หายใจอีกไม่กี่เฮือก เราก็จะถึงวันเลือกตั้งที่ชี้อนาคตประเทศไทยกันแล้ว
ระหว่างทางที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งและความเกลียดชังมากมายที่เผยตัวขึ้นมาในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่า การเลือกตั้งได้กลายเป็นสงครามที่ต้องเอาชนะ และปราบอีกฝ่ายให้หายไปจากกระดานการเมืองให้ได้
ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ เราพูดคุยกับ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสันติวิธี
นี่คือบทสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจถึงความขัดแย้งที่อยู่กับสังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และคำถามต่อการเลือกตั้งว่ามันจะช่วยเยียวยาความขัดแย้งที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนานได้หรือไม่ หรือเราต้องอยู่กับมันต่อไปอีกยาวนานแค่ไหน?
ถามอาจารย์ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสันติวิธี การเลือกตั้งมันเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งทางการเมืองได้ยังไงบ้าง
ดีแล้วที่เริ่มต้นด้วยคำถามนี้ ผมคิดว่ามันมี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่อยากจะเริ่มต้นคุยกันคือเรื่องเลือกตั้ง การเป็นประชาธิปไตย และเสรีนิยม ผมคิดว่าความวุ่นวายในทางความเห็นที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ได้ตอกหมุดคำเหล่านี้ว่ามันคืออะไร และมันอยู่ตรงไหน
ผมอยากพูดถึงประชาธิปไตยว่า คือรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ ที่มาของอำนาจมันมาจากประชาชน สิ่งที่ทำให้ระบบนี้มันต่างไปจากระบบอื่นๆ มันคือเรื่องนี้ ถ้าพูดแบบอริสโตเติลนะ
แต่เสรีนิยมไม่ใช่ เสรีนิยมคือวิถีของการปกครอง ที่บอกว่าการที่รัฐบาลจะใช้อำนาจได้เต็มที่หรือไม่มีข้อยับยั้งนั้น ไม่ถูกต้อง ทำกันแบบนั้นไม่ได้ เพราะอำนาจของรัฐต้องมีจำกัด สิ่งที่จะจำกัดอำนาจของรัฐเอาไว้ก็จะมีเรื่องต่างๆ เช่น สิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพ
การปกครองซึ่งมีที่มาจากประชาชน แต่อาจจะเป็นการปกครองที่รัฐจะมีอำนาจจำกัดหรือไม่จำกัดก็ได้ มันเลยมีคำเรียกว่า ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (Illiberal democracy) เป็นงานของ Fareed Zakaria เมื่อสักยี่สิบปีก่อนโดยประมาณ ประชาธิปไตยแบบนี้ มีความชอบธรรมที่มาจากประชาชน แต่ใช้อำนาจโดยไม่บันยะบันยัง ไม่มีขอบเขต เพราะคิดว่าได้อำนาจมาจากประชาชนจึงทำอะไรก็ได้
ทีนี้ การเลือกตั้ง ถ้าอธิบายแบบปกติก็จะหมายความว่ามันเป็นการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล สำหรับผมเนี่ยขออธิบายอีกอย่าง ผมมองว่าการเลือกตั้งเป็นนวัตกรรมการจัดการความขัดแย้งใหญ่ของโลก ที่แก้ปัญหาใหญ่ที่สุดทางการเมืองข้อหนึ่งได้ ก็คือใครควรจะเป็นคนขึ้นมาปกครอง
คนที่ควรจะเป็นคนปกครอง ก็ควรเป็นคนที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง คือนวัตกรรมสำหรับจัดการความขัดแย้งนะ เพราะถ้าเราถอยไปในอดีต เวลาจะถามว่าใครควรปกครอง ก็จะถามกันว่า คุณมีกำลังเท่าไหร่ เหมือนที่เราเห็นในหนังจีนเก่าๆ ที่สู้กันระหว่างการมีกองกำลัง มีอาวุธเท่าไหร่ แล้วก็สู้กัน
การเลือกตั้งมันมาตอบปัญหาว่าใครควรเป็นผู้ปกครอง เมื่อก่อนอาจถามว่าคุณมีกระสุนเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เขาถามกันว่าคุณมีบัตรเลือกตั้งกี่ใบอยู่ในพรรคของคุณ เลยมีคำว่า “From bullets to ballots” หรือ “จากกระสุนสู่บัตรเลือกตั้ง” ขึ้นมา มันสะกดเกือบจะเหมือนกัน
ถ้าพูดจากทฤษฏีจัดการความขัดแย้งก็คือ การเลือกตั้งเป็นวิธีการอันฉลาดที่สุด โดยระดมคนเข้ามาในเกมอันนี้ เกมอันนี้เป็นเกมแข่งขันว่าใครได้เสียงข้างมากคนนั้นชนะ
แล้วในบริบทบ้านเรา โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น มันเป็นไปตามหลักนี้ที่อาจารย์อธิบายมายังไงบ้าง บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า เกมนี้มันบิดเบี้ยวไปรึเปล่า เพราะมี ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้ามาเลือกผู้ปกครองด้วย
คำถามคือเราจะใส่บริบทอะไรให้กับการเลือกตั้งคราวนี้ บริบทหนึ่งที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย อาจจะดูได้จากบริบทเป็นประวัติศาสตร์ของสถาบันการเมืองที่คลี่คลายมา นับตั้งแต่ปี 2475
ถ้าพูดจากมุมของประวัติศาสตร์สถาบันรัฐธรรมนูญ เราคงบอกได้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ในช่วงเวลาของมันเอง แปลว่า รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับล่าสุดที่เรามี แต่ละฉบับมันเป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยของมัน สิ่งที่ปรากฎคืออำนาจที่สู้กันอยู่ในสังคมไทย
พูดอย่างนี้แปลว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ไม่สามารถปรากฎตัวได้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ปรับดุลยภาพทางอำนาจ ประเด็นคัดค้านสำคัญคือการไม่เอาคนที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งก็สู้กันจนเกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บอกว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันมาจากการรัฐประหาร 2547 ซึ่งก็เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจอีกที คืออยากธำรงอำนาจของฝ่ายที่ชนะในการรัฐประหารครั้งนั้นเอาไว้ มันก็เลยออกมาเป็นแบบที่มีวุฒิสมาชิกที่ผ่านการแต่งตั้ง ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเลย
ถ้าพูดแบบอาจารย์ เสน่ห์ จามริก แล้ว สมมติเราเอารัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบันมาวางเรียนกัน เราก็จะเห็นสิ่งที่อาจารย์ เสน่ห์ เรียกว่า อัตตชีวประวัติของการเมืองไทย
ส่วนบริบทในตอนนี้มันเป็นยังไง
มาถึงตอนนี้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ก็ถูกทำให้ระส่ำระสาย การมี ส.ว.โดยการแต่งตั้งก็ถูกผลิตขึ้น มันก็เป็นแบบนี้เหมือนในอดีตที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ อยากจะอิงอำนาจของตัวเอง ก็ใช้วิธีแต่งตั้งมา
ใบบริบทรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มันมีลักษณะเฉพาะคือมันทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีปัญหา โดยมีพลังที่อ่อนลง มันสร้าง ส.ว. ขึ้นเพื่อสนับสนุนรัฐบาล มันสร้างระบบที่คนที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง เข้ามาเป็นนายกฯ ได้ผ่านการเสนอชื่อโดยพรรคการเมือง ในแง่หลักการก็น่าสนใจ คือเขาอาจจะอยู่บนฐานคิดว่า จะทำยังไงไม่ให้เสียงที่ประชาชนลงไปมันเป็นหมัน
เสียงที่เป็นหมันในความหมายของอาจารย์คืออะไร
คือในอดีต เวลาเราลงคะแนนเสียงกัน สมมติมีสามคน สองคนเลือกคุณ หนึ่งคนเลือกผม รัฐธรรมนูญนี้คิดว่าเสียงทั้งหลายมันมีความสำคัญ ถ้าพูดอีกทางหนึ่ง สมมติการต่อสู้ระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ที่ลงคะแนนให้ทั้งสองพรรคก็มีกว่าสิบล้านทั้งคู่ คำถามคือ เสียงของคนที่ไม่ชนะหายไป รัฐธรรมนูญก็เลยออกแบบมาพิสดารมาก ในมาตรา 91 ที่หาวิธีทำให้ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมือง กับ แบบแบ่งเขต มาอยู่ในกรอบบางอย่าง ซึ่งถ้าคุณได้ ส.ส. เขตเป็นจำนวนมาก คุณก็จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งก็ประหลาดอีก วิธีนี้เขาก็บอกว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กได้มีที่นั่ง
ถามว่ามันเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจนะ ผมก็ไปคุยกับอาจารย์ที่สอนกฎหมา เขาก็บอกว่า เยอรมันก็มีแบบนี้แต่เขามีบัตรเลือกตั้งสองใบ ส่วนของเรามีแค่ใบเดียว มันก็เลยซับซ้อน ผลของมันโดยรวมคือพรรคการเมืองก็จะอ่อนแอ
เพราะคะแนนมันกระจายไปทั่ว
มันกระจาย ซึ่งอันนี้คือปัญหาเดิมที่เราเคยมี คือการมีรัฐบาลผสม แต่วิธีการตอนนี้ก็คือว่า รัฐบาลผสมก็จะมี ส.ว. มากำกับไว้อีกที ปัญหากลายเป็นว่า ส.ว. 250 คนไม่พันกับเสียงของประชาชนตรงไหน
เราไม่ได้เลือกตั้งมาเกือบ 8 ปี การเลือกตั้งจะช่วยเยียวยาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทางนี้ได้แค่ไหน
มีงานวิจัยชิ้นใหม่ของ อาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่ชื่อว่า ‘จากประชาธิปไตยไม่เสรีไปสู่ระบบอำนาจนิยมทหาร’ ประเด็นสำคัญของงานชิ้นนี้คือ มีคนบอกว่า ปัญหาตอนนี้คือความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนึงกับฝ่ายคุณทักษิณ หรืออธิบายว่าคุณทักษิณเป็นปัญหา วิธีการนี้คือการมองไปที่ตัวบุคคล
ผมไม่ได้บอกว่าคุณทักษิณไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา แต่การบอกว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากคุณทักษิณ มันไม่ตรงกับความเข้าใจสังคมโดยรวม ผมเชื่อว่ากรณีของบุคคลมันเป็นผลของความเปลี่ยนแปลงของสังคม
พูดใหม่ก็คือว่า ถ้ากลับไปดูพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งได้ เพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มันมีเกณฑ์และกติกาแบบหนึ่ง
อาจารย์ประจักษ์ สนใจเรื่องการแยกขั้วในสังคมไทย โดยอธิบายว่า มันไม่สามารถเข้าใจไปได้ว่าเป็นเพียงปัญหาของบุคคล หรือเกิดขึ้นแค่ชนชั้นนำ แต่มันเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับมหาชน และความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ทั้งหมดมันทำให้เกิดการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพและเกิดการแยกขั้ว
โดยสิ่งเหล่านี้เกิดจากความขัดแย้งเช่น ความขัดแย้งทางชนชั้น ความแย้งเชิงภูมิภาค ความขัดแย้งระหว่างเขตเมืองกับชนทบท ความขัดแย้งเหล่านี้มันทำให้สังคมแยกออกจากกัน แล้วพอมันถูกตีกรอบให้เป็นเรื่องอุดมการณ์แยกกันว่าเป็นพวกนั้นพวกนี้ มันก็เลยออกมาเป็นกลุ่มที่แยกออกจากกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ใช้แนวความคิดราชาชาตินิยม แต่อีกฝ่ายเป็นประชาธิปไตยแบบประชานิยม แล้วเชื่อว่าอำนาจของเขาโยงโดยตรงกับอำนาจของการเลือกตั้ง
ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะธรรมชาติของความขัดแย้งยุคปัจจุบัน มันไม่เหมือนสมัยก่อน ในที่ต่างๆ คุณก็จะเห็นสภาพแบบนี้ เช่นในเวเนซุเอลา หรือในสหรัฐฯ ที่ความขัดแย้งมันแยกขั้วกันขนาดนั้น สังคมไทยมีคุณลักษณะที่น่าสนใจ ในระยะหลังมันมีสิ่งที่ผมเรียกว่าความขัดแย้งยืดเยื้อ
ความขัดแย้งยืดเยื้อแบบนี้ การเลือกตั้งจะช่วยเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ไหม
ในตอนแรก ผมอธิบายว่าความขัดแย้งมันเป็นเกม ผมใช้คำนี้แบบระมัดระวัง วันนี้ที่เราคุยกันว่า การเลือกตั้งมันเป็นวิธีที่แสนฉลาดในการบอกว่า ใครจะขึ้นมาครองอำนาจ แต่พอบอกว่ามันเป็นเกม สิ่งที่มาคู่กับเกมคือกฎบางอย่างในการเล่น
พอบอกว่ามันเป็นเกม สิ่งที่มาคู่กับเกมคือกฎในการเล่นบางอย่าง ถ้าคิดแบบนักกฎหมาย มันก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งที่ตีกรอบว่าทำอะไรได้ไม่ได้บ้าง
แต่เรื่องพวกนั้นมันยากเกินไปสำหรับผมที่จะเข้าใจ ผมคิดว่า การเลือกตั้งในสถานะที่เป็นเกมซึ่งมีกติกา มันมีคุณลักษณะสำคัญสองอย่าง อย่างที่หนึ่งคือ ถ้าเป็นเกมและเป็นเกมที่มีความหมาย การชนะและแพ้ต้องเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่สองคือ ถ้าเป็นเกมก็แปลว่าคู่ต่อสู้สำคัญต่อชัยชนะของคุณ
เกมจึงไม่ใช่สงคราม เพราะเป้าหมายของสงครามคือต้องทำลายศัตรู เพราะศัตรูเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของเรา แต่ในเกมนั้น การดำรงอยู่ของศัตรู จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของเราเช่นกัน ยกตัวอย่าง เราเล่นเทนนิสที่เราตีคนเดียวไม่ได้ คู่ต่อสู้เลยสำคัญ หรือนักมวยชกกัน ถ้าจะมีความหมายก็คือคู่ต่อสู้ต้องมีโอกาสสู้กับคุณด้วย
ที่สำคัญก็คือ ในการเลือกตั้งที่เป็นเกม คู่ต่อสู้ก็คือคู่ต่อสู้ เป็นพรรคการเมืองซึ่งเล่นเกมนี้ด้วยกัน คู่ต่อสู้ที่เป็นพรรคการเมืองก็สำคัญ ไม่ใช่ทำให้เขาตายหรือหายไป ในความหมายนี้ การออกแบบระบบจึงต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นความสำคัญของคู่ต่อสู้ มันถึงจะเป็นกีฬาที่มีความหมาย
ยิ่งไปกว่านั้น ในระบบประชาธิปไตยที่ดี อาจจะหมายความว่า คนที่ชนะเลือกตั้งวันหนึ่งก็แพ้ได้ ถ้าใครชนะตลอดก็ย่อมแพ้ได้ หรือถ้าชนะติดต่อกันก็ต้องหยุด เช่น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อยู่ได้แค่สองสมัยเท่านั้น การอยู่ในอำนาจและใช้อำนาจมากเกินไป มันมีผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยเอง เพราะมันจะไม่มีใครมาเล่นด้วย
การเลือกตั้งจะทำให้ความขัดแย้งในลักษณะสงครามระหว่างกัน ให้กลายเป็นเกมได้ในความหมายที่อาจารย์บอกได้ไหม
มันทำได้ เวลามีความรุนแรงเกิดขึ้นในที่ต่างๆ ข้อเรียกร้องที่สำคัญบ่อยครั้งคือยุบสภา เพื่อกติกา ถ้าไม่ยุบก็เผชิญหน้าแบบนั้น เพราะการเลือกตั้งมันเปลี่ยนกติกา ทุกคนก็ทุ่มทรัพยากรไปเพื่อสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งในบริบทที่แยกขั้วแบบนี้ มันก็มีกลิ่นอายของการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง
ซึ่งน่ากลัว
น่ากลัวและเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง สมัยก่อนก็มีความรุนแรงในการเลือกตั้ง มีการลอบยิงคู่ต่อสู้ ซึ่งแปลว่าสู้กันในระบบไม่ได้แล้ว จริงๆ แล้วมันคือความพ่ายแพ้ของคนยิงนะ เกมเสียหมด เพราะเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นและไม่สามารถเอาชนะได้ มันทำลายระบบโดยรวม ถ้าผมพูดถูกว่าการเลือกตั้งเป็นวิธีแก้ปัญหา แต่พอการเลือกตั้งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามีโอกาสพ่ายแพ้สูง จนเลือกใช้ความรุนแรง ความเป็นสันติวิธีมันก็หายไป
คราวนี้มีความน่าสนใจ ผมยังไม่ได้ข่าวเรื่องความรุนแรงกับผู้สมัครอะไรขนาดนั้น แต่การต่อสู้รุนแรง ถามว่าทำไมไม่มี อาจจะเพราะเราอยู่ภายใต้ระบอบทหารที่เขาคุมเรื่องการมีระเบียบในสังคม ความรุนแรงในเชิงกายภาพมันเลยลดลง
เลือกตั้งครั้งนี้อาจยังไม่เห็นความรุนแรงในเชิงกายภาพมาก แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่ามันไปรุนแรงกันด้านอื่นแทน
ใช่ ไปด้านอื่นแทน ความรู้สึกว่าเป็นคนละพวกคนละฝ่าย ความรู้สึกเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ถ้าไปอ่านข่าวในโลกออนไลน์ก็จะเจอเรื่องพวกนี้เต็มไปหมด
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเรื่องรณรงค์งบทหาร ที่แม่ทัพบกออกมาตอบโต้ว่าพวกนี้หนักแผ่นดิน พอพูดแบบนี้ขึ้นมาก็ไปเล่นเพลงในอดีต ซึ่งอยู่ในบริบทก่อนที่จะเกิด 6 ตุลา
สำหรับผมแล้วเพลงนี้เป็นเพลงแห่งความพ่ายแพ้ของสังคมไทย พ่ายแพ้เพราะเป็นสงครามประชาชน ระหว่างฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐ โดยมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย เขาเข้าใจในตำแหน่งแห่งที่ของมันผิด แต่พวกเรากำลังจะไปอีกที่หนึ่ง คือไปสู่การเลือกตั้ง
กรณีเพลงหนักแผ่นดินที่กลับมาอีกรอบ มันแปลว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ได้ลดน้อยลงไปเลยรึเปล่า
ผมคิดว่าเขาไม่เข้าใจว่าเพลงนั้นมันทำงานยังไงในเวลานั้น และก่อให้เกิดผลอะไร เขาคงคิดย้อนกลับไปว่าพวกนี้คือศัตรู เพลงนี้เคยมีอยู่เพื่อจัดการกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ว่านี่คือเกมการเลือกตั้งซึ่งเป็นคนละอันกัน มันไม่ใช่สงคราม มันเป็นเกมของการเลือกตั้ง
พอเป็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้รอยร้าวมันปริมากขึ้น แต่ที่ทำไปเขาคงไม่เข้าใจว่าเพลงนี้อยู่ตรงไหน หรือกระทั่งว่าเพลงนี้เป็นอะไร ถ้าเป็นเพลงปลุกระดม ถามว่าเพลงนี้มันจำเป็นใช่ไหมในเวลาที่ต้องต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งแล้วจะก่อให้เกิดอะไร ผมก็จะตอบว่า มันก่อให้เกิดความพ่ายแพ้ ผมคิดไม่ออกว่ามันคือชัยชนะ
อาจารย์มีข้อกังวลอะไรบ้าง ต่อการกลับมาของวาทกรรมหนักแผ่นดิน
ความอันตรายคือ เพลงนี้มันแปลงร่างเป็นเพลงทำนองแจ๊ส ผมคิดว่า ความอันตรายของการต่อสู้ทางอุดมการณ์แบบนี้ มันจะน่ากลัวมากถ้าคนฟังมันแล้วเคาะนิ้วตามจังหวะแบบสบายใจ มันจะอันตรายแล้วเพราะมันเข้าไปอยู่ข้างในคุณได้ง่าย
พอรับมันได้ง่าย ยาพิษก็เข้าถึงตัวได้เร็ว ถ้าผมพูดถูกว่า เพลงนี้เป็นเพลงแห่งความพ่ายแพ้ เพราะเป็นยาพิษที่ใส่เข้าไปในสังคมเวลานั้น แต่ตอนนี้มันกลายเป็นยาพิษที่เคลือบน้ำตาล คนก็กินเยอะ และทำลายเราได้มากขึ้น
อาจารย์มองปรากฏการณ์อนาคตใหม่ และกระแสนิยมของคุณธนาธรในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างไร
ผมคิดว่าหลายคนมักจะโยงกรณีของอนาคตใหม่เข้ากับ first time voter หรือคนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิต เราว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาแปดปี ซึ่งแปดปีที่ผ่านมานี้ จำนวนคนเจ็ดล้านคนก็มีความสำคัญ เขาเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง อันนี้ก็ยิ่งน่าสนใจไปใหญ่
ในงานวิจัยของ อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ พูดถึงการแยกขั้วแยกข้างที่อยู่บนเรื่องชนชั้น ความเป็นเมืองกับชนบท หรืออีกหลายประการ สิ่งที่น่าสนใจคือ อีกหนึ่งลักษณะของการแยกขั้วแยกข้างที่น่าสนใจมาก คือการแยกขั้วแยกข้างระหว่างวัยหรือเจเนอเรชั่น
มีการศึกษาว่า คนรุ่นใหม่หรือมิลเลนเนียลไม่ได้มองโลกเหมือนกับคนรุ่นก่อนแล้ว ผมเป็นคนสอนหนังสือ สมัยก่อนผมก็พยายามเข้าถึงนักศึกษาของผม แต่นับปีมาในระยะหลัง ผมรู้ว่าช่องว่าระหว่างผมกับนักศึกษาห่างออกจากกันเรื่อยๆ สิ่งที่ผมคิดว่าเคยเข้าถึงเขาในอดีต วันนี้ก็เข้าไม่ถึงแล้ว
ผมเป็นคนรุ่นโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์ แต่คนรุ่นนี้ไม่ได้ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ ชีวิตเขาอยู่รอบๆ โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนมากกว่า ถ้าคิดแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับอีกรุ่น
ผมคุยกับคนรุ่นใหม่เรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปี พวกเขาหัวเราะแล้วบอกว่า พวกเราคิดถึงอนาคตแค่ปีสองปีเท่านั้นเองอาจารย์ มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นเลย หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วพวกเขาเป็นใครที่จะมาบอกว่าอนาคตเราควรจะเป็นยังไง
พวกเขาก็ถามคำถามที่น่าสนใจมาก ตอนนี้มันยุ่งเข้าไปใหญ่อีก เพราะเราเอายุทธศาสตร์นี้ใส่ไปในรัฐธรรมนูญแล้วก็ล็อคไว้ แล้วรัฐธรรมนูญก็ถูกออกแบบมาให้แก้ยากมาก
ซึ่งพรรคอนาคตใหม่อยู่ในบริบทของสิ่งเหล่านี้ แล้วเขาก็มาพร้อมกับข้อเสนอบางอย่างที่ผมคิดว่า คนรุ่นผมอาจรู้สึกว่ามันไปไกลไป หรือน่ากลัวไปในหลายเรื่อง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้สึกแบบนี้ก็ได้
ตัวอย่างช่องว่างที่น่าสนใจก็คือว่า ในฝรั่งเศสมีการศึกษาที่พบว่าเด็กฝรั่งเศสในวันนี้มี 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เคยเห็นวัวตัวเป็นๆ จริงๆ คนรุ่นนี้ใช้เวลาไม่เหมือนกับผม วิธีคิดเรื่องเวลาคือเขาต้องเร็ว อีกอันนึงที่ผมบอกรุ่นผู้ใหญ่ให้รู้คือ พวกผู้ใหญ่คลอดมาจากท้องแม่เหมือนกัน แม่เจ็บท้องทั้งนั้น แต่รุ่นใหม่ก็คลอดมาแบบที่แม่ไม่ได้เจ็บท้องเพราะฉีดยา ความคิดเรื่องความทุกข์ ความสุข มันเปลี่ยนหมดแล้ว
แล้วอาจารย์เห็นความน่าสนใจอะไรในปรากฏการณ์นี้
ผมคิดว่าพรรคอนาคตใหม่น่าสนใจ คุณูปการสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ คือทำให้สังคมเห็นว่ามันมีคนจำนวนหนึ่งที่คิดแบบนี้ แล้วเอาของที่คนอาจจะคิดว่าไม่มี เอาขึ้นมาให้เห็นข้างบน
ผมอาจจะคิดไม่เหมือนกับใครนะ ผมเชื่อว่าระบบประชาธิปไตย มันไม่ใช่ระบบที่ทุกอย่างโปร่งใส ประชาธิปไตยมันทำงานโดยทำให้ของบางอย่างที่เคยถูกแอบซ่อน ได้ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เอาของบางอย่างไปหลบไว้ก็มี มันเป็นทั้งสองอย่าง มันไม่ใช่ absolute transparency นี่คือความคิดของ อเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอร์วิลล์
อย่างที่ผมบอกว่า เพราะการเลือกตั้งมันเป็นเกม ดังนั้น เมื่อผมไม่ชอบคุณ แต่เกมต้องมีมารยาทกับคุณในการต่อสู้แบบนี้ ยกตัวอย่างในรัฐสภาอังกฤษเวลานักการเมืองทะเลาะกัน เวลาประธานสั่งให้หยุดเขาก็หยุด ไม่ได้เพราะเขาอยากหยุด แต่เขาหยุดเพราะกติกา ประชาธิปไตยมันทำให้บางอย่างหลบเข้าไป และบางอย่างก็ปรากฎในเวลาเดียวกัน
พรรคอนาคตใหม่ก็ออกมาในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือว่า พรรคอนาคตใหม่นำประเด็นต่างๆ ซึ่งเดิมเคยอยู่ถูกแอบซ่อนอยู่ในซอกมุมของสังคมมาพูด ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา แต่เขาเอาขึ้นมาวางไว้ให้เห็นว่า ในสังคมไทยมันมีประเด็นแบบนี้อยู่
แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกกลัวว่าสิ่งที่เขาเคยเชื่อจะถูกทำลายไป
มันแหงเลย ผมไม่รู้ว่าพรรคอนาคตเขารู้ตัวรึเปล่านะ เวลาคุณเป็นตัวแทนของอนาคตอันใหม่ คุณสมบัติสำคัญของความเป็นอนาคตคือความไม่แน่นอน อนาคตคือความไม่แน่นอน ทุกอย่างที่อยู่ในอนาคต ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ชีวิตที่แท้จริงมันไม่ค่อยแน่นอนถ้าคิดจากอนาคต เพราะฉะนั้นใครบ้างจะไม่กลัวล่ะ เพราะฉะนั้นโลกของเรา มันจึงเป็นโลกที่ทำให้อยู่กับความไม่แน่นอนได้ แต่อนาคตใหม่กำลังเอาความไม่แน่นอนมาขาย จึงมีคนจำนวนมากรู้สึกหวาดกลัวอนาคตใหม่
แต่ก็มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะสนับสนุนความไม่แน่นอนนี้
ก็เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ไง สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว เขาไม่มีปัญหากับการเดินไปข้างหน้า และชีวิตเขาอยู่กับความไม่แน่นอนอยู่แล้ว สำหรับพวกเขาแล้ว ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมันเกิดขึ้นได้ ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกจริตเขาในความหมายนี้
แต่สำหรับคนรุ่นผู้ใหญ่อาจไม่แน่ใจ บางอย่างที่เขาเคยอยู่กับความแน่นอน พอมาเจอแบบนี้เข้าก็ยุ่งเหมือนกันนะ ถึงอย่างนั้น ผมคิดว่าคนรุ่นผู้ใหญ่ที่อาจจะไปโหวตให้กับอนาคตใหม่ก็โหวตเพราะเขาเห็นชัดว่า ในตัวตนของเขาไม่ใช่อะไร แต่ในสิ่งที่เขาสัญญานั้นเป็นของอนาคตทั้งสิ้น
สมมติเราเป็นทหาร พอคุณบอกว่าจะตัดงบทหารออก สิ่งที่เคยแน่นอนก็เดือดร้อน มันก็รู้สึกว่ามีปัญหาแล้ว แต่คนอีกจำนวนนึงก็คิดว่ามันก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะประเทศนี้มีงบทหารโตขึ้นเยอะพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณอย่างอื่น
พอเป็นแบบนี้แล้ว อาจารย์คิดว่าอะไรที่จะเป็นสิ่งอนาคตใหม่ต้องเป็นกังวล
ถ้าเขาสามารถผูกโยงกับคนที่จะไปลงคะแนนครั้งแรกได้ สิ่งที่จะเป็นอันตรายคือ popularity ของเขา เมื่อความเป็นที่นิยมยิ่งสูงมากขึ้น เขาก็จะถูกคู่ต่อสู้มองว่าเป็นภัยคุกคามมากขึ้น ถ้าเขามีระดับความนิยมน้อย เขาเป็นภัยคุกคามน้อย เขาก็ปลอดภัย
ปลอดภัยจากอะไร
ปลอดภัยจากการโจมตีในหลายๆ ลักษณะ ถ้าพรรคคุณใหม่แล้วไม่มีอะไร คุณก็ไม่ถูกโจมตี แต่เมื่อเขาโยงกับคนที่มองอนาคตและความไม่แน่นอนอีกแบบนึง เรื่องแบบนี้มันใหญ่พอที่จะทำให้ฝ่ายคู่ต่อสู้รู้สึกไม่สบายใจ
แต่สิ่งสำคัญก็คือว่า ที่เมื่อกี้เราบอกว่าการเลือกตั้งมันเป็นเกม เกมนี้มีผู้เล่นหลายคน เวลานี้ระบบเลือกตั้งของเรา กำลังเปลี่ยนเกมให้กลายเป็นสงครามระหว่างฝ่าย จับเอาพวกนี้ไปรวมเป็นพวกเดียวกัน พอเป็นแบบนี้ก็กลายเป็น คือจับเอาแต่ละกลุ่มเป็นพวกเดียวกัน พอเป็นแบบนี้มันเลยกลายเป็นตรรกะว่า ถ้าไม่ใช่พวกกู ก็ต้องเป็นพวกมึง เป็น us and them ซึ่งเรื่องนี้มันใช้ในกรณีที่เกิดสงคราม มันจึงทำลายเกมประชาธิปไตยในความหมายนี้
จริงๆ คือรัฐบาลออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีพรรคการเมืองจำนวนมาก แต่ลักษณะการแยกขั้วที่เกิดขึ้น กำลังไปกดทับสิ่งที่รัฐบาลออกแบบมาเองอีกที
ผมกำลังหมายความว่า การมีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งกว่า 50 พรรคมันอาจจะดีก็ไ้ด้นะ ต่างคนต่างไปคนละทิศคนละทาง แล้วก็มีทางเลือกให้ประชาชนเยอะแยะไปหมดเลย ไม่จำเป็นต้องอยู่กับประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยอีกต่อไป เพราะมีสิ่งอื่นให้ซื้อ แต่จากการแยกขั้วที่เกิดขึ้น มันกำลังทำลายความหลากหลายซึ่งอยู่ในระบบประชาธิปไตยของเรา
มันถูกมัดรวมแล้วก็เหมาว่าเป็นแบบนี้ และถูกบังคับด้วยความขัดแย้งเดิมที่สู้กันว่า ที่มองว่านี่คือฝ่ายทักษิณ กับอีกฝ่ายนึง อันนี้อันตราย
อาจารย์มองอย่างไรต่อการสนามเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเป็นนายกฯ อีกสมัย ตอนนี้ก็มีทั้งคนที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยจริงๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่านี่คือการสืบทอดอำนาจ
เวลาเราพูดถึงความขัดแย้งยืดเยื้อ มันจะมีตัวแปรกว่า 50 ตัว แต่ลักษณะหนึ่งก็คือมันเป็นความขัดแย้งที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่มีทางออก ทีนี้ความซ้ำอาจทำให้คนรู้สึกว่าไม่มีทางออก ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงอาจทำให้คนรู้สึกว่ามีทางออก แต่ต้องพูดอย่างระมัดระวังว่า ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่รู้จะจริงหรือไม่จริง เพราะอาจเป็นแค่เปลี่ยนคนนิดหน่อยกับไม่เปลี่ยน
เอาเข้าจริง ผมคิดว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่งนั้น คนที่จะเหนื่อยก็คือท่านเอง เพราะท่านก็ทำงานมาสี่ห้าปี เวลาที่ผ่านมาความเครียดที่อยู่ในตัวสังคมมันก็มากขึ้น มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ เมื่อเป็นแบบนี้ มันก็โถมทับลงบนอันใหม่
พอผ่านการเลือกตั้ง คนก็จะตั้งความหวังถึงฉากใหม่หรือความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ แต่อันนี้เรามีคนเดิม ซึ่งโอกาสที่ท่านจะเปลี่ยนคงยากมาก เพราะท่านเป็นทหารมาก่อน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นนายกรัฐมนตรีโดยเป็นหัวหน้า คสช. อยู่ ฉะนั้น ตัวตนของท่านก็ตรงไปตรงมาว่าเป็นทหาร แล้วท่านไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง
ถามว่าเรามีทหารที่เป็นนักการเมืองไหม เราก็มี คุณ ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ผ่านอะไรมาเยอะแยะ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ยากขึ้นในความหมายนี้สำหรับตัวเขาเอง
หมายความว่าถ้าเป็นผู้นำคนเดิม ความขัดแย้งก็จะยืดเยื้อต่อไปอย่างนั้นรึเปล่า
คือต่อให้เป็นคนใหม่ ความขัดแย้งก็ยืดเยื้อแน่นอนอยู่แล้ว ผมดูจากข้อมูลที่เป็นอยู่ หรือดูจากโทรทัศน์บางช่องก็ยังอธิบายความขัดแย้งในลักษณะ us and them กันอยู่ มันเป็นตัวแทนของประเทศในเวลานี้ซึ่งลักษณะแยกขั้วค่อนข้างสูงมาก แล้วมันก็ไปพันกับอัตลักษณ์ที่ยอมกันไม่ได้ พอยอมกันไม่ได้ โอกาสที่จะเป็นอันตรายที่สูงขึ้น
คือถามว่าดีไหมที่จะเกิดการเลือกตั้ง มันก็ต้องเกิด มันผ่อนความขัดแย้งลงไปได้ แต่มันแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เพราะมันติดกับรัฐธรรมนูญอยู่ แล้วรัฐธรรมนูญนี้มันก็แก้ยาก พอเป็นแบบนี้ ถ้าอยากจะเปลี่ยนเกมต้องทำยังไง มันก็จะอาจจะวิ่งไปที่การฉีกรัฐธรรมนูญ
ถ้าพูดจากมุมการวิเคราะห์สถาบันการเมือง ถ้าความสัมพันธ์ทางอำนาจของสถาบันทั้งหลายมันทำงานในลักษณะที่พอๆ กัน แล้วเข้าใจว่ากำลังเล่นเกมอะไรกันอยู่ ผมก็เข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงมันก็พอจะเป็นไปได้อย่างเรียบ แต่ถ้ามันไม่ มีฝ่ายที่ไม่ยอมและต้องปะทะ มันก็ต้องเปลี่ยนกันอีก โอกาสที่จะเกิดปัญหาต่อไปก็ยังมีอยู่เยอะ
คีย์เวิร์ดอันนึงที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ คือคำว่าความหวัง หลายคนอยากไปเลือกตั้งเพราะอยากเปลี่ยนอะไรบางอย่าง แต่ก็มีคนบอกว่าไม่ได้มีความหวังอะไรแล้ว เพราะการเมืองมันถูกล็อคอนาคตด้วยยุทธศาสตร์ต่างๆ เต็มไปหมด
ผลอย่างหนึ่งของความขัดแย้งยืดเยื้อ คือทำให้คู่ขัดแย้งอยู่ในลักษณะที่เหมือนติดกับ แล้วพอติดกับ ออกไม่ได้ พอออกไม่ได้ก็ไม่มีความหวัง
การเลือกตั้งมันน่าสนใจตรงที่ว่า มันมาพร้อมกับความหวัง บางคนอาจจะบอกว่าเอานโยบายมาขาย แต่ผมเชื่อว่านี่คือการขายความฝันนะ แล้วคนต้องการความฝัน เพื่อที่จะรู้สึกว่ามีความหมายที่จะอยู่ต่อไปในอนาคตได้ การเลือกตั้งก็เลยสำคัญในลักษณะนี้
ท้ายสุดแล้วในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราควรมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลักษณะแบบไหนดี
เราไม่ได้บอกว่า เราต้องเห็นแย้งกันน้อยลง แต่เราต้องเห็นแย้งกันให้ดีขึ้น ถ้าเราสามารถทำให้เป็นเช่นนี้ได้ อนาคตของประเทศนี้ก็จะน่าสนใจ ถามว่าทำยังไง ก็มีคำอธิบายบอกว่า ปัญหาประการหนึ่งในโลกที่แยกขั้วกันคือ มาถึงจุดนึง นอกจากเราเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูแล้ว เรายังเห็นอีกหลายเรื่อง เช่น ตัวเราถูกอยู่ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายผิดหมดเลย ตัวเราเป็นเทวดา อีกฝ่ายเป็นคนชั่วร้าย ความคิดพวกนี้มีปัญหา เพราะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ความเป็นจริงคือไม่มีใครชั่วร้ายหมด ไม่มีใครดีหมด
ถ้าเราสามารถเห็นโลกในแบบที่เป็นจริง ไม่ใช่เห็นโลกในฝันของตัวเองที่เป็นอันตรายแบบนี้ เราก็จะเห็นว่า คนที่กระโดดเข้ามาในแวดวงการเมือง เขาอาจจะมีรอยเปื้อนบ้าง เราก็อย่าไปดูถูกเขา เวลาเราดูถูกเขา มันหมายความว่าเราคิดว่าเขาไร้ค่า ซึ่งในการเลือกตั้งนั้น คุณไม่สามารถมองว่าคู่ต่อสู้ของคุณไร้ค่า
ชัยชนะของคุณมีความหมาย เพราะคุณมีคู่ต่อสู้ คู่ต่อสู้จึงมีค่าเป็นบ้าเลยในเกมนี้