1
คุณผู้อ่านคนไหนเคยมีประสบการณ์ที่ต้องแลกเปลี่ยนหรือมีปฏิสัมพันธ์กับแรงงานต่างชาติบ้างไหมครับ?
ผมถามคำถามไปอย่างนั้นแหละ เพราะเชื่อว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่ต่างต้องเคยพานพบ และมีประสบการณ์ร่วมกับคนต่างชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะปัจจุบันแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ กัมพูชาและพม่า ล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยชนิดที่ว่า ต่างฝ่ายต่างขาดกันไม่ได้
ไม่สิ! เอาเข้าจริงแล้วในเชิงเศรษฐกิจ ‘เรา’ อาจจะขาด ‘เขา’ ไม่ได้มากกว่าที่ ‘เขา’ ขาด ‘เรา’ ไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่ากันว่า แรงงานต่างด้าวสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยประมาณร้อยละ 7-10 และสร้างมูลค่าเพิ่มใหักับภาคการเกษตรของไทยประมาณร้อยละ 4-5, ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันตัวเลขคงขยับจากนี้มากไปโข
แต่นั่นแหละครับ นี่ไม่ใช่ประเด็นของบทความนี้เสียทีเดียว (อ้าว แล้วมึงเขียนมาเพื่อ!!) ที่ผมอยากชวนคุณผู้อ่านมาแลกเปลี่ยนกันจริงๆ คือ การมองแรงงานต่างชาติในฐานะผู้บริโภค
2
หนึ่งในเทรนด์การตลาดที่เป็นที่สนใจของธุรกิจมาสักระยะหนึ่งแล้ว คือ การตลาดแบบชาติพันธุ์ (ethnics marketing) หรือการทำการตลาดโดยคำนึงถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ โดยพยายามเปลี่ยนความแตกต่างหลากหลายของชาติพันธุ์ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ
ในสหรัฐอเมริกา การตลาดแบบชาติพันธุ์กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ ‘บริษัทคอนซัลท์’ ไหนที่ไม่พูดถึงเรื่องนี้นับว่าเชยระเบิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำการตลาดกับชาวฮิสปานิก (Hispanic) ซึ่งเคยเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมอเมริกันมาก่อน แต่กำลังเริ่มที่จะลงหลักปักฐานในฐานะพลเมืองและผู้บริโภคได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
ตัวอย่างคลากสิกในกรณีนี้คือ การหาเสียงของบารัค โอบามา ในการเลือกตั้งปี 2008 และในปี 2012 ใครที่เป็นคอการเมืองสหรัฐอเมริกาคงทราบดีว่าว่า หนึ่งในกลยุทธเด็ดของโอบามา คือ การหาเสียงกับชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสปานิกนี่แหละ โดยกว่า 70% ของคนอเมริกันเชื้อสายฮิสปานิกที่ออกไปเลือกตั้งโหวตให้โอบามามากถึง 70 % เลยทีเดียว (อันที่จริงฮิลลารี คลินตันก็ใช้กลยุทธนี้เช่นกัน แต่ดันแพ้ประชานิยมฝ่ายขวาของทรัมป์ซะงั้น)
Pizza Patrón เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มักถูกยกเป็นกรณีศึกษา เรื่องมีอยู่ว่าคุณ Antonio Swad ก่อตั้งร้าน Pizza Patrón เพื่อขายพิซซ่าให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสปานิกโดยเฉพาะ เขามองเห็นว่า ชาวฮิสปานิก ไม่ชอบความรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกขายของ เช่น การจัดรายการลดราคาสินค้าอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเป็นวิธีการแบบวัฒนธรรมของคนอเมริกันกระแสหลัก ดังนั้น การตลาดแบบเดิมจึงมักไม่ได้ผล Swad จึงคิดวิธีสื่อสารกับลูกค้าแบบใหม่ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเป็นมิตรและไว้วางใจ เช่น การทำการตลาดด้วยการให้ลูกค้าใช้เงินเปโซ (เงินของประเทศเม็กซิโก) ซื้อพิซซ่าได้ หรือการแถมพิซซ่าให้กับผู้บริโภคที่สั่งอาหารเป็นภาษาสเปน เป็นต้น ด้วยวีการเช่นนี้ส่งผลให้ Pizza Patrón กลายเป็นแบรนด์พิซซ่ายอดนิยมชองชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสปานิก โดยมีมูลค่ามากว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ใครว่างลองเข้าไปดูเว็บไซต์ได้ที่ www.pizzapatron.com)
3
กลับมาที่เมืองไทย ถ้าจะลองประยุกต์การตลาดเชิงชาติพันธ์มาใช้ ผมคิดว่าแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากที่สุด แม้จะไม่เหมือนชาวฮิสปานิกในสหรัฐอเมริกาเสียทีเดียว แต่ก็พอถูกไถเทียบเคียงบางอย่างได้อยู่
อย่างแรกเลย ผมคิดว่าตลาดแรงงานต่างชาติมีขนาดใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว ข้อมูลอย่างเป็นทางการปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานต่างชาติอยู่ทั้งสิ้นกว่า 1.44 ล้านคนเป็นแรงงานชาวพม่ามากที่สุดกว่า 1 ล้านคน รองลงมาคือแรงงานชาวกัมพูชาประมาณ 2 แสนคน และอันดับสามคือแรงงานชาวลาวประมาณเกือบ 60,000 หมื่นคน ส่วนใหญ่เข้ามาเป็นแรงงานไร้ฝีมือทั้งในภาคอุตสาหกรรม บริการ การก่อสร้าง และเกษตรกรรม
แต่คนที่ศึกษาเรื่องแรงงานต่างชาติมานานเคยกระซิบบอกผมครับว่า ข้อมูลของทางการไทยประเมินน้อยกว่าความเป็นจริงไปมาก ว่ากันว่าประเทศไทยอาจมีแรงงานต่างด้าวมากถึง 4-5 ล้านคน
ไม่ใช่แค่จำนวนเท่านั้นนะครับน่าสนใจ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติจำนวนหนึ่งเริ่มลงหลักปักฐานทางเศรษฐกิจในสังคมไทยได้บ้างแล้ว มีงานวิจัยที่ศึกษาการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรมของทายาทรุ่นที่ 2 ของแรงงานพม่าพบว่า ในด้านเศรษฐกิจ ผู้ย้ายถิ่นจำนวนหนึ่งสามารถยกระดับสถานภาพจากการทำงานในระดับล่างสุดให้สูงขึ้นได้ อาทิ จากแรงงานในไร่นาเป็นชาวนา จากกรรมกรก่อสร้างรายวันเป็นผู้รับเหมาขนาดเล็กที่รับช่วงทำงานฝีมือ เช่น ช่างสี ช่างไม้ ฯลฯ หรือจากแรงงานล้างจานเสิร์ฟอาหารในร้านอาหารเลื่อนหน้าที่ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยกุ๊ก และภายหลังเป็นกุ๊ก และจากกุ๊กกลายเป็นเจ้าของกิจการเอง (ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก)
นอกจากนี้งานวิจัยยังพบด้วยนะครับว่า แรงงานย้ายถิ่นบางคนที่มีหัวค้าขายยังสามารถสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นจากความต้องการเฉพาะของชาวพม่าด้วยกันเอง เช่น การเปิดร้านหมากและทานาคา จนสามารถมีสถานะทางเศรษฐกิจมั่นคงขึ้นได้
ทั้งหมดนี้บอกให้เรารู้ว่า แรงงานต่างชาติไม่ใช่กลุ่มคนที่ไม่มีกำลังซื้อ หากแต่เป็นกลุ่มคนที่กำลังไต่ฐานะทางเศรษฐกิจของตนและมีศักยภาพที่จะเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่คล้ายชนชั้นกลางระดับล่าง หากภาคธุรกิจสามารถเข้าใจลักษณะและความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะสามารถเปิดประตูไปสู่ตลาดที่มีฐานผู้บริโภคที่มีกำลังซื้ออีกหลายล้านคน
4
มาถึงท้ายบทความ คุณผู้อ่านหลายคนอาจสงสัยว่า ธุรกิจอะไรกำลังจะมา?
ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มมองเห็นตลาดนี้และเริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงลูกค้ากลุ่มนี้แล้ว เช่น ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับให้ตู้เอทีเอ็มในจังหวัดสมุทรสาคร (ซึ่งเป็นจังหวดที่มีแรงงานพม่าอยู่เป็นจำนวนมาก) ให้มีบริการภาษาพม่าควบคู่ไปกับภาษาไทย ผลที่ตามมาคือตู้เอทีเอ็มของกสิกรไทยได้รับความนิยมจากแรงงานพม่ามาก ตลาดมือถือเป็นอีกตลาดที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น การพิมพ์โฆษณาเป็นภาษาพม่าเพื่อแจกจ่ายตามแหล่งอาศัยชาวพม่าในจังหวัดสมุทรสาคร เชียงราย (อำเภอแม่สาย) และตาก นอกจากนี้ ยังได้เปิดบริการต่างๆ เป็นภาษาพม่าด้วย ไม่ว่าจะเป็นคอลล์เซ็นเตอร์ บริการดาวน์โหลดเสียงรอสาย การให้บริการดาวน์โหลดเพลงพม่า และล่าสุดคือ การให้บริการสติ๊กเกอร์ไลน์ภาษาพม่า
สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ถ้าใครเคยไปเดินตลาดมหาชัยจะรู้ดีว่า ตลาดมหาชัยมีร้านค้าและบริการสำหรับคนพม่าโดยเฉพาะหลายอย่าง ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า ร้านดอกไม้ (คนนิยมซื้อไปไหว้พระ) ร้านซ่อมวิดีโอ ร้านตัดผม และที่ขาดไม่ได้คือ ร้านขายหมากและร้านน้ำชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชาวพม่าหลายกลุ่มชาติพันธุ์ หากร้านไหนรสชาติถูกปากคนส่วนใหญ่ก็จะมีลูกค้าแน่นร้าน ร้านขายหมากยอดนิยมบางร้านสามารถขายหมากราคาคำละบาทอย่างต่ำวันละ 500 คำเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ธุรกิจที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและยกระดับศักยภาพของแรงงานต่างชาติจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น บริการจัดการด้านเอกสารแรงงาน บริการโอนเงินกลับประเทศบ้านเกิด บริการโรงเรียนสำหรับบุตรหลานที่ต้องการเรียนทั้งภาษาดั้งเดิมและภาษาไทย บริการฝึกทักษะอาชีพเพื่อกลับไปประกอบกิจการในประเทศบ้านเกิด ที่ผ่านมา การให้บริการในธุรกิจเหล่านี้พอมีอยู่บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักโดนวิจารณ์ว่าดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบแรงงานต่างชาติที่อำนาจต่อรองน้อยกว่า
ดังนั้น ตลาดจึงยังคงเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน คุณภาพ และความเป็นธรรม