[คำเตือน : เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในซีรีส์ Game of Thrones]
1
แบร์โทลต์ เบร็คชต์ (Bertolt Brecht) นักการละครคนสำคัญของเยอรมนี เคยบอกไว้ในทำนองที่ว่า-ศิลปะไม่ใช่กระจกที่เอาไว้ส่องสะท้อนสังคมหรอก แต่มันคือ ‘ค้อน’ ที่มีเอาไว้ทุบตีสังคมให้เป็นไปอย่างที่มันอยากให้เป็นต่างหาก
แน่นอน-คำว่า ‘ศิลปะ’ ของแบร์โทลต์ เบร็คชต์ ในที่นี้-ย่อมเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้ นอกจากละคร ซึ่งก็คือ ‘ศิลปะการแสดง’ อย่างหนึ่ง
มีอย่างน้อยสามฉากใน ‘ศิลปะการแสดง’ ของซีรีส์เรื่องฮิตอย่าง Game of Thrones ที่ทำให้ผมคิดว่า-แบร์โทลต์ เบร็คชต์ ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
ฉากแรกเกิดขึ้นในซีซันไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่เป็นฉากที่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ (ซึ่งตอนนั้นอยู่ในฐานะราชินี) สนทนาอยู่กับชายจอมวางแผนอย่างลิตเติ้ลฟิงเกอร์ (หรือปีเตอร์ เบลิช)
ทั้งคู่คุยกันเรื่องเกี่ยวกับ ‘อำนาจ’ โดยลิตเติ้ลฟิงเกอร์พยายามจะ ‘แบล็คเมล’ เซอร์ซีด้วยเรื่องส่วนตัวของเธอ ลิตเติ้ลฟิงเกอร์นั้นเป็นคนที่มี ‘ความรู้’ มาก โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับเส้นสนกลในและการข่าวต่างๆ เขาจึงบอกกับเซอร์ซีด้วยประโยคเก่าแก่ที่ว่า ‘ความรู้คืออำนาจ’
บางคนคิดว่า ประโยคนี้เป็นของเซอร์ฟรานซิส เบคอน แต่บางคนก็คิดว่าเป็นประโยคเก่าแก่ในภาษาละตินที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเรื่อง Leviathan ของโธมัส ฮ็อบส์ แต่จะอย่างไรก็ตาม มันคือคำพูดที่เหล่านักคิดนักวิชาการหรือ ‘ผู้รู้’ ทั้งหลายชอบใช้กัน เพราะเป็นประโยคที่แสดงให้เห็นถึง ‘อำนาจ’ ของความรู้
แต่เมื่อพูดจบแล้ว ลิตเติ้ลฟิงเกอร์ก็ต้องตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อเซอร์ซีเอ่ยปากสั่งทหารด้วยท่าทีที่แสนจะสงบนิ่งว่า-ให้จับตัวลิตเติ้ลฟิงเกอร์ไว้ และเชือดคอเขาเสีย
ลิตเติ้ลฟิงเกอร์ช็อก เขาพยายามดิ้นรนต่อสู้แต่ก็ไม่เป็นผล ทว่าที่สุดแล้ว เซอร์ซีก็สั่งทหารด้วยท่าทีสบายๆอีกครั้งว่า “หยุดก่อน เดี๋ยวก่อน ฉันเปลี่ยนใจแล้ว ปล่อยเขาไป”
เซอร์ซีสั่งให้ทหารก้าวถอยหลัง แล้วเธอก็หันมาบอกกับลิตเติ้ลฟิงเกอร์ด้วยใบหน้าที่เกือบจะยิ้มหยันว่า-อำนาจก็คืออำนาจ
ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูดนี้ก็คือ-ไม่ใช่ ‘ความรู้’ หรอกที่คืออำนาจ แต่เป็นอำนาจต่างหากที่คืออำนาจ,
นี่เป็นฉากที่ทรงพลังอย่างยิ่ง!
2
หลายคนมองว่า Game of Thrones เป็นซีรีส์ประเภท Escapism หรือพาคนดู ‘หนี’ ออกไปจากโลกจริง แต่คำถามก็คือ Game of Thrones กำลังทำอย่างนั้นอยู่จริงหรือเปล่า
มันพาเรา ‘หนี’ ออกไปจากโลกจริง หรือว่ากำลัง ‘ถีบ’ เรากลับเข้าไปในโลกที่แสนจะ ‘จริงแท้’ กันแน่!
ฉากที่สองที่ทำให้ผมนึกถึงแบร์โทลต์ เบร็คชต์ เป็นฉากที่กำลังตะโกนบอกเราจริงจังว่า Game of Thrones ไม่ได้พาเรา ‘หนี’ ไปไหน แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่อยู่ตรง ‘สุดขอบ’ ของความเป็นจริง
ฉากที่ว่าคือเมื่ออาร์ยา สตาร์ค ลูกสาวของตระกูลสตาร์คผู้ครอบครองปราสาทวินเทอร์เฟล ต้องหนีหัวซุกหัวซุนจากการถูกฆ่า เธอถูกแทงจนเลือดอาบ ต้องหนีไปพึ่งพิง ‘นักแสดง’ ละครเวทีผู้หญิงคนหนึ่ง (ซึ่งต้องขออภัยที่ผมจำชื่อเธอไม่ได้) มีการย้ำหลายครั้งหลายคราว่าเธอเป็นสุดยอดนักแสดง เวลาอยู่บนเวที เธอจะดึงความสนใจของผู้ชมได้อยู่หมัด ไม่ว่าด้วยสีหน้า แววตา หรือการแสดงอื่นๆ ผู้คนร้องไห้เมื่อเธอร้องไห้
เธอเล่นเป็นเซอร์ซี,
ใช่-เซอร์ซีผู้ทรงอำนาจและเชื่อว่า ‘อำนาจก็คืออำนาจ’ คนนั้นนั่นแหละครับ
แต่เซอร์ซีนักแสดงไม่ใช่เซอร์ซีตัวจริง เซอร์ซีบนเวทีการแสดงคือเซอร์ซีที่ผู้คนรัก เซอร์ซีบนเวทีไม่ใช่ผู้หญิงเหี้ยมโหด แต่เธอคือ ‘แม่’ และ ‘เมีย’ ที่แสนซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความเป็นผู้หญิงเต็มเปี่ยม เธอจึงเจ็บปวดนักหนาเมื่อลูกชายผู้ครองบัลลังก์เยี่ยงเผด็จการทรราชย์ต้องตายลง บทพูดของเธอไพเราะจับใจ เธอไม่ใช่ผู้กระทำ แต่เป็นผู้ถูกกระทำจากสถานการณ์ ทำให้เธอต้องลุกขึ้นมาแก้แค้นเพื่อลูกของเธอ
ทั้งหมดนี้ไม่เหมือนเซอร์ซีตัวจริงเลยแม้แต่น้อย!
และที่ ‘ไม่เหมือนจริง’ ในอีก ‘ระนาบ’ หนึ่งก็คือ-เซอร์ซีตัวจริงยังไม่ตาย แต่นักแสดงที่เล่นเป็นเซอร์ซีผู้แสนดีเป็นที่รักของประชาชนคนนี้ต้องตายลงง่ายๆ เมื่อเธอถูกเด็กสาวที่ไล่ล่าอาร์ยา สตาร์ค สังหารอย่างเจ็บปวด ความตายมาถึงเธอไม่คาดคิด รวดเร็ว ฉับพลัน และเต็มไปด้วยเลือด แบบเดียวกับหลายความตายที่ปรากฏอยู่ใน Game of Thrones
อย่างไรก็ตาม ก่อนตาย อาร์ยาได้คุยกับนักแสดงคนนี้ อาร์ยาพูดถึงเวสเทอรอส (Westeros) ซึ่งก็คือทวีปใหญ่ที่ทุกอาณาจักรอยู่รวมกัน เธอบอกว่า อีสเทอรอส (Easteros) คือโลกทางตะวันออก เวสเทอรอสคือโลกทางตะวันตก แต่ว่าแล้วอะไรอยู่ทางตะวันตกของโลกตะวันตกอย่างเวสเทอรอสกันเล่า
ไม่มีใครรู้
นักแสดงคนนั้นตอบอาร์ยาว่าอย่างนั้น-ไม่มีใครรู้, มันอาจจะสุดขอบโลกหรือเป็น the end of the world แล้วก็ได้
นั่นกระชากคนดูออกจากความฝันในโลก Escapism เพราะมันทำให้เรารู้ว่า เวสเทอรอสคืออะไรบางอย่างที่อยู่ตรงสุดขอบของจินตนาการ เหนือพ้นดินแดนแห่งการฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจแห่งนี้ออกไปจะมีอะไรอยู่นั้นนับเป็นเรื่องเกินหยั่งรู้ของผู้คน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ-คนดูไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่ายังมีอะไรเหนือพ้นไปจากดินแดนเวสเทอรอสอีกบ้าง ไม่จำเป็นต้องรู้หรอก-ว่าเลยพ้นไปจากการฆ่าฟันกันเพื่อแย่งชิงอำนาจแล้ว-ยังมีอะไรอีกบ้าง เพราะเลยพ้นจากนี้ไปแล้ว ไม่มีอะไร ‘น่าสนุก’ สำหรับการรับชมอีกต่อไป
คำตอบของนักแสดงสาวก่อนสิ้นชีวิต จึงพาเราไปถึง ‘สุดขอบ’ ของความเป็นจริง
ตรงสุดขอบนั้นเอง ที่เราจะตระหนักว่าเราไม่สามารถดิ้นรนหนีให้ ‘พ้น’ ไปจากโลกแห่งความจริงนี้ไปได้
ไม่ว่าเราจะพยายามหนีสักเท่าไหร่ก็ตาม!
3
แล้วโลกแห่งความจริงคืออะไรกันเล่า
ฉากที่สามที่ทำให้ผมนึกถึงแบร์โทลต์ เบร็คชต์ คือฉากที่สาวกของพระส่งคนมา ‘สั่ง’ เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ ให้ไปพบ
แน่นอน เซอร์ซีผู้เชื่อมั่นว่า ‘อำนาจก็คืออำนาจ’ ย่อมตอบกลับไปว่าเธอจะไม่ไป หากพระอยากพบเธอ ก็ให้เขาเดินทางมาพบเธอเอง เธอจะไม่ไปพบเขา
สาวกของพระขยับอาวุธ แต่เซอร์ซีมีนักรบคู่ใจตัวใหญ่เท่าภูเขาอยู่เคียงข้าง เธอสั่งให้นักรบสาวเท้าออกมา สาวกของพระรีบบอกว่า หากเธอทำอย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่อาจเป็นอื่นไปได้-นอกจากความรุนแรง
เซอร์ซีตอบกลับด้วยใบหน้าเฉยเมย ดวงตาของเธอเรียบนิ่งเช่นเดียวกับเมื่อครั้งเคยสั่งฆ่าลิตเติ้ลฟิงเกอร์ เธอบอกด้วยน้ำเสียงเรียบๆ จนเกือบอ่อนเพลียด้วยซ้ำไป-ว่า, ฉันต้องการความรุนแรง
แน่นอน คำพูดน้ันนำไปสู่การฆ่าอีกครั้งหนึ่ง นักรบร่างยักษ์เท่าภูเขาได้หักคอและกระชากหัวของสาวกพระที่จามขวานเข้าที่เสื้อเกราะของเขาออกมา ‘เลือด’ ของ ‘สาวก’ (ซึ่งพูดได้ว่าเป็นเพียงหมาก เบี้ย หรือไพร่ตัวเล็กๆ ใน ‘เกมแห่งราชบัลลังก์’ เท่านั้น) ไหลรินลงไปในท่อระบายน้ำ ไปรวมอยู่กับสิ่งโสโครกปฏิกูลทั้งหลาย ซึ่งต่อไปก็คงไหลหายลับไป-ไม่มีใครจดจำ
หลายคนมองว่า Game of Thrones คือซีรีส์ Escapism และเพราะฉะนั้น มันจึงอนุญาตให้มี ‘ความรุนแรง’ อย่างที่มีไม่ได้ในโลกจริงอยู่ แต่คำถามที่เกิดขึ้นกับฉากนี้ก็คือ-จริงหรือ, ที่ Game of Thrones เป็นเพียงเรื่องแต่ง เป็นจินตนาการ เป็นสิ่งซึ่งอยู่เลยพ้นออกไปจากความจริงของโลกใบนี้
ถ้าให้ตอบตอนนี้ คำตอบของผมก็คือไม่, Game of Thrones ไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งพ้นเลยไปจากความเป็นจริง และดังที่แบร์โทลต์ เบร็คชต์ บอกไว้, มันไม่ได้เป็นแม้กระทั่ง ‘กระจก’ ที่เอาไว้ ‘สะท้อน’ ความจริงของโลกใบนี้เสียด้วยซ้ำ แต่มันคือ ‘ค้อน’ ที่คอยทุบเพื่อขึ้นรูปความจริงเหล่านี้ให้เราเห็นกระจะตาอยู่ตรงหน้า
ฉากแรก : ความรู้ไม่ใช่อำนาจหรอก / เป็นอำนาจต่างหากที่คืออำนาจ / และดังนั้น, ผู้คนจึงแสวงหาและเสพติดอำนาจ
ฉากที่สอง : ความลวงนั่นแหละคือความจริง / ตัวละครที่ ‘เล่น’ เป็นเซอร์ซีนั่นแหละที่พูดความจริง / ไม่มีอะไรอยู่ทางตะวันตกของเวสเทอรอส เพราะไม่มีแม้กระทั่งเวสเทอรอสหรอก / มีแต่โลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่นี่แหละ
ฉากที่สาม : อำนาจคืออำนาจ / ความลวงคือความจริง / และที่สุดแล้ว-ความรุนแรงก็คือสิ่งที่ ‘อำนาจ’ ของโลกใบนี้ต้องการ / เลือดของเบี้ยมีค่าเพียงไหลลงไปในท่อระบายสิ่งโสโครกก็เท่านั้น
นี่คือ ‘ความจริง’ สามอย่าง-ที่เซอร์ซี แลนนิสเตอร์ บอกเราไว้!
4
แบร์โทลต์ เบร็คชต์ เคยพูดถึงผลลัพธ์จากการแสดงละครแบบหนึ่งที่เรียกว่า Alienation Effect (หรือบางคนก็เรียกว่า Estrangement Effect) ซึ่งคือเทคนิคการทำให้เกิดเหตุการณ์หรือเรื่องราวบางอย่างในละคร จนทำให้คนดูต้อง ‘สะดุ้งผงะ’ แล้ว ‘ตื่น’ หรือ ‘ถอยหนี’ ออกมาจากโลกแห่งละครนั้น
เวลาดูละคร โดยมากเรามักจะเผลอไผลใหลหลงเข้าไปในโลกบนเวทีนั้น ละครที่ดีมักทำให้คนดูลืมโลกภายนอกได้สนิท ทำให้เรา ‘กลาย’ ไปเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละคร เหมือนเมื่อเหล่ามวลมหาประชาชนชมนักแสดงผู้เล่นเป็นเซอร์ซี แลนนิสเตอร์ แล้วน้ำตาไหลตามเธอไปด้วย เราเป็นอย่างนั้นก็เพราะเรา identify ตัวเองให้เป็นตัวละครตัวนั้น เราจึงสามารถ ‘อิน’ ไปกับละครประเภท Escapism ได้แบบลืมวันลืมเวลา ลืมความทุกข์ในโลกแห่งความเป็นจริงของเราไปได้ เพราะมันพาเรา ‘ลอดเรดาร์’ แห่งโลกจริงพาหนีไปจากโลกจริงได้โดยที่เราแทบไม่รู้ตัว เป็นการหนีในระดับจิตใต้สำนึก ทำให้เรานึกว่าตัวเราคือเซอร์ซีบ้าง ลูกสาวกำนันบ้าง เป็นเจ้าหญิงเจ้าชายบ้าง หรือเป็นตัวละครไหนก็ตามในเรื่องเล่าเหล่านี้
ที่จริง Game of Thrones ก็ดูเหมือนจะทำคล้ายๆ แบบนั้นเหมือนกันในตอนแรกๆ มันลวงเราด้วยฉากอลังการ ลวงเราด้วยการแสร้งทำเป็นว่าตัวละครนั้นนี้จะเป็นตัวเอกให้เราติดตาม ให้เรา ‘กลาย’ ไปเป็นตัวละครเหล่านั้น แต่แล้วไม่นานนัก Game of Thrones ก็ใช้เทคนิค Alienation Effect กระชากเราออกมาจากโลกใบนั้นด้วยการ ‘ฆ่า’ ตัวละครที่ถูกสร้างมาอย่างดี หรือไม่ก็ย้อนยอกเปลี่ยนแปลงสำนึกของตัวละครไปมา หรือไม่ก็ใช้บางคำพูดเพื่อกระแทกหน้าเรา พยายามบอกเราว่า-แท้จริงแล้วโลกของ Game of Thrones ไม่ได้อยู่ในหนังสือหรอก-แต่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่แหละ
มันคือโลกแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ โลกแห่งการหลอกให้ไพร่เบี้ยหมากร่ำไห้ไปกับละคร และโลกแห่งความรุนแรง
นั่นทำให้เราต้อง ‘ผงะ’ และตื่นกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกครั้ง