สภาวิศวกรเพิ่งจะมีมติเห็นชอบ ให้ใช้คำว่า ‘วศ.’ นำหน้าชื่อของผู้ที่เป็นวิศวกรนะครับ (ถึงแม้จะปล่อยให้ใช้กันตามสมัครใจ ไม่ได้เป็นคำนำหน้าชื่อตามกฎหมายก็เถอะ)
ไม่ต้องบอกก็คงจะรู้กันได้ง่ายๆ ว่า ไอ้เจ้าตัวย่อ ‘วศ.’ นี้ ก็คงจะย่อมาจากคำว่า ‘วิศวกร’ ส่วนใครที่ไม่เคยรู้จักสภาวิศวกรมาก่อน เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงเหล่านี้เช่นกันกับผม ก็โปรดจงรู้ไว้เถอะว่า ‘สภาวิศวกร’ ที่ว่า มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่วิศวกรควบคุม (ได้แก่ วิศวกรรมโยธา, ไฟฟ้า, เครื่องกล, อุตสาหการ, เคมี, สิ่งแวดล้อม และเหมืองแร่) หรือเพิกถอนใบอนุญาต รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม รวมทั้งรับรองความรู้ความชำนาญในการประอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมด้วย
แต่ยัง! ยังไม่หมดเท่านั้น สภาวิศวกร ยังทำหน้าที่เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนด และการเลิกสาขาวิศวกรรมควบคุม โดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ในฐานะสภานายกพิเศษอีกด้วย โดยทั้งหมดที่ว่ามานี้ อาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาแทนที่ พระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม ที่ออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 โน่นแล้ว
พูดง่ายๆ ว่า ‘สภาวิศวกร’ นั้น ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแทนที่ ‘คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม’ (กว.) ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติฉบับเก๋ากึ๊กเมื่อ พ.ศ. 2505 นั่นแหละ
ดังนั้นสภาที่ว่านี้จึงทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมาตรฐานของวิศวกรของประเทศโดยตรง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทำไมอยู่ๆ พวกพี่ๆ ในสภาแห่งนี้ เขาถึงอยากจะให้มีคำนำหน้าชื่อของวิศวกรขึ้นมา?
ตามเนื้อข่าว (อ้างอิงจาก www.bangkokbiznews.com) เขาอ้างคำให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ ‘เก๊าจะเอา!’ ของเลขาธิการสภาวิศวกรคนปัจจุบันเอาไว้ว่า
“เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารการปฏิบัติงานระหว่างวิศวกรและเพื่อเป็นการเชิดชู ยกย่องและเสริมสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพวิศวกรรม เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ที่มีการใช้คำนำหน้าชื่อ เช่น แพทย์ ทนายความ ทันตแพทย์ เป็นต้น”
ผมไม่แน่ใจนักว่า ในไซต์งานของวงการเขา จะไม่รู้กันเชียวหรือว่า พี่ๆ คนไหนเป็น ‘วศ.’ โดยไม่ต้องใช้คำนำหน้าชื่อ? แต่ออกจะชอบใจอยู่มากทีเดียวกับการที่ท่านเลขาธิการยอมรับแบบแมนๆ ไปเลยว่า ที่ให้ใช้คำหน้าชื่อก็เพื่อ ‘ความภาคภูมิใจในวิชาชีพ’ นี่แหละ
ความภาคภูมิใจในวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญนะครับ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าอย่างไรบ้าง พร้อมๆ ไปกับการเกิดทัศนคติที่ดีในการทำงานต่อเนื่องไปอีกสารพัด เรียกได้ว่า การสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดแน่
แต่การที่จะสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพนั้น จำเป็นที่จะต้องทำด้วยการใช้คำนำหน้าชื่อเท่านั้นจริงๆ หรือ?
บุคคลที่ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบิดาของอะไรหลายๆ อย่างในไทย ไม่ว่าจะเป็น บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย โบราณคดีไทย ไปยันกระทั่งมหาดไทย อย่าง พระสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยนิพนธ์ถึงอะไรที่คล้ายๆ กับคำนำหน้าชื่อในปัจจุบันนี้ (และบางทีก็ยาวเสียจนใช้ชื่อตำแหน่งนั้น เรียกแทนชื่อตัวมันเสียเลย ด้วยถือเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่ง) ซึ่งเรียกด้วยคำไทย ที่ยืมภาษาแขกมาสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘ยศ’ เอาไว้ในพระนิพนธ์ที่มีชื่อว่า ‘อธิบายว่าด้วยยศเจ้า’ (แน่นอนว่า ในสมัยของพระองค์เจ้าก็น่าจะมีทั้งยศและตำแหน่งให้อธิบายมากกว่าไพร่) นั้นมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ‘สกุลยศ’ และ ‘อิสริยยศ’
‘สกุลยศ’ นั้นก็คือ ยศที่แสดงให้เห็นว่า บุคคลนั้นเกิดมาเป็น ‘เจ้า’ ชั้นใด ซึ่งก็แสดงด้วยคำนำหน้าชื่อนี้เอง เช่น เจ้าฟ้า ก็คือพระราชโอรส หรือพระราชธิดาที่มีพระมารดามีราชสกุลเป็นเจ้า หรือพระราชนัดดา (หลาน) ที่พระมารดามียศเป็นเจ้าฟ้า ส่วนพระราชโอรส หรือพระราชธิดา อันเกิดแต่พระสนมก็มีสกุลยศเป็น พระองค์เจ้า ถัดจากนี้ไปก็เป็นสกุลยศ หม่อมเจ้า คือโอรสธิดาอันเกิดแต่ เจ้าฟ้า หรือพระองค์เจ้า ที่มารดา ไม่ได้มีสกุลยศถึงพระองค์เจ้า เรื่อยไปอย่างนี้ เป็นต้น
ไม่ต้องใช้ความพยายามมากก็คงจะสังเกตเห็นได้อย่างไม่ยากเย็นเลยว่า ‘สกุลยศ’ ที่แสดงออกผ่านคำนำหน้าชื่อเหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการจัดลำดับความสัมพันธ์ของเชื้อพระวงศ์ (และเอาเข้าจริงแล้วก็เป็นเครื่องมือในการบอกว่าใครที่นับเป็นเจ้า และใครที่ไม่นับเป็นเจ้าเลยด้วยต่างหาก ดังความในประกาศฉบับหนึ่งของรัชกาลที่ 4 ลงวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น 11 ค่ำ ปีชวด ฉศก ศักราช 1226 คือ พ.ศ. 2407 หากนับปีอย่างปัจจุบัน ห้ามเรียกหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง ว่า ‘เจ้า’ นั่นเลย)
ส่วน ‘อิสริยยศ’ นั้นสมเด็จฯ ท่านทรงจำกัดความไว้อย่างกระชับและเข้าใจง่ายดีว่า คือยศที่พระเจ้าแผ่นดินสถาปนาแต่งตั้งในทางราชการ หรือพูดง่ายๆ ว่าก็คือ ‘ชื่อตำแหน่ง’ ว่า เป็นใคร และมีหน้าที่ทำอะไร เหมือนเวลาเราไปติดต่อราชการแล้วจำเป็นต้องรู้แผนกที่ไปติดต่อว่า ควรติดต่อเจ้าหน้าที่คนไหน? ฝ่ายใด? มีตำแหน่งสูง-ต่ำ หรือทำอะไร? เท่านั้นแหละครับ
เอาเข้าจริงแล้ว คำนำหน้าชื่อเหล่านี้ แรกเริ่มเดิมทีที่สุดจึงมีหน้าที่ในการลำดับความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในสายเลือด (ไม่ว่าจะเลือดเจ้า หรือเลือดไพร่ ซึ่งเรียกนำหน้ากันด้วย ลุง ป้า น้า อา พี่ หรือน้องก็ตาม) และลำดับความสัมพันธ์ในองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ (อย่างในกรณี อิสริยยศ ที่กรมดำรงฯ ทรงใช้คำว่า ‘แต่งตั้งในทางราชการ’) นั่นเอง
ที่สำคัญก็คือ ลักษณะอย่างนี้ดูจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะสากล (คงเพราะการลำดับความสัมพันธ์ เป็นเรื่องที่จำเป็นในองค์กรต่างๆ) ส่วนเกียรติยศ หรือความภาคภูมิใจที่มาพร้อมกับคำนำหน้าชื่อนั้น เป็นผลพลอยได้ที่ตามมาทีหลัง ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ตำแหน่ง ‘อัศวิน’ (Knight) ของโลกตะวันตกที่มีคำนำหน้าว่า ‘เซอร์’ (Sir) นั้น ก็ยังมีพระราชทานจากกษัตรย์ตั้งแต่สมัยกลาง (หรือที่เดิมเรียกว่า ‘ยุคมืด’ หมายถึงช่วงหลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ไปจนบรรจบกับช่วงยุคมีการฟื้นฟูศิลปวิทยาการคือ ยุคเรอเนสซองส์) มาจนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ฝรั่งในสมัยนี้ที่ได้รับยศท่านเซอร์ ก็ไม่ได้มีใครต้องมาสวมเกราะเหล็ก และทำหน้าที่เป็นอัศวินจริงๆ เหมือนในสมัยโน้น
คำนำหน้าชื่อที่ดูจะพิเศษอยู่หน่อย เพราะไม่ได้ใช้ลำดับความสัมพันธ์ ก็คืออะไรที่ในสังคมไทยใช้คำนำหน้าชื่อว่า ‘นายแพทย์’ (นพ.) หรือ ‘แพทย์หญิง’ (พญ.) ซึ่งก็มีที่มาจากสังคมตะวันตก ที่จะมีคำว่า ‘M.D.’ (Doctor of Medicine) ห้อยท้าย เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับคนทั่วไป เช่น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบินโดยสาร หรืออะไรทำนองนี้ เป็นต้น
(ส่วนคำว่า ‘doctor’ ที่พี่ไทยเราแปลว่า ‘แพทย์’ หรือจะเรียกให้บ้านหน่อยว่า ‘หมอ’ จนทำให้เราสับสนว่าทำไมคนจบปริญญาเอกต้องเป็นหมอนั้น เดิมมาจากภาษาละตินที่สะกดอย่างเดียวกันมีความหมายว่า ‘ผู้สอน’ มีรากมาจากศัพท์ในภาษาละตินว่า ‘docte’ ซึ่งหมายถึง ‘ความชำนาญการ’ หรือ ‘ความฉลาด’ ดังนั้นคำว่า ‘Doctor’ นอกจากจะหมายถึง ‘หมอ’ แล้ว จึงมีความหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดของสาขาวิชาต่างๆ ที่มีตัวย่อว่า Ph.D. คือ ‘Doctor of Philosophy’ ห้อยท้ายในโลกตะวันตก แต่เอามาเติมเป็นคำว่า ‘ดร.’ นำหน้าชื่อในสังคมไท้ไทยของเรา อีกด้วยนั่นเอง)
ดังนั้นถ้าหากเราจะย้อนกลับมาดูที่ สภาวิศวกร ต้องการจะให้ ‘วิศวกร’ มีคำนำหน้าชื่อว่า ‘วศ.’ นั้น จึงดูจะไม่มีประโยชน์อะไรนัก นอกจากที่จะทำให้เกิด ‘ความภาคภูมิใจในวิชาชีพ’ อย่างที่ท่านเลขาธิการสภาฯ ให้สัมภาษณ์เอาไว้นั่นและนะครับ เพราะการแปะป้ายยี่ห้อไว้ว่าวิศวกรข้างหน้าชื่อ ก็คงจะช่วยอะไรใครไม่ทัน ถ้าอยู่ๆ ตึกจะถล่ม หรือเครื่องบินนึกจะตกขึ้นมา
คำถามเดิมๆ จึงย้อนกลับมาเช่นกันว่า แล้วเราจำเป็นต้องสร้างความภาคภูมิใจในวิชาชีพด้วยการประดิษฐ์คำนำหน้าชื่อ พวกนี้ขึ้นมาจริงๆ หรือ? ในเมื่ออีกด้านหนึ่งของ ‘ความภาคภูมิใจ’ พวกนี้ก็คือการยกตนเองให้สูงกว่าคนอื่น (พร้อมกันกับการที่ถีบคนอื่นให้ด้อยลงกว่าตนเอง)
ก็อย่างที่บอกนะครับว่า อันที่จริงแล้วเกียรติยศที่มาพร้อมกับคำนำหน้าชื่อนั้น มันเคยเป็นผลพลอยได้มากกว่าที่จะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องมีการระบุ ‘ยศถาบรรดาศักดิ์’ เหล่านั้น การประดิษฐ์คำนำหน้าชื่อเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจมันจึงดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก เพราะมีแต่จะสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่ควรจะเชื่อว่า ‘คนเท่ากัน’ อย่างสังคมประชาธิปไตย (เอิ่มม… ถึงแม้ว่าประเทศเราอาจจะยังไม่ใช่สังคมแบบนั้นก็เถอะ)
ที่สำคัญก็คือ เกียรติยศและความภาคภูมิใจอาจเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องสถาปนาขึ้นมาเอง