ช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงหลายๆ ช่วงก่อนหน้านี้ ในสังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ ‘ผู้ใหญ่สั่งสอนเด็ก’ จากทั่วทั้งสังคม จากทุกฝั่งทุกฝ่าย จากทั่วทุกกลุ่มอาชีพทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยตรงและดูจะไม่เกี่ยวอะไรเลย
ใช่ครับ ผมกำลังพูดถึงกรณีของเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อเล่นหรือฉายาว่า แฟร้งบ้าง เนเน่บ้าง หลายๆ คนที่ออกมาสั่งสอนหรือเหน็บแนมเนติวิทย์ก็ดูจะโดนตอบกลับหรือตอกหน้ากลับจนหลบรี้กลับรังแทบไม่ทันไปหลายคน จนมีกระแส ‘ถอนหงอก’ ตามมาทันควัน
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมตั้งใจจะอภิปรายในสัปดาห์นี้ไม่ใช่เรื่องของเนติวิทย์โดยตรง แต่อยากลองมองภาพรวมของการ ‘สั่งสอนคนอายุมากกว่า’ อันเป็นวิถีที่นิยมทำกันไปทั่วในหมู่ผู้วางตัวเป็น ‘ผู้อาวุโส’ หรือ ‘ทรงคุณวุฒิ’ แทบทั้งสิ้น
คำถามแรกเริ่มที่ผมอยากจะให้ลองเริ่มถามตัวเองดู ไม่ว่าท่านจะอยู่ฝั่งที่ถูกเรียกว่าเป็น “เด็กเกรียน นอกคอก ไม่มีสัมมาคารวะ” แบบที่เนติวิทย์โดน หรือท่านจะอยู่ฝั่ง ‘ผู้ใหญ่ ผู้ทรงภูมิ ผู้มากด้วยคุณวุฒิ’ ก็ตาม (หรือจะรำคาญทั้งสองฝั่งเลยก็ได้) คือ คำถามง่ายๆ ว่า (1) “ผู้ใหญ่คืออะไร” และ (2) หน้าที่หรือฟังก์ชันของคนที่เรียกว่า ‘ผู้ใหญ่’ นี้คืออะไร?
แน่นอนว่าคุณสมบัติสำคัญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเป็นผู้ใหญ่ก็คือ ‘อายุ’ (เว้นในบางกรณีที่ความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ มาจากสถานะทางสังคม, สายเลือด, ปริมาณเงินในกระเป๋า หรือคุณสมบัติของหนังหน้าที่เหี่ยวย่นได้ก่อนวัยที่พึงเป็น เป็นต้น) แต่คำว่าอายุในที่นี้ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องอาวุโสวัยเกษียณแต่เพียงเท่านั้น และคำว่า ‘อายุ’ นี้ ไม่ได้เป็นคำที่วางตัวอยู่แบบลอยๆ เพราะมันมักจะผูกอยู่กับเงื่อนไขหรือคุณสมบัติทางสังคมประการอื่นๆ นอกเหนือจากความชราที่มากกว่าผู้รับสารหรือการเทศนาโวหาร
ในสังคมสมัยใหม่ที่วางตนอยู่บนฐานของการเป็น Rational Society หรือสังคมแห่งเหตุผล มันทำให้ตรรกะของความก้าวหน้านั้นไม่ได้วางอยู่ที่วัยวุฒิเป็นหลัก (ในกรณีที่อยู่ในชนชั้นเดียวกัน) ว่าง่ายๆ คือ ในระดับการยอมรับที่ ‘แสดงออกมา’ ในทางสังคมภาพรวมแล้ว ‘แก่ไม่ได้แปลว่าเก่ง’ สิ่งที่ถูกนำมาใช้แทนที่วัยวุฒิจึงกลายเป็น ‘ความรู้ (knowledge) และความสามารถ (performance)’ โดยเฉพาะในกลไกระบบทุนนิยม ความรู้และความสามารถที่สามารถสร้างทุนได้จึงเป็นทักษะที่ได้รับการยอมรับสูงเป็นพิเศษ และในหลายๆ ครั้งความแก่ในระบบทุนนิยมได้กลายเป็นคุณสมบัติที่ด้อยค่าหรือไม่น่าเลือกไป เพราะว่ามันไม่เป็นกำลังในการผลิต (Counterproductive) เผลอๆ จะถ่วงให้ผลผลิตลดลงเอาด้วยซ้ำ ฉะนั้นในระบบสังคมสมัยใหม่ คำที่เสียดสีความแก่ในลักษณะ ‘แก่กะโหลกกะลา’ ในรูปแบบต่างๆ ก็เกิดขึ้นแทน
อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้แปลว่า ‘ความอาวุโส หรือความแก่กว่า’ จะกลายเป็นคุณสมบัติที่ตายลงโดยสิ้นเชิง เป็นธรรมดาที่ผู้ถือครองคุณสมบัติแบบนี้ย่อมต้องพยายามหาทางรอดทางสังคมแห่งความรู้และเหตุผลนี้ให้กับตนเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผูกติดมากับอายุที่คนเหล่านี้พยายามจะนำเสนอออกมาจึงมาในรูปของ ‘การผ่านน้ำร้อนมาก่อน’ หรือก็คือ ‘ประสบการณ์ เท่ากับ ความรู้’ นั่นเอง วิธีคิดนี้อาจจะพอมีความสอดคล้องเล็กน้อยกับแนวคิดเรื่อง Experientialism หรือประสบการณ์นิยม ที่มองว่าประสบการณ์คือความรู้ แต่ว่ากันตรงๆ ที่มาของการ ‘กลายเป็นความรู้’ นั้นดูจะแตกต่างซับซ้อนมากกว่าพอสมควร เพราะฐานคิดของสำนักนี้วางตัวอยู่กับอิทธิพลของภาษาในการสร้าง ‘อุปนัยเชิงกระบวนทัศน์’ (conceptual metaphor) ที่มีผลในการกำหนดระบบความคิดและการรับรู้ของมนุษย์ (cognitive understanding) ในขณะที่ในกรณีที่เกิดขึ้นของไทย ดูจะเป็นอะไรที่พื้นๆ กว่านี้มาก แต่ในภาพรวมแล้วก็มีข้อสรุปในลักษณะเดียวกันนี้เอง
‘ประสบการณ์คือความรู้’ ที่ผูกติดกับ ‘อายุ’ กลายเป็นเงื่อนไขพิเศษที่มาจากคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด 1 ประการนั่นคือ ‘ผู้พูดยังไม่ทันตาย ณ ช่วงเวลาที่มีอายุเท่ากับผู้ฟัง’
แน่นอน การยังไม่ตาย ไม่ได้นำมาซึ่งคุณสมบัติที่พิเศษหรือเป็นประโยชน์ในทันที เพราะบ่อยครั้งคนที่ไม่ยังไม่ยอมตายเสียทีนั้นอาจจะสร้างโทษให้กับสังคมเพิ่มไปเรื่อยๆ ได้ ฉะนั้นเพื่อให้คุณสมบัติที่ว่านี้มีความพิเศษขึ้นมาได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องถูกผูกพ่วงเข้ามาด้วย จึงเป็น “ความยากลำบากแสนเข็นที่เหนือเกินไปกว่าที่ผู้ฟังซึ่งอายุเยาว์วัยกว่าจะเคยประสบพบเจอ หรือจะจินตนาการได้” ว่าง่ายๆ คือ แกต้องแก่เท่ากับฉันเสียก่อนถึงจะเข้าใจหรือได้รับความรู้ชุดนี้ (และเมื่อถึงตอนนั้นหาก ‘ฉัน’ ที่ว่านี้ยังไม่ตาย ก็จะมีอายุมากกว่าแกไปอีกที และมีความรู้มากกว่าตามไปอีก)
“โหยยยย ถ้ายังไม่สี่สิบนะ ไม่เข้าใจหรอกว่ามรสุมการทำงานในชีวิตเป็นยังไง ทั้งช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในที่ทำงาน ทั้งลูกกำลังเริ่มโตอยู่ในวัยต่อต้าน ทั้งความรักที่เคยหอมหวานตอนแต่งงานใหม่ๆ ก็เริ่มจืดจาง ฯลฯ ไอ้ที่คุณว่าหนักตอนนี้น่ะยังเบาะๆ ไว้คุณสี่สิบแล้วคุณจะเข้าใจเอง”
อะไรทำนองนี้แหละที่จะได้พบเจอ ความแก่กว่า + ประสบการณ์ + การเกทับด้วยอุปสรรค์ที่พรรณนาให้โหดยิ่งกว่า = ผู้ทรงภูมิที่มีคุณสมบัติในการสั่งสอนได้ และเราพึงเชื่อ เพราะเราไม่ได้มีประสบการณ์หรือชุดความรู้ชุดที่เขาบอกจริงๆ … ใช่ ก็เรายังอายุไม่ทันถึง 40 จริงๆ และเขา 40 แล้วจริงๆ นี่หว่า ก็ไม่ผิดแน่ๆ ที่เขาจะบอกว่าเรายังไม่เข้าใจหรอกว่าตอน 40 รู้สึกยังไง
จุดนี้เองคือส่วนที่ตอบคำถามที่สองที่เราวางไว้ในตอนต้นที่ว่า ‘ฟังก์ชั่นของผู้ใหญ่’ ที่ว่านี้คืออะไร ในทางกลไกแล้วผู้ใหญ่หรือผู้แก่นี้ก็คือกลไกในการกดหรือเหยียด ‘เด็ก หรือผู้ซึ่งอายุน้อยกว่า’ ว่าเป็นผู้ด้อยกว่าในทางคุณวุฒิหรือปัญญาในสังคม Rational Society นี่ด้วยนั่นเอง เพราะข้อเสนอหลักของพวกเขาคือ ‘ประสบการณ์คือความรู้’ ที่ตลกมากขึ้นไปก็คือ เมื่อพวกเขามีความรู้ที่มากกว่าแล้ว มันจึงดูจะเป็นหน้าที่หรือภาระของพวกเขาด้วย ในการทำหน้าที่สั่งสอนหรือชี้เส้นทางอันพึงเป็นพึงปฏิบัติให้กับเด็กๆ ราวกับแนวคิดเรื่อง ‘ภาระของคนขาว’ (White man’s burden) ในยุคล่าอาณานิคมกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เปลี่ยนมาเป็น Old man’s burden แทนไปเสีย อย่างที่เราเห็นสารพัด ‘รุ่นพี่ และผู้ชรา’ พยายามออกมาตบเกรียนเนติวิทย์ด้วยคำอ้างว่าไม่อาจทนได้ ต้องขอสอนเสียหน่อยนั่นแหละครับ เพียงแต่ผมไม่แน่ใจว่าภาระนี้ เหล่าผู้ตั้งตนว่าทรงภูมิทำไปเพราะมองว่าเป็นภาระในการช่วยเหลือผู้ซึ่งเขามองว่าด้อยกว่าจริงๆ หรือเป็นเพียงการกระเสือกกระสนสร้างคุณค่าทางสังคมครั้งสุดท้ายของพวกเขาบนเวทีที่พวกเขาเริ่มจะถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ด้วยความก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ที่ทิ้งผู้ก้าวไม่ทันไว้ข้างหลังมากขึ้นเรื่อยๆ กันแน่… แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ดูจะไม่ใช่เรื่องดีนัก
ผมอยากจะทำนายเพิ่มเติมไปอีกนิดว่า ในอีกไม่กี่เดือนนี้ อาจจะราวๆ 1 – 2 เดือนที่จะถึง ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังจะเปิดภาคการศึกษาใหม่และมีการ ‘รับน้องใหม่’ เขาไปในมหาวิทยาลัย เราจะพบกับกระแสลักษณะเดียวกันนี้ ผมไม่ได้พูดถึงเฉพาะการรับน้อง ว้ากน้องเท่านั้น ซึ่งมันเป็นอะไรที่งี่เง่าและเลม (Lame) จนไม่น่าจะต้องพูดถึงอีกแล้ว ที่โดยมากมักจะสมอ้างกันไปถึงชีวิตวัยทำงานที่ต้องโดนโขกสับอะไรแบบนี้ ทั้งๆ ที่คนที่ว้ากอยู่มันเองก็ยังไม่เคยออกไปทำงานอะไรเลย และไม่ต้องพูดถึงทางเลือกในการทำงานสมัยนี้ มีมากมายให้เลือกโดยไม่ต้องโดนโขลกสับได้อยู่แล้วด้วย แต่ผมยังหมายรวมถึง ‘How to การใช้ชีวิตในรั้วมหาลัย’ โดยรุ่นพี่ต่างๆ ที่จะพาเหรดกันออกมาอยู่ด้วย
เหล่ารุ่นพี่ผู้ทรงภูมินั้นจะต่างเขียนสเตตัสเฟซบุ๊กกันออกมาให้มืดฟ้ามัวดินไปหมดถึง “ความยากของชีวิตการเรียนในรั้วมหาลัย ที่ยากแสนยากหนักหนา ขนาดที่ยากจะนำชีวิตที่ผ่านๆ มาของน้องๆ ไปเปรียบได้เลย” แล้วก็จะสาธยายสารพัดวิถีกันไปว่ายากอย่างไร เพราะอะไร เพราะมันคือ “ความรู้ซึ่งคนพูดมี แต่คนฟัง (นักศึกษาเข้าใหม่) ยังไม่มี” ฉะนั้นมันจึงเป็นชัยภูมิที่ได้เปรียบเพียงประการเดียวที่พวกเขาสามารถมั่นใจได้ว่าถือครองเหนือกว่าคนที่กำลังฟังเขา และใน Rational Society นี้ มันก็จะกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญให้เขาสามารถ ‘ยืนอยู่เหนือ’ ผู้ฟังตาแป๋ว ดั่งไพร่ฟ้าหน้าใสของพวกเขาได้
ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละครับ มันก็เหมือนกับที่คนอายุ 40 กว่าปี ยกความ ‘ยาก’ ของชีวิตตนไปข่มคนอายุน้อยกว่าที่อายุยังไม่ทันถึง 40 นั่นแหละ คือ จริงอยู่ว่าการถือครองชุดความรู้ของคนที่แก่กว่าหรือบรรดารุ่นพี่มันอาจจะมากกว่าในส่วนที่ว่ามาจริงๆ เพียงแต่ว่ามันไม่ได้จำเป็นหรือเป็นจริงเสมอไปอะไรเลยที่จะ ‘ยากกว่า’ ประสบการณ์ที่ ‘น้องๆ’ นั้นเคยผ่านมาแล้ว
ผมเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถามว่าตอนเรียนปริญญาตรียากไหม ผมก็ตอบว่าก็ไม่ง่ายนัก ด้วยธรรมชาติในการเรียนที่เปลี่ยนไป ด้วยตำราที่เป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด และนักคิดยากๆ มากมายที่ต้องอ่าน มันไม่ได้ง่ายครับ แต่ผมอยากจะประกาศตรงนี้เลยนะครับ สำหรับผมมันง่ายกว่าชีวิตตอน ม.ปลาย ผมมาก ให้ผมตื่นตีห้าเพื่อไปเรียนตั้งแต่แปดโมงเช้า และเรียน 8 คาบต่อเนื่อง ต่อด้วยเรียนพิเศษอีกเนี่ย ผมไม่มีทางรอดครับ หรือให้ผมเลือกระหว่างการต้องมานั่งงมอ่านฟูโกต์ แดริดาร์ หรือฌาคส์ ร็องสิแยร์ กับต้องมาเจอแคลคูลัสอีกรอบนี่ ผมตอบแบบไม่ต้องคิดเลยนะครับว่าผมของมกับนักปรัชญาสายฟุ้งกลุ่มแรกดีกว่าต้องไปตบกับแคลคูลัสของพี่นิวตันเขา
สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ (1) คนที่เด็กกว่าอย่าไปกลัวหรือหลงเชื่อคำกดข่มของพวกคนที่แก่กว่าครับ ว่าประสบการณ์ที่พวกเขาถือครองแต่ฝ่ายเดียวนั้น จะเหนือกว่าสิ่งที่เราเคยผ่านมาแล้วแต่ฝ่ายเดียว อย่างที่ผมบอก ชีวิต ม.ปลาย ไม่ได้ง่ายกว่ามหาวิทยาลัยเลย (นี่ยังไม่ต้องนับสภาพทางจิตใจที่ต้องทนกับผมทรงอุบาทว์ หรือการต้องอดกลั้นไม่ได้รับให้นำเอาสเปิร์มมาใช้ได้อย่างเป็นทางการเลยนะครับ) และ (2) คนที่อ้างตัวว่าแก่กว่านั้น เลิกหากินกับความทรงภูมิจากการกดขี่ด้วยชุดความรู้ที่ตนเองถือครองแต่ฝ่ายเดียว เพียงเพราะเงื่อนไขว่าตัวเองยังไม่ทันตายได้แล้วครับ มันไม่ฉลาดเลย และรังแต่จะทำให้ที่ยืนของคุณมันลดต่ำลง
ประการสุดท้ายที่อยากจะพูดก็คือ หลายๆ คนที่เชียร์เนติวิทย์ตอกกลับหรือถอนหงอกตาแก่หรือยายแก่ทั้งหลายนั้น แม้โดนส่วนตัวผมจะเห็นด้วย แต่ก็อยากให้ช่วยกรุณาย้อนกลับมามองตัวเองด้วยว่า ที่ไปหัวเราะเยาะเขาว่าโดนถอนหงอกนั้น แท้จริงแล้วตัวเองก็ทำตัวแบบนั้นอยู่ด้วยหรือเปล่า เพราะคุณไม่จำเป็นต้องแก่ชรา คุณเพียงแค่ต้องการที่จะ ‘แก่กว่า’ ใครสักคน คุณก็ทำตัวแย่ๆ แบบนี้ได้แล้ว… เพราะเงื่อนไขในการกดเหยียดคนด้วยวิถีทางนี้มันง่ายแสนง่ายเหลือเกิน
สิ่งเดียวที่คุณต้องการคือ ‘อย่าเพิ่งตาย’ เดี๋ยวคุณก็จะได้ความแก่กว่านี้มาเอง โดยไม่ต้องการความฉลาดหรือมันสมองอะไรมากไปกว่านี้เลย
และดูเหมือนสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะอนุญาตให้ลักษณะแบบที่ว่าทำงานได้มากกว่าสังคมประชาธิปไตยมากทีเดียว เพราะแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพไม่เคยจะมีที่ยืนที่แข็งแรงอยู่แล้ว