ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในคำที่ได้ยินกันอย่างหนาหูคำหนึ่งในสังคมไทย คือ คำว่า ‘พุทธแท้-พุทธเทียม’ (จนเลยไปถึงความเป็น ‘คนดี-คนไม่ดี’) ซึ่งหลักๆ ก็มาจากเรื่องประเด็นวัดธรรมกายอย่างที่เรารู้ๆ กัน และจากจุดนี้เองก็นำมาสู่ข้อถกเถียงมากมาย เช่น “คนดีของใคร”, “ใครมาตัดสินคนดี”, “แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าคนดีนั้นต่างหากที่คับแคบน่ารังเกียจ”, “เราเข้าใจความดีผิดไปไหม”, หรือ “แบบไหนเรียกพุทธแท้ แบบไหนพุทธเทียม”, “พุทธแท้มีจริงหรือ” ฯลฯ
ข้อถกเถียงหลายประการมีความแหลมคมและน่าสนใจมาก (ควรได้ลองตามอ่านกันดูหากพอมีเวลา) ผมจึงตัดสินใจว่าผมจะไม่แตะประเด็นเหล่านี้ที่มีการอภิปรายกันไปแล้ว ผมเลยอยากลองอภิปรายในประเด็นอื่นลองดู เพราะฉะนั้นโปรดสูดหายใจเข้าลึกๆ เปิดใจกว้างๆ ขณะอ่าน ถือเสียว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ อย่าได้ถือโกรธคิดไล่ฆ่ากันเลย
จริงๆ แล้ว ผมอยากพูดทั้งในเชิงโครงสร้างและในรายละเอียดปลีกย่อย แต่ด้วยเนื้อที่คงทำได้พูดถึงเรื่องปัญหาทางโครงสร้างเพียงบางส่วนก่อนในครั้งนี้ คือ เวลาเราพูดถึงศาสนาและการนับถือจนไปถึงความคลั่งศาสนาอย่างสุดโต่ง (Fundamentalist/Radical/Extremist) นั้น มันแปลว่าเรากำลังพูดถึงไอเดียสำคัญ 2 อย่างคือ Religion กับ Religiosity ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คำว่า Religion นั้นแปลตรงตัวก็คือ ‘ศาสนา’ นั่นแหละ เดิมทีมาจากคำละตินที่มักใช้กับแนวคิดศาสนาแบบเอกเทวนิยมหรือมีพระเจ้าองค์เดียว (Theism) คือ มาจากคำว่า Re + Ligio หรือแปลงเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Re + Connect อันมาจากความคิดว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของพระเจ้าที่ถูกตัดขาดออกมาจากตัวตนของพระเจ้า[1] การเข้าสู่หนทางของศาสนาจึงหมายถึงการพยายาม “กลับคืนไปเป็นส่วนหนึ่ง หรือเชื่อมต่อกับพระเจ้าอีกครั้ง”[2] แต่ต่อมาคำว่า Religion นี้ก็ถูกใช้ในความหมายของศาสนาในแบบอื่นๆ นอกเหนือจากศาสนาแบบเอกเทวนิยมด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบบพหุเทวนิยมหรือมีพระเจ้าหลายองค์ (Pantheism, สรรพเทวนิยมก็ได้) หรือแบบอเทวนิยมหรือไม่มีพระเจ้า (Atheism) ที่อิงอยู่กับคำสอนแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ (กรณีของศาสนาพุทธนั้นยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าเป็นศาสนาในกลุ่ม Pantheism หรือ Atheism) นั่นก็คือ การพยายามปรับตัวตนในทางโลก ให้เข้าสู่หนทางหรือตัวตนที่ศาสนิกของศาสนานั้นๆ มองว่าสูงค่ากว่าชีวิตในวิถีทางโลกของตน และจะทำให้ได้กลับไปเชื่อมโยงกับคุณค่าที่สูงกว่าชีวิตดั้งเดิม ไม่ว่าคุณค่านั้นจะเป็นพระเจ้า, ปรมาตมัน หรือนิพพานตามคำสอนก็ตามที
ฉะนั้นการใช้คำว่า Atheist ซึ่งมาจากคำว่า Atheism หรืออเทวนิยมอย่างที่นิยมกันนั้นอาจจะเป็นการใช้ที่ผิดจากจุดมุ่งหมายอยู่บ้างสำหรับคนที่ต้องการจะบอกว่าตนเองไม่นับถือศาสนา คำที่ถูกต้องมากกว่าอาจจะเป็น Agnosticism (อญาณวิทญา), Irreligion (ไร้ศาสนา), Secularist (นักโลกนิยม), Non-believer (ผู้ไม่นับถือในความเชื่อใด) เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต่อให้เป็นคนกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่ไร้ซึ่ง Religiosity ซึ่งจุดนี้เองเป็นความต่างสำคัญของ Religion กับ Religiosity แม้คำว่า Religiosity มักจะถูกผูกติดอยู่กับความเชื่อหรือความศรัทธาที่มีต่อศาสนา (อันนำไปสู่สภาวะ Overreligiosity ได้) แต่ Religiosity ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่แค่นั้น เพราะเอาจริงๆ แล้วคำนี้มีความหมายว่า Strong religious feeling or belief[3] ซึ่งแปลว่า “ความรู้สึกหรือความเชื่ออย่างศาสนา (religious) แบบรุนแรง” ซึ่งคำว่า Religious นั้นมันมีสามความหมายหลัก สองความหมายแรกสัมพันธ์กับความเคารพนับถือหรือการถวายตัวและจิตวิญญาณให้กับพระผู้เป็นเจ้าหรือศาสนา แต่ความหมายที่สามนั้น มันหมายถึง การเคารพเชื่อฟังหรือการอุทิศตัว (Devotion) อย่างเต็มที่ต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมือนการนับถือพระเจ้าหรือคำสอนในทางศาสนา
ความหมายที่สามของ Religiosity นี้เองที่ทำให้พรมแดนของนิยามของคำๆ นี้กว้างกว่า Religion เพราะมันกินพื้นที่มาถึงแนวคิดหรืออุดมการณ์แบบอื่นๆ ได้ด้วย อย่าง ชาตินิยม, สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตยหรือเสรีนิยม ฯลฯ
ดังจะเห็นได้จากการสละตัวเองหรืออุทิศชีวิตให้กับคุณค่าต่างๆ เหล่านี้ แต่มันไม่ได้หมายความว่าคนที่มี Religiosity ต่อแนวคิดเหล่านี้จะต้องทำไปเพื่อให้ตัวเองได้กลับมา Reconnect หรือเชื่อมต่อกับคุณค่าที่สูงกว่าชีวิตตนเองแบบเงื่อนไขการนับถือศาสนา Religiosity ที่มีต่อคุณค่าอื่นๆ นอกจากศาสนานั้นบ่อยครั้งที่เกิดขึ้นเพื่อ “ความคาดหวังที่จะมีต่ออนาคตของสังคมในทางโลก” (แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเช่นนี้เสมอไป) ซึ่งต่างจากคติความคิดในทางศาสนาค่อนข้างมาก เพราะแนวคิดและการนับถือในทางศาสนาเริ่มมาจากความคาดหวังที่มีต่อตัวตนของตนเองที่จะได้กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวตนทางโลกของตนอีกครั้ง มันมาจากฐานคิดที่เป็นการทำเพื่อตนเองโดยแท้จริง ไม่ใช่การทำเพื่อตัวตนอื่นใดเลย แม้แต่ความคิดคำสอนเรื่องความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีในคำสอนของแทบทุกศาสนาก็คงอยู่ในฐานะ “กลไกหรือวิธีการเพื่อให้ตนเองได้เข้าสู่เส้นทางแห่งการหลุดพ้น (จากตัวตนทางโลก) เพื่อได้กลับไปเชื่อมต่อกับคุณค่าอันยิ่งใหญ่นั่นเอง” กล่าวคือ เป็นการทำให้คนอื่นเพื่อตัวเองอยู่ดี
ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยกลไกการทำงานของศาสนาที่วางตัวเองอยู่กับการสร้าง ‘ความจริงสัมบูรณ์’ (Absolute Truth) ที่เชื่อว่ามีคำตอบที่ถูกต้องสูงสุดต่อคำถามว่าด้วยตัวตนและการดำเนินชีวิต ผนวกกับวิถีปฏิบัติที่จะนำไปสู่บั้นปลายแห่งความจริงสัมบูรณ์เพื่อนำไปสู่การเชื่อมต่อกับคุณค่าสูงสุดที่ตัดขาดจากทางโลกได้นั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นเส้นทางสายเดียวตามบัญญัติแห่งศาสดานั้นๆ โดยห้ามแย้งเห็นต่างเพราะนี่คือความจริงอันสมบูรณ์แล้ว จนกว่าจะเกิดการชำระ, สังคายนา เกิดความขัดแย้งในการตีความหลักปฏิบัติภายในเป็นครั้งๆ ไป หรือเกิดการยอมรับความจริงได้เสียทีว่าความจริงสัมบูรณ์ที่ตนกล่าวอ้างนั้นแท้จริงมันผิดได้ มันไม่สัมบูรณ์ได้ ดังที่เกิดกับศาสนาคริสต์ ที่พระสันตะปาปาฟรานซิสออกมายอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการ รวมถึงยอมรับว่าคำสอนเดิมทางศาสนานั้นผิด เป็นต้น ผนวกกับโครงสร้างของศาสนาที่เน้นการสร้างความเป็นอื่น (Otherness of Self) ที่กำหนดคุณค่าให้ศาสนิกเป็นผู้มีคุณค่าสูงกว่า บริสุทธิ์กว่า ถูกต้องกว่า สมบูรณ์กว่าผู้เป็นอื่น มันทำให้ผู้นับถือศาสนา โดยเฉพาะนับถืออย่างสูงมากเกินไป มีแนวโน้มสูงว่าที่จะเป็นคนคับแคบหรือไม่เปิดกว้างทางความคิด เพราะศาสนาสร้างขึ้นมาเพื่อให้ปัจเจกมีตัวตนอยู่เพื่อปัจเจกเอง แม้แต่การสละชีวิตเพื่อเชื่อมต่อกับคุณค่าสูงสุดอีกครั้งก็เป็นไปเพื่อตนเอง
ความคับแคบนี้บางครั้งนำมาสู่ปัญหาของการมองไม่เห็นถึงปัญหาบางประการ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ธรรมกายว่าเป็นพุทธพาณิชย์ เพราะมีการใช้คำสอนที่เน้นให้คนบริจาคทรัพย์สินแลกแต้มบุญ จนถูกประณามว่าเป็นพุทธเทียม ซึ่งก็อาจจะจริงหากมองจากกรอบคิดแบบหนึ่ง แต่ความคับแคบนี้เองทำให้มองไม่เห็นว่าแท้จริงแล้ว การบริจาคเงิน แลกแต้มบุญของธรรมกายในทางโครงสร้างแล้วไม่ได้ต่างจาก การตั้งตู้บริจาคเพื่อสร้างอุโบสถหรือกุฏิในแทบทุกวัดทั่วประเทศเลย ไม่นับไปถึงการทอดกฐินต่างๆ หรือแม้แต่การบิณฑบาตเองโดยหลักการแล้วก็เป็นการบริจาคทรัพย์เพื่อความคาดหวังในการได้บุญในทางหนึ่งเช่นกัน ความต่างอาจจะอยู่เพียงแค่ความตรงไปตรงมาที่มีต่อคำสอนตัวเองเท่านั้น ว่ายอมรับวิถีปฏิบัติเพื่อความอยู่ของความเป็นศาสนาในโลกทุนนิยมได้หรือไม่ และพร้อมจะยอมรับข้อเท็จจริงนี้อย่างเปิดเผยหรือไม่เปิดเผย หรือการมองว่าคนในวัดธรรมกายเชื่อว่าพระสามารถหายตัวได้จริง เป็นเรื่องที่หลอกลวงน่าขบขัน แต่กลับไม่มองเห็นความลวงของคำอธิบายว่าทารกแรกเกิดสามารถก้าวเดินได้ทันทีและมีดอกบัวผุดมารองรับทุกย่างก้าว เป็นต้น
ที่ผมพล่ามเรื่องนี้มานาน เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคำว่า Religion และ Religiosity นี้ มันนำมาสู่ปัญหาในเชิงโครงสร้างต่อการไม่เปิดพื้นที่ให้การวิจารณ์ทางศาสนาครับ คือ ในรัฐประชาธิปไตย ที่นับตัวเองเป็น Secular State (หรือรัฐแบบโลกนิยม) นั้น มันมีการคัดง้างกันมานานมากระหว่างหลักคิดเรื่อง คุณค่าสากล (Universal Value) กับคุณค่าจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เรามักได้ยินกันในชื่อ พหุนิยมทางวัฒนธรรม (Multiculturalism) นั่นเอง คุณค่าสองชุดนี้ที่คัดง้างกันอยู่นั้นวางอยู่บนแนวคิดเรื่อง “ปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) และปริมณฑลส่วนตัว (Private Sphere)” ครับ แล้วสองอย่างนี้มันมายุ่งกับ Religion vs Religiosity ที่ผมพล่ามไปยาวยืดแต่แรกยังไง?
คือ ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้น โดยหลักการแล้วคุณค่าในทางสากลนั้นจะถือเป็นคุณค่ากลางที่พึงเป็นมาตรฐานหลักของสังคม เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม เสรีภาพ ประชาธิปไตย ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นคุณค่าที่ยึดครองปริมณฑลสาธารณะของสังคม ในขณะที่วัฒนธรรมย่อย รวมไปถึงความเชื่อต่างๆ ส่วนบุคคลอย่างศาสนานั้นเรียกรวมๆ ว่าความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งโดยมากจะถือว่าอยู่ในส่วนของปริมณฑลส่วนตัว การกำหนดสัดส่วนของพื้นที่ความเป็นปริมณฑลส่วนตัวกับสาธารณะนั้นแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่สังคมนั้นๆ แต่เงื่อนไขเบื้องต้นสุดก็คือ ความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อยนั้นต้องไม่สำคัญเหนือ (precedence) คุณค่าสากลของสังคม หากมันขัดกับคุณค่าสากล ก็ต้องปรับหรือเลิกวัฒนธรรมย่อยนั้น อย่างไรก็ดีสังคมส่วนใหญ่ไม่เฉพาะแต่ไทยมักจะเจอปัญหาในกรณีที่เป็นเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเมื่อศาสนาขัดกับคุณค่าหลักในทางสากล เพราะยึดโยงเอา Religiosity ไปผูกติดกับ Religion อย่างแทบจะแยกกันไม่ออก กล่าวคือ ศาสนาในความเข้าใจที่ผิดนั้น ยึดโยงสองสถานะเข้าด้วยกัน อยู่ในฐานะร่มของวัฒนธรรมย่อยอันหลากหลายที่ได้รับการปกป้องอยู่ใต้เงื่อนไขของพหุวัฒนธรรมนิยม และอยู่ภายใต้ร่มของ Religiosity ที่ถูกทำให้กลายเป็นอำนาจในการคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ในฐานะวิถีอันเกิดจากการอุทิศตัวตนในทางโลกของผู้ปฏิบัติ เพื่อคุณความดีของคนหมู่มาก ซึ่งถือครองการตีความความดีในเชิงคุณค่าและวิถีปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นพันธะอันศักดิ์และละเอียดอ่อนอีกด้วย
นอกจากวิธีคิดที่ว่านี้จะผิดในทุกระดับแล้ว เพราะ (1) Religiosity ไม่ได้ผูกติดกับศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว, (2) ต่อเนื่องจาก (1) คือ Religiosity ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการห้ามการวิจารณ์ได้ ดังจะเห็นได้จากอุดมการณ์ความคิดอื่นๆ ซึ่งอยู่ใต้เงื่อนไขของ Religiosity เช่นเดียวกัน ก็ถูกกระหน่ำวิจารณ์อยู่เนืองๆ และ (3) ศาสนาเองไม่ได้เพื่อสนองสังคมองค์รวม แต่ท้ายที่สุดแล้วด้วยกลไกรากฐานของมัน มันมีขึ้นเพื่อสนองความต้องการของปัจเจกหนึ่งๆ เท่านั้น แต่เมื่อศาสนาอาศัยช่องว่างจากความไม่รู้ (Ignorance) ของสังคมมาเป็นเงื่อนไขในการยึดครอง Religiosity เอาไว้ฝ่ายเดียว และการครอบครองแต่ฝ่ายเดียวนี้มันทำให้ความหมายของคำนี้โดนลดทอนไปเหลือเฉพาะแต่เป็นเงื่อนไขจำเพาะพิเศษของศาสนา ซึ่งมักกลายมาเป็นข้ออ้างเรื่อง ‘ความอ่อนไหว’ (Sensitivity) ต่อข้อวิจารณ์ต่างๆ ควรได้รับการปกป้องพิเศษประหนึ่งสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ จากความอ่อนไหวนี้
ที่จู่ๆ ผมได้เทียบกับสัตว์สงวนหรือสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นั้นไม่ได้มีเจตนาจะกระแนะกระแหนอะไร เพียงแต่อยากอุปมาให้เห็นภาพแต่โดยเร็วว่า ‘การปกป้องอย่างเป็นพิเศษ’ นั้นมันเกิดขึ้นจากการมี ‘ลักษณะจำเพาะ’ ขึ้น เพื่อจะบอกว่า “ตนนั้นพิเศษต่างจากผู้อื่นจึงพึงได้รับการปฏิบัติต่ออย่างพิเศษด้วย” อย่างที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้รับการปกป้องสูงเป็นพิเศษกว่าสัตว์แบบอื่นๆ นั่นเพราะมันดำรงไว้ซึ่งความมีลักษณะจำเพาะของมัน ความเป็นศาสนาเองก็เช่นเดียวกัน การถือครอง Religiosity ในฐานะลักษณะจำเพาะเหนือคุณค่าและอุดมการณ์ต่างๆ พร้อมๆ กับการบิดความหมายของ Religiosity นั้นได้ไปสร้างสภาวะยกเว้นพิเศษให้กับศาสนาขึ้นมา เพราะฉะนั้นคำว่า ‘พุทธเทียม’ จึงต้องเกิดขึ้นมา เพื่อผลักดันสิ่งที่เราอยากจะด่า อยากจะวิจารณ์ออกไปจากพื้นที่แห่งการปกป้อง หรือพื้นที่แห่งเอกสิทธิ์อันเกิดจากลักษณะจำเพาะที่ศาสนาถือครอง เมื่อธรรมกายเป็นเพียง ‘พุทธเทียม’ แล้ว ผู้วิจารณ์จึงสามารถวิจารณ์ได้โดยสบายใจว่าจะไม่ไปกระทบกระเทือนต่อพุทธหลัก (ซึ่งถูกแทนด้วย ‘พุทธแท้’ เป็นการชั่วคราว) ซึ่งอย่างที่บอกวิธีการแบบนี้เกิดจากวัฒนธรรมทางความคิดที่คับแคบของการนับถือศาสนาอย่างล้นเกิน ทั้งยังมักทำให้มองข้ามความจริงตรงหน้าว่าบ่อยครั้งสิ่งที่กำลังด่า กับสิ่งที่กราบไหว้นับถือนั้นอาจเป็นสิ่งเดียวกันได้
ผมคิดว่าการใช้ Religiosity แบบผิดๆ นี้นอกจากจะทำให้ศาสนากลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจในคติแบบสมัยใหม่แล้ว มันยังทำให้ศาสนาถูกแช่นิ่ง เนิบช้าและแห้งเหี่ยวไปตามกาลเวลาอีกด้วย ถ้าหากเราไม่ปล่อยให้มันได้รับการวิจารณ์อย่างครบถ้วนและถึงรากถึงโคน เราก็จะได้แต่อยู่กับพุทธแท้ คริสต์แท้ อิสลามแท้ในความหมายว่า ‘ความลวงที่ถูกจริตเรา’ เท่านั้น มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะถอนการครอบครอง Religiosity ที่ศาสนาพยายามยึดครองเพื่อสร้างความจำเพาะให้ตนเอง และปฏิบัติกับมันอย่างชุดคิดคุณค่าอื่นๆ (ที่อยู่ในเงื่อนไข Religiosity เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ไปดึงเอา Religiosity มากอดติดไว้กับตัว) อย่าง ประชาธิปไตย สิทธิ สารพัดนิยม ที่เราสามารถเขียนถึงได้ ด่าได้ วิจารณ์ได้ ตรวจสอบได้ ปรับเปลี่ยนได้ เมื่อนั้นศาสนาที่ไม่เป็นตัวถ่วงยุคสมัยจึงจะเกิดขึ้นได้ครับ
Illustration by Namsai Supavong
[2] มีการอธิบายที่มาของคำๆ นี้ในแบบอื่นๆ อีกเช่นกัน เช่น ความหมายว่าคือการเคารพในพระผู้เป็นเจ้าอย่างสุดซึ้ง หรือ พันธะหรือสายสัมพันธ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์
[3] จาก https://en.oxforddictionaries.com