เวลาพูดถึงคำว่า ‘การเลือกตั้ง’ หลายคนอาจคิดว่าการเลือกตั้งทุกครั้งเหมือนกัน
แต่นั่นคือปัญหาของการใช้ภาษา เพราะเรามักจะตีขลุมไปเองว่า คนอื่นใช้คำแต่ละคำนั้นด้วย ‘นัย’ และ ‘ความหมาย’ ที่เท่าเทียมกันกับเรา เช่น เวลาคนพูดว่า ‘สีเขียว’ เราอาจมีภาพของสีเขียวในหัวเราขึ้นมา แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่า เขาหมายถึงสีเขียวแบบไหนกันแน่ ต้องระบุเป็นแพนโทน เป็นรหัส CMYK หรืออะไรทำนองนั้น ถึงจะพอบอกโทนได้ แต่กระนั้น ถ้าหน้าจอของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สีที่เห็นก็อาจไม่เหมือนกันอีก
คำว่า ‘การเลือกตั้ง’ ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน คำว่า ‘การเลือกตั้ง’ อาจเป็นงาช้างในปากสุนัข หรือเป็นคำพูดจริงจังที่ตั้งมั่นจะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสมอภาคเท่าเทียมกันในทุกมิติก็ได้ เวลาพูดถึงการเลือกตั้ง เราแต่ละคนจะมีนัย (implications) เกี่ยวกับคำนี้ผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด ซึ่งเป็นไปตามต้นทุนและความคุ้นชินเดิมของเรา
แต่การเลือกตั้งไม่ได้มีแบบเดียว อย่างเช่น การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทย เราคงปฏิเสธไม่ได้นะครับ ว่ามันเป็นการเลือกตั้งแบบที่เรียกว่า ‘การเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจนิยม’ ซึ่งคำนี้เป็นไปตามการศึกษาของคุณเจนนิเฟอร์ คานธี (Jennifer Gandhi) จากมหาวิทยาลัย Emory ในแอตแลนต้า จอร์เจีย และคุณเอลเลน ลัสต์-โอคาร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ในคอนเน็กติกัต
งานของทั้งคู่ คืองานที่ชื่อ Elections Under Authoritarianism ทั้งคู่เป็นนักรัฐศาสตร์ ที่มาจับมือกันศึกษาเรื่องของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใต้อำนาจเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การเลือกตั้ง’ กับ ‘ประชาธิปไตย’
พูดแบบนี้ หลายคนอาจจะงงๆ เล็กน้อย เพราะหลายคนอาจเห็นว่า ‘การเลือกตั้ง’ เป็นสิ่งเดียวกับ ‘ประชาธิปไตย’ อยู่แล้วโดยอัตโนมัติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง การเลือกตั้งเป็น ‘สัญลักษณ์’ ของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่จะทำให้เรื่องนี้ชัดขึ้น ก็ต้องย้อนกลับไปหาคำถามแรกของเราก่อน คือ คำว่า ‘การเลือกตั้ง’ ของเราแต่ละคน หมายถึงสิ่งเดียวกันหรือเปล่า
หลายคนอาจแบ่งการเลือกตั้งออกเป็นสองแบบ คือการเลือกตั้งที่สะอาดบริสุทธิ์ กับการเลือกตั้งที่สกปรกโสโครกอัปยศ แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าการเลือกตั้งในโลกมีแค่สองแบบนี้เท่านั้น เพราะการเลือกตั้งก็เหมือนกันกับเรื่องอื่นๆ ในโลกนั่นแหละครับ คือมันมีลักษณะเป็น continuum หรือเป็นเส้นสเปคตรัมที่มีองค์ประกอบต่างๆ มากมายรายเรียงกันไปเป็นเฉดสี อาจเป็นเขียวเข้มเขียวอ่อนเขียวอมเหลืองอมม่วงอมเทาก็ได้ การคิดว่าการเลือกตั้งหนึ่งๆ ‘ดี’ หรือ ‘ได้มาตรฐาน’ หรือ ‘เหมาะสมกับสังคม’ มากกว่าอีกการเลือกตั้งแบบอื่น จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
แน่นอน การเลือกตั้งที่อยู่ตรงปลายสุดของเส้นสเปคตรัมด้านมืดก็มีอยู่ เป็นการเลือกตั้งสกปรกโสโครกที่เกิดจากสำนึกและสันดานชั่วช้าของเผด็จการอำนาจนิยมอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกให้เราเห็นเป็นบทเรียน จนหลายคนคิดว่าไม่น่ามีเผด็จการคนไหน ‘กล้า’ ลุกขึ้นมาโกงหรือจัดการเลือกตั้งอัปลักษณ์พิสดารอย่างโจ๋งครึ่มอีกต่อไป เพราะผลลัพธ์ของการเลือกตั้งสกปรกโสโครกนั้น มักเลวร้ายอย่างคาดไม่ถึงเสมอ
แต่ก็ไม่แน่ – หลายคนอาจจะออกมาค้าน เพราะเผด็จการหน้าโง่ก็มีให้เราเห็นถมไป เผด็จการหน้าโง่มักพากงล้อประวัติศาสตร์บาดแผลหมุนย้อนกลับสู่สังคมเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า ในโลกนี้จะมีเผด็จการทำนองนี้ให้เราเห็นเป็นบุญตา (หรือบาปตา) อยู่อีกหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้จะพูดถึงการเลือกตั้งครั้งไหนในประเทศอะไรเป็นการเฉพาะเจาะจงนะครับ แต่เนื่องจากเรากำลังจะมีการเลือกตั้งอยู่รอมร่อ ก็เลยอยากชวนคุณมาดู ‘ความหมาย’ เบื้องต้นของคำว่า ‘การเลือกตั้ง’ เสียหน่อย และเนื่องจากเราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยอยู่ใต้การปกครองที่มาจากรัฐประหาร มีทหารปกครองประเทศอยู่ (ต่อให้เป็นคุณประยุทธ์ก็ต้องยอมรับเรื่องนี้นะครับ) การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจึงจัดได้ว่าเป็นการเลือกตั้งแบบ Elections Under Authoritarianism ได้เต็มปาก
คำถามก็คือ แล้วการเลือกตั้งทำนองนี้มันเป็นอย่างไร ทำไมถึงเกิดขึ้น และเกิดขึ้นมาแล้วมันเกี่ยวข้องกับความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ มากน้อยแค่ไหน
สหประชาชาติให้คำจำกัดความของ ‘การเลือกตั้งที่จริงแท้และเป็นประชาธิปไตย’ (Genuine Democratic Elections) เอาไว้ในคำประกาศหลักการของการสังเกตการณ์การเลือกตั้งในระดับนานาชาติ ว่า, การเลือกตั้งที่จริงแท้และเป็นประชาธิปไตย คือการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยอันเป็นของประชาชนในประเทศ การแสดงออกอย่างเสรีของเจ้าของประเทศเหล่านี้ จะสร้างรากฐานให้กับการใช้อำนาจและการใช้กฎหมายของรัฐบาล โดยสหประชาชาติเน้นย้ำด้วยนะครับ ว่าการเลือกตั้งท่ี่จริงแท้และเป็นประชาธิปไตยนั้น จะต้องตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ (Human Rights) ซึ่งเรื่องพื้นฐานหนึ่งในสิทธิมนุษยชนก็คือสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้ง เพราะเลือกตั้งคือกลไกแบบสงบสันติ ในอันที่จะทำให้ ‘อำนาจทางการเมือง’ ทั้งหลายได้มาแข่งขันช่วงชิงกัน แต่ไม่ได้ลุกขึ้นมาตีรันฟันแทงฆ่าแกงกัน ดังนั้น การเลือกตั้งที่แท้จริงและเป็นประชาธิปไตย จึงควรเป็นกระบวนการที่เป็น ‘ใจกลาง’ ของความสงบสุขและความมั่นคงหรือมีเสถียรภาพของประเทศมากยิ่งกว่าการมีเรือดำน้ำหรือมี ม.44
การเลือกตั้งแบบจริงแท้และเป็นประชาธิปไตย คือเงื่อนไขจำเป็นที่จะทำให้เกิดการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Governance) เนื่องจากมันคือกระบวนการหรือเป็นตัวกลางเหมือน ‘พาหนะ’ ที่ทำให้ประชาชนของประเทศนั้นๆ ได้แสดงออกซึ่งเจตจำนงของตัวเองบนฐานของกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ กระบวนการจัดการเลือกตั้งของประเทศหนึ่งๆ จึง ‘สะท้อน’ ให้เห็นถึงว่าประเทศนั้นๆ มี ‘สำนึก’ ต่อการเลือกตั้งที่จริงแท้และเป็นประชาธิปไตยตามนัยของสหประชาชาติมากแค่ไหน
คำถามของผมก็คือ – แล้วถ้าการเลือกตั้งนั้นมัน ‘ปลอม’ และมีความเป็นประชาธิปไตยน้อย ก็แล้วต้องน้อยแค่ไหนเล่า ที่เราควรจะขีดเส้นบอก – ว่านี่ไม่ใช่ ‘การเลือกตั้ง’ อีกต่อไป
คุณเจนนิเฟอร์ คานธี บอกไว้ในงานเขียนเชิงวิชาการอีกชิ้นหนึ่งซึ่งมีชื่อน่าสนใจไม่แพ้กัน คือ Cooperation, Cooptation, and Rebellion under Dictatorships ว่าเธอนิยามคำว่า ‘เผด็จการ’ ง่ายๆ ว่าหมายถึงผู้ครองอำนาจ โดยไม่สามารถถูก ‘ปลดย้าย’ (remove) ออกจากตำแหน่งได้โดยการที่ผู้คนลงคะแนนเสียง หมายถึงว่า คนไม่สามารถ ‘ไม่เลือก’ เผด็จการ หรือโหวตออกได้ เพราะเผด็จการ ‘บังคับเลือก’ ที่จะอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ โดยใช้อำนาจอื่น ดังนั้น อำนาจอธิปไตยจึงไม่ใช่ของปวงชน แต่เป็นของคนที่สถาปนาตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม เผด็จการไม่ได้เหมือนกันไปหมด เผด็จการบางคนก็เป็นเผด็จการแท้ๆ บริสุทธิ์แบบข้ามาคนเดียว (Purely Autocratic) คือปกครองด้วยตัวคนเดียวโดยใช้อำนาจเด็ดขาด ไม่ต้องมีสถาบัน สภา หรือรัฐธรรมนูญอะไรมาวุ่นวาย แต่กระนั้นก็ยังมีเผด็จการอื่นๆ อีกหลายแบบที่ซับซ้อนกว่านั้น คือต้องร่วมมือกับคนอื่นๆ และกระทั่งร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามในบางระดับ เพื่อไม่ให้เกิดการขบถ (Rebellion) ขึ้นมา อันจะทำให้ตัวเองตกจากการเถลิงอำนาจนั้นๆ
นักวิชาการหลายคนมองว่า การที่เผด็จการหลายคนจำเป็นต้องจัดเลือกตั้ง ก็เพราะอยู่การเลือกตั้งจะเป็น ‘เครื่องมือเชิงสถาบัน’ (Institutional Tool) อย่างหนึ่ง ที่เผด็จการจำเป็นต้องใช้ให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไป โดยเครื่องมือที่ว่านี้มีหลายเป้าหมายด้วยกัน
เป้าหมายแรกก็คือใช้เพื่อประสาน (Coopt) กับคนบางกลุ่มในสังคม ซึ่งมักเป็นคนกลุ่มที่มีอำนาจ เช่น กลุ่มคนชั้นสูงหรืออภิชน (Elites), นักการเมืองที่อยู่มาเก่าก่อนและอยากสวามิภักดิ์ หรือกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีอำนาจในสังคม เช่น กลุ่มทุนหรือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางทางการเมืองบางอย่าง
คน ‘ชั้นสูง’ ในอดีตอาจเป็นขุนน้ำขุนนาง แต่ในปัจจุบัน อภิชนกลายร่างกายเป็นคนจำพวกอริสโตแครต (Aristocrats) ที่เข้าไปร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการแทน คนเหล่านี้หลายคนทำไปเพราะคิดว่าตัวเองหวังดีกับประเทศ รวมทั้งเห็นว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถ (และ/หรือ ความดี) เหนือคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงอยากเข้าไปมีอำนาจ จะได้ยื่นมือลงมาช่วยให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ดีมีสุขมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้ขาดความสามารถในการมองเห็นความจริงในสังคม เพราะฝังตัวอยู่ในฟองสบู่ของอำนาจ จนไม่อาจสัมผัสรับรู้ความเป็นจริงได้ หลายคนจึงมองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของตัวเอง รวมไปถึงขาดความสามารถที่จะเห็นว่าตัวเองกำลังสนับสนุนเผด็จการอยู่
การเลือกตั้งเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายดายที่สุด ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับอภิชนเหล่านี้ได้อยู่ในอำนาจต่อไป รวมทั้งเป็นวิธีที่จะ ‘แพร่อำนาจ’ ไปให้คนชั้นสูงหรืออริสโตแครตเหล่านี้ผ่านคะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้ง เพราะเมื่อคนเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในคณะเผด็จการแล้ว ดวงตาที่ย้อมสีเห็นว่าตัวเองดีกว่า ฉลาดกว่า และเหนือกว่าคนอื่นๆ ก็ย่อมจะทำให้เห็นไปด้วยว่า จะต้องมีการออกแบบการเลือกตั้งที่ ‘ยุติธรรม’ และ ‘มีประสิทธิภาพ’ แก่กลุ่มตัวเอง ไม่ใช่แค่ยุติธรรมหรือมีประสิทธิภาพแบบทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น บ่อยครั้งจึงเกิดการออกแบบการเลือกตั้งที่ ‘บิดเบี้ยว’ ไปได้อย่างมากเมื่อมองจากสายตาของ ‘การเลือกตั้งที่จริงแท้และเป็นประชาธิปไตย’ แต่จะไม่บิดเบี้ยวอะไรเลยเมื่อมองจากสายตาของอภิชนเหล่านี้
เผด็จการยังใช้การเลือกตั้งกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย เพราะในการเลือกตั้งย่อมต้องมีหลายภาคส่วน เมื่อเกิดการเลือกตั้ง ฝ่ายตรงข้าม (ที่มีอยู่หลายๆ ฝ่าย และมักไม่มีอำนาจอยู่ในมือ) ก็ต้องต่อสู้กันเองเพื่อเรียกคะแนนเสียง แม้ฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดจะเป็นคู่แข่งกับเผด็จการ แต่เมื่อเกิดการเลือกตั้งขึ้นก็ต้องเปิดศึกหลายด้าน คือรบกับเผด็จการที่ครองอำนาจอยู่ และรบกันเองไปด้วย
แต่ถ้าย้อนกลับมาดูเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยม เราจะพบว่าเผด็จการมี ‘ทุน’ ในทุกทาง ทั้งทุนทางอำนาจ เพราะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง รวมไปถึงทุนในการสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกฎเกณฑ์เรื่องผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ
เจนนิเฟอร์ คานธี และคณะ บอกว่า ด้วยการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ เผด็จการก็ได้สร้าง ‘โครงสร้างการแข่งขันที่ถูกแบ่งแยก’ (Divided Structures of Contestation) ขึ้น คือแบ่งกลุ่มคน (เช่นผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง หรือกลุ่มคนอื่นๆ ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจ) ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่เป็น ‘คนนอก’ (Outsiders) ซึ่งอาจเป็นนักการเมืองที่ลงรับสมัครเลือกตั้งก็ได้ โดยคนกลุ่มนี้จะถูกกีดกันออกไปจากวงของอำนาจ เช่น เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถหาเสียงได้เพราะมีกฎหมายบางอย่างค้ำคออยู่ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ ‘คนใน’ (Insiders) ที่จะต้อง ‘ลงทุน’ กับเผด็จการอำนาจนิยมนั้นไม่น้อย ถึงจะได้เป็นคนใน แต่เมื่อเป็นคนในแล้ว ก็จะได้รับสิทธิพิเศษในการแข่งขันหลายอย่าง โดยการแบ่งที่ว่านี้อาจแบ่งต่อไปได้อย่างสลับซับซ้อน เช่น กลุ่มที่เป็น ‘คนใน’ ก็อาจมีการแบ่งออกไปได้อีกหลายชั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
นอกจากนี้ เผด็จการยังสามารถใช้การเลือกตั้งที่ตัวเองจัดขึ้น เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ด้วย เช่น ดูว่าใครเป็นใคร ใครอยู่ฝั่งไหนบ้าง การเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมแข่งขันกันหลายๆ พรรค จะทำให้เผด็จการระบุได้เลยว่าใครอยู่ตรงไหน ฐานที่มั่นของทั้งฝ่ายตัวเองและฝ่ายตรงข้ามอยู่ตรงไหน สายป่านใครเป็นอย่างไรบ้าง รวมไปถึงคนของฝั่งตัวเองด้วย ว่าใครมีความภักดีแค่ไหน มีความสามารถมากน้อยอย่างไร แล้วค่อยนำข้อมูลที่ได้มาประเมินเพื่อ ‘จัดการ’ ภายหลัง หลังจากที่เผด็จการหวนคืนสู่อำนาจหลังเลือกตั้งแล้ว
ประโยชน์ของการเลือกตั้งสำหรับเผด็จการ จึงมีสองเรื่องใหญ่ๆ นั่นคือการ ‘จัดการ’ (ในความหมายของ management) กับพันธมิตรที่เป็นคนชั้นสูงในสังคม และ ‘จัดการ’ (ในความหมายของการกำจัดหรือลดอำนาจ) ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งยิ่งทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีข้อมูลอยู่ในมือ รวมทั้งได้วางหมากวางกลไกในการเลือกตั้งเอาไว้แล้วล่วงหน้าเพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะ
คำถามก็คือ การเลือกตั้งแบบนี้มีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน?
หลายคนอาจคิดว่า คำตอบก็คือไม่มีแน่ๆ แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว เราจะพบว่าคำตอบไม่ได้มีคำตอบเดียว นักวิชาการบางคนมองว่า การเลือกตั้งที่ถูก ‘ออกแบบ’ โดยเผด็จการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเผด็จการ และท่ี่่สุดก็ทำให้เผด็จการได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง แต่บางคนก็มองว่า ตัวกระบวนการการเลือกตั้งเอง ไม่ว่าจะถูกออกแบบให้บิดเบี้ยวและห่วยแค่ไหน แต่มันก็จะสร้างกระบวนการ Democratization ขึ้นมาภายในตัวผู้คนลึกๆ ได้ จนอาจเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่การล่มสลายของระบอบการปกครองอำนาจนิยมได้ในภายหลัง เพราะการเลือกตั้งอาจทำให้เกิดรอยปริแตกภายในระบอบเผด็จการนั้นๆ จนนำไปสู่การล่มสลายของระบอบด้วยตัวของมันเอง รวมไปถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหลังเผด็จการปกครองประเทศนานๆ (และมีแนวโน้มจะคอร์รัปชั่น) รวมไปถึงการที่ผู้คนอยากปลดปล่อยตัวเองจากการกดหัวของเผด็จการ (ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน) ทั้งหมดนี้อาจทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปได้
ในจีน มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในยุคเก้าศูนย์ ทำให้เกิดสิ่งที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า Creeping Democratization หรือกระบวนการ ‘ค่อยๆ กลายเป็นประชาธิปไตย’ (เหมือนไม้เลื้อยที่ค่อยๆ เลื้อยขึ้นมา) คือการเลือกตั้งในระดับหมู่บ้าน ทำให้คนมองเห็นถึงอำนาจของตัวเองในอันที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองในระดับหมู่บ้าน แล้วในที่สุด ทัศนคติของคนเหล่านี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป กลายเป็นประชาชนที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (จนรัฐบาลจีนต้องเข้ามาจัดการ) ดังนั้น จึงเป็นไปได้เหมือนกันที่การเลือกตั้งอาจมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ของประชาชนที่มีต่อรัฐ เรียกว่าการเลือกตั้งอาจเป็นดาบสองคมสำหรับเผด็จการได้ด้วย
แต่ในอีกมุมหนึ่ง นักวิชาการอีกหลายคนเห็นว่า การเลือกตั้งโดยเผด็จการนั้น แม้บางครั้งจะก่อให้เกิดความคิดแบบประชาธิปไตยขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าการเลือกตั้งจะบ่อนเซาะเผด็จการอำนาจนิยมได้สำเร็จทุกครั้ง (ตัวอย่างของจีนนั้นเห็นได้ชัด) เพราะการออกแบบการเลือกตั้งที่ฉ้อฉล ซับซ้อน และเหลื่อมล้ำทางอำนาจในตัวของมันเอง ที่สุดแล้วอาจกลายเป็นเกราะกำบังของเผด็จการก็เป็นได้ เพราะสุดท้ายจะส่งผลให้คนของเผด็จการกลับเข้ามาครองอำนาจอีกอยู่ดี
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อจะเกิดการเลือกตั้งโดยเผด็จการ ก็คือเราต้องย้อนกลับมาดูที่นิยามโดยพื้นฐานเสียก่อนว่า กระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็น Genuine Democratic Elections หรือ ‘การเลือกตั้งที่จริงแท้และเป็นประชาธิปไตย’ มากแค่ไหน ผู้มีอำนาจที่จัดและออกแบบการเลือกตั้งมีสภาวะไร้ยางอายมากพอที่จะออกแบบการเลือกต้ังที่ฉ้อฉลเต็มไปด้วยกลโกงอันแนบเนียนมากแค่ไหน (น่าเสียดายที่ต้องบอกว่า รัฐบาลที่เป็นผู้จัดการเลือกตั้งแทบทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศ จะออกแบบการเลือกตั้งเพื่อเข้าข้างตัวเองเสมอ ไม่มากก็น้อย) และถ้าการเลือกตั้งนั้นไม่จริงแท้ ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย เราควรจะทำอย่างไร จะต่อสู้ด้วยวิธีไหน
อย่าเพิ่งมองว่า – การเลือกตั้งก็คือการเลือกตั้ง อย่าเพิ่งมองว่า – การเลือกตั้งทุกครั้งคือการเซ็ตค่ากลับมาที่ศูนย์อีกหน อย่าเพิ่งมองว่า – การเลือกตั้งคือการเฉลิมฉลอง, เพราะทุกการเลือกตั้งมีอคติลำเอียงแฝงฝังอยู่เสมอในกระบวนการออกแบบและโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยว การเลือกตั้งแต่ละครั้งจึงไม่เคยเหมือนกัน
บางทีถ้าเราตอบคำถามได้ว่า การเลือกตั้งหนึ่งๆ ถือเป็นการเลือกตั้งที่จริงแท้และมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
เราก็อาจจะตอบได้ด้วยว่า – การเลือกตั้งนั้นๆ จัดเป็นการเลือกตั้งได้หรือเปล่า
หรือเป็นเพียงการแสดงราคาถูก