พอถึงเดือนเมษายน ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นสีชมพู เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งการชมดอกซากุระที่เบ่งบาน คนไทยเองก็ชอบมาเที่ยวกันโดยคอยเล็งจังหวะว่าเมืองที่จะไปจะบานช่วงไหน ซึ่งแต่ละปีเราก็สามารถเช็คได้จากการพยากรณ์ว่าซากุระในแต่ละเมืองจะบานช่วงไหนตามสภาพอากาศของแต่ละเมือง
แต่พอมาคิดอีกที การที่ดอกไม้ชนิดหนึ่งจะบานพร้อมกันและร่วงโรยพร้อมกันในแต่ละพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่จัดว่าแปลกเอาเรื่องนะครับ เพราะมันแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย เวลาเราไปชมดอกซากุระในสวนหรือสถานที่ดังๆ ก็จะเห็นมันบานสะพรั่งเหมือนกันทุกต้นอย่างสวยงาม ซึ่งจริงๆ แล้ว เบื้องหลังของสิ่งที่ทำให้เกิดความสวยงามเช่นนี้ ก็กำลังเป็นสิ่งที่คุกคามการชมซากุระเอง และต่อไปเราอาจจะไม่มีโอกาสชมซากุระสายพันธุ์นี้อีกต่อไปด้วยซ้ำครับ
ต้นซากุระที่เราเห็นกันตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่างๆ ที่มีสีขาวเจือสีชมพูระเรื่อ เวลาบานแล้วดอกออกเต็มต้นอย่างสวยงาม คือสายพันธุ์ Someiyoshino ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ถูกผสมขึ้นมาในช่วงปลายยุคเอโดะ จากการผสมสายพันธุ์ Ooshimazakura และ Edohigan ในหมู่บ้าน Somei ซึ่งก็คือบริเวณ Komagome ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นสายพันธุ์ฮิต เพราะจุดเด่นของสายพันธุ์นี้คือ เวลาบาน ดอกกจะบานเหนือใบทำให้ดูสวยงาม โตไว และมีดอกตั้งแต่ตอนต้นยังเล็ก พอเข้าช่วงยุคเมจิ ก็กลายเป็นสายพันธุ์ฮิตแพร่หลายไปทั่วประเทศ
ในปัจจุบันว่ากันว่ากว่า 80% ของซากุระที่บาน
ในญี่ปุ่นคือสายพันธุ์ Someiyoshino
จริงๆ แล้ว แต่เดิมญี่ปุ่นเขาชื่นชมดอกบ๊วยเพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน ก่อนที่จะหันมาชื่นชมความงามของดอกซากุระในยุคเฮอัน โดยในญี่ปุ่นก็แบ่งซากุระออกเป็นสองสายคือ สายป่า ที่เรียกรวมว่า Yamazakura ที่เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ในธรรมชาติ มีสายพันธุ์ดังๆ เช่น Ooshimazakura, Yamazakura หรือ Edohigan ส่วนอีกสายคือ Satozakura คือสายพันธุ์ที่มีคนผสมพันธุ์เพาะเลี้ยงขึ้นมาจนได้สายพันธุ์ใหม่ เช่น Someiyoshino, Kohigan หรือ Ookanzakura เป็นต้น ซี่งจากฝีมือของช่างฝีมือญี่ปุ่นนี้ ทำให้ช่วงปลายยุคเอโดะมีสายพันธุ์ซากุระเกือบถึง 300 สายพันธุ์เลยทีเดียว แต่ในที่สุด สายพันธุ์ Someiyohino ก็ได้รับความนิยมสูงสุดด้วยเหตุผลที่อธิบายไป และก็ถูกนำไปประดับในสถานที่ต่างๆ รวมถึงในเรือนของขุนนางทั้งหลายด้วย
แต่ซากุระสายพันธุ์ที่ช่างฝีมือพยายามผสมพันธุ์มา ก็ต้องพบกับอันตรายสองครั้งคือ ครั้งแรกในช่วงการปฏิรูปเมจิ ที่เรือนของขุนนางเก่าทั้งหลายถูกโจมตี และต้นไม้ในเรือนก็ถูกนำมาทำเป็นฟืน จนจากที่เคยมีเกือบ 300 สายพันธุ์ก็ลดฮวบ ดีที่มีช่างฝีมือพยายามไล่เก็บกิ่งสายพันธุ์ต่างๆ ไว้ ทำให้เหลือรอดมาได้บ้าง แต่ก็ยิ่งทำให้สายพันธุ์ Someiyoshino ถูกปลูกแทนเพราะความนิยม พอเข้าช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เจอปัญหาเดิมอีกครั้งคือ ต้นซากุระก็ถูกโค่นนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ (ก็มันไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ธุรกิจนั่นล่ะครับ ไม่เหมือนไม้ให้ผลที่ยังเอามากินได้) จนจำนวนต้นซากุระลดฮวบลงอีกครั้ง
แต่พอสงครามจบ ก็เป็นโอกาสเฉิดฉายของ Someiyoshino อีกครั้ง เพราะเมื่อสงครามจบ ซากุระสายพันธ์ุนี้ก็ถูกนำไปปลูกที่นั่นที่นี่ เป็นพันธุ์ไม้ประดับที่ได้รับความนิยมสูง และจุดเด่นของสายพันธ์ุนี้ก็คือ เมื่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิเป็นใจ มันก็จะบานอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้ได้ภาพที่สวยงามเป็นอย่างมาก แต่นี่ล่ะครับคือสิ่งที่กลายมาเป็นปัญหาของสายพันธุ์ Someiyoshino ในภายหลัง
การที่ต้นไม้จะออกดอกบานพร้อมกันขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ ซึ่ง Someiyoshino ก็ไม่ใช่ซากุระที่เกิดตามธรรมชาติแต่แรกนั่นล่ะครับ เพราะมันถูกเพาะพันธุ์ขึ้นมา และซากุระไม่สามารถที่จะแพร่พันธุ์ด้วยต้นของตัวเองเพียงต้นเดียว ต้องผสมกับต้นอื่น แต่ปัญหาคือ เมื่อผสมกับต้นอื่นแล้ว มันก็จะไม่สามารถผลิต Someiyoshino ดั้งเดิมได้ ทำให้กลายเป็นสายพันธุ์ทางไป คล้ายๆ กับการเลี้ยงหมาเพดดิกรีก็ต้องผสมระหว่างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เท่านั้น แต่ปัญหาก็คือ เจ้า Someiyoshino นี่มีต้นดั้งเดิมต้นเดียวนี่สิครับ (เพราะเกิดจากการตัดแต่งโดยมนุษย์) จะผสมพันธุ์กับตัวเองก็ไม่ได้ สุดท้ายก็คือ เมื่ออยากแพร่พันธุ์ Someiyoshino ก็ต้องทำการต่อกิ่งแบบเสียบยอดหรือตอนกิ่ง ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ฟังดูเวอร์หน่อย ก็ต้องบอกว่า ต้นซากุระสายพันธุ์ Someiyoshino ที่กระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่นในทุกวันนี้ ก็คือโคลนนิ่งของ Someiyoshino ต้นแรกที่ถูกผสมพันธุ์ขึ้นในช่วงปลายยุคเอโดะนั่นเอง
พอเป็นโคลนนิ่งแล้ว ทุกอย่างก็เหมือนกันหมด
เวลาสภาพแวดล้อมเป็นใจ ก็จะบานพร้อมกัน
โรยพร้อมกัน ได้ดอกสีเดียวกันหมด
กลายเป็นความพร้อมเพรียงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นั่นเอง
แต่นั่นก็กลายมาเป็นดาบสองคม เพราะการที่มันเป็นซากุระที่เพาะพันธุ์ขึ้นมา ทำให้อายุขัยของ Someiyoshino สั้นลงมาก คือเหลือแค่ประมาณ 60 ปีเท่านั้น และด้วยความที่เป็นการโคลนนิ่ง บานพร้อมกัน โรยพร้อมกัน และเมื่อป่วย ก็ป่วยก็พร้อมกันครับ เพราะระบบโครงสร้าง DNA มันเหมือนกันทุกต้นเป๊ะๆ พอป่วยเป็นโรคอะไร ก็ติดกันได้อย่างง่ายดาย
โรคหนึ่งที่เป็นปัญหาของสายพันธุ์ Someiyoshino ก็คือโรคพุ่มแจ้ ที่ทำให้ดอกไม่บานและมีกิ่งก้านเพิ่มจำนวนมากขึ้นมาแทน นอกจากนี้ เพราะว่ามันคือต้นต้นเดียวกัน เวลาปลูกใกล้กันแล้วโตขึ้นมา เวลากิ่งมันงอกออกมาชนกัน ถ้าเป็นต้นไม้ทั่วไป พวกมันก็จะรู้ว่า อีกต้นคือต้นอื่น จะเลี่ยง ไม่ยอมให้กิ่งก้านแตะกันโดยอัตโนมัติ (สังเกตในป่าดู) แต่ Someiyoshino กลับปล่อยให้กิ่งก้านชนกันเอง เพราะมันไม่คิดว่าต้นซากุระต้นอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กันคือต้นไม้อีกต้น ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะการมี DNA เดียวกันนั่นเอง และนั่นทำให้การติดโรคเกิดขึ้นในง่ายกว่าปกติ
กลายเป็นว่า ตอนนี้ ต้นซากุระสายพันธุ์ฮิตที่ถูกปลูกหลังสงครามโลกหลายต่อหลายที่ ก็เริ่มที่จะเหี่ยวเฉาไปพร้อมๆ กัน ปลูกพร้อมกัน ก็ตายพร้อมกัน หลายๆ ที่ก็เริ่มเห็นปัญหานี้ เลยพยายามที่จะปลูกทดแทนไปเรื่อยๆ แต่ก็อย่างที่บอกว่า มันก็มีความเสี่ยงเช่นเคย เพราะต่อให้เป็นต้นที่อายุน้อยกว่า แต่ถ้าอยู่ในบริเวณเดียวกันแล้วเกิดการติดโรค ก็กลายเป็นว่าติดกันหมดเช่นเคย เป็นปัญหาของต้นซากุระสายพันธุ์ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น ที่อาจจะเผชิญปัญหาหายไปพร้อมกันหมดเลยก็ได้ เพราะในแง่ธุรกิจแล้ว ทั้งอายุที่สั้นเกินไป (Edohiga สายพันธุ์แม่มีอายุขัยประมาณ 500 ปี) รวมถึงความเสี่ยงต่อการติดโรค ทำให้คนเริ่มหันหลังให้สายพันธุ์นี้ จนสมาคมดอกไม้ญี่ปุ่นยังแนะนำให้เลิกขายกิ่งชำและเลิกตอนกิ่ง Someiyoshino พร้อมทั้งแนะนำสายพันธุ์อื่นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009
คำถามสำคัญคือ สายพันธุ์ไหนควรจะ
นำมาแทน Someiyoshino ที่โด่งดังมานาน
ดูเหมือนว่าสายพันธุ์ที่จะถูกนำมาแทนก็คือ Jindaiakebono ที่จะว่าไปก็เป็น ‘ลูก’ ของ Someiyoshino ก็ว่าได้ แถมมีประวัติน่าสนใจมาก เพราะมันคือสายพันธุ์ที่เกิดจาก Someiyoshino ที่ถูกส่งไปเป็นของขวัญให้อเมริกาในปี ค.ศ. 1912 แล้วไปผสมกับสายพันธุ์อื่นที่ถูกส่งไปจากญี่ปุ่นเช่นกัน จนได้สายพันธุ์ใหม่และอเมริกาตั้งชื่อให้ว่า Akebono ต่อมาในปี ค.ศ. 1965 สวนพฤษศาสตร์ Jindai ก็นำเข้าสายพันธุ์ Akebono กลับเข้ามาในญี่ปุ่น แต่ในญี่ปุ่นมีพันธุ์ Akebono อยู่แล้ว เลยตั้งชื่อในญี่ปุ่นว่า America และนำมาทำการต่อกิ่งเพาะพันธุ์ จนได้ดอกที่มีลักษณะต่างจากเดิม และประกาศเป็นสายพันธุ์ใหม่ในปี ค.ศ. 1991
นอกจากจะเป็น ‘ลูก’ ของ Someiyoshino แล้ว Jindaiakebono ยังมีความคล้ายคลึงกับ Someiyoshino เป็นอย่างมาก โครงสร้างต้นก็คล้ายคลึงกันแต่อาจจะเล็กกว่า (ต้นเต็มวัยสูงประมาณ 13 เมตร เทียบกับSomeiyoshino ที่สูง 18 เมตร) แต่ก็อาจจะเหมาะกับการปลูกในเมือง ที่สำคัญคือ ช่วงเวลาในการบานก็ใกล้เคียงกันมาก และยังทนต่อโรคพุ่มแจ้ เพียงแต่ว่า สีชมพูของ Jindaiakebono จะเข้มกว่า Someiyoshino อยู่สักหน่อย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนอาจจะไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะติดกับสีขาวเจือชมพูระเรื่อของ Someiyoshino มากกว่า
ฟังดูแล้วก็น่าเป็นห่วงอนาคตของ Someiyoshino ซากุระสายพันธุ์ที่เป็นที่รักของชาวญี่ปุ่น ขนาดชื่อของมาสคอตโอลิมปิกที่โตเกียวตัวสีชมพูยังใช้ชื่อ Someity ที่มาจาก Someiyoshino เลยทีเดียว แต่ก็อาจจะฝืนกระแสและความจำเป็นทางเศรษฐศาสตร์ได้ลำบากครับ บางที ช่วงเวลาเฉิดฉายของ Someiyoshno คงจะใกล้หมดลง และปล่อยให้ลูกขึ้นมาเบ่งบานแสดงความโดดเด่นแทนในไม่ช้า