“ในญี่ปุ่น มีการฆาตกรรมโดยฝีมือของสมาชิกในครอบครัวผู้เสียชีวิตเฉลี่ยหนึ่งคดีต่อสองสัปดาห์”
ฟังดูแล้วเป็นประโยคที่น่าสะพรึงกลัวเอาเรื่องนะครับ อ่านแล้วก็อาจจะตบเข่าฉาดแล้วบอกว่า นี่ไง ประเทศที่พัฒนาแต่วัตถุ ไม่ได้พัฒนาเรื่องจิตใจเลย แต่เรื่องที่จะเขียนวันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินอะไรง่ายๆ ขนาดนั้นหรอกครับ เพราะว่า การฆาตกรรมที่จะพูดถึงในครั้งนี้ และเป็นคดีความที่เป็นที่จับตามองของสังคมมากขึ้น คือ
‘การฆาตกรรมจากการดูแลผู้สูงวัย’
เอาจริงๆ คำนี้ผมอาจจะแปลให้ตรงยากหน่อย เพราะญี่ปุ่นใช้คำว่า 介護殺人 (Kaigo Satujin) หรือ ‘การฆาตกรรมดูแล’ ตรงๆ แต่ในการตีความก็คือ การฆาตกรรมที่ฝ่ายที่เป็นผู้ดูแลฆ่าผู้ได้รับการดูแลพยาบาล และมักจะหมายถึงคนในครอบครัวกันเองนี่ล่ะครับที่เป็นคนลงมือ
ฟังดูแล้วอาจจะโหดร้าย แต่เอาจริงๆ พอได้อ่านรายละเอียดเรื่องนี้มากๆ เข้า ผมก็ชักไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกอย่างไรดี ผมเองก็เริ่มสนใจเรื่องนี้มากขึ้นตอนได้อ่านมังงะเรื่อง Shiyakusho ที่ตอนหนึ่งมีหญิงโสดอายุมาก ดูแลแม่ที่แก่ชราจนไม่รู้ตัว ตัวลูกก็เคยเป็นคนดูแลผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุมาก่อน พอแม่ตัวเองแก่มากก็ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแลแม่ด้วยตัวเอง แต่สุดท้าย พออยู่ตัวคนเดียว วันๆ ก็ต้องดูแลแต่แม่ น้องสาวมีครอบครัวก็ผลักภาระให้หมด เพราะมองว่าพี่สาวคือมืออาชีพด้านนี้ สุดท้ายลูกก็ฆ่าแม่ตัวเองที่พูดจาไม่รู้เรื่องอีกต่อไป
แม้จะเป็นมังงะ แต่ก็สามารถสรุปประเด็นในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพราะสภาพสังคมญี่ปุ่นในตอนนี้ กลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างหนัก แม้จะพยายามแก้ปัญหาแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าปัญหามันเรื้อรังมาก และที่ผ่านมาผมก็เขียนถึงผลกระทบของปัญหานี้ และการพยายามหาทางแก้
แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังแก้ได้ยากคือ
การฆาตกรรมสมาชิกในครอบครัวที่ชราภาพนี่ล่ะครับ
ถ้าจะเอาเรื่องเล่าในอดีตมาเล่า หลายคนคงคุ้นกับเรื่องภูเขาทิ้งคนชรา ที่คนในหมู่บ้านมีอาหารไม่พอ สุดท้ายตัดสินใจเอาแม่ที่แก่ชราไปทิ้งบนเขา แต่หญิงชราก็หักกิ่งไม้บอกทางให้ลูกกลับบ้าน เป็นเรื่องเล่าที่มีทั้งในสังคมญี่ปุ่นและจีนที่มีที่มาน่าจะปนเปกัน แต่ก็สร้างความซาบซึ้งไม่น้อย แต่ในสังคมปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นเพราะความอดอยากหรอกครับ แต่เป็นเพราะการดูแลผู้สูงอายุมันไม่มีทางจบสิ้นจนกว่าผู้สูงอายุคนนั้นจะเสียชีวิตนั่นเอง
เวลาพูดถึงการฆาตกรรมสมาชิกในครอบครัว อาจจะมีภาพแบบละครทีวีว่าคนฆ่าต้องจงเกลียดจงชังอย่างหนักถึงฆ่าบุพการีของตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายกรณีที่เกิดในญี่ปุ่นคือ ฝ่ายที่เป็นฆาตกรไม่ค่อยเหลือความจำว่าตัวเองทำอะไรลงไปเสียด้วยซ้ำ เหมือนจู่ๆ ก็สติขาดผึงไป แล้วรู้สึกตัวอีกทีก็ลงมือฆ่าไปแล้ว และหลายกรณีเช่นกันที่ฆาตกรวางแผนไว้แล้ว และฆ่าตัวตายตามหลังจากฆ่าฝ่ายที่ถูกดูแลไป
ทำไมถึงเกิดปัญหาแบบนี้ได้? เคยเห็นข่าวแม่ที่เพิ่งคลอดลูกได้ไม่นานเป็นโรคซึมเศร้า แล้วเผลอฆ่าลูกตัวเองไหมครับ เมื่อต้นปีผมก็เพิ่งเขียนเรื่องแม่ที่ฆ่าหนึ่งในลูกแฝดสามของตัวเองไปโดยที่แทบจะไม่รู้ตัวด้วยความเหนื่อยล้าไป ผมเองก็เพิ่งมีลูก ก็เข้าใจความเหนื่อยของการที่ทำอะไรวนลูปไป คุยกับลูกไม่รู้เรื่อง ได้แต่ร้องไห้ ไม่รู้ว่าต้องการอะไร มันก็มีเหนื่อยแน่นอน (และแน่นอนกว่าคือภรรยาผมเหนื่อยกว่าแน่) จึงไม่แปลกใจที่หลายคนก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าไปได้
แต่พอมามองการดูแลผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่น เทียบกับเด็กแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไป เรายิ่งสามารถสื่อสารกับเขาได้มากขึ้น พูดคุยได้มากขึ้น สถานการณ์จะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ คือมุมกลับของเด็กนั่นล่ะครับ เดือนนี้ยังทำสิ่งนี้ได้ เดือนหน้าอาจจะไม่ได้ คุยๆ กันรู้เรื่องอยู่ กลายเป็นว่าต่อมาคุยไม่รู้เรื่อง และนับวันยังสื่อสารกันไม่ได้
กลายเป็นความเครียดที่ตกอยู่กับตัวคนดูแล จนถึงจุดหนึ่งอาจจะขาดผึงได้
เพราะการขาดการพักผ่อนและความเครียดสารพัด
บางคนอ่านแล้วอาจจะคิดว่าทำไมไม่ส่งไปอยู่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุล่ะ แต่ถ้ามันแก้ปัญหาได้ง่ายแบบนั้นคงดีสิครับ ไม่มีใครอยากจะเป็นฆาตกรหรอกครับ
ยกตัวอย่างกรณีของลูกชายที่ฆ่าแม่ตัวเองในเกียวโตเมื่อปี ค.ศ. 2006 ตอนเกิดคดี ลูกชายอายุ 54 ปี และแม่อายุ 86 ซึ่งประมาณ 9 ปีก่อนหน้า พ่อได้เสียชีวิตไปก่อน โดยแต่เดิมครอบครัวก็เคยมีฐานะดี แต่พอกิจการมีปัญหาก็พบความยากลำบาก พอพ่อเสียไป แม่ก็เป็นโรคความจำเสื่อม และอาการก็ค่อยๆ หนักขึ้น ขนาดที่จู่ๆ ก็ตื่นนอนแล้วหายออกจากบ้าน ตำรวจต้องช่วยคุมตัวไว้หลายต่อหลายครั้ง จนสุดท้ายลูกชายคนโตก็ต้องออกจากงานมาดูแลแม่อย่างเต็มที่
ซึ่งพอเขาออกจากงานก็อยู่ในสถานะพักงาน จะไปขอเงินช่วยเหลือก็ไม่ได้ เพราะทางเจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้หางานอีก แต่สุดท้ายก็ทำงานต่อไม่ได้เพราะอาการของแม่ จะส่งแม่ไปสถานดูแลแบบรายวัน ก็ทำไม่ได้ทุกวันเพราะเงินไม่พอ เงินที่ช่วยเหลือเพราะตกงานก็ถึงกำหนดเลิกจ่าย สุดท้ายก็ต้องอาศัยเงินบำนาญแม่ใช้ชีวิตกันสองคน ขอลดค่าห้องเช่า แต่ก็ไม่พออยู่ดี ต้องไปทำบัตรกดเงินสด เบิกเงินมาใช้ชีวิตต่ออย่างยากลำบาก จนพอเงินจะหมด ก็ตัดสินใจเด็ดขาด ทำความสะอาดบ้าน ซื้อขนมปังมากินกับแม่ แล้วพาแม่เดินไปชมสถานที่ในความทรงจำในเมืองเกียวโต ก่อนจะบอกกับแม่ว่า
“มีชีวิตอยู่ต่อไม่ไหวแล้ว จบเท่านี้ล่ะแม่”
ฝ่ายแม่ก็บอกว่า
“งั้นเหรอ ไม่ไหวแล้วเหรอ” แล้วก็พูดต่อว่า “ไปด้วยกันนะ ไปกับแกนี่ล่ะ” ก่อนจะบอกลูกชายว่า “มานี่สิ แกเป็นลูกฉัน ฉันจะจัดการให้เอง”
ฝ่ายลูกชายก็ตัดสินใจได้ และบีบคอแม่จนสิ้นลม แล้วก็เอามีดกรีดตัวเองก่อนจะไปผูกคอตาย แต่เชือกคลายตัวในจังหวะเดียวกับที่เจ้าตัวหมดสติไป ก่อนจะมีคนมาเจอในสองชั่วโมงถัดมา และช่วยชีวิตไว้ได้
สุดท้าย แม้จะถูกดำเนินคดี แต่ก็เป็นคดีที่น่าเศร้าขนาดที่ชาวเมืองที่ทราบข่าวก็ได้แต่ถอนหายใจ ฝ่ายลูกชายก็บอกว่าแม้จะเป็นคนฆ่าแม่เอง แต่ถ้าเกิดใหม่ก็อยากจะเป็นลูกแม่อีกครั้ง สุดท้ายแล้วเขาก็ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี โดยรอลงอาญา 2 ปี พร้อมทั้งได้รับการบอกว่า จงตั้งใจมีชีวิตในส่วนของแม่ด้วย ซึ่งคดีนี้แทนที่จะเป็นการตัดสินความผิดของชายคนดังกล่าว กลับกลายเป็นคดีที่กระตุ้นให้สังคมญี่ปุ่นสนใจปัญหาเรื่องสวัสดิการเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุไป
หลังจากนั้นเจ้าตัวก็พยายามเลี่ยงสายตาสังคม ย้ายจังหวัด และไปทำงานที่อื่น ซึ่งจากคำบอกเล่าของเพื่อนร่วมงานก็เป็นคนตั้งใจทำงานและดูมีพลังชีวิตดี แต่สุดท้าย ผู้สื่อข่าวก็มารู้กันในภายหลังว่า 8 ปีหลังจากคดีเกิดขึ้น ตัวลูกชายเองก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะถูกเลิกจ้างงานและไม่มีรายรับจนเงินหมด จึงตัดสินใจลาโลกไป โดยขอให้ทำพิธีเรียบง่ายไม่เก็บกระดูกไว้ให้ลำบากใคร ซึ่งสิ่งที่เขาขอให้เผาไปพร้อมกับเขาก็คือสายสะดือที่เขาติดตัวไว้ตลอด
ฟังดูกรณีนี้แล้วคิดว่าคดีแบบนี้เป็นเรื่องโหดร้ายหรือน่าเศร้าครับ นี่ก่อนเขียนบทความก็เพิ่งมีหญิงอายุ 71 ปีฆ่าสามีและพ่อแม่สามี เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการดูแล เดือนก่อนก็เพิ่งมีคดีสามีอายุ 63 ปี ฆ่าภรรยาอายุ 88 เพราะเหนื่อยกับการดูแลไปหมาดๆ
ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ หลายต่อหลายครั้งที่อ่านข่าวคดีเหล่านี้แล้ว ฆาตกรมักจะเป็นคนที่คนในละแวกบ้านบอกว่าเป็นคนนิสัยดี ตั้งใจทำงาน ขยัน แต่สุดท้ายก็ก่อคดีความแบบนี้ได้ ไม่ต้องคิดว่าเพราะเขาสวมหน้ากากหรอกครับ
แต่เพราะเป็นคนที่จริงจัง ตั้งใจนี่ล่ะครับ
ยิ่งเป็นพวกที่ไล่จี้ตัวเองจนสุดท้ายก็เข้าสู่ทางตันเอง
เรื่องที่น่าเศร้าคือ ส่วนใหญ่ที่เกิดคดีแบบนี้ในครอบครัวไม่ใช่เพราะฝ่ายกระทำเขาไม่ได้อยากดูแล หรือว่าไม่ใส่ใจสนใจนะครับ แต่เป็นเพราะว่า ตั้งใจดูแล และเป็นคนจริงจังนี่ล่ะครับ สุดท้ายพอโดนปัญหารุมเร้าเข้ามากๆ ถึงจุดนึงก็ขาดผึงได้ ไม่แปลกที่หลายคนให้การว่าจำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะส่วนใหญ่แทบทุกคนเจอสภาพเดียวกันคือ อดหลับอดนอน พักผ่อนไม่พอ ชีวิตวันๆ วนลูปอยู่แต่กับปัญหา จนทำให้ขาดสติได้ และหลายต่อหลายครั้ง ก็มักจะเป็นการฆาตกรรมที่ตามมาด้วยการฆ่าตัวตายตามกันไป ชวนให้หดหู่กว่าเดิม
ตอนนี้อ่านๆ ฟังๆ ก็อาจจะเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ในสังคมญี่ปุ่นตอนนี้ วันข้างหน้ามันจะเกิดกับใครก็ได้ครับ เพราะความที่เป็นสังคมสูงอายุที่คนมีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ถ้าหากไม่พยายามพัฒนาแก้ปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการความจำเสื่อม คดีแบบนี้ก็ไม่หมดไป แถมจะเกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม เพราะนับวันยิ่งมีแต่คนสูงอายุมากขึ้น บางคนตัวเองก็แก่แล้วยังต้องดูแลคนที่แก่กว่าอีก เหมือนเตี้ยอุ้มค่อมครับ (จะว่าไปก็เป็นปัญหา 8050 ที่ผมเคยเขียนถึงแต่ในมุมกลับคือ ลูกที่อายุมาก ดูแลพ่อแม่ที่อายุมากกว่าอย่างยากลำบาก) ยิ่งสภาพสังคมที่สายสัมพันธ์ในท้องถิ่นไม่แน่นหนานัก ก็เพิ่มความเสี่ยงตรงนี้เข้าไปอีก
เพื่อที่จะเลี่ยงไม่ต้องมาโทษกันว่าก่อคดีโหดร้ายแบบนี้ทำไม ทางที่ดีคือ การพยายามพัฒนาระบบการช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ดูแลผู้สูงอายุด้วย เพราะฝ่ายนี้เองก็ควรได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน รวมไปถึงการพิจารณาเงินช่วยเหลือผู้ที่ต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย เพราะแค่การบอกเขาว่า “ต้องพยายามนะ” มันไม่เพียงพอหรอกครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก