ตั้งแต่ปีก่อน เรื่องที่เป็นจุดสนใจของสังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างมากก็คือ การตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่จักรพรรดิสละราชบัลลังก์ก่อน โดยตามธรรมเนียมแล้ว จักรพรรดิพระองด์เดิมจะต้องเสด็จสวรรคตก่อน พระองค์ใหม่ถึงค่อยขึ้นครองราชย์แทน ครั้งนี้จึงเป็นกรณีพิเศษที่สังคมญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่เพิ่งได้สัมผัส ทำให้มีการพูดคุยกันในสื่อต่างๆ ถึงอนาคตของประเทศและประชาชนชาวญี่ปุ่นหลังจากการสละราชบัลลังก์ ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ดูได้อ่านมาพอควรจนคิดว่าน่าสนใจจนอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังบ้าง
เท่าที่ดูกระแสความเห็นของประชาชนในสังคมญี่ปุ่น การสละราชบัลลังก์ดูจะเป็นเรื่องที่พวกเขามองไปทางแง่บวกกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าประชาชนก็เคารพในสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของพระองค์ เพราะไม่กี่ปีก่อนพระองค์เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดขยายเส้นโลหิตหัวใจ ทำให้การทรงงานลำบากขึ้นกว่าเดิม แต่เพราะราชภารกิจต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทรงพักผ่อนได้สะดวกนัก ทั้งการลงพระปรมาภิไธยในเอกสารจากรัฐบาล การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมถึงการมอบรางวัลต่างๆ เมื่อพระจักรพรรดิประกาศสละราชบัลลังก์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงรู้สึกยินดีที่พระองค์ทรงได้พักผ่อน และที่สำคัญคือ ครั้งนี้เป็นการตัดสินพระทัยของพระองค์ท่านเอง การสละราชบัลลังก์ครั้งนี้จึงสร้างบรรยากาศแง่บวกให้กับสังคมญี่ปุ่นได้ไม่น้อย
เมื่อมีการประกาศกำหนดการสละราชบัลลังก์ว่าเป็นวันที่ 30 เมษายน ปี 2019 ก็ทำให้สังคมญี่ปุ่นมีอีเวนต์ใหญ่รออยู่ข้างหน้าเพิ่มอีกหนึ่งงาน จากเดิมที่มีโตเกียวโอลิมปิก และการประกาศพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมะโกะ พระราชนัดดาองค์โตของสมเด็จพระจักรพรรดิ (ทีแรกจะจัดพิธีช่วงปลายปีนี้ แต่ล่าสุดออกมาประกาศว่าเลื่อนไปเป็นช่วงปี 2020 เพื่อให้ผ่านพิธีสละราชบัลลังก์ก่อน และต้องการเวลาเตรียมตัวที่มากขึ้น) กลายเป็นช่วงสองสามปีแห่งความตื่นเต้นและยินดีของ (ส่วนเรื่องการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ในปี 2019 นี่คนญี่ปุ่นคงไม่ค่อยตั้งตารอครับ)
แน่นอนว่างานใหญ่ระดับนี้ก็มีผลต่อตัวประชาชนญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน มีหลายรายการทีวีออกมาพูดถึงในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น รายการ TV Tackle ของ บีท ทาเคชิ ผู้กำกับคนดัง ที่จัดการถกกันว่า การสละราชบัลลังก์จะมีผลต่อประชาชนและสังคมอย่างไร ซึ่งก็น่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะทำให้เราได้ทราบแบ็คกราวด์ของสังคมญี่ปุ่นโดยอ้างอิงไปถึงการเปลี่ยนยุคสมัยรอบก่อนเลยทีเดียวครับ
เรื่องที่ใกล้ตัวชาวญี่ปุ่นมากที่สุดคงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรัชสมัยนี่ล่ะครับ เพราะปัจจุบันคือ ยุคเฮเซ เมื่อเปลี่ยนรัชสมัยก็ต้องเปลี่ยนชื่อเรียก ซึ่งผมเองก็เพิ่งรู้ว่ามีเงื่อนไขเล็กน้อยในการตั้งชื่อรัชสมัยใหม่ด้วย เพราะตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในยุคเมจิ ก็ผ่านยุคไทโช โชวะ มาจนถึงยุคเฮเซในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเขียนในเอกสารด้วยตัวย่อ ก็จะเป็น M T S H ที่เวลากรอกปีแบบญี่ปุ่น เขาก็จะวงกลมตัวย่อที่ตรงกับรัชสมัยที่จะใช้ แล้วค่อยกรอกปีในรัชสมัยนั้น ตัวอย่างเช่น คุณนานามิ เกิดปี 1993 เวลากรอกเอกสารก็ต้องวงที่ H แล้วกรอก 5 หมายความว่าเกิดปี เฮเซที่ 5 นั่นเอง
ดังนั้นในการตั้งชื่อรัชสมัยครั้งต่อไปจึงมีข้อเสนอว่า ไม่ควรตั้งชื่อรัชสมัยที่ตัวย่อซ้ำกับ 4 ตัวเดิม โดยมีรายงานว่าตอนเสนอชื่อรัชสมัยรอบก่อน ก็มีการเสนอชื่อที่นำด้วยตัว S ทั้งนี้ก็โดนปฏิเสธไป เพราะจะไปซ้ำกับ S ของยุคโชวะนั่นเอง และในครั้งนี้ที่แตกต่างจากเดิมคือประชาชนทราบก่อนแล้วว่าจะมีการสละราชบัลลังก์ ก็จึงเป็นที่สนใจว่า รัชสมัยต่อไปจะใช้ชื่ออะไร แต่ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการประกาศชื่อรัชสมัยถัดไปก่อนการสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ ตรงนี้ก็ต้องรอดูต่อไปว่าเขาจะเลือกทางไหนกัน
นั่นคือเรื่องใกล้ๆ ตัว แต่ในส่วนที่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมอย่างเรื่องเศรษฐกิจ ก็มีความเห็นหลายมุมมองว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร แต่นักวิชาการก็มองได้อย่างน่าสนใจว่า ครั้งนี้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนรัชสมัยครั้งก่อนแล้ว บรรยากาศในสังคมครั้งนี้เป็นบวกมากกว่า เพราะในอดีตของการสิ้นสุดยุคสมัยโชวะในปี 1989 ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนรัชสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแตกจนกลายเป็นสองสิ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นต้องช็อค ราวกับเป็นการสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่น เหตุการณ์ในครั้งนั้นกระทบจิตใจของประชาชนเป็นอย่างมาก ส่งให้ญี่ปุ่นประสบภาวะเงินฝืดเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ จนได้ชื่อว่า The Lost Decades
เมื่อเทียบกับครั้งนี้ที่มีอีเวนต์ใหญ่สามงานรออยู่ ชาวญี่ปุ่นก็จะได้อยู่ในช่วงบรรยากาศรื่นเริงต่อไปยาวๆ เป็นเวลาเกือบสามปี การเปลี่ยนรัชสมัยครั้งนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความเศร้า แต่เป็นการสร้างความปีติยินดีในสังคม เพื่อที่พระจักรพรรดิพระองค์ก่อนจะได้ทรงพักผ่อนอย่างเต็มที่และทำในสิ่งที่พระองค์ชื่นชอบ เช่นการทรงเครื่องดนตรีชิ้นโปรดโปรดอย่างวิโอลา หรือการทรงเทนนิสอันเป็นที่รู้กันดีว่าพระองค์ทรงโปรดปรานเหลือเกิน รวมถึงการเดินเขา ที่มองกันว่าน่าจะทำให้เกิดการบูมในสังคมญี่ปุ่นได้เช่นกัน และทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์ เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
และเมื่อดูมูลค่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นหลังจากพ้นช่วง The Lost Decades มาได้ ที่หลังจากนั้นมูลค่าก็ค่อยๆ กระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ และมีสัญญาณดีขึ้นมาตลอด (ส่วนหนึ่งก็บอกว่าเป็นเพราะอาเบะโนมิกส์กำลังค่อยๆ ส่งผล) และสามอีเวนต์ใหญ่ในครั้งนี้ก็น่าจะส่งผลกระทบในแง่บวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเช่นกัน กลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสัมผัสยุคฟองสบู่มาก่อนก็เริ่มมองอนาคตในแง่ดีมากขึ้น ส่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากเกิดเงินฝืดมาเป็นเวลานาน
รวมไปถึงพิธีเสกสมรสของเจ้าหญิงมะโกะก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน เพราะทุกครั้งที่มีพิธีอภิเษกสมรสหรือเสกสมรสของราชวงษ์ ก็จะทำให้ตัวเลขของการจะทะเบียนสมรสเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน เนื่องจากบรรยากาศในสังคมชวนให้คนอยากมีความสุขมากขึ้น ธุรกิจเกี่ยวกับการสมรสและจัดเลี้ยงก็จะได้รับผลประโยชน์ รวมไปถึงเป็นโอกาสที่จะทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นด้วย ธุรกิจเกี่ยวกับเด็กหรือการตั้งครอบครัวก็จะได้จากตรงนี้ไป ช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้นกว่าเดิม จนนักวิชาการถึงกับมองว่า ตลอด 30 ปีของรัชสมัยเฮเซคือการสร้างรากฐานเพื่อกลับมาโตอีกครั้งของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
แต่ก็นั่นล่ะครับ ที่กล่าวไปคือมุมมองในแง่ดี ซึ่งอีกฝ่ายก็มองว่า ปัญหาของญี่ปุ่นในตอนนี้ก็เยอะเกินกว่าแค่คิดบวกแล้วอะไรๆ จะแก้ไขได้ แถมยังมีอีกสองประเด็นที่ต้องเอามาคิดให้หนักคือการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% อย่างที่ได้เรียนไป และอีกเรื่องหนึ่งคือ ในตอนนี้ทุกคนต่างก็ตื่นเต้นกับโตเกียวโอลิมปิกที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งมองกันว่าเป็นสัญญาณที่ญี่ปุ่นจะกลับมาผงาดแบบครั้งโตเกียวโอลิมปิกเมื่อปี 1964 แต่ก็ไม่ควรลืมว่า ในช่วงหลังมานี้ การจัดโอลิมปิกกลับกลายเป็นปัญหาให้หลายๆ ประเทศ ด้วยการใช้งบประมาณอย่างถล่มทลายไม่คุ้มค่า จนกลายเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจประเทศตัวเองให้ถอยหลังไปเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการจะมองว่าสังคมญี่ปุ่นจะพบแต่เรื่องน่ายินดี แล้วทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองได้ก็เป็นการมองอะไรที่ดูจะง่ายไปหน่อย
แต่อย่างน้อย ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน การที่สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันจะทรงได้พักผ่อนและทรงใช้เวลากับงานอดิเรก ก็น่าจะเป็นกำลังใจให้กับผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่น ชวนให้ออกไปใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบอย่างสดชื่นบ้างล่ะครับ