่ป้องกันความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หลังเลือกตั้งแล้ว การสังเกตการณ์ที่ยุติธรรมและเป็นมืออาชีพ (Impartial and Professional) ยังมีส่วนป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงรุนแรง (เหมือนที่เกิดกับอิหร่านในปี 2009) ได้ด้วย
สิ่งที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งช่วยได้เป็นอย่างมาก ก็คือช่วยให้คนที่แพ้ยอมรับผลการเลือกตั้งได้ ว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม (Free and Fair) แล้ว หรือถ้าหากการเลือกตั้งนั้นไม่อิสระและยุติธรรม สังคมก็จะได้มีหลักฐานในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ตามที่ผู้สังเกตการณ์พบ
การสังเกตการณ์การเลือกตั้งจึงเป็นทั้งการ ‘กอบกู้’ ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่เกิดจากรัฐประหาร และยังช่วยรักษา ‘ระบบ’ เลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งๆ เอาไว้ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้สังคมที่เราอยู่ร่วมกันนี้เกิดความ ‘ไว้วางใจ’ ซึ่งกันและกันขึ้นมา อันจะนำไปสู่ความสงบสันติและมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง
ดังนั้น เมื่อหลายคนกล่าวหาว่าผู้มีอำนาจของไทยมีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศ ผมเลยสงสัยอยู่ครามครันกับข้อกล่าวหาพวกนั้น
เพราะผู้มีอำนาจของไทยไม่ใช่เผด็จการที่โง่ถึงเพียงนั้นหรอกครับ
ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนี่นา – จะไปกลัวอะไรทำไมเล่า!