คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องเกือบทั้งหมดของเกม INFRA
ในบรรดามรดกตกทอดทั้งหลายจากบรรพชน ‘การทุจริตคอร์รัปชั่น’ ชื่อสมัยใหม่ที่กินความกว้างกว่า ‘ฉ้อราษฎร์บังหลวง’ เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ตั้งแต่เมื่อครั้งระบอบเศรษฐกิจสยามถูกผูกขาดโดยรัฐและชนชั้นสูง มาถึงยุคที่แบ่งเค้กผลประโยชน์กับชาวต่างชาติหลายเผ่าพันธุ์ ตั้งแต่ฝรั่ง จีน แขก ฯลฯ จนล่วงเข้ายุคโลกาภิวัตน์ ต้นศตวรรษที่ 21 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารประกาศ ‘ไทยแลนด์ 4.0’ เป็นวาระหลักในการพัฒนาประเทศ การทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังดูจะฝังรากซึมลึกทุกสถาบัน ทุกวงการ และวงศ์วานว่านเครืออยู่นั่นแล้ว
ในเมื่อคอร์รัปชั่นบิดเบือนการทำงานของรัฐไปเอื้อประโยชน์ส่วนตัวของใครบางคนหรือหลายคน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราทุกคนต้องจ่าย ‘ต้นทุน’ ของการคอร์รัปชั่นในแทบทุกมิติของชีวิต ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทางตรงและทางอ้อม ทางตรงอย่างเช่นการถูก ‘ไถ’ โดยตำรวจ เทศกิจ ศุลกากร หรือหน่วยงานที่เราจำเป็นจะต้องไปข้องเกี่ยว ทางอ้อมอย่างเช่นการต้องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงเกินจริง หรือทนกับสาธารณูปโภคและบริการของรัฐที่ด้อยคุณภาพ ไม่จำเป็น หรือแม้แต่ใช้การไม่ได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2008 พบว่า สินบนที่ประชาชนในทวีปเอเชียใต้ต้องจ่ายเพื่อให้รัฐมาต่อท่อประปาให้นั้น ทำให้ค่าก่อสร้างแพงขึ้นร้อยละ 15-20 แต่ที่แย่กว่านั้นอีกคือ สินบนทำให้ช่างประปาทำงานชุ่ยๆ และข้าราชการก็รับงานชุ่ยๆ เพราะอยากได้สินบน ส่งผลให้วัสดุก่อสร้างที่ต้องใช้ ‘สูญหาย’ ลึกลับระหว่างทาง ระบบประปาจึงมีอายุการใช้งานสั้นผิดปกติและส่งน้ำได้น้อยลง ประสิทธิภาพที่ด้อยลงนี้คิดเป็นต้นทุนร้อยละ 20 ของค่าติดตั้งท่อ เบ็ดเสร็จเท่ากับว่าคอร์รัปชั่นสร้างต้นทุนทั้งหมดถึงร้อยละ 25-45 ของราคาที่ประชาชนจ่าย เพิ่มค่าใช้จ่ายจาก 400 เหรียญสหรัฐฯ เป็น 500-580 เหรียญสหรัฐฯ
ไม่ใช่เงินน้อยๆ เลยสำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด
ในประเทศที่กลไกป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นไม่ทำงาน หรือทำงานแบบ ‘ปิดตาข้างหนึ่ง’ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมีแรงจูงใจที่จะจัดสรรทรัพยากรของประเทศตามโอกาสการทุจริตของตัวเอง ไม่ใช่ตามความต้องการของประชาชน งานวิจัยหลายชิ้นโดยเฉพาะ พอล มอโร (Paul Mauro) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ชี้ชัดว่า รัฐบาลของประเทศที่คอร์รัปชั่นรุนแรงจะอยากสร้างแต่โครงการขนาดใหญ่ (megaprojects) ที่มีมูลค่าการก่อสร้างสูงลิ่วและ ‘ดูดี’ อาทิ เขื่อนขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ หรือการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ราคาแพงอย่างเรือดำน้ำ (ที่ไม่เคยมีคำอธิบายอย่างชัดแจ้งว่าจำเป็นอย่างไร) หรือเรือเหาะ (ที่ไม่เคยบินได้) มากกว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดูหวือหวาน้อยกว่า แต่สำคัญต่อการพัฒนาระยะยาวมากกว่า อย่างเช่นโรงเรียนและโรงพยาบาล ยังไม่นับว่าคอร์รัปชั่นทำให้งานออกมา ‘ชุ่ย’ ได้โดยไม่มีใครรับผิดชอบ เพราะผู้มีอำนาจสนใจแต่ว่าตัวเองจะได้สินบนเท่าไร (และถ้าไม่อนุมัติให้งานผ่าน ก็จะไม่ได้สินบนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย)
ในเมื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่ไม่มีใบเสร็จ จุดเริ่มต้นของการสอบสวนกรณีทุจริตอย่างเป็นทางการจึงมักจะเป็นการสังเกตว่ามี ‘อะไรไม่ชอบมาพากล’ ในประเด็นที่คนโกงไม่ได้ระวังเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก หรือคิดเข้าข้างตัวเองว่าไม่มีใครกล้าจับผิด เช่น การที่ชื่อคนใช้หรือคนขับรถโผล่เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทใหญ่ การที่ชื่อบริษัทบริษัทเดียว ทุนจดทะเบียนนิดเดียวและเพิ่งจดทะเบียนไม่นาน โผล่ว่าได้งานรัฐหลายงาน การใส่นาฬิกาแพงเป็นสิบๆ เรือนที่ไม่ได้แจ้งว่าเป็นทรัพย์สินตอนเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น
เรื่องที่ดูเผินๆ เหมือนเป็น ‘เรื่องเล็ก’ เหล่านี้ บางครั้งจึงเป็น ‘เบาะแส’ สำคัญที่สามารถชี้มูลเชื่อมโยงไปถึงกรณีทุจริตขนาดใหญ่ รวมถึงคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายได้
INFRA เกมแรกของโลกที่ให้เราเล่นเป็นวิศวกรโครงสร้าง (structural engineer) บริษัทต้นสังกัดส่งเราไปบันทึกภาพความล้มเหลว ผุพัง และปัญหาอีกมากมายของเขื่อน โรงงาน โรงไฟฟ้า สถานีรถไฟใต้ดิน และสาธารณูปโภคอื่นๆ ใน สตาลเบิร์ก (Stalburg) เมืองอุตสาหกรรมในจินตนาการขนาดใหญ่ในยุโรป สตาลเบิร์กในอดีตเคยรุ่งเรืองจากอุตสาหกรรมเหล็กกล้า แต่ทว่าเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา เกิดปัญหาสังคมต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ปัญหาคนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาธารณูปโภคที่ไร้การเหลียวแล และอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ
เกมแนวผจญภัยมุมมองบุคคลที่หนึ่งเกมนี้ให้เราควงไฟฉายและกล้องถ่ายรูปแทนอาวุธ ไม่นานเราก็จะเพลิดเพลินกับการพบเจอและบันทึกภาพ ‘ปัญหาทางวิศวกรรม’ ที่ถูกต้อง เมื่อกดชัตเตอร์แล้วได้ยินเสียง ‘แชะ!’ เป็นรางวัล กล้องและไฟฉายมีแบตเตอรี่จำกัด แต่ในเกมหาแบตเตอรี่เติมได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ส่วนไฟฉายเอาไว้ส่องทางในที่มืด ซึ่งในเกมก็สลับฉากระหว่างฉากที่มืดๆ แคบๆ อย่างในอุโมงค์ กับฉากกลางแจ้งได้อย่างมีจังหวะจะโคนไม่น่าเบื่อ
ไม่นานเราก็จะพบว่าอุบัติภัยน้อยใหญ่ เหตุอันตรายหรือสถานการณ์หมิ่นเหม่และสุ่มเสี่ยงอื่นๆ (เช่น สายไฟลวดเปลือยวางปริ่มน้ำ…) ที่เราบรรจงบันทึกภาพเป็นหลักฐานด้วยกล้องคู่ใจและหาทางซ่อมระบบนั้น แทบทั้งหมดมีรากมาจากมหกรรมคอร์รัปชั่น ความประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ และการสมคบคิดกันระหว่างนายทุนหน้าเลือดกับนักการเมืองหน้าเงิน ทิ้งร่องรอยไว้ในซากสาธารณูปโภคน้อยใหญ่ซึ่งถูกละเลยนานข้ามทศวรรษ
กราฟิกใน INFRA ดู ‘เก่า’ เล็กน้อยเมื่อเทียบกับกราฟิกในเกมที่ออกในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่าง Assassin’s Creed Origins เนื่องด้วยเกมนี้ทั้งเกมโค้ดบนเอ็นจิน Source ซึ่งค่าย Valve ใช้โค้ดเกมฮิต Portal 2 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 ที่ใช้เอ็นจินตัวนี้ก็เพราะทีมผู้สร้าง INFRA ตอนแรกเขียนโค้ดเกมนี้เป็น mod (ตัวเสริม) เฉยๆ ไม่ใช่เกม stand-alone แต่ผู้เขียนคิดว่ากราฟิกในเกมก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร และเกินพอสำหรับการสื่อสารความเสื่อมโทรมและภยันตรายต่างๆ อันเป็นมรดกตกทอดมาจากมหกรรมคอร์รัปชั่น
INFRA ให้เราแก้ปริศนาต่างๆ อย่างสมศักดิ์ศรีวิศวกร หลักๆ ด้วยการหมุนวาล์ว กดสวิทช์ และปรับเข็มบนหน้าปัดของสารพัดอุปกรณ์ ทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้ากลับมาทำงาน ซ่อมระบบท่อส่งน้ำประปา แยกและกรองน้ำปนเปื้อนออกจากน้ำสะอาด หาฟิวส์ตัวที่ขาดให้เจอแล้วเปลี่ยนใหม่ ฯลฯ ทั้งหมดนี้อาจฟังดูน่าเบื่อ แต่ในเกมกลับสนุกและท้าทายอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะไม่เฟ้อหรือเฝือ ปริศนาจำนวนมากเป็น ‘โบนัส’ คือไม่จำเป็นต่อการไปต่อ แต่ก็ท้าทายให้เราแก้ให้สำเร็จ โดยมีรางวัลเป็นความภูมิใจในตัวเอง และส่วนเสี้ยวของเนื้อเรื่องที่เผยความลึกลับดำมืดในอดีตของสตาลเบิร์กออกมาอีกนิด
ฟังก์ชั่นที่ผู้เขียนชอบมาก คือ INFRA ไม่จูงมือคนเล่นอย่างเกมทั่วไปในทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น ทั้งเกมไม่มีลูกศรบนบอกทางว่าต้องเดินไปไหนต่อ ไม่มีไฮไลต์กระพริบบอกตำแหน่งของสิ่งของที่ต้องเก็บ ทั้งหมดนี้ทำให้บรรยากาศระหว่างเล่นดูสมจริง ซึ่งความสมจริงนี้ก็ช่วยส่งผลให้เรื่องราวพิสดารพันลึกที่เราค้นพบระหว่างแก้ปริศนานั้นดู ‘น่าจะเป็นไปได้’ ขึ้นมาหลายเท่า
เรื่องราวดำมืดจากอดีตที่เราปะติดปะต่อจากสมุดบันทึกหลุดลุ่ย จดหมายหมึกซีดจาง ปูมการบำรุงรักษาเครื่องจักร ตัวอักษรบนลังไม้ และเอกสารอื่นๆ ที่กระจัดกระจายในเมือง สรุปสั้นๆ ได้ความว่า ในทศวรรษ 1960 มหาเศรษฐีท้องถิ่นนาม เจฟฟ์ วอลเตอร์ ร่วมกับพวกพ้องสมคบคิดกับรัฐบาล วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ แต่จริงๆ อยากวิจัยโครงการอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ซึ่งเก็บงำเป็นความลับด้วยข้ออ้าง ‘ความมั่นคงของชาติ’ ภายใต้โค้ดเนม SNW (ย่อมาจาก Stalburg Nuclear Weapons) จากนั้นแผนการฮุบที่ดินราคาถูกและขจัดคู่แข่งออกจากวงการก็เริ่มต้น
กลุ่ม SNW ฮั้วกับสหภาพแรงงานเพื่อบีบให้โรงถลุงเหล็กยักษ์ใหญ่ สตาลเบิร์ก สตีล ต้องปิดกิจการถึงแม้จะมีกำไร จ้างคนไปจารกรรมระบบน้ำเสียของโรงงานติดกันให้น้ำออกมาปนเปื้อนทำลายสิ่งแวดล้อม บีบให้โรงงานนั้นปิดไปอีกโรง การปิดตัวของ สตาลเบิร์ก สตีล ซึ่งใช้ไฟฟ้ามหาศาล ส่งผลให้เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลักในเมืองคือ แฮมเมอร์ วัลเลย์ ไฮโดร สูญเสียรายได้จากลูกค้าหลักจนถึงขั้นล้มละลาย และจุดประกายให้ อเล็กซ์ ฮาร์ตแมน ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเริ่มเอะใจในการกระทำของวอลเตอร์ ลงแรงสืบสวนจนค้นพบมหกรรมคอร์รัปชั่นที่อยู่เบื้องหลัง ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะตายในอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่เหลวแหลกไร้มาตรฐาน ผลักให้ฮาร์ตแมนฟั่นเฟือน หาโอกาสล้างแค้นวอลเตอร์จนสำเร็จในที่สุด
นอกจากจะคอร์รัปชั่นทางตรงคือติดสินบนข้าราชการระดับต่างๆ และจารกรรมธุรกิจหลากหลายรูปแบบแล้ว กลุ่ม SNW ยังคอร์รัปชั่นตั้งแต่ระดับก่อนออกนโยบาย โดยวางแผนกลั่นแกล้งให้หลายกิจการในเมืองล้มละลาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนทางสังคม เพิ่มคะแนนนิยมให้กับนักการเมือง ‘สายเหยี่ยว’ ที่ชูการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นนโยบายหาเสียง แถมพอถึงวันเลือกตั้ง SNW ก็เสี้ยมให้คนงานรถไฟใต้ดินนัดหยุดงานประท้วง รถไฟใต้ดินหลายเส้นหยุดเดิน กีดกันไม่ให้ประชาชนบางเขตเดินทางไปหย่อนบัตรเลือกตั้งได้ทันเวลา ผู้สมัคร ‘สายเหยี่ยว’ ที่เป็นคนของกลุ่ม SNW จะได้ชนะเลือกตั้ง
ในเมื่อรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ ‘ในกระเป๋า’ ของ SNW แล้ว โครงการพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งเมืองถูกครอบงำด้วยทุนพวกพ้องแทบจะสมบูรณ์แบบแล้ว จึงไม่มีอะไรที่ SNW ไม่กล้าทำ ฐานทัพหรือบังเกอร์ใต้ดินขนาดมหึมาถูกสร้างขึ้นเพื่อขโมยและลำเลียงเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ผ่านทางรถไฟ นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำถูกลักพาตัวหรือข่มขู่ให้มาทำงานในฐานทัพใต้ดินแห่งนี้ หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหล ผู้คนล้มตายจำนวนมาก (สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ SNW อยากประหยัดเงินทุกบาทที่ทำได้ และเจ้าหน้าที่รัฐก็อยากคอร์รัปชั่น ทำให้คุณภาพการก่อสร้างและระดับความปลอดภัยออกมาต่ำมาก) กลุ่ม SNW ก็สั่งฆ่าผู้รอดชีวิตไม่กี่คนเพื่อปกปิดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ไว้เป็นความลับต่อไป
ต่อมาไม่นานมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาด หน้าตาเหมือนเห็ดเรืองแสง ดูมีศักยภาพในการทำเป็นอาวุธชีวภาพ โครงการ SNW จึงค่อยๆ แปรสภาพเป็นโครงการวิจัยอาวุธชีวภาพแทนที่อาวุธนิวเคลียร์ โดยทดลองปลูกเห็ดประหลาดนี้ภายในบังเกอร์ สักพักบังเกอร์ก็ขยายบริเวณเป็นเมืองใต้ดิน SNW เริ่มสั่งลักพาตัวคนไร้บ้านในเมืองมาขุดแร่ยูเรเนียม (เชื้อเพลิงสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์) และใช้เป็นหนูทดลองอาวุธเห็ดสังหาร ใครโชคร้ายป่วยตายก็ถูกขนไปฝังในสุสานนิรนาม หรือไม่ก็ถูกทิ้งลงถังรีไซเคิลอาหาร (แหวะ…) ด้านหลังร้านอาหาร
ระหว่างที่ SNW เหิมเกริมขึ้นเรื่อยๆ จู่ๆ วอลเตอร์ก็ตระหนักว่าเขาถูกใช้เป็นเบี้ยบนกระดาน ถูกหลอกใช้งาน ใช้เงินและอิทธิพลในทางที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการรักษาความมั่นคงของชาติ เพราะเขาพบว่า SNW และรัฐบาลกำลังขายอาวุธชีวภาพให้กับใครก็ตามที่เสนอซื้อด้วยราคาสูงสุดต่างหาก จากนั้นวอลเตอร์ก็ขู่ว่าเขาจะเปิดโปงมหกรรมโกงนี้ แต่รัฐบาลไหวตัวทัน กดดันให้วอลเตอร์หลบลงใต้ดิน แต่โชคไม่เข้าข้าง เขาจบชีวิตลงด้วยแรงพยาบาทของฮาร์ตแมน นักธุรกิจคู่แข่งที่สูญเสียครอบครัวไปกับคอร์รัปชั่นที่วอลเตอร์มีส่วนสร้าง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม
ในเวลากว่า 40 ชั่วโมง INFRA ฉายภาพผลพวงจากมหกรรมคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เหยาะทฤษฎีสมคบคิดและเรื่องลึกลับที่มีกลิ่นอายไซไฟนิดๆ ได้อย่างลงตัว เปี่ยมเสน่ห์ และมีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง
คุยหลังไมค์กับ ออสการี ซามิโอลา (Oskari Samiola) หนึ่งในทีมผู้ออกแบบ INFRA
ถาม : เคยอ่านสัมภาษณ์มาว่าคุณปิ๊งไอเดียที่จะทำเกมนี้จากการดูสารคดีเกี่ยวกับสภาพอันย่ำแย่ของสาธารณูปโภคในสหรัฐอเมริกา คุณเองก็จบปริญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่กระนั้นก็ตาม อะไรทำให้คุณมั่นใจว่าเกมเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา (เกมแรกในประวัติศาสตร์ที่เน้นจุดนี้) จะ ‘สนุก’ สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นวิศวกร?
ตอบ : เกมพัสเซิล (แก้ปริศนา) และซิมูเลชั่น (จำลองโลก) มีมาตั้งแต่วงการเกมถือกำเนิด เกมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมศาสตร์ไม่ได้แตกต่างขนาดนั้น ทีนี้ เพื่อให้เกมไม่น่าเบื่อสำหรับคนที่ไม่ใช่วิศวกรอาชีพ เราก็เลยใช้เสรีภาพของทีมสร้างสรรค์ ย่อยระบบต่างๆ ในเกมให้ง่ายกว่าในโลกจริง ตัดรายละเอียดเฉพาะที่ไม่จำเป็นออกไป ให้ผู้เล่นสามารถ ‘เล่น’ กับระบบได้ เราจำเป็นจะต้องหาสมดุลหลายมุมมาก ระหว่างความสมจริงทางเทคนิค การสร้างโลก และกลไกเกม อย่างเช่นการแนะแนวผู้เล่นและเล่าเรื่องที่เราอยากจะเล่า
ถาม : เส้นเรื่องใหญ่ใน INFRA ว่าด้วยมหกรรมคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและเชิงนโยบาย การปล่อยปละละเลย และความไร้น้ำยาของรัฐ ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันซึ่งกันและกันอย่างสลับซับซ้อน ตอนเล่นรู้สึก ‘อิน’ กับพล็อตมากเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาพวกนี้เยอะมาก แต่ฟินแลนด์ (และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียโดยรวม) ขึ้นชื่อว่าคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับต่ำมากและรัฐก็มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคสูงมาก ก็เลยสงสัยว่าคอร์รัปชั่นและความไร้น้ำยาในเกมนี้สะท้อนสถานการณ์จริงในฟินแลนด์มากน้อยแค่ไหน หรือคุณแค่จินตนาการขึ้นมาให้มันดูลึกลับน่าค้นหา?
ตอบ : ผมรู้สึกตลกดีที่สถานที่จำนวนมากในเกมนี้ดูค่อนข้างสะอาดสะอ้านและ(เกือบ)ได้มาตรฐานสแกนดิเนเวีย แต่ตัวละครในเกมบ่นอุบตลอดเวลาว่าทุกอย่างกำลังพังและคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่ม!
INFRA สะท้อนสถานการณ์ในฟินแลนด์ในแง่ที่มันไม่ได้สะท้อนคอร์รัปชั่นในเชิงปริมาณ แต่สะท้อนในแง่ชนิดของคอร์รัปชั่นที่เกิด แล้วลากมันไปสุดทาง ในเกมนี้คอร์รัปชั่นไม่ใช่ประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียกและรับเงินสินบนและไม่ทำตามกฎเกณฑ์ เท่ากับเป็นเรื่องที่ว่า เจ้าหน้าที่ยอมอ่อนข้อให้กับแรงกดดันทางการเมือง ผลประโยชน์ในภาพใหญ่เป็นเรื่องของการเมืองและความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้เกิดเครือข่ายขององค์กรบังหน้าและองค์กรลึกลับที่ร่วมมือกันปกปิดโครงการ ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของใครบางคนครับ
การติดสินบนจริงๆ ในฟินแลนด์นั้นไม่ค่อยมีเลยครับ เจ้าหน้าที่รัฐทำตามกฎระเบียบ มีความสามารถ ผ่านการอบรมที่ดีพอ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ พวกเขามีความน่าเชื่อถือ ‘คอร์รัปชั่น’ ของเราอยู่ในโซนสีเทามากกว่า จุดตัดที่เบลอๆ ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว การเมือง กับความไร้ความสามารถในบางเรื่อง จะเรียกว่า ‘คอร์รัปชั่นคาบเส้น’ ก็ได้ครับ