ผมคิดว่าหลายๆ ท่านคงรู้สึกเหมือนกับผมว่า ตอนนี้สภาพความจริงที่เป็นอยู่ของโลกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทยนั้นมันช่างย่ำแย่เหลือเกิน มันดูจะบั่นทอนความสุขในชีวิต หรือกระทั่งพลัดพรากความปกติสมบูรณ์ที่เราใฝ่ฝันในแทบทุกห้วงลมหายใจ เพราะแม้แต่อากาศที่เราสูดหายใจเข้าไปนั้น ยังเลวร้ายพอที่จะทำให้เราสำลักความเฮงซวยของผงฝุ่นละอองพิษที่เจือปนอยู่ออกมาด้วยเลย ในความเป็นจริงแบบนี้ ทางเลือกของชีวิตที่ดูจะเหลือรอดอยู่หลังจากถูกพลัดพรากความเป็นไปได้ที่จะสุขในแทบทุกทางแล้ว ก็ดูจะเหลือแต่การ ‘ทนใช้ชีวิตไปวันๆ’ กระมัง
เพราะอย่างงี้นี่เอง เมื่อหลายวันก่อน ผมเห็นโพสต์ทางทวิตเตอร์ของคุณ FiNaSo (ผ่านทางเพจ ‘อโลน’ ในเฟซบุ๊กอีกที) ผมถึงรู้สึกว่า มันช่างถูกต้องเสียจริงๆ เขาว่าอย่างงี้ครับ
อ่านตามที่คุณ FiNaSo นี้เขียนมาแล้วก็ได้แต่ผงกหัวด้วยความเห็นด้วย และจากสภาพเฮงซวยสารพัดที่ห้อมล้อมเราอยู่นี่เอง ผมคิดว่าหลายๆ คนก็คงจะคิดคล้ายๆ กับผมว่า “อยากจะหนีไปให้พ้นๆ จากไอ้สังคมที่มันบั่นทอนแบบนี้” วันนี้ผมเลยอยากจะมาแนะนำให้รู้จักกับแนวคิดหนึ่งครับที่เรียกว่า Escapism หรือ การหนีไปเสียจากความจริงรอบตัวในชีวิตนั่นเองครับ
Escapism มันไม่ใช่การหนีความจริงแบบทิ้งชีวิตไปฆ่าตัวตาย หรือละทิ้งตัวตนทางโลก ถอดจิตไปธุดงค์ในป่า หรือปลีกวิเวกอะไรในแง่นั้นนะครับ
แต่มันหมายถึงการหลีกเลี่ยงหรือการเลือกที่จะไม่รับรู้ความเป็นจริงที่ไม่สบายใจ แสนจะน่าเบื่อหน่าย น่ารังเกียจ น่าหวาดกลัว หรืออื่นๆ ทำนองนี้ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกๆ วัน ปานว่ากำลังรีรันภาพเหตุการณ์แห่งความระทมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ฉะนั้นในมุมมองเชิงปรัชญาต่อการนิยามบรรดา ‘นักหนีความจริงอันเฮงซวย’ นี้ก็คือ กลุ่มคนซึ่ง “ไม่มีความสุขโดยเฉพาะกับความไร้ความสามารถหรือความไม่พร้อมใจของตนในการจะเชื่อมโยงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือลงมือทำอะไรให้มันดีขึ้นได้”[1]
ฉะนั้นในแง่นี้การหนีจากความจริง หรือการปฏิเสธที่จะเข้าไปร่วมสังฆกรรมอยู่ในโลกเดียวกันกับความจริงเฮงซวยอย่าง เศรษฐกิจแย่ๆ ทำมาค้าขายอะไรก็ไม่ขึ้น อากาศก็ต่ำทรามหายใจเข้าไปปานว่ากำลังอยู่ในห้องรมแก๊ส เลือกตั้งก็ถูกเลื่อนมาไม่รู้กี่ทียังบอกแค่ 90 วันทนไม่ได้ รัฐบาลก็ช่างมีความชาญฉลาดในแบบที่ยูนีคเสียเหลือเกิน ไม่ต้องไปพูดถึงพื้นผิวหน้าของเหล่าผู้นำประเทศที่ดูจะแกร่งเสียยิ่งกว่าไทเทเนียมของบียอนเซ่เสียอีกนั้น มันสามารถกระทำได้หลายรูปแบบ จริงๆ เลยคือ แทบจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ เช่น กินให้มันลืมๆ ความโหดร้ายไป นอนแม่งเลย หลับไปจะได้ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรอีก ออกกำลังกายให้เหงื่อแตก คิดถึงแต่ลู่วิ่ง ทางข้างหน้าและเวย์โปรตีนที่บ้านไป หรือกระทั่งการมีเซ็กส์ สร้างความสุข เมื่อโลกจริงไร้ความสุขก็จงใจทำกิจกรรมให้ฮอร์โมนความสุขทั้งหลายมันหลั่งออกมาแทนแล้วกัน เป็นต้น
สักราวๆ 1 ทศวรรษหลังมานี้ หนึ่งในกิจกรรมที่ถือว่าท็อปฮิตติดชาร์ตมากที่สุดในการหลบหนีจากความจริงเฮงซวยก็คือ การหลบเข้ามาอยู่ในโลกไซเบอร์ครับ[2] การหนีจากชีวิตในโลกจริง มาใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์แทน และทำในสิ่งที่ทำในความจริงไม่ได้ในโลกไซเบอร์ไปแทน หรือหันไปสนใจเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ตัวเองตัดขาดจากความเป็นจริงในแต่ละวันได้จึงกลายเป็น ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยมันจะมีคนใช้เฟซบุ๊กกันเยอะเหลือเกิน (ผมยกเฟซบุ๊กมา เพราะมียอดผู้ใช้มากที่สุดในบรรดาเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหมด) จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 นี้คือมีราวๆ 51 ล้านยูเซอร์[3] ในขณะที่จำนวนประชากรไทยในปีเดียวกัน มีประมาณ 66 ล้านคน[4] (ตามที่ลงทะเบียนราษฎร์) นั่นก็คือ จำนวนยูเซอร์คิดเป็น ประมาณ 77.3% ของจำนวนประชากร แน่นอนครับว่าบางคนมีหลายแอคเคาท์ ฉะนั้น 1 ยูเซอร์ ไม่ได้แปลว่าคือ 1 คนอะไรทั้งสิ้น แต่แค่ตัวเลขที่ว่ามานี้ ก็น่าจะเห็นความน่าสะพรึงกลัวของจำนวนคนใช้งานในบ้านเราได้บ้าง
โดยทั่วๆ ไปเวลามีการพูดถึงเหล่ามนุษย์ที่หนีจากความเป็นจริงที่เรียกกันว่า Escapist นี้ ก็มักจะพูดถึงในทางลบ มองว่าเป็นพวกไม่ยอมรับความเป็นจริงบ้างอะไรบ้าง แต่ J.R.R. Tolkien ผู้เขียนนิยายแฟนตาซีชื่อดังอย่าง Lord of The Rings นั้นกลับมองต่างออกไปนะครับ
เมื่อเขามองว่าการหลบตัวเองไปในโลกแฟนตาซีบ้าง อย่างการอ่านวรรณกรรม (หรืออื่นๆ) นั้น เอาจริงๆ แล้วมันก็คือการแสดงออกอย่างสร้างสรรต่อความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เพียงแค่กระทำผ่านโลกอีกใบ (โลกแฟนตาซี) แทนก็เท่านั้น[5] ซึ่งว่ากันตรงๆ โดยส่วนตัวแล้วผมก็เห็นด้วยกับปู่ Tolkien ไม่น้อย เพราะหากไม่หนีจากความเป็นจริงบ้าๆ นี้บ้าง คงจะประสาทแดกกันพอดี (ซึ่งก็ประสาทแดกกันไปไม่น้อยแล้วอ่ะนะ) และไอ้จุดยืนการวิพากษ์วิจารณ์ Escapist ในแง่ลบนั้น บ่อยครั้งมันก็มาจากพวกประเทศโลกที่หนึ่งที่คุณภาพชีวิตก็แสนจะดีกันแล้วไง ลองมาเจอพี่ประยุทธ์ พี่ประวิตร กับการเมืองแบบยุคกลางอย่างพวกเราบ้างนี่ แล้วจะพบแง่งามของ Escapism เอง
ความจำเป็นของ Escapism ในการเอาตัวรอดจากอาการประสาทแดกจากความเฮงซวยของความจริงนี้ ในทางจิตวิเคราะห์เองเขาก็ยอมรับกันนะครับ ขนาดที่เจ้าพ่อแห่งสาขาจิตวิเคราะห์อย่าง Sigmund Freud เองก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ด้วยว่า การมีพื้นที่ในการหลบหนีจากความเป็นจริงบ้างนั้นเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ฟรอยด์อีกด้วยว่า “มนุษย์เราไม่สามารถมีชีวิตรอดโดยที่เราขาดแคลนซึ่งความพึงพอใจที่เราจะดึงเอามาจากความเป็นจริงได้ เราไม่มีทางทำมันได้โดยปราศจากพื้นที่สำรองมาสนับสนุน”[6] ว่าง่ายๆ ก็คือ สำหรับฟรอยด์แล้ว เมื่อความเป็นจริงมันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ การที่จะต้องมีพื้นที่นอกเหนือจากความจริง เพื่อจะได้หลบหนีไปและแสวงหาความพึงพอใจตามที่เราต้องการแทนนั้นมันจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพความเฮงซวยที่เหลือล้นเหลือเกินของเรานี้ ที่ความพอใจใดๆ ดูจะไม่สามารถจะ ‘ดึงหรือหาได้จากความเป็นจริง’ การหนีไปอยู่ในพื้นที่สำรองหรือพื้นที่นอกเหนือความจริงเป็นหลักดูจะกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย แต่หากเป็นแบบนั้นขึ้น ก็น่าสนใจอีกว่าแล้วอะไรกันเล่าที่จะกลายเป็นความเป็นจริงกันแน่ หากเราหันหลังให้กับความเป็นจริงแท้จริงอย่างเต็มที่ แล้วทำให้พื้นที่สำรองกลายเป็นพื้นที่หลักของชีวิตไป ซึ่งนั่นก็คงจะนำมาสู่ปัญหาอีกแบบ อย่าง การเก็บตัวในห้องในโลกของตนเอง ไม่สุงสิงกับใคร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอะไรอีกเลย อย่าง อาการที่เรียกว่า Hikikomori หรือการ ‘ถอนตัวออกจากสังคมและโลกความเป็นจริงไปเลย’ ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นขั้นสุดของ Escapist แบบหนึ่งนั่นเอง
ทั้งนี้ Escapism นั้น เป็นคนละอย่างกับ โลกจริงจำลอง หรือ Simulacraที่ผมเคยเขียนถึงในชื่อว่า “Simulacra: ยามเมื่อกะลาใหญ่กว่าแผ่นดิน”[7] นะครับ
คือ Escapist นั้นในทางหนึ่งคือ คนที่ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ ว่า แม่งช่างเลวร้ายเหลือเกิน มันช่างเกินปัญหาที่เราจะเข้าไปทำอะไรได้เสียจริงๆ หรือมันช่างดูหมดหนทางในการจะไปเฟ้นหาความสุขแม้แต่เพียงน้อยนิดในสภาพแบบนี้ได้จริงๆ ฉะนั้น Escapist จึงขอเลือกที่จะเอาตัวเองออกมา ‘อยู่นอกพื้นที่ของความจริงที่เฮงซวย’ นี้นั่นเอง ภาษาวิชาการเราเรียกว่า The Externalization of Self ครับ หรือก็คือ การดึงเอาตัวเองมาอยู่ภายนอก ทำตัวเสมือนเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของความบรรลัยนั้น หากผมอุปมากลับไปสู่ ‘โลกของกะลา’ แล้วก็คือ คนเหล่านี้มองเห็นและยอมรับการมีอยู่ของกะลาครับ กระทั่งรู้ด้วยว่ากะลานั้นมันช่างนำพาความทุกข์สารพันมาให้เราเหลือเกิน ฉะนั้นพวกเขาจึงทำตัวเสมือนว่าตนเอง ‘ยืนอยู่ด้านนอกของกะลา’ ทั้งๆ ที่ในความจริงกะลาและอิทธิฤทธิ์ของมันก็กำลังครอบพวกเขาเอาไว้ดังเดิมนั่นแหละ แต่พร้อมๆ กันไป ในขณะที่ทำตัวเสมือนว่ายืนอยู่ด้านนอกของกะลาหรือก็คือ ‘พื้นที่สำรอง’ ที่ฟรอยด์ไว้ พวกเขาก็รู้ตัวด้วยว่านั้น พวกเขาเองก็รู้ตัวดีด้วยว่าในพื้นที่ความจริงหลัก ชีวิตพวกเขาก็ยังคง Fucked up อยู่ภายในกะลานั้นอยู่ดี
ฉะนั้นมันจึงเป็นความย้อนแย้งในตัวมันเองแบบหนึ่งด้วย คือ เหล่า Escapist นั้นกำลังหลอกตัวเองนั่นแหละครับ หลอกตัวเองด้วยการทำเสมือนว่าไม่ได้อยู่ในกะลานั้น แต่พร้อมๆ กันไปพวกเขาก็รู้ตัวด้วยว่ากำลังหลอกตัวเองอยู่ มันจึงเป็นการหลอกตัวเองแบบจงใจหลอก มันเป็นกลไกในการเอาชีวิตรอด ที่อาจจะดูน่าสมเพช แต่ก็จำเป็น
ในทางตรงกันข้าม Simulacra หรือโลกจริงจำลองนั้น คือ อีกกรณีหนึ่ง (อ่านแบบเต็มๆ ตามที่พบอ้างอิงไว้ได้นะครับ) แต่หากเอาแบบย่นย่อก็คือ คนที่เห็นกะลาที่ครอบอยู่เป็นอย่างอื่นไป อาจจะเข้าใจว่ากะลาที่ครอบแผ่นดิน ครอบสังคมที่ตนเองอยู่นั้น มันคือ ท้องฟ้าโปร่งใสแสนโสภี ที่กว้างใหญ่ไพศาล สวยใสงดงาม หรือพูดอีกแบบก็คือ ในขณะที่ Escapist ‘แยกตัวเองออกจากความจริง’ ฝั่งโลกจริงจำลองนั้นกลับ ‘พลิกหรือสร้างความจริงใหม่ขึ้นเพื่อแทนที่ความจริงเดิม’ ให้มันสวยงามขึ้น น่าอยู่ขึ้น แล้วก็เชื่อไปเสียว่า ‘นี่แหละคือความจริงอันแท้จริง’
ฉะนั้นประชากรที่อาศัยในโลกจริงจำลองนั้น จึงมองไม่เห็นความเป็นจริงอีกต่อไป พวกเขาก็อยู่กับความสวยหรูและการเห็นฝั่งเดียวของพวกเขาไป บางครั้งเราอาจจะเจอการใช้เหตุผลแปลกประหลาดจากการเห็นแต่เพียงข้างเดียวตลอดเวลานั้นได้ อย่างคนที่คุยกับ ‘แม่ประไพ หรือพ่อทิดเอิบ’ อยู่บ่อยๆ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งครับ เนื่องจากมองเห็นแต่ความเป็นไปข้างเดียวในโลกจริงจำลองที่ตนสร้างขึ้น ชายผู้คุยกับแม่ประไพนี้ จึงถามอะไรแปลกๆ อย่าง “ประชาธิปไตยก็คือเผด็จการอย่างหนึ่ง (แล้วเป็นประชาธิปไตยไปทำไม?)” ที่คิดว่าเขาคงไม่รู้ตัวว่า มันเป็นตรรกะที่ผิดป่วงเสียเหลือเกิน เพราะหากความเลวร้ายของประชาธิปไตยคือการเหมือนกับเผด็จการแล้ว ก็แปลว่าเผด็จการโดยตัวมันเองก็ย่อมต้องยิ่งเลวร้ายหนักน่ะสิ เช่นนั้นยิ่งต้องเร่งกำจัดเผด็จการมิใช่หรือ? น่าเสียดายที่แม่ประไพคงไม่ได้ตอบคู่สนทนาของเธอคนนี้กลับไป เพราะแม่ประไพคงเป็นเพียง ‘คนจริงจำลอง’ ที่มีไว้ให้ความจริงปลอมๆ ที่โรยด้วยกลีบกุหลาบของคู่สนทนาเธอ ‘ถูกต้อง’ (แบบจำลองๆ) ต่อไปได้
การต่อสู้ การเอาตัวรอดจากความจริงอันโหดร้าย มันก็คงจะทำได้ประมาณนี้แหละครับ…ยอมรับมัน ปลงใจ แล้วหนีไปเสียจากมัน หรือวาดภาพแต่งหน้าให้มันใหม่ แล้วลืมของแท้ดั้งเดิมลงเสีย เชื่อในการวาดระบายใหม่แทนล้วนๆ เพราะวาดระบายมาใหม่ให้ถูกอกถูกใจตัวเองเอาไว้แล้ว จริงไม่จริง ถูกต้องหรือไม่ ก็ช่างแม่งเถิด
ด้วยสภาพที่เป็นอยู่นี้ บางที ‘ความเป็นจริง’ ของประเทศไทยอาจจะเป็นว่า เราไม่มีประชากรที่อยู่กับ ‘ความจริง’ อีกต่อไปเลยก็ได้ หากไม่ใช่ว่าหนีออกจากความเป็นจริง เพราะรู้สึกทนอยู่กับมันไม่ได้แบบ Escapism ก็อยู่กับความจริงจำลองที่คิดหลอกหลอนตัวเองไปว่าความเฮงซวยที่มันเกิดขึ้นนี้จริงๆ แล้วคือความดีงาม แบบ Simulacra ไม่อย่างงั้นเราคงจะประคองชีวิตให้อยู่ไปวันๆ ก็คงจะยังยาก ทั้งนี้คงเป็นเพราะ “ความเป็นจริงมันเลวร้ายกว่าที่ควรจะมีอยู่จริง” นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู D. Baggett et al., (2009). C. S. Lewis as Philosopher. p. 260.
[2] โปรดดู G. Kainer, (2010). Grace and the Great Controversy. p. 35.
[3] โปรดดู www.statista.com
[4] โปรดดู www.zcooby.com
[5] โปรดดู T. F. Nicolay, (2014). Tolkien and the Modernists. p. 66 and p. 79
[6] โปรดดู S, Freud, (PFL1). Introductory lectures on Psychoanalysis. p. 419.
[7] โปรดดู thematter.co/thinkers/simulacra