คุณผู้อ่านมีนักเขียนที่มักได้ยินชื่อ เรื่องราว หรือผลงานเขาอยู่บ่อยๆ จนราวกับว่ารู้จักเขาดี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เคยอ่านหนังสือเขาเลยสักเล่มกันไหมครับ ถ้าถามผม ผมนึกออกอยู่หลายชื่อทีเดียว อย่าง Jean-Paul Sartre นักปรัชญาเบอร์ใหญ่ หรือนักเขียนดังอย่าง Ernest Hemingway ที่ได้ยินการเอ่ยถึงอยู่ประจำ แต่ผมกลับไม่เคยได้อ่านงานเขียนของทั้งสองเลย
Alain de Botton เองก็เป็นหนึ่งในนักเขียนกลุ่มที่รู้จักชื่อดี แต่ไม่เคยอ่านหนังสือเขาสักเล่มเหมือนกัน จนในที่สุดก็สบโอกาสหยิบ Essays in Love งานเขียนไซส์กลางของเขามาอ่าน ถึงได้เข้าใจเสียทีว่า ทำไมคนรอบตัวผมต่างพากันชื่นชอบและชื่นชมนักเขียนหนุ่มคนนี้เป็นเสียงเดียว
Essays in Love บอกเล่าเรื่องราวความรักที่สุดจะเรียบง่ายระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวคู่หนึ่งที่พบกันโดยบังเอิญบนเครื่องบินโดยสารที่เดินทางจากปารีสสู่ลอนดอน จากบทสนทนาเรียบง่ายที่สร้างความประทับใจแรกให้แก่กัน สู่การนัดพบ การจับมือ หลงรัก จูบแรก เซ็กซ์ ทะเลาะ คืนดี ผิดใจ อิจฉา หึงหวง เลิกรา เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่นี้ดำเนินไปบนเส้นทางของความรักที่คาดเดาได้ ดังว่า เมื่อรักก็ย่อมมีเลิกรัก เมื่อพบก็ย่อมมีจาก ไม่มีอะไรหวือหวา หรือแปลกแยกไปจากขนบของความสัมพันธ์หนุ่มสาวที่เราต่างคุ้นเคยกันดี
ดังนั้นหากเรามองพล็อตของนิยายเล่มนี้เป็นภาพใหญ่ แน่นอนครับว่าเราจะไม่รู้สึกตื่นเต้นแต่อย่างใด เพราะว่ากันตรงๆ มันก็ไม่ต่างอะไรกับนิยายรักๆ ใคร่ๆ เชยๆ สักเรื่องหนึ่ง เพียงแต่เป็นวิธีเล่าเรื่อง และทัศนคติต่อความรักของ de Button ต่างหากที่ทำให้นิยายรักพล็อตธรรมดาเรื่องนี้พลิกผันไปเป็นบางสิ่งที่พิเศษกว่าเรื่องราวแสนจะเรียบง่ายของมัน
จุดหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจอยู่ที่น้ำเสียงซึ่ง de Button เลือกใช้ในการนำเสนอมุมมองของเขาที่มีต่อความรักผ่านตัวละครชายหนุ่ม ด้วยนิยายเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เพียงแต่ de Button พาผู้อ่านดำดิ่งลงไปในความคิดของตัวละครเอกอย่างลึกซึ้งและละเอียดลออ ลองคิดอย่างงี้ครับว่า เราย่อมคุ้นเคยกับนิยายที่ตัวเอกเป็นผู้บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ฟัง แต่นิยายรักเล่มนี้กลับพาเราไปไกลกว่านั้น ด้วยการถอดโครงความนึกคิดของตัวเอง แยกย่อยออกมาให้เห็นโครงสร้างชัดเจน เปิดเผยให้เห็นถึงต้นสายปลายเหตุว่าอะไรทำให้ตัวเอกของเราถึงต้องคิดเช่นนั้น ต้องทำเช่นนี้ อะไรที่ส่งผลต่อตัวตนและพฤติกรรมของเขา เรียกได้ว่า de Button ไม่เพียงบอกเล่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบนผืนโลกเท่านั้น แต่เขากลับบอกเล่ากระแสความนึกคิดซึ่งไหลหลั่งอยู่ในสมองมนุษย์อย่างสอดคล้องภายในเวลาเดียวกันนั่นเอง
ด้วยวิธีการเล่าเช่นนี้จึงอาจเรียกหนังสือเล่มนี้ได้ว่าเป็นหนังสือรักที่สนใจความคิดที่ไหลเวียนอยู่ในสมองตัวละครมากกว่าการก่อร่างสร้างรูปของความรักที่แสดงผลผ่านความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวทั่วๆ ไป
อีกจุดเด่นหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือแนวคิดทางปรัชญาที่ de Button นำมาใช้ในการเสนอทัศนคติที่เขามีต่อความรัก แนวคิดของนักปรัชญาอย่าง อาริสโตเติล วิตต์เกนสไตน์ อิมมานูเอล คานต์ และคาร์ล มาร์กซ ต่างปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอย่างที่เห็นจากชื่อของหนังสือ Essays in Love นั่นแหละครับ คำว่า Essays ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังเป็น narrative อีกแบบหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ บ่อยครั้งที่ de Button เลือกจะบิดน้ำเสียงการเล่าแบบฟิกชั่น มาอยู่ในรูปของความเรียงเพื่อนำเสนอความคิดของเขา หรือสอดแทรกแนวคิดของนักปรัชญาต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะว่าไปก็ชวนให้นึกถึงการเล่าสไตล์เดียวกับ Milan Kundera นักเขียนเชคผู้เอกอุ ที่หากใครเคยอ่านคงนึกออกนะครับว่า คุนเดอราเองก็มักผสมผสานสไตล์การเล่าของเขาระหว่างฟิกชั่นและนอน-ฟิกชั่นอยู่เสมอ
ผมจะขอยกตัวอย่างคร่าวๆ จากโควตของหนังสือเล่มนี้เพื่อจะได้เห็นถึงแนวคิด de Button ที่มีต่อความรักนะครับ
“ทุกการตกหลุมรักคือชัยชนะของความหวังเหนือความเข้าใจตัวเอง เราตกหลุมรักใครสักคนโดยหวังว่าจะไม่พบกับสิ่งที่ตัวเราเป็น ทั้งความขี้ขลาด อ่อนแอ เกียจคร้าน ไม่จริงใจ ความประนีประนอม และความโง่เง่า เราเชื่อว่าภายในตัวคนที่เรารักจะปราศจากทุกความผิดพลาดในตัวเรา”
“เราตกหลุมรักเพราะหวังที่จะหลบหนีไปสู่ใครอีกคนที่งดงามและฉลาดกว่าตัวเราเองที่ทั้งอัปลักษณ์และโง่เขลา แต่ถ้าอยู่มาวันหนึ่งมนุษย์ที่แสนเพอร์เฟ็กต์คนนั้นหันกลับมามองเรา และตัดสินใจว่าเขาเองก็รักเราเช่นกันล่ะ มันคงจะเป็นเรื่องที่ช็อคเอามากๆ ยิ่งเมื่อคิดว่า ใครคนนั้นจะยังคงวิเศษอยู่ได้อย่างไรเมื่อเขามีรสนิยมแย่ๆ ที่จะชอบพอคนไม่ได้เรื่องอย่างเราได้”
“หากลองถามคนส่วนใหญ่ว่าเชื่อในความรักไหม พวกเขาคงตอบว่าไม่เชื่อ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จริงๆ ที่พวกเขาคิดหรอก มันเป็นแค่วิธีหนึ่งที่ใช้ปกป้องตัวเองต่อสิ่งที่พวกเขาต้องการ ใครๆ ต่างก็เชื่อในรัก เพียงแค่แสร้งว่าไม่เชื่อจนกระทั่งวันที่พวกเขาจะได้รับความยินยอมให้เชื่อ คนส่วนใหญ่อยากจะโยนความคิดเหยียดหยามโลกทิ้งกันหมดล่ะ เพียงแต่ส่วนมากไม่ค่อยจะได้รับโอกาสก็เท่านั้น”
จะเห็นได้ว่าการพูดถึงความรักของ de Button นั้นละเอียดอ่อนอย่างน่าสนใจ เพราะกับเรื่องการตกหลุมรักที่อาจดูไม่น่าจะซับซ้อนอะไร เขากลับเลือกจะขยายความเป็นไปได้ของการตกหลุมรักออกเป็นหลายทาง แต่ด้วยโควตที่ยกมานี้เช่นกันที่มันก็แสดงให้เห็นว่า แม้หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงความรัก แต่มันก็ไม่ได้เทิดทูนความรักอย่างมืดบอดท่าเดียว de Button หยิบยกด้านมืดของความรักให้เห็น แม้กระทั่งกับการตกหลุมรักเองที่ในขั้นตอนนี้คนส่วนใหญ่มักมองเป็นเรื่องสวยงาม ทว่าหากเรามองให้ลึกแล้วอาจมีแง่มุมที่ต่างไปจากเปลือกนอกอันหอมหวานก็เป็นได้
แน่นอนครับว่า de Button ไม่ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นในลักษณะที่จะดึงดันและยึดมั่นว่าความคิดเขาถูก และเราควรจะยึดถือปรัชญาความรักอย่างเขา de Button เพียงแค่สมมติความสัมพันธ์หนุ่มสาวคู่หนึ่งขึ้นมาเท่านั้น และแม้สัดส่วนระหว่างฟิกชั่น และการนำเสนอแนวคิดด้านปรัชญาจะพอๆ กัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้วความรักที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ก็เป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นเท่านั้น แม้ว่าในความธรรมดาเรียบง่ายของมันคือจุดร่วมของความสัมพันธ์และความรักที่เราต่างรู้จักและคุ้นเคยกันดี